53. แนะนำหนังสือสมบัติของผู้ดี

53. แนะนำหนังสือ “สมบัติของผู้ดี”

ศ. ดร. อุทิส ศิริวรรณ

๑๕ กันยายน ๒๕๕๕

ฉบับ PDF ดาวน์โหลดได้ที่นี่

 

http://www.druthit.com/uploads/files/UpperclassCharacters.pdf

Upperclass Character

หนังสือดี ที่น่าแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาอินเดีย

แล้วให้คนต่างชาติเหล่านี้อ่าน

 

 

หนังสือสมบัติของผู้ดี

เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี

(หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล)

ทรงเรียบเรียง

พ.ศ. ๒๔๕๕

“เป็นหนังสือที่แนะนำให้อ่าน เหมาะสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย

อ่านแล้ว จะได้เป็นคติ สอนใจ สอนตนเอง เพื่อเป็น “ผู้ดี” ที่ดีนอก ดีใน

ดีจริง ทั้งกาย วาจา และจิตใจ”

ศ. ดร. อุทิส ศิริวรรณ

จัดพิมพ์เผยแพร่เป็นวิทยาทานโดย

ศาสตราจารย์ ดร. อุทิส ศิริวรรณ

สมาคมบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต

บริษัท ฐาน รีเสิร์ช แอนด์ มาร์เก็ต จำกัด

Free Download ที่คอลัมน์ “บทความ” เว็บไซต์ www.druthit.com

หรือที่ลิงก์เว็บไซต์ www.dba.or.th

๑๕ กันยายน ๒๕๕๕

แจกเป็นวิทยาทาน ธรรมทาน ฟรี ห้ามจำหน่าย คัดลอก

เผยแพร่ ทำซ้ำ บอกต่อได้  ไม่สงวนลิขสิทธิ์

ประวัติเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี

นามเดิมของท่านคือ ม.ร.ว. เปีย มาลากุล เกิดเมื่อ พ.ศ. 2414 เริ่มรับราชการเป็นเสมียนในกรมศึกษาธิการ ต่อมาได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นหลวงไพศาลศิลปศาสตร์ และได้รับตำแหน่งอธิบดีกรมศึกษาธิการ ท่านเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา ในด้านภาษาไทยมาเป็นอย่างดี มีความรู้แตกฉาน และได้แต่งหนังสือไว้หลายเล่มด้วยกัน ที่รู้จักกันดีคือ “สมบัติผู้ดี” ซึ่งยังประโยชน์แก่กุลบุตรกุลธิดา ได้ยึดถือเป็นตำราที่มีคุณค่ามาจนทุกวันนี้ ท่านถึงแก่อสัญญกรรม เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2459

 

ผลงานด้านการศึกษา

เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล)ได้จัดทำหลักสูตรโรงเรียนเบญจมบพิตร หรือ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ระวัติ

 

 

หนังสือสมบัติผู้ดีเล่มนี้เป็นคู่มือสอนกุลบุตร กุลธิดาในสมัยก่อน ผ่านมา 100 ปี แล้ว เรายังนิยมพูดถึงกันว่าหนังสือสมบัติผู้ดีนั้นสอนอะไรบ้าง วันนี้จึงควรศึกษาค้นคว้ากันดูว่าสมบัติผู้ดีว่ามีอะไรบ้าง

คำว่าผู้ดีเราคงได้ยินกันมาบ้างแต่ความหมายในปัจจุบันอาจจะตีความแตกต่างไป จากเมื่อร้อยปีที่แล้วบ้าง เพราะว่าอาจจะมีบางคนที่คิดว่าตนเองเป็นผู้ดีแต่คุณสมบัติอาจจะไม่คบเหมือน ร้อยปีที่แล้ว วันนี้จึงได้นำสมบัติผู้ดีมาขยายความว่าคำจำกัดความสมบัติผู้ดีเป็นอย่างไร หนังสือสมบัติผู้ดีนี้มีกำหนดคุณสมบัติผู้ดีไว้ 10 ประการ ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องของกาย วาจา ใจ คือ กายจริยา วจีจริยา และมโนจริยา

 

เนื้อหาหนังสือสมบัติของผู้ดี

บทที่ 1 : ผู้ดี ย่อมรักษา ความเรียบร้อย

กายจริยา 

1. ย่อมไม่ใช้กิริยาอันข้ามกรายบุคคล

2. ย่อมไม่อาจเอื้อมในที่ต่ำสูง

3. ย่อมไม่ล่วงเกินถูกต้องผู้อื่น ซึ่งไม่ใช่หยอกกันฐานเพื่อน

4. ย่อมไม่เสียดสี กระทบกระทั่งกายบุคคล

5. ย่อมไม่ลุกนั่งเดินเหินให้พรวดพราดโดนผู้คนหรือสิ่งของแตกเสียหาย

6. ย่อมไม่ส่งของให้ผู้อื่น ด้วยกิริยาอันเสือกไสผลักโยน

7. ย่อมไม่ผ่านหน้าหรือบังตาผู้อื่น เมื่อเขาดูสิ่งใดอยู่ เว้นแต่เป็นที่เฉพาะไป

8. ย่อมไม่อื้ออึง เมื่อเวลาผู้อื่นทำกิจ

9. ย่อมไม่อื้ออึง ในเวลาประชุมสดับตรับฟัง

10.ย่อมไม่แสดงกิริยาตึงตัง หรือพูดจาอึกทึกในบ้านแขก

 

วจีจริยา 

1. ย่อมไม่สอดสวนวาจาหรือแย่งชิงพูด

2. ย่อมไม่พูดด้วยเสียงอันดังเหลือเกิน

3. ย่อมไม่ใช้เสียงตวาด หรือพูดจากระโชกกระชาก

4. ย่อมไม่ใช้วาจาอันหักหาญดึงดัน

5. ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำอันหยาบคาย

 

มโนจริยา 

1. ย่อมไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านกำเริบหยิ่งโยโส

2. ย่อมไม่บันดาลโทสะให้เสียกิริยา

 

บทที่ 2 : ผู้ดี ย่อมไม่ทำอุจาดลามก

กายจริยา 

1. ย่อมใช้เสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวอันสะอาด และแต่งโดยเรียบร้อยเสมอ

2. ย่อมไม่แต่งตัวในที่แจ้ง

3. ย่อมไม่จิ้มควักล้วงแคะ แกะเการ่างกายในที่ประชุมชน

4. ย่อมไม่กระทำการ ที่ควรจะทำในที่ลับในที่แจ้ง

5. ย่อมไม่หาวเรอ ให้ปรากฏในที่ประชุมชน

6. ย่อมไม่จามด้วยเสียงอันดัง และโดยไม่ป้องกำบัง

7. ย่อมไม่บ้วนขากด้วยเสียงอันดัง หรือให้เปรอะเปื้อน ให้เป็นที่รังเกียจ

8. ย่อมไม่ลุกลนเลอะเทอะ มูมมามในการบริโภค

9. ย่อมไม่ถูกต้อง หรือหยิบยื่นสิ่งของ ที่ผู้อื่นจะบริโภคด้วยมือตน

10. ย่อมไม่ล่วงล้ำ ข้ามหยิบ ของบริโภคผ่านหน้าผู้อื่น ซึ่งควรขอโทษ และขอให้เขาส่งให้

11. ย่อมไม่ละลาบละล้วง เอาของผู้อื่นมาใช้ในการบริโภค เช่น ถ้วยน้ำ และผ้าเช็ดมือ เป็นต้น

12. ย่อมไม่เอาเครื่องใช้ของตน เช่น ช้อนส้อมไปล้วงตัก สิ่งบริโภคซึ่งเป็นของกลาง

13. ย่อมระวัง ไม่พูดจาตรงหน้าผู้อื่น ให้ใกล้ชิดเหลือเกิน

 

วจีจริยา 

1. ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งโสโครก พึงรังเกียจในท่ามกลางประชุมชน

2. ย่อมไม่กล่าวถึงสิ่งควรปิดบัง ในท่ามกลางประชุมชน

 

มโนจริยา 

1. ย่อมพึงใจที่จะรักษาความสะอาด

 

 

บทที่ 3 : ผู้ดี ย่อมมีสัมมาคารวะ

 

กายจริยา

1. ย่อมนั่งด้วยกิริยาอันสุภาพ เฉพาะหน้าผู้ใหญ่

2. ย่อมไม่ขึ้นหน้าผ่านผู้ใหญ่

3. ย่อมไม่หันหลังให้ผู้ใหญ่

4. ย่อมแหวกที่ หรือให้ที่นั่งอันสมควรแก่ผู้ใหญ่ หรือผู้หญิง

5. ย่อมไม่ทัดหรือคาบบุหรี่ คาบกล้อง และสูบให้ควันไปรมผู้อื่น

6. ย่อมเปิดหมวก เมื่อเข้าชายคาบ้านผู้อื่น

7. ย่อมเปิดหมวกในที่เคารพ เช่น โบสถ์ วิหาร ไม่ว่าแห่งศาสนาใด

8. ผู้น้อยย่อมเคารพผู้ใหญ่ก่อน

9. ผู้ชายย่อมเคารพผู้หญิงก่อน

10. ผู้ลาย่อมเป็นผู้เคารพก่อน

11. ผู้เห็นก่อนโดยมากย่อมเคารพก่อน

12. แม้ผู้ใดเคารพตนก่อน ย่อมต้องตอบเขาทุกคน ไม่เฉยเสีย

 

วจีจริยา

1. ย่อมไม่พูดจาล้อเลียนหลอกลวงผู้ใหญ่

2. ย่อมไม่กล่าวร้าย ถึงญาติมิตรที่รักใคร่นับถือ ของผู้ฟังแก่ผู้ฟัง

3. ย่อมไม่กล่าววาจา อันติเตียนสิ่งเคารพ หรือที่เคารพของผู้อื่นแก่ตัวเขา

4. เมื่อจะขอทำล่วงเกินแก่ผู้ใด ย่อมต้องขออนุญาตตัวเขาเสียก่อน

5. เมื่อตนทำพลาดพลั้งสิ่งใด แก่บุคคลผู้ใด ควรออกวาจาขอโทษเสมอ

6. เมื่อผู้ใดได้แสดงคุณต่อตนอย่างไร ควรออกวาจาขอบคุณเขาเสมอ

 

 

มโนจริยา

1. ย่อมเคารพยำเกรง บิดา มารดา และอาจารย์

2. ย่อมนับถือนอบน้อมต่อผู้ใหญ่

3. ย่อมมีความอ่อนหวานแก่ผู้น้อย

 

บทที่ 4: ผู้ดี ย่อมมีกิริยาเป็นที่รัก

 

กายจริยา

1. ย่อมไม่ฝ่าฝืนเวลานิยม คือ ไม่ไปใช้กิริยายืน เมื่อเขานั่งกับพื้น และไม่ไปนั่งกับพื้น เมื่อเวลาเขายืนเดินกัน

2. ย่อมไม่ไปนั่งนานเกินสมควร ในบ้านของผู้อื่น

3. ย่อมไม่ทำกิริยารื่นเริงเมื่อเขามีทุกข์

4. ย่อมไม่ทำกิริยาโศกเศร้าเหี่ยวแห้ง ในที่ประชุมรื่นเริง

5. เมื่อไปสู่ที่ประชุมรื่นเริง ย่อมช่วยสนุกชื่นบานให้สมเรื่อง

6. เมื่อเป็นเพื่อนเที่ยว ย่อมต้องกลมเกลียว และร่วมลำบาก ร่วมสนุก

7. เมื่อตนเป็นเจ้าของบ้าน ย่อมต้องต้อนรับ และเชื้อเชิญแขกไม่เพิกเฉย

8. ย่อมไม่ทำกิริยาบึกบึนต่อแขก

9. ย่อมไม่ให้แขกต้องคอยนาน เมื่อเขามาหา

10. ย่อมไม่จ้องดูนาฬิกา ในเวลาที่แขกยังนั่งอยู่

11. ย่อมไม่ใช้กิริยาอันบุ้ยใบ้ หรือกระซิบกระซาบกับผู้ใด ในเวลาเมื่อตนอยู่เฉพาะหน้าผู้หนึ่ง

12. ย่อมไม่ใช้กิริยาอันโกรธเคือง หรือดุดัน ผู้คนบ่าวไพร่ ต่อหน้าแขก

13. ย่อมไม่จ้องดูบุคคล โดยเพ่งพิศเหลือเกิน

14. ย่อมต้องรับส่งแขกเมื่อไปมา ในระยะเวลาอันสมควร

 

วจีจริยา

1. ย่อมไม่เที่ยวติเตียน สิ่งของที่เขาตั้ง แต่ง ไว้ในบ้านที่ตนไปสู่

2. ย่อมไม่กล่าวสรรเสริญรูป กาย บุคคล แก่ตัวเขาเอง

3. ย่อมไม่พูดให้เพื่อนเก้อกระดาก

4. ย่อมไม่พูดเปรียบเปรย เคาะแคะสตรี กลางประชุม

5. ย่อมไม่ค่อนแคะติรูปกายบุคคล

6. ย่อมไม่ทักถึงการร้าย โดยพลุ่งโพล่งให้เขาตกใจ

7. ย่อมไม่ทักถึงสิ่งอันน่าอาย น่ากระดากโดยเปิดเผย

8. ย่อมไม่เอาสิ่งที่น่าจะอายจะกระดากมาเล่าให้แขกฟัง

9. ย่อมไม่เอาเรื่องที่เขาพึงซ่อนเร้น มากล่าวให้อับอายหรือเจ็บใจ

10. ย่อมไม่กล่าวถึงการอัปมงคล ในเวลามงคล

 

มโนจริยา

1. ย่อมรู้จักเกรงใจคน

 

 

 

บทที่ 5: ผู้ดี ย่อมเป็นผู้มีสง่า

 กายจริยา

 

1. ย่อมมีกิริยาอันผึ่งผายองอาจ

2. จะยืนนั่ง ย่อมอยู่ในลำดับอันสมควร ไม่เป็นผู้แอบหลังคนหรือหลีกเข้ามุม

3. ย่อมไม่เป็นผู้สะทกสะท้าน งกเงิ่น หยุดๆ ยั้งๆ

 

 

วจีจริยา

1. ย่อมพูดจาฉะฉานชัดถ้อยความ ไม่อุบอิบอ้อมแอ้ม

 

มโนจริยา

1. ย่อมมีความรู้จักงาม รู้จักดี

2. ย่อมมีอัชฌาสัยอันกว้างขวาง เข้าไหนเข้าได้

3. ย่อมมีอัชฌาสัยเป็นนักเลง ใครจะพูดหรือเล่นอันใด ก็เข้าใจและต่อติด

4. ย่อมมีความเข้าใจว่องไว ไหวพริบรู้ทันถึงการณ์

5. ย่อมมีใจอันองอาจกล้าหาญ

 

 

บทที่ 6: ผู้ดี ย่อมปฏิบัติการงานดี

กายจริยา

1. ย่อมทำการอยู่ในระเบียบแบบแผน

2. ย่อมไม่ถ่วงเวลาให้ผู้อื่นคอย

3. ย่อมไม่ละเลยที่จะตอบจดหมาย

4. ย่อมไม่ทำการแต่ต่อหน้า

 

วจีจริยา

1. พูดสิ่งใดย่อมให้เป็นที่เชื่อถือได้

2. ย่อมไม่รับวาจาคล่องๆ โดยมิได้เห็นว่าการจะเป็นได้หรือไม่

 

มโนจริยา

1. ย่อมเป็นผู้รักษาความสัตย์ในเวลา

2. ย่อมไม่เป็นผู้เกียจคร้าน

3. ย่อมไม่เข้าใจว่า ผู้ดีทำอะไรด้วยตนไม่ได้

4. ย่อมไม่เพลิดเพลิน จนละเลยให้การเสีย

5. ย่อมเป็นผู้รักษาความเป็นระเบียบ

6. ย่อมเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชา เมื่ออยู่ในหน้าที่

7. ย่อมมีมานะในการงาน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

8. ย่อมเป็นผู้ทำอะไรทำจริง

9. ย่อมไม่เป็นผู้ดึงดันในที่ผิด

10. ย่อมปรารถนาความดี ต่อการงานที่ทำอยู่เสมอ

 

 

บทที่ 7: ผู้ดี ย่อมเป็นผู้ใจดี

 

กายจริยา

1. เมื่อเห็นใครทำผิดพลาดน่าเก้อกระดาก ย่อมช่วยกลบเกลื่อน หรือทำไม่เห็น

2. เมื่อเห็นสิ่งของ ของใครตกหรือเสื่อมเสีย ย่อมต้องหยิบยื่นให้ หรือบอกให้รู้ตัว

3. เมื่อเห็นเหตุร้าย หรืออันตรายจะมีแก่ผู้ใด ย่อมต้องรีบช่วย

 

 

 

วจีจริยา

1. ย่อมไม่เยาะเย้ย ถากถาง ผู้กระทำผิดพลาด

2. ย่อมไม่ใช้วาจาอันข่มขี่

 

มโนจริยา

1. ย่อมไม่มีใจอันโหดเหี้ยมเกรี้ยวกราดแก่ผู้น้อย

2. ย่อมเอาใจโอบอ้อมอารีแก่ผู้อื่น

3. ย่อมเอาใจช่วยคนเคราะห์ร้าย

4. ย่อมไม่เป็นผู้ซ้ำเติมคนเสียที

5. ย่อมไม่เป็นผู้อาฆาตจองเวร

 

บทที่ 8: ผู้ดี ย่อมไม่เห็นแก่ตัวฝ่ายเดียว

 

กายจริยา

1. ย่อมไม่พักหาความสบายก่อนผู้ใหญ่ หรือผู้หญิง

2. ย่อมไม่เสือกสนแย่งชิง ที่นั่ง หรือที่ดูอันใด

3. ย่อมไม่เที่ยวแย่งผู้หนึ่ง มาจากผู้หนึ่ง ในเมื่อเขาสนทนากัน

4. เป็นผู้ใหญ่ จะไปมาลุกนั่งย่อมไว้ช่องให้ผู้น้อยมีโอกาสบ้าง

5. ในการเลี้ยงดูย่อมเผื่อแผ่ เชื้อเชิญแก่คนข้างเคียงก่อนตน

6. ในการบริโภค ย่อมหยิบยก ยื่นส่งสิ่งของแก่ผู้อื่นต่อๆ ไปไม่มุ่งแต่กระทำกิจส่วนตน

7. ย่อมไม่รวบสามตะกลามสี่ กวาดฉวยเอาของที่เขาตั้งไว้เป็นกลางจนเกินส่วนที่ตนจะได้

8. ย่อมไม่แสดงความไม่เพียงพอใจในสิ่งของที่เขาหยิบยกให้

9. ย่อมไม่นิ่งนอนใจให้เขาออกทรัพย์แทนส่วนตนเสมอ เช่น ในการเลี้ยงดู หรือใช้ค่าเดินทาง เป็นต้น

10. ย่อมไม่ลืมที่จะส่งของ ซึ่งคนอื่นได้สงเคราะห์ให้ตนยืม

11. การให้สิ่งของหรือเลี้ยงดูซึ่งเขาได้กระทำแก่ตน ย่อมต้องตอบแทนเขา

 

วจีจริยา

1. ย่อมไม่ขอแยกผู้หนึ่งมาจากผู้ใด เพื่อจะพาไปพูดจาความลับกัน

2. ย่อมไม่สนทนาแต่เรื่องตนฝ่ายเดียว จนคนอื่นไม่มีช่องจะสนทนาเรื่องอื่นได้

3. ย่อมไม่นำธุระตนเข้ากล่าวแทรก ในเวลาธุระอื่นของเขาชุลมุน

4. ย่อมไม่กล่าววาจาติเตียน ของที่เขาหยิบยกให้ว่าไม่ดี หรือไม่พอ

5. ย่อมไม่ไต่ถามราคาของที่เขาได้หยิบยกให้แก่ตน

6. ย่อมไม่แสดงราคาของที่จะหยิบยกให้แก่ผู้ใดให้ปรากฏ

7. ย่อมไม่ใช้วาจาอันโอ้อวดตน และลบหลู่ผู้อื่น

 

มโนจริยา

1. ย่อมไม่มีใจมักได้ เที่ยวขอของเขาร่ำไป

2. ย่อมไม่ตั้งใจปรารถนาของรักเพื่อน

3. ย่อมไม่พึงใจการหยิบยืมข้าวของ ทองเงินซึ่งกันและกัน

4. ย่อมไม่หวังแต่จะพึ่งอาศัยผู้อื่น

5. ย่อมไม่เป็นผู้เกี่ยงงอน ทอดเทการงานตนให้ผู้อื่น

6. ย่อมรู้คุณผู้อื่นที่ได้ทำแล้วแก่ตน

7. ย่อมไม่มีใจริษยา

 

บทที่ 9: ผู้ดี ย่อมรักษาความสุจริตซื่อตรง

 

กายจริยา

1. ย่อมไม่ละลาบละล้วงเข้าห้องเรือนแขก ก่อนเจ้าของบ้านเขาเชิญ

2. ย่อมไม่แลลอดสอดส่าย โดยเพ่งเล็งเข้าไปตามห้องเรือนแขก

3. ย่อมไม่เที่ยวฉวยโน่น หยิบนี่ของผู้อื่นดูจนเหลือเกิน ราวกับว่าจะค้นหาสิ่งใด

4. ย่อมไม่เที่ยวขอ หรือหยิบฉวยดูจดหมาย ของผู้อื่นที่เจ้าของไม่มีความประสงค์จะให้ดู

5. ย่อมไม่เที่ยวขอ หรือหยิบฉวยดูสมุดพก หรือสมุดจดรายงานบัญชีของผู้อื่น ซึ่งตนไม่มีธุระเกี่ยวข้องเป็นหน้าที่

6. ย่อมไม่เที่ยวนั่งที่โต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น

7. ย่อมไม่เที่ยวเปิดดูหนังสือ ตามโต๊ะเขียนหนังสือของผู้อื่น

8. ย่อมไม่แทรกเข้าหมู่ผู้อื่นซึ่งเขาไม่ได้เชื้อเชิญ

9. ย่อมไม่ลอบแอบฟังคนพูด

10. ย่อมไม่ลอบแอบดูของลับ

11. ถ้าเห็นเขาจะพูดความลับกัน ย่อมต้องหลบตาหรือลี้ตัว

12. ถ้าจะเข้าห้องเรือนผู้ใด ย่อมต้องเคาะประตูหรือกล่าววาจาให้เขารู้ตัวก่อน

 

วจีจริยา

1. ย่อมไม่ซอกแซกไต่ถามธุระส่วนตัว หรือการในบ้านของเขา ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแก่ตน

2. ย่อมไม่เที่ยวถามเขาว่า นั่นเขียนหนังสืออะไร

3. ย่อมไม่ถามถึงผลประโยชน์ที่เขาหาได้ เมื่อตนไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง

4. ย่อมไม่เอาการในบ้านของผู้ใดมาแสดงในที่แจ้ง

5. ย่อมไม่เก็บเอาความลับของผู้หนึ่งมาเที่ยวพูดแก่ผู้อื่น

6. ย่อมไม่กล่าวถึงความชั่วร้าย อันเป็นความลับเฉพาะบุคคลในที่แจ้ง

7. ย่อมไม่พูดสับปลับ กลับกลอก ตลบตะแลง

8. ย่อมไม่ใช้คำสบถติดปาก

9. ย่อมไม่ใช้ถ้อยคำมุสา

 

มโนจริยา

1. ย่อมไม่เป็นคนต่อหน้าอย่างหนึ่งลับหลังอย่างหนึ่ง

2. ย่อมเป็นผู้รักษาความไว้วางใจของผู้อื่น

3. ย่อมไม่แสวงประโยชน์ในทางที่ผิดธรรม

4. ย่อมเป็นผู้ตั้งอยู่ในความเที่ยงตรง

 

บทที่ 10: ผู้ดี ย่อมไม่ประพฤติชั่ว

 

กายจริยา

1. ย่อมไม่เป็นพาลเที่ยวเกะกะระรั้ว และกระทำร้ายคน

2. ย่อมไม่ข่มเหงผู้อ่อนกว่า เช่น เด็ก หรือผู้หญิง

3. ย่อมไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เจ็บอาย เพื่อความสนุกยินดีของตน

4. ย่อมไม่หาประโยชน์ ด้วยอาการที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน

5. ย่อมไม่เสพสุราจนถึงเมาและติด

6. ย่อมไม่มั่วสุมกับสิ่งอันเลวทราม เช่น กัญชา ยาฝิ่น

7. ย่อมไม่หมกมุ่นในการพนัน เพื่อจะปรารถนาทรัพย์

8. ย่อมไม่ถือเอาเป็นของตน ในสิ่งที่เจ้าของไม่อนุญาตให้

9. ย่อมไม่พึงใจ ในหญิงที่มีเจ้าของหวงแหน

 

วจีจริยา

1. ย่อมไม่เป็นพาลพอใจทะเลาะวิวาท

2. ย่อมไม่พอใจนินทาว่าร้ายกันและกัน

3. ย่อมไม่พอใจพูดส่อเสียดยุยง

4. ย่อมไม่เป็นผู้สอพลอประจบประแจง

5. ย่อมไม่แช่งชักให้ร้ายผู้อื่น

 

 

มโนจริยา

1. ย่อมไม่ปองร้ายผู้อื่น

2. ย่อมไม่คิดทำร้ายผู้อื่นเพื่อประโยชน์ตน

3. ย่อมมีความเหนี่ยวรั้งใจตนเอง

4. ย่อมเป็นผู้มีความละอายแก่บาป

 

ยุคนี้ผู้คนทั้งหลายต่างต้องการให้ตนเองดูดี ไม่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายเองก็เหมือนกัน เพราะเดี๋ยวนี้เครื่องเสริมความงามของฝ่ายชายเองก็มีมาดเช่นเดียวกัน บางคนก็ถึงขนาดยอมเจ็บตัวไปผ่าตัดกระดูก จัดกล้ามเนื้อต่างๆ จนไม่รู้ว่าหน้าตาเดิมเป็นอย่างไร ความจริงวิธีการที่ทำให้เราเองดูดีโดยไม่ต้องเสียเงิน และไม่ต้องเจ็บตัว คือการฝึกกิริยามารยาทของเราเอง คนบางคนหน้าตาอาจจะดูธรรมดา แต่เป็นคนมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นคนร่าเริง สดชื่น ทำอะไรพอดีๆ มีกิริยามารยาทดี มีความเชื่อมั่น ก็ทำให้ดูดีขึ้นไปโดยปริยาย ตรงนี้มีความสำคัญมากเลย ดังนั้นถ้าเราอยากให้ตัวเองดูดี ไปที่ไหนก็เป็นที่ยอมรับ ให้ฝึกสมบัติผู้ดีกันเถอะ ไม่มีคำว่าเชย

 

ที่มาของสมบัติผู้ดี

ที่มาของสมบัติผู้ดี ที่มาของมารยาทไทย ต้นแหล่งจริงๆ มาจากพระวินัยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนา คือในครั้งพุทธกาล พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเกิดใหม่ และขยายไปอย่างรวดเร็วกว้างขวางมาก ซึ่งศาสนาที่เกิดขึ้นก่อนเขารู้สึกเสียผลประโยชน์ เพราะชาวบ้านมาศรัทธาพระพุทธศาสนา จึงได้มีกระบวนการโจมตีพระพุทธศาสนา โจมตีพระภิกษุ ใส่ร้าย อย่างมากมายเพื่อลดความเชื่อถือ ไม่ให้พระพุทธศาสนาเติบโต แต่ว่าพระพุทธศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเป็นของจริง ไม่ใช่ความเชื่อแต่เป็นความจริงของโลกและชีวิต ดังนั้นทองแท้ไม่กลัวไฟ พระพุทธศาสนาก็ยังคงขยายกว้างออกไป แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงทราบว่า พระภิกษุที่มาบวชในพระพุทธศาสนา แล้วออกไปเผยแผ่ธรรมในที่ต่างๆ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่เคลื่อนที่ได้ของพระพุทธศาสนา ดังนั้นการประพฤติ ปฏิบัติที่เหมาะสมถูกต้องจะสร้างศรัทธาให้แก่ผู้พบเห็น มีความสำคัญมาก พระองค์จึงสอนมารยาทให้พระภิกษุไว้มากมายทั้งมารยาทในการขบฉัน มารยาทในการดูแลรักษาพยาบาล มารยาทในการต้อนรับภิกษุผู้เป็นอาคันตุกะ อีกทั้งการอยู่ร่วมกันในหมู่พระภิกษุจากทุกชั้นวรรณะ แม้อายุจริงยังถูกยกเลิก เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ถือเป็นการเกิดใหม่ในชีวิตสมณะ แหละนี้คือพระพุทธศาสนา นี่คือหมู่สงฆ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเลือกเอามารยาทหมวดที่สำคัญขึ้นมา 5 หมวด มาบรรจุอยู่ในวินัยส่วนพระปาฏิโมกข์ให้สงฆ์ทุกรูปไปฟังการสวดทบทวนปาฏิโมกข์ ทุกปักษ์คือทุกสองสัปดาห์ ในหมวดหนึ่งเรียกว่า เสขิยวัตร มีทั้งหมด 75 ข้อ เป็นเรื่องที่ว่าด้วยมารยาทของพระภิกษุโดยเฉพาะ เช่นหมวดแรกคือมารยาทในการครองผ้า จะนุ่งห่มจีวรห่มอย่างไร หมวดที่สอง มารยาทในการเข้าบ้าน พระภิกษุเมื่อเข้าไปในหมู่บ้านแล้ว จะต้องไม่เดินโคลงไปเคลงมา ต้องมีความสงบสำรวม หมวดที่สามคือมารยาทในการขบฉันภัตตาหาร คือไม่ทำคำข้าวให้ใหญ่เกินไป เวลาเคี้ยวก็ไม่คุยกัน หมวดที่สี่คือมารยาทในการแสดงธรรม ผู้ฟังธรรมต้องมีความเคารพในการฟังธรรม จึงแสดงธรรม หมวดที่ห้าคือ มารยาทในการขับถ่าย ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ หรือบ้วนน้ำลายลงในของเขียว (พันธุ์ไม้ใบหญ้าต่างๆ) จะปัสสาวะ อุจจาระจะต้องนั่ง นี่คือ 5 หมวดหลักในเสขิยวัตร ตรงนี้เองคือแหล่งที่มาของมารยาทในสังคมไทย และสังคมพุทธตลอดเอเชียอาคเนย์

เพราะฉะนั้นสงฆ์เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ความสำคัญ ถึงขนาดให้ทบทวนทั้ง 75 ข้อนี่ ทุกๆ 15 วัน ส่วนตัวเราเองอยู่บ้าน สมบัติผู้ดีลองเปิดดูเถอะ แล้วหมั่นทบทวนบ่อยๆ ให้เป็นสมบัติติดตัวเรา เราไปที่ไหนจะสวยเสมอ สวยสมวัย ไม่ต้องกลัวว่าอายุเยอะแล้วจะดูไม่ดี คนมีมารยาทมีสมบัติผู้ดีไปถึงไหนก็ดูดีตลอด เป็นเด็กก็ดูน่ารักแบบเด็ก เป็นหนุ่มเป็นสาวก็ดูน่าชื่นชม เป็นผู้ใหญ่ก็น่าเคารพ ยำเกรง น่าเชื่อถือ มีอายุมากขึ้นก็เป็นที่ลูกหลานเข้าใกล้แล้วอบอุ่น สบายใจ เป็นแบบอย่างให้ทุกคนได้ มีสมบัติผู้ดีเมื่อไหร่ เราจะเป็นคนมีความมั่นใจในตัวเอง ในการเข้าสังคมในทุกที่ แล้วเป็นที่รักของทุกๆ คน

Comments

comments