๒๕๑. “จาก ๑๑ เมษายน ๒๕๓๗ ถึง ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ เริ่มต้นชีวิตใหม่จากศูนย์”

“จาก ๑๑ เมษายน ๒๕๓๗
ถึง ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔
เริ่มต้นชีวิตใหม่จากศูนย์”

เรื่องเล่าคนสู้ชีวิตที่ล้มเหลวในบั้นต้น
และสำเร็จในบั้นปลาย
เรื่องราวคนที่เดินขึ้นหุบผาสูงชัน
และหล่นลงเหวลึกเจียนอยู่เจียนตายมาแล้ว
แคล้วคลาดปลอดภัยภัยอันตรายมาได้
เพราะคำว่า “บุญ” เพียงคำเดียว

เหมาะสำหรับ “คนสู้ชีวิต” ที่ต่อสู้เอาชนะโชคชะตา
ที่ดีงามและโหดร้าย ด้วย “หลักคิด – หลักทำ – หลักธัมมะ”

 


อุทิส ศิริวรรณ
เขียน
—–
วันนี้ เป็นวันครบรอบ ๒๗ ปี
ที่ผมก้าวออกจาก “วัดวาอาราม” ที่คุ้นเคยนาน
นับแต่กรกฎาคม ๒๕๒๒ ถึง ๑๑ เมษายน ๒๕๓๗
๑๔ ปี ๙ เดือน

เรียกว่าก้าวออกจาก Comfort Zone
แปลตรงตัวว่า “พื้นที่สะดวกสบาย”
“พื้นที่คุ้นเคย” “โซนที่เคยชิน”
จากเคยอยู่ในพื้นที่กว้างขวาง กุฏิใหญ่โตกว้างขวาง
ห้องนอนส่วนตัว ๒๐ ตารางเมตร
ออกไปสู่โลกกว้างใหญ่ไพศาล

บอกตรงรู้สึกใจหาย เคว้งคว้าง

ถ้าถามว่าอะไรเป็นแรงบันดาลใจสูงสุด
คำตอบคือจบปริญญาโทจุฬาฯแล้วในเวลานั้น
อยากจบ ดร. จากสหรัฐอเมริกา ให้ได้ และต้องทำให้ได้

ความฝันผมก็เหมือน “คนส่วนมาก” ในประเทศ
ที่ต้องการอัพเกรด ยกระดับ ยกสถานะตน
จากความไม่มี สู่ความมั่งมี

 

ผมก็เหมือน “นักอุดมคติ”
ที่ก้าวออกจากวัด ด้วย “มันสมองสองมือ”
ตอนออกบวชเมื่อปี ๒๕๒๒ ก็มามือเปล่า
ตอนออกจากวัดในปี ๒๕๓๗ ก็จากไปมือเปล่า
อะไรที่พอมีก็ยกให้พระหนุ่มเณรน้อยรอบตัวหมด
ไม่เหลืออะไรติดตัวเลย นอกจาก “ลังหนังสือ”
เป็น “เรื่องสอบบาลีสนามหลวง”
“พระไตรปิฎกฉบับหลวงปี ๒๕๓๐ จำนวน ๔๕ เล่ม”
สมบัติส่วนตัว ใช้เงินส่วนตัวซื้อ
และ Encyclopedia Americana
จำนวน ๒๐ เล่มเศษ ที่ผ่อนซื้อเอาด้วยเงินส่วนตัว
เป็นต้น
รวมกับหนังสือจิปาถะต่างๆ
บรรจุหนังสือลงกล่องกระดาษลังเบียร์
ได้ประมาณ ๓๓ ลังพอดิบพอดี

ออกมาไม่มีที่เก็บ ก็ไปฝากพี่วิศวกรใหญ่ที่นับถือ
ที่โกดัง “บริษัทสหจูนเอนยิเนียริ่ง จำกัด” แถวถนนเจริญกรุง
อีก ๑๐ ปี ต่อมา จึงมีบ้านช่องเก็บรักษาหนังสือ

ซึ่งหนังสือต่างๆ
ไม่มีใครอยากได้
มีแต่คนอยากได้ “ของดี”
คือ “พระเครื่อง วัตถุมงคล” ที่ผมมีมากกว่า
และแทบไม่เหลืออะไร เพราะที่มีมูลค่าราคาแพง
ก็ถูก “เณรน้อย” ปีนกุฏิวันเวลาที่ไม่อยู่
แอบย่องเบาลักขโมย หอบไปจนสิ้นเนื้อประดาตัว
ในปี ๒๕๓๓ ถ้าปริปาก เผยความจริง
เจ้าตัวก็คงเสียชื่อ

ผมปล่อยให้เป็น “จำเลย” ผมไปจนวันตาย
เจ้าตัวก็รู้ดีว่าผม “ละเว้น” ไม่ทำอะไร
เพราะเมื่อ “ความโลภ” ขับเคลื่อนให้ลงมือ “ขโมย”
ด้วย “โลภจิต” อยากได้ ก็เอาไป

พระอย่าง “หลวงพ่อสด” รุ่น ๔ เป็นต้น
ไม่ตาย ผมก็หาเอาใหม่ได้

ประสาอะไร พระซุ้มกอกำแพงเพชร ที่หายาก
ผมยังมอบให้ “มหาเปรียญลาพรต” ท่านหนึ่ง
ที่ชอบพอกัน

พระสมเด็จแท้ ก็ยังไม่เสียดาย
ใครมีบุญถึง ก็มอบให้บูชาไป
เอาไปเป็นที่ระลึกในการสร้างบุญสร้างบารมี

ปกติผมไม่มัจฉริยะ ไม่ตระหนี่ ไม่เค็ม ไม่เหนียว ไม่เขี้ยว ไม่เบี้ยว
แต่ไหนแต่ไรมา


ชีวิตผม นอกจากชอบ “เมนูเด็ด” ก็ชอบ “หนังสือ”
อื่นๆ ก็นานที อย่าง “เพลงไพเราะ” แค่นั้นแหละ
เรื่องจะไป “อบายมุข” ไม่เคยอยู่ในใจ ไม่เคยปรารถนา

ที่จรรโลงใจ ให้รู้ว่าโลกมีสุนทรียะบ้าง
ก็เดินทางท่องเที่ยว คุยกับคนที่คุยกันถูกคอ
และ “หนังสือ” ที่อยากอ่าน ส่วนมากเป็นหนังสือวิชาการ
หนังสือหนัก

 

ปกติผมชอบอ่านหนังสือยากๆ หนังสือหนัก เข้าใจยาก
แต่เวลาคุย ผมชอบคุยประเด็นให้ฟังแล้ว
ย่อยง่าย เข้าใจง่าย
ไม่ใช้ภาษาเทพ ภาษาพรหม
แยกกันคนละส่วน

นอกเหนือจากหนังสือแนวบาลีสันสกฤต ภาษาอังกฤษ
พระไตรปิฎก อรรถกถา เป็นต้น

ส่วนตัวผมชอบอ่านหนังสือแนว Napoleon Hill
อย่าง Think & Grow Rich แปลว่า “คิดและเติบโตแล้วรวย”
ซึ่งเป็นความใฝ่ฝัน ของคนที่มี Big Dream
สไตล์ American Dream ที่อยู่ในวงการบริหารธุรกิจที่นิวยอร์ก

ดังนั้น ที่บอก Readers are all Leaders
นักอ่านทั้งหลาย เป็นผู้นำทุกคน
ผมว่าเป็นความจริง

แต่ที่อยากจะเสริมคือ
การพาตัวไปอยู่สุดขอบฟ้า
ไกลบ้านไกลเมืองถึงนิวยอร์ก
ตลอดระยะเวลากว่า ๑๐ ปี
ทำให้ผมได้ข้อขบคิดอะไรหลายอย่าง

อย่ายึดติดความสะดวกสบาย Comfort Zone
พยายามพาตัวเองไปอยู่ในที่ “กินยาก อยู่ยาก”
ชะตาชีวิตจะผันแปร ผกผัน และปรับเปลี่ยน
รุ่งเรือง ร่ำรวย แบบก้าวกระโดด
ลูกคนรวยที่เกเรทั้งหลาย ส่วนมากที่พอมีฐานะ
จะถูกส่งตัวไปเรียนเมืองนอก พออยู่เมืองนอก
น้อยรายจะเสียผู้เสียคน เพราะไม่มีคนตามอกตามใจ
ส่วนมากเท่าที่เห็น กลับตัวกลับใจเป็นคนดี
เพราะเห็นสัจธรรมชีวิต เห็นคุณค่าของเงินทองที่หายาก

สมัยเรียน MBA ทางการเงินและการประกันภัยที่นิวยอร์ก
ผมประทับใจ และเก็บข้อเขียนต่อไปนี้ มาขบคิดเป็นประจำ

“When riches begin to come, they come so quickly”
“เมื่อความมั่งคั่งร่ำรวยจะมาเยือน ก็จะมาเยือนอย่างรวดเร็วทันทีทันใดทันใจ”
นี่คือข้อความที่นโปเลียน ฮิลล์ แต่งเอาไว้ ในหนังสือขายดีจนถึงทุกวันนี้
Think & Grow Rich

“So when we take into consideration the popular belief that riches come only
to those who work hard and long”

แปลว่า “ดังนั้น เมื่อพวกเราพิจารณาความเชื่อที่แพร่หลายกว้างขวางนิยมชมชอบ
ปลูกฝังกันมาว่า ความมั่งคั่งร่ำรวยทั้งหลาย จะมาหาเฉพาะผู้ที่ทำงานหนักและต่อเนื่องยาวนานเท่านั้น”
โอ้โฮ…ถ้อยคำข้างต้น “โดนใจ” มากๆ เลย
คือที่เคยเชื่อกันมานมนานกาเลว่า
ต้องทำงานหนักและทำงานนานหลายสิบปี
จึงจะมั่งคั่งร่ำรวยแบบที่ “พ่อจน” ชอบสั่งชอบสอน
ไม่เป็นความจริงเสมอไป ต้องกล้าที่จะ “คิดแตกต่าง” จากคนทั่วไป

ยืนยันว่า “ความจริง” คือ
เวลา “ความมั่งคั่งร่ำรวย” จะมีมา
ไม่เกี่ยวกับทำงานงานหนัก หรือทำมานานชั่วชีวิตจนแก่เฒ่า

คนเราเวลาจะมั่งมี มีโชค มีลาภ
ขุมทรัพย์จะผุดขึ้น
มาเร็ว มาแรง มารวดเดียว

เงินไหลกอง ทองไหลมา เนืองนองจริง
ปีนหนีขึ้นต้นไม้ ก็หนีไม่ทัน
วิบากแห่งกุศลกรรม บุญที่ทำ มีจริง

อย่างเพื่อนรุ่นน้องราย
บอกผมว่าสงสัยเพราะอุปถัมภ์สามเณรวัดโมลีเอาไว้
เดือนละ ๑ หมื่นบาท

๒ เดือนมาแล้ว
เล่าว่าที่หาเงินทองได้คล่องตัว
ทุกวันนี้ได้เดือนละ ๓ แสนบาทขึ้นไป
พอมีเงินเหลือกินเหลือใช้นำมาต่อยอดทำบุญทำทานลูกเณรได้
ในครั้งที่ ๘๘ เดือนเมษายน ๒๕๖๔
โดยไม่ต้องรบกวนเบียดเบียนใคร

ดังนั้น ที่บอกทำบุญกับเณรน้อยแล้วไม่มั่งคั่งร่ำรวย
เหมือนทำกับพระป่า พระที่ไม่จับเงิน

พระผู้ทรงศีล ๒๒๗
มากกว่าสามเณรผู้สมาทานศีลเพียงแค่ ๑๐ ข้อ
ย่อมได้บุญกุศลดีกว่าทำกับสามเณร


ผมยืนยันว่าไม่เป็นความจริงเสมอไป
เพราะไม่เคยมีใคร “วิจัย” โดย “สำรวจ” แล้วนำ
“ข้อค้นพบ” คือ “ตัวเลขผลงานเชิงประจักษ์”
มายืนยันชัดเจนแน่นอนให้หายสงสัยว่า
ที่ว่าทำกับเณรกับพระป่า
อะไรจริงหรือเท็จ

ในรอบ ๘ ปี ที่ผมทำบุญกับเณรน้อย
ผมหยิบเงินก้อนใหญ่ได้แล้ว  “๘ หลัก” ขึ้นไป

แต่ได้มาแล้วก็ใช้สร้าง “มหาสถูปธรรมเจดีย์”
หาไป ใช้ไป ไม่สะสม ไม่งก ไม่โลภ ไม่ยึดติด


ที่เล่าคือความจริง

และที่จะมีมาต่อไปอีก ก็นับไม่ถ้วน

Think and Grow Rich คิดและมั่งคั่งร่ำรวยได้ จริง

สมัยจบปริญญาโทอักษรจุฬาฯ นั้น ความที่ไม่ได้เตรียมภาษาอังกฤษ
และไม่เห็นใครแนะนำปลูกฝังให้สนใจใส่ใจอังกฤษ

การใช้ภาษาอังกฤษในปี ๒๕๓๗ ของผมยุคนั้นจึงยังคงกระท่อนกระแท่น
แม้จะมีปริญญาตรี ๓ สาขา ปริญญาโท

อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาภาษาบาลี-สันสกฤต จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อะไรที่โง่ และไม่รู้ ก็เล่าเอาไว้
คนรุ่นหลังจะได้เตรียมตัวให้พร้อม
ให้จำไว้เลยว่า มีลูกสอนลูก  
“อังกฤษ” “จีน” “ญี่ปุ่น” “ฮินดี” “สแปนิช” เป็นต้น
ควรเรียนรู้เอาไว้
รวมถึงภาษาท้องถิ่นใกล้บ้าน
อย่าง “พม่า-ลาว-เขมร-เวียดนาม”
เหมือนคนสิงคโปร์ สอนให้ลูกหลาน
เรียนรู้เพื่อการติดต่อสื่อสาร อย่างน้อย ๕ ภาษา

 

การรู้ภาษาติดตัวเอาไว้มากกว่า ๑ ภาษา จะทำให้หาเงินได้เพิ่มอีก ๑ ช่องทาง
ที่คนทั่วไปเข้าไม่ถึง และไม่สามารถทำได้ นี่คือความจริง

บอกตรงว่า “ไม่ว่าเราจะเชื่ออะไร อะไรที่เราเชื่อมักจะกลายเป็นความจริงของเรา”

ผมยกตัวอย่าง ผมเชื่อว่าวันหน้า ผมจะเรียน ดร. ที่สหรัฐอเมริกา
ผมจะจบ ดร. ที่สหรัฐอเมริกา ในสาขาที่คนจบยาก จบน้อย อย่างการค้าระหว่างประเทศให้จงได้

ไม่ว่าจะใช้ความพยายามมากมายแค่ไหน ใช้เงินใช้ทองจำนวนมากมายสักเท่าใด

ใช้สติปัญญาขบคิดค้นคว้าวิจัยทำดุษฎีนิพนธ์ภาษาอังกฤษล้วน ยากแค่ไหน ก็ต้องจบให้ได้

สุดท้าย “อะไรที่เราเชื่อ มักจะกลายเป็นความจริงของเรา”

ในที่สุด ผมก็จบ ดร. จากสหรัฐอเมริกาจนได้

ไม่ต่างจากในปี ๒๕๒๔  หลังจากผมอ่านประวัติผู้สอบได้เปรียญ ๙ ประโยค เป็นสามเณรวัดต่างๆ แล้ว

ผมลงความเห็นส่วนตัวว่า “อนาคตในปี ๒๕๓๒ หรือ ๒๕๓๓ หรือ ๒๕๓๔ ผมก็จะจบเปรียญ ๙ ประโยค
ขณะเป็นสามเณร ให้จงได้”

เพราะผมไม่เห็นว่าการสอบบาลีสนามหลวง
จะมีอะไรยากเกินความพยายาม

ทุ่มเทเต็มที่เต็มร้อยเต็มกำลังเต็มใจ
ท่องแบบไวยากรณ์ ๔ เล่มให้จบ

แปลคัมภีร์อัฏฐกถาคาถาธัมมปท ๘ เล่มจบ
แปล คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ๒ เล่มใหญ่
แปลคัมภีร์สมันตปาสาทิกา
วิสุทธิมรรค และอภิธัมมัตถวิภาวินี
แต่งฉันท์ภาษาบาลี แต่งข้อความไทย

เป็นภาษาบาลี

 

คิดและเชื่อแน่วแน่ว่าไม่เกินกำลังสติปัญญา
วันหน้า เราก็คงจบประโยค ๙
และบวชนาคหลวงที่วัดพระแก้วจนได้

สุดท้ายในปี ๒๕๓๓ ผมก็ทำฝันของผมให้กลายเป็นจริงได้
ได้อย่างที่ใจผมคิดฝันตั้งความหวัง
และจินตนาการอธิษฐานจิต ขอพรพระเอาไว้
ขอให้สำเร็จได้ดั่งที่ใจคิด
ตั้งแต่ปี ๒๕๒๔

 

——

ผมยังจำคืนแรกที่ก้าวออกจากวัด
มานอนค้าง “สุวิชาญแมนชั่น”
แถวเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ฝั่งวัดบางยี่ขัน

วัดอมรคีรีได้

เช่าอยู่ระยะสั้น ๆ ก่อนบินกลับไปเรียนต่อที่นิวยอร์ก

นอนดูเพดาน ไม่ได้คิดอื่นใด เน้น “เฉพาะหน้า”
คือเรียนภาษาอังกฤษ สอบ TOEFL ให้ผ่าน
สอบ GMAT ให้ได้

แรกที่ปรับตัว ได้พี่ชาย มาค้างเป็นเพื่อน ไม่มีสมบัติอะไรติดตัว เสื้อผ้าพอใส่ ไปไหนก็นั่งตุ๊กๆ แท็กซี่ มอเตอร์ไซค์ รถเมล์
ไม่ได้ไปไกลมากนัก อย่างมากก็แค่ “โรงเรียนเสริมหลักสูตร” แถวเสาชิงช้า

 

แต่ไหนแต่ไรมา ผมทำบุญใส่บาตร มาโดยตลอด 
ทว่าผมชอบใส่ “เงินสด” ใบละ ๒๐ บาทนี่แหละ 
ตามกำลังยุคนั้น คือ ๑ ใบบ้าง ๒ ใบบ้าง จนถึงสูงสุดคือ ๕ ใบ
มีงบ มีเงินทำเพียงแค่นั้น บางครั้งก็ซื้อข้าวถุงแกงถุงใส่บาตร

จบคอร์ส TOEFL ๓ เดือน ก็บินไปเรียนต่อคอร์สภาษาอังกฤษเฉพาะทางที่ Kaplan New York ทั้ง GMAT & GRE รวมถึง Advanced Vocabulary ศัพท์เฉพาะ “อังกฤษวิชาการ”

ปลายปี ๒๕๓๗ พอผลคะแนนอยู่ในระดับเรียนต่อ MBA ได้
คะแนน GMAT ก็เพียงพอถึงระดับแล้ว ผมก็เดินไปสมัครเรียนต่อ MBA ที่วิทยาลัยเล็กๆ แต่มีชื่อเสียงด้านประกันภัย

ค่าเล่าเรียนแพงลิบลิ่ว

สมัยนั้นชื่อว่า The College of Insurance   ภายหลังควบรวมกับ St John’s University

ล่าสุดเปลี่ยนชื่อเป็น “Maurice R. Greenberg School of Risk Management, Insurance and Actuarial Science  ภายใต้สังกัดคณะบริหารธุรกิจ ชื่อว่า the Peter J. Tobin College of Business at St. John’s University

https://www.stjohns.edu/academics/schools/peter-j-tobin-college-business/maurice-r-greenberg-school-risk-management-insurance-and-actuarial-science

ซึ่งหลักสูตร MBA ปริญญาโททางการเงินการประกันภัยที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้รับการรับรองคุณวุฒิ AACSB Accredited สถาบันรับรองวิชาชีพทางบริหารธุรกิจที่สภาการอุดมศึกษาแห่งสหรัฐอเมริกา และนานาชาติทั่วโลกพิจารณาว่าเป็น ๑ ในหลายๆ มหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนทางบริหารธุรกิจที่ดีที่สุด

บริษัทมหาชน บริษัทยักษ์ใหญ่ใน Fortune 500 เป็นต้น เวลาจะพิจารณารับคนเข้าทำงาน จะพิจารณาเกณฑ์รับรองมาตรฐานคุณวุฒิด้วยว่า AACSB รับรองหรือไม่

ซึ่งในแวดวงบริหารธุรกิจ จะขวนขวาย เสาะแสวงหา และต้องการเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ AACSB รับรอง ซึ่งสำหรับคนอเมริกันเอง แม้จะได้รับยกเว้น TOEFL แต่ต้องมีผลคะแนน GMAT แสดงด้วย จึงจะเรียนต่อทางสายบริหารธุรกิจได้ ไม่ใช่เดินเข้าเรียนต่อได้ง่ายๆ

https://bestbizschools.aacsb.edu/school-search/s/st-john-s-university-peter-j-tobin-college-of-business

เมื่อพิจารณาย้อนหลัง
นึกทบทวนความทรงจำในอดีต
ก็ได้พบพานกับความจริงว่า

พอก้าวออกจากวัดวาอารามแล้ว

สิ่งแรกคือต้องเอาตัวให้รอดให้ได้
คำว่า “เอาตัวรอด”
มีนิยามสั้นๆ ว่าไม่เป็นภาระใคร
ต้องหาทางมีเงินเดือนใช้ มีงานทำประจำ

และพออยู่พอกินตามประสา ไม่ก่อหนี้ ยืมสินใคร

ทางเดียวสำหรับผมและคนทั่วไปที่ติด “กับดักความยากจน” และ “กำแพงชนชั้น”
ที่ต้องทะลุทางตันให้ได้คือต้องเอาชนะคติความเชื่อว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

ซึ่งจากประสบการณ์จริง ที่ลองผิดลองถูก คลำทางดูแล้ว พบว่า
แม้เราจะขยันและทำงานหนักมากมายแค่ไหนเพียงไร

เราก็เผชิญ “กำแพงสูง” ที่กีดขวาง ไม่ให้เรา “ยกระดับ” เลื่อนสถานะทางสังคมได้ง่ายๆ
เพราะ “กฎหมาย” “ภาษี” ล้วน “เอื้อประโยชน์” ต่อ “กลุ่มทุนใหญ่”

ทางเดียวที่จะทะลุฝ่าทางตันไปได้คือ “การศึกษาสูงสุด”

ระหว่างเรียนภาษาและ MBA ผมพยายามข่มใจ ฝึกตนเอง ให้ทุ่มเทเล่าเรียนจนจบ อย่าใจแตกบ้าทำงาน เห็นแก่เงินเฉพาะหน้า ด้วยความคิด ความรู้สึกที่ขับเคลื่อนด้วย “โลภะ” คือ “ความโลภ”

เพราะค่าตอบแทนทำงานล่วงเวลาในมหานครนิวยอร์กสมัยนั้น เยอะมาก

ยกตัวอย่างผมเองมีใบเขียว สามารถทำงานได้ทุกอย่าง
ผมเลือกทำงานนอกเวลาร้านอาหารของคนญี่ปุ่น ได้ค่า “ทิป” วันละ ๑๐๐เหรียญสหรัฐเป็นอย่างน้อย เดือนๆ ถ้าทำงานแค่ ๑๕ วัน ครึ่งเดือนก็ได้เงินถึง ๑,๕๐๐ เหรียญสหรัฐ รับเต็มๆ ภายในเวลาช่วงเย็น ไม่กี่ชั่วโมง

และยิ่งเอาเวลาช่วงที่เหลือ ไปรับจ๊อบ ทำงานอื่นๆ ก็ยิ่งมีเงินทองจำนวนมาก

ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๗ นั้น ปริญญาโทในไทย
รับราชการเงินเดือนสูงสุดในไทยคือ ๔,๗๐๐ บาท
ทำงานเอกชนได้เดือนละ ๙,๐๐๐ บาท ถือว่ามากสุดแล้ว
๑,๕๐๐ เหรียญสหรัฐ เอา ๒๕ คูณ เท่ากับ ๓๒,๕๐๐ บาท
มากกว่ากันถึงเกือบ ๑๐ เท่า  แค่งานนอกเวลางานเดียว
วันหนึ่งถ้าทำ ๓ งาน แต่ละเดือนก็ได้เป็นหลักแสนบาทต่อเดือน

แต่สมัยนั้น ผมหักห้าม “ความโลภ” โฟกัสใจ ต้องการดีกรีวุฒิ ดร. นำหน้าชื่อ จึงใช้เวลาส่วนมากกับ “ห้องสมุด”

ผมเดินเข้าเดินออกห้องสมุดมหาวิทยาลัยของผมย่านดาวน์ทาวน์ และใช้สิทธิ์
นักศึกษาเดินดูละครบรอดเวย์ ในราคาถูกกว่าปกติ ในรอบที่คนทั่วไปไม่ดู
หรือดูน้อยอย่างรอบเย็น ซึ่งคนทั่วไปยังทำงาน และเดินเข้าออกห้องสมุดชั้นนำ
ทางบริหารธุรกิจ อย่างแถวถนน ๒๓ กลางเมืองนิวยอร์ก ถนน ๔๒ ตัดกับถนนหมายเลขที่ ๕ เรียกว่า Fifth Avenue & 42nd Street

กระนั้น ด้วยความที่ “เริ่มจากศูนย์”
ไม่มีทุน ก.พ. สนับสนุน

ผมเองก็ต้องทำงาน ๒-๕ อย่างในสัปดาห์เดียวกันอย่างต้องเป็น TA Teaching Assistant บ้าง RA Research Assistant บ้าง

ช่วยอาจารย์จัดเตรียมเอกสารสอน และเอกสารวิจัยทางบริหารธุรกิจ การเงิน การลงทุน การประกันภัย ก็เลยได้เรียนรู้ และประสบการณ์วิจัยค้นคว้าทางบริหารธุรกิจ การเงิน การลงทุนระหว่างประเทศ

ผมยังได้เรียนรู้ภัยคุกคามการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี กฎหมาย รวมถึงโรคอุบัติใหม่ต่างๆ ซึ่งส่วนมาก ก็อยู่ในขอบเขตและขอบข่ายประมาณนี้ ไม่เป็นอื่นไปจากนี้

ทุกสัปดาห์ ผมบริหารเวลาจนสามารถเขียน “บทความ” มาตีพิมพ์ในนิตยสาร เดือนละ ๒ ฉบับ เดือนหนึ่งเขียน ๘ ครั้ง ครั้งละ ๒,๐๐๐ บาท ได้เงินสดใช้เพิ่มอีก ๑๖,๐๐๐ บาท บทความละ ๒ หน้า A4 มากกว่ารับราชการเดือนละ ๔,๗๐๐ บาท

แต่ทั้งหลายทั้งปวงยังไม่พอกับค่าเล่าเรียนรวมถึงค่าหนังสือค่าตำรับตำรา MBA ที่แพงลิบลิ่ว เพราะนิวยอร์ก อะไรก็แพงทั้งนั้น ที่ต้องกันเงินเอาไว้
สำคัญที่สุดคือ เงินสำรองเอาไว้เรียนต่อระดับปริญญาเอกอีกหลายล้านบาท
แปลว่าต้อง “บริหาร” เงินทุนให้เพียงพอ ไม่มีทุน ก.พ. หรือทุนอื่นใดสนับสนุน
Big Dream ความฝันอันยิ่งใหญ่ของผม

การเล่าเรียนทางการลงทุนระหว่างประเทศ
ทำให้ผมทราบว่าฝรั่งเอง ชอบประเทศที่ free trade การค้าเสรี
มองว่า “การเคลื่อนย้าย” เงินจำนวนมหึมา

ประเทศนั้นๆ รัฐบาลต้องเป็นประชาธิปไตย ไม่มาแทรกแซง
หาเหตุออกคำสั่งหมายศาล
“ยึดทรัพย์”
ซึ่งเป็นสิ่งที่ “ฝรั่ง” ประเทศประชาธิปไตย อย่างสหรัฐอเมริกา
กลัว “ระบอบเผด็จการ” และ “ระบบคอมมิวนิสต์” มากที่สุด

อื่นจากนี้ไป เท่าที่สังเกต ฝรั่งนานาชาติ จะรู้สึกเฉยๆ

ส่วน “ทุจริตคอรัปชัน” ฝรั่งก็กลัวมากที่สุด ทุกวันนี้ก็มีการพัฒนา “ดัชนีทุจริตคอรัปชัน”
ประเทศต่างๆ เอาไว้ให้อ้างอิง ก่อนไปลงทุนการค้าระหว่างประเทศ
ที่ฝรั่งกลัวทุจริต เพราะนำมาซึ่งสภาวะการ “ตุกติก” หาเหตุกลั่นแกล้ง ให้ค้าขายไม่สะดวก

ผมชอบแนวคิด disruption หนังสือ think and grow rich มีประเด็นที่ “จุดประกาย”
ความคิดหลายเรื่อง ยกตัวอย่าง

“When you begin to think and grow rich, you will observe that riches begin with a state of mind, with definiteness of purpose, with little or no hard work”
ถ้อยคำ ๒ บรรทัดเศษ “โดนใจ” มากๆ
“เมื่อท่านเริ่มต้นที่จะคิดและเติบโตร่ำรวย, ท่านจะต้องสังเกตว่าความมั่งคั่งร่ำรวยทั้งหลาย
เริ่มต้นพร้อมกับสภาพของจิตใจ, ที่มาพร้อมกับเป้าหมายที่นิยามเอาไว้ชัดเจน, พร้อมกับทำงาน
เพียงเล็กน้อย หรือไม่ต้องทำงานหนัก”

บอกตรง ข้อค้นพบ “คิดแล้วเติบโตร่ำรวย” ของนโปเลียน ฮิลล์ จากการสัมภาษณ์มหาเศรษฐี ๒๕,๐๐๐ คนมีโธมัส แอลวา เอดิสัน นายฟอร์ด นายร็อกกี้ เฟลเลอร์  เป็นต้น ขัดกับคติความเชื่อคนไทย
ที่พร่ำสอนกันมาว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” เพราะมีอย่างที่ไหน

นโปเลียนให้วิจัยโดยสังเกตเอาเองว่า “ความมั่งคั่งร่ำรวยทั้งหลาย เริ่มต้นได้พร้อมกับสภาพจิตใจ
ที่มีเป้าหมายเดียวแน่วแน่มั่นคงชัดเจน และทำงานเพียงเล็กน้อย หรือไม่จำต้องทำงานหนักมาก”

ทุกวันนี้ ถ้าเราสังเกต คนรอบตัว คนรุ่นใหม่ อย่าง “พิมรี่พาย” อย่าง “เถ้าแก่น้อย”
เป็นต้น คนเหล่านี้ เก็บเกี่ยวลุถึง “ความมั่งคั่งร่ำรวยทั้งหลาย” ได้ ด้วยเป้าหมายเดียว
ที่มั่นคงแน่วแน่ชัดเจน และไม่ได้ทำงานหนักมาก ไม่เหมือนเจ้าสัวรุ่นเก่า

ผมประทับใจ “ข้อค้นพบ” อีกข้อ ของนโปเลียน ฮิลล์
“ You and every other person, ought to be interested in knowing how to acquire that state of mind which will attract riches”

แปลว่า
“ท่านและคนอื่นๆ ทุกคน, ควรที่จะสนใจในอันที่จะเรียนรู้วิธีที่จะได้ผลลัพธ์ว่า
สภาวะจิตใจซึ่งจะดึงดูดความมั่งคั่งร่ำรวยมีประการใดบ้าง”

บอกตรง ผมนึกถึง “คาถาธัมมปท” ธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๒ ว่า
“อุฏฺฐานวโต สติมโต สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน
สญฺญตสฺส ธมฺมชีวิโน อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ”
แปลว่า
“คนที่ลุกขึ้นคือขยัน คนที่มีสติระลึกได้ คนที่ยึดสัมมาชีพ
คนที่ใช้ดุลพินิจพิจารณาละเอียดรอบคอบแล้วค่อยทำงานแบบมืออาชีพ
คนที่รู้ความต้องการกิเลสอารมณ์ความรู้สึกของตนเองอย่างดี
คนที่ใช้ชีวิตลมหายใจเข้าออกโดยชอบประกอบด้วยธัมมะ
คนที่ไม่ประมาท ยศคือบริวารและเกียรติย่อมเจริญ

ทุกวันนี้ ผมว่า
“สภาวะจิตใจที่จะดึงดูดความมั่งคั่งร่ำรวย” เป็นสิ่งสำคัญ

ในธมฺมปทฏฺฐกถา ภาค ๑ คาถาที่ ๒
เรื่องมัฏฐกุณฑลีเทพบุตร
ผมชอบมาก

“มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปสนฺเนน ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ สุขมเนฺวติ ฉายา ว อนุปายินี “
“ทุกสภาวะจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึก มีใจนำ
ใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นใหญ่ ถ้าคนเรามีใจผุดผ่องใสสะอาด
จะพูดหรือทำ ความสุขก็จะติดตามเขาหรือเธอไปเพราะสุจริต ๓ ประการคือกายวาจาและใจนั้น คล้ายเงาติดตามตัวเราไป ฉันใดก็ฉันนั้น”

ดังนั้น ไม่ว่าในใจคือในตัวท่าน
จะเชื่ออะไร
อะไรที่ท่านเชื่อลึกๆ
ก็จะกลายเป็นความจริงของท่าน

นับแต่ ๑๑ เมษายน ๒๕๓๗ ถึง ๑๑ เมษายน ๒๕๖๔ รวม ๒๗ ปี
ที่ผมเริ่มต้นชีวิตใหม่ เดินออกจาก comfort zone
ที่คิดว่าเป็นหุบผาสูงชัน พอเดินขึ้นไปสูงสุด คือจบ ดร.
มีงานดีๆ ทำ  มีเงินใช้ มีบ้าน มีรถ มีทุกสิ่ง

ทว่าทุกสรรพสิ่งภายหลัง ท่ามกลางกระแสกิเลสตัณหา
หมั่นไส้อิจฉาริษยาเลื่อยขาเก้าอี้เหยียบตาปลาคนมีอำนาจ
สุดท้าย “ทรัพย์ศฤงคาร” “ยศ” “ตำแหน่ง” ความรุ่งเรืองก้าวหน้ากลับกลายเป็น “เหวลึก”
ล่อ หลอก ลวง ให้ผมตกอยู่ในวงล้อมของเหล่าคนอาสัตย์อาธรรม์
ที่คิดลบ คิดร้าย จับผิด ริษยา ในตำแหน่ง อำนาจ เงินทุนมหึมา ที่ผมถือครอง

นรกชัดๆ ผมต้องต่อสู้ข้อหา
คดีความที่คนอาสัตย์อาธรรม์ยัดเยียดปรักปรำใส่ร้ายใส่ความแทบสิ้นเนื้อประดาตัว กว่าจะดึงตัวเองฉุดรั้งจาก “เหวนรก” ขาข้างหนึ่งเฉียดคุกตะราง รอดพ้นอบายในโลกมนุษย์
ขึ้นมาได้ ไม่เกินความคาดหมาย ผมเรียกสำนวนผมว่า “บุญรักษาพระปกป้อง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง”

ผมเชื่อว่าชะตาชีวิตผม อยู่รอดได้เพราะบุญรักษา
คุณพระช่วย เทพประทานพร และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง

ถ้าถามว่า จนถึงทุกวันนี้ มีชีวิตและลมหายใจรอดมาได้อย่างไรทั้งที่ “เสี่ยง” และ “กล้า” ที่จะลงมือ “เสี่ยง”

คำตอบสำหรับผมคือ “จังหวะ” และ “โอกาส”
ที่ผม “ตัดสินใจ” กล้าที่จะ “เสี่ยง” ถูกที่ ถูกคน ถูกเวลา

 

คนจนคือคนล้มเหลว
ต่างจากคนมั่งมีคือคนสำเร็จ
ตรงที่แม้จะมีเวลาเท่ากัน ๒๔ ชั่วโมง

ทว่า “ความกล้า” ที่จะ “เสี่ยง” และ “แบกรับ” หายนะ”
ตลอดทั้ง “ภัยพิบัติ” ทั้งในแง่ “วิกฤต” และ “วิบัติ”
ที่ทำลาย “ชีวิต” เสียหายย่อยยับ
คนจนกับคนรวย กล้าที่จะเสี่ยงไม่เท่ากัน

คือผมเห็นว่า “คนจน” กับ “คนรวย”
มีโอกาสที่จะพบพาน “ช่วงเวลา” ที่เหมาะสม
และ “โชคดีมีชัย” แตกต่างกัน

โอกาสเป็นของคนที่รวยกว่าเสมอ 

เพราะสิ่งที่ทำให้แตกต่างกันคือ
ความเชื่อเรื่องเล็กๆ ง่ายๆ ที่คุ้นเคยคนไทย
“ทาน – สีล – ภาวนา”
สั้นๆ ง่ายๆ แค่นั้นเอง
ไม่มีอะไรสลับซับซ้อน
คือคนที่ร่ำรวย มีเวลา มีเงินเหลือพอ
ถ้าไม่ลุ่มหลงมัวเมาในอบายมุข สุรา นารี การพนัน
จะมีเวลาทำบุญทำทาน รักษาศีล ทำสมาธิภาวนา
ยิ่งกว่า “คนยากคนจน” ที่ต้องเหนื่อยและหนักหนาสาหัส

 

คนที่ทำบุญทำทานมาดี
บุญรักษา พระคุ้มครอง
สิ่งศักดิ์สิทธ์ดูแล
แม้จะไม่ทำงานหนักมาก
แต่ก็จะค้นพบ “ช่องทาง” และ “โอกาส” ดีๆ

เมื่อลงมือ “เสี่ยง” บน “ความเสี่ยง” ที่ประเมินละเอียดรอบคอบ ก็จะรวยเร็ว รวยแรง และรวยได้ รวดเดียว ม้วนเดียวจบ

ไม่ติดๆ ขัดๆ
ไม่สะดุดเหมือนท้องเรือติดโคลนเลน
ชีวิตไม่ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ติดหล่ม
แตกต่างจากคนที่ตระหนี่ถี่เหนียว
ไม่ทำบุญทำทาน ไม่ช่วยเหลือคน
ไม่สั่งสมบุญ ไม่สร้างบารมี โดยเฉพาะการทำบุญทำทาน

ผมสังเกตตามวิถีผม แตกต่างจากนโปเลียนฮิลล์
พบความจริงว่ายุคดิจิทัล คนที่ทำบุญทำทาน
ชีวิตจะไปได้เรื่อยๆ ไม่สะดุด ไม่ติดขัด ถึงเจออุปสรรค
ก็จะพอเอาตัวรอด ผ่านพ้นสันดอน พบเจอร่องน้ำลึก
นำเรือแล่นออกจากฝั่ง ถึงท่าปลายทางที่หมายได้
ในที่สุด

นี่คือความจริงที่ผมขบคิด
หลังผมออกจากวัดวาอาราม
มาได้ ๒๗ ปี
และไม่ได้เหน็ดเหนื่อยยากจนข้นแค้นแสนสาหัส
เพราะบุญรักษา พระคุ้มครอง

ทำอะไรก็เร็วกว่า ดีกว่า และต้นทุนต่ำกว่า
ตามกลยุทธ์ faster better cheaper
ที่ผมลงมือคิดและทำตามแผนที่วางเอาไว้
ด้วยสิ่งที่หนุนนำดวงชะตา ที่ผมเรียกว่า
“บุพเพ” บุญเก่าแต่ปางก่อน
กับ “บุญใหม่” ที่ทำต่อเนื่องสืบต่อสืบทอด
สืบสานจากบุญเก่า

สิ่งที่ผมคิด สิ่งที่ผมเชื่อ จึงกลายเป็นความจริงในชีวิตจริงของผม
ไม่ว่าจะเป็น “ดร. จากสหรัฐอเมริกา” ที่ผมใฝ่ฝัน  เป็นต้น
ไม่นับถึง “มนุษยสมบัติ” อื่นๆ ที่พึงมี พึงได้ พึงเป็น
ผมก็ได้มาครบถ้วน เท่าที่พึงพอใจจะได้ ดี มี และเป็น

เหลือจากนั้น ผมก็นำบุญวาสนาบารมี
มาสร้างบุญคือ “ศาสนทายาท” และ “ศาสนธรรม”
เพื่อแทนคุณ “พระพุทธเจ้า” และ “ครูบาอาจารย์” ในวัดวาอารามที่ผมเกิดและเติบโตมา

รวมถึงผืนแผ่นดินไทย ใต้ร่มบรมโพธิสมภารพระเจ้าอยู่หัว ทุกพระองค์ ที่ทำให้ผมได้อาศัยร่มโพธิ์ ร่มไทรได้อยู่ดีมีสุข ตามประสา พอสมแก่วาสนา ชะตาชีวิต ที่ผมลิขิตของผม
เพียงแค่นี้ ไม่ได้คิดอื่นใด ยาวไกลเกินสุดขอบฟ้า

ดีใจที่วันนี้ ยังได้มีลมหายใจ
มีเรี่ยวมีแรง มีกำลังวังชา
ทำบุญทำกุศล ต่อเนื่อง เรื่อยไป
ตามกำลังบุญวาสนาบารมีที่มี

 

 

 

 

 

 

Comments

comments