๒๔๐. เล่าเรื่องงานวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนาในรอบ ๑๕ ปี ๒๕๖๐-๒๕๗๕

 

เล่าเรื่องงานวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนาในรอบ ๑๕ ปี ๒๕๖๐-๒๕๗๕

อุทิส ศิริวรรณ

๒๒ กันยายน ๒๕๖๒

———

หลังทำงานวงการต่างๆ
ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗-๒๕๕๙ รวม ๒๒ ปี

ทั้งงานบริหารกิจการ

งานวิชาการ

งานสอน

งานวิจัย

สายบริหารธุรกิจ
และบริหารการศึกษา
มหาวิทยาลัยในไทยและต่างแดน

ผมก็มาถึงความรู้สึกอิ่มตัว

ในปี ๒๕๕๙

หรือเมื่อ ๔ ปีก่อน

สืบเนื่องจาก “เบื่อหน่าย”
การปั้นคน
การสร้างคน
โดยเฉพาะ “ศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย”
ผมพบว่า “ผม” ไม่ใจเย็นพอ

และ “คน” ที่ผมคิดว่าจะสร้าง
ให้เป็นคนมีคุณค่า
คือมีคุณวุฒิ คุณภาพ และคุณธรรม

บางรายที่ “สนิทสนม” “คุ้นเคย” และ “ไว้วางใจ”
ว่าจะเป็น “คนใจสัตย์ซื่อ ถือคุณธรรม”

ที่ไหนได้ กลับเป็นคนที่จิตใจเต็มไปด้วย “โลภะ”
บริหารความโลภไม่เป็น
พอติดอาวุธทางปัญญาให้
กลายเป็น “คนอาสัตย์อาธรรม์”
แบบนี้ก็มีหลายคน หลายวงการ

ในปี ๒๕๕๔
ผมเล็งเห็น “ภัยในอนาคต”
จากศิษย์บางคนที่อาสัตย์อาธรรม์
คือไม่มีสัจจะ  คำพูดเชื่อถือไม่ได้
เห็น “เงิน” สำคัญกว่า “คุณค่า”
ผมก็เลย “งดต้อนรับ” แขกที่เป็นศิษยานุศิษย์ทุกคน
บอกไม่ต้องมาหา “ผม” ไม่ว่างให้พบตัว
ไม่ต้องชักชวนไปทำสัมมนา อบรม หรือทำวิจัยใดๆ ร่วม

บอกตรง “เลยเถิด” เข้าข่าย “หัวล้านเกินครู”
ไม่ตรงกับ “เป้าหมายทางจิตวิญญาณของความเป็นครู” ที่ผมต้องการ

——-

๒๕๕๙ ถึง ๒๕๖๒

๓ ปีเศษๆ
ผมวางมือ “งานสอนประจำ”
หันมาสนใจ “วิจัยเฉพาะประเด็นเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนา” เท่านั้น

ผม “วาง” ตนเองจากทุกวงการ
มุ่งทำงานเพื่อ “พระพุทธศาสนา” เป็นสำคัญ

ข้อดีของการทำงานวิชาการเพื่อพระพุทธเจ้าคือ
ไม่มี “ผลประโยชน์” แอบแฝง
ไม่มี  “ผลงาน” ใดๆ ที่จะนำไปสู่
อำนาจ เงินตรา และตำแหน่งทางการเมือง

ศิษย์ต่างๆ ที่เป็นคนอาสัตย์ คนอาธรรม์
เมื่อผมเป็นคนหมดประโยชน์
ในสายตาพวกเขา ผมก็เป็นเพียงแค่ชายชรา ตาแก่คนหนึ่ง

เมื่อแสวงหาผลประโยชน์ใดๆ จากผมไม่ได้
พวกเขาก็หายหน้าหายตาไป เงียบหายไปเลย

เมื่อไม่เกี่ยวพันเกี่ยวข้องกับคนเหล่านี้
ชีวิตผมก็อยู่เย็นเป็นสุขแบบเบาสบาย

เลือกคบคนได้
อย่าคบคนที่มาเพราะ “ผลประโยชน์”
เลือกคบคนที่คุยด้วยแล้ว “สบายใจ”
เอาแค่สบายใจ ไม่มาทำความเดือดร้อนใดๆ ให้
แค่นั้นก็พอ

——-

เมื่อปี ๒๕๕๘

มาคิดคำนึงว่า

ย่างเข้าวัยชรา

ถ้ายังทำงานแบบระบบมนุษย์เงินเดือน

ก็จะทำตามฝันไม่ได้

 

เลยตัดสินใจ

เดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

ที่พุทธคยา

ตามความสัทธาส่วนตัวของผม

ที่มีต่อพุทธศาสนา

———

ปีที่ไปสักการะ

มหาโพธิพุทธคยา

ประเทศอินเดีย

เป็นปี ๒๕๕๘

 

ขณะนั่งใต้ควงต้นพระศรีมหาโพธิ

ผมวาบความคิด

ว่างานวิชาการเพื่อพุทธศาสนา

ควรทำงานอะไรบ้าง

ได้ข้อค้นพบว่า

วัดวาอารามต่างๆ

มีการจัดการศึกษา

ทั้งปริยัติธรรมล้วนๆ

ทั้งปฏิบัติธรรมล้วนๆ

ทั้งผสมผสาน ๒ แนวทาง

 

เมื่อได้ข้อค้นพบ

ผมได้อธิษฐานจิต

ขอพรพระพุทธองค์

ขอรับใช้พระพุทธศาสนา

ด้านวิชาการ

วิทยาการวิจัยที่ผมถนัด

 

อันที่จริงในปี ๒๕๕๗

ผมได้ทำโครงการเล็กๆ

ไม่เกี่ยวกับการหาเสียงหรือผลทางการเมือง

เน้นถวายเงินส่วนตัว อุปถัมภ์สามเณรกำพร้าทั้งหลาย

ที่เรียนดีแต่ยากจน

เดิมเคยทำทั่วประเทศในปี ๒๕๔๔

แต่ยุติโครงการลง

เพราะต้องใช้เงินสดนับแสนบาท

 

แต่ปี ๒๕๕๗

พอค่อยๆ ทำ

จากเงินก้อนเล็กๆ

แค่ห้าพันบาทต่อเดือน

คัดเลือกสามเณรกำพร้า

เรียนดีแต่ยากจนรับทุนการศึกษา

เดือนละ ๑๐ รูป ได้รับปัจจัยรูปละ ๕๐๐ บาท

ค่อยทำ ค่อยเป็น ค่อยไป ไม่พึ่งพารัฐบาล

ก็มีสามเณรได้รับทุนการศึกษาจากผม เดือนละ ๑๐ รูป ทุกเดือน

นับแต่ปี ๒๕๕๗

ถึงเดือนกันยายนปี ๒๕๖๒

ก็ประมาณเฉียดๆ ๗๐๐ ทุน

เป็นความสุขใจเล็กๆ ที่เงินซื้อไม่ได้ คนรวยกว่าผมก็ทำไม่ได้
บุญเป็นเรื่องแปลก คนไม่เคยให้ ก็จะไม่กล้าให้ ยังคงเค็มเหนียวเขี้ยวเบี้ยว ตามประสา
ผมดีใจได้ทำดีเล็กๆ ช่วยแบ่งเบาความเดือดร้อนของผู้ปกครองของสามเณรกำพร้าทั้งหลาย
โดยเฉพาะท่านเจ้าอาวาสและครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณต่อสามเณรทั้งหลาย

 

น่าชื่นใจว่า

ในปี ๒๕๖๒

มีผู้ใจบุญสุนทาน วงการต่างๆ ประเทศต่างๆ และรวมถึงในสยามประเทศ

เข้าร่วมสนับสนุนโครงการ

ถวายทุนการศึกษา

โดยไม่หักค่าใช้จ่าย

หลายเดือนที่ผ่านมา

ถวายได้เต็มจำนวน ๒๙๐ ทุน ต่อเดือน
ทุนที่ตั้งไว้ต่ำมาก แค่ ๕๐๐ บาท ต่อสามเณรเรียนดีแต่ยากจน ๑ ทุน

 

และคนที่มาร่วมถวาย

คือชนชั้นกลาง

ไม่ร่ำรวยเป็นเจ้าสัว

ไม่มีตำแหน่งระดับรัฐมนตรี

ไม่มุ่งทำดีเอาหน้า

ไม่ทำดีเพื่อสร้างภาพ

มาช่วยกันด้วยความสมัครใจ

คติผม

ไม่ขอเงินคนใช้

ไม่ของานคนทำ

 

ค่อยๆทำการพระพุทธศาสนา

เงียบๆ

 

————

ตลอดรอยต่อปี ๒๕๕๙ ถึงไตรมาสแรกปี ๒๕๖๐

สิ่งที่ผมทบทวนตลอดมาคือ

การคัดเลือกและกลั่นกรองทีมงานทำโครงการตำรา

 

ผมมีประสบการณ์เลวร้าย

กับคนคิดไม่ดี พูดไม่ดีและทำไม่ดีกับเรา

ทั้งที่เราหวังดีกับคนเหล่านี้

ทว่าความเป็นจริง

พอสมหวังถูกใจก็ชื่นชมเรา

ครั้นพอขอเราแล้ว

เราไม่ช่วย

เราไม่รับรอง

เราไม่ยุ่งเกี่ยว

เราไม่เกี่ยวข้อง

ขัดใจก็ด่าลับหลัง

ใส่ร้ายใส่ความสารพัด

ด้วยไม่ให้ความร่วมมือทางวิชาการ

 

——–

วงวิชาการพุทธศาสนาในไทย

ปัญหาคือหน่วยงานสูงสุด

มหาเถรสมาคม

ท่านมีนโยบายการจัดการศึกษา

นักธรรมบาลี

แต่จัดคล้ายการจัดแบบการศึกษานอกระบบ

และการศึกษาตามอัธยาศัย

ไม่ได้มีระบบบริหารการศึกษา

ที่จริงจังเหมือนระบบมหาวิทยาลัย

 

สำคัญที่สุด

เรียนจบแล้ว

ไม่มีงานรองรับ

 

ถ้ามีการวิจัย

ปัญหาการจัดการศึกษา

พระปริยัติธรรมแผนกบาลีสนามหลวง

ก็จะดีมาก

จะช่วยให้มองเห็นภาพรวม

ในแง่ของ

จุดแข็ง

จุดอ่อน

โอกาส

และอุปสรรค

 

แต่ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือ

การวางเฉย

การนิ่งเฉย

การเงียบเฉย

ของพระสงฆ์เราด้วยกันเองนี่แหละ

ไม่ใช่ใคร

 

———

 

กลับจากอินเดียในปี ๒๕๕๙

ผมก็เริ่มวิเคราะห์

ความน่าจะเป็น

กับความเป็นไปได้

ในการดำเนินงาน

โครงการวิจัยตำราทางพุทธศาสนา

ที่ไม่ต้องเขียนโครงการ ขอเงินคนใช้ ของานคนทำ

 

จากการวิจัย

พบว่า “พจนานุกรม”

เป็นกุญแจสำคัญ

ในการไขปริศนาคำและความ

ในพระไตรปิฎก

 

วงการพุทธศาสนาเถรวาท

ยังไม่เคยมีพจนานุกรมดีๆ

ที่เรียกว่า

”ธาตุปัจจยวิภาค”

แปลว่า

”จำแนกธาตุและปัจจัย”

การเรียนพระไตรปิฎก

การค้นคว้าพระไตรปิฎก

เลยยากลำบาก

 

——-

มกราคม ๒๕๖๐

ผมและทีม

ร่วมกันค้นคว้า คิดอ่าน และคลำหา

ตลอดจนคลำทาง

ก็พบว่า

ศรีลังกา

ควรเดินทางไป

ผมออกเดินทางไปค้นคว้า

รวบรวมข้อมูลที่ศรีลังกา เดินทางรอนแรมไปหลายเมือง

โคลอมโบ แคนดี้ อนุราธปุระ ฯลฯ

และได้พบว่า

ทางลังกาเอง

ก็ทำโครงการตำรา

แต่เน้น “สารานุกรมพุทธศาสนา”

ยังไม่ใช่แนวทางที่ผมและทีมสนใจ

——

 

ถึงเดือนมีนาคม ๒๕๖๐

หลังสั่งตำราพจนานุกรมบาลี

จากสมาคมบาลีปกรณ์

ประเทศอังกฤษ

และจากร้านหนังสือในอินเดีย

และพม่า รวมถึงในไทย

คือพจนานุกรมพุทธศาสน์

ฉบับประมวลศัพท์และฉบับประมวลธรรม

และปทานุกรมบาลี สันสกฤต อังกฤษ ไทย

รวมถึงพจนานุกรมบาลี อังกฤษ ญี่ปุ่น

มาวิเคราะห์เนื้อหาสาระเชิงเปรียบเทียบ

 

จากการวิเคราะห์วิจัย

พบว่า “อภิธานพระไตรปิฏกพม่า”

กับ “พจนานุกรมบาลีสมาคมบาลีปกรณ์”

น่าสนใจ มีหลักการทำงานคล้ายคลึงกัน

ผมและทีม

ตกลงลุยงานกัน

ทันที ทันใด ทันใจ

บนพื้นฐานคือไม่พร้อม

ไม่มีทีม

ไม่มีทุน

ไม่มีทำเล

ไม่มีเทคโนโลยี

มีแต่จิตใจที่ “ทุ่มเท” เต็มที่ เต็มร้อย เต็มใจ เต็มกำลัง

ตกลงกันบนเงื่อนไขว่า

เริ่มงานโครงการระยะแรก “ปริวรรต”

——–

เมษายน ๒๕๖๐

ผมและทีม

เริ่มลงมือ

๓ ปีเศษล่วงเลย

กันยายน ๒๕๖๒

ผลงานวิจัยโครงการพจนานุกรมบาลีระยะแรก

เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง

ดีใจที่ได้ใช้ “ความคิดอ่าน”

มาทำให้เกิด “คุณค่า” และ “คุณภาพ” ต่อสังคมวัดวาอาราม

——-

ตั้งแต่ปี ๒๕๕๗

ที่ไปมาหาสู่และผมเลือกคบหา

ก็มีแต่ “สายใจบุญสุนทาน” ที่มีใจรักพุทธศาสนาทางวิชาการเหมือนกัน

เพียงแค่หยิบมือเดียว น้อยราย แต่สบายใจ ที่คบหา

 

คติผม

มองทางโลกให้มองต่ำ

มองทางธรรมให้มองสูง

——-

 

ผมมีความคิดอ่านเช่นนี้

ในห้วงเวลานี้

ปีหน้า งานพจนานุกรมบางส่วน

จะเริ่มแล้วเสร็จเป็นรูปร่าง

วัดต่างๆ ทั่วไทย คงได้รับแจก “ฟรี” เป็นธัมมทาน

 

เสร็จงานวิจัยพจนานุกรม

ผมก็มีงานวิจัย “สารานุกรม”

และงาน “วิจัยคัมภีร์พุทธโบราณ”  ทำต่ออีก…เยอะมาก

ปัจฉิมวัย ขอคืนความคิดอ่านเชิงสร้างสรรค์

สู่แวดวงวัดวาอาราม

เวลาที่ยังเหลืออีกไม่กี่ปี

ก็มีแต่เพื่อพระพุทธศาสนา

และลูกเณรทั้งหลาย ๓๐๐ รูปเศษ วัดต่างๆ ทั่วไทย

ที่ผมพาเครือข่ายคนใจบุญสุนทาน ไปถวายกองทุนการศึกษากับมือตนเอง

กันครหา กันคนใส่ร้ายใส่ความว่าแอบหาผลประโยชน์ หรือหวังประโยชน์แอบแฝง

 

วงการอื่นๆ ไม่ต้องดึงผมไปข้องแวะหรือยุ่งเกี่ยว

——-

 

พจนานุกรมบาลีของผม

ถ้าผมมีเจ้าภาพ มีเงินทุน ก็พิมพ์เป็นเล่มแจก

ไม่มีเงิน ไม่มีเจ้าภาพ

คิดเผื่อเอาไว้แล้ว

ก็คงแจกเป็น “ไฟล์”

ให้วัดต่างๆ ทั่วไทย และต่างแดน

ดาวน์โหลดไปใข้งานกันเอาเอง

เป็นธัมมทาน

 

ที่เล่ามา ไม่ได้สร้างภาพ

และไม่ได้หวัง เก้าอี้ ตำแหน่ง ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ ใดๆ

แต่เล่าว่าผมคือ “คนจริง”

คือคนที่คำไหน คำนั้น

ที่ทำตามที่พูด

 

 

 

 

Comments

comments