๒๓๖. ทำดีเอาหน้า สร้างภาพเอาเงิน

๑๖.๘.๒๕๖๒
ข้ออรรถ ข้อธรรม
“ทำดีเอาหน้า
สร้างภาพเอาเงิน”


อุทิส ศิริวรรณ
เขียน
——–

 

คนที่ใจบุญสุนทาน
จิตใจจะคิดเพียงว่า “ให้”
ดังนั้น คนที่ใจบุญสุนทาน
พอทำบุญทำทานระยะหนึ่ง
จะประสบพบพานกลุ่มคนที่เป็นปุถุชน
ทั้งประเภท “เอาหน้า” และ “เอาเงิน”
เป็นเช่นนี้ แต่ไหนแต่ไรมา  นับพันนับหมื่นปี

ผู้รู้จึงสอนให้คนที่ชอบทำบุญทำทาน

“วิจัย คัดเลือก เลือกเฟ้นแล้ว จึงทำทาน”
สอนให้เกิด “หิริ ความละอาย” และ “โอตตัปปะ เกรงกลัวต่อบาป”
อย่าทำตัวเป็นคนปราศจากหิริโอตตัปปะ
อย่าทำตัวเป็น “คนกล้าเพียงดังกา”
คือ “คล้ายกับอีกา”

ไปไหนมาไหน ก็พูดพล่าม “ของกู ของกู”
เดินตามหาแต่ “เงิน”  เปล่งเสียงร้องระงมรอบสารทิศว่า

“เงินอยู่ไหน เงินอยู่ไหน”

การทำบุญทำทานอันประกอบด้วยปัญญา
คือการระลึกรับรู้ถึงความเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ของผู้ให้ ของผู้รับ และของที่จะทำบุญให้ทาน
ผู้ให้ก็หมั่นระลึกถึงกฎไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน
ผู้รับก็หมั่นระลึกถึงกฎไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน
ของที่จะทำบุญทำทาน ก็เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน

แต่น้อยรายจะคิดอ่านเช่นนี้ได้
ในพระไตรปิฎกพระพุทธเจ้าตรัสแต่เพียงว่า
อานิสงส์ของทาน จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับคุณธรรมของผู้รับ
มีผู้รู้ขยายความไว้ว่า ถ้า “ผู้ให้” และ “ผู้รับ”
เป็นเพียง “นามรูป” ที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
การทำบุญทำทาน ก็เป็นศูนย์
ไม่มีผลใดๆ ต่อผู้ให้ทาน
เพราะผู้รับ เป็นเพียงแค่ “นามรูป” ที่แปรปรวนตามกระแสไตรลักษณ์

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
การทำบุญให้ทาน
ย่อมทำให้ “ผู้ให้” ไม่เกิดปีติและสุข

ซ้ำร้ายอาจ “เลิก” ไม่ทำบุญทำทาน ตลอดไป

สู้เก็บ “เงิน” ไว้ทำแต่ “ทาน”
ที่แม้จะได้บุญน้อย หรือไม่ได้บุญใดๆ
เช่นเลี้ยงแมว เลี้ยงสุนัข

แต่ทว่า “สบายใจ” และ “เบาใจ” ดีกว่าให้ “คน”

ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๖
“ย่าเหล” เลยเป็น “หมา” ตัวโปรดของพระองค์

ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ ๙
“ทองแดง” เลยเป็น “หมาวัด” ที่ยกระดับเป็น “หมาวัง”

เพราะเหตุผลเดียวคือ “ซื่อสัตย์” แปลตรงตัวว่า “จริง”

ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท เรื่องสามาวดี

มีอรรถาอธิบายไว้ชัดเจนว่า

“มนุษย์ปากอย่างใจอย่าง”

ทว่าสัตว์ดิรัจฉานทั้งหลาย

“ปากกับใจตรงกัน”

แปลว่า “ต่อหน้า” และ “ลับหลัง” ก็ตรง
ไม่เอาดีใส่ตัว ไม่เอาชั่วโยนให้คนอื่น

ไม่ปากพูดอย่าง ไม่ทำอีกอย่าง

คนที่ปากกับใจตรงกัน

ผมถึงย้ำหนักหนาว่า

เวลานี้  “เป็นบุคคลหาได้ยาก” ในโลก

——-

ในสมัยของพระกุสันธพุทธเจ้า
“ทูสีมาร” ได้ปองร้ายพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์
ด้วยดวงจิตที่เต็มไปด้วยความหมั่นไส้ อิจฉาริษยา
เห็นว่า “พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์” มีระดับจิตสูงกว่าและวาระจิตเหนือกว่าตน
ทว่าเมื่อทุ่มเททำซ้ำแล้วซ้ำเล่าแล้วก็ยังไม่สำเร็จ
จึงได้เข้าสิงเด็กชายคนหนึ่ง แล้ว “สั่งจิต” ให้เด็กชายลงมือ
ขว้างก้อนหินใส่พระอรหันต์นามว่า “วิธุระ”
ซึ่งเดินตามหลัง “พระกกุสันธพุทธเจ้า” จนศีรษะแตกเลือดไหลนอง

ด้วย “บาปกรรม” เช่นที่ว่านี้
ทำให้ “ทูสีมาร” ต้องบังเกิดใน “อเวจีมหานรก” ในทันทีทันใด

เป็น “กรณีศึกษา” ว่า แทนที่ “ทูสีมาร” จะได้ฉลองชัยชนะในบาปที่ทำ
กลับต้องได้รับ “ทุกข์ทรมาน” “ทุกข์ยาก” และ “ตกระกำลำบาก”
จากบาปที่ทำ กรรมที่ก่อ

แม้ว่า “ทูสีมาร” จะเป็น “พญามาร” มีอำนาจเหนือมารทั้งหลายทั้งปวง
ทว่า “อเวจีมหานรก” ซึ่งเป็นขุมนรกชั้นต่ำที่สุดใน ๓๑ ภูมิ
“พญามาร” อย่าง “ทูสีมาร” ต้องหมอบราบคาบ สยบอยู่ใต้เท้า
“นายนิรยบาล” ผู้คุมกฎ

สะท้อนความจริงว่า
ไม่ว่าตนจะอยู่ในสถานะใด เพศใด
เพศบรรพชิต หรือเพศคฤหัสถ์
“บาปที่ทำ กรรมที่ก่อ”
ย่อมตามสนองผู้ทำบาป ไม่ช้าก็เร็ว

——

เป็นเรื่องน่าแปลกว่า
“คนทั้งหลาย” ส่วนใหญ่มักจะ “ทำบาป” และ “ทำกรรม”
ที่ให้ผล “เผ็ดร้อน” และ “เร่าร้อน” แก่ตนเอง
ในที่แจ้ง และที่ลับ

เพราะคิดว่าทำแล้วตนจะได้รับความสุขสบาย

คนผู้หนึ่ง อาจลงมือฆ่าเอง หรือบงการผู้อื่นให้ลงมือฆ่า
อาจยักยอก ทุจริต คอรัปชัน ออกปาก แสวงหา “เงิน”
โดยอ้างการเป็น “ตัวแทนจัดการ” หรือ “นายหน้า” หรือ “คนจัดอีเวนต์”
และอาจพร้อมให้การในศาล ยัดเยียด ปรักปรำ ใส่ร้าย ใส่ความผู้อื่นในศาล
หรืออาจ “พูด” ในที่ลับหลัง ทำความ “เสื่อมเสีย”  “มัวหมอง” และ “เสียหาย”
แก่ผู้อื่น หรือใช้ “อำนาจ” สั่งการ ให้ผู้อื่น “เดือดร้อน” ด้วยการกระทำของตนเอง
โดยคิดว่าทำแล้ว ตนเองจะได้เงิน ได้เงินแค่จำนวนไม่มากแล้ว
กลับต้อง “มัวหมอง” และ “เสียผู้เสียคน” เพราะเงินจำนวนไม่มาก
ต้องถูกฟ้อง ถูกร้อง ร้องทุกข์กล่าวโทษ
หลายคนเมื่ออยู่ในตำแหน่งที่เรียกรับ “เงินทอง” จากอำนาจและหน้าที่
ทว่าเมื่อ “เงิน” ที่ได้รับ ไม่เป็นไปโดยชอบ ไม่ประกอบด้วยธรรม ไม่มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ
สุดท้าย ก็จบชะตาชีวิตลง ด้วยความ “โทมนัส”
สิ่งที่หวังก็ไม่ได้
สิ่งที่ได้ก็ไม่ดี
สิ่งที่ไม่คิด ก็บังเกิด
สิ่งที่คิด ก็กลายเป็นอื่น

เวลานี้ หลายคน ที่ดิ้นรน ไขว่คว้า วิ่งเต้น
แสวงหา “ตำแหน่ง” “อำนาจ” และ “เงินตรา”
ทว่าสุดท้าย “ตำแหน่ง” “อำนาจ” และ “เงินตรา”
กลายเป็น “ขุยไผ่” ฆ่า “ต้นไผ่”
คือ “คน” ที่ยังเป็น “ปุถุชน”
——
ผู้ที่ดวงจิตเป็น “พุทธะ” จะฝึกและรักษา “ดวงจิต” มิให้เป็นจิตที่มีโทสะเป็นมูลเหตุ (โทสมูลจิต)
จะเฝ้าคอยระมัดระวังจิต ควบคุมการกระทำ มิให้ถูกสั่งบังคับด้วยความไม่พอใจ เรียกว่า “โทมนัสสสหรคต”
กลายเป็นดวงจิตประกอบด้วยความขัดเคือง (ปฏิฆสัมปยุตต์) แบ่งเป็น ๒ ดวงคือ ไม่มีการชักนำ (อสังขาริก) และมีการชักนำ (สสังขาริก)

การทำบุญทำทานใดๆ ให้ระมัดระวังและฝึกหัด ควบคุม กายวาจา และจิต อย่าให้การทำบุญทำทานตกอยู่ภายใต้จิตที่มีโทสะเป็นเหตุ อันได้แก่ ความโกรธ ความหมั่นไส้ ความอิจฉาริษยา ความกังวลว่าทำแล้วจะไม่ได้เงินตามที่ต้องการ ความอยากได้เงินจำนวนมาก  ความอยากได้เงินจนเกินพอดี การทำตัวกล้าประดุจกา ปราศจากยางอาย ขอเพียงรีดไถให้ได้เงิน ตามที่ตัวเองอยากได้ตามใจอยาก ทั้งที่ “กินแรง” คนอื่น อย่างเห็นได้ชัด การที่ทำงานสร้างภาพประจบสอพลอเอาหน้า ต่อหน้าสาธารณะก็สร้างภาพว่า “ทำบุญทำทาน” แต่พอลับหลังคน ทวงเงินยิกๆ ถี่และบ่อย จนน่ารำคาญ ยิ่งกว่าขอทานเมืองแขก โดยละเลยหลัก “เห็นการณ์ไกล” คบกันระยะยาว มากกว่ามองเห็นเงินก้อนเล็กๆ ระยะสั้น

 

——

คนที่ “ทำบุญทำทาน” แล้วได้ผลดี คือคนที่ทำตามหลักการ “ปุญญาภิสังขาร” มุ่งทำบุญทำทาน ไม่ทำดีเอาหน้า ไม่สร้างภาพ ไม่เอา “ผลงาน” คนอื่นๆ องค์กรอื่นๆ มาเป็นของตนเอง โดยเข้าข่ายลักษณะ “หน้าเงิน” และ “หน้าด้าน” ไร้ยางอาย คนที่ “ทำบุญทำทาน” ตามหลัก “ปุญญาภิสังขาร” มุ่งทำให้ “รูป” และ “นาม” บริสุทธิ์ และมีผลทำให้ “ปฏิสนธิจิต” ยกระดับอยู่ในเพดานบินที่สูง ทำให้ได้ภพชาติที่ดี เครือข่ายที่ดี พวกพ้องที่ดี บริวารที่ดี หน้าที่การงานที่ดี มีอำนาจที่ดี มีวาสนาที่ดี มีตำแหน่งที่ดี เป็น “วิบากกรรม” ฝ่ายอกุสล คิดและทำบุญใดๆ ก็สำเร็จ สำเร็จ สำเร็จ มีพวกพ้อง “มนุษย์เทวดา” ฝ่ายสัมมาทิฐิ ช่วยคิดอ่าน ช่วยทำ ช่วยกันลงขัน คนละไม้คนละมือ จนกระทั่งการทำบุญทำทานแต่ละโครงการ สำเร็จ บังเกิดมรรคผล ตามที่จิตมีสัทธาอันแรงกล้า

ส่วนคนที่มุ่งทำบุญทำทาน เป้าหมายลึกๆ ในใจที่ซ่อนเร้นไว้มิดชิดคือ มุ่ง “เอาหน้า” และ “เอาเงิน” สุดท้าย “อปุญญาภิสังขาร” อันประกอบด้วย “โลภมูลจิต ๘ ดวง” และ “โทสมูลจิต ๒ ดวง” ก็มีผล ไม่ส่งผลในวันนี้ ก็ส่งผลในวันหน้า

ไม่เร็วก็ช้า ไม่เนิ่นนาน ก็จะบังเกิดผล คิดอ่านลงทุนทำการใดๆ ตริตรองตัวเลขจนละเอียด ต่อรองขอเอายศ ขอเอาตำแหน่ง สุดท้าย “เงินที่ลงทุน” ก็เสื่อมสูญ คำพูดคำจา คนก็ไม่เชื่อถือ  เครดิตที่เคยมีสั่งสม พอตนเองหมกมุ่นกับ “อปุญญาภิสังขาร” ดวงจิตประกอบด้วย “โลภมูลจิต ๘ ดวง” และ “โทสมูลจิต ๒ ดวง”  ยศที่คาดหวัง ก็ไม่ได้ ตำแหน่งที่คาดคิด ก็กลายเป็นของคนอื่น วันทั้งวัน ก็พัวพัน หมกมุ่น มัวหมองกับ คนโลภ และคนโกรธ

คนที่เป็น “มนุษย์เทวดา” จะกำหนดจิตรำลึกนึกถึงกุสลคือการทำบุญทำทานที่ตนและผู้อื่นช่วยกันทำอยู่เป็นนิตย์ พอจิตน้อมรำลึกนึกถึงการทำบุญทำทาน จิตก็เกิดปีติเอิบอิ่ม เป็นเหตุให้เกิดความสงบ ความสุข และจิตรวมพลังเป็นหนึ่งเดียว คิดเห็นไปว่าการได้ “จ่ายเงิน” สำหรับคนที่ “ขอ” ถือว่าเป็นการฝึกหัด อบรมจิต มิให้ “เค็ม-เหนียว-เขี้ยว-เบี้ยว” และมองว่าได้ฝึกจิตและฝึกตน ให้อยู่เหนือระดับคนที่ “เอาหน้า” และคนที่ “เอาเงิน”

——
บทสรุป
จะคิดอ่าน ทำการใดๆ
ไม่ว่าจะอยู่วงการใดๆ
ให้ถามตัวเอง ตลอดเวลาว่า

จะทำบุญทำทาน เพียงเพื่อ “เอาหน้า” หรือ “เอาเงิน”
หรือจะ “เอาดี” เข้าตัว และ “เอาชั่ว” ออกจากตัวให้หมดจด ?

Comments

comments