229. เรื่องเล่าจากญี่ปุ่น ตอน ๑๙

๗.๕.๒๕๖๒
เรื่องเล่าจากญีปุ่น ตอน ๑๘

เล่าเรื่องวิจัยทางการศึกษา
“การจัดการ “คน” ให้มีคุณภาพแบบญี่ปุ่น”
อุทิส ศิริวรรณ
——
งานวิจัยเรื่อง “การสร้างคนคุณภาพแบบญี่ปุ่น” โดย ศาสตราจารย์วรินทร วูวงศ์
รองศาสตราจารย์ ดร. สุณีย์รัตน์ เนียรเจริญสุข  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิยะนุช วิริเยนะวัตร์
และอาจารย์ยูคิเอะ ณ นคร  สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

งานวิจัยดังกล่าว ก็เหมือนหนังสือดีๆ ทั่วไปที่เก็บไว้ตามหิ้ง ไม่ได้ขึ้นห้าง
ตีพิมพ์เผยแพร่ในปี ๒๕๖๒ นี้เอง จำนวนเพียงแค่ ๕๐๐ เล่ม

เห็นว่าเนื้อหางานวิจัยสอดคล้องกับประเด็นที่ผมสนใจ จึงขอสรุปให้ฟังโดยย่อ
ในหน้า ๖-๗ อาจารย์วรินทร และคณะ สรุปข้อค้นพบจากการเข้าไปสังเกตใกล้ชิด ๒ ครั้ง ในปี ๒๕๓๘ และ ๒๕๔๕
โดยเข้าไปเยี่ยม “โรงเรียนระดับประถมศึกษาของรัฐบาลญี่ปุ่น”
ด้วยหัวข้อประเด็นวิจัยเรื่อง “การศึกษากับการสร้างคนแบบญี่ปุ่น”
ใช้ “วิจัยภาคสนาม” โดย “การสังเกต” การใช้ชีวิตประจำวันในโรงเรียนของเด็กญี่ปุ่น
ได้ “ข้อค้นพบ” ซึ่งมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากโรงเรียนประถมของเด็กไทย ๓ ประการ

ลักษณะพิเศษข้อที่ ๑ “การเขียนเป้าหมาย”
การเขียนเป้าหมาย เป็นลักษณะที่เด่นมากในโรงเรียนญี่ปุ่น มีการเขียนไว้ทุกหนทุกแห่งทั่วโรงเรียนเพื่อให้เด็กเกิดความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายของโรงเรียน เป้าหมายของสัปดาห์นี้ เป้าหมายของชั้นเรียน แม้กระทั่งเป้าหมายของวันนี้ เมื่อเข้าไปนั่งในห้องเรียนแล้วกวาดสายตาไปทั่วตั้งแต่หน้าห้องจนถึงหลังห้องเรียน จะพบว่า “ห้องเรียนเด็กประถมในญี่ปุ่น” เต็มไปด้วย “เป้าหมาย” แตกต่างจาก “โรงเรียนประถมของเด็กไทย” หล่อหลอมไปด้วยรูป “ธงชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์”

ลักษณะพิเศษข้อที่ ๒ “การทำงานเป็นทีม”
โรงเรียนชั้นประถมในญี่ปุ่น จะฝึกฝน ฝึกหัด และฝึกอบรมเด็กนักเรียนให้ปฏิบัติทุกวันจนติดเป็นนิสัย กิจกรรมทำงานเป็นหมู่คณะที่สำคัญ ยกตัวอย่างเช่น การรับประทานอาหารกลางวัน การร่วมกันทำความสะอาดอาคารเรียน ห้องเรียน และมีกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกันที่หลากหลาย ซึ่งหล่อหลอมและละลายพฤติกรรมของเด็กญี่ปุ่นให้ฝึกหัด รับผิดชอบร่วมกัน ทำงานเป็นทีม มีความสามัคคี น้ำหนึ่งเป็นใจเดียวกัน เพื่อส่วนรวม

ลักษณะพิเศษข้อที่ ๓ “การฝึกให้เด็กนักเรียนปกครองกันเอง”
จากการสังเกต พบว่าแต่ละห้องเรียนจะมีเด็กนักเรียนทำหน้าที่เป็น “หัวหน้าห้อง” ห้องละ ๑ คน และแต่ละห้องจะมี “รองหัวหน้าห้อง” ห้องละ ๒-๓ คน โดยนักเรียนจะสลับกับเป็นผู้นำ โดยเวียนกันขึ้นมาเป็น “หัวหน้าห้อง” ทุกภาคเรียน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของห้อง เข้าร่วมประชุมกลุ่มกับคณะกรรมการโรงเรียนในกิจกรรมต่างๆ ของนักเรียน นอกจากนี้ยังมีผู้รับผิดชอบประจำวัน ซึ่งจะเปลี่ยนไปอีกวันละ ๑ ตำแหน่ง โดยผู้รับผิดชอบประจำวันทำหน้าที่ประชุมตอนเช้าวันละ ๕ นาที ระหว่างเวลา ๐๘.๓๕-๐๘.๔๐ น. และประชุมกันก่อนกลับบ้านวันละ ๒๐ นาที ตั้งแต่เวลา ๑๔.๓๕-๑๔.๕๕ น.

ประเด็นที่น่าสนใจจาก “การฝึกให้เด็กปกครองกันเอง” ก็คือ “การวิจารณ์ตนเอง”

ซึ่งเป็นเรื่องที่โดดเด่นและแตกต่างจากสังคมไทยมาก การจัดการศึกษาในโรงเรียนของญี่ปุ่นเน้น “สังคมญี่ปุ่น” กล่าวคือฝึกฝน ฝึกอบรม และฝึกหัดให้เด็กญี่ปุ่นรู้จัก “วิจารณ์ตนเอง” ตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียน โรงเรียนฝึกให้เด็กกล้าและพร้อมที่จะ “วิจารณ์ตนเอง” ในเรื่องที่ตนเองรับผิดชอบ ทั้งในสิ่งที่ทำได้สำเร็จ และสิ่งที่ทำแล้วไม่สำเร็จ ทุกเย็น เด็กแต่ละกลุ่ม จะผลัดเปลี่ยนกันเล่าว่าวันนี้ตนได้ทำอะไรสำเร็จไปบ้าง เช่น กลุ่มที่ ๑ บอกว่ารับประทานอาหารกลางวันจดหมดเกลี้ยง กลุ่มที่ ๒ บอกว่าไม่ลืมการบ้าน กลุ่มที่ ๓ เล่าว่าทำความสะอาดห้องเรียนและอาคารเรียนเสร็จภายในเวลาที่กำหนด ส่วนกลุ่มที่ ๔ ระบุว่าทุกคนได้ออกไปเล่นข้างนอกเป็นต้น

ครูจะแจกสติกเกอร์ให้แก่กลุ่มที่มีความพยายาม ทุ่มเท รับผิดชอบ เด็กแต่ละกลุ่มก็จะนำสติกเกอร์ที่ได้รับแจกจากครูไปติดไว้ที่ “ต้นไม้แห่งความพยายาม” และ “แข่งขันกัน” ว่าใครจะได้สติกเกอร์มากกว่ากัน

จากที่เล่ามา จะเห็นภาพชัดเจนว่า “โรงเรียนญี่ปุ่น” จัดการศึกษาโดยเน้น “กิจกรรมร่วมกันทำงานแบบสามัคคีคือพลัง” มากกว่าโรงเรียนไทย

ข้อค้นพบที่มีนัยสำคัญคือ
“โรงเรียนระดับประถมศึกษาในญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการอบรมบ่มนิสัยของเด็กมากพอๆ กับเนื้อหาวิชาการ หรืออาจจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำ”

ครูประจำชั้นเรียนคนหนึ่งที่ทีมวิจัยสัมภาษณ์ได้เล่าว่าการทำงานเป็นกลุ่มมีผลทำให้เด็กๆ ต้องปรึกษาหารือร่วมกันคิดร่วมกันทำตลอดเวลา ทำให้เด็กเคยชินกับบรรยากาศที่สื่อสารสองทางและหลายทิศทาง ได้มีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับคนอื่นๆ ในสังคม เป็นการ “ปลูกฝัง” ให้เด็กเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นในสังคมโดยไม่ต้องใช้คำพูดอธิบายอะไรมาก มีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจน มีการแบ่งงานกันทำตามที่ได้รับมอบหมาย หรือมีการทำงานภายใต้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของกลุ่ม ทำให้เด็กทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเข้มงวดและจริงจัง หากใครสักคนไม่ยอมปฏิบัติ แต่ละกลุ่มก็จะนำมาถกเถียง วิเคราะห์ เพื่อแก้ไขปัญหา การฝึกให้เด็กปกครองกันเอง มีผลทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะปกครองกันเอง แม้ไม่มีครูอยู่ในห้อง เด็กก็ทำงานกันต่อไปได้ เพราะได้กลายเป็นรูปแบบไปแล้ว

ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ
วัฒนธรรมกลุ่มจึงมิได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่มีการกำหนดเป็นเป้าหมาย และมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบในโรงเรียน และในอีกด้านหนึ่ง ครูญี่ปุ่นจะสอนแบบลงรายละเอียด เช่น วิธีล้างมือ วิธีเดิน วิธีนั่งที่ถูกต้อง การถือสิ่งของ การจับตะเกียบ การจับไม้กวาด การทำความสะอาดห้องเรียน การกวาดห้อง การเช็ดถูห้อง และการตรวจตรา สำรวจดูว่ามีอะไรบกพร่องหรือไม่

การที่ญี่ปุ่นเน้น “คุณภาพคือการลงมือทำอย่างถูกต้อง” นั้น มีที่มาสืบทอดจากประเพณีทางศิลปะที่มีมาแต่โบราณของชาวญี่ปุ่นซึ่งเน้น “รูปแบบ” มาก

จุดเด่นวิชาจริยศึกษาและวิชาสังคมศึกษาของญี่ปุ่น จากการสังเกตของอาจารย์วรินทร และคณะ พบว่า การสอนวิชาจริยศึกษาแบบญี่ปุ่น เน้น “อารมณ์” และ “ความรู้สึก” โดยคำนึงถึงหลักการคือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวพันกับ “จิตใจที่ละเอียดอ่อน” ทั้งสิ้น

ส่วนวิชาสังคมศึกษา ครูสอนจะเน้น “ความละเอียด” ใช้เวลาหลายคาบจนเด็กเข้าใจถ่องแท้ และสามารถนำไปปฏิบัติได้

บทบาทของครูอยู่ในฐานะ “ผู้ป้อนข้อมูล” มากกว่า “ผู้สอน”  ครูจะคอยกระตุ้นให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น และค้นคว้าด้วยตนเองตลอดเวลา โดยครูทำหน้าที่เป็นเพียงแค่พี่เลี้ยง การค้นคว้าเพื่อทำรายงานหน้าชั้นจะทำเป็นกลุ่มเสมอ

อาจารย์วรินทร สรุปว่า “กระบวนการสร้างเด็กแบบญี่ปุ่นเน้นเรื่อง “ปฏิบัตินิยม” และ “ความเข้มงวดต่อตนเอง” เป็นอย่างมาก โดยให้เด็กปฏิบัติจนกลายเป็นนิสัยติดตัว รูปแบบการฝึกเด็กเช่นนี้กระทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานอย่างน้อย ๑๒ ปี ในระบบโรงเรียน ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว มีจุดมุ่งหมายเพื่อสอนให้รู้จักการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมโดยไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ซึ่งเมื่อมองจากประเทศตะวันตก ญี่ปุ่นมักถูกวิจารณ์ว่าสอนให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ไม่มีความหลากหลายทางความคิด แต่อย่างไรก็ตาม คนญี่ปุ่นยังคงได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติว่ามี “คุณภาพ” ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ ลักษณะเด่นของสังคมญี่ปุ่นคือการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันโดยการรวมกลุ่ม การศึกษาในโรงเรียนสอนให้อยู่กันเป็นกลุ่ม ความคิดของสมาชิกในกลุ่มจะคล้อยตามและกลมกลืนกัน จึงอยู่ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและรู้สึกมั่นคง การที่ผู้ใดทำตัวโดดเด่นเหนือผู้อื่นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยปรากฏ เมื่อทุกคนสังกัดกลุ่มใดก็ต้องเก็บความต้องการส่วนตนไว้ วัฒนธรรมกลุ่มในรูปแบบของญี่ปุ่น ได้มีรากฝังลึกมานานและเป็นคุณประโยชน์อย่างมหาศาลในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ที่ทุกคนพร้อมใจกันสร้างประเทศใหม่”

——–

Comments

comments