226. แนวคิดพระโพธิสัตว์

 

“แนวคิดพระโพธิสัตว์”
คอลัมน์
Get Idia 5.0

ศาสตราจารย์ ดร. อุทิส ศิริวรรณ
ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก ทวิปริญญา
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ
Charisma University, Providenciales, TC
and
Apollos University, Great Falls, Montana, USA

หนังสือพิมพ์ “เส้นทางนักขาย”
รายปักษ์
ฉบับวันที่ ๑-๑๖ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ 

 

ทุกวันนี้ “ฝรั่ง” หันกลับมาสนใจ “แนวคิด” แบบตะวันออก

ทฤษฎีผู้นำทางตะวันออกหลายทฤษฎี ได้ถูกเรียนรู้และนำไปใช้เป็นอันมาก

 

แนวคิด “พระโพธิสัตว์” ผมว่าเป็นแนวคิดทันสมัย และน่าสนใจ

แม้โลกในยุคโลกาภิวัตน์ จะย่นและย่อลงในลักษณะ “โลกไร้พรมแดน”

กอปรกับกระแส “เทคโนโลยีทันสมัย” ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวความสำเร็จและความล้มเหลวของผู้นำในโลกตะวันตกและโลกตะวันออก

วันนี้ ผมขอนำเสนอแนวคิด “พระโพธิสัตว์” ซึ่งพระโพธิสัตว์ แปลว่า “สัตว์ผู้จะตรัสรู้”

และเท่าที่ตรวจสอบ แนวคิดพระโพธิสัตว์ พบบันทึกไว้ในภาษาที่หลากหลาย

ทั้งภาษาบาลี สันสกฤต ทิเบต จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ทิเบต เวียดนาม และอักษรโรมัน

 

พระธัมมปาละ ระบุไว้ในอรรถกถาสโมทานกถา คัมภีร์ปรมัตถทีปนี ว่าพระโพธิสัตว์มี 3 ประเภท คือ

  1. พระมหาโพธิสัตว์พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

  2. พระปัจเจกโพธิสัตว์พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า

พระสาวกโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้เป็นพระอนุพุทธะ

นอกจากนี้ ในอรรถกถาเถรคาถาในปรมัตถทีปนี

พระธัมมปาละยังจำแนกพระมหาโพธิสัตว์ออกเป็นอีก 3 ประเภทคือ

1. ปัญญาธิกะ คือพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้ปัญญาเป็นตัวนำ 

2. สัทธาธิกะ คือพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้สัทธาเป็นตัวนำ

3. วิริยาธิกะ คือพระโพธิสัตว์สร้างบารมีโดยใช้วิริยะความเพียรเป็นตัวนำ

คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์มีอยู่ 3 ข้อใหญ่

  1. มหาปรัชญาหรือปัญญาอันยิ่งใหญ่ หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรม ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส

  2. มหากรุณาหมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีจิตกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างปราศจากขอบเขต พร้อมที่จะสละตนเองเพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์

  3. มหาอุปายหมายความว่าพระโพธิสัตว์จะต้องมีวิธีการชาญฉลาดในการแนะนำ อบรมสั่งสอนผู้อื่นให้เข้าถึงสัจธรรม

พระโพธิสัตว์บำเพ็ญ “มหาปณิธาน 4 ประการ” อันประกอบด้วย

  1. เราจะละกิเลสให้หมด

  2. เราจะศึกษาสัจธรรมให้จบ

  3. เราจะช่วยโปรดสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น

  4. เราจะบรรลุพระพุทธภูมิอันประเสริฐสุด

แนวคิดจริยธรรม 10 ประการของพระโพธิสัตว์ ผมเห็นว่าน่าสนใจ

เป็นแนวคิดที่ทันสมัย และวงการต่างๆ มาสามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตและงานได้ 

 

แนวคิด “จริยธรรม” กล่าวคือ “ธรรมะที่พึงปฏิบัติ” ประกอบด้วย

  1. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า ร่างกายจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ

  2. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า ร่างกายจะไม่มีภัยอันตราย

  3. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีอุปสรรคในการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์

  4. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีมารขัดขวางการปฏิบัติภารกิจ

  5. พระโพธิสัตว์ ถือว่าทำงานให้นานที่สุด โดยไม่ปรารถนาจะให้สำเร็จผลเร็ว

  6. พระโพธิสัตว์ คบเพื่อน โดยไม่ปรารถนาจะได้รับผลประโยชน์จากเพื่อน

  7. พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาว่า จะให้คนอื่นต้องตามใจตนเองเสมอไปทุกอย่าง

  8. พระโพธิสัตว์ ทำความดีกับคนอื่น โดยไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน

  9. พระโพธิสัตว์ เห็นลาภแล้ว ไม่ปรารถนาว่าจะได้รับ

  10. พระโพธิสัตว์ เมื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี ติเตียนนินทาแล้ว ไม่ปรารถนาที่จะตอบโต้

พุทธภูมิธรรมของนิยตโพธิสัตว์ ในการเพิ่มพูนบารมีให้มากยิ่งขึ้น มีน้ำใจประกอบไปด้วย พุทธภูมิธรรม 4 ประการ คือ

  1. อุสสาโห คือประกอบไปด้วยพระอุตสาหะ มีความเพียรอันสลักติดแน่นในจิตใจอย่างมั่นคง

  2. อุมัตโต คือประกอบด้วยปัญญา มีปัญญาเชียวชาญเฉียบคม

  3. อะวัตถานัง คือมีพระทัยอธิษฐานอันมั่นคง มิได้หวั่นไหวคลอนแคลน

  4. หิตจริยา คือประกอบไปด้วยพระเมตตา เจริญจิตอยู่ด้วยพรหมวิหารเป็นปกติ

อัธยาศัย ที่ทำให้พระโพธิญานของนิยตโพธิสัตว์แก่กล้ายิ่งขึ้น มี 6 ประการ

เนกขัมม์ พอใจในการรักษาศีล การบวช หรือบรรพชา วิเวก พอใจอยู่ในที่สงบ

อะโลภะ พอใจในการบริจาคทาน อะโทสะ พอใจในความไม่โกรธ เจริญเมตตา

อะโมหะ พอใจในการพิจารณาคุณและโทษ เจริญปัญญา

นิพพาน พอใจที่ยกตนออกจากภพ ไม่ยินดีในการเวียนว่ายตายเกิด ประสงค์นิพพานเป็นอย่างยิ่ง

อานิสงส์พิเศษอีกอย่างหนึ่งของนิยตโพธิสัตว์ คือ การทำอธิมุตตกาลกริยา

เมื่อท่านเกิดเป็นเทวดาหรือพระพรหม เกิดความเบื่อหน่าย ในการเสวยสุขนั้น

ปรารถนาที่จะสร้างบารมีในโลกมนุษย์ ท่านก็สามารถทำการอธิมุตต

คืออธิษฐานให้จุติ (ตายจากการเป็นเทพ) มาเกิดเป็นมนุษย์ได้ทันทีโดยง่าย

ซึ่งเหล่าเทพเทวดาอื่นๆ ไม่สามารถทำอย่างนี้ได้

แนวคิดพระโพธิสัตว์ นำมาปรับใช้แล้ว ได้ผล เพราะมีทั้งแบบโลกิยะ ระดับปุถุชน กับโลกุตระ ระดับอริยะ

เหมาะสำหรับวงการนักขาย นำไปปรับใช้ ในยุคดิจิทัล ค่อยๆ อ่านพิจารณาดูครับ  

Comments

comments