๒๖๔. คำสอนหลวงตี่ย

๖.๕.๒๕๖๗

ข้ออรรถ ข้อธรรม

“คำสอนหลวงเตี่ย
วาระชาตกาล ๑๐๐ ปี
พระธรรมราชานุวัตร
วัดพระเชตุพน
๗ พฤษภาคม ๒๔๖๗”

อุทิส ศิริวรรณ

เขียน

———-——————
ผมได้รับประชาสัมพันธ์
ชาตกาลร้อยปีหลวงเตี่ย
จากท่านเจ้าคุณพระสุธีวชิรปฏิภาณ
และเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์

แต่ผมมีภารกิจสำคัญ ไม่ว่างไป

การแสดงออกความกตัญญูกตเวที
ผมก็ทำได้ สไตล์ผม
คือปกติ ผมจะนำและทำ
การสั่งสมบุญ ทุกวัน ตลอดเวลา
ไม่ทำด้วยของ ก็ทำด้วย “ธัมมทาน”
ให้ความรู้ เป็นแสงสว่างส่องทาง ในใจคน
—————

เช้านี้ ผมเลยตั้งจิตอธิษฐาน
แผ่บุญ อุทิศเจาะจง
หลวงเตี่ยพระธรรมราชานุวัตร
ขอดวงวิญญาณท่าน
จงมีส่วนแห่ง
– มหากุศล บุญใหญ่ สร้างมหาสถูปธัมมเจดีย์
สนับสนุนส่งเสริม การค้นคว้าแต่งแปลพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท
-มหาสังฆทาน บุญใหญ่ สร้างศาสนทายาท
สนับสนุนส่งเสริม ถวายอุปถัมภ์ เป็นทุนการศึกษา
ลักษณะเบี้ยยังชีพ พระสงฆ์สามเณร ๕๐๐ รูปเศษ
เล่าเรียนบาลีสนามหลวง
วัดโมลีโลกยาราม
ตั้งแต่ครั้งที่ ๑ จนถึงครั้งที่ ๑๒๔
ทำประจำ สม่ำเสมอ ทำทุกเดือน ในรอบ ๑๑ ปี
เป็นปรมัตถทาน ธัมมทาน สร้างคน สร้างคัมภีร์ ทั้ง ๒ บุญ

ตามที่ทุกท่านทราบชัด
ผมโฟกัส เจาะจง เลือกทำแค่ ๒ บุญใหญ่
ในชีวิต ไม่มีโอกาสทำบุญได้ครอบจักรวาล

ทำได้เป็นชิ้นเป็นอัน
ทำได้เป็นเรื่องเป็นราว แค่ ๒ มหาทาน คือ
“มหาสถูปธัมมเจดีย์” กับ “มหาสถูปสังฆเจดีย์”

ส่วน “มหาสถูปพุทธเจดีย์”
มีคนคิดอ่านและลงมือทำ
เยอะแยะมากมาย

มากจนทุกวันนี้ ในหลายพื้นที่
ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ
ขาดศาสนทายาทดูแล

ปัจจุบัน ศาสนทายาท กับ ศาสนธรรม
กำลังเป็นวิกฤต วิบัติ และหายนะของพุทธศาสนาเถรวาท
ในประเทศไทย

——————————–

ประวัติย่อ

หลวงเตี่ย ราชทินนามก่อนมรณภาพคือ พระธรรมราชานุวัตร
เกิดเมื่อ ๗ พฤษภาคม ๒๔๖๗
ถึงปีนี้ก็ครบ ๑๐๐ ปี

ท่านมรณภาพเมื่อวันจันทร์ที่ ๒ กันยายน ๒๕๔๕
เวลา ๑๖.๐๔ น. ณ ตึกอัษฎางค์ โรงพยาบาลศิริราช
ด้วยโรคติดเชื้อในกระแสเลือดและโรคแทรกซ้อน
กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด สิริอายุได้ ๗๘ ปี ๓ เดือน ๒๕ วัน ๕๗ พรรษา

วิทยฐานะท่านคือ ป.ธ. ๖, พ.ม. , น.ธ. เอก, พธ.ด. กิตติมศักดิ์
เป็นอดีตผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวง วัดพระเชตุพน
และอดีตเจ้าคณะภาค ๓

หลวงเตี่ย สนองงานพระมหาเถระ คือสมเด็จพระสังฆราชป๋า
เลยไม่มีโอกาส ไม่มีเวลา ไม่ได้เรียน มจร เหมือนท่านอื่นๆ

ท่านเป็น “ดี ๑ ประเภท ๑” พระราชาคณะชั้นธรรม
ขณะคู่แข่งในวัดเป็นแค่พระราชาคณะชั้นราช
แม้กรรมการมหาเถรสมาคมส่วนใหญ่จะเลือกและสนับสนุนท่าน
ทว่าเมื่อบางรูป ที่มีตำแหน่งและอำนาจเหนือกว่า ไม่เอาด้วยกับท่าน
ท่านเลยชนะไม่เป็น แพ้ตลอดกาล 
เป็นตำนานเล่าขาน วัดพระเชตุพน และตำนานการเมืองคณะสงฆ์ จนถึงบัดนี้ 

ส่วนสาเหตุเป็นเช่นใด บางเรื่องราว ผมก็เก็บไว้ในใจตลอดกาล ไม่เล่า ไม่เอ่ยถึง 

————–

คำสอนหลวงเตี่ย

เมื่อเราไม่สามารถ “ย้อน” อดีต ที่กลายเป็นเพียงแค่ “ความหลัง”
ประเด็นที่หาอ่านยาก และน่าสนใจเรียนรู้มากกว่าการเมืองวัด
นั่นคือ “คำสอนหลวงเตี่ย”

 

หลวงเตี่ยฝากอะไรดีๆ เอาไว้ ให้ขบคิดและนำไปใช้
หลายเรื่อง คือถ้าเขียน “หลวงเตี่ยศึกษา”
ก็คงเป็นตำราหนานับหมื่นหน้า
ผมจะคัดเลือก คัดกรอง คำสอนบางประเด็น ที่น่าสนใจ

 

คำสอนดีๆ คือ
การใจกว้าง เปิดช่องทางและโอกาส

ประเด็นนี้ หลวงเตี่ย เป็นผู้นำที่ใจกว้างมองกว้างคิดไกล ใฝ่สูง
ไม่ใจคอคับแคบ เหมือนผู้นำบางรายที่ ปากอย่าง ทำอย่าง
หลายราย พูด ฟังแล้ว ดูดี แต่เอาเข้าจริง มีดีแค่ลมปาก

ผมเจอผู้นำแบบที่ว่า เยอะมาก แล้วคนเหล่านี้ อาฆาต มาดร้าย พยาบาท
ผูกใจเจ็บ แทนที่จะนำความที่เล่า ไปขบคิด พิจารณา ปรับปรุง แก้ ไข
กลับคิดลบ คิดร้าย แปลงมิตรให้กลายเป็นศัตรู

ในสังคมเวลานี้ มีคนที่ผันแปรมิตรให้เป็นอริ เยอะมาก ทุกวงการ

เลือกได้ พยายามมีอิสรภาพ เสรีภาพ การงานและการเงิน
อย่าไปอยู่ใต้บังคับบัญชาใคร
การเที่ยวไปคนเดียว เหมือนแรดที่มีนอ ประเสริฐกว่า

ในพระไตรปิฎก มีคำสอนว่า
เอโก จเร ขคฺควิสาณกปฺโป
หามิตรสหายที่เป็นคนจริงไม่ได้
ก็พึงเที่ยวไปคนเดียว เหมือนนอแรด ฯ

——————————-
ช่องทางและโอกาสสไตล์หลวงเตี่ย
หลวงเตี่ย เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่หาได้ยาก
ท่านสนใจ สนับสนุน ส่งเสริม และอุดหนุน อุปถัมภ์ อุปการะ
เด็ก เยาวชน สามเณร พระหนุ่ม เณรน้อย
ใจกว้างแบบว่า ไร้กำแพงกั้น

– คนบ้านเดียวกัน
– คนจังหวัดเดียวกัน
– คนภาคเดียวกัน

หลวงเตี่ยไม่มี หลวงเตี่ย เปิดรับศิษย์ ทุกคน
ขอให้เป็นคนจริง เป็นคนใฝ่ดี
————
ความใจกว้างของหลวงเตี่ย
การสนับสนุนส่งเสริมคนรุ่นหลังของหลวงเตี่ย
ท่านชอบคนที่มากด้วย “ความสามารถ”
มิใช่ชอบคนตรงที่ มากด้วย “ปริญญาบัตร”
—————

ผมเล่าประเด็นนี้ น่าสนใจ
ผมเป็นที่รู้จักของหลวงเตี่ย
จากสามเณรโนเนม
ในคราวอบรมบาลีสนามหลวงก่อนสอบ
ปี ๒๕๒๘

ปีนั้น ชั้นอบรมบาลีประโยค ป.ธ. ๕
ในภาค ๑๔ อันประกอบด้วย
พระสงฆ์สามเณร
จากสำนักศาสนศึกษา บาลีสนามหลวง
จังหวัดนครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และสมุทรสาคร

หลวงเตี่ย ในฐานะเจ้าคณะภาค ๑๔ ได้หารือคณะสงฆ์ แล้วมีมติ
เปิดช่องทาง เปิดโอกาส ให้พระและสามเณรจากต่างภาค
ที่สนใจติวเข้มอบรมบาลีก่อนสอบ มีส่วนร่วมอบรมบาลีก่อนสอบได้ด้วย
มีที่พักฟรี น้ำไฟฟรี อาหารฟรี เช้า เพล น้ำปานะ
สบายจัง สตังค์อยู่ครบ ไม่เสียเงินสักบาทเดียว

การที่มีผู้หลักผู้ใหญ่ ให้โอกาส ให้ช่องทางการศึกษาบาลีสนามหลวง
ให้เปล่า ให้ฟรี ไม่มีข้อแม้ ไม่มีข้ออ้าง ไม่มีเงื่อนไข
มีผลทำให้กาลต่อมา
ผมนำมาเป็นแรงบันดาลใจแรงดลใจ
รวบรวมผู้คน ทุกวงการ ช่วยกันคนละ ๕๐๐ บาท
มอบทุนการศึกษา ในลักษณะเบี้ยยังชีพ
อุดหนุน อุปถัมภ์ อุปการะ เณรน้อย เรียนดีแต่ยากจน
จากจังหวัดต่างๆ ภาคต่างๆ ที่มาอยู่พำนัก วัดโมลีโลกยาราม

เณรน้อยเหล่านี้ ส่วนมาก ฐานะทางบ้าน ยากจน 
แต่ใจสู้ ใจเต็มร้อย ออกบวช อุทิศตนเพื่อพุทธศาสนา
มุ่งมั่น พากเพียร พยายาม ที่จะเป็น “คนดี” ของสังคม
บวชแล้ว จะอยู่หรือลาสิกขา ก็เป็นคนมีคุณภาพ และคุณค่า 
ช่วยกันพัฒนาสังคม สถาบันครอบครัว สถาบันหลัก รุ่นต่อรุ่น

เพราะผมพอรู้ว่า วัดสำนักบาลี ยกตัวอย่าง วัดโมลี
ข้าว อาหาร น้ำ พอมีผู้บริจาค พออยู่ พอขบฉัน ตามอัตภาพ
แต่ที่จะใจกล้า ใจถึง ควักทำบุญ เดือนละ ๕๐๐ บาท
อุดหนุน ในลักษณะเบี้ยยังชีพ บอกตรง หาคนทำยาก มีน้อยวัดที่ทำได้

 

ขนาดกิจการระดับพันล้าน หมื่นล้านบาท
ที่จะควักเงินสดทำบุญ เต็มที่ก็แค่แสนบาท
แต่ก็เข้าบัญชีเฉพาะวัด ฝนตกไม่ทั่วฟ้า
พระหนุ่ม เณรน้อย เข้าไม่ถึง เงินบริจาคดังกล่าว

จากการสังเกต
รายบุคคล ทำส่วนตัว
ที่จะควักรายละ ๕๐๐ บาท ทุกเดือน

ไม่ว่ากรรมการบริษัทยักษ์ใหญ่
หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่
ที่จะช่วยเบี้ยยังชีพ ค่าใช้จ่ายส่วนตัวแต่ละเดือน

บอกตรง หายาก
อาจเพราะไม่มีการรณรงค์สร้างค่านิยม
หรือเพราะมองว่าเป็นหน้าที่รัฐบาล ต้องสนับสนุนและทำส่วนนี้

 

เบี้ยยังชีพสำหรับเด็กๆ พอมี

แต่เบี้ยยังชีพ สำหรับพระหนุ่มเณรน้อย อาชีพนักบวช
ไม่มีค่าตอบแทนประจำ ไม่มีรายได้เป็นเงินเดือนประจำ
ต้องบวชเรียนไปนานๆ จนจบ ป.ธ. ๙ จนเป็นอาจารย์สอน มจร มมร
จนมีสมณศักดิ์ เป็นพระสังฆาธิการ จึงจะได้เบี้ยหวัด นิตยภัต ค่าตอบแทนรายเดือน
ซึ่งกว่าจะถึงตำแหน่งตรงนั้น ต้องใช้เวลาอีกนานนับ ๑๐ ปี

 

กองทุนนิตยภัตร ถือกำเนิด ในปี ๒๕๕๗
จุดประกาย โดย พันโทไพโรจน์ พนารินทร์
เพียงปีเดียว ก็ยุติลงในปี ๒๕๕๘
ท่านจากไปทำที่อื่น ที่ท่านเห็นว่าขาดแคลนกว่า
ท่านไปทำต่อ ที่วัดพิชโสภาราม อุบลราชธานี
เพียงแค่ปีเดียว ก็เลิกโครงการเช่นกัน
ล่าสุดท่านหันมาสนใจ อุปถัมภ์ บาลีเถรวาทราชวิทยาลัย
อุปถัมภ์ส่วนตัว เดือนละแสนบาทเศษ ลงทุนไปแล้วหลายล้านบาท
จนสายสถาบันบาลีพุทธโฆส ยกย่อง มอบปริญญากิตติมศักดิ์ เชิดชูเกียรติ

มีผมเพียงคนเดียว ไม่เลิกทำ ยังคงทำต่อเนื่อง แม้ทุกคนจะลาจาก
ผมทำต่อเนื่องอีกหลายเดือนในปี ๒๕๕๘
จนถึงไตรมาสสุดท้ายปี ๒๕๕๘
ก็มีแนวร่วมเข้ามา โดยผมไม่ได้บอกบุญ
ไม่ได้เรี่ยไร ไม่ได้ขอใคร
ไม่ได้รบกวนใคร
ใครที่ชอบทำบุญด้านการศึกษาสามเณร ก็มาร่วมกัน
แต่ต้องวิจัยจนละเอียดลึกซึ้ง ตกผลึกค่อยทำ
เพราะเป็นมหาสังฆทาน ที่ให้เปล่า ไร้ข้อแม้ ไร้เงื่อนไข เน้น “ฟรี”

ทุกท่านที่ร่วมกันจนถึงปีที่ ๑๑ ครั้งที่ ๑๒๔
คิดตรงกัน คือใจรักการศึกษาโดยเฉพาะบาลีสนามหลวง

ซึ่งบุรพมหากษัตริย์ สมเด็จพระสังฆราช ในแต่ละรัชกาล ให้ความสำคัญ
ลงมือจัดการศึกษาด้วยตนเอง กระทั่งผ่องถ่ายอำนาจมอบให้สมเด็จพระสังฆราช
ซึ่งมอบอำนาจให้มหาเถรสมาคมจัดการแล้วมอบช่วงต่อ
ให้แม่กองบาลีสนามหลวง รับผิดชอบ จัดการสอบไล่ จนบัดนี้

บาลีสนามหลวงคือปราการแข็งแกร่ง
ในการทำนุบำรุงพุทธศาสนานิกายเถรวาทให้มั่นคง
ถึงขนาดฝรั่งนานาชาติ ยังกล่าวสดุดียกย่องว่า
Where there is Pali there is Buddhism
ที่ใดมีบาลี ที่นั่นมีพุทธศาสนา

บาลีสนามหลวง
เป็นการจัดการศึกษาพระธรรมวินัย กล่าวคือพระปริยัติธรรม
ที่พิสูจน์ทราบแต่สมัยสุโขทัยว่าได้ผล
ในด้านความมั่นคงพุทธศาสนา จนถึงปัจจุบัน 

เพื่ออุดช่องโหว่ สนับสนุนผู้ขาดโอกาส และไม่มีช่องทาง
นี่คือช่องโหว่ทางการศึกษาบาลีสนามหลวง
ที่ผมและทีม พยายาม พากเพียร ตั้งใจ ทุ่มททำกัน
จนทำได้ถึง ๑๒๔ ครั้ง เป็นเวลา ๑๑ ปี ต่อเนื่อง
แต่ยังคงต้องทำต่อไป เพราะยังไม่มั่นคง ยังไม่มีเสถียรภาพ ยังไม่แน่นอน

ผมอยากเห็นผู้ออกบวข สมัครใจเป็นนักบวช อายุน้อยๆ มีเบี้ยยังชีพทุกราย
ซึ่งไม่มาก แค่พอยังชีพ สักเดือนละ ๓ พันบาท จะบรรลุเป้าหมาย ที่ผมฝัน

ผมยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่จะพยายาม ฝันให้ไกล ไปให้ถึง

ควรทราบว่าหลวงเตี่ย เป็นผู้ที่ทุ่มเท เอาจริงเอาจัง 
มุ่งมั่น พากเพียร พยายาม ในอันที่จะสนับสนุนส่งเสริม
บาลีสนามหลวง ให้รุ่งเรือง ก้าวหน้า รุดหน้า สืบไป ในช่วงที่ท่านมีชีวิต 

ผลงานเชิงประจักษ์ของหลวงเตี่ยคือ
โครงการอบรมบาลีสนามหลวงก่อนสอบ คณะสงฆ์ภาค ๑๔

ยังคงจัดต่อเนื่อง จนถึงบัดนี้
ผลิตผลของการอบรมบาลีก่อนสอบ ประโยค ๑-๒ ป.ธ. ๓-๔-๕ คือ
สามเณรเปรียญ พระมหา พระครู พระราชาคณะ ดร.
นักวิชาการ นักวิจัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์
ที่กระจายกันสอนมหาวิทยาลัยต่างๆ
สร้างชื่อเสียง ผลิตคนดีสู่สังคมในประเทศและต่างแดน
รวมถึงผู้ประกอบการอิสระ ข้าราชการกระทรวงทบวงกรม
อนุศาสนาจารย์ ๔ เหล่าทัพ ตลอดทั้งกรมราชทัณฑ์

ผลลัพธ์ที่ได้ สังคม มีคนรุ่นต่อรุ่น
ที่มีศีลธรรมอันดีงาม
ทำหน้าที่ช่วยกันสร้างสถาบันหลักคือสถาบันครอบครัว
และจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
อานิสงส์ ชาติมั่นคง และมั่งคั่ง จีรังยั่งยืน

——–
ในยุคนั้น
ช่องทางและโอกาสการยกระดับ ยกสถานะ
เลื่อนชั้นทางสังคม มีน้อย
แต่เปิดกว้าง

ที่วัดไร่ขิง สามพราน นครปฐม
สำหรับนักบวชทุกราย
ที่เรียนบาลีสนามหลวง
ประโยค ๑-๒ ป.ธ. ๓-๔-๕

—————
สนามอบรมบาลีสนามหลวงก่อนสอบ
จะอบรมล่วงหน้า ประมาณ ๑๘ วัน ปีละครั้ง
อบรมจริง ๑๕ วัน เหลือ ๓ วันให้กลับไปเตรียมตัวสอบ
เป็นจุดมุ่งหมาย เป็นปลายทาง
ของพระสงฆ์สามเณรทั่วประเทศในยุคนั้น

ขอเพียงแค่เตรียมหลักฐานคือใบสุทธิ
มีตำรับตำราในมือครบ
และเลือกชั้นที่จะอบรม
ผู้สนใจก็มาวัดไร่ขิงได้เลย

สมัยปี ๒๕๒๘ กางเตนท์
เรียนกันบนสนามหญ้า
ไม่มีอาคารเรียน ไม่มีแอร์
แต่ก็มาเรียนกัน เฉียดพันรูป

อาหารแม่ครัว วัดไร่ขิง อร่อยจนบัดนี้
หาอาหารไทย รสบ้านๆ แบบวัดไร่ขิง หายาก
แม่ครัวที่นี่ ฝีมือระดับดาวมิชลิน แข่งขันระดับนานาชาติได้สบายมาก
วัดไร่ขิง จัดคอร์ส อบรมแม่ครัวส่งนอก เปิดร้านไทยได้เลย
เป็น Food Power
หลวงพ่อเจ้าคุณแย้ม นำและทำทันที
ครัวไทยสู่ครัวโลก

—————————-

ในยุคที่หลวงเตี่ยเป็นเจ้าคณะภาค ๑๔
ยุคนั้น เป็นยุคทองบาลีสนามหลวง
น่าเสียดาย สถิติบาลีสนามหลวงล่าสุดปี ๒๕๖๗
วัดต่างๆ ในเขตคณะสงฆ์ภาค ๑๔
หาคนบวชเรียนยาก คนบวชน้อยลง
น้อยมาก จนน่าเป็นห่วง
อนาคตบาลีสนามหลวง
ซึ่งส่งผลกระทบถึง มจร และมมร
ที่อาจมีตึกเกิดใหม่จำนวนมาก แต่คนเรียนไม่มี
เหมือนที่พบเห็นในประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐอเมริกา
มหาวิทยาลัย ปิดตัวลงนับร้อยแห่ง
ต้องเบนเข็มไปเปิด ระบบมหาวิทยาลัยออนไลน์ทดแทน


ยุคนี้ ตึก ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป

คณาจารย์ ที่มีความรู้และความสามารถ
มีประสบการณ์ มีความชำนาญการ มีความช่ำชอง
สำคัญกว่า “ตึก”

แน่นอนว่า app IT สมาร์ทโฟน สำคัญกว่า “ตึก”
ทุกคน อยู่ที่ไหนของโลก ก็เรียนรู้ได้
ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
ปรากฏการณ์สังคมวันนี้คือ คนรุ่นใหม่ สนใจเรียนรู้ผ่าน
ซอฟต์แวร์ โปรแกรม และแอ็พต่างๆ มากกว่าเรียนรู้ในห้องเรียน

ความข้อนี้ ตรงตามที่หลวงเตี่ยทำนายเอาไว้
ท่านบอกผมว่า อนาคต คนที่มี idea มีความสามารถ
ทำอย่างเดียว ได้ดีกว่าคนอื่นๆ
คนที่มีความสามารถหลากหลาย
จะเอาตัวรอดได้ ในศตวรรษหน้า
เมื่อเทียบกับ คนที่รู้เฉพาะแค่มีศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญา
แปลว่า ความสามารถ สำคัญกว่า เหนือกว่า ปริญญา
หลวงเตี่ย ชอบย้ำประเด็นนี้กับผมเสมอ

ท่านเปิดโอกาส เปิดช่องทาง สนับสนุนส่งเสริม ให้ผมเรียน
ทางโลกและทางธรรม

แต่…บนหลักการว่า
ผมคิดเอง ผมก็ต้องควักเอง
ดิ้นรน หาเงินจ่ายค่าเทอมเอาเอง
ตามพุทธภาษิตว่า
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
ตนแล เป็นที่พึ่งแห่งตน

ผมเล่าไว้ในวัยสนธยาว่า
อยากได้อะไร ต้องดิ้นรนขวนขวายเอาเอง
น้อยราย ในชีวิตจริง ที่ราชรถมาเกย …

หลวงเตี่ย ไม่เคย “ปวารณา” ออกปาก
ให้ผมมาขอการสนับสนุนแต่อย่างใด
ในชีวิตผม เจอพระที่สนใจสนับสนุน อุดหนุนทุนการศึกษา
ให้เปล่า ไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข เพียงแค่ ๒ ท่าน
– ท่านแรก พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดไร่ขิง
ท่านอุดหนุนทุนการศึกษาปริญญาโท บาลี-สันสกฤต จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท
ในปี ๒๕๓๔ เปิดโอกาสให้ผมได้มีทุนเล่าเรียน ค้นคว้าวิจัย จนจบปริญญาโทจากจุฬาฯ
แม้ไม่เพียงพอ แต่ก็พอยังประทังตน พอซื้อหนังสือ ถ่ายเอกสาร ค้นคว้า จิปาถะ

– ท่านต่อมา พระพรหมวชิรปัญญาจารย์ ราชบัณฑิต วัดราชโอรส
ท่านเมตตา อุปถัมภ์ ทุนการศึกษาปริญญาเอก ปีละ ๑ แสนบาท เป็นเวลา ๔ ปี
สายบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ท่านบอก เอามาจาก มูลนิธิพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ท่านดูแลบริหาร ท่านเน้นย้ำว่า ไม่พอ แต่ผมต้องดิ้นรนขวนขวายหาเอาเองจากหลายช่องทาง
ให้นึกถึงคำว่า “ผ้าป่าสามัคคี” คือหาจากทำงานหลายอย่างผสมผสาน เก็บเล็กผสมน้อย

ผมเล่าตรงไปตรงมาว่า คนไทย ยังไม่เปิดใจเรื่องให้ทุนการศึกษา
ยังใจคอคับแคบ ไม่เหมือนฝรั่ง ญี่ปุ่น จีน อินเดีย
ที่ให้ทุนการศึกษาค้นคว้าวิจัยแบบให้เปล่า
บ้านเรา ยังมองว่า การเรียนหนังสือ เป็นเรื่องส่วนตัว
หนำซ้ำ ผู้ใหญ่บางราย ยังมองว่าเป็นความเห็นแก่ตัว ไปโน่นเลย…

ที่พูดน้อย แต่ทำจริงจัง
กลับเป็นหลวงพ่อเจ้าคุณ
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดไร่ขิง
เวลานั้น ยุคนั้น ท่านเป็นศูนย์กลาง
ทุนสนับสนุนการศึกษาต่อระดับบัณฑิตศึกษา
รวมถึงทุนค้นคว้าวิจัย บาลี

ท่านรักบาลี เป็นนักบาลีตัวยง

ผมสังเกต โอกาสที่ผู้กำลังเรียน
จะพบผู้อุปถัมภ์ สนับสนุนทุนวิจัย ทุนเรียนดี
มีน้อยรายมาก…

สังคมไทย โดยเฉพาะผู้นำที่มีทุนและมีอำนาจ
ควรแผ่บารมี สร้างบารมี เอาทรัพย์สินเงินทองที่มีมากมาย
มาช่วยเหลือเจือจานผู้อุปการะอุปถัมภ์เด็ก เยาวชน สามเณร
ผู้ด้อยโอกาส และอยากพบช่องทาง อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม

นอกจากยกระดับ ยกสถานะให้พ้นความยากจนด้วยการศึกษาดีๆ แล้ว
ผมไม่พบทางเลือกอื่นๆ สำหรับเด็กๆ สามเณรชาวต่างจังหวัด

 

————

ย้อนอดีต

บาลีอบรมคณะสงฆ์ภาค ๑๔ รุ่งเรืองเฟื่องฟูจนบัดนี้

เหตุผล หลวงพ่อปัญญา
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง เอาจริงเอาจัง
ต่างสนใจ สนับสนุน และชอบการศึกษาบาลีสนามหลวง
ท่านวางฐานไว้ดี จนพระธรรมวชิรานุวัตร หลวงพี่แย้มของผม
สานต่อ สืบต่อ รับช่วง พัฒนา อบรม จนมั่นคง ยั่งยืน
ต้องยอมรับว่า หลวงพี่เจ้าคุณแย้ม เป็น อภิชาตศิษย์จริงๆ
จากผลงานเชิงประจักษ์  ไม่ใช่ชมคนกันเอง
หลายท่าน ยกย่องชื่นชมผลงานหลวงพี่แย้มเข้าหูผมประจำ
เช่นงานคณะสงฆ์ หมู่บ้านรักษาศีล ๕ รวมถึงงานประชุมอื่นๆ
หลวงพี่แย้ม กล้าลงทุน เสียสละ ใจถึง พึ่งได้ สไตล์หลวงพ่อเจ้าคุณอุบาลีฯ
ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

สะท้อนความจริงว่า “ต้นแบบ” ที่ทำให้ “เจริญรอยตาม” มีนัยสำคัญ
มีอิทธิพลต่อ วิธีคิด วิธีพูด วิธีทำ ของผู้ที่ปฏิบัติตาม “ผู้นำ” ที่ล่วงลับ

ผมเอง ส่วนหนึ่งที่ทำกองทุนนิตยภัตร ถวายอุปถัมภ์พระสงฆ์สามเณร
ให้เปล่า ไร้ข้อแม้ ไร้เงื่อนไข ปีละ ๔ ล้านบาทเศษ ทำติดต่อมาได้ถึง ๑๑ ปี
ทำได้ถึง ๑๒๔ ครั้ง ทำได้ทุกเดือน แรงบันดาลใจส่วนหนึ่ง
ก็จากหลวงพ่อเจ้าคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ วัดไร่ขิง สามพราน นครปฐม
ท่านให้โอกาส เปิดช่องทาง ให้ทุนการศึกษา ให้เปล่า ไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข 

เช่นเดียวกับ พระธรรมวชิรานุวัตร (แย้ม สิรินฺธโร) เจริญรอยตาม ในช่วงเวลานี้ 
ท่านเห็นความสำคัญ ให้ความสำคัญ สนับสนุนการศึกษา ทุกระดับชั้น 
แต่ผมไม่ไปออกปากขอทุนสนับสนุนจากหลวงพี่แย้ม เพราะท่านมีภาระค่าใช้จ่ายมาก
ได้แต่อนุโมทนาความดีท่านในใจ อะไรที่ช่วยทางวิชาการได้ ก็ช่วยท่าน ตามที่ท่านขอความร่วมมือมา
————

ตัวหลวงพ่อเจ้าคุณปัญญา วัดไร่ขิง สมัยนั้น ยังเป็นกำลังหลัก
ร่วมกับหลวงเตี่ย ช่วยกันระดมสมอง ระดมทีม ระดมทุน
จนกระทั่งสำนักอบรมบาลีสนามหลวงก่อนสอบ คณะสงฆ์ภาค ๑๔ 
วัดไร่ขิง มีการอบรมต่อเนื่องจนถึงบัดนี้

ศิษย์เก่าสำนักอบรมบาลีก่อนสอบวัดไร่ขิง
มีชื่อเสียงดีเด่นดังในหลากหลายวงการ
เช่น พระพรหมกวี เจ้าคณะภาค ๓ วัดกัลยาณมิตร
พระพรหมบัณฑิต ศ.ดร.  ไม่แน่ใจ แต่ที่แน่ๆ
ได้ทุนวัดไร่ขิง เรียนต่อจนจบ ดร. ที่มหาวิทยาลัยเดลี
ดร. วัชระ งามจิตรเจริญ
ศาสตราจารย์ประจำ คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วัดไชยชุมพลชนะสงคราม กาญจนบุรี
พระเทพวัชราจารย์ รศ. ดร.
วัดพระเชตุพน  ก็ด้วย
ฯลฯ

ในจำนวนนั้น ก็รวมถึง “ผม”
ผมเองได้รับเมตตา หลวงพ่อเจ้าคุณ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
ให้ทุนการศึกษา จนจบปริญญาโท บาลีสันสกฤต จุฬาฯ
ส่วนการเรียนปริญญาโท เอก สหรัฐอเมริกา
คิดเอง ควักเอง ไม่มีอะไรซับซ้อน

————-

มีวันนี้ เพราะหลวงเตี่ยให้
โอกาสและช่องทาง

จนถึงทุกวันนี้ ผมเชื่อว่า “วัด” เป็นสถาบันหลักในสังคม
ที่แปรวิกฤตให้เป็นโอกาส
สำหรับ “เยาวชน” ชาย
ถ้าใครมีลูกมีหลาน เป็นชาย
มืดแปดด้าน ไม่มีทางออก ไม่มีทางเลือก
วัดใกล้บ้าน ทุกวัด สายบาลีสนามหลวง
ทั่วไทย ยังเป็นที่หวังได้

นึกอะไรไม่ออก
ก็นึกถึง
พระธรรมราชานุวัตร สุทัศน์ วรทสฺสี ป.ธ. ๙, ดร.

วัดโมลีโลกยาราม
ส่งลูกๆ ที่อนาคตดับวูบลงเพราะพิษภัยเศรษฐกิจ
ปัญหาครอบครัว มาเรียนต่อ มาเริ่มต้นชีวิตใหม่
กับท่านได้ 

ปฏิปทา วัตรปฏิบัติท่าน อาจจะไม่เหมือนหลวงเตี่ย
แต่สมณศักดิ์ชื่อเดียวกัน ก็มีผลงานโดดเด่น ไม่แพ้กัน

ถ้าผมจัดอันดับ พระธรรมราชานุวัตร วัดโมลี
ทุ่มเท เอาจริงเอาจัง ทำงานหนัก

หลวงเตี่ย ท่านจับงานหลายอย่างมากเกินไป จนเข้าลักษณะ “จับฉ่าย”
เลยไม่เกิดผลงาน เป็นชิ้นเป็นอัน เหมือนเจ้าอาวาสวัดโมลี

ที่สำคัญ คือหลวงเตี่ยท่านมี “อริ”
ที่มีตำแหน่งและอำนาจให้คุณให้โทษได้
ถ้าท่านไม่มีเจากรรมนายเวร
หลวงเตี่ย อาจสร้างผลงานเปรี้ยงปร้างได้
หลากหลายชิ้นงาน 

แต่ใครจะสามารถแบบท่านวัดโมลี
บอกตรง สัก ๑ แสนวัด คงมีแค่วัดเดียว ที่สามารถทำได้
เพราะต้องทุ่มเท เอาจริงเอาจัง ทั้งวัด

—————————–
ข้อจำกัด จุดอ่อนหลวงเตี่ยคือ ทำตามหน้าที่
ตอนท่านเป็นเจ้าคณะภาค ๑๔ ผลงานโดดเด่นมาก
พอท่านถูกคำสั่งย้ายเป็นเจ้าคณะภาค ๓ ผลงานลดฮวบ
ด้อยลงมาก อาจเพราะเขตปกครองภาค ๓
อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี

มิใช่จังหวัดสำคัญทางเศรษฐกิจ
ผลงานเลยวูบ ไม่โดดเด่นเหมือนตอนเป็นเจ้าคณะภาค ๑๔
ปกครองนครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และสมุทรสาคร

และที่แก้ไม่ตก คือ “โชคร้ายนายชัง”
ชกเท่าไหร่ ต่อยรัวกี่หมัดกี่ชุด
กรรมการตัดสิน ตัดสิทธิ์ ไม่นับคะแนนให้
อุปมาเลยเหมือน “ชกลม” วืดวาด วูบวาบ
สุดท้าย ไปไม่ถึงฝั่งแห่งฝัน

เลือกได้ อย่ามีศัตรู แม้แต่รายเดียว

—————————
ผมเอง ได้ดิบได้ดี มีวันนี้
ผมได้ “ครูบาอาจารย์”
อย่างหลวงเตี่ย พระธรรมราชานุวัตร
อย่างหลวงพ่อปัญญา พระอุบาลีคุณูปมาจารย์
รวมถึง
หลวงพ่อ หลวงปู่ ที่ใจดี มีเมตตา
จำนวนมาก ตามวัดวาอารามต่างๆ
ที่สนใจ และสนับสนุน เณรน้อย ที่เรียนบาลีสนามหลวง
เป็นไปตามคติธรรมที่ว่า
“คนรักเท่าผืนหนัง
คนชังเท่าผืนเสื่อ”
คือถ้าไปคุยกับสายอื่นๆ เช่น เกจิ สายกรรมฐาน
ผมก็คงเอาดีไม่ได้ การเลือกอยู่ในวงการ
ที่คิด เชื่อ ชอบ ใช่ เหมือนกัน
จึงสำคัญและจำเป็นต่ออนาคต

ผมเล่า เป็นข้อคิดว่า
ทุกคน ทุกวงการ
ท่านไม่ทำอะไรก็มีคนชัง
ท่านขยับตัวทำอะไร
คนก็จะทักท้วงว่า
…จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย
ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน…

ดังนั้น คนส่วนมาก จึงเลือกที่จะ
ไม่ทำอะไรเลย ไม่มีผลงาน ไม่มีความผิด
เพราะกลัวกระแสลมปากคน

แต่ถ้าท่านเป็นตัวของตัวเอง
กล้าที่จะนำและทำอะไร
ที่ไม่ทำให้ใครเจ็บ ไม่ทำให้ใครตาย

กาลเวลาล่วงเลย เมื่อสังคมพิสูจน์ทราบ
ก็จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนท่าน
ทีละรายสองราย

แต่คติผม คิดอะไร ทบทวนแล้ว มีคุณค่า มีคุณประโยชน์

ผมจะลงมือ ทำทันที
เพราะหลวงเตี่ย ท่านเองมีคนรักท่านมาก ขณะเดียวกัน
ก็มีคนชังท่านไม่น้อย

ท่านบอกเล่า เบื้องหลัง ความขมขื่น ชะตากรรม
ที่ท่านเล่าสาธารณะไม่ได้
ผมได้แต่รับฟัง และหดหู่ใจ ในบางเรื่องราวว่า
ผู้นำอย่างท่าน ทำดีแทบตาย ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อพุทธศาสนา
กระนั้น ก็ยังไม่ถูกใจ “ผู้นำ” ที่อยู่สูงกว่าท่าน เหนือกว่าท่าน

ความจริงข้อนี้ ต้องหาหนังสือที่ ส. ศิวรักษ์ เขียน
จะเล่าสะท้อนเรื่องราว การเมืองคณะสงฆ์ ในลักษณะที่ คล้ายคลึงกัน
เข้าทำนองว่า ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย
จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังคงเดิม ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน

ยกเว้น เลือกเดินออกจากวัด มาเป็นราษฎร คนเดินดิน

กระแสที่ว่า ก็จะมลายหายวับ …

ผมจำหลวงเตี่ยได้ ในแง่ที่ว่า
หลวงเตี่ย เป็นผู้นำต้นแบบ
ท่านคิดอ่านอะไรทันสมัยแล้ว
ท่านจะ ทำทันที ไม่สนใจ ฝ่ายค้าน
ผมเคยอ่านหนังสือ เลขาป๋าทำกูป่น จนจบ
อ่านจบแล้ว ผมก็ถามหลวงเตี่ยตรงๆ
ท่านถูกผมถามตรง ท่านก็เล่าตรง

กาลต่อมา ผมเจออริท่าน ทั้ง ๒ ท่าน
ฟังความ ๒ ฟาก ผมสรุปว่า
“ทิฐิพระ มานะกษัตริย์”

ถ้าเล่าแบบติดตลก
คิดเห็นไม่ตรงกัน
การพนันเลยเกิดขึ้น
แต่ถ้าเล่าแบบสุนทรภู่

ผลประโยชน์ขัดกันก็บรรลัย
ตายลงไปข้างหนึ่งจึงจะดี

ทุกวันนี้ ทั้ง ๒ ฝ่าย ละโลก สลายร่าง
อภัย อโหสิ กันทุกฝ่ายแล้ว

ผมก็ไม่อยากเล่า แต่นำความมาขบคิด
ก็พบความจริงว่า ตอนขัดแย้งกัน ไฟยังแรง
พอกาลเวลาผ่านพ้นไป เยือกเย็นลง
เวลาเปลี่ยน ใจคนเปลี่ยน
สั้น ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน

โบราณถึงสอนว่า
เวลาอารมณ์ยังร้อน
อย่าเพิ่งคุยกัน เพราะจะเถียงเอาชนะกัน
รอวันเวลาผ่านพ้นไป นานสักพัก
กลับมาคุยกัน จะเข้าใจกันดีขึ้น

แต่ต้องได้คนกลาง ที่ดี ก็มีส่วนสนับสนุน
ให้เกิดความปรองดอง สามัคคี

———————————

นับย้อนอดีต นับแต่ปี ๒๕๓๐
ที่ผมพึ่งพาอาศัย
ใต้ร่มใบบุญหลวงเตี่ย
เมื่อย้อนอดีต พบว่า
รายที่ขวนขวาย เอาใจใส่
เอาจริงเอาจัง
ศิษย์หลวงเตี่ย
ได้ดิบได้ดี ทุกราย

รายที่ตั้งตัวไม่ได้
ไม่เป็นโล้เป็นพาย
ก็มีเยอะมาก
ในหลากหลายวงการ
เป็นไปตามบุญวาสนาที่แต่ละคนมี

คือชะตาชีวิตคนเรา บุญทำ กรรมแต่งจริงๆ
– บางคน มืดมา มืดไป
– บางคน มืดมา สว่างไป
– บางคน สว่างมา มืดไป
– บางคน สว่างมา สว่างไป

————
กำลังใจ และแรงบันดาลใจจากหลวงเตี่ย

ปกติ วันสุดท้ายของการอบรมทุกปี
คณะสงฆ์ภาค ๑๔
จะยกย่อง เชิดชูเกียรติ ให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจ
สนับสนุน ส่งเสริม ผู้ที่สอบได้ประโยค ๙
ที่เคยอบรมบาลีสนามหลวง แล้วสอบได้ ในปีก่อนหน้า
เช่นปี ๒๕๒๘ ผู้ที่สอบได้ในปี ๒๕๒๗ ก็มารับรางวัลกัน

ปี ๒๕๒๘ นั้น พระมหาสมบูรณ์ ทสฺสธมฺโม
วัดพระงาม นครปฐม
สอบได้ ป.ธ.๙
ท่านมีชื่อรับรางวัล แต่เพียงผู้เดียว
เพราะเป็นนักเรียนในภาค ๑๔ ที่สอบได้เพียงรูปเดียว

ปี ๒๕๒๗ ทั้งประเทศมีผู้เข้าสอบ ป.ธ. ๙ จำนวน ๘๙ รูป สอบได้จริง ๑๒ รูป
มีสามเณรสอบได้เพียงแค่ ๑ รูปคือ สามเณรเสน่ห์ เขียวมณี วัดชนะสงคราม
เลยไม่มีสามเณรในภาค ๑๔ ที่สอบได้

หลวงเตี่ย ท่านทำให้ผมซาบซึ้งใจ ตื้นตันใจยิ่งนัก
ผมเอง นิรนาม โนเนม เพิ่งเตรียมสอบ ป.ธ. ๕
มีวุฒิการศึกษาแค่ชั้น ป.ธ. ๔ วัดพิชัยสงคราม สมุทรปราการ
หลวงเตี่ยท่านให้พระมาบอกผม เตรียมตัวขึ้นรับรางวัล
ผลงานเชิงประจักษ์คือ
เป็นผู้เข้าอบรมชั้น ป.ธ. ๕
เพียงรายเดียว
ที่ทำสถิติที่ทำได้ยาก คือทำข้อสอบวิชาแปลไทยเป็นมคธ
และวิชาแปลมคธเป็นไทย สอบผ่านทั้ง ๒ วิชา ได้ ๓ ให้
ครบ ๓๐ ครั้ง สมัยนี้เรียก clean sheet
ไม่เสียสถิติ แม้แต่ครั้งเดียว

หลวงเตี่ยและคณาจารย์ มองว่า
เป็นโจทย์ยาก โจทย์ใหญ่ที่ทำได้ยาก

หลวงเตี่ย ถึงกับพยากรณ์ล่วงหน้า
จากผลการสอบว่า
ผมจะเป็นสามเณรประโยค ๙ นาคหลวง ในอนาคต !!!
ท่านเจอผมกี่ครั้ง ท่านก็จะพร่ำพูดทำนองนี้
แม้ปีที่ผมสอบตก ป.ธ. ๘ ครั้งเดียวในปี ๒๕๓๑
ท่านก็ยังมั่นใจ
และบอกเล่า untold story ที่ผมไม่เล่าจนบัดนี้
แต่ให้เดินตามแผนที่หลวงเตี่ยวางไว้
สุดท้ายในปี ๒๕๓๓ วันที่ผมได้ ป.ธ. ๙
หลวงเตี่ยมาแสดงความยินดีถึงวัด
และบอกว่า ยินดีด้วย ผมทำได้ตามแผนที่หลวงเตี่ยวางไว้…

ปี ๒๕๓๔ ผมก็ได้รับติดต่อคณะสงฆ์ภาค ๑๔
ให้มารับรางวัล ในฐานะศิษย์เก่า
หนนี้ รับในฐานะที่จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค
ขณะเป็นสามเณร
ทำได้ตามที่หลวงเตี่ยฝันไว้ และคาดหวังเอาไว้ จริง
———-

คำสอนหลวงเตี่ย ที่ผมไม่เคยเล่าคือ
อยากได้ลูกเสือ ผมต้องเข้าถ้ำเสือ
ยุคนั้น เสือ ๒ ผู้ยิ่งใหญ่ในเชิงอุปมา
คือสมเด็จฟื้น วัดสามพระยา กับสมเด็จนิยมวัดชนะสงคราม
เมื่อผมย้ายค่าย ไปอยู่วัดราชบุรณะ สายสมเด็จวัดชนะ
๒ ปีต่อมา ผมก็ไม่สอบตกอีกเลย
จะว่าเก่งอย่างเดียว ก็ไม่ใช่
ในยุคปี ๒๕๓๓ ชื่อชั้นฐานะวัด และปัจจัยที่คาดไม่ถึง
ยังมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี
และไม่ใช่ว่าเก่ง จะสอบได้
การจะสอบได้ประโยค ๙ ขณะเป็นสามเณร
จึงต้องเงียบงัน ทุ่มเทสุดตัว แบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
อย่าทำตัวดี เด่น ดัง  อย่าให้วงการหมั่นไส้
ให้บังเอิญว่า ผมเป็นคนมีชื่อเสียง ดี เด่น ดัง ในวงการ
วงการบาลีสนามหลวงจึงจับตาดูเป็นพิเศษ
แต่ผม low profile นอบน้อม อ่อนน้อม ติดดิน ปฏิสันถาร
โอภาปราศรัย ทักทายก่อน ไหว้ก่อน ไปลา มาไหว้
เลยไม่มีปัญหาเรื่องการเข้าหาคน การเข้าถึงคน การคบหาสมาคมคน
จนถึงบัดนี้

คนที่ดีเด่นดัง ทุกวงการ จะเผชิญอะไรคล้ายกัน

ด้วยมุมมอง ๓ ฝ่าย
-ถ้าชนะฝ่ายสนับสนุนก็เฮ

-ถ้าแพ้ ฝ่ายต่อต้านก็บดขยี้ซ้ำ

และจะเจอคนอีกกลุ่ม ที่กลางๆ คืออาจสนใจเรา หรือไม่สนใจเลย
สนใจแต่เรื่องตัวเอง คนกลางๆ มีเยอะมาก ไม่เข้าข้างเรา
แต่ก็ไม่กระทืบเรา จมปฐพี

คติประจำใจผม
ไม่ยอมผิดพลาดอะไรในชีวิตสองครั้ง
ผมยึดถือจนบัดนี้ และทำเป็นประจำ จนบัดนี้
กล่าวคือ เมื่อสอบตก ก็ขอตกแค่ครั้งเดียวในชีวิต

บาลีสนามหลวงเหมือนกัน

ผมเรียนประโยค ๑-๒ ควบ ปีเดียวได้
ผมตกประโยค ๘ ครั้งเดียว ๑ ปี
พอปี ๒๕๓๒ และ ๒๕๓๓ สอบได้ ป.ธ. ๘ และ ป.ธ. ๙
ก็เท่ากับว่าผมเรียนเพียงแค่ ๙ ปีจบ
ไม่เสียสถิติทางด้านเวลา แต่อย่างใด
จบตามเกณฑ์

————-
กำลังใจที่ผมได้รับมากมายคือ
ตัวหลวงเตี่ยเอง ได้ยินครูบาอาจารย์ที่สอนเล่า
ว่างก็จะเมตตา ลงทุนเดินมาเยี่ยมผม และลูกพระลูกเณร
ที่เข้าติวบาลีประโยคต่างๆ
พอท่านเดินมาถึงเตนท์อบรม ป.ธ. ๕
ก็จะหยุด ทักทาย ปฏิสันถาร
ชักชวนผมสนทนา แววตาเปี่ยมเมตตา ชักชวนผมไปอยู่ด้วย

มอบนามบัตรให้ บอกให้ไปหานะ ถ้าสนใจอยู่วัดพระเชตุพน

เมตตาที่หลวงเตี่ยมอบให้เณรน้อย มีนัยสำคัญ
เป็นแรงบันดาลใจ ให้ผมลุกขึ้นมานำและทำ
กองทุนนิตยภัตร ที่ทำยาวนานถึง ๑๒๔ ครั้ง ในรอบ ๑๑ ปี
และทำให้ผม ลุกขึ้นอาสา นำและทำ ค้นคว้าวิจัยแต่งแปลบาลี
จนเกิดมี พจนานุกรมบาลีพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท ชุด ๒๓ เล่มจบ
ฉบับเฉลิมพระเกียรติแผ่นดินรัชกาลที่ ๑๐
ที่พระธรรมราชานุวัตร เมตตาเป็นบรรณาธิการบริหาร
เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เมตตา เป็นบรรณาธิการ

ณ เวลานี้ ผมกำลังซุ่มเงียบ ทำเป็นบาลีอักษรโรมัน
เพื่อประโยชน์แก่วงการบาลีนานาชาติ
ต้นฉบับเสร็จทางการ ก็จะบอก
อยู่ระหว่างตรวจสอบ ตรวจทาน ตรวจชำระ
คงเสร็จในปีนี้

หลวงเตี่ย เวลาว่าง จะคุยกันกับผม
ประเด็นเขียนหนังสือ
ท่านจะเล่าถึง สมเด็จพระสังฆราชป๋า
สมเด็จพระพนรัตน
และเกร็ดความรู้ เรื่องต่างๆ ในวงการคณะสงฆ์
ส่วนตัว ให้ผมฟัง คล้ายพ่อกับลูก นั่งสนทนากัน

—————-

แม้จะเจอหลวงเตี่ยในปี ๒๕๒๘

ปี ๒๕๒๙ ผมก็ยังไม่ได้ไปพบ
จนถึงปี ๒๕๓๐ หลังสอบได้ ป.ธ. ๗
ระหว่างนั้น ผมกำลัง “passion”
มีกุสลฉันทะ คลั่งไคล้การทดลอง ทดสอบ และลงมือสอน บาลี ภาคปฏิบัติ
ที่วัดป้อมวิเชียรโชติการาม สมุทรสาคร และวัดเพชรสมุทร สมุทรสงคราม
เวลาที่เหลือ ผมก็เก็บตัว ค้นคว้า รวบรวม เรียบเรียง
หนังสือชื่อ “ธรรมบทแปลโดยพยัญชนะ”
แปลคัมภีร์อรรถกกถาธรรมบท ครบ ๘ เล่ม

สไตล์ผม สบายๆ ทำงานหนัก ทำงานมาก ก็เหมือนคนไม่ทำงาน
คือใช้สมอง คิดอ่าน ทำงาน แต่ไหนแต่ไร จะวางแผนเป็นระบบ
จัดระเบียบความคิดและแผนงาน เป็นเรื่องเป็นราว จนบัดนี้

เหตุผลที่ลุกขึ้นมาแต่งแปลเรียบเรียงตำราบาลีสนามหลวง
เพราะยุคนั้น ตำราทันสมัย อัพเดต ตรงตามมติสนามหลวง หายาก

ผมจะไม่แปลให้วิจิตรพิสดาร เอาแค่พอสอบได้

และยึดเป็นมาตรฐานจนบัดนี้ กับทุกการสำคัญในชีวิต
คือ made it easy ทำอะไร ๆ ให้ง่าย
อย่าคิดเยอะ คิดมาก
อย่าเรื่องเยอะ เรื่องมาก
อย่าทำอะไรให้ซับซ้อน
อย่าทำเรื่องง่าย ให้เป็นเรื่องยาก

แต่หลวงเตี่ย ท่านเคร่งครัด มาตรฐานสูง
โดยเฉพาะการห่มจีวร ท่านเนี้ยบ
เอาแค่ถ่ายรูปติดบัตรทำพาสปอร์ต
หลวงเตี่ย สั่งให้ผมไปร้านตรงประตูวัด
ตรวจแล้วตรวจอีก กว่าจะได้รูปที่งดงาม
ดูแล้วสง่างาม ดูดี มีคลาส มีระดับ

ท่านเนี้ยบกระทั่งการขบฉัน
ต้องไม่มีเสียงดัง
ไม่มีซดโฮกๆ เหมือนฮ่องกง
มีมรรยาท แบบผู้ดี มีระดับ
ต้องโกนหนวด ตัดเล็บ โกนผม ต่อศีล
ท่านเอาจริงเอาจัง เข้มงวด วัตรปฏิบัติ
คล้ายหลวงพ่อสมเด็จวัดชนะสงคราม

ถ้าใครเป็นคนช่างสังเกต
พระวัดพระเชตุพน
พระวัดสุทัศน์
พระวัดประยุรวงศาวาส
จะแต่งตัว ห่มจีวร สง่างาม
ดูแล้ว ไฮคลาส มีระดับ

หลวงเตี่ยไม่ได้ฝึกแค่การห่มจีวร
แต่ยังฝึกยัน “ปฏิสันถาร”
การใช้คำพูด การโอภาปราศรัย
การลำดับความคิด
ท่านจะเมตตา บอก สอน สั่งสอน อบรม ทุกเรื่อง

ถ้ารายที่เบื่อหน่ายก็จะไม่เข้าหา
แต่ผม ชอบเข้าหา ชอบชวนท่านคุย
นอกจากเข้าหาหลวงเตี่ย
ที่ผมไปขลุก คลุกคลี บ่อยๆ คือ
หลวงพี่เทียบ พระเทพวัชราจารย์
แต่ภายหลัง ท่านมีคนเข้าหาเข้าถึงเยอะแยะมากมาย
ผมก็เลยไม่ได้แวะหา

ไม่เหมือนพบปะ
ท่านเจ้าคุณประเทือง
ท่านเจ้าคุณริด

ไม่มีวันนั้นสองครั้ง …

แต่ที่แน่ๆ ท่านก็งานยุ่ง ผมก็งานยุ่ง
ไม่มีอะไรซับซ้อน

—————————–
โอกาสทอง ไม่มีสองครั้ง

หลวงเตี่ย ฟูมฟัก ดูแล เอาใจใส่ ให้ความเมตตา
ให้ความรัก ให้ความห่วงใย ราวกับ “พ่อ” ตัวจริง
ยกตัวอย่าง ที่พำนัก หลวงเตี่ยให้ผมอยู่ น. ๑๗
กุฏิติดแอร์เย็นฉ่ำ นั่งทำงาน นั่งแต่งหนังสือ สัปปายะ
ยกเว้นเรื่องอาหาร หลวงเตี่ยชอบผูกปิ่นโต
ผมเอง กินยาก อยู่ยาก ก็ดูแลตัวเอง ไม่ทำตัวให้หลวงเตี่ยอึดอัดเลี้ยงยาก
คือเลี้ยงยาก ก็ต้องเลี้ยงตัวเอง ไม่มีอะไรซับซ้อน
กอปรกับผมเป็นคน “โชคดี” ไม่ลำบากเรื่องคนชุบอุปถัมภ์
แต่ไหนแต่ไรมา คิดอ่านทำอะไร ก็มีเทวดาดี คอยสนับสนุนช่วยเหลือตลอด
ราวกับมีมือที่มองไม่เห็นช่วย ผมถึงชอบใช้คำว่า
“พระพุทธเจ้าไม่ใช้คนทำงานฟรี”

ที่พำนักผม ยามดึกดื่น ผมชอบมองลอดหน้าต่าง
ดูแสงไฟส่องสว่างบนพระธาตุ นึกถึงเรื่องราวสมเด็จพระพนรตน
ผมจินตนาการตามพระนิพนธ์ที่ทรงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นปฐมสมโพธิกถา
ลิลิตเตลงพ่าย ตำนานรบสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ฯลฯ
ห้องที่ผมพำนักตรงข้ามเจดีย์พระอัฐิ สมเด็จพระพนรตน อดีตอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน
หลวงเตี่ยท่านบอก ท่านฝัน อยากเห็นผม เป็นนักปราชญ์ บาลี
เป็นนักคิด นักเขียน คล้ายพระราชวรมุนี ป.อ. ปยุตฺโต สมณศักดิ์สมัยนั้น
รวมถึงเจริญรอยตาม สมเด็จป๋า สมเด็จพระพนรตน
และท่านก็เปิดโอกาส เปิดทุกช่องทาง ให้ผมก้าวหน้ารุ่งเรือง

แต่ชะตาวาสนาคนเรา คนลิขิต ลางที มิสู้ฟ้าลิขิต
ระหว่างพำนักวัดพระเชตุพน ปี ๒๕๓๐ ถึง ๒๕๓๑
ผมก็พยายามสอบ ป.ธ. ๘
เรียนทุกสำนักที่เปิดสอนวิชาแต่งฉันท์และสอนแบบตัวต่อตัว
– คณะ ๕ วัดมหาธาตุ กับพระธรรมธีรราชมหามุนี
– วัดดาวดึงษาราม กับอาจารย์ พันเอก ดร. ชรินทร์ จุลคประดิษฐ์
– วัดนรนาถสุนทริการาม กับอาจารย์ บานเย็น ลิ้มสวัสดิ์
ไม่ได้ไปเรียนโรงเรียนคณะสงฆ์ส่วนกลาง เหตุผล
ติดเรียน มจร กับ มสธ เวลาไม่เหลือ
แต่งแปลหนังสืออีก หลายงานประเดประดัง

แต่โชคร้าย ปี ๒๕๓๑ ผมสอบตก
ชะตาชีวิตผม ก็เผชิญโลกธรรมฝ่ายเสื่อม
ดวงตก ดวงไม่ดี รู้สึกย่ำแย่ ทั้งที่พยายามเต็มที่
ทั้งที่ทุ่มสุดตัว เอาจริงเอาจัง ดูหนังสือแบบหักโหม ทั้งวันทั้งคืน
แม้จะเรียน มจร เรียน มสธ และแต่งแปลหนังสือ
ทว่าผลลัพธ์ที่ได้ ทั้งที่ผมยุติการสอนหนังสือ ทุ่มเท ป.ธ. ๘
เมื่อชีวิตลงเอยด้วย “สอบตก”

ทางเลือกชีวิตมีแค่ ๒ ทาง
ย้ายวัด หรือลาสิกขา?
——————–
สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา
ในทุกสถานการณ์ จำต้องปรารถนาสติ
เป็นคำสอนที่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ สนั่น จนฺทปชฺโชโต ป.ธ. ๙
วัดนรนาถสุนทริการาม เล่าให้ผมฟัง เป็นข้อคิด
ท่านเมตตา เล่าหลายเรื่อง ตั้งแต่การรวมนิกาย วัดพระศรีฯ ทุ่งบางเขน
รวมถึงตัวท่านเอง ที่สอบได้สอบตกตลอดเวลา
ท่านเล่าว่าตัวท่านเอง พยายามสอบใหม่ สอบซ้ำ สุดท้ายก็สอบได้
ท่านสรุปสั้นๆ ว่า

สติ สพฺพตฺถ ปตฺถิยา
ในทุกสถานการณ์ จำต้องปรารถนาสติ
และที่ผมชอบมาก อีกคติคือ
อุกฺกฏฺเฐ สูรมิจฺเฉยฺย
ในคราวอุกฤษฎ์ ราษฎรต้องการผู้นำที่กล้า

———————————

การใช้ชีวิตอยู่ใต้ร่มเงาหลวงเตี่ย
หลวงเตี่ยท่านสอนหลายอย่าง
-สอนงาน
-สอนคิด
-สอนเสขิยวัตร
-สอนยันการแต่งตัว
ลาสิกขามาเยี่ยม ท่านจะสอนอีกแบบ
-สอนให้สวดมนต์
เวลาท่านอยู่กับผม ท่านก็จะก่นด่า ดุ สั่งสอน สารพัด
ราวกับผมเป็นลูกที่เลี้ยงไม่โต

กลับกัน เวลาท่านพูดถึงผมลับหลัง
มีแต่คำชื่นชม ยกย่อง ฟังแล้วชวนเคลิบเคลิ้ม
บางรายอยู่ถึงสิงห์บุรี บอกได้ยินหลวงเตี่ยพูดถึงผมมานาน
จนอยากเจอตัว เจอแล้ว คุยกันแล้ว ก็เป็นอย่างที่หลวงเตี่ยท่านว่า
———–
หลวงเตี่ยละโลก ช่วงที่ผมยังคงเดินสายสอนแถวซีแอตเติ้ล
ผมไม่ได้มาร่วมงานทางการ แต่ทุกครั้งที่ผมทำบุญประจำสม่ำเสมอ
ก็อุทิศส่วนกุศลให้หลวงเตี่ยทุกครั้ง
วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๗
ครบรอบชาตกาลหลวงเตี่ย ๑๐๐ ปี
ผมได้เจริญรอยตามหลวงเตี่ย
ขวนขวาย วิริยะ อุตสาหะ
ร่ำเรียนจนจบชั้นสูงสุด ทางโลกและทางธรรม
อดทนใช้เวลากว่า ๒๐ ปี สร้างตัว
– มีบ้านเป็นที่พำนักมั่นคง
– มีครอบครัวมั่นคง
– มีศีลมีธรรมนำชีวิต

เพราะเป็น “ผู้ตาม” ที่ตาม “ผู้นำ”
เจริญรอยตาม จนวันนี้ กลายเป็น “ผู้นำ”
ที่ได้รับ “ปลูกฝัง” แนวคิด ให้โอกาสคน ชี้ช่องทางคน
สนับสนุนคน ส่งเสริมคน ให้เจริญรุ่งเรือง
ตามความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ ความช่ำชอง
ยอมเสียเปรียบคน กล้าที่จะนำและทำ
คิดที่จะให้เปล่า ไม่มีข้อแม้ ข้ออ้าง เงื่อนไข

———-
คำสอนหลวงเตี่ย ที่ผมจดไว้ มีเยอะมาก
ประเด็นที่ หลวงเตี่ยย้ำชัด
“ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด”
หลวงเตี่ยยกตัวอย่างผู้นำ ที่ดีเด่นดัง ในวงการต่างๆ ให้ผมฟัง
แล้วสรุปว่าเลือกได้ อย่าเป็นคนที่
“ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด”
คำสอนอื่นๆ ที่หลวงเตี่ย เมตตา เทศนาผม สั่งสอนผม อบรมผมอีกหลายข้อ ยืดยาว
นั่นคือ คำสอนว่าด้วยความสามารถ
หลวงเตี่ยนิยาม “ความสามารถ” ไว้ว่า
แตกต่างจาก “ชำนาญ” “ช่ำชอง” “มีฝีมือ”
ท่านเล่าว่า “ความสามารถ” ไม่มีในตำรับตำรา
บอกสอนกันไม่ได้ เป็นปัจจัตตัง คือเฉพาะตัว

ท่านแปล “ความสามารถ” ไว้น่าขบคิดว่า
“ความสามารถ แปลว่าอาจจะทำการงานให้เป็นผลสำเร็จ
ได้ดียิ่งกว่าผู้ที่มีโอกาสเท่าๆ กัน
เช่นต่างว่า คน ๒ คน
ให้เรียนหนังสือโรงเรียนเดียวกัน
สอบไล่ได้จบเท่ากัน
ได้ไปยุโรปด้วยกัน
เรียนเท่าๆ กันอีก
และกลับพร้อมกัน
เข้ารับราชการพร้อมกัน
ในหน้าที่คล้ายๆ กัน
แต่ครั้นเมื่อทำงานแล้ว
คนหนึ่งรู้จักใช้วิชาของตนให้เหมาะแก่กาลเทศะ
และสมเหตุสมผล
อีกคนหนึ่งต้องคอยให้นายชี้หนทาง
ให้ทำก่อนจึงทำ
เช่นนี้นับว่าคนที่ ๑
เป็นผู้ที่มีความสามารถมากกว่าคนที่ ๒”

ผมจดจำคำสอนหลวงเตี่ยข้อนี้ได้แม่นยำ
และเอามาปรับใช้ โดยเฉพาะที่ท่านอธิบายเล่าเสริมว่า
“…ความสามารถเป็นสิ่งซึ่งต้องการสำหรับคนที่จะเป็นผู้นำ
ไม่ว่าในฝ่ายทหารหรือพลเรือน
และเมื่อผู้หลักผู้ใหญ่จะเลือกหาผู้นำ
ย่อมจะเพ่งเล็งดูความสามารถมากกว่าภูมิวิชา
(ถ้าเขาคิดถูก)
แต่ผู้ใหญ่ที่หลงไปเพ่งเล็งกับวุฒิปริญญาโท ปริญญาเอก
บ้าปริญญาก็มี
ซึ่งในไม่ช้าก็ต้องรู้สึกว่าคิดผิด เพราะคนที่เป็น ดร. จบ ดร.
แต่ไม่รู้จักใช้วิชาให้เป็นประโยชน์จริงๆ
ก็ไม่ต่างจากวานรได้แก้วไว้ในมือ
แต่จะรู้ราคาแห่งแก้วนั้นก็หามิได้
สรุปว่า ความสามารถ
เป็นคุณสมบัติอันดับ ๑ ของผู้นำ ที่จะเป็นผู้บังคับบัญชาคน…”

ผมจดจำนำคำสอนข้อนี้มาใช้ จนกระทั่งบัดนี้

ข้ออื่นๆ เช่น
– ความเพียร
– การมีไหวพริบ
– ความรู้เท่าถึงการณ์
– ความซื่อตรงต่อหน้าที่
– ความซื่อตรงต่อคนทั่วไป
– การอ่านนิสัยคน
– การรู้จักผ่อนผัน
– การมีหลักฐาน หลวงเตี่ยเล่าถึง
ประเด็นมีศีลมีธรรมนำชีวิต
หลวงเตี่ยชอบยกตัวอย่างฝรั่งมาเล่าให้ฟัง
เพราะท่านอยู่แอลเอ แคลิฟอร์เนียนาน
ท่านว่าคนไทยชอบอ้างฝรั่ง
แต่ประสบการณ์ตรงท่าน ฝรั่งมิใช่ดีทั้งหมด
เพราะถ้าฝรั่งดีจริง ก็คงไม่มีคุกตะราง
มีตำรวจมีทนายมีอัยการมีผู้พิพากษา
ท่านสอนสั้นๆ เพียงว่า สึกออกไปแล้ว
ให้นึกถึงศีลธรรม อย่ามัวเมาหลงติดอบายมุข
อย่าติดเหล้า อย่าติดหญิง
อย่าทำตัวเป็นคนจรจัด
นอนบ้านคนนั้นคนนี้
นอนไปทั่ว ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
พยายาม ขยัน ทำงาน ตั้งใจทำมาหากิน
ให้มีหน้าที่การงาน มีงานทำเป็นชิ้นเป็นอัน
สร้างตัวให้สังคมยอมรับให้ได้ว่า
เป็นคนมีหลักฐาน มีบ้าน มีเงิน มีรถ มีงาน
มีผลงานเชิงประจักษ์

 

ที่ผมประทับใจคือ คำสอนว่าด้วย ความจงรักภักดี

หลวงเตี่ย สอนสั้นๆ สอนง่ายๆ จำแล้วนำไปทำได้ทันที
ท่านสอนว่า
“ความจงรักภักดี” แปลว่า “ความยอมสละตนเพื่อประโยชน์แห่งท่าน”
คือถึงแม้ว่าตนจะได้รับความเดือดร้อน รำคาญ ตกระกำลำบาก หรือจนถึงเสียชีวิต
ก็ยอมได้ทั้งสิ้น เพื่อมุ่งประโยชน์แท้จริงให้มีแก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

คนสมัยนี้ พูดแต่คำว่ารักชาติจนติดปาก แต่จะหาผู้ซึมซับซึมซาบเข้าใจละเอียดลึกซึ้งจริงๆ นั้น
หาได้ยากนัก

คำสอนเรื่องความจงรักภักดี
หลวงเตี่ยกำชับเป็นนักหนา ท่านเล่าว่า

ท่านเจอคนมาเยอะ ที่รักชาติแต่ปาก
ที่จะทำการที่ชำนาญ ช่ำชอง ตามความสามารถ

มีน้อยรายนักที่จักมีผลงานเชิงประจักษ์

ท่านสรุปว่า มิใช่มีเพียงแค่ตำแหน่ง อำนาจหรือปริญญา
แต่ต้องสามารถที่จะ

“สละตนเพื่อประโยชน์ท่าน”

มีเวลา ปีต่อๆ ไป ผมจะเล่า คำสอนหลวงเตี่ย ต่อ…

 

 

 

Comments

comments