๒๕๖. ทฤษฎีแรงบันดาลใจ

๑๗.๑๐.๒๕๖๖

ข้ออรรถ ข้อธรรม

“ทฤษฎีแรงบันดาลใจ”

อุทิส ศิริวรรณ เขียน

———–

แรงบันดาลใจ เท่าที่วิจัยโดยการสังเกต พบว่าเกิดจาก
๑. การอ่านคน
๒. การอ่านงาน
๓. การอ่านหนังสือ

———
๑. การอ่านคน
หมายถึง เราสนใจ ศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้ ชีวิตและงาน ของบุคคลนั้นๆ
ที่เราสนใจ เราเลื่อมใส เรานับถือ เราศรัทธา เราประทับใจ เราให้ความสำคัญ จนกลายเป็นบุคคลตัวอย่าง
บุคคลต้นแบบ บุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจ ให้เราลุกขึ้นมาทำ และนำ ปลุกปลอบใจเรา
ให้มีขวัญ มีกำลังใจ ต่อสู้ เพื่อความสำเร็จ ในวิถีทาง และวิธีคิด ตลอดทั้งวิธีสื่อสาร และวิธีปฏิบัติ
ในแบบฉบับของเรา

บุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจ มีหลายวงการ ยกตัวอย่าง วงการผู้นำ ก็มีบุรพมหากษัตริย์
ที่เป็นต้นแบบในใจหลายคน เช่น สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
วงการพระ ยกตัวอย่าง พระพุทธเจ้า พระอรหันตเจ้า วงการนักธุรกิจ ก็คือชีวิตและงาน
มหาเศรษฐีและเจ้าสัวทั้งหลาย
———-
๒. การอ่านงาน
หมายถึง แรงบันดาลใจ อาจจะเกิดมีขึ้นเองโดยธรรมชาติ หรืออาจจะเกิดจากเราได้รู้ เห็น ทราบ คลุกคลี สัมผัส
แล้วเกิดประทับใจ นำมาวิจัยและพัฒนาต่อ หรือนำมาลอกเลียน เลียนแบบ เรียนรู้ จนตกผลึก ต่อยอด
กลายเป็นชิ้นงานใหม่ๆ ที่เรียกว่านวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมบริการ นวัตกรรมความคิด
ล้วนเกิดมาจาก “การอ่านงาน”

ยกตัวอย่าง ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงได้รับแรงบันดาลใจ “ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง” จากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
แล้วต่อมา อีกหลายคน หลากหลายวงการ ก็นำ “งาน” ประเด็นเศรษฐกิจพอเพียง ไปต่อยอด พัฒนาต่อ จนเกิดมี
ตัวอย่าง “ชุมชนเศรษฐกิจพอพียง” เกิดขึ้น ทั่วประเทศ  ล่าสุด ผลงานวิจัยโครงการ “โคก-หนอง-นา” โมเดล
ก็ต่อยอด สืบสาน สืบต่อจากแนวคิดทฤษฎีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ผู้นำหลายคน ในหลากหลายวงการ ในระดับประเทศ และระดับนานานาชาติ ล้วนได้รับแรงบันดาลใจจาก “การอ่านงาน”
งานที่อ่าน ศึกษา ค้นคว้า วิจัย เรียนรู้แล้วเกิดแรงบันดาลใจ มีมากมาย ทุกวงการ อยู่ที่เราสนใจและให้ความสำคัญ

เท่าที่วิจัยโดยสังเกตจากการอ่านงาน พบว่าหลายคนสร้างงาน มีผลงานเชิงประจักษ์ โดดเด่นขึ้นมาในวงการ
ทั้งที่มิได้จบตรง มิได้จบสาขานั้นๆ ยกตัวอย่าง รัชกาลที่ ๕ มิได้จบเมืองนอก แต่มีความรอบรู้ มีความสามารถในพหุสาขาวิทยาการ
เพราะนำและทำเป็น จนกระทั่งมหาวิทยาลัยระดับโลก อย่างออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ ต่างยกย่องให้เป็น ดร. ด้านการวิจัย
มิใช่ ดร. กิตติมศักดิ์ ด้วยเหตุผลสนับสนุนคือ ทรงปราดเปรื่องด้านการเมือง การปกครอง นิติศาสตร์ ยกตัวอย่าง
รัชกาลที่ ๕ ทรงมีผลงานเชิงประจักษ์เรียกว่านวัตกรรม กล่าวคือทรงสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับ จปร.
ฉบับแรกของโลก ที่ปริวรรตจากคัมภีร์ใบลาน อักษรขอม ตีพิมพ์เป็นตัวเล่ม ครั้งแรกของโลก

กำเนิด “พจนานุกรมพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท ชุด ๒๓ เล่มจบ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๑๐” ก็เป็นพจนานุกรมบาลีที่ใหญ่ที่สุดในโลก
แรงบันดาลใจ เกิดจากพจนานุกรมนานาชาติ ตั้งแต่พจนานุกรมบาลีเล่มแรกของโลกคือ “อภิธานัปปทีปิกา”  จากนั้นพจนานุกรมบาลีอังกฤษโดยชิลเดอร์ส อภิธานัปปทีปิกาสูจิ พจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์ ของราชสำนักเดนมาร์กจนถึงสมาคมบาลีปกรณ์ นับร้อยๆ ปี ก็ยังไม่แล้วเสร็จ ติปิฏิกเมียนมาร์อภิธาน กว่า ๘๐ ปี ก็ไม่แล้วเสร็จ พจนานุกรมบาลีสันสกฤตอังกฤษไทย ของฉลาด บุญลอย และคณะ  สัททานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์ ๕ เล่มจบ ผลงาน สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ และคณะ แต่ละแห่ง ใช้เงินลงทุนต่อเนื่อง นับร้อยล้านบาทขึ้นไป ก็ไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ เลยเป็นผลงาน
ที่อ่านแล้ว เกิดแรงบันดาลใจ สร้างความประทับใจ กลายเป็นแรงจูงใจ ให้ริเริ่ม ช่วยกันทำ ช่วยกันสร้าง
จนเกิดมี “พจนานุกรมพระไตรปิฎกบาลีเถรวาท ชุด ๒๓ เล่มจบ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ ๑๐” ขึ้นมาในเทศกาลวิสาขบูชา
ปี ๒๕๖๕ ใช้เวลาค้นคว้ารวบรวม วิเคราะห์ วินิจฉัย แต่งตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ ถึงปี ๒๕๖๕ โดยมีผม และคณะ เป็นผู้รวบรวม ค้นคว้า วิจัย แต่งขึ้น มีเจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี เป็นบรรณาธิการ มีพระธรรมราชานุวัตรรองแม่กองบาลีสนามหลวง ประจำหนตะวันออก เจ้าคณะภาค ๑๐ เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม เป็นบรรณาธิการบริหาร

ซึ่งล่าสุด ยังคงรวบรวมคำศัพท์เพิ่มเติม ให้ครบถ้วน และสมบูรณ์ที่สุด คงอีกประมาณ ๕ เล่มเพิ่มเติม รวม ๒๘ เล่ม ถ้าแล้วเสร็จ ประโยชน์มหาศาลจะตกแก่ วงการศึกษาค้นคว้าบาฬี พระไตรปิฎกเถรวาท นานาชาติทั่วโลก มีการจัดทำเป็นฉบับบาลีโรมันด้วย

————
๓. การอ่านหนังสือ
หมายถึง อ่านหนังสือที่อ่านจบแล้ว สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความประทับใจ สร้างกำลังใจ ให้มุ่งมั่น ทุ่มเท เอาจริงเอาจัง
เพื่อให้ชีวิตและงาน ประสบความสำเร็จ ตามเป้าหมายที่สนใจ

หนังสือมีจำนวนนับล้านๆ เล่ม แน่นอนว่า ต้องสกรีน คัดเลือก และอ่าน หนังสือที่อ่านแล้ว เกิดผลลัพธ์ ผลผลิต ผลกระทบ
เชิงเศรษฐกิจ และสังคม ผลสัมฤทธิ์ และผลสำเร็จ

หนังสือที่ควรอ่านเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เช่น ธัมมปทัฏฐกถา แปล ๘ เล่ม จบ มังคลัตถทีปนี ๒ เล่มจบ  มีขายที่ มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย
พุทธธรรม แต่งโดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ. ปยุตฺโต ธรรมนูญชีวิต และอื่นๆ อีกมากมาย ที่เป็นคลิป
ชมและฟังได้ทางยูทูป และหาอ่านได้ทางกูเกิล และเพจวัดญาณเวศกวัน  นวโกวาท หมวดคิหิปฏิบัติ นิพนธ์ของ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร หนังสือนิบาตชาดก เรื่องราวบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์
ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ๕๐๐ ชาติ  พระไตรปิฎก และอรรถกถา ต่างๆ

หนังสือสำหรับคนนอกวัด ที่อ่านแล้วได้กำลังใจ เช่น หนังสืองานศพต่างๆ หาอ่านได้ทาง google หนังสือของนักเขียน
ที่ฮิต ระดับขายดีนานาชาติ เช่น แต่งโดยนโปเลียน ฮิลล์ พ่อรวยสอนลูก  หรือหนังสือแนวสร้างแรงบันดาลใจ
ที่มีอยู่หลายเล่ม รวมถึงหนังสือหมวดที่เน้นพัฒนาชีวิตและเข้าใจชีวิต แต่งโดย ว. วชิรเมธี หรือท่านเจ้าคุณพระเมธีวชิโรดม
ท่านชยสาโร ที่หาอ่านได้ฟรีและง่ายๆ ทาง google

———–
แรงบันดาลใจ เป้าหมายมุ่งให้เราประสบผลสำเร็จ ทางพระเรียก “มนุษย์สมบัติ” ประกอบด้วย ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ
สมัยใหม่ รวมถึงทรัพย์สิน เงินสด ในชั้นต้น แต่สำหรับอีกหลายคน ที่ระดับจิตยกขึ้นสูงกว่านั้น คือพ้นเลยช่วงเวลา
จะทำงานเก็บเงิน เพราะมีเพียงพอในระดับหนึ่ง ก็สนใจเสาะแสวงหาค้นหาอุบายวิธีดับทุกข์ อยู่เหนือทุกข์ พ้นจากความทุกข์ ก็จะเสาะแสวงหาปัญญา
ซึ่งมีที่มาจาก ๓ ทางคือ “ฟัง-คิด-ทบทวน” แนะนำให้ลงมือปฏิบัติ และศึกษาแก่นธัมมะล้วนๆ จากคัมภีร์พระอภิธัมมปิฎก

แรงบันดาลใจ สำหรับคนที่จากไม่มีสู่มี จะแตกต่างจากแรงบันดาลใจของคนที่มั่งมีแล้วสู่ความไม่มี หมายรวมถึงคนที่ยังครึ่งๆ กลางๆ
ขัดข้อง ติดกับดัก ระหว่าง “มี” กับ “ไม่มี”

————–
 

Comments

comments