๒๕๓. พุทธศาสตร์กับวิทยาศาสตร์

 

ความเรียง
“พุทธศาสตร์กับวิทยาศาสตร์”
อุทิส ศิริวรรณ
เขียน
๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๔
*****


ผมเป็นคนชอบ “สงสัย” และ “ตั้งคำถาม”  ตั้งแต่เด็กๆ
ซึ่งคนที่ชอบสงสัยและซักถามแบบผม มีจำนวนมาก
เลยเป็นเหตุให้นิยมชมชอบ “ค้นคว้า – ศึกษา – เล่าเรียน”
และเมื่อเอาจริงเอาจัง เรียนจนได้ปริญญามาหลายสาขา หลายใบ
ถึงวัยชรา ก็อยากเล่า “เกร็ด”บางเรื่อง ทำนอง “เล่าสู่กันฟัง”

ผมมารู้ความจริงภายหลังเมื่อเติบโตแล้วว่าเพราะมีความคิดทาง “วิทยาศาสตร์”
เลยเป็นคนที่ชอบ “ซักถาม” และ “ตั้งข้อสงสัย”
ครูบาอาจารย์ที่ผมเรียนด้วย คนที่ผมคุยด้วย
ถ้าไม่ใช่ที่ “เข้าใจ”  ก็อาจคิดว่า “ลองภูมิ” หรือมองทางลบ ทางร้าย
ต่างจาก “ตัวตน” ที่ผมเป็น

ซึ่งการที่ผมคิดแบบวิทยาศาสตร์ก็ถูกอีก
เพราะสมัยสอบเทียบทางวิชาชุดครู พ.กศ. ผมเลือกวิชา
“วิทยาศาสตร์”   
และส่วนตัวชอบ “ตัวเลข” คือ “สถิติการคำนวณ” สูตรต่างๆ
ดังนั้น “พื้นฐานความคิด” ของผม จึงหนักไปทาง “วิทยาศาสตร์”
แม้ “ปริญญา” ที่มีขั้นพื้นฐาน จะเป็น “บาลี”  และ “ภาษา”

วัยเด็ก เมื่อเรียน “บาลี”  อรรถ และพยัญชนะที่แต่งแปล
ก็เป็น “พระไตรปิฎกอรรถกถาและฎีกา”
เนื้อหาครอบคลุม “พระวินัย-พระสูตร-พระอภิธรรม”
ซึ่งถ้าใครเป็นคนช่างสงสัยและชอบซักถาม
เมื่ออ่าน “พระสูตร” เป็นต้น
จะพบความจริงว่า
ไม่มีอะไรที่ผันแปร
สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้
และมีการทรงจำ กล่าว บอก คัดลอกกันมา
ทั้งระบบ “มุขปาฐะ” หรือระบบ “ท่องจำ” สืบทอดรุ่นต่อรุ่น
เนื้อหาสาระจะตรงกับวิทยาศาสตร์เสมอ
เช่นหลัก “อริยสัจ ๔” ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

เท่าที่ค้นคว้า
เมื่อวันหนึ่ง “วิทยาศาสตร์” รุ่งเรืองถึงขีดสุด
ในส่วนที่ “เห็นต่าง” กลายเป็น “ประเด็น”
โต้แย้งกับ “พุทธศาสตร์” ที่อธิบายไว้ในพระไตรปิฎก
ก็จะกลายเป็น “อนิจจัง” โดยปริยาย
และในที่สุด ก็จะกลับมา “เห็นพ้อง” สอดคล้องต้องกันกับ
“พุทธศาสตร์” เสมอ

ผมมีข้อสังเกตว่า เมื่อวิทยาศาสตร์มีความเจริญก้าวหน้าถึงจุดสูงสุด
ก็จะสอดคล้องต้องกันกับกระบวนการทางพุทธศาสตร์อยู่เสมอ
พระไตรปิฎกใช้คำว่า “ตถตา” แปลว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง”

กระบวนการทางวิทยาศาสตร์  เริ่มต้นจากการค้นคว้า สืบสวน สอบสวน ไต่สวน
ทดสอบ ทดลอง คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ จำแนก แยกแยะ เปรียบเทียบ ตีความ
“ทฤษฎี” ที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ที่คิดขึ้นจากการสังเกตและสำรวจ หรือที่ค้นพบ
เพื่อพิสูจน์ “สัจจะ” คือ “ความจริง”

ศาสนาที่ “พหุเทวนิยม” มีพระเจ้าหลายองค์ อย่างศาสนาฮินดู หรือกรีก
ศาสนาที่ “เอกเทวนิยม” มีพระเจ้าองค์เดียว อย่างศาสนาคริสต์ หรืออิสลาม
จะมอง “ต่างมุม” กับ “วิทยาศาสตร์”

ดังนั้น ประเด็นองค์ความรู้ต่างๆ ศาสตร์ทันสมัยอย่าง “วิทยาศาสตร์”
จึงเห็นพ้องต้องกันและสอดคล้องกับ “พุทธศาสตร์”
ที่ “เห็นต่าง” ก็มี ไม่ใช่ “ไม่มี”

ที่ยังเป็นประเด็น “วิวาทะ” ก็มี อย่างเช่น “ตายแล้วสูญ” หรือ “ตายแล้วไปไหน”

ในอดีตที่ผ่านมา กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมติฐาน พิสูจน์ทฤษฎี
ความน่าจะเป็น เรื่องแล้วเรื่องเล่า และนำมาใช้ตลอดเวลา  ทว่าเมื่อวันเวลาล่วงเลยไป
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอัพเดตตลอดเวลา
บางทฤษฎีก็เปลี่ยนแปลง
หรือปรับปรุงให้ทันสมัยยิ่งขึ้น
บางทฤษฎีก็สามารถพิสูจน์ทราบชัดและมีความสมบูรณ์ในตัวเอง
บางทฤษฎีภายหลังถูกหักล้าง ต้องยกเลิกไป
ขณะที่บางทฤษฎีกลายเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว
อีกครึ่งหนึ่งกลายเป็นเรื่องไม่จริง

ยกตัวอย่างในโลกตะวันตก
เมื่อไม่กี่ร้อยปีชาวยุโรปยังคงตามล่า
ไล่ล่า ตามเผา “พ่อมดหมอผี”
และ “แม่มด” อยู่
ทั้งยังเชื่อตามทฤษฎีดั้งเดิมว่า “โลกแบน”
และ “โลก” เป็นศูนย์กลางระบบจักรวาล

คนยังเชื่อกันเหนียวแน่นว่าดวงอาทิตย์และดวงดาวต่างๆ ในจักรวาล หมุนตามโลก
แม้จะมีบางคนพยายามค้นคว้าทฤษฎีและทดสอบสมมติฐานกระทั่งยืนยันว่า “โลกกลม”
ผลที่สุด นักวิทยาศาสตร์หัวก้าวหน้าทั้งหลาย ถูก “ศาสนจักร” ยัดเยียด ปรักปรำ
ร้องทุกข์ กล่าวโทษ ลงโทษ จับกุม คุมขัง ประหารชีวิต แม้ต่อมาวิทยาศาสตร์จะค้นพบทฤษฎี
และยอมรับสมมติฐานว่า “โลกกลม” ทว่าสุดท้าย รายแล้วรายเล่าที่ค้นพบ “ทฤษฎีใหม่”
ก็จบชีวิตลง ตายในคุกบ้าง ต้องโทษประหารชีวิตบ้าง ถึงกระนั้น กระทั่งถึงทุกวันนี้
ทฤษฎีกำเนิดจักรวาล ก็ยังถกเถียงกันไม่มีข้อยุติ

พุทธศาสตร์ เชื่อมั่นใน “อริยสัจ ๔” ทุกข์ เกิดจากอะไร สมุทัย ทุกข์เกิดขึ้นจากสาเหตุใดบ้าง
นิโรธ การดับทุกข์ จะต้องทำอย่างไร นิโรธคามินีปฏิปทา แนวปฏิบัติให้หลุดพ้นจากทุกข์
ต้องทำอย่างไรบ้าง และเชื่อแน่วแน่ในหลัก “ไตรลักษณ์” กล่าวคือ อนิจจัง ไม่เที่ยง ทุกข์ สภาวะ
ที่ร่างกายและจิตใจทนได้ยาก อนัตตา ธรรมชาติที่ว่างเปล่า ไร้ตัวตน ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
ยกตัวอย่าง “หลักอนิจจัง” สามารถอธิบาย “ธรรมชาติ” ได้ครบถ้วน โดยระบุถึง “ปรากฏการณ์”
ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต ทุกสรรพสิ่งในโลกและจักรวาลต่างๆ ว่ามีวงจรตามสภาพของธรรมชาติ
ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วต้องเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา เป็น “สัจธรรม” ที่ทุกคนต้องพิจารณา
และยอมรับความจริงกันว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเครือญาติ
มีกรรมเป็นที่พึ่ง ทำกรรมใดไว้ ย่อมได้รับผลกรรมนั้น ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว ไม่มีใครหลีกลี้หลุดรอดพ้น
“กฎแห่งกรรม” ซึ่งมนุษย์ทุกคน ต้องเผชิญสภาวะ “พลัดพราก” และ “ตาย” จากกัน
ตามหลัก “เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป”  ซึ่งเป็นวงจรชีวิตตามธรรมชาติคือ “เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย”
ซึ่งตลอดเวลาที่เกิดเป็นมนุษย์ จะต้องเผชิญสภาวะ “สมหวัง-ผิดหวัง” “สำเร็จ-ล้มเหลว”
“มีตำแหน่งหน้าที่การงานดี-ถึงเวลาก็สูญเสียสูญสิ้นทุกสิ่ง” “มีเงินมีทอง-ตกทุกข์ได้ยาก”
“มีความสุข-แล้วก็-มีความทุกข์-หมุนเปลี่ยนกัน” “ถูกใจคนก็ชม-ขัดใจคนก็ด่า”
เป็นไปตามหลัก “อนิจจัง”

ซึ่งถ้าฝึก “จิต” ฝึก “ปฏิบัติ” ฝึก “คิด” ฝึก “ควบคุม” กาย วาจา จิต พิจารณาอารมณ์ ความรู้สึก
จำแนก แยกแยะ เข้าใจ “จิต-เจตสิก-รูป” ก็จะสามารถ “ตัด” วงโคจรแห่ง “ความทุกข์”
ที่พัวพันชีวิต แล้วใช้ชีวิตในมนุษยโลกได้อย่างมีความสุข

ชีวิตจริง มีความ “พอดิบพอดี”  มีความ “สมดุล” และ “ลงตัว” สำหรับทุกคน ดังนั้น องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
จึงพร่ำสอนให้มนุษย์ทุกคนทุกชาติ ทุกศาสนา ทุกภาษา ยึดหลัก “มัชฌิมาปฏิปทา” เดินสายกลาง
ไม่ตึง ไม่หย่อน ไม่สุดโต่ง ข้างใดข้างหนึ่งจนเกินไป จะมากเกินไป หรือน้อยเกินไป ก็ไม่ดีทั้งนั้น
ต้องให้พอดี พอเหมาะ พอควร พอประมาณ พอเพียง จึงจะใช้ชีวิตอยู่ในสังคมและชุมชนได้
อย่างมีความสุข จะอยู่ในวัดหรือในบ้าน จะทำงานกับใคร หรือทำงานองค์กรใด วงการใด
เมื่อมี “หลักคิด” ทางวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับพุทธศาสตร์ ก็จะมีความสุขกาย สบายใจ
ตามประสา

ข้อขบคิดคือ การจะฝึกจิตให้ถึงสภาวะ “วิมุตติ” หลุดพ้นจากทุกข์ ตามหลัก “นิพฺพานสจฺฉิกิริยา จ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ”
ความในมงคลสูตร ที่แปลว่า “และการทำนิพพานให้แจ้ง นั่นเป็นมงคลอันสูงสุด”
จะต้องฝึกตนและฝึกความคิดให้ตระหนักยอมรับความจริง และอย่าฝืนความจริงว่า
การจะเอาชนะ “กิเลส” คือ “ทุกข์นานาชนิด” อันเกิดจาก “กรรม” ใน “สังสารวัฏ”
หรือ “วัฏฏสงสาร” ตัวเราเอง ไม่จำเป็นต้อง “รู้” “รอบรู้” “แสนรู้” “ฉลาด” “ฉลาดเกิน”  แทบทุกเรื่อง

ธัมมะที่พระพุทธเจ้าทรงคัดมาสอน แท้ที่จริง มีเพียงแค่ “หยิบมือเดียว”
คือเน้น “วิมุตติ” ให้หลุดพ้น “ความทุกข์” จาก “กิเลส ๓: ราคะ โทสะ โมหะ”
ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ก็ไม่แตกต่างกัน อุปมาเหมือนใบไม้ในป่า
มีทฤษฎีอีกมากมายที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายยังค้นคว้า และหาคำตอบไม่ได้
จนบัดนี้ ยกตัวอย่าง “โคโรนาไวรัส” และยังมี “ไวรัส” ซึ่งเป็นสาเหตุ “โรคระบาด”
อีกมากมายที่รอการค้นคว้า รอการค้นพบ และรอข้อค้นพบอีกจำนวนมากกว่า
ที่มนุษย์คนปกติธรรมดาทั่วไปจะขบคิด เข้าใจ หยั่งรู้ และหยั่งถึง

ทุกวันนี้ เวลาที่ผม “กังขา” หรือ “สงสัย” ผมชอบ “ค้นคว้า” หาคำตอบจาก “พระไตรปิฎก” บ้าง
หนังสือ “ธัมมะ” ที่ “บุรพาจารย์” และ “ครูบาอาจารย์” แต่ง แปล เรียบเรียงเอาไว้
ตรงตามหลัก “พระบาฬี” ซึ่งมีคัมภีร์บริวารชั้น “อัฏฐกถา – ฎีกา –  อนุฎีกา – โยชนา – สัททาวิเสส – คัณฐี”
เป็นต้น อธิบาย “คำ” และ “ความ” ที่ลุ่มลึกทั้ง “อัตถะ” และ “พยัญชนะ” ในพระไตรปิฎก
เทียบเคียงกับ “ทฤษฎีและสมมติฐาน” ทาง “วิทยาศาสตร์”

ผมได้ “ข้อค้นพบ”   บางประการที่อยากเล่าให้ฟัง แต่อยากให้อ่าน “ตัวอย่าง”
ที่ผมยกมาจาก “พระไตรปิฎก” ก่อนที่จะ “วิสัชนา”

 [๑๑๐๑] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ สีสปาวัน เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้น

พระผู้มีพระภาคทรงหยิบใบประดู่ลาย ๒-๓ ใบขึ้นมา แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย

มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร ใบประดู่ลาย

๒-๓ ใบที่เราหยิบขึ้นมากับใบที่อยู่บนต้น อย่างไหนจะมากกว่ากัน”

ลำดับนั้นภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ใบที่อยู่บนต้นไม้นั้นแลมากกว่า ใบประดู่ลาย

๒-๓ ใบที่พระองค์ทรงหยิบขึ้นมามีเพียงเล็กน้อย พระพุทธเจ้าข้า”

             “ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้แล้วแต่มิได้บอกเธอทั้งหลายก็มีมากเหมือนกัน

             เพราะเหตุไร เราจึงมิได้บอก

             เพราะสิ่งนี้ไม่มีประโยชน์ ไม่ใช่จุดเริ่มต้นแห่งการถือเพศพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อ

ความเบื่อหน่าย ไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด ไม่เป็นไปเพื่อดับ ไม่เป็นไปเพื่อสงบระงับ

ไม่เป็นไปเพื่อรู้ยิ่ง ไม่เป็นไปเพื่อตรัสรู้ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้น

เราจึงมิได้บอก

             สิ่งอะไรเล่าที่เราบอกแล้ว

             คือ เราได้บอกว่า ‘นี้ทุกข์ นี้การเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ นี้คือการดับความทุกข์ นี้คือแนวปฏิบัติให้จิตถึงความดับทุกข์’

             เพราะเหตุไร เราจึงบอก

             เพราะสิ่งนี้มีประโยชน์ เป็นจุดเริ่มต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความ

เบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

             เพราะเหตุนั้น เราจึงบอก

             ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายพึงทำความเพียรเพื่อรู้ชัดตาม

ความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ นี้การเกิดขึ้นแห่งความทุกข์ นี้คือการดับความทุกข์ นี้คือแนวปฏิบัติให้จิตถึงความดับทุกข์’ ”

สีสปาวนสูตรที่ ๑ จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๙ หน้า : ๖๑๓}

=======
อ่านจากข้างต้น สรุปว่า “ธัมมะ” มีหลากหลายเหมือนใบไม้ในป่า นับไม่ถ้วน
แต่พระพุทธเจ้า ทรงเลือก “ใบไม้กำมือเดียว”  คือ “หลักธัมมะ”
ที่ทำให้ “หลุดพ้น” จากความทุกข์ โดยย่อคือ “อริยสัจ ๔”

ส่วนตัว เมื่อเปรียบเทียบ “พุทธศาสตร์” กับ “วิทยาศาสตร์”
เห็นว่า “สุดยอดเคล็ดวิชา” ที่จะทำให้ “บรรลุ” ธัมมะชั้นสูง
แท้ที่จริงคือ “อริยสัจ” กล่าวคือ “ความจริง  ๔ ประการ”
นั่นคือ ทุกข์ คืออะไร ? สมุทัย ทุกข์เกิดขึ้นได้อย่างไร ? นิโรธ จะดับทุกข์ ต้องทำอย่างไร?
ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา แนวปฏิบัติที่ทำให้ถึงความดับทุกข์ มีกี่แนวทาง

คำตอบย่นย่อ ทั้งปริยัติและปฏิบัติ มุ่งปฏิเวธ
อยู่ที่ “คัมภีร์วิสุทธิมัคค์”
ซึ่ง “พระพุทธโฆสะ” ได้สรุปความพระไตรปิฎก
๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์เอาไว้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ที่เล่านี้สำหรับ “นักปริยัติ”
ส่วน “นักปฏิบัติ” ก็คือ “กรรมฐาน ๔๐ วิธี”
ซึ่งเน้น “สติ” พิจารณา “กาย-เวทนา-จิต-ธัมม์”
หรือ “วิปัสสนา” ที่พิจารณา “อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา”
เพื่อให้จิต “วิมุตติ” หลุดพ้นจากทุกข์

มีหลักฐานในพระบาฬีคือพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสยืนยันรับรองเองว่า
“ธรรมวินัยนี้มีรสเดียว คือ วิมุตติรส เหมือนมหาสมุทรมีรสเดียวคือรสเค็ม”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๓ หน้า : ๒๕๐}

สรุป

ฝึกความคิดให้ตระหนักยอมรับความจริง และอย่าฝืนความจริงว่า
การจะเอาชนะ “กิเลส” คือ “ทุกข์นานาชนิด” อันเกิดจาก “กรรม” ใน “สังสารวัฏ”
หรือ “วัฏฏสงสาร” ตัวเราเอง ไม่จำเป็นต้อง “รู้” “รอบรู้” “แสนรู้” “ฉลาด” “ฉลาดเกิน”  แทบทุกเรื่อง

ถ้ารู้สึก “เอ๊ะ อ๊ะ ลังเล สงสัย” ให้อ่าน “สีสปาวนสูตรที่ ๑” ที่ยกมาอธิบายประกอบ
ให้ขบคิด “อริยสัจ ๔” คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
ให้ธัมมะ ย่อมชนะ สัพพทาน

ลงไว้ให้ผู้สนใจศึกษาพุทธศาสนา อ่าน และนำไปขบคิด 
พิจารณาหา “แนวปฏิบัติ” ที่เหมาะสมกับตนเอง ต่อไป

Comments

comments