๒๓๘. “กฎ ๑๐,๐๐๐ ชั่วโมง ผลการฝึกฝน การฝึกหัด การฝึกอบรม และการเพาะบ่มนิสัยคนมีสมรรถนะสูง”

๙.๙.๒๕๖๒
ข้ออรรถ ข้อธรรม
“กฎ ๑๐,๐๐๐ ชั่วโมง
ผลการฝึกฝน การฝึกหัด
การฝึกอบรมและการเพาะบ่มนิสัยคนมีสมรรถนะสูง”

อุทิส ศิริวรรณ

——
ผมสนใจหลักธัมมะ ข้อว่าด้วย “วิริยะ” แปลว่า “ความพยายาม”
เวลาอ่าน “กฎเกณฑ์” “หลักการ” “สมการ” และ “ทฤษฎี” นานาชาติ
ผมก็ชอบอ่านหนังสือแนว “วิริยะ”

—–

ผมเคยคิดเล่นๆ ไม่คิดจริงจังว่า
ในยุคดิจิทัล เราสามารถ “ฝึกฝน” “ฝึกหัด” และ “ฝึกอบรม”
เพาะบ่ม “คนผู้หนึ่ง” ให้กลายเป็น “คนมีนิสัยที่มีสมรรถนะสูง”
ได้หรือไม่?

เวลานี้ ทุกวงการต้องคิดอ่าน
และหาหนทางสร้าง “คน” ขึ้นมาเป็น
“คนมีสมรรถนะสูง”
เป็นตัวตายตัวแทนของ “คนที่มีสมรรถนะสูง”
ในวงการนั้นๆ

—–
ถ้าตอบตามหลักวิทยาศาสตร์
จนถึงขณะนี้ “การฝึก” ในระบบ
นับเป็นชั่วโมงแบบที่เรียกว่า “หน่วยกิต”
วิชาหนึ่ง จะต้องเรียนโดยการบรรยาย
ประมาณ ๔๐ ชั่วโมงเศษ
กำลังถูก “ท้าทาย” ในยุคดิจิทัล
เมื่อ “เทคโนโลยีการสื่อสาร” ก้าวเข้ามาdisrupt
คือปรับเปลี่ยนปฏิวัติทำลายล้างหักล้างหักโค่น
ความคุ้นเคยชินๆ แบบเก่าๆ เดิมๆ เดิมๆ เก่าๆ

ยกตัวอย่าง
ผม “ทึ่ง” และ “อึ้ง” คำตอบจากปากเชฟที่ “ฝีมือดี”
ปรุงอาหารแล้วคนติด รสชาติอร่อย ไม่พึ่งพาผงชูรส
มีผลงาน “ปรุงอาหาร” เก่งกาจหลายคนในยุคดิจิทัล
ที่ตอบคำถามว่าเรียนรู้วิธีทำอาหารจาก
Youtube

ผมทึ่งและอึ้ง เมื่อชายหนุ่มคนหนึ่ง
เศร้าโศกเสียใจ รำพึงรำพันถึง “แมวน้อย”
ที่ตายก่อนกาลอันควร

ทว่าด้วยเทคโนโลยีโคลนนิง
หลังกล้า “ลงทุน” ด้วยเงินสด ๑ ล้านบาทเศษ

เขาก็ได้ “แมว” เป็นสิ่งมีชีวิต
กลับคืนมารูปร่างหน้าตาเหมือนแมวตัวเก่า

ในบางประเทศ เทคโนโลยีโคลนนิง เป็นสิ่งไม่ผิดกฎหมาย
ก็เลยเกิด “สิ่งมีชีวิต” ทดแทนกัน

——

เมื่อ ๘ กันยายน ๒๕๖๒
ผมขับรถเส้นทาง
ลำลูกกา-วังน้อย-บางปะอิน-พระนครศรีอยุธยา-
ป่าโมกข์-สุพรรณบุรี-ศรีประจันต์-ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี

ผมเปิด Google Map
จินตนาการ สำรวจเส้นทางเดินทัพของพระนเรศวร
ครั้งสงครามยุทธหัตถี
และสำรวจเส้นทางเดินทัพอื่นๆ
ตั้งแต่เส้นทางพิษณุโลก – กำแพงเพชร – ตาก – หงสาวดี
และเส้นทางพิษณุโลก-เชียงใหม่-ฝาง-หาง-อังวะ

ทว่าเสด็จทัพไปยังมิทันถึงกรุงอังวะ
ก็สิ้นพระชนม์ละแวกเมืองฝางเสียก่อน

พระวิหารหลวง วัดสุวรรณดาราราม พระนครศรีอยุธยา
ติดกับบานประตูพระประธานด้านซ้ายมือ
มีภาพวาดสมัยรัชกาลที่ ๗
เป็น “พระสยามเทวาธิราช”
ทูลอัญเชิญ “พระอิศวร” ให้จุติลงมา
อุบัติเป็น “สมมติเทพ” ในนาม “นเรศวร”

ไม่มี “นเรศวร”
ก็ไม่มี “สยาม”
ไม่มีแผ่นดิน “สยาม”
ก็ไม่มี “แผ่นดินไทย”
ให้พวกเราอยู่ร่มเย็นเป็นสุข
เฉกเช่นทุกวันนี้
คนอื่นจะคิดอ่านอย่างไร
ผมไม่ทราบ

แต่ทางหนึ่งในการ “ทดแทนคุณแผ่นดิน”
สำหรับผมคือ “การอุทิส”
เวลา-เงิน-ความคิดอ่าน
ค้นคว้าวิจัยรวบรวมหลักฐาน
เอาไว้เป็นประโยชน์แก่แวดวงวิจัย “โบราณคดี-ประวัติศาสตร์”
บุรพกษัตริย์ไทย
เพื่อ “ไทยศึกษา” ในวันข้างหน้า

——-

ผมสนใจ “ขัตติยศึกษา”
ว่างๆ ผมก็ค่อยๆ ค้นคว้า รวบรวม

“คลำหา” และ “คลำทาง”
วิถีของ “สมมติเทพ”

ผมนึกถึง “คำถาม” ที่ “เทพเทวา” ซึ่งเป็น “อทิสสมานกาย”
ตั้งคำถามตรงแล้ว “พระพุทธเจ้าตอบ”
มีบันทึกเป็นหลักฐานเก่าแก่นานนับสองพันปีปรากฏใน
“พระไตรปิฎก” ตอนว่าด้วยขุททกนิกายปาฐะ
เล่มที่ ๒๕ ซึ่งรวบรวม “ขุททกปาฐะ-ธัมมปท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
ตอนที่ผม “ติดใจ” คือ “ข้ออรรถ-ข้อธรรม” กล่าวคือ
“ปุพเพ จ กตปุญญตา” แปลว่า “บุญที่ทำจนเต็มเปี่ยมแต่ชาติปางก่อน”
ขยายความว่า หมายถึง “บุญคือบารมี” ที่สั่งสมมาข้ามภพข้ามชาติ

ซึ่งนิยามคำว่า “บุญ” อันแปลว่า “เต็ม”
ตรงกับคำว่า “เต็ม” จากวจนะที่เรียกว่า “ผลกระทบมัทธิว” ของนักบุญมัทธิวในศาสนาคริสต์ที่ระบุว่า
“ด้วยว่าผู้ใดมีบุญอยู่แล้ว บุญจะเพิ่มเติมให้คนผู้นั้นมีบุญเหลือเฟือ
แต่ผู้ที่ไม่มีบุญนั้น แม้ว่าทรัพย์สินที่เขามีอยู่ “ธรรมชาติ” ก็จะต้องเอาคืนไปจากเขา
จนหมดสิ้น”

ตีความแบบ “นักบุญมัทธิว”
ซึ่งเพื่อนผมเป็น “รองศาสตราจารย์ ดร.”
สอนอยู่ที่เมืองจีนในเวลานี้
เชื่อในคำสอน “นักบุญมัทธิว” มาก
เขาเคยทรนง เย่อหยิ่ง และเชื่อมั่นตนเองระดับสูงมาก

พลันทันทีที่สูญเสียเงินกับ “ตลาดหุ้นฮ่องกง”
คิดเป็นเงินไทย
จำนวนเงินสิบล้านบาทเศษ
กลายเป็นเงินสดเพียงไม่กี่บาท

ล่าสุดทุกวันอาทิตย์ เขาต้องไปโบสถ์
และปรับวิถีปฏิบัติเป็นคนเคร่งครัดในศาสนา

แม้ว่าวันจันทร์ถึงเสาร์
จะแอบดื่มเงียบๆ ในห้องพักอาจารย์
และยังคงยึดติดกิจวัตรดื่มเบียร์เมามายทุกค่ำคืน

ไม่ต่างจากเพื่อนรุ่นพี่ผมคน “ชายโสด”
จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค
เป็นนักแต่งแปลปริวรรต “คัมภีร์บาลี” ระดับสูง
ที่มีชื่อเสียง ทราบในทางลับว่า
“ดื่มเบียร์” จน “ละสังขาร” ก่อนกาลอันควร
รายนี้ก็ไม่มีครอบครัวเช่นเดียวกัน

ทั้ง ๒ ท่านที่ผมคุ้นเคย
รายแรกยังคงมีชีวิตอยู่ ย่างเข้าปัจฉิมวัย

อีกราย รายหลัง ลาจากโลกไป ก่อนวัยอันควร

โลกมีเรื่องราวหลายแบบ

——-

ผมเองก็ยังงงๆ กับวัตรปฏิบัติของเพื่อนรอบตัวผมอยู่
แต่ก็ไม่ละลาบละล้วง ถือว่าเป็น “เรื่องส่วนตัว”

คนเราทุกคนมีเรื่อง “ส่วนตัว”
ไม่จำเป็น อย่า “จับผิด” คน

ถ้าสังเกต ผมถึงไม่ “คุย” กับใคร ในลักษณะ “สุงสิง” “สนิทสนม”
เพราะส่วนมาก คนชอบ “จับผิด” คน
และชอบ “คาดหวัง” คน
อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้
อยากให้พูดอย่างนั้นอย่างนี้
อยากให้คิดอย่างนั้นอย่างนี้
ที่ “ถูกใจ” ตน พอสมใจก็ “ชม”
พอ “ขัดใจ” ก็ด่า
ทั้งที่ไม่เคยให้เงินใช้
ไม่เคยให้งานทำ
เป็นชิ้นเป็นอัน

คนที่ “ตำหนิติเตียน” คนอื่นๆ
แต่ไม่เคยให้เงินใช้ ไม่เคยให้งานทำ
ไม่เคยแม้แต่จะเลี้ยงข้าวสักมื้อ
มีเป็นอันมาก ในบางประเทศ

ผมจะไม่เสียเวลาสนทนาด้วย
เดินหนี ไม่คุยด้วย

ผมไม่เหมือนคนอื่น
ก็ตรงนี้แหละ
รู้นิสัยเอาไว้ด้วย
คือพูดคุยกับคน “ยาก”
ไม่ “วางตัว” สนิทสนมกับ “ใคร” ง่ายๆ
ไม่หยิ่ง แต่เลือก

ทว่าถ้ามาดี
ก็โอภาปราศรัยด้วยดี
ต้องคุยกันแบบมีหลักการ
เป็นเรื่องเป็นราว

——-

ย้อน “ชีวิต” พระนเรศวรในอดีต
ผมคิดถึงคำว่า “บุญ” “บารมี”

เมื่อวันที่ ๘ กันยายน ในความเงียบสงัด
เบื้องข้างรูปปั้นพระบรมรูปพระนเรศวรมหาราช
ที่พระบรมราชานุสาวรีย์ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี

ผมพิจารณา “บุญ” คือ “บารมี” แปลว่า “เต็ม”
ศัพท์ธัมมะ ในวงการศาสนาต่างๆ
ทางตะวันตก คิดอ่านกันอีกคำ
ทางตะวันออก ก็คิดอ่านกันอีกคำ

แต่ถ้าพยายามใช้ “ความหมาย” ของ “บุญ” ที่เป็นสากล
จะพบว่า “น่าอัศจรรย์” ตรงที่เป็น “สิ่งเดียวกัน”
ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต
ท่านได้ “ข้อค้นพบ” ประเด็น “ความหมายเดียวกัน” นี้

ท่านพุทธทาสภิกขุ ก็ได้ “ข้อค้นพบ” คล้ายคลึงกัน

งานวิจัยระดับ “ดุษฎีนิพนธ์” ระดับปริญญาเอก
ของมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ อย่างมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นครนิวยอร์ก
ได้วิจัย “หลักธัมมะ” คำสอนของศาสดามหาวีระ ศาสนาเชน เปรียบเทียบกับ “หลักธัมมะ” ของพระโคตมพุทธเจ้ามาช้านาน

แต่พวกเราคนไทย ไม่มีโอกาส ไม่มีช่องทางได้อ่าน

ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ อย่าง มมร มจร ควรกระทำคือ
จัดทีมงาน “แปล” ดุษฎีนิพนธ์ฉบับต่างๆ เป็นไทย
เป็น “วิจัยพื้นฐาน” ไว้ให้นักวิจัยรุ่นใหม่ได้ “วิจัย” แบบ “ต่อยอด”

ข้อค้นพบงานวิจัยฝรั่งระดับดุษฎีนิพนธ์
ยืนยันชัดเจนว่า
ศาสดาคือพระโคตมะพุทธเจ้า ศาสนาพุทธ
และศาสดาคือพระมหาวีระ ศาสนาเชน
ต่างสอนเรื่อง “กรรม” เอาไว้คล้ายคลึงกัน
แต่ “วิธีปฏิบัติ” แตกต่างกัน

กล่าวคือ “พระโคตมะพุทธเจ้า” ทรงเน้น “มโนกรรม”
ส่วน “พระศาสดามหาวีระ” ทรงเน้น “กายกรรม”

ที่ผมยังไม่ได้ศึกษาเชิงลึกคือคำสอนคริสตศาสนาเน้น “ชำระบาป”
คล้ายคลึงกับคำสอนในศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาฮินดู

ซึ่ง “พระโคตมะพุทธเจ้า” ทรง “ตีความ” ในอีกนัย
น่าสนใจทั้งนั้น ถ้าไม่ศึกษา ด้วยการยกย่องอีกฝ่ายและข่มขี่อีกฝ่าย

——

กลับสู่โลกปัจจุบัน
ความที่ร่ำเรียนระดับปริญญาเอกสายบริหารธุรกิจ
ผมเลยเคยชิน คุ้นเคย และถูกฝึกฝน ฝึกหัด ฝึกอบรม
บังคับให้ทำ Literature Review
แปลว่า “ค้นคว้าเอกสารเกี่ยวข้อง” เป็นอันมาก
จนกลายเป็น “นิสัย” “อุปนิสัย” ที่ “คุ้นเคย” และ “เคยชิน”

มีเวลา ผมเลยชอบอ่าน “งานวิจัย”
ล่าสุดไปนิวยอร์ก
ได้อัพเดต อ่านหนังสือวิจัยเชิงประยุกต์
แนว “คนมีสมรรถนะสูงสุด”
ที่ขายดีที่สุด
ติดอันดับ New York Times Bestseller

ปัจจุบันมีฉบับแปลเป็นไทยแล้ว
ชื่อ The Sport Gene : Inside the Science of Extraordinary Athletic Performance
แปลเป็นไทยว่า
“ยอดมนุษย์นักกีฬา : มหัศจรรย์พันธุกรรมหรือสัจธรรมการซ้อม”
วิจัยโดย David Epstein
น่าหามาอ่านกัน

ล่าสุดสำนักพิมพ์ Salt
จัดแปลโดยถูกต้องลิขสิทธิ์
ผู้แปลชื่อ
“ธัญญารัตน์ ดอกสน”
ราคาเล่มละ ๔๕๐ บาท

หนังสือระบุว่าพิมพ์เมื่อกรกฎาคม ๒๕๖๒
เพิ่งวางแผงสดๆ ร้อนๆ
มีวางจำหน่ายที่แน่ๆ คือ Se-Ed Bookstore

—–

ผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชิ้นสำคัญ
ซึ่งผมมองว่าอาจนำมาเทียบเคียง
นำเสนอหลัก “วิริยะบารมี”
คือประเด็น
“ข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์”
ระหว่างกลุ่มคนที่มี “สมรรถนะสูง” โดยธรรมชาติ
กับกลุ่มคนที่มี “สมรรถนะสูง” โดยการฝึกซ้อมอย่างหนัก

น่าสนใจตรงที่
กลุ่มคนที่มีสมรรถนะสูงโดยการฝึกซ้อมอย่างหนัก
อย่างเช่นในแวดวง วงการมวย หมากรุก ฟุตบอล กระโดดสูง เทนนิส
ข้อค้นพบที่ยังเป็นที่ยอมรับคือ
ต้องมี “ชั่วโมง” ในการฝึกฝน ฝึกอบรม และฝึกหัด
อย่างน้อย ๕๐๐ ชั่วโมงขึ้นไป
จนถึงระดับ ๒,๐๐๐ ชั่วโมง ถึง ๑๐,๐๐๐ ชั่วโมง

——

ผมขอยกตัวอย่างบางวงการที่ผมคุ้นเคยเพราะบินบ่อย
อย่างแวดวงธุรกิจการบิน

เช่น “วงการนักบิน” ต้องฝึกบินกันมากมายถึง
แตะระดับ ๑๐,๐๐๐ ชั่วโมงขึ้นไป

ข้อมูลที่น่าสนใจ
“บางวงการ” อย่าง “วงการนักบิน”
ชั่วโมงบินสะสม ๒๐๐ ชั่วโมง ก็เป็น “นักบิน” ได้

แต่จะเป็น “นักบินอาชีพ”
ต้องฝึกฝน ฝึกหัด ฝึกอบรม “หลักสูตรการบิน” แบบมืออาชีพ
ค่าเล่าเรียน ชั่วโมงละ ๑๐,๐๐๐ บาท
๒๐๐ ชั่วโมง เท่ากับ ๒ ล้านบาท

ระดับชั่วโมงบินที่พึ่งประสงค์
ต้องบินสั่งสมให้ได้
๓,๐๐๐ ชั่วโมง
เท่ากับว่านักบินแต่ละคน
ต้องลงทุนใช้เงินสด
ประมาณ ๓๐ ล้านบาท
จึงจะกลายเป็น “นักบิน”
ที่ได้รับยกย่องในระดับ
“นักบินมีสมรรถนะสูง”

——

อาชีพนักบิน เป็นอาชีพที่ “ขาดแคลน” อย่างหนักในเวลานี้
สายการบินไทย ค่าแรง “ต่ำที่สุด” ในโลก
คือประมาณ ๒ แสนบาท ถึง ๔ แสนบาท ต่อเดือน
สายการบินแถบตะวันออกกลาง ค่าแรง “สูงที่สุด” ในโลก
คือ ๑ ล้านบาทต่อเดือน

โรงเรียนการบินกำแพงแสน ของกองทัพอากาศ
ฝึกหลักสูตรนักบินป้อนสู่กองทัพอากาศ
ได้เพียงแค่หลักสูตรละ ๕๐ คนต่อ ๑ รุ่นเท่านั้น
ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร ประมาณ ๓ ล้านบาทต่อ ๑ คน

ในแวดวงการเงิน การบริหาร การธนาคาร การประกันภัย
ค่าเล่าเรียนแพง
และค่าตัว นักบริหาร ก็สูงแตะระดับ
หลักหมื่นปลายๆ หลักแสน และหลักล้าน เช่นเดียวกัน

คนที่มีสมรรถนะสูง
จึงมาคู่กับ “ค่าตอบแทน” ระดับสูง
นี่คือ “ผลตอบแทนการลงทุน” ที่ต้องขบคิด
สำหรับวงการอื่นๆ ถ้าต้องการได้
คนที่มีสมรรถนะสูงๆ ไปร่วมงาน
และไปทำงานด้วย

ไม่ใช่ “เสียงดัง ตังค์ไม่จ่าย”
ก็ไม่ได้คนมีสมรรถนะสูง ไปทำงาน

ในวงการค้าปลีก
อย่างแม็คโคร โลตัส บิ๊กซี
ค่าตอบแทนผู้จัดการแต่ละสาขา
ทะลุหลักแสนบาทขึ้นไปทั้งนั้น
และคนทำงานที่มีสมรรถนะสูงระดับผู้จัดการ
ก็เป็นอาชีพที่ “ขาดแคลน” มาก ในเวลานี้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยแห่งชาติในอดีต
จึงลงทุนจ้าง “ดร.” ที่มีสมรรถนะสูง
ไปทำงานวิจัยให้แก่ทาง สกว. เต็มตัว

ด้วยค่าตอบแทนสูงกว่า “ข้าราชการประจำ” ยุคนั้น
ถึง ๓ เท่าตัว

——–

“เงิน” อย่าคิดว่าไม่ “สำคัญ”
สิงคโปร์ เป็นต้น
ได้คนมี “สมรรถนะสูง” ทำงาน
เพราะค่าตอบแทน “สมรรถนะสูง” คุ้มค่า

วงการกีฬาทั่วโลก ก็เฉกเช่นเดียวกัน
วงการฟุตบอล เป็นต้น
นักกีฬาอาชีพ จะได้รับค่าตอบแทน
คุ้มค่ากับการลงทุน ลงแรง ลงเวลา ที่คุ้มค่า

เทียบกับ “วงการศึกษา” “วงการศาสนา” ในไทย
จะพบว่า “ผลตอบแทนการลงทุน” ต่ำกว่า
เมื่อเปรียบเทียบกับวงการการบิน วิศวะ แพทย์ กีฬา
ผลก็คือ “รัฐ” ไม่ได้ “มืออาชีพ” มาเป็น “ครูบาอาจารย์”
แต่ “การศึกษา” เน้น ฝึกฝน ฝึกอบรม ฝึกหัดคน ไปทำงานแบบ
คนมีสมรรถนะสูง

เวลานี้ “กิจการในเครือซีพี” เปิดสถาบันฝึกอบรมผู้นำธุรกิจมีสมรรถนะสูง

ลงทุนจ้าง “บุคลากร” ค่าตัวแพงเดือนละหลายแสนบาทให้ทำงาน
แบบ “มืออาชีพ”

ผลลัพธ์ก็สะท้อน “ความเป็นจริง” ของกิจการในเครือซีพี

วกกลับมาวงการ “มหาวิทยาลัย”
เวลานี้จ้างคนจบ ดร. ทำงานสอนและวิจัย

เดือนละ ๓-๔ หมื่นบาทเศษ

จ้างพระจบ ป.ธ. ๕-๙
สอนบาลีประโยค ๑-๒ เป็นต้น
เดือนละ ๒ พันบาท

ให้ “เงินเดือน” เรียกเพราะๆ ว่า “นิตยภัตร” พระ
เงินประจำตำแหน่ง  ป.ธ. ๙ พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาส พระราชาคณะ
หลักพันกลางๆ ถึงหลักหมื่นบาทต้นๆ เท่านั้น

แล้วจะให้พระ “มีเงิน” ที่ไหน ไปบริหาร “วัดวาอาราม”
เลยต้องพึ่งพา “กฐิน” และ “ผ้าป่า” ตลอดปี ตลอดไป
มหาเถรสมาคม ทำไมไม่พิจารณา “นโยบาย” ในส่วนนี้กันบ้าง???

น่าจะ “แปรเปลี่ยน” ปัญหา “เงินทอนวัด” จาก “วิกฤต” ให้กลายเป็น “โอกาส”

คำถามคือ “คุณภาพ” กับ “สมรรถนะสูง”
ไม่ไปด้วยกัน

นี่คือ “ความจริง” ที่ผู้นำวงการศึกษาและวงการศาสนาต้องแก้

ไม่ใช่ปล่อยให้วงการศึกษา และวงการศาสนา
เป็นวงการที่ปกครองด้วยระบอบคล้าย “เผด็จการ” แบบเบ็ดเสร็จ

มหาวิทยาลัยข้าฯ อธิการบดีข้าฯ ใครอย่าแตะ ใครอย่าตรวจสอบ

วัดข้าฯ เจ้าอาวาสข้าฯ ใครอย่าแตะ ใครอย่าตรวจสอบ จะเป็นบาป

ผลก็คือ “ทันสมัย” แต่ “ไม่พัฒนา”
มีแต่ “ตัวกู” และ “พวกกู” เท่านั้น

ถ้าอธิการบดี ถ้าเจ้าอาวาส ยอม “เสียสละ”
ก็อยู่ที่ “ได้คิด” และ “คิดได้”

—–

เล่าเรื่อง “นักกีฬาสมรรถนะสูง”
เปรียบเทียบกรณีศึกษา “คนมีสมรรถนะสูง”
เชิงเปรียบเทียบ เป็นกรณีศึกษา

ยกตัวอย่างจากประเทศสวีเดน

สเตฟาน โฮล์ม เป็นนักกีฬาชาวสวีเดนที่มีผลงานอันยิ่งใหญ่
ชนะเลิศเหรียญทองโอลิมปิกกีฬาประเภท “กระโดดสูง”

ปัจจุบันในวัย ๔๓ ปี เขาได้เกษียณเลิกจากงานประจำ
และยึดอาชีพเสริมเป็น “โค้ช” ของ “โซเฟีย สกูก” นักกีฬากระโดดสูงทีมชาติสวีเดน

สเตฟาน เป็นคนที่เชื่อและศรัทธาใน “ทฤษฎีเฮง” หรือ “ความโชคดี”
เขาได้รับแรงบันดาลใจจากนักกีฬาต้นแบบคือ
“แพทริก โชเบิร์ก” นักกีฬากระโดดสูงจอมห้าวชาวสวีเดน
ขวัญใจเด็กๆ ชาวสวีเดนซึ่งพากันร้องเพลง “ดูสิผมเป็นแพทริก โชเบิร์ก”

เขาฝึกซ้อมเตะไขว้ขากระโดดหงายหลังข้ามโซฟาในบ้าน ตั้งแต่อายุเพียงแค่ ๔ ขวบ

สเตฟาน ผสมผสานความเชื่อ ๒ ระบบ
ระบบแรกเขาเชื่อว่า “กฎ ๑๐,๐๐๐ ชั่วโมง” เป็น “สัมฤทธิ์พิศวง”
ซึ่งนักเขียนหนังสือขายดีระดับโลกอย่าง “มัลคอล์ม แกลดเวลล์”
เรียกว่า “ตัวเลขมหัศจรรย์แห่งความยิ่งใหญ่”
ซึ่งนักเขียนหนังสือขายดีระดับโลกอย่าง “เจฟฟ์ โคลวิน”
แต่งเป็นหนังสือขายดีชื่อ “พรสวรรค์ที่ถูกตีค่าสูงเกินจริง”
อ้างอิงผลวิจัยโดย “อีริกส์สัน”
ซึ่งนำเสนอข้อค้นพบว่า
“ทักษะที่มาจากพรสวรรค์โดยกำเนิดมิได้มีคุณค่าสูงกว่าการฝึกฝนนับพันชั่วโมง”

ต่อมาในปี ๒๕๕๐ นักจิตวิทยา ๒ คนคือ กิเยร์โม กัมปิเตยี
แห่งมหาวิทยาลัยอินเตอร์เนชันแนลอเมริกันโอเพ่น ในบัวโนสไอเรส
กับแฟร์นอง โกเบ แห่งมหาวิทยาลัยบรูเนลเวสต์ กรุงลอนดอน
ได้วิจัยโดยศึกษากลุ่มตัวอย่างคือ “นักเล่นหมากรุก” จำนวน ๑๐๔ คน
ต่อเนื่องจากงานวิจัยของอีริกส์สันซึ่งศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างคือ
“นักดนตรีเล่นไวโอลิน” จำนวนเพียงแค่ ๑๐ คน

งานวิจัยการซ้อมไวโอลิน ๑๐,๐๐๐ ชั่วโมงอันเลื่องชื่อของอีริกส์สัน
ได้ข้อค้นพบเพียงแค่ “จำนวนชั่วโมงซ้อมโดยเฉลี่ย”
ไม่ได้นำเสนอ “ช่วงของชั่วโมงที่ซ้อมจนชำนาญ”
จึงระบุไม่ได้แน่ชัดว่า “ผู้เล่นเปียนโน”
คนไหนกันแน่ในงานวิจัย
ที่กลายเป็น “นักไวโอลินชั้นนำ” ได้
ด้วยผลงานการซ้อม ๑๐,๐๐๐ ชั่วโมงจริงๆ

ต่อมาในวงเสวนาวิทยาลัยแพทย์เพื่อการกีฬาอเมริกันในปี ๒๕๕๕
อีริกส์สัน ได้ตอบข้อซักถามในที่ประชุมวิชาการวิจัยชั้นสูง
โดยตั้งข้อสังเกตว่า “การซ้อม ๑๐,๐๐๐ ชั่วโมง”ของเขา
เป็นการเก็บตัวอย่างจากประชากรกลุ่มเล็กๆ เพียงแค่นักไวโอลินจำนวน ๑๐ คนเท่านั้น
และไม่น่าเชื่อถือทั้งหมดสำหรับ “การนับจำนวนชั่วโมงซ้อม”
ซึ่งหลายๆ ครั้ง นักเล่นไวโอลินนึกย้อนกลับไปประเมินตัวเลขหลายครั้ง
และไม่มีครั้งไหนที่ตัวเลขไม่ขัดแย้งกัน
แปลว่านักไวโอลินตอบหลายๆ ครั้งไม่ตรงกันว่าซ้อมไปเท่าไร

และตัวอีริกส์สันเองไม่เคยเขียนว่า “กฎ ๑๐,๐๐๐ ชั่วโมง”
แต่ลงความเห็นว่า “กฎ ๑๐,๐๐๐ ชั่วโมง”
ซึ่งโด่งดังจนใช้อ้างอิงแพร่หลายไปทั่วโลก
ก็จากหนังสือเล่มดังของแม็ลคอล์ม แกลดเวลล์ ชื่อ “สัมฤทธิ์พิศวง”
โดยอีริกส์สันได้ยืนยันว่า
“แม็ลคอล์ม แกลดเวลล์ตีความ อธิบาย และเข้าใจผลสรุปงานวิจัยไวโอลินของเขาผิดไป”

ทุกวันนี้ ข้อค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์
ไม่ว่าจะเป็นวงการไวโอลิน กระโดดสูง หมากรุก ไปจนถึงเทนนิส
ก็ยังไม่ได้ข้อยุติว่า “กฎ ๑๐,๐๐๐ ชั่วโมง”
จะอธิบายค่าความแปรปรวนของทักษะได้เกือบทั้งหมด หรือทั้งหมด
เพราะผลการวิจัยพบว่าค่าความแปรปรวนจากการฝึกซ้อม
ระหว่างนักว่ายน้ำ นักกีฬา ยังคงอยู่ในระดับต่ำหรือปานกลางเท่านั้น

ข้อค้นพบเชิงประจักษ์ยืนยันชัดเจนว่า “ทักษะ”
ไมได้เกิดจากกระบวนทัศน์ที่เชื่อว่า “ฮาร์ดแวร์ไม่ใช่ซอฟต์แวร์”
แต่เกิดขึ้นได้จาก “ฮาร์ดแวร์ ที่มีกันมาแต่กำเนิด”
และ “ซอฟต์แวร์” ที่เขียนมาเรียนกันในภายหลัง

ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับนักกีฬาไตรกีฬาที่ต้องใช้ความอึดสุดขีด
พบว่า คนที่เก่งกว่ามักได้ฝึกซ้อมมากกว่าค่าเฉลี่ย
แต่ในกลุ่มคนที่มีผลงานคล้ายคลึงกัน กลับมีชั่วโมงการฝึกซ้อมที่แตกต่างกันถึง ๑๐ เท่า

——

ย้อนอดีต ในปี ๒๔๕๑ เอ็ดเวิร์ด ทอร์นไดก์ “บิดาแห่งจิตวิทยาการศึกษาสมัยใหม่”
ได้วิจัยจนมีข้อค้นพบว่า
“การเลี้ยงดูมีผลต่อความสามารถในการทำงานใดงานหนึ่งมากกว่า”
ทอร์นไดก์ เป็นผู้สนับสนุนแนวคิดใหม่ ที่หักล้างแนวคิดแบบดั้งเดิม
กล่าวคือคนยุคนั้นเห็นว่าคนที่อายุเกิน ๓๕ ปีขึ้นไป “แก่เกินเรียน”

แต่ทอร์นไดก์ได้วิจัยทดสอบจนได้ข้อค้นพบว่า
“ผู้ใหญ่ที่อายุมากยังเรียนรู้ทักษะอะไรๆ ที่ใหม่ๆ ได้เสมอ”

—–

ฟิลลิป แอกเกอร์แมน นักวิจัยแนวจิตวิทยาทดลอง แห่งมหาวิทยาลัยจอร์เจียเทค
และผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างทักษะ

เขาได้ทดลองและทดสอบโดยศึกษาค้นคว้า
งานวิจัยการสร้างทักษะจากทั่วโลกมาเปรียบเทียบกัน
โดยมีเป้าหมายการวิจัยคือ “การฝึกซ้อมทำให้คนทุกคนเก่งเท่ากันได้หรือไม่?”
และได้ “ข้อค้นพบ” ล่าสุดดังนี้
“การฝึกซ้อมจะทำให้คนทุกคนเก่งเท่ากันได้หรือไม่นั้น
ขึ้นอยู่กับงานที่ต้องทำคืออะไร?
ถ้าเป็นงานง่ายๆ การซ้อมทำให้คนทุกคนเหมือนกัน
แต่งานที่ยากๆ มีผลทำให้ความสามารถของทุกคนแตกต่างจากกัน”
แปลว่าการฝึกซ้อมงานที่ง่ายๆ ทำให้ทุกคนมีทักษะที่เหมือนกัน
แต่ถ้า “ตัวแบบ” ที่ฝึกฝนยุ่งยาก มีผลทำให้มีความแตกต่างจากกันอย่างเห็นได้ชัด

แปลตรงตัวว่า คนที่เก่งอยู่แล้ว เติมทักษะให้ ใช้เวลาเรียนรู้ไม่มาก ก็จะเก่ง
แต่คนที่ไม่เก่ง เติมทักษะให้มากมาย ใช้เวลาเรียนรู้นานแสนนานแค่ไหน ก็ไม่เก่ง

จริงหรือไม่? ขบคิดกันเอาเอง

——-

Comments

comments