๒๓๔. ธัมมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในวันวิสาขบูชา

บทความที่ ๒๓๔
ข้ออรรถ ข้อธรรม
“ธัมมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ในวันวิสาขบูชา”
อุทิส ศิริวรรณ
เขียน
——
ครั้งปฐมโพธิกาล ห้วงเวลาที่ตรัสรู้ครั้งแรก
พระบรมครู ประทับนั่ง ณ ควงต้นพระศรีมหาโพธิ์
ทรงเปล่งอุทาน  ภายหลังพระอานนท์สงสัยทูลถาม
จึงตรัสเทสนาหลักธัมมะ คาถานี้ว่า
“อเนกชาติสํสารํ” เป็นต้น

ความย่อว่าพระศาสดานั้น ประทับ ณ โคนต้นโพธิ์
เมื่อพระอาทิตย์ยังไม่ตกดิน ได้ทรงมีชัยชนะ
เหนือ “พระยามารและกองพลมาร” ทรงทำลาย
ความมืดซึ่งปกปิด “ร่าง” ที่เคยอาศัยในชาติก่อนๆ
ในปฐมยาม ทรงชำระตาทิพย์ในมัชฌิมยามจนใสสะอาด
ทรงอาศัยความกรุณาในเหล่าสัตว์ทรงทำให้ญาณ
หยั่งลงใน “ปัจจยาการ” (ปฏิจจสมุปบาท เพราะสิ่งนี้
จึงมีสิ่งนี้) ทรงพิจารณาญาณนั้นด้วยอำนาจ
การคิดแบบอนุโลมและปฏิโลม ในปัจฉิมยาม

ได้ตรัสรู้เฉพาะด้วยพระองค์เองซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ
พร้อมด้วยเหตุมหัศจรรย์ทั้งหลาย ในเวลารุ่งอรุณ

เมื่อจะทรงเปล่งอุทานซึ่งพระพุทธเจ้าหลายแสนองค์
ไม่เคยละทิ้ง จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า

“ตัวเรา ออกแสวงหานายช่างสร้างบ้าน
เมื่อยังไม่พบ ได้ท่องเที่ยวไปยังสังสารวัฏหลายภพชาติ
การเกิดแล้วเกิดอีก เป็นความทุกข์
ดูก่อนวิศวกร เราได้เห็นท่านแล้ว
ท่านจะสร้างเรือนคือ “อัตตา” ในสังสารวัฏนี้อีกต่อไปไม่ได้แล้ว
เราหักทำลาย “ซี่โครงคือกิเลสที่เหลือลงทั้งหมด” ของท่าน
ได้แล้ว “ยอด” ของเรือนคือ “อวิชชา” เราขจัดทำลายจนหมดสิ้นแล้ว ระดับจิตของเรา บรรลุถึง “นิพพาน” แล้ว
เราได้บรรลุความสิ้นไปแห่งตัณหาทั้งหลายแล้ว”

ที่มา : ปฐมโพธิ วตฺถุ หน้า ๑๑๕-๑๑๖ ธมฺมปทฏฺฐกถา ปญฺจโม ภาโค,
ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๒, มหามกุฏราชวิทยาลัย

——

ก่อนตรัสรู้ “พระโพธิสัตว์” คือ “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”
เสวย “ข้าวมธุปายาส” ที่นางสุชาดาถวายแล้ว
ทรงถือถาดทองคำเสด็จไปยังท่าน้ำ ทรงอธิษฐานว่า
“ถ้าเราจักได้เป็น “พุทธะ” ในวันนี้ ขอให้ถาดทองใบนี้
ลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไป
ถ้าเราไม่ได้เป็น “พุทธะ” ในวันนี้ ขอให้ถาดทองใบนี้
จงลอยไปตามกระแสน้ำ”

นิมิตที่ทรงพบเห็นเองก็คือว่า ถาดทองได้ลอยตัดกระแส
ไปถึงกลางแม่น้ำ จากนั้นได้ลอยทวนกระแสขึ้นไป
ประมาณ ๘๐ ศอก ก็จมลงในวังน้ำวนแห่งหนึ่ง

——
พุทธปณิธาน
“พุทฺโธ โพเธยฺยํ เรารู้แล้วก็จะพึงให้ปวงประชารู้
มุตฺโต โมเจยฺยํ เราหลุดพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏแล้ว
ก็จะพึงปลดปล่อยปวงประชาจากความทุกข์
ติณฺโณ ตาเรยฺยํ เราข้ามพ้นจากห้วงน้ำคือกิเลสแล้ว
ก็จะพึงให้ปวงประชาข้ามพ้นตามไปด้วย”

——
ธัมมะที่ทรงบรรลุในปฐมยาม
คือ “บุพเพนิวาสานุสติญาณ”
ความสามารถรำลึกชาติได้
๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง
จนถึงร้อยชาติ พันชาติ หมื่นชาติ แสนชาติ
ว่าในชาตินั้น มีชื่ออย่างนี้ โคตรอย่างนี้
วรรณะอย่างนี้
อายุเท่านี้
เสวยทุกข์อย่างนี้
เสวยสุขอย่างนี้
จุติจากภพนั้น
บังเกิดในภพโน้น
จากภพโน้น
จึงมาเกิดในภพนี้  เป็นต้น

ในมัชฌิมยาม
ทรงบรรลุ “จุตูปปาตญาณ”
คือรู้ว่าสัตว์ กำลังจุติ
กำลังอุบัติ กำลังตาย
ทั้งดี ทั้งเลว ทั้งผิวพรรณดี
ผิวพรรณไม่สวยงาม
ด้วยทิพยจักขุ ตาทิพย์
ซึ่งละเอียดกว่า “ตามนุษย์”

ครั้นถึงเวลาปัจฉิมยาม
ทรงบรรลุ “อาสวักขยญาณ”
คือได้ตรัสรู้หลักธัมมะอันเป็นที่สิ้นกิเลสทั้งหลาย
ทรงพิจารณาเห็นว่า สรรพสัตว์ ลำบากจริงหนอ
เกิด แก่ เจ็บ ตาย วนไปเวียนมา กลายเป็นวัฏฏะ
อธิบายว่า คนเราเมื่อมีกิเลสก็ทำกรรม
เมื่อทำกรรมก็รับวิบากกรรม
คือผลของกรรมที่ทำแล้ว มากบ้าง น้อยบ้าง
ตามความเป็นจริง
ดังนั้น “กิเลสวัฏ” “กรรมวัฏ” และ “วิปากวัฏ”
จึงหมุนเวียนไปมาไม่มีที่สิ้นสุด
ตามหลัก “ปฏิจจสมุปบาท”

สาธุ สาธุ สาธุ
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ

 

Comments

comments