๒๓๙. ความสำเร็จไม่มีลางบอกเหตุ ความล้มเหลวไม่มีนิมิตหมาย

๑๑.๙.๒๕๖๒
ข้ออรรถ ข้อธรรม
“ความสำเร็จไม่มีลางบอกเหตุ
ความล้มเหลวไม่มีนิมิตหมาย”

อุทิส ศิริวรรณ

เขียน 
——-

เรื่องราวที่จะยกมาเป็น
“กรณีศึกษา” คนสู้ชีวิตต่อไปนี้
เป็นเรื่องราวของ “ปาโบล เอสโกบาร์”
มหาเศรษฐีเจ้าของฉายา “ราชาโคเคน”
ที่ติดอันดับ ๗ มหาเศรษฐีของโลกติดๆ กันถึง ๗ ปี
ตั้งแต่ปี ๑๙๘๗-๑๙๙๓ ขณะอายุน้อยมากเพียงแค่ ๓๘-๔๔ ปี
ในไทย เราอาจไม่คุ้นเคย คุ้นหูชื่อของชายคนนี้
แต่ที่นิวยอร์ก ชื่อเสียงของเขาโด่งดังมาก คนในวงการธุรกิจรู้จักเขาดี

จากสินค้าชื่อดังของเขา ซึ่งยังคงขายดิบขายดีกระทั่งถึงบัดนี้
นั่นคือ “โคเคน” ซึ่งเหนือชั้นกว่า “กัญชา”
—–


ทุกวันนี้ ผมครุ่นคิดว่า
“ทุกความสำเร็จ มีลางบอกเหตุชัดเจนหรือไม่”
คำตอบคือ “ไม่มี”

ทุกวันนี้คนเรามี “ช่วงแห่งชีวิต” คล้ายคลึงกัน

เรียนหนังสือ
ทำงาน
แต่งงาน หรือไม่แต่งงาน
มีครอบครัว หรือไม่มีครอบครัว
เป็นหนี้สิน

เพื่อ
ซื้อรถ
ซื้อบ้าน
ซื้อที่
ซื้อกิจการ

เก็บออมเงินสด เป็นต้น

แต่คำถามคือ
“ความสำเร็จ มีลางบอกเหตุหรือไม่?”
ข้อค้นพบคือ “ไม่มี”
แต่ “เป้าหมาย” ที่นำพาชีวิตไปสู่ “ความสำเร็จ” มี

ทว่าก่อนจะค้นหาจนค้นพบ “ความสำเร็จ”
ท่านต้องตอบอีกคำถามให้ได้เสียก่อนว่า
“ทุกความล้มเหลว มีนิมิตหมายหรือไม่?”
คำตอบที่ยืนยันได้ชัดเจนคือ “ไม่มี”
แต่ “สัญญาณ” ที่บ่งชี้ว่าจะนำพาชีวิตไปพบกับสภาวะ
“เจ๊ง-เจ็บ-จน” พอมีให้เห็นอยู่


ปาโบล เอสโกบาร์

“ราชาโคเคน”

มีคติประจำใจว่า

All Empires Are Created of Fire and Blood
ทุกราชอาณาจักรสร้างขึ้นมาด้วยไฟและเลือด

——

เขาเกิดที่โคลอมเบีย ละแวกเดียวกับบราซิล เวเนเซอูล่า และเปรู ในทวีปอเมริกาใต้
รักอิสระ ชอบที่จะเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่วัยเด็ก ทว่าสิ่งที่เขาเลือกเดินทาง คือ “หลงผิด” ตั้ง “เป้าหมาย” ชีวิตเอาไว้ผิดตั้งแต่แรก

เริ่มต้นจากลักขโมยขุดเอาป้ายและหีบศพจากหลุมศพเอาไปขายคนยากคนจนด้วยกัน ในราคาที่ย่อมเยากว่าซื้อของใหม่

หลังจากพอมีเงินทุนรอน ก็เปลี่ยนอาชีพไปทำธุรกิจลักพาตัว และเรียกค่าไถ่คนรวย

รวมถึงอาชีพที่ “สามัญชน” ไม่กระทำ อย่างเช่น “หวยปลอม” ”บุหรี่เถื่อน” “ลักขโมยรถ” สารพัดอาชีพที่ “อาชญากร” นิยม “ก่ออาชญากรรม” กระทำและปฏิบัติ

นายปาโบล เอโกบาร์ ลงมือทำทุกอาชีพ ขอเพียงให้ได้ “เงินสด” มาใช้จ่ายในแต่ละวัน

เขาก็ไม่เกี่ยง และไม่เลือกงาน ด้วยเหตุนี้ นายเอสโกบาร์ จึงมีเงินสดให้ใช้เยอะแยะมากมาย ตั้งแต่อายุน้อยๆ สมัยเป็นวัยรุ่น

——
พออายุย่างเข้า ๒๖ ปี ก็มี “มืออาชีพ”  ชักชวนเขาค้าขายทำธุรกิจ “การค้าระหว่างประเทศ” ให้ “ผลิตและจัดจำหน่าย” สินค้าที่ราคาแพงที่สุดและนิยมเสพมากที่สุด ในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก ชิคาโก แอลเอ บอสตัน วอชิงตันดีซี เป็นอาทิ สินค้าดังกล่าวเรียกว่า “โคเคน”

โดยนายปาโบล มีแหล่งวัตถุดิบคือ “ใบโคคา” จากประเทศต้นทางคือ “เปรู”  

เขาคิดค้นและทำวิจัยโดยใช้ “ห้องแล็บปฏิบัติการ” ว่าจ้าง “นักปรุงโคเคน” มืออาชีพ จำนวนมากถึง ๑๙ คน ผลิตสินค้าชื่อดังก้องโลก “โคเคน” แล้วส่งไปจัดจำหน่าย วางขายยังประเทศต่างๆ ที่มีลูกค้าเสพ “โคเคน” รวมถึงประเทศไทยด้วย

สหรัฐอเมริกา ถือเป็น “ลูกค้ารายใหญ่ที่สุด” ของเขา ว่ากันว่าเท่าที่แอบลักลอบนำไปวางจำหน่ายประมาณ ๘๐ ตันต่อวันนั้น ขายได้จริงเพียงแค่ ๑๕ ตัน ที่เหลืออีก ๖๕ ตัน ถูกจับกุมยึดเอาไว้ได้ทั้งหมด

แต่เพียงแค่ ๑๕,๐๐๐ กิโลกรัม หรือ ๑๕ ตันต่อวัน เท่านี้ก็สร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่เขาแล้ว

ระหว่างที่เขามีอายุ ๓๘-๔๔ ปี นิตยสาร “ฟอร์บส์” ได้จัดอันดับให้เขาติดทำเนียบมหาเศรษฐีผู้มั่งคั่งร่ำรวยที่สุด เป็นอันดับ ๗ ของโลก ติดต่อกันถึงปี ๒๕๓๖ รวม ๗ ปีซ้อน

——

“โคเคน” ทำรายได้ให้เขาดีมาก สูงถึงวันละ ๒,๑๔๒ ล้านบาท (สองพัน หนึ่งร้อย สี่สิบสอง ล้านบาท) หรือเฉลี่ยปีละ ๗๘๑,๐๐๐ ล้านบาท (เจ็ดแสน แปดหมื่น หนึ่งพัน ล้านบาท)

ข้อมูลทางลับโดยซีไอเอ หรือหน่วยสืบราชการลับสหรัฐอเมริกา ยืนยันว่าเขาใช้วิธี “ฝังเงินสด” ไว้ตามหลุมฝังดินต่างๆ ๑๐๐ แห่งเศษ และแต่ละแห่ง “ฝังเงิน” เอาไว้ ประมาณ ๑๗,๕๐๐ – ๓๐,๕๐๐ ล้านบาท

——

ในสายตาของรัฐบาลโคลอมเบีย เขาคือ “ราชาโคเคน” มีหมายจับ เป็นที่ต้องการตัวของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลประเทศโคลอมเบีย

แต่ความที่เขามี “เงินสด” มากมายในมือจำนวนมหึมามหาศาล เขาจึงต่อรองกับทางรัฐบาลโคลอมเบีย ขอจำคุกตนเองในเรือนจำที่เขาลงทุนสร้างขึ้นมาขังตัวเอง

โดยคุกดังกล่าวมีโซนย่างบาร์บีคิว สนามกีฬาคือสนามฟุตบอล และที่พักตากอากาศ คล้ายรีสอร์ตมากกว่าเรือนจำ ขณะสร้างเรือนจำเขามีอายุเพียงแค่ ๔๒ ปีเท่านั้น

——

ธุรกิจโคเคน เป็นสาเหตุให้เขาฆ่าคนตายจำนวนมากมายมหาศาลถึง ๔,๐๐๐ คน เป็นไปตามหลักการของเขาคือจะเอา “เงินสด” หรือ “ลูกปืน” แทน

จากสถิติดังกล่าวพบว่า คนจำนวนมากถึง ๔ พันคนเศษ เลือกที่จะหักหลังเขา และรับเอา “ลูกปืน” แทน “เงินสด”

—–

ปาโบล ก็เหมือน “มนุษย์ปุถุชน” คือ “คนธรรมดาทั่วไป” เขารักและหวงแหนลูกสาวของเขามาก  

ครั้งหนึ่งระหว่างหลบหนีการไล่ล่าตัวจากตำรวจชุดจับกุมผู้ค้ายาเสพติด เขาติดอยู่บนเขาสูงชันกับลูกสาว ให้บังเอิญว่านางเป็นโรคอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ

เมื่อหายารักษาบนภูผาสูงชันไม่ได้ เขาก็ควานเอาสิ่งที่อยู่ใกล้มือคือเงินดอลลาร์สหรัฐ จำนวน ๒ ล้านเหรียญคือประมาณ ๖๐ ล้านบาทไทย เอามาเผาก่อกองไฟให้ร่างกายลูกสาวอบอุ่น เพื่อถนอมชีวิตลูกสาวเอาไว้

นอกจากนี้ เขายังใช้แนวคิด “พระเดช พระคุณ” ทำการสังคมสงเคราะห์ ช่วยเหลือผู้ยากไร้ในโคลอมเบีย ด้วยการสร้างที่พักอาศัย สนามฟุตบอล โรงเรียน

ประมาณการว่าเงินที่เขานำมาช่วยเหลือรากหญ้าทั่วประเทศโคลอมเบีย มากยิ่งกว่างบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้เสียอีก

ทุกวันนี้ ยังมี “ภาพ” ของเขาติดไว้กราบไหว้บูชาตามบ้านคนยากจนยากไร้ต่างๆ ทั่วประเทศโคลอมเบีย ซึ่งนับถือและมองเขาว่าคล้ายดั่งพ่อพระ หรือโรบินฮู้ดขื่อก้อง

——

ทว่าถึงที่สุดแล้ว

“เงินซื้อทุกสิ่งไม่ได้”

ครั้งหนึ่งเขาเคยเจรจากับรัฐบาลโคลอมเบีย ขอ “ชำระหนี้สิน” ให้ทางรัฐบาลโคลอมเบีย เป็นเงินสด ๑๐,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว ๓ แสนล้านบาทไทย

แต่ทางรัฐบาลโคลอมเบียเลือกรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกาแทน

ข้อเสนอเขาจึงถูกปฏิเสธ และตีตกไป

และเขาก็ถูกไล่ล่าเป้าหมายคือจับเป็นหรือจับตาย

————

“เงินสดมีมากมาย จนไม่รู้จะรักษาเอาไว้อย่างไร?”
ความที่เงินสดจากการค้าโคเคนมีจำนวนเยอะแยะมากมาย
นอกจากจะถูก “หนูแทะ” และ “น้ำท่วม” จมหายไปกับสายน้ำหลายแห่งแล้ว

เขาเองก็ “จำ” เงินแทบไม่หวาดไม่ไหว วงการอื่น จะค่อยๆ นับเงินสดที่เป็นเงินรายได้จนนิ้วมือล็อกบ้าง  นิ้วมือด้านบ้าง 

แต่ระบบนับเงินสดของ “ราชาโคเคน” คนนี้
ไม่เหมือนใครอื่น เขาใช้วิธีนับเงินใหม่ด้วยระบบนวัตกรรมที่เขาคิดค้นขึ้นมาเอง นั่นคือนับเงินสดโดย “ชั่งกิโล” เหมือนชั่งหนังสือพิมพ์ขาย

และแต่ละเดือน เขาต้องเสียเงินซื้อ “หนังยาง” เดือนละ ๙ หมื่นบาทเศษ เพื่อ “รัด” เงินสดเอาไว้ มิให้กระจัดกระจาย

——

“หนีอะไรก็หนีได้ แต่หนีกรรมไปไม่พ้น เป็นไปตามกฎแห่งกรรม”

ราชาโคเคน อาจไม่ได้ศึกษาคำสอนศาสนาลึกซึ้ง
จึงไม่เชื่อใน “หลักกฎแห่งกรรม” ว่า “ทำชั่วย่อมได้ชั่ว”

สุดท้าย “ดวงวิญญาณ ๔ พันกว่าชีวิต” ก็มาทวง “วิญญาณ” ออกจากร่างเขาไปในขณะที่อายุได้เพียงแค่ ๔๔ ปี ในปี ๒๕๓๖
หรือเมื่อ ๒๖ ปีก่อน

โดยเขาถูก “สังหาร” อย่างโหดเหี้ยม
จากตำรวจชุดปราบปรามเกี่ยวกับยาเสพติดของรัฐบาลโคลอมเบีย

——

วันที่เขาตาย ประมาณกันว่า มีเงินสดในมือประมาณ ๑.๐๑๘ ล้าน ล้านบาทไทย
หรือประมาณ ๓ หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

เรื่องราวของเขา ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อดังในเวลาต่อมา
ในหลายภาษา ชื่อ “Paradise Lost”
https://www.youtube.com/watch?v=V-cMEKf-PiA

เล่าเรื่องนายปาโบล เอสโกบาร์ยาวๆ
เป็นคติเตือนใจว่า
“รวยได้ด้วยความทุจริต
สุดท้าย “มัจจุราช” ก็จะปลิดชีวิตเอาไป
เสวยกรรมในนรกต่อเนื่องและยาวนาน”
เป็นไปตามกฎแห่งกรรมข้อที่ว่า
“ยาทิสํ วปเต พีชํ  ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ”
“บุคคลหว่านพืชเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น
บุคคลทำความดี ย่อมได้รับความดี
ส่วนบุคคลทำความชั่ว ย่อมได้รับความชั่ว”

อยากตายจากโลกนี้ไปอย่างสงบสุขและสันติสุข

คติผม

อย่าทำบาป อย่าทำกรรมที่ให้ผลเร่าร้อน

และเดือดร้อนใจในภายหลัง

ยากดีมีจน อย่าฉ้อ อย่าฉล

อย่าคด อย่าโกง อย่าต้มตุ๋น

อย่าลวง อย่าล่อ
อย่าหลอก เอาเงินคนที่สุจริตมากินมาใช้

หาไม่แล้ว ชีวิตจะไม่ตายดี
เยี่ยง “ราชาโคเคน” นายปาโบล เอสโกบาร์

นี่คือ “กฎแห่งกรรม”  
ที่พอหาอ่านได้ ไม่ยาก ในยุคดิจิทัล

——

Comments

comments