๒๖๒. ข้ออรรถ ข้อธรรม “ปฏิรูปเทสวาโส อยู่ในทำเลที่เหมาะสม”

๒๖.๔.๒๕๖๗
ข้ออรรถ ข้อธรรม
“ปฏิรูปเทสวาโส อยู่ในทำเลที่เหมาะสม”
อุทิส ศิริวรรณ
เขียน

——–
ต่อจาก ทีม – ทุน ก็ถึงทำเลที่ตั้ง
ที่อยู่ ที่ทำงาน ที่ทำกิน

เลือกได้ ต้องเลือกที่อยู่ ที่ทำงาน ที่ทำมาหากิน
เหตุผล เพราะคนเรา จะทำอะไรประสบความสำเร็จ
หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศที่เราทำงาน
เป็นดัชนีบ่งชี้ ตัววัดความสำเร็จของเรา

 คัมภีร์มังคลัตถทีปนี แสดงความหมายของ “มงคล”
ได้อธิบายว่า “ปฏิรูปเทสวาส” คือการอยู่ในดินแดนประเทศที่สมควรอยู่

มีหมู่บ้าน เทศบาลนคร ชนบท เป็นต้น

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ คาถามงคล ๓๘ ลำดับคาถาที่ ๒ ได้แก่
– ปฏิรูปเทสวาโส อยู่ในประเทศที่เหมาะสม
– ปุพฺเพ จ กตปุญฺญตา ความเป็นผู้ได้สะสมบุญกุศลไว้ในอดีตชาติที่เคยเกิด
– อตฺตสมฺมาปณิธิ การวางตน วางจิตไว้ถูกต้อง โดยชอบธรรม

————-

มงคล คือความสำเร็จทางธัมมะ เมื่อลงมือปฏิบัติธัมมะสมควรแก่ธัมมะแล้ว
จะเรียกว่า “มงคล” ก็ต่อเมื่อได้อยู่ในประเทศที่มีพระภิกษุ สงฆ์ สามเณร แม่ชี
อุบาสก อุบาสิกา สัญจรแวะเวียนไปมา มีการทำบุญทำทานรักษาศีล เจริญภาวนา
ต่อเนื่อง คำสอนพุทธ ที่เรียกว่า “นวังคสัตถุศาสน์” คำสั่งสอนของพระศาสดา มีองค์ ๙

       ส่วนประกอบพุทธพจน์ ๙ ข้อที่เป็นคำสอนพุทธดั้งเดิม คือ

           ๑. สุตตะ (พระสูตรทั้งหลาย รวมทั้งพระวินัยปิฎกและนิทเทส)

           ๒. เคยยะ (ความที่มีร้อยแก้วและร้อยกรองผสมกัน ได้แก่ พระสูตรที่มีคาถาทั้งหมด)

           ๓. เวยยากรณะ (ไวยากรณ์ คือความร้อยแก้วล้วน ได้แก่ พระอภิธรรมปิฎกทั้งหมด และพระสูตรที่ไม่มีคาถาเป็นต้น)

           ๔. คาถา (ความร้อยกรองล้วน เช่น ธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา เป็นต้น)

           ๕. อุทาน (ได้แก่ พระคาถาพุทธอุทาน ๘๒ สูตร)

           ๖. อิติวุตตกะ (พระสูตรที่เรียกว่าอิติวุตตกะ ๑๑๐ สูตร)

           ๗. ชาตกะ (ชาดก ๕๕๐ เรื่อง)

           ๘. อัพภูตธรรม (เรื่องอัศจรรย์ คือพระสูตรที่กล่าวถึงข้ออัศจรรย์ต่างๆ)

           ๙. เวทัลละ (พระสูตรแบบถามตอบที่ให้เกิดความรู้และความพอใจแล้ว ซักถามยิ่งๆ ขึ้นไป เช่น จูฬเวทัลลสูตร มหาเวทัลลสูตร เป็นต้น)

การอยู่ในเมืองไทย พม่า ลาว เขมร ศรีลังกา เวียดนาม เป็นต้น เรียกว่าได้อยู่ในประเทศที่ได้บำเพ็ญบุญ สร้างบารมี สั่งสมบุญไว้ ต่อเนื่อง นับจากอดีต ถึงปัจจุบัน จึงนับเป็น ความสำเร็จทางธัมมะ

พระสิริมังคลาจารย์ ปราชญ์บาลีล้านนา
ท่านเมตตาอธิบายประกอบความ
คาถา “ปฏิรูปเทสวาโส จ” ไว้
น่าขบคิด

ท่านยืนยันว่า การอยู่ในเมืองที่เป็นเมืองพุทธ
เช่น ไทย พม่า ลาว เขมร เวียดนาม
จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น
มีโชคดี มีโอกาสได้เห็นได้กราบพระพุทธรูป
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เจดีย์  เรียก “ทัสสนานุตริยะ”
ได้ฟังพุทธพจน์คือพระไตรปิฎก
มีโอกาสได้รับอริยทรัพย์ ๗ ประการ คือ
ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา
ได้บำเพ็ญไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
มีโอกาส มีโชคดี ได้สักการะ นบนอบไหว้สา
กราบไหว้ บูชาพระรัตนตรัย เป็นนิตย์
มีโอกาสได้รำลึกนึกถึงคุณของพระรัตนตรัย
เป็นประจำ  ถี่และบ่อย
เทียบเคียงกับไปพำนักอยู่
ในดินแดนที่มิใช่เมืองพุทธ
จะแตกต่างกันมาก

บางประเทศ อยากไหว้พระก็ไม่มีพระให้ไหว้
อยากทำบุญตักบาตร ก็ไม่มีพระบิณฑบาต โปรดญาติโยม
เป็นต้น

พระสิริมังคลาจารย์ ท่านได้ยกตัวอย่าง
ชีวิตและงานของพระอานนท์ องค์อรหันต์ผู้มีส่วนสำคัญ
ทำให้เกิดสังคายนาพระธรรมวินัย
ทำคำสอนพุทธดั้งเดิมให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
จนเกิดมี “พระไตรปิฎกบาลี”
จารึกคำสอนพุทธเก่าแก่ดั้งเดิมขึ้น

พระอานนท์ ได้เฝ้าพระพุทธเจ้าทุกวัน
ได้มีโอกาสทองคือได้เห็นพระพุทธเจ้าด้วยสายตา
ทั้งเช้าจรดเย็น เรียกว่า “ทัสสนานุตตริยะ”

ท่านยังโชคดี ได้มีโอกาสฟังคำสอนพระพุทธเจ้า
ถี่บ่อยกว่าพระอรหันตสาวกองค์อื่นๆ
เรียกว่า “สวนานุตตริยะ”

ท่านได้รับแรงสัทธาเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า
ว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้า
ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง”
เรียกว่า “ลาภานุตตริยะ”

ท่านได้ศึกษาสิกขา ๓ ในพระศาสนา
ของพระบรมศาสดา เรียก “สิกขานุตตริยะ”

ท่านได้อุปัฏฐากบำรุงบริการรับใช้พระพุทธเจ้าตรง
เรียก “ปาริจาริยานุตตริยะ”

และสุดท้าย ท่านได้อนุสรณ์ถึงรำลึกนึกถึง
ความดีของพระพุทธเจ้า
ทั้งในส่วนของความดีที่เป็นโลกิยะ
และความดีที่เป็นโลกุตตระ เรียกว่า “อนุสสตานุตตริยะ”

ที่มา : สรุปจาก มงฺคลตฺถทีปนี (ปฐโม ภาโค) ฉบับบาลีอักษรไทย มจร ๒๕๓๑, หน้า ๗๓-๗๙

ผมคิดอะไร?

คิดถึงคำว่า “เกิดเป็นมนุษย์นั้นไซร้ ยาก”
รายที่มีมือถึง ตาถึง ทุนถึง บุญถึง และใจถึง
ก็จะเข้าใจและเข้าถึง คำว่า “ปฏิรูปเทสวาส”

และจะประคับประคอง ดำเนินชีวิต
ให้ประสบความสำเร็จทางธรรม มิใช่ทางโลก
เจริญรอยตามพระอานนท์

ซึ่งทุกวันนี้ เมืองไทย เมืองพุทธ
มี “อนุตตริยะ” ครบถ้วน
เป็นทรัพย์มรดกทางธัมมะ
ที่ดีกว่า สูงกว่า
ยิ่งกว่า “ดิรัจฉานวิชา”
ทั้งหลายทั้งปวง

ที่เกินคาดคือ หลายคน
ไม่เคยแม้แต่จะเปิดหนังสือสวดมนต์
นั่งในที่ลับ พยายามสวด อย่างน้อยอิติปิโส
ให้ได้สัก ๑ จบ

สุดท้าย หมดลมหายใจ
“เสียดาย…คนตายไม่ได้อ่าน”

ทุกวันนี้ ผู้นำทุกวงการ โดยเฉพาะวงการพุทธ
ที่ป่าวประกาศไทยจะเป็นศูนย์กลางพุทธโลก
ทว่าสิ่งที่พูด กับสิ่งที่ทำ ตรงกันข้าม
ที่พบเห็น หน่วยงานกำกับดูแลสำนักงานเกี่ยวกับพุทธ
ไม่มีงบประมาณ งบลงทุน งบค้นคว้าวิจัย เท่าที่ควรจะเป็น
มีแต่เงินเดือน และอื่นๆ เช่น สิ่งปลูกสร้าง
ปล่อยปละละเลย
ทอดทิ้ง “บาลี” คำสอนพุทธดั้งเดิม
ให้นิ่ง เงียบ สงบ

ถ้าไปตามวัดต่างๆ
พระไตรปิฎก “ตายสนิท”
ตายคาตู้พระไตร
หนำซ้ำยังถูก “ขัง”
ล็อกด้วยกุญแจ แน่นหนา

จนยากจะเข้าถึง พระไตรปิฎกบาลีเก่าแก่
ที่ฉบับแรก ยกตัวอย่าง
ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงตีพิมพ์เผยแพร่
หลายวัดที่ผมไปหยิบจับ
ยุ่ย ย่อย สลายกับมือ คลุกฝุ่น ราวกับว่า
นับแต่รัชกาลที่ ๕ เมื่อร้อยกว่าปีก่อน
ก็ยังไม่มีใครหยิบจับ ยกขึ้นมาหยิบอ่านอีกเลย

ผมเล่าถึง “ปฏิรูปเทส” ไว้ เป็นแรงบันดาลใจให้ขบคิดว่า
“มงคล” แปลว่า “ความสำเร็จที่มาจากคำสอนพระพุทธเจ้า”
ว่าแตกต่างจาก “ความสำเร็จทางธรรม”
คือ แค่มีเงินใช้ มีงานทำ
ฟังเพลงไพเราะ อาหารอร่อย กิน ดื่ม เที่ยว
มีบ้านหรู มีรถหรู ที่พบเห็นกันทั่วไป

ความสำเร็จทางธรรม ที่แท้จริงคือ
การฝึกจิต การตามดูเจตสิก
กิเลส ๑๐๘ ที่เกาะติด ฝังแน่นในจิต

การพัฒนาจิต จนยกระดับพ้นจากทุกข์
ที่เรียกว่า วิมุตติ หลุดพ้นจากทุกข์
ลอยตัวเหนือบุญและบาป
เมื่อจิตลุถึงสภาวธรรม
ที่เรียกว่า “นิพพาน”
แปลว่าดับกิเลสโดยไม่มีอาลัย
ที่อยู่แห่งกิเลส
จึงจะชื่อว่า “อริยจิต” ดับกิเลสได้สนิท

ส่วนมาก เท่าที่ประสบพบเห็น
และพบพานด้วยตนเอง
เอาเข้าจริง จิตและกิเลส ฝึกได้ยาก ควบคุมได้ยาก
ฟุ้งซ่านตลอด  คือสภาวจิตที่ “เบื่อๆ อยากๆ”

การเลือกอยู่ในถิ่นที่อยู่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทย
และประเทศอื่นๆ ที่มีพุทธศาสนาสถิต ข้อดีคือ
มีวัดวาอาราม มีพระสงฆ์สามเณร มีนักปราชญ์ผู้รู้จำนวนมาก
ได้เรียนรู้หลักปริยัติ นำมาเป็นแนวปฏิบัติ ที่จะนำไปสู่วิมุตติ
ยกระดับจิตให้ลอยเหนือบุญและบาป หลุดพ้นจากทุกข์

ดังนั้น ทุกๆ ความสำเร็จทางธรรม จึงอยู่ที่ “ปฏิรูปเทส”
การอยู่ในถิ่นที่อยู่เหมาะสม ซึ่งนั่นนับว่าเป็นมงคลสูงสุดในชีวิต

การพาตัวไปอยู่ “อปฏิรูปเทส” ถิ่นที่อยู่ไม่เหมาะ
ท่ามกลางเหล่าคนที่ “อาสัตย์” ตระบัดสัตย์
“อาธรรม์” ไม่มีธัมมะในใจ
จึงเป็น “โชคร้าย” ที่ตรงข้ามกับ “โชคดี”
เป็น “มลพิษ” “มลภาวะ”
ที่ส่งผลเสียต่อการพัฒนาและฝึกจิต

หลายคน ไม่เลือก “ปฏิรูปเทส” ฝากตัวรับใช้นาย
เลือกอยู่กับนายที่อาสัตย์ อาธรรม์
ผล… ชะตาขีวิตก็ย่ำแย่

กลับกัน ผมพบว่า ฝรั่ง นานาชาติ
พอลองผิดลองถูก ลองใช้ชีวิตในสังคมมาหลายรูปแบบ
สุดท้าย เลือก “ไทย” เป็นปฏิรูปเทส
เป็นดินแดนฝึกกาย วาจา จิต
เราจึงเริ่มพบเห็นพระฝรั่ง บวชเพื่อฝึกจิตกันมากขึ้น
บางวัด เราจะพบเห็นฝรั่ง บวชเรียน บาลีสนามหลวงด้วย
บางวัด มีสตรีชาวญี่ปุ่น อุทิศตนเรียนบาลี จนได้ประโยคบาลีศึกษาชั้นสูง

การเลือกถิ่นที่อยู่ไม่เหมาะ เลือกกิจการไม่เหมาะสม
มีแต่พาลชน คนที่ตาไม่บอด แต่ใจมืดบอด
เห็นผิดเป็นถูก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
หลายคนทั้งที่พยายามเป็นคนดี
แต่เอาเข้าจริง กลับไม่ได้ดิบได้ดีอย่างที่ใจต้องการ
บั้นกลาง บั้นปลายชีวิต ชะตาตก ดวงไม่ดี
ต้อง “ครุฑบิน”
โดนออกหมายเรียก หมายจับ หมายศาล
แก้ตัวแก้ต่างไม่สำเร็จ
ชะตาชีวิตก็ตกต่ำ ต้องหมายขัง
เสียผู้เสียคน
ทั้งที่อยากจะเป็นคนดี
แต่ไม่ได้ดิบได้ดีอย่างที่ใจคิด
ส่วนหนึ่งเพราะเลือกอยู่ใน “อปฏิรูปเทส”
คืออยู่ในถิ่นที่อยู่ไม่เหมาะสม ไม่สัปปายะ

เลือกได้ พยายามเลือก
๑. ปฏิรูปเทส อยู่ในถิ่นที่อยู่เหมาะสม
๒. ปุพเพ กตปุญญตา ภาวะที่มีบุญทำสะสมไว้แต่ปางก่อน
๓. อัตตสัมมาปณิธิ วางจิตไว้ตามแนวทางสัมมาทิฐิ คือเห็นถูก

Comments

comments