205. Case Study: Social Entrepreneurship, Thailand, Xanthip Gold Brand

205. Case Study : Social Entrepreneurship, Thailand

Xanthip Gold Brand

http://www.xanthipgold.com

**เชิญแนะนำบุคคลและกิจการที่น่ารู้จัก
ผมยินดีสัมภาษณ์และนำมาเขียนเผยแพร่เป็น Case Study
เป็น “วิทยาทาน” ฟรี

 

เงื่อนไข
๑. เป็นกิจการที่มีผลงานและผลสำเร็จต่อเนื่อง
๒. เป็นกิจกรรมที่ได้ทำคุณประโยชน์เพื่อสังคมและเศรษฐกิจเป็นรูปธรรม
๓. เจ้าของกิจการ เป็นผู้มีคุณธรรม และมีน้ำใจช่วยเหลือส่วนรวม มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ จำนวนหนึ่ง และระดับหนึ่ง

แนะนำได้ที่ e-mail:  druthit@druthit.com

 

Pairote01

 

ภาพ:  พันโทไพโรจน์ พนารินทร์ ผู้ก่อตั้ง
ผลิตภัณฑ์ น้ำดื่มมังคุดสกัด ตราแซนทิพย์โกลด์
กับรางวัลความสำเร็จ รถเบนซ์สปอร์ต  3กฐ 5 

 

๗ ธันวาคม ๒๕๕๘

 

คนดี และกิจการที่น่ารู้จัก

พันโทไพโรจน์ พนารินทร์  

น้ำมังคุดสกัด แซนทิพย์โกลด์

http://www.xanthipgold.com
เป้าหมายบริษัทเน้นทำงานเพื่อการสังคมและพระศาสนา (เดาว่าทุกศาสนาเพราะสมาชิกท่านมีทุกศาสนา)

ท่านผู้พันไพโรจน์ พนารินทร์เป็นคนดีที่น่ารู้จักคนหนึ่ง
สำหรับผู้อยู่ในแวดวงการค้า ธุรกิจ SMEs
ก็น่าที่จะเป็น “แบบอย่าง” สำหรับคนที่คิดและค้นหาหนทาง
ที่จะทำธุรกิจด้วยหลักคิด Less for More ทำน้อยให้ได้มาก
แบบว่า Faster Model เน้นลงมือทำเร็วกว่าคู่แข่ง
ใครที่ยึดหลัก…เงินน้อยแต่กล้าคิดใหญ่…ท่านไพโรจน์ใช่เลย
คือคนที่ท่านสมควรเดินทางไปพบ เข้าหาตัว และขอคำปรึกษาชี้แนะ
เพราะถ้าบุกไปพบถึงที่ตั้งบริษัท ก็จะพบกับ คุณสิรินพรรณ จันทร์อริยะโสภณ
CEO คู่คิดของท่านผู้พันไพโรจน์ กลายเป็น 2in1 คุ้มสุดคุ้มถ้ามีโอกาสเข้าถึงตัว

ใครที่ทำธุรกิจ หรือคิดจะทำธุรกิจส่วนตัว ติดต่อ Xanthip Gold
ขอคำปรึกษา ขอนัดพบพูดคุยกับท่านได้ ยกเว้นอย่าไปขอยืมเงิน
หรือขอเรี่ยไรท่าน เพราะท่านก็จะทำบุญเฉพาะกับที่ท่านศรัทธา
และปวารณาไว้เท่านั้น

ท่านเป็นคนสุภาพ อ่อนโยน อารมณ์ดี อัธยาศัยไมตรีดี เป็นผู้ใหญ่ใจดี เมตตาสูง
มีน้ำใจ ทุกวันนี้ วัดและโรงเรียน รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวกับคนพิการต่างๆ
ก็ได้อาศัยพึ่งพาท่านและภรรยาเป็นเสาหลักสนับสนุนอุปถัมภ์และช่วยเหลือ
ในยามขาดแคลน

ท่านผู้พันไพโรจน์ ก็เหมือนนักธุรกิจระดับผู้นำที่มีแววจะประสบความสำเร็จ
นั่นคือมีความคิดโดดเด่น และมีความฝันที่แตกต่าง
ทั้งยังมุ่งมั่นเต็มร้อยที่จะเจริญรอยตามท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี แห่งเมืองสาวัตถีที่ผมเพิ่งไปเยือนมา

ถ้าเราเข้าไปเยี่ยมชมเฟซบุ้กท่าน

https://www.facebook.com/aswakos?fref=ts

จะพบเห็นแต่กิจกรรมค้าขายกิจกรรมเพื่อสังคม และกิจกรรมเพื่อพระศาสนา
ตอนหลังเห็นมีกิจกรรมกีฬาแทรกอยู่ด้วย

ท่านจบเปรียญธรรม๙ประโยคเป็นสามเณรนาคหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ปี๒๕๓๒ ศิษย์สำนักวัดเขาพุทธโคดม ศรีราชา ชลบุรี อันเลื่องชื่อ และ
ศิษย์สำนักเรียนวัดชนะสงคราม

ท่านยังเรียนจบปริญญาอีกใบคือศาสนศาสตรบัณฑิตจากมหามกุฏราชวิทยาลัย วัยหนุ่มท่านใฝ่รู้ใฝ่เรียนมากได้สอบเข้าเรียนต่อปริญญาโทที่คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภาควิชาภาษาตะวันออกเอกภาษาบาลี-สันสกฤต

ผมก็คิดว่าท่านต้องจบแน่แท้ 100% แต่คนลิขิตมิสู้ฟ้าลิขิต มีเหตุบังเอิญให้
ชีวิตท่านพลิกผันคือมีบุญได้เรียนแต่ไม่มีวาสนาได้จบ

ครูบาอาจารย์ที่นั่น ทั้งท่านอาจารย์ใหญ่
ศ.ดร. ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา ราชบัณฑิต ศ. วิสุทธ์ บุษยกุล ศ. มล. ดร. จิรายุ นพวงศ์ รศ. ดร. ปราณี ฬาพานิช ผศ. ฐานิสร์ ชาครัตพงศ์ ผศ. ดร. ประพจน์ อัศววิรุฬหการ รวมถึง ผศ. ทัศนีย์ สินสกุล ต่างเสียดายที่ท่านไม่มีเวลา
มาเขียนวิทยานิพนธ์ต่อเพื่อให้จบเป็นอักษรศาสตรมหาบัณฑิต จากเทวาลัยอันศักดิ์สิทธิ์แห่งรั้วจามจุรี

เข้าใจว่าช่วงนั้นท่านไพโรจน์เพิ่งรับราชการทหารเป็นอนุศาสนาจารย์จัดเวลาไม่ได้แม้ว่าจะเรียนจบรายวิชาครบ๓๖หน่วยกิตแล้วแต่มิได้เขียนวิทยานิพนธ์อีก๑๒หน่วยกิต

วาสนาคนเราจะมิได้เป็นมหาบัณฑิต แต่ฟ้าลิขิตจะให้เป็นมหาเศรษฐี! 
จึงไม่น่าเสียดายอะไรนักกับปริญญามหาบัณฑิต
เพราะชะตาชีวิตพลิกผันให้กลายเป็นมหาเศรษฐีย่อมดีกว่าเป็นไหนๆ!

ล้มเพราะก้าวไปข้างหน้า ดีกว่ายืนเต๊ะท่าอยู่กับที่

หลังจากรับราชการนานกว่ายี่สิบปีผมทราบข่าวคราวเป็นระยะว่า ท่านผู้พันไพโรจน์เป็นผู้บุกเบิกริเริ่มและก่อตั้งกิจการขายตรงชื่อดังระดับพันล้านบาท
เจ้าของกิจการดังกล่าวคนปัจจุบันเป็นเพื่อนบ้านผมถัดไป ๖-๗ หลังหมู่บ้านเดียวกันนี้เองรั้วติดกับบ้านท่านอาจารย์สมหมาย ครสาคู นักธุรกิจแอมเวย์ระดับตรีเพชรเครือข่ายสายบุญและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของผม ท่านผู้นี้อดีตอาจารย์สอน AIT แห่งรังสิต

กิจการขายตรงยอดขายนับพันล้านบาทต่อปีที่ท่านผู้พันไพโรจน์ริเริมร่วมบุกเบิกและร่วมก่อตั้งนี้ เจริญรุดหน้า ทราบว่าเพลงประจำบริษัททุกวันนี้ เป็นผลงานเพลงประพันธ์โดย
ท่านอาจารย์ เอกภพเหล่าลาภะ
ผู้ก่อตั้งและประธานสถาบันพัฒนาผู้นำต้นแบบ พุทธสิกขาลัย

https://www.facebook.com/profile.php?id=100006953625663&sk=about§ion=edu_work

แม้กิจการจะเจริญรุ่งเรืองแต่ทราบว่าตัวท่านผู้พันในยามนั้นกลับประสบเคราะห์กรรมเก่าเจ้ากรรมนายเวรตามราวีทำให้ล้มลุกคลุกคลานเป็นหนี้เป็นสินแทบสิ้นเนื้อประดาตัว ทราบจากปากเพื่อนเองเล่าว่าเดินจากมามือเปล่า ทิ้งหุ้นและสายงานมูลค่านับร้อยล้านไว้มิหวนกลับไปเอาเงินปันผลหรือส่วนแบ่ง มีพกติดตัวออกมาพียงแค่มันสมองและสองมืออันว่างเปล่า

แม้ว่าจะมีแต่ตัวและหัวใจ แต่ท่านผู้พันเราก็ยังยืนหยัดที่จะเดินหน้าเป็นมหาเศรษฐีต่อไป แม้ว่าจะเหลือเพียงแค่มอเตอร์ไซค์เก่าๆ หนึ่งคันไว้เป็นแขนขา และหนี้สินยามเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเพื่อนสนิทมิตรสหายให้ผู้พันใช้ตำแหน่งหน้าที่การงานค้ำประกันไว้ แต่ยามจวนตัวเพื่อนรักเพื่อนเคารพก็หลบลี้จรลีหนีหาย เจ้าหนี้ตามตัวไม่เจอก็เล่นงานผู้ค้ำประกันแทน

ท่านผู้พันเราเคราะห์ซ้ำกรรมซัดก็ไม่เคยปริปากซัดทอดบอกเจ้าหนี้ว่าเพื่อนกินเพื่อนกันหนีไปไหน ไม่เคยก่นด่าบ่นว่าเพื่อนต่อหน้าหรือลับหลังให้ได้ยิน โทรไปไม่ติดไม่รับสายก็เลิกตามเลิกตื้อเลิกง้อ แต่กลับก้มหน้าก้มตาคิดหาหนทางเร่งรีบทำงานใช้หนี้สินแทนเพื่อน พยายามเอามอเตอร์ไซค์เก่าๆ ขี่ยามยากใช้ทำการขนส่งกระจายสินค้าและจัดการโลจิสติกส์รับส่งสินค้าสู่มือลูกค้าผู้บริโภคสู้ชีวิตในยามยากแม้จะจนเงินแต่ไม่จนความคิดบริหารจัดการชีวิตพอเหมาะพอควรพอดีและพอประมาณได้ลงตัวอย่างน่าทึ่ง

 

ทุกชีวิต กว่าจะมีวันแห่งชัยชนะ
จำไว้…ต้องผ่านการทดสอบและพิสูจน์ความอดทน

เพื่อนผมยามตกทุกข์ได้ยากตกระกำลำบากในคราวที่อับจนก็ไม่เคยปริปากบ่นว่าจน ไม่เคยไปเอ่ยปากขอ อ้อนวอนให้ใครช่วยเหลือ พิจารณาตนเอง ตักเตือนตนเอง แก้ไขตนเอง ไม่ปริปากดุด่าว่าบ่น ไม่เคยตัดพ้อต่อว่าชะตาฟ้าดินว่ากลั่นแกล้งหรือลงโทษทัณฑ์ ไม่เคยโยนความผิดให้คนรอบตัวหรือหาว่าสวรรค์ลำเอียง ไ่ม่เคยดิ้นรนเปลี่ยนศาสนา หรือพึ่งพาสิ่งที่งมงายไร้เหตุผล เพื่อนผมใช้หลักธรรมนำชีวิต ต่อสู้ดิ้นรนสู้ชีวิตด้วยพลังความคิดต่อสู้ด้วยลำแข้งของตนเอง ท่านได้ต่อสู้อุปสรรค และพยายามที่จะฟันฝ่าเอาชนะอย่างไม่ย่อท้อ

นวัตกรรมความคิด และลงมือรวดเร็ว :

พลังผลักดันชีวิตให้ก้าวเร็วกว่าคู่แข่ง ๑ ก้าว

เมื่อสวรรค์ลิขิตให้ท่านผู้พันพบกับคุณสิรินพรรณ “หลงฟ่ง” คำกล่าวว่าหงส์คู่กับมังกรก็เป็นไปคล้องจองกัน จะคิดจะทำอะไรด้วยกันก็สมพงษ์ลงตัวดั่งพยากรณ์นาคสมพงษ์ในตำราพรหมชาติพยากรณ์ท่านว่าไว้

เมื่อคิดเป็นก็เห็นโอกาส…กาลต่อมาท่านผู้พันและคุณสิรินพรรณได้ริเริ่มบุกเบิกนวัตกรรมธุรกิจร่วมกับคณาจารย์ที่จบวิทยาการอาหารจากอเมริกาและสอนประจำที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีจันทบุรี ด้วยแรงบันดาลใจจาก “มังคุด” ซึ่งทั้งคู่ศรัทธาและเชื่อกันว่าเป็นผลไม้เกิดในดินแดนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ! กอปรกับเชื่อว่า
วัดมเหยงค์อารามแต่ครั้งอโยธยาศรีรามเทพนคร แสดงนิมิตให้เห็น “ความสำเร็จ”
จึ่งได้รอนแรมเดินทางไปจันทบุรีเพื่อค้นหา “นวัตกรรมมังคุด” เพื่อขายทั่วไทย! 

ซึ่งให้บังเอิญว่าอาจารย์ท่านเก่งผลิตแต่ไม่เก่งตลาดและญาติเพิ่งตั้งโรงงานแต่ไม่มีคนหาและทำตลาดให้ เพื่อนผมและคุณสิรินพรรณเก่งตลาด แต่ไม่เชี่ยวชาญการผลิต ก็ขันอาสาช่วยทำตลาดให้  ส่วนอาจารย์และครอบครัวควบคุมการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพระดับ GMP, HACCP, HALAL, อย. แบ่งงานกันทำ แยกกันเดิน รวมกันตี ช่วยกันคิด ช่วยกันขาย ช่วยกันเอามังคุดที่เหลือกินเหลือใช้ราคาถูกจำนวนมากมาสร้างมูลค่าและคุณค่าใช้งานวิจัยเป็นพื้นฐานต่อยอดให้เป็นสินค้ามีคุณภาพ

ด้วยแนวคิดการตลาดที่ญี่ปุ่นเรียกว่า Value Added หรือเพิ่มมูลค่า

จากเศษมังคุดกิโลละไม่ถึงสิบบาท พอ “แปรรูป” ก็ขายได้เป็นกิโลละพันๆ บาท

คนจะรวย รวยได้ด้วยความคิดแล้วคลิกก็ตรงนี้ หาสินค้าต้นทุนต่ำ
ขายได้ราคาแพงหลายสิบเท่ากว่าต้นทุนที่มี คิดเป็นก็เห็นช่องทางรวย
เหมือน “ตัน ภาสกรนที” เอาน้ำตาลผสมสี เติมไอเดียการตลาด
คิดเป็นก็เห็นช่องทางรวย เหมือน “เจ้าสัวเจริญ เบียร์ช้าง” เอากากน้ำตาล
มาหมักทำส่าเบียร์ ผสมน้ำขาย เกิดเป็นผลิตภัณฑ์เบียร์  วางแผนซื้อสัมปทานผูกขาดช่องทางจัดจำหน่ายทั้งหมดทั่วประเทศ คิดเป็นก็เห็นทางรวย
เหมือนเจ้าสัวกระทิงแดง เอาน้ำเปล่าผสมสูตรทางเคมี เกิดเป็น Energy Drink
คิดเป็นก็เห็นทางรวย!

ปัจจัยความสำเร็จที่ใครๆ ก็สามารถลอกเลียน
และเรียนรู้
“ทำน้อยแต่ได้มาก” “การเพิ่มมูลค่า”
“การเพิ่มคุณค่า” และ “การแปรรูป”

แนวคิดเอา “มังคุด” ราคาถูกนอกเทศกาลมาแปรรูปเป็นอาหารเสริมของท่านผู้พันไพโรจน์ แล้วขายในราคาถูกกว่าอาหารเสริมอื่นๆ ที่มีส่วนผสมสมุนไพรต่างๆ ที่ ณ ตอนนั้นขายกันหลายพันบาท โฆษณากันว่าดื่มแล้วมีสรรพคุณเพื่อบำรุงหัวใจ-ตับ-ไต-ม้าม-ปอด กำลังฮิตและแพร่หลายในห้วงเวลานั้น ให้บังเอิญว่า “น้ำมังคุดสกัดผสมสมุนไพร” วางจำหน่ายในท้องตลาดของท่านผู้พัน ราคาถูกกว่าอาหารเสริมคู่แข่งอื่นๆ ในท้องตลาด แท้ที่จริงแล้ว เป็นแนวคิดคล้ายกับสินค้าต่างๆ ที่วางจำหน่ายในญี่ปุ่น

ถ้าใครมีโอกาสไปเที่ยวญี่ปุ่น จะพบว่า “เมืองฮอกไกโด” ตอนเหนือของญี่ปุ่น เป็นเมืองที่อากาศหนาวเย็นทั้งปี เป็นเมืองไม่มีอะไร ไม่มีอะไรจริงๆ

Hokkaido

บรรยากาศเมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น

แต่คนที่นั่น “จนเงินแต่ไม่จนความคิด” เบียร์ซัปโปโร ไอศกรีมซัปโปโร โรงแรมห้องเล็กๆ แต่มีครบทุกสิ่ง ออนเซ็นอาบน้ำแร่ ก็เกิดขึ้นที่นั่น มันฝรั่งออร์กานิคยี่ห้อ Potato Farm กล่องละ 200 บาทเศษ ที่ต้องเข้าคิวซื้อกันได้คนละไม่เกิน 5  กล่องต่อวัน หมดแล้วหมดเลย ขนมของฝากแพ็คเก็จจิ้งสวยงาม จำนวนน้อยแต่ขายได้ราคาแพงก็เกิดขึ้นที่นั่น ปูยักษ์และอาหารทะเลฮอกไกโดก็เกิดที่นั่น รวมถึงนมวัวฮอกไกโด เป็นต้น
PotatoFarm

SapporoBeerSeafood

และจะพบว่าเดินทางทั่วญี่ปุ่น ตั้งแต่เหนือสุดคือฮอกไกโดจนถึงใต้สุดคือ “ฟูกูโอกะ” ทั่วประเทศญี่ปุ่น ที่ SMEs ญี่ปุ่นอยู่ได้ก็ด้วยเพียงแค่แนวคิด Do less Get More ทำน้อยแต่ได้มาก ซึ่งเป็นฐานของการผสมผสานแนวคิด “การเพิ่มมูลค่า” “การเพิ่มคุณค่า” บูรณาการเข้ากับแนวคิด “การแปรรูป”

ควรทราบว่าเพื่อนผมเองได้ริเริ่มสร้างแบรนด์วางกลยุทธ์ขยายฐานการตลาดสร้างผลิตภัณฑ์น้ำมังคุดสกัดตราแซนทิพย์โกลด์จนชื่อเสียงเริ่มติดตลาด และมียอดขายเติบโตขึ้นเรื่อยๆ สวนกระแสและภาวะตลาดในปัจจุบัน

Xanthip

เป็นคนควรพยายาม จนกว่าจะประสบความสำเร็จ

ล่าสุดเพื่อนผมลาออกจากราชการทหารได้สัก ๔-๕ ปีแล้ว
และเก็บตัวเงียบๆ ออกจากวงการ สร้างเนื้อ สร้างตัว สร้างครอบครัว สร้างฐานะ จนมั่นคงเป็นปึกแผ่นสำเร็จในระดับทัดหน้าเทียมตาหรืออาจจะเรียกว่าเกินหน้าเกินตากิจการ SMEs อื่นๆ ในละแวกย่านทุ่งมะขามหย่อง พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสียด้วยซ้ำ

ปัจจัยแห่งความสำเร็จ:
“เสียง” และ “ภาพ”
รุกไปข้างหน้าด้วยกลยุทธ์ “ต้นทุนต่ำ” และ “คอนเน็คชัน”

เพื่อนผมคนนี้ใช้ “เสียง” และ “ภาพ” ทำมาหากิน เสียงคือจัดรายการวิทยุสด ทำสปอตโฆษณาวิทยุเอง ติดต่อวิทยุชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศเอง
ขณะเดียวกันก็ใช้กล้องตัวเดียวบันทึกภาพและวีดิโอของกลุ่มตัวอย่าง
ที่ดื่มและใช้สินค้าเก็บข้อมูลทุกสัปดาห์ได้กลุ่มตัวอย่างที่ใช้จริงหลายร้อยราย
ช่วยกันแนะนำบอกต่อปากต่อปาก จากตำบลสู่อำเภอ อำเภอสู่จังหวด
จังหวัดต่อจังหวัด จังหวัดต่อภาค และจากภาคสู่ภาค จนแพร่หลายไปทั่วประเทศในเวลาเพียงแค่ ๒-๓ปี

ไม่มีวุฒิ ก็ต้องรู้ลึกรู้จริงรู้กว้างรู้ไกล
แต่ถ้ามีวุฒิ ก็จะยิ่งย่นย่อระยะทางสู่ความสำเร็จได้เร็วกว่า

เพื่อนผมไม่ได้จบ MBA, DBA เหมือนคนอื่นๆ แต่มีแนวคิด MBA ที่เรียนรู้ด้วยการอ่านและลงมือเอง เพื่อนผมได้ทำวิจัยตลาด วิจัยธุรกิจ และวิจัยภาคสนามเองแบบง่ายๆ ไม่ได้ลงทุนเยอะแยะอะไรมากมาย
ขณะเดียวกันก็ใช้เครดิตในฐานะนายทหารและความน่าเชื่อถือจากการบวชเรียนเป็นประโยชน์ในการต่อยอดธุรกิจ เพราะคอนเน็คชันที่มีผนวกกับความคิดวิสัยทัศน์ธุรกิจที่ชัดเจน เน้น “ศรัทธา” ดื่มเพราะศรัทธา หายได้ก็เพราะศรัทธา ผลที่เกิดคือมีผู้ทดลองดื่มกินใช้สินค้า และเกิดการ “ซื้อซ้ำ” เป็นอันมาก

สัทธามาร์เก็ตติ้ง

หลักวิชาการตลาดของเพื่อนผม ตรงกับโมเดลหรือต้นแบบการตลาดที่ผมบัญญัติคำว่า “Saddha Marketing: สัทธามาร์เก็ตติ้ง” เพื่ออธิบายให้เห็นภาพโดยย่อ
ท่านผู้พันทำตลาดได้สำเร็จโดยท่านผู้พันใช้พลังศรัทธาเป็นแรงขับและกระตุ้น ตัวสินค้าก็มี “คุณภาพ” จริง มีสมุนไพรผสมมากมายนอกเหนือจาก “น้ำมังคุด” ซึ่งก็มีคุณภาพดีอยู่ในตัวอยู่แล้ว เมื่อผู้บริโภคศรัทธา กิน ดื่ม ใช้ ซื้อซ้ำ ซื้อประจำ ซื้อสม่ำเสมอ สินค้าก็อยู่ได้ ยอดขายก็ยั่งยืน

ริเริ่มแนวคิดเพื่อการกุศล

 

Pairote02 (Small)

ท่านผู้พันริเริ่มโครงการถวายทุนการศึกษาสามเณรผู้อุทิศตนศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลีที่วัดโมลีโลกยาราม เมื่อเดือนเมษายน ศกนี้ โดยท่านคิดคำนึงว่า สมัยเมื่อตนเองบวชเรียนใช้ชีวิตเป็นสามเณรตัวน้อยๆ ชีวิตเณรที่บวชเรียนนานๆ ในวัดไม่ใช่สามเณรภาคฤดูร้อน สถานภาพและความเป็นอยู่ในวัดไร้ที่พึ่ง อนาถา จนยาก และยากจน คนทั่วไปไม่เคยรู้ความจริงว่าเหล่าสามเณรน้อยวัดต่างๆ ชีวิตในวัดเปรียบเสมือนพลเมืองชั้น ๓

เป็นความจริงที่ต้องยอมรับกันว่าในแวดวงอารามต่างๆ พระเป็นพลเมืองชั้น ๑ คนขับรถเจ้าอาวาสเป็นพลเมืองชั้น ๒ เด็กวัดเป็นพลเมืองชั้น ๓ สามเณรเป็นพลเมืองชั้น ๔ แม่ชีเป็นพลเมืองชั้น ๕ ผมยังไม่ได้อัพเดตข้อมูล แต่ดูจากที่สังเกตด้วยสายตาจากการไปเยี่ยมเยียนวัดต่างๆ แล้วพบว่าจนถึงปัจจุบันสถานะของสามเณรทั่วไปยังคงต่ำต้อยกว่าพระ คนขับรถเจ้าอาวาส และเด็กวัด

คนขับรถเจ้าอาวาส ได้รับการดูแลอย่างดีเยี่ยม สังเกตสิว่างานพิธีต่างๆ ที่วัดต่างๆ จัดจะมีประกาศให้ดูแลคนขับรถเป็นพิเศษ เด็กวัดอยู่สบายกว่าเณร เพราะใกล้ชิดรับใช้พระมากกว่า แม่ชีสถานะต่ำต้อยที่สุด แต่เณรก็ไม่ได้ดีกว่าแม่ชี เพราะแม่ชีพอหารายได้บ้าง แต่สามเณรต่างๆ ไม่มีรายได้จริงๆ เวลาญาติโยมเตรียมถังสังฆทาน เข้าวัดก็มุ่งแต่เดินไปกุฏิเจ้าอาวาส ตั้งใจเจาะจงไปถวายเจ้าอาวาสเท่านั้น ไม่มีใครคิดถึงสามเณร ถ้าเจ้าอาวาสไม่อยู่ก็ถามหาพระ ไม่เคยมีใครคิดทำบุญกับเณร เพราะติดกับค่านิยมและความเชื่อผิดๆ ที่

เขาบอกว่า “ทำบุญกับพระได้บุญมากที่สุดเพราะพระรักษาศีล ๒๗๗”
เขาบอกว่า “ทำบุญกับเณรได้บุญน้อยเพราะเณรรักษาเพียงแค่ศีล ๑๐”
เขาบอกว่า “ฆ่าแมว ๑ ตัวบาปเท่ากับฆ่าเณร ๑ รูป”
อนิจจาเพราะเขาบอกว่า…ชีวิตสามเณรจึงมีค่าเทียบเท่ากับ
ชีวิตแมวเพียงแค่ ๑ ตัว

ชีวิตของแม่ชีก็น่าสงสารเช่นกันว่างๆ ผมว่าจะวิจัยเชิงคุณภาพและปริมาณ ชีวิตของสามเณรและแม่ชี เพื่อเสนอกระทรวงที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายสามเณรและแม่ชีทั้งประเทศ


ว่ากันเฉพาะแม่ชี ที่ว่าน่าสงสารเพราะสถานภาพไม่ชัดเจนเหมือนพระสงฆ์สามเณร
จะขึ้นรถลงเรือไปไหนต่อไหนก็ยังคงมีสถานภาพ
เหมือนคนธรรมดา หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องน่าเข้ามาช่วยเหลือเรื่องสถานภาพ “นักบวช” ในแง่ของกฎหมายของแม่ชีให้ทัดเทียมกับพระสงฆ์และสามเณร เพราะชีวิตแม่ชีวัดต่างๆ นั้น ลำบากลำบนกันเหลือเกิน ยกเว้นแม่ชีทศพร แม่ชีบงกช และแม่ชีศันสนีย์ ท่านเหล่านี้มากด้วยวาสนาและบารมี ซึ่งกฎทุกกฎย่อมมีข้อยกเว้นเสมอ 

ก็ไม่รู้ว่าที่ “เขาบอกว่า…” ใครบอก? บอกเมื่อไร? บอกที่ไหน? บอกอย่างไร? ความเชื่อผิดๆ เช่นนี้ ต้องช่วยกันรณรงค์และลบล้างออกจากสังคมไทย
ราะในความเป็นจริง ผู้ที่จะบวชอยู่นานจนเป็นเจ้าอาวาส เป็นพระผู้ใหญ่ เป็นสังฆราช เป็นศาสนทายาทตัวจริง สืบทอดอายุบวรพระพุทธศาสนา และเป็นกำลังสังคมทางเศรษฐกิจและสังคมในวันหน้า ส่วนมากก็ล้วนบวชเรียนมาตั้งแต่ยังเป็น “สามเณร” กันทั้งนั้น

 

ด้วยความคิดริเริ่มของท่านผู้พัน สามเณรส่วนหนึ่งที่บวชเรียนระยะยาวในสำนักเรียนวัดโมลีโลกยารามประมาณ ๖๐ รูปจาก ๒๐๐ รูปเศษ ก็พอมี “เงิน” ติดย่าม ประสาเด็กตัวเล็กๆ เก็บไว้เพื่อซื้อสิ่งจำเป็นที่ญาติโยมไม่ใส่บาตร อาทิ สมุด ดินสอ ตำราประกอบการเรียน ปากกา ยางลบ อังสะ สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยาสระผม มีดโกน ขนม น้ำหวาน นม น้ำตาล ฯลฯ ที่ญาติโยมมิเคยใส่บาตรกัน แต่โครงการนี้ดำริและทดลองทำกันเพียงแค่ปีเดียว หลังจากนั้น ไม่แน่ใจว่าจะยังคงมีต่อไปอีกหรือไม่? เพราะเท่าที่เห็นถ้ายังเป็นเช่นนี้ จะต่อเนื่องและจริงจังก็คงยากที่จะจีรังยั่งยืน

ผมมีเสียงสะท้อนจากญาติโยมต่างๆ ที่ชักชวนให้ไปทำบุญกับท่านผู้พันสรุปเป็นข้อเสนอแนะผ่านสื่อโซเชียลมีเดียถึงท่านไพโรจน์ฯ ผ่านไปถึงท่านเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยารามโดยตรง ฟังแล้วก็เก็บไปคิด เก็บไปปรับปรุงกันเอาเองว่า ท่านเจ้าอาวาสเองต้องวางแผนกลยุทธ์สื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์ใหม่ จะลอกเลียนและเลียนรู้จากท่านเจ้าคุณสุวิทย์ ฯ วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษกหรือวัดพระธรรมกาย หรือแม้กระทั่งจากท่านเจ้าคุณริดฯ วัดตากฟ้า นครสวรรค์ หรืออาจไปดูงานกิจกรรมเด็กกำพร้าวัดสระแก้วจังหวัดอ่างทองของท่าน ดร. พระมหาไพเราะ ก็ได้
เพราะเสียงสะท้อนจากคนรอบตัวผมที่แนะนำให้ไปทำบุญ เขาไปกันครั้งเดียวก็หายวับ ไม่ไปกันซ้ำๆ อีก แม้จะบอกบุญกันไปหลายทิศทาง สียงบ่นปนตำหนิกันลับหลังว่าท่านเจ้าอาวาสขาดปฏิสันถาร สามเณรต่างๆ ก็เฉยเมย เย็นชากับญาติโยม ไม่มีน้ำดื่ม  ไม่มีมธุรสวาจาต้อนรับขับสู้ญาติโยม แม้ว่าจะบริหารการศึกษาได้ดี แต่ถ้าขาดการจัดการวัด และขาดการจัดการ “สามเณร” ให้มีภาพลักษณ์ที่ออกมาดูดี และขาดการปฏิสันถารกับญาติโยมทั้งวาจา สถานที่ต้อนรับแขกเหรื่อญาติโยม  น้ำร้อน น้ำเย็น ที่นั่งเย็นอกเย็นใจ คำพูดรื่นหูสบายอกสบายใจ ก็เกรงว่าจะเหน็ดเหนื่อยกันอีกนาน เพราะวัดกับบ้านต้องผลัดกันช่วยจึงจะอวยชัย… ก็ฝากท่านไพโรจน์ไปบอกท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสแทน หวังว่าคราวต่อไปเมื่อได้ไปเยี่ยมไปเยือน คงได้เห็นภาพลักษณ์ที่ดูดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ว่างๆ นิมนต์ให้บินไปดูงานของท่านเจ้าคุณพระเทพโพธิวิเทศ วัดไทยพุทธคยา และวัดในเครือต่างๆ ตั้งแต่วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ วัดไทยเชตวัน
รวมถึงวัดไทยลุมพินีดูก็ได้ ว่าท่านบริหารจัดการพระที่เป็นทีมงานให้ดูแลญาติโยมครบครันทั้ง “อู่ข้าว” “อู่น้ำ” “อู่ยา” และ “อู่นอน” อย่างไร จึงเรียก “พลังศรัทธา” ญาติโยมให้หลั่งไหลไปทำบุญกันมากมายมหาศาลทุกทิศทาง มืดฟ้ามัวดิน ทั้งที่ไกลแสนไกล 

เขียนเพื่อให้ท่านเจ้าอาวาส ฉุกคิด จะได้มีเวลาว่างมา “ปรับปรุง” และ “พัฒนา” สำนักเรียนให้ดีขึ้น ยึดหลัก “ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ทำวันพรุ่งนี้ให้ดีกว่าวันนี้” มิใช่ “ยอเพื่อทำลาย” หรือมีอคติใดๆ แอบแฝง อยากเห็นวัดท่านเจริญรุดหน้าไปรวดเร็วยิ่งกว่านี้ ก็เลยบอกผ่าน
โซเชียลมีเดียนี่แหละ ไม่ต้องบอกด้วยวาจาสองต่อสอง ถึงเจอหน้าก็จะบอกเช่นกัน ถ้าไม่ลืม…ไม่ใช่เอาแต่สอนปล่อยให้ญาติโยมไปยืนคอยให้เสียเวลา เพราะแต่ละคนที่ตั้งใจไปหา  “เวลา” ต่างก็มีค่าด้วยกันทั้งนั้น ถ้ามิใช่เพราะมีจิตศรัทธา ผมเชื่อว่าก็คงไม่มีใครอยากเอาเงินไปบริจาคเอาไปทำบุญ เพราะเงินทองเป็นของหายาก

ตาดูดาว เท้าติดดิน วิถีของผู้พันคนกล้า

ท่านผู้พัน จากนายทหารรับราชการ ข้าราชการผู้ทรงเกียรติ มีชุดเขียว และชุดขาวองอาจ งามสง่า จากที่เคยมียศมีศักดิ์มีตำแหน่งมีหน้าที่การงานระดับสูง มีพลทหารรับใช้เป็นบริวาร จากที่เคยมีดาวและมงกุฏบนบ่าอันโก้เก๋ วันนี้ท่านทิ้งทุกอย่าง กลับเป็น “นาย” เป็นสามัญชน คนเดินดิน ติดดิน กลายเป็นคนธรรมดา ลดสถานะเป็นเพียงแค่นักธุรกิจ SMEs ยอดขายน่าจะแตะหลักร้อยล้านบาทแล้วและกิจการน่าจะได้เข้าตลาดหลักทรัพย์โดยเป็นไปตามแผนและเป้าหมายที่ท่านวางเอาไว้และก็มีวิถีชีวิตวิถีทางที่กำลังรุ่งเรืองก้าวหน้าด้วยบุญกุศลหนุนนำ

 

ต้นแบบธุรกิจสมัยใหม่ : การเป็นผู้ประกอบการสังคม
Social Entrepreneurship

ชีวิตท่านผู้พันเป็นตัวอย่างเป็นแบบอย่างและน่าที่จะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับชาวMBA และ SMEs ทุกท่านที่มีโอกาสได้แวะเข้ามาอ่าน
นอกจากผู้พัน KFC ที่อเมริกาแล้ว ท่านผู้พันไพโรจน์เราก็น่าจะมีวิถีชีวิตใกล้เคียงกันเพราะเริ่มต้นบุกเบิกทำธุรกิจเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อตอนอายุเฉียด ๕๐ หรือย่างเข้าสู่ปัจฉิมวัย แต่ก็ยังทำจนสำเร็จเป็นผลงานเป็นรูปธรรมได้ ก็เพราะสู้ไม่ท้อ
เดินหน้าไม่ถอย รุกคืบมุ่งที่จะชนะเท่านั้น !
แน่นอนว่ากว่าจะถึงวันนี้ท่านผู้พันเราเองก็เคยล้มเคยลุกหลายครั้งหลายคราวด้วยกัน
แต่ที่สำเร็จได้ก็เพราะใจสู้!

ท่านเคยเล่าส่วนตัวกับผมว่าได้เคยพบเคยผ่านเคยท้อแท้ชีวิต
ทุกข์ระทมหนี้บ้างดอกบ้างเหมือนผู้ประกอบการทั่วไป
แต่เพราะว่าท้อได้แต่ไม่ถอยวันนี้ท่านผู้พันจึงสามารถล้างหนี้สินและเป็นไทประสพผลสำเร็จจนได้ในท้ายที่สุด

ชีวิตของท่านผู้พัน แวบหนึ่งของห้วงความคิด ผมคิดถึงคำว่า
เป็นไปไม่ได้…กับ…ฉันจะต้องเป็นให้ได้
The Impossiple vs I’mPossible
คนที่ทำอะไรแล้วล้มเหลวส่วนมากชอบคิดว่าไม่มีทางสำเร็จและเป็นไปไม่ได้
คนที่สำเร็จ มีผลงาน มักจะคิดเสมอว่าวิกฤตคือโอกาสไม่มีอะไรที่จะเป็นไปไม่ได้

ผมถึงย้ำทุกครั้งที่สอนคอร์สการจัดการการตลาดระหว่างประเทศและกลยุทธ์ รวมถึงนวัตกรรมธุรกิจ SMEs มหาวิทยาลัยต่างๆ
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่
เชิญผมไปสอนว่า “จนเงินแต่อย่าจนความคิด”

ลองเปรียบเทียบเล่นๆ คำถามที่พบบ่อย (FAQ) ระหว่างกิจการไทยกับญี่ปุ่นที่ผมเป็นที่ปรึกษา
กิจการไทย
FAQ คนไทยจะชอบพูดกันว่า “ไม่มีเงินๆ”
กิจการญี่ปุ่น
FAQ ญี่ปุ่น
“เราไม่เคยคิดจะกู้แบงก์เลย ขอคำปรึกษาหน่อย เราจะเตรียมการ เตรียมคน เตรียมพร้อม เตรียมตลาดใน ๒-๓ ปี ข้างหน้าได้อย่างไร?”
นี่ยกตัวอย่างเล่นๆ เอาเฉพาะแค่ไทยกับญี่ปุ่น

ดังนั้น ฝากเป็นแง่คิดว่า
“อย่าคิดว่าเงินๆๆๆ
เท่านั้นถึงจะทำการใหญ่ได้ คนที่กล้าคิดใหญ่กล้าฝันใหญ่กล้านำใหญ่
กล้าทำใหญ่และกล้าเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่…นั่นต่างหากที่จะทำการที่ยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ มิใช่เพียงแค่เพราะมีเงินก้อนใหญ่ก้อนโตวางกองและลอยอยู่ตรงหน้า”
วันนี้ท่านผู้พันไพโรจน์มีกิจการใหญ่โตที่อยุธยามีนางแก้วเคียงข้างมีเบนซ์ทะเบียนสวยขับมีบ้านอยู่หลายหลังทั้งส่วนตัวและบริวารพร้อมสรรพ
รวมถึงมีแมวโคราชน่ารัก มาเกิดเป็นลูกๆ ห้อมล้อมเป็นสัตว์แก้ว
คอยเคล้าคลอเคลียผู้เป็นพ่อให้คลายเหงาและผ่อนคลายจากการงานที่หนักและเหนื่อยเมื่อยและล้า

Last but not Least

ปัจฉิมบท
บทสรุปผู้บริหาร

อ่านถึงตรงนี้แล้วจงเชื่อโดยไร้ข้อกังขาว่า
ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยบุญคือทานศีลและภาวนา
ท่านไพโรจน์ต้องตื่นแต่ดึกหุงข้าวทำอาหารถวายพระวัดป่าด้วยตนเอง
แต่รุ่งสางท่านทำประจำทุกวันถ้าอยู่ที่อยุธยา
เพราะศรัทธาและเชื่อว่าปรุงอาหาร
ถวายพระด้วยสองมือตนเองเท่านั้นจึงจะได้บุญกุศลมากมายมหาศาล
รวมถึงถวายปัจจัยและไทยธรรมตามสมควรแก่วัดวาอารามและกิจการการกุศลต่างๆ
ทั่วประเทศ ทำประจำ ทำสม่ำเสมอ ทำทุกครั้งที่มีโอกาส และทำไม่เคยขาด

ผมขอเสริมเพิ่มเติมนิดเดียวว่า….
ทานอย่างเดียวก็ไม่รวยต้องมีศีลเป็นตัวรุกและภาวนาหนุนนำเท่านั้น
จึงจะประสบความสำเร็จ รวยจีรังและยั่งยืนอย่างที่คิด

สำคัญที่สุด ท่านต้อง “จริง” จริงจังและจริงใจกับทุกๆ ความคิด
คำพูด และการกระทำ อย่าให้ข้อใดข้อหนึ่งขัดแย้งกัน
ระหว่างตนเองและผู้มีส่วนได้เสียรอบตัว ทั้งคนรอบตัว คู่ค้า ลูกค้า

ดังจารึกเสาอโศกมหาราชที่ระบุว่า
สตฺยเมว ชยเต แปลว่า ความจริงเท่านั้น ย่อมชนะทุกสรรพสิ่ง

คนจริงทั้งความคิดคำพูดและการกระทำที่จริงสอดคล้องกันเท่านั้น
จึงจะพบหนทางและทีมที่นำพาไปสู่วิถีที่จะประสบความสำเร็จ
ใครที่ท้อแท้ เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า รู้สึกหดหู่และสิ้นหวัง

ผู้ที่มีโอกาสได้อ่านชีวิตและงานของท่านผู้พันแล้ว จะรู้สึกคล้ายๆ กันว่า…
คนเราลงว่าจนเงินแต่ไม่จนความคิดท้ายที่สุด
เมื่อใจจ่อจดแน่แน่วไม่แปรผันก็จะสำเร็จและได้ทุกสรรพสิ่งดั่งที่ใจคิด

ศาสตราจารย์ ดร. อุทิส ศิริวรรณ
ประธานบริหารโครงการปริญญาเอก
Dual PhD & DBA Program in Business Administration
Charisma University, Turks and Caicos, UK  &
Apollos University, California, USA

อาจารย์สอนและประธานกรรมการสอบวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท
โครงการปริญญาโท MM in SMEs
คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา
บางแสน ชลบุรี

เขียนที่กรุงเทพมหานครตอนเหนือ
ปทุมธานีตอนล่าง
๗ ธันวาคม ๒๕๕๘

 

Comments

comments