183. สวนหิน โชกุน นครเกียวโต

Chiangmaidhurakij.logo

คอลัมน์  How to Win

สวนหิน โชกุน นครเกียวโต

 

ศาสตราจารย์  ดร. อุทิส  ศิริวรรณ

19 พฤศจิกายน 2557

“先んずれば人を制す  “เริ่มก่อน ได้เปรียบผู้อื่น”

สุภาษิตญี่ปุ่น
IMG_1119 (Small)

สถานที่ซึ่งผมรู้สึกประทับใจ อยากกลับไปเยือนอีกครั้งคือสวนหินแห่งวัดเรียวอันจิ วัดพุทธ นิกายเซน สายรินไซ นครเกียวโต

               วัดนี้สร้างแต่เมื่อปี พ.ศ. 1993 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งทรงฝากผลงานไว้หลายเรื่อง อาทิ ศักดินา มหาชาติคำหลวง ลิลิตพระลอ  รวมถึงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านและกำนัน ก็เกิดในยุคนี้
และตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช พระมหากษัตริย์ล้านนาแห่งราชวงศ์มังรายพระองค์ที่ 9 พระโอรสองค์ที่ 6 ในพญาสามฝั่งแกน
ผลงานที่โด่งดังของพระองค์ท่านคือการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลกในปี 2020 ที่วัดเจ็ดยอด และการแผ่พระบรมเดชานุภาพขยายอาณาจักรออกไปถึงจีน พม่า ลาว และสยามประเทศบางส่วน
ทรงได้รับยกย่องจากสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง เป็นมหาราชแห่งล้านนาที่น่าสนใจ

วัดเรียวอันจิ เกียวโต เป็นวัดของ “โชกุนคัตสุโมโตะ” ซึ่งโชกุนแปลว่า แม่ทัพใหญ่ผู้ปราบคนเถื่อน
สวนหินที่วัดนี้ เปรียบได้กับผลงานศิลปะที่มีชีวิต เต็มไปด้วย หิน ต้นไม้และพืชต่างๆที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาอยู่ตลอด ทำให้ไม่แน่นอน ไม่มีที่สิ้นสุดและสมบูรณ์
สวนจะงามได้หรือไม่อยู่ที่ฝีมือของผู้บำรุงรักษา ที่เข้าใจพื้นฐานลักษณะของสวน มีใจรักและเข้าใจในปรัชญาเซนด้วย
ความหมายของสวนเซนแห่งนี้ยังคงเป็นสิ่งที่คลุมเครือ ไม่มีใครรู้ความหมายที่แท้จริง บนพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 248 ตารางเมตรแห่งนี้ ประกอบไปด้วยกลุ่มหินที่ถูกว่างไว้อย่างตั้งใจและสมดุลรวมทั้งหมด 15 ก้อน
เชื่อกันมานมนานว่าผู้ที่สามารถมองเห็นก้อนหินทั้งหมด 15 ก้อนได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่บรรลุฌาณชั้นสูงสุดเท่านั้น
ถ้านั่งนับดูจะเห็นว่ามีหินเรียงกันอยู่เพียงแค่ 14 ก้อน น่าทึ่งกับระบบคิดของคนที่นี่ คิดกันได้ยังไง!

IMG_1095 (Small)

 

ปรัชญาหินว่ามี 14 หรือ 15 ก้อน เป็นเรื่องตื่นเต้น สนุกสนาน สำหรับนักท่องเที่ยวที่ค้นหาคำตอบ เพราะแต่ละคนที่นับหิน พยายามถ่ายรูปให้ครบ ส่วนใหญ่นับหรือถ่ายได้ไม่ครบ เพราะศิลปะการจัดวาง

ทำให้กองหิน คล้ายดั่งชีวิตคน ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ขาดบ้าง เกินบ้าง ดีชั่วบ้าง ไม่เต็มร้อย
มรดกโลกชิ้นนี้ ใช้พื้นที่เพียงแค่ 200 ตารางเมตรเศษ ไม่ได้ใหญ่โตมโหฬารเหมือนเมืองเก่าอยุธยา
ได้แง่คิดว่า “คนเราทำงานเล็กแต่ขอให้มีคุณภาพ”  การทำงานใดๆ ในชีวิต ขอให้เริ่มด้วยใจ ทำจากใจ กลั่นจากหัวใจ เริ่มจากงานชิ้นเล็กๆ แต่ขอให้ประณีต มากด้วยฝีมือและคุณภาพ
เรื่องราวของโชกุน และนครเกียวโต ยังมีอีกหลายแง่มุมน่าสนใจ ย้อนกลับไปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เกียวโต เป็นหนึ่งในเมืองเป้าหมายทิ้งระเบิดให้ย่อยยับ แต่รอดพ้นภัยสงครามมาได้ ด้วยเหตุผลว่า
คณะเสนาธิการทหารสหรัฐอเมริกา เล็งเห็นถึงความสำคัญของมรดกโลกต่างๆ ก็เลยเปลี่ยนเป้าไปทิ้งปรมาณูลงที่ฮิโรชิมา และ นางาซากิ ซึ่งมีความสำคัญน้อยกว่า ในแง่ของวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์
ระหว่างทาง แวะชิมร้านกาแฟ และขนมปังปิ้งเล็กๆ ที่เปิดไว้รองรับกิจการเนคไทสไตล์ญี่ปุ่น สินค้า Made in Japan ราคาหลักร้อยไม่แพงเวอร์เหมือนอิตาลี คุณภาพการออกแบบเนี้ยบเกียวโตอัตลักษณ์
แง่คิดจากเกียวโต… กลยุทธ์ที่ส่งผลให้ประสบความสำเร็จ เกิดจากการริเริ่มทำงานเล็ก ทำแต่พอดี ทำตามที่ตนเองถนัด ทำเท่าที่มีเงิน ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน จะทำได้ดีกว่าทำงานใหญ่แต่มากคนมากความครับ

 

Comments

comments