48. การสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธี

การสร้างตัวสร้างฐานะตามพุทธวิธี
ที่มา: http://main.dou.us/view_content.php?s_id=210&page=6

พอดีเห็นตำราวิชาการดีๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมกายแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย
อ่านดูแล้ว น่าจะเป็นแง่คิด ที่ดี สำหรับคนที่กำลังสร้างฐานะ  สร้างเนื้อสร้างตัว จะได้นำไปใช้เป็น “หลักคิด” และ “หลักทำ”
1.3.3 ความรวยเป็นคุณูปการให้สร้างบุญได้ง่าย
ความรวย หมายถึง การมีทรัพย์
ความรวย มี 2 ประเภท คือ
1) ความรวยทางโลก เรียกว่า “โลกียทรัพย์” คือ การมีทรัพย์สิน เงินทอง  สมบัติพัสถานมากมายและมีความสามารถใช้จ่ายทรัพย์นั้นได้อย่างมีความสุข
2) ความรวยทางธรรม เรียกว่า “อริยทรัพย์” มี 7 ประการ ได้แก่
1. ศรัทธา คือ เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
2. ศีล คือ การรักษากายวาจาใจให้เรียบร้อย
3. หิริ คือ ความละอายต่อการทำบาป
4. โอตตัปปะ คือความเกรงกลัวต่อการทำบาป
5. สุตะ คือ การสดับตรับฟังธรรม
6. จาคะ คือ ความเสียสละ
7. ปัญญา คือ ความรอบรู้
ความรวยจึงมิใช่สิ่งเลวร้าย เลวทรามแต่อย่างใด แต่เป็นความสุข ความปลื้มใจ เป็นลาภอันประเสริฐ ผู้ที่ปรารถนาความรวยสมควรที่จะวางเป้าหมายไว้ที่การแสวงหาทั้งโลกียทรัพย์ และอริยทรัพย์มาไว้เป็นของตน
ประเด็นที่ต้องคิดเมื่อบุคคลใดตัดสินใจว่าจะเป็นคนรวย คือ 1) รวยด้วยวิธีการอย่างไร 2) รวยแล้วได้อะไร 3) รวยแล้วจะทำอะไร เพราะหากหาคำตอบที่ถูกไม่ได้ ความรวยนั้น จะนำพาความเดือดร้อนมาให้ในภายหลัง
ในทางพุทธศาสนาสอนไว้ว่า ความรวย หรือทรัพย์ที่ตนเองมีนั้น มีไว้เพื่อประโยชน์แก่บุคคลต่างๆ คือ
1) เลี้ยงตนให้เป็นสุข
2) เลี้ยงบิดามารดาให้เป็นสุข
3) เลี้ยงบุตรภรรยา คนใช้ และบริวารให้เป็นสุข
4) เลี้ยงมิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุข
5) บำเพ็ญทิกษิณาทานในสมณพราหมณ์
นั่นก็หมายความว่า เรายิ่งมีทรัพย์มากเท่าไหร่ เรายิ่งสามารถใช้ทรัพย์ทำประโยชน์ทั้ง 5 ประการนี้ ได้มากเท่านั้น ผลที่ได้รับจากใช้ทรัพย์เช่นนี้ ย่อมทำให้เราได้ผลบุญมากไปด้วย

บุญคืออะไร ?
บุญ คือ ธรรมชาติบริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นในใจทุกครั้งเมื่อได้ทำความดี ละเว้นความชั่ว กลั่นใจให้ผ่องใส มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถสั่งสมได้ กลั่นกาย วาจา ใจให้บริสุทธิ์ได้ นำติดตัวข้ามภพข้ามชาติไปได้และมีอานุภาพกำจัดทุกข์และบันดาลความสุขให้แก่ ชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้อย่างอัศจรรย์

บุญมีความสำคัญอย่างไร ?
ในการสร้างตัวสร้างฐานะให้ร่ำรวยนั้น มักมีผู้เข้าใจผิดว่า ความรวยนั้นเกิดจากการอาศัยหนึ่งสมองสองมือเป็นหลัก แต่แท้จริงแล้วหาใช่เพียงแค่นั้นไม่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้ว่า เบื้องหลังความสำเร็จทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ใช่มีแค่หนึ่งสมองสองมือ แต่ต้องมีบุญที่ตนเคยทำไว้ด้วย เพราะถึงแม้จะทุ่มเทพยายามสร้างความรวยด้วยหนึ่งสมองสองมือแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีบุญมาก่อนย่อมยากจะทำได้สำเร็จหรือบางครั้งทำได้สำเร็จ แต่ตนก็กลับไม่ได้เป็นผู้ใช้ทรัพย์ที่เกิดจากความร่ำรวยนั้น ดังพุทธพจน์ที่พระองค์ตรัสสอนไว้ใน สิริชาดก ว่า
“ผู้ไม่มีบุญจะเป็นผู้มีศิลปะหรือไม่มีศิลปะก็ตาม ย่อมขวนขวายรวบรวมทรัพย์ ใดไว้เป็นอันมาก ผู้มีบุญย่อมใช้สอยทรัพย์เหล่านั้น โภคะเป็นอันมากย่อมล่วงเลย สัตว์เหล่าอื่นไปเสีย เกิดขึ้นในที่ทั้งปวงแก่ผู้มีบุญอันได้กระทำไว้แล้ว ใช่แต่เท่านั้น รัตนะทั้งหลายยังเกิดขึ้นแม้ในที่อันมิใช่บ่อเกิด”
พุทธพจน์บทนี้ ได้ส่องให้เห็นถึงความสำคัญของการมีบุญไว้อย่างชัดเจนว่า
1) สมบัติทั้งหลายในโลกนี้เป็นของกลาง ผลัดกันใช้ ผลัดกันชม ผลัดกันเป็นเจ้าของผู้มีบุญเท่านั้นที่เป็นผู้ได้ใช้ทรัพย์ แม้ตนเองจะไม่ใช่เป็นผู้ที่หาทรัพย์นั้นไว้ก็ตาม แต่ก็จะมีเหตุอันชอบธรรมที่บันดาลให้ตนได้ใช้ทรัพย์ที่เกิดขึ้นด้วยกำลังของ บุญที่ตนทำไว้ดีแล้วในอดีตตามมา ส่งผล
2) ผู้มีบุญไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใด ทรัพย์ทั้งหลายย่อมติดตามไปเกิดในที่นั้นด้วย เพื่อให้ผู้มีบุญได้ใช้สอย
3) บุคคลมีทรัพย์เกิดขึ้นได้ก็เพราะบุญ ได้ใช้ทรัพย์ก็เพราะบุญ และปราศจากทรัพย์ก็เพราะไม่มีบุญ เราจึงต้องหมั่นสั่งสมบุญตลอดชีวิต และห้ามขาดแม้แต่วันเดียว

บุญมีประโยชน์อย่างไร ?
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสถึงประโยชน์ของบุญไว้มากมายหลายประการ ดังปรากฏใน สิริชาดก ว่า
“ความเป็นผู้มีผิวพรรณงาม ความเป็นผู้มีเสียงไพเราะ ความเป็นผู้มีทรวดทรงงาม ความเป็นผู้มีรูปสวย ความเป็นอธิบดี ความเป็นผู้มีบริวาร ผลทั้งหมดนี้ อันเทวดาและมนุษย์ ย่อมได้ด้วยขุมทรัพย์คือบุญนี้
ความเป็นเจ้าประเทศราช ความเป็นผู้มีอิสริยยศ ความสุขของพระเจ้าจักรพรรดิอันเป็นที่รัก ความเป็นราชาแห่งเทวดาในเทวโลก ผลทั้งหมดนี้อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วย ขุมทรัพย์คือบุญนี้
สมบัติอันเป็นของมนุษย์ ความรื่นรมย์ยินดีในเทวโลก นิพพานสมบัติ ผลทั้งหมดนี้ อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยขุมทรัพย์คือบุญนี้”
พุทธพจน์ที่ยกอ้างมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้ชาวพุทธรู้ว่า ประโยชน์สุขทั้งหมดของทุกชีวิตในวัฏสงสารนี้ เกิดขึ้นเพราะการมีบุญ หากปราศจากบุญแล้ว ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นแก่ตนตลอดกาล

ทำอย่างไรจึงจะมีบุญ ?
การที่ใครจะได้เป็นผู้มีบุญนั้น มีเงื่อนไขเดียวคือตนเองต้องเป็นผู้สั่งสมบุญด้วยตนเอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสนับสนุนให้ทุกคนเป็นผู้มีบุญ ดังปรากฏใน ปุญญกิริยาวัตถุสูตร ว่า
“กุลบุตรผู้ใคร่ประโยชน์ พึงศึกษาบุญนั่นแลอันสูงสุดต่อไป ซึ่งมีสุขเป็นกำไร คือ พึงเจริญทาน มีความประพฤติสงบ มีเมตตาจิต บัณฑิตครั้นเจริญธรรม 3 ประการอันเป็นเหตุเกิดแห่งความสุขเหล่านี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข”
พุทธพจน์บทนี้ หมายความว่า บุญทั้งหลายเกิดจากการให้ทาน การรักษาศีล และการทำภาวนาด้วยตนเองทั้งสิ้น ผู้ประสงค์บุญ พึงทำบุญด้วย 3 วิธีนี้เท่านั้น เพราะการกระทำอื่น  ย่อมไม่ใช่หนทางที่ทำให้เกิดบุญ ดังนั้น ผู้ที่ต้องการเป็นผู้มีบุญ พึงศึกษาวิธีการทำบุญทั้ง 3 ประการนี้ ให้ถูกต้อง ประณีต ละเอียดรอบคอบ เมื่อลงมือทำบุญย่อมได้รับผลบุญมาก ไม่หกไม่หล่นไปในระหว่างการทำบุญ
โดยสรุป ก็คือ บุคคลรวยทรัพย์ในทางโลกได้เพราะการทำบุญไว้ดีแล้วในอดีตชาติ ผู้ที่ฉลาดในการดำเนินชีวิต พึงทำบุญในปัจจุบันไว้ล่วงหน้า เพราะบุญเป็นมิตรแท้และเป็นเสบียง ของผู้ที่เดินทางไกลในวัฏสงสาร ย่อมดลบันดาลไม่ให้ไปเกิดในที่ชั่ว ได้เกิดในถิ่นที่เหมาะสมต่อการสร้างบุญบารมีได้เต็มที่อย่างยิ่งๆ ขึ้นไปในทุกภพทุกชาติ เป็นเหตุให้สามารถต่อยอดความดีที่สั่งสมไว้ในแต่ละชาติอย่างต่อเนื่องจน กระทั่งเต็มเปี่ยมบริบูรณ์บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ในที่สุด เป็นอันว่าได้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป

Comments

comments