28. 4Ps ยังเปลี่ยนไป คุณเป็นใครไม่เปลี่ยนแปลง

4Ps ยังเปลี่ยนไป คุณเป็นใคร ไม่เปลี่ยนแปลง?

ฉบับ PDF File  คลิกอ่านได้ที่นี่

ศ. ดร. อุทิส ศิริวรรณ
ปรับปรุงเมื่อ  ๙ กรกฎาคม ๒๕๕๕

บทความนี้ ตีพิมพ์เผยแพร่ในคอลัมน์
Global Marketing Update
Digital Magazine
ผู้ใช้ Galaxy Tab
ดาวน์โหลด App ได้ที่
Appsolutebiz

ผู้อ่านทุกท่านครับ ถึงปี พ.ศ. นี้ เลข 5 เรียงกันถึง 3 ตัว

จะอย่างไรก็แล้วแต่ หลักสากล และเป็นสัจธรรมคือ “ใดๆ ในล้วนอนิจจัง”

จากนิจนิรันดร์ เป็นอนิจจังไม่ยั่งยืน ทุกสรรพสิ่งผันแปรไปตามวันและเวลา

กฎ “อนิจจัง” ยังเป็นสิ่งที่ “การตลาด” เปลี่ยนแปลงไม่สำเร็จ

แต่ส่วนใหญ่ แนวคิดการจัดการ และแนวคิดการตลาด ก็พัฒนา และปรับเปลี่ยนตามพฤติกรรมของคน

ผมสอนวิชาการจัดการการตลาดมายาวนาน

ทั้งสอน ทั้งทำวิจัย ทั้งทำโครงการ ยินดี และดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งของ “Appsolutebiz”  เราจะโตไปด้วยกัน

นับถึงปี พ.ศ. นี้ ก็เกิน 1 ทศวรรษที่อยู่ในแวดวงวิชาการด้าน “บริหารธุรกิจ”

นอกจากจะสอนประจำในอเมริกา จนบินกลับมาสอนในเมืองไทย แล้วบินกลับไปสอนที่อเมริกาอีกรอบ

ด้วยโชคชะตาฟ้าลิขิตก็ยังมีเหตุต้องบินกลับมาสอนเมืองไทยอีกครั้ง แต่สุดท้ายก็บินมาปักหลักสอนหนังสือประจำที่รัฐโคโลราโด

ทุกวันนี้ ก็รับเชิญ บินกลับมาสอนเมืองไทยบ้าง 1-2 วิชาในหลักสูตรปริญญาโท MM in SMEs คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน ชลบุรี

บอกเล่าเก้าสิบ เพื่ออัพเดตข้อมูลว่า วันดีคืนดี โลกออนไลน์มา วิถีชีวิตอาจารย์ก็เปลี่ยน

สามารถเป็นอาจารย์ออนไลน์ได้ ไม่ต้องบินไปเฝ้าตึก เฝ้าคณะประจำถึงรัฐโคโลราโด!!!

เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยฝรั่ง ข้อดีชีวิตมีอิสระ เสรี สามารถบินไปทำงานที่ไหนก็ได้ ตรวจงานนักศึกษาที่ไหนก็ได้

พบนักศึกษาให้คำปรึกษาการทำวิจัย ทำหัวข้อวิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์ ที่ไหนก็ได้ในโลก

นี่คือสิ่งที่ได้พบ ได้เห็น ได้สัมผัส

วันนี้ “โลกแบน” แบนราบแล้วจริงๆ นับแต่เกิด World Wide Web (www.)

เกิดปรากฏการณ์ Microsoft Office

เกิด Internet Explorer

กระทั่งเกิด 9/11

เกิด IPhone Samsung Galaxy Tab

เกิด Cable TV แทนที่ Free TV

ชีวิตผม “เฮง” ตรงที่มีโอกาสได้ใช้วิชาความรู้หลังเรียนจบสอนมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ได้มีโอกาสบินไปสอนมหาวิทยาลัยในเครือข่ายทั้งที่รัฐแคลิฟอร์เนีย และที่ประเทศจีน

อีกด้านหนึ่งของเหรียญ ก็ได้ทำงานกับบริษัทระดับต่างๆ ตั้งแต่ SMEs จนถึง Public Company

สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ จีน อินเดีย ฮ่องกง สวิส ฯลฯ นับเป็นโชควาสนาอย่างยิ่ง

ห้วงหนึ่งของชีวิต ถือว่ามีโชคที่ได้ทำงานคลุกคลีกับผู้ประกอบการ SMEs

จนถึงทุกวันนี้ก็ทำงานช่วยกิจการ SMEs ในไทยที่หลากหลาย

โดยเฉพาะโครงการต่างๆ เกี่ยวกับ “การตลาดระดับโลก”

สิ่งที่ผมได้พบ ได้เห็นจนสรุปสั้นๆ จากการตลาดภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติคือ

แนวโน้มและกระแสหลักการทำตลาด 4Ps ทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงแล้วสิ้นเชิง

เดิมนักการตลาด เรียนตำราฟิลิป คอตเลอร์

เล่มเดียว ต่างท่อง 4Ps เป็นสูตรคูณดังนี้

 

P1 Product P2 Price P3 Place P4 Promotion = 4Ps

4Ps ประกอบด้วย Pตัวแรก Product คือสินค้า P ตัวที่ 2 คือ ราคา P ตัวที่ 3 คือ สถานที่ P ตัวที่4 คือ การส่งเสริมการตลาดด้วยการลด แลก แจก แถม

เหมือนเรียนวิชาเรขาคณิตว่า

“เส้นตรงเส้นหนึ่งตั้งอยู่บนเส้นตรงอีกเส้นหนึ่ง”

แต่วันนี้ 4Ps เปลี่ยนแปลงไป

 

 

การตลาดสมัยใหม่ เริ่มต้นที่ “โครงการ” ผมพบว่า โครงการใดๆ ก็แล้วแต่ในโลกสมัยใหม่ต้องใช้ 4Ps แบบนี้
People Process Perform Profit = 4Ps

เริ่มต้นที่ P ตัวแรกคือ  People (คน)

กระบวนการตลาดที่เป็น “กระแส”หลักทั่วโลกในวันนี้ เริ่มต้นที่ “คน”

กระบวนการจะยั่งยืน เกิดจาก “คน”

ปัจจัยความสำเร็จ ขึ้นอยู่กับ “คน”

คนคือ “จุดเริ่มต้น” และ “จุดจบ” ของการตลาดทั่วโลก

ปราศจาก “คนกิน คนซื้อ คนใช้” สินค้า และบริการทั้งหลายก็อยู่ไม่ได้

ดังนั้น ทุกๆ กิจการ โดยเฉพาะนักขายและประกันภัยต่างๆ  ต้องทำความเข้าใจเรื่องคน พฤติกรรมคน อุปนิสัยคน และแบ่งกลุ่มคนที่กิน ที่ซื้อ ที่ใช้ ออกเป็นส่วนๆ ให้ได้ และต้องใช้ข้อมูลเกี่ยวกับคนให้เป็น จึงจะ “สำเร็จ”

การตลาดที่เริ่มต้นจาก “คน” จะชนะยั่งยืน

คำถามคือในเมื่อคนคือนัยสำคัญต่อความสำเร็จ

►ในโลกออนไลน์ เราต้องหาคำตอบให้ได้ว่ามีคนใช้สินค้าเรากี่คน?

►เราจูงใจคนเหล่านี้ให้มาซื้อสินค้าหรือบริการจากเรามีมากน้อยแค่ไหนอย่างไร?

►เรามีสิทธิพิเศษ สำหรับคนที่เป็น “แฟนคลับ” หรือไม่?

►เราตระหนักรับรู้ตอบสนองลูกค้าเรารวดเร็วหรือชักช้า?

►เราปรับใช้หลักการตลาดต่างๆ ทันที ทันใด ทันใจ แล้วหรือยัง?
►เราริเริ่มสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการใหม่ๆ ที่โดนใจลูกค้าบ้างหรือยังไม่เคยทำใดๆ เลย?

P ตัวที่ 2 คือ Process (กระบวนการ)

■คำถามคือ เราดูแลลูกค้าและดูแลกระบวนการบริการลูกค้าจน “ดีเยี่ยม” หรือ “เป็นเลิศ” ได้ตามเป้าหมายที่เราวางไว้หรือไม่?

■เพื่อให้บริการที่ “เป็นเลิศ” เรา “ทำ” อะไรสำเร็จเป็นรูปธรรมบ้าง?

■เรามีเครื่องมือบริหารจัดการและระบบบริการทางการตลาดที่แม่นยำ ถูกต้อง และมีสมรรถนะในการขับเคลื่อนกระบวนการดำเนินงานที่เร็วกว่า ดีกว่า ถูกกว่าหรือยัง?

■เราแก้ปัญหาได้รวดเร็ว ฉับพลัน ทันที ทันใด ทันใจ หรือชักช้า อืดอาด ยืดยาด?

■เรามีกระบวนการทำงานที่ลดต้นทุนได้มากกว่าคู่แข่ง แต่บริการได้ดีกว่าคู่แข่งใช่หรือไม่?

สำหรับ P ตัวที่ 3 Performance (ผลงาน)

■เราหาสินค้าและบริการมานำเสนอลูกค้าได้ตามที่ต้องการหรือไม่? เรารู้ได้อย่างไร?

■เราทำกระบวนการผลิตสินค้า หรือกระบวนการให้บริการได้ประทับใจลูกค้าในระดับใด? ผลสำรวจความพึงพอใจเป็นเช่นไร?

■เราพัฒนาโดยเรียนรู้สินค้าและบริการมานานแค่ไหน? เราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าสินค้าและบริการของเรา “ดีเยี่ยม” “โดดเด่น” “แตกต่าง” จากคู่แข่งที่มีในท้องตลาด
■ลูกค้าของเราประทับใจในตัวสินค้าหรือบริการของเราจริงหรือไม่? เราทราบได้อย่างไร?
■เรามีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากผลการปฏิบัติงาน ใช่หรือไม่? ตัวเลขยอดขาย และส่วนต่างกำไร สะท้อนออกมาอย่างไร?

ส่วน P ตัวสุดท้ายคือ Profit (ผลกำไร)

■กิจการเรามีเงินรายได้เป็นไปตามเป้าหมาย และที่คาดการณ์

■กิจการเรามีเงินรายได้และปันผลตามเป้าหมาย และความคาดหวังของพนักงานในองค์การ

■กิจการเรามีเงินเหลือไปทำคุณประโยชน์แก่สังคมและชุมชน

ผู้อ่านทุกท่านครับ ปัจจัยความสำเร็จของการตลาดระดับโลกในวันนี้ สำคัญที่สุด ต้องเฉลี่ยให้แก่ “ผมสดส : ผู้มีส่วนได้เสีย”  ทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้บริหาร พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า และชุมชน

แม้กระทั่ง “สิ่งแวดล้อม” เราก็ยังต้องคิดนำ “กำไร” กลับไปฟื้นฟู ดังเช่น กิจการสายการบินต่างๆ ต้องเสียเงินค่า “การตลาดเพื่อสังคม” โดยซื้อคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

ฉบับหน้า เรามาดูกันว่า อะไรคือ 5 แนวโน้มการตลาดทั่วโลกในปี 2555

ขอบคุณครับ!!!

Comments

comments