164. อัตตา อหังการ์ ศรัทธา

คอลัมน์  How to Win

อัตตา อหังการ์ ศรัทธา

ศาสตราจารย์  ดร. อุทิส  ศิริวรรณ

30 กรกฎาคม 2557

“หลายคนที่ไม่สำเร็จในชีวิตเพราะแนวคิดคับแคบ มองสิ่งต่างๆ ไม่กว้าง

มองเห็นแค่มุมเดียว เปลี่ยนวิธีคิดใหม่ แล้วจะเห็นโลกในมุมใหม่อย่างแท้จริง”

ถนอมศักดิ์ จิรายุสวัสดิ์ ผู้แต่งหนังสือ “คิดแบบ 3 ผู้นำธุรกิจ”

 

               สามสิบปีผ่านไปรวดเร็ว ผมมานั่งคิดทบทวนชีวิตที่ผ่าน ได้พบพานผู้คนมากหน้าหลายตาวงการต่างๆ มากมาย ตั้งแต่ตลาดย่านชุมชนจนถึงเมืองเล็กเมืองใหญ่ไปไกลจนถึงนานาชาติ

ผมค้นพบความจริงว่า คนทุกวงการ ทุกศาสนา ทุกภาษา ต่างล้วนค้นหา  “วิถีแห่งชัยชนะ” ที่เรียกสั้นๆ ว่า “ความสำเร็จ”

ผมพยายามถอดรหัสลับ “ความสำเร็จ” ออกเป็น “อักษร” และ “ตัวเลข” ก็พบความจริงอันน่าทึ่งว่า

มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่าง “อัตตา” “อหังการ์” และ “ศรัทธา”
และเป็นความเกี่ยวข้องกันระหว่าง “ผู้นำ” กับ “ผู้ตาม”
เราจะดูคนว่าสำเร็จหรือล้มเหลว ก็พิจารณาได้จาก “การบริหารความเสี่ยง” ที่ผู้นำเผชิญหน้า
ผู้นำที่ชนะ คือคนที่จัดการความเสี่ยงแบบรอบคอบ ระมัดระวัง ยึดหลัก “ศรัทธา” และ “เชื่อมั่น” ในแนวทางการบริหารจัดการที่เน้น “ประสิทธิภาพ” และ “ประสิทธิผล”  ดังพุทธวจนะว่า

นิสฺสมฺม กรณํ เสยฺโย ใคร่ครวญรอบคอบแล้วลงมือ ผลลัพธ์จะออกมาดีเกินคาด
ผู้นำที่ล้มเหลว คือคนที่บริหารจัดการความเสี่ยงแบบ “อัตตา” เชื่อมั่นตนเองสูง ไม่ฟังใคร ขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว และ “อหังการ์” “มมังการ” ตัวกู ของกู โกรธง่าย โมโหง่าย
               ในประวัติศาสตร์มีเรื่องราวมากมายที่สอนใจคนเกี่ยวกับชัยชนะและความล้มเหลวของผู้นำ
ระหว่างพำนักในกรุงย่างกุ้ง และเดินทางไปหงสาวดีผมนึกถึงผู้นำคนสำคัญคือ “พระเจ้าอลองพญา”  ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเมืองย่างกุ้งจนเจริญรุ่งเรือง และได้รับยกย่องเป็น 1 ใน 3 กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพม่า
พระองค์ใช้เวลา 8 ปีปราบมอญและราชวงศ์ตองอูจนราบคาบเด็ดขาด ทรง “ศรัทธา” เชื่อมั่นว่าตนเองเป็นเสมือน “พระโพธิสัตว์” เกิดมาเพื่อปราบคนอาสัตย์อาธรรมที่ก่อทุกข์ยากแก่ปวงราษฎรทรงสนับสนุนการพระ พุทธศาสนาอย่างจริงจัง ทรงเข้มงวดกวดขันให้ประชาชนรักษาศีล 5
ทว่าด้วย “อัตตา”  และ “อหังการ์” ที่สั่งสมและเกิดจากความเชื่อมั่นในชัยชนะซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้เกิด “วิกฤต” รุนแรงในบั้นปลายชีวิต เสวยสุขอยู่ดีๆ มิชอบ ก็ก่อเหตุหาเรื่อง
ทรงอ้างเหตุแห่งสงครามอ้างสิทธิเหนือดินแดนสยามว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร พม่าแต่ครั้งแผ่นดินพระเจ้าบุเรงนองและทรงมีพระราชศรัทธาว่าพระองค์เป็นพระ เจ้าช้างเผือกผู้ยิ่งใหญ่ต้องเสาะแสวงหาช้างเผือกมาเป็นบริวารให้มากที่สุด โชคร้ายที่ยุคนั้นเมืองไทยมีช้างเผือกอยู่จำนวนมาก

พระเจ้าอลองพญามุ่งจะยึดครองช้างเผือกให้จงได้ เสด็จมาทรงบัญชาการรบเองอย่างเข้มแข็ง  สั่งระดมยิงปืนใหญ่เข้าถล่มวังทั้งกลางวันกลางคืน  เพราะต้องการเผด็จศึกให้เร็วที่สุด  ไม่ให้การรบยืดเยื้อ
ปืนใหญ่หลายร้อยกระบอกถูกระดมยิงจากลานวัดหน้าพระเมรุเบื้องพระพักตร์พระ พุทธนิมิตทั้งกลางวันกลางคืน   ทว่าเมื่อมิได้หยุดพักเลยก็ร้อนระอุ
ในที่สุดกระบอกปืนใหญ่  ก็ระเบิดแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ สะเก็ดพุ่งเข้าใส่ทหารพม่าบาดเจ็บ  ล้มตาย  อลองพญากษัตริย์โชคร้ายกว่าใครทั้งหมด ทรงบาดเจ็บสาหัสจนรบต่อไม่ไหวจนต้องรับสั่งให้เลิกทัพกลับ

คืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2303 ณ ชายแดนไทยพม่าแถวเมืองตาก กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพม่าก็สิ้นพระชนม์ลงกลางป่า พร้อมพระดำรัสอมตะว่า “มังระเอ๋ย เจ้าจงจดจำความเจ็บปวดของพ่อไว้ให้ดี….”
7 ปีต่อมา พระเจ้าเอกทัศน์ก็ทำนองเดียวกันอัตตาสูง อหังการ์ ไม่ฟังเสียงทัดทานใคร สุดท้ายก็เสียกรุงศรีฯให้แก่พม่าในเดือนเมษายน พุทธศักราช 2310
เป็นอุทาหรณ์ว่า ผู้นำที่จะประสบความสำเร็จพบกับชนะอย่างยั่งยืน ต้องเป็นคนที่ไม่ยึดติดอัตตา ไม่อหังการ์ และไม่เชื่อมั่นตนเองมากจนเกินพอดี

 

 

Comments

comments