คอลัมน์ How to Win
ชนะด้วยบุญ
ศาสตราจารย์ ดร. อุทิส ศิริวรรณ
7 พฤษภาคม 2557
———–
“บุญจะได้มากหรือน้อย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินทอง”
ไชยวัฒน์ กปิลกาญจน์
ขณะท่านผู้อ่านได้อ่านต้นฉบับ ผมน่าจะอยู่แถวตะวันออกกลาง กลางพายุทะเลทรายร้อนระอุ
คนที่เดินทางค่อนโลกสมัยก่อน มีชื่อเสียง 2-3 คน
คนแรกๆ เลยคือเจิ้งเหอ สมุทรยาตราที่โด่งดังของราชสำนักจีน
อีกคนคือมาร์โคโปโล และอีกคนคือโคลัมบัส
การเดินทางของแม่ทัพนายกองที่นำโดยเจิ้งเหอ ภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งจีน
ทำให้หวนคิดถึงคำว่า “บุญ”
ช่วงเทศกาลวิสาขบูชาปีนี้ นึกถึงเรื่องราวตำนานในพระคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา
โดยเฉพาะวิถีแห่งชัยชนะด้วยการทำบุญ เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมาก
เดิมก่อนศึกษาหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ผมเข้าใจเอาเองว่า จะทำบุญให้ได้บุญมากขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญคือจะต้องมีเงินทองจำนวนมาก
เช่นเดียวกับที่เคยคิดไว้สมัยเด็กๆ สมัยที่ยังขาดแคลนโอกาสว่าการที่คนผู้หนึ่งจะมีบุญมีวาสนาได้เป็นใหญ่เป็นโต จะต้องมีเงินมีทองจำนวนมากๆเท่านั้น !
เพิ่งมารู้ภายหลังเมื่อตอนอายุจะเข้าเลข 5 ว่า
ที่เคยคิดและเชื่อว่าทำบุญให้ได้บุญมาก ต้องทำด้วยเงินทองจำนวนมาก
ที่เคยคิดว่าคนจะได้เป็นใหญ่เป็นโต จะต้องมีเงินทองเป็นอันมาก
สรุปจากที่รู้ภายหลัง ทั้ง 2 เรื่องที่คิดและเชื่อแบบปลูกฝังยาวนาน เป็นเรื่องไม่จริงสักเรื่อง
ผมพยายามประมวลความรู้ ความเชื่อ และความเข้าใจจากหลากหลายเรื่องราวของคนรอบตัว
อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ตอบคำถามเรื่องนี้ได้ดีมาก
ท่านสรุปไว้สั้นๆ ว่า คนที่จะประกาศก้องว่าเป็นผู้ชนะ ว่าตนสำเร็จ มั่งมีเงินทองมากมายมหาศาล มีการงานมั่นคงเป็นปึกแผ่นได้ ด้วย 2 เสาหลักเท่านั้น
ประการแรก ต้องทำบุญไว้ให้มาก ๆ ประการที่ 2 ต้องมีวิธีคิด และหลักการ
เมื่อสองสามวันก่อน ได้สนทนากับมหาบุรุษท่านหนึ่ง ท่านคืออาจารย์เอกภพ เหล่าลาภะ
ท่านผู้นี้ได้นำเสนอแนวคิด 3 มหา : มหาบุรุษ มหาราช และมหาเศรษฐี ซึ่งต้องมีบุญวาสนาและมีหลักคิดทั้งนั้น !
จากเรื่องราวดังกล่าว ผมมองว่าสรุปเป็นกลยุทธ์สู่ชัยชนะที่ยั่งยืน ได้ดังนี้
ประการแรก บุญ คนเราจะสำเร็จได้ ต้องกระตือรือร้น ต้องลงมือทำ ต้องเลื่อมใส และศรัทธาเต็มเปี่ยม คนเราจะได้บุญมาก จะมีบุญมาก ต้องดิ้นรนขวนขวาย ต้องทำด้วยตนเองและต้องชักชวนคนรอบตัวให้ช่วยกันทำ ไม่จำเป็นต้องมีเงินทองเป็นอันมาก ทุกคนเฉลี่ยเงิน-เวลา-โอกาส หาจังหวะทำบุญเรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ตลอดเวลา
คนเราถ้ามีบุญก็มีโชคดังคำพระว่า “โชคเป็นที่มาแห่งทรัพย์ศฤงคารทั้งหลาย”
ประการที่ 2 หลักคิด เป็นเรื่องสำคัญ ความคิดของมหาบุรุษ นักวิชาการ นักทฤษฎี แตกต่างจากมหาเศรษฐี ผู้มองว่าเงินทองสำคัญกว่าวิชาการ ส่วนมหาราชก็มีวิธีคิดอีกแบบ มุ่งเน้นการมีอำนาจ เพราะเชื่อมั่นว่า อำนาจนำมาซึ่งทุกสิ่งทุกอย่าง
ประการที่ 3 หลักการ ผมมองว่า คนที่จะชนะ และสำเร็จได้ยั่งยืน คือคนที่มีหลักคิด คนที่คิดลึก คิดกว้าง คิดไกล เข้าใจประยุกต์ ปรับใช้ และเชื่อมโยง ทฤษฎี-ปฏิบัติ-ประสบการณ์ กับประสบการณ์-ปฏิบัติ-ทฤษฎี คือคนที่มีโอกาสสูงที่จะประสบความสำเร็จ
แต่ใดๆ ก็แล้วแต่ อยู่ที่บุญ คนเราถ้ามีบุญ ตกน้ำก็ไม่ไหล ตกไฟก็ไม่ไหม้ จะคิดจะทำประการใดๆ ก็จะไม่สะดุด ไม่ติดขัดกับสันดานของตนเอง และสันดอนที่มีมากมายในแก่งน้ำ
คนที่กำลังมองหาวิถีสู่ความสำเร็จ ขอให้นำเรื่องบุญ-หลักคิด-หลักการไปคิดทบทวนเพื่อค้นหาความสำเร็จ แล้วจะพบว่าเส้นทางแห่งความสำเร็จ ทำได้จริงๆ อยู่ที่เราจะกล้าคิดกล้าทำกล้านำกล้าเปลี่ยนแปลงตัวเองได้หรือไม่? !