123. ลงมือ ลงแรง ลงทุน

ลงมือ ลงแรง ลงทุน

ศาสตราจารย์  ดร. อุทิส  ศิริวรรณ

Research Chairman

W.H. Taft Univeristy, Colorado, USA
International American University, California, USA
University of Atlanta, Georgia, USA
Charisma University, Montserrat, UK
Universidad Cristiana del Sur, Central America
Universidad San Juan de la Cruz, Central America
Universidad Empresarial, Central America

สถานที่: Harvard Business School, Harvard University, Boston, USA
Date: May 2556

วันพุธที่ 18 กันยายน 2556

———–

“ทำงานเริ่มแรกต้องพบกับความลำบากเสมอ จึงเป็นปกติที่ต้องนับหนึ่ง ด้วยการลงแรงเพื่อให้ได้เงิน”

(ที่มา: คำตัน แพ้เป็นทางผ่านของชัยชนะ โดย ตัน อิชิตัน, 2555: หน้า 33)

                เมื่อวาน ผมมีโอกาสคุยกับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดกลางท่านหนึ่ง ซึ่งทำธุรกิจมายาวนานเกือบ 100 ปี เป็นคนรุ่น 4 ของตระกูลที่รับมรดกตกทอดสืบต่อกัน

ธุรกิจเติบโตเรื่อยมา ไม่หวือหวา วูบวาบเป็นบางครั้ง นับถึงวันนี้ กำลังส่งต่อให้ทายาทรุ่นที่ 5

วันนี้ ธุรกิจแห่งนี้ ยอดขายอยู่ประมาณหลักระดับร้อยล้านบาท

สมาคม DBA แห่งประเทศไทย ได้วิจัยเกี่ยวกับปัจจัยความยั่งยืนของกิจการ SMEs ทั่วโลก 100,000 กิจการ พบปัจจัยสำคัญ 3 เรื่อง

                ปัจจัยแรก คือคุณภาพของสินค้า หรือบริการ

ทุกธุรกิจ SMEs  มีวิวัฒนาการเหมือนกันคือ เริ่มต้นจาก “ไม่มีทุน” ต้องลงแรง ออกแรง อาบเหงื่อ ต่างน้ำกันให้มาก

                สรุปเป็นสูตรสำเร็จได้ว่า 

มีเงินน้อย ก็ใช้แรงมาก  มีเงินมาก ก็ใช้แรงน้อย

มีพวกน้อย ก็ใช้แรงมาก  มีพวกมาก ก็ใช้แรงน้อย

มีเทคโนโลยีตกยุค ก็ใช้แรงมาก มีเทคโนโลยีล้ำยุค ก็ใช้แรงน้อย

มีนวัตกรรมน้อย ก็ใช้แรงมาก มีนวัตกรรมมาก ก็ใช้แรงน้อย

มีทำเลไม่ดี ก็ใช้แรงมาก มีทำเลดี ก็ใช้แรงน้อย

กว่าจะชนะต้องใช้แรงงานมาก พลังงานมาก ต้องเหนื่อยมาก ต้องทำทุกวิถีทางให้ได้มาซึ่งเงิน เมื่อมีเงินจำนวนหนึ่งแล้ว ก็นำไปพัฒนาสินค้าและบริการต่อยอดให้มีระดับคุณภาพ

“คงที่ คงทน คงกระพัน”

นี่คือ วิถีทางแห่งชัยชนะ ข้อแรก

ปัจจัยที่ 2 ราคา สินค้าหรือบริการจะให้ดีหรือมีคุณภาพมากแค่ไหน ตราบใดยังเป็นรายเล็กๆ พลังอำนาจการต่อรองก็น้อย หรือแทบไม่มี จะค้าจะขายก็ถูกโก่งราคา ถูกเรียกเปอร์เซ็นต์สูง ทำแล้วแทบไม่เหลือ

นี่คือสัจธรรมของ SMEs ถ้ายังไม่ดัง สินค้าหรือบริการยังไม่เป็นที่รู้จัก ก็ต้องรู้จักรวมกลุ่มคนที่สินค้าและบริการคล้ายกัน ก่อตั้งเป็นกลุ่ม  ชมรม สมาคม เครือข่าย วิสาหกิจ

ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกร ถ้ารวมกลุ่ม ก็มีพลัง มีอำนาจต่อรองกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือกาแฟ ก็มีอำนาจต่อรอง และตั้งราคาได้เช่นกัน

การมีเครือข่ายมาก ทำให้ขายของได้ราคา ได้ปริมาณ ได้ออเดอร์มากขึ้น นี่คือวิถีแห่งชัยชนะข้อที่ 2

ปัจจัยสุดท้าย การสร้างตราสินค้า หรือการทำให้สินค้าจากโนเนมเป็นสินค้าแบรนด์แนมที่โดดเด่น ฮือฮา หวือหวา แตกต่าง มีสไตล์ มีดีไซน์ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นสิ่งที่ต้องฉุกคิด ถ้าต้องการชัยชนะ!

ยกตัวอย่างในแวดวงบริการด้านวิชาการ โดยเฉพาะการฝึกอบรมและการสัมมนา แบรนด์ดังอย่าง อุดม แต้พานิช ค่าตัวชั่วโมงละเป็นล้านบาท ส่วนแบรนด์รองลงมา ค่าตัวก็ชั่วโมงละ 30,000-50,000 บาท

จำไว้ว่า ถ้าสามารถคิดและทำแผนธุรกิจ แผนการตลาดสินค้าหรือบริการที่มีแนวคิด มีคุณภาพ มีมาตรฐานที่แตกต่าง มีสไตล์ มีเอกลักษณ์ มีดีไซน์ออกแบบไม่เหมือนใคร ก็จะนำมาซึ่งมูลค่าและคุณค่าทีประเมินราคาและมูลค่ามิได้ ยกตัวอย่างเช่น กระเป๋าหลุยส์วิตตอง ก็เริ่มต้นจากกิจการ SMEs เล็กๆ

สินค้าหรือบริการ SMEs วันนี้ จะต้องโดดเด่น เลิศล้ำ ด้วยเทคโนโลยีนำ ตอกย้ำด้วยนวัตกรรมความคิดการบริหารจัดการการตลาด และมีดีไซน์สไตล์ที่แตกต่างแต่โดนใจกลุ่มลูกค้าแค่นี้เอง แค่นี้จริงๆ

นี่คือวิถีแห่งชัยชนะข้อที่ 3

                กิจการ SMEs ที่ต้องการ “วิถีสู่ชัยชนะ” นำหลักการทั้ง 3 ข้อที่ผมนำเสนอ ไปคิด วิเคราะห์ ต่อยอด พัฒนาสินค้าและบริการที่ทำอยู่  ก็จะค้นพบ “วิถีแห่งชัยชนะ” ที่ลงมือ ลงแรง ลงทุนแล้วคุ้มแสนคุ้มครับ

 

 

Comments

comments