111. ปัจจัยแห่งความสำเร็จของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ปัจจัยแห่งความสำเร็จของ
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

รำลึกวันสวรรคต
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

๒๕ เมษายน ๒๕๕๖*

 

สมเด็จ พระนเรศวร กับสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จยกกองทัพออกจากพระนคร เมื่อวันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2148 เสด็จโดยกระบวนเรือจากพระตำหนักป่าโมก แล้วเสด็จขึ้นบนที่ตำบล เอกราชไปตั้งทัพชัย ณ ตำบลพระหล่อ แล้วยกกองทัพบกไปทางเมืองกำแพงเพชรสู่เมืองเชียงใหม่ ครั้นเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ก็หยุดพักจัดกระบวนทัพอยู่หนึ่งเดือน แล้วให้กองทัพสมเด็จพระเอกาทศรถยกไปทางเมืองฝาง ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหาง ครั้นเสด็จถึงเมืองหางแล้วก็ให้ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรเป็นหัวระลอก (ฝี) ขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นบาดทะพิษพระอาการหนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จฯ มาถึงได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคต เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 สิริพระชนมพรรษา 49 พรรษาเศษรวมสิริดำรงราชสมบัติ 14 ปีเศษสมเด็จพระเอกาทศรถจึงได้อัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวรกลับกรุง ศรีอยุธยา

 

 

 

ศ. ดร. อุทิส ศิริวรรณ

 

 

วันที่ ๒๕ เมษายน ของทุกปี เป็นวันรำลึกการสวรรคตของ “มหาราช” ผู้ยิ่งใหญ่ชาวไทย สมัยแผ่นดินราชอาณาจักรอยุธยา

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงได้รับยกย่องเป็น “มหาราช”  จอมราชันย์ผู้ยิ่งใหญ่

 

 

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๒ มีพระนามเดิมว่า พระองค์ดำ เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตริย์ (พระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัยและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2098 ที่พระราชวังจันทน์ เมืองพิษณุโลกมีพระเชษฐภคินีคือ พระสุพรรณกัลยา มีพระอนุชาคือ สมเด็จพระเอกาทศรถ (องค์ขาว) และเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระศรีสุริโยทัย พระนามของพระองค์ปรากฏในลายลักษณ์อักษรหลายฉบับ เช่น พระนเรศ วรราชาธิราช, พระนเรสส, องค์ดำ จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าพระนาม นเรศวรได้มาจากที่ใด สันนิษฐานเบื้องต้นว่า เพี้ยนมาจาก สมเด็จพระนเรศ วรราชาธิราช มาเป็น สมเด็จพระนเรศวร ราชาธิราช เสด็จขึ้นครองราชเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 สิริรวมการครองราชสมบัติ 15 ปี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 รวมพระชนมพรรษา 50 พรรษา

ราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทย พระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย อย่างกว้างใหญ่ไพศาล นับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้ทั้งหมด นั่นคือ จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตก ไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกทางด้านตะวันออก ทางด้านทิศใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด และยังรวมไปถึงรัฐไทใหญ่บางรัฐ

(ที่มา วิกิพีเดีย: http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A)

 

 

เจ้ายอดศึก ทำพิธีบวงสรวง “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ที่แคว้นไทใหญ่ พม่า

 

ได้อ่าน “เกร็ดประวัติศาสตร์” โดยเฉพาะเรื่องราวของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” เห็นว่ายังไม่แพร่หลายนัก ก็เลยนำมา “วิเคราะห์” บอกต่อ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ท่านอื่นๆ

 

ขอบคุณ “ทางสายธาตุ”    ผู้สละเวลา รวบรวมเรื่องราวของพระองค์ท่านมา “เล่าสู่กันฟัง”

ผู้สนใจ คลิกอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

 

http://board.palungjit.com/f2/เกร็ดประวัติศาสตร์-สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช-260238-2.html

 

นานาชาติ นิยมเรียกพระองค์  ๒ พระนาม คือ “ราชาไฟ” กับ  “พระองค์ดำ”

ปัจจัยความสำเร็จของ “พระราชาไฟ” คือพระองค์ทรงมี  “หลักการจัดการ” ที่น่าสนใจ อาทิ

วาจาสัตย์ พูดจริง ทำจริง พระองค์ทรงรักษาวาจาสัตย์ได้อย่างเคร่งครัด เที่ยงธรรมและมีความยุติธรรมเป็นที่สุด
คำไหน คำนั้น คำพูด คำจา เชื่อถือได้ อะไรบอกว่าได้ ก็ได้ อะไรทำไม่ได้ ก็จะไม่ตกปากรับคำเป็นอันขาด

มีความกล้าหาญ ไม่ท้อถอย แม้ล้มเหลว ครั้งเหตุการณ์ที่พระองค์ทรงนำหน้าทหารคาบพระแสงดาบปีนขึ้นบุกค่ายบุกพม่า จนทรงถูกทวนแทง ตกลงมาจนตกค่าย แต่พระองค์ไม่ทรงท้อ ยังทรงนำกองทหารเข้าตีค่ายพม่าอีก

มีวิธีการ ขั้นตอน แผน กระบวนการ ระบบ แผนศึกของพระองค์ทรงล้ำลึกและแฝงไปด้วยกลยุทธ์ สังเกตได้จากการสงครามของพระองค์ทรงใช้คนน้อยแต่สามารถเอาชนะคนจำนวนมาก มายมหาศาลได้เสมอ ในการปกครองพระองค์ทรงกำหนดอัตราภาษี ติดต่อการค้ากับต่างประเทศ การเจริญสัมพันธไมตรีสัมพันธ์ทางการทูตกับทางญี่ปุ่นโดยส่งปืนใหญ่ที่พัฒนา ขึ้นเอง และทรงทำให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นทรงพอใจมากจนส่งม้าชั้นดีปูน บำเหน็จแก่ราชสำนักสยาม จนกรุงสยามมีกองกำลังเหล่าทหารม้าที่แข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค ฯลฯ

ความสำเร็จของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” แตกต่างจาก “สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” อย่างสิ้นเชิง เพราะ “พระนารายณ์” เป็นผู้ทรงเปี่ยมล้น มากด้วยบุญวาสนาบารมี ทรงมี ๔ กลศึกครบถ้วน

กลศึกที่ ๑ หัวศึก คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก และ ปาน) สองพี่น้องตระกูลซ่งเจ้าปัญญา
กลศึกที่ ๒ มือศึก พระยาเดโชทิปปะ ว่ากันว่าท่านนี้รบเก่งพอๆกับเห้งเจียและพระนเรศวรรวมกัน
กลศึกที่ ๓ ตาศึก พระพิมลธรรม แห่งวัดระฆังโสิตาราม ผู้ทำนายฤกษ์ผานาทีแม่นยังกะตาเห็น
กลศึกที่ ๔ตีนศึก กำลังไพร่พลทหารหาญที่ถูกฝึกอบรมให้พร้อมรบตลอดเวลา

 

ซึ่งเป็นกรณีศึกษาได้ว่า คนจะทำการใหญ่ได้นั้น ต้องมี “หัว” “มือ” “ตา” และ “ตีน” อยู่รอบตัว

ผู้ประกอบการระดับต่างๆ ก็เช่นกัน ต้องมี “กลศึก” ครบถ้วนจึงจะคว้าชัยชนะได้เบ็ดเสร็จ

เกร็ดประวัติชีวิตส่วนตัวของ “พระองค์ดำ” ที่แปลก และน่าสนใจคือ “เครื่องมือทำมาหากิน”

กล่าวคือ “ตราประทับ” หรือที่เรียกว่า  “พระราชลัญจกร”

ดวงตราดังกล่าวแสดงถึง “อำนาจ” “หน้าที่” และ “สิทธิ” ในการค้าขายกับ “จีน” และได้ถูก “พม่า” ยึดไปทำลายทิ้งตั้งแต่ครั้งเสียกรุงครั้งที่ ๑ ในปี พ.ศ. ๒๑๑๒

ขาดดวงตรา ก็ขาดช่องทางทำมาหากินกับคนต่างด้าว ท้าวต่างแดน

ความสำคัญของดวงตราพระราชลัญจกร หรือตราประทับที่อ้างถึงนี้ เป็นตราที่ฝ่ายการค้าระหว่างประเทศต้องใช้ประทับเอกสารการค้าที่ไปกับเรือ สำเภาค้าขายทุกครั้ง ประเทศใดไม่มีตราประทับ หรือโบราณเรียกว่า “ตราคำหับ” จะส่งสินค้าเข้าไปค้าขายในเมืองจีนไม่ได้
ซึ่งทางราชสำนัก “พระองค์ดำ” ได้พยายามเรียกร้องและทวง “สิทธิ” การค้าข้ามพรมแดนหลายครั้ง แต่ได้รับการเพิกเฉย

 

ทว่าต่อมาเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๑๒๑ พระราชลัญจกร (ดวงตราประทับ) สำหรับพระมหากษัตริย์แห่งสยามประเทศได้ถูกราชสำนักฮ่องเต้แห่งกรุงจีนแกะ สลักขึ้นและฮ่องเต้มีพระบัญชาสั่งให้ส่งไปถวาย “พระองค์ดำ” ถึงพระราชสำนักสยาม แสดงถึงการยอมรับ “อำนาจ” พระองค์ดำว่ามีอยู่จริง

นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานกันว่าการได้รับ “ดวงตรา” ดังกล่าวกลับคืนด้วยความดีความชอบที่กองเรือเครื่องราชบรรณาการจากสยาม ได้ช่วยราชสำนักจีนในการป้องกันและปราบปรามกลุ่มโจรสลัดลิ้มโต๊ะเคี่ยม เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๑๒๑ ทำให้ในอีกหนึ่งเดือนต่อมา ทางราชสำนักจีนจึงได้จัดทำตราพระราชลัญจกร (ดวงตราประทับ) ดวงใหม่แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายแด่ “พระองค์ดำ” พระมหากษัตริย์แห่งประเทศสยามฉับพลันทันที

 

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้มีการนำเสนอเรื่องขอพระราชทานดวงตราพระราชลัญจกรอัน ใหม่ทดแทนอันเก่าที่เสียหายในสงครามกับพม่า ซึ่งทางราชสำนักสยามได้ขอไปที่ราชสำนักจีนตั้งแต่ปีแรกแห่งรัชสมัยว่านลี่ เวลาล่วงเลยเนิ่นนานกว่า ๖ ปี ทางราชสำนักจีนเพิ่งจะยอมทำดวงตราพระราชลัญจกรให้ใหม่ เพราะเหตุการณ์ช่วยปราบโจรสลัดลิ้มโต๊ะเคี่ยม ในครั้งนี้นี่เอง

 

อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ

ความบังเอิญ

ระหว่าง “พระองค์ดำ” กับ “พระยาละแวก”

สยามกับเขมร มีเรื่องระหองระแหงบาดหมางกันตลอด ทางเขมรหากเห็นทางสยามเพลี่ยงพล้ำอ่อนแอครั้งคราใด ก็ใช้วิธี “ตลบหลัง” แอบเล่นงานลับหลังทุกครั้งที่เผอเรอหรืออ่อนแอเป็นประจำ

 

คราวหนึ่งในปี พ.ศ.๒๑๒๑ สมเด็จพระมหาธรรมราชามีพระชนมายุ ๖๓ พรรษา ส่วนสมเด็จพระนเรศวรฯทรงมีพระชนมายุ ๒๓ พรรษา

 

ปกติพระองค์ดำเสด็จประทับที่เมืองพิษณุโลก แต่ปีนั้นได้เสด็จมาเยี่ยมพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา

บังเอิญประจวบเหมาะเคราะห์สมพงศ์กับกษัตริย์เขมรซึ่งตามพงศาวดารฉบับหลวง ประเสริฐว่าตั้งใจจะมาตีเมืองเพชรบุรี ได้ทรงให้พระทศโยธากับพระสุรินทรราชา คุมกองทัพเขมรเข้ามากวาดต้อนราษฎรไทยแถบเมืองนครราชสีมาปรากฏว่าสามารถทำได้ โดยง่าย ก็เลยย่ามใจจึงถือโอกาสยกต่อมาทางเมืองสระบุรี

เป็นเหตุบังเอิญว่าเจ้าแห่งกรุงสยามและเขมรยกมาทีไรทรงเจอกันทุกที

 

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรฯทรงทราบข่าว จึงเสด็จพร้อมด้วยพระอนุชา ทรงจัดกำลังช้างเร็ว ม้าเร็วกับทหาร ๓,๐๐๐ คน ยกขึ้นไปดักทัพเขมรที่เมืองไชยบาดาล ลพบุรี โดยทรงให้พระยาไชยบุรี กับพระศรีถมอรัตน์ เจ้าเมืองท่าโรง (วิเชียรบุรี) คุมทัพม้า ๕๐๐ เป็นกองหน้ารีบรุดขึ้นไป และดักซุ่มอยู่สองข้างทางในดงใหญ่ ตามทางที่กองทัพเขมรจะยกมา

 

ฝ่ายกองทัพเขมรเห็นว่าตลอดทางไม่มีการต่อสู้ขัดขวาง และระยะทางยังไกลจากกรุงศรีอยุธยา จึงเคลื่อนทัพมาแบบสบายๆไม่มีการระแวดระวังนัก

 

เมื่อกองหน้าของทัพเขมร เดินทัพเข้ามาในพื้นที่ที่ฝ่ายไทยซุ่มอยู่ จึงถูกลอบโจมตีแบบไม่รู้ตัวจนแตกพ่าย กองหน้าของทัพไทยตามติดไปจนถึงทัพหลวง เหตุการณ์คงกะทันหันมาก และเดาว่าทางเขมรคงไม่มีข่าวกรองมาก่อนว่าไทยมีกำลังแค่ไหน เมื่อแม่ทัพเขมรเห็นทัพหน้าแตกจึงถอยกลับไปทางนครราชสีมา แต่ก็ถูกทัพไทยที่ดักรอท่าอยู่ก่อนแล้วเข้าโจมตีซ้ำอีก ทัพเขมรทั้งหมดจึงต้องถอยร่นกลับคืนกรุงกัมพูชา

 

ครั้งนั้น พระยาจีนจันตุซึ่งก่อนหน้านั้นเคยหนีจากเมืองละแวกมาสวามิภักดิ์ ตั้งแต่ปี ๒๑๑๓ เมื่อคราวยกพลเขมรร่วมกับพระยาอุเพศราชโจมตีเมืองเพชรบุรีแต่ไม่สำเร็จ แล้วอ้างว่ากลัวทัณฑ์บนที่ให้ไว้กับพระยาละแวก จึงขอมาสวามิภักดิ์สมเด็จพระมหาธรรมราชาพระบิดาพระนเรศฯ คราวนี้จู่ๆก็ลักลอบหนีกลับเขมรไปอีก

 

การที่คนกันเอง “หลบหนี” กลายเป็นคนสาบสูญ ไร้ร่องรอย  นักวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์น่าจะทำวิจัยว่าเป็นแผนไส้ศึกใช่หรือไม่? ถ้าใช่ก็ถือว่าการศึกครั้งนี้ หน่วยข่าวกรองราชสำนักสยามทำงานบกพร่องมาก แต่วิเคราะห์อีกด้าน ถ้าแผนไส้ศึกนี้เป็นเรื่องจริง การที่พระนเรศฯ เสด็จมากรุงศรีอยุธยาในคราวนี้ ก็คงไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญและการที่พระยาจีนจันตุพาครอบครัวหนีกลับ เมืองละแวกครั้งนี้ก็อาจเป็นไปได้ว่าเพราะแผนแตกเสียแล้ว หนีเอาตัวรอดก่อนดีกว่า

 

คนที่ “นึกจะไปก็ไป นึกจะมาก็มา”  หรือ “เพื่อนกิน เพื่อนเที่ยว” ถึงทุกวันนี้ ก็ยังมีให้เห็นอยู่มากมายหลากหลายวงการ  คนนิสัยแบบนี้ ถ้าได้พบได้เจอ ต้องเรียกว่าเป็นคนกลุ่ม  “พระยาจีนจันตุ”  “กินไหนกินด้วย เที่ยวไหนเที่ยวด้วย ตีกันฉันขอลาป่วย”

 

การ “นึกจะไปก็ไป นึกจะมาก็มา” ของพระยาจีนจันตุนี้ ก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน คือเป็นโอกาสให้สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงแสดงออกให้คนรอบข้างเห็นถึงบทบาทสถานะ การเป็นผู้นำทางทหาร เป็นการเสริมบารมีของพระองค์ท่านไปในตัว พระองค์ดำได้เสด็จตามโจมตีพระยาจีนจันตุไปจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา

 

ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าพระองค์ถูกพระยาจีนจันตุใช้ปืนนกสับยิงต้องรางพระ แสงปืนแตกคาพระหัตถ์ แต่ความที่เป็น “ผู้กล้า” ก็ยังทรงไม่ยอมหลบเลี่ยง จนพระอนุชาคือพระเอกาทศรถ ต้องทรงสั่งให้เรือลำที่ทรงอยู่ แล่นเข้าบังองค์สมเด็จพระนเรศวรไว้

 

ถ้าเหตุการณ์ที่มีการบันทึกไว้นี้เป็นเรื่องจริง ก็แสดงว่า “พระราชาไฟ” พระองค์นี้ทรงเด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ น่ากลัว น่าเกรงขาม

ดังที่ในเวลาต่อมา มีการบันทึกไว้ว่าทหารกรุงศรีอยุธยาเกรงกลัวพระองค์มากกว่ากลัวพม่าหรือกลัวความตาย !!!

ผู้นำทัพที่มีลักษณะเช่นนี้ ย่อมนำพาความเข้มแข็งและขวัญกำลังใจมาสู่กองทัพได้สูงมาก

 

มีกำลังน้อยก็เหมือนกำลังมาก

 

ลักษณะที่เด็ดเดี่ยวและ “กล้า” ที่จะ “เสี่ยง” “สู้” และ “ตาย” เช่นนี้

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็ทรงเคยมีวีรกรรมลักษณะเดียวกันนี้ เมื่อครั้งที่ทรงขี่ช้างพังคีรีบัญชรเข้าชนประตูเมืองจันทบุรี

 

ประวัติศาสตร์มีบันทึกไว้ว่าพระยาพิชัยดาบหักนั้น ไม่สามารถบังคับช้างให้เดินหน้าต่อไปและกำลังจะเบนช้างหนีอยู่แล้ว เพราะถูกระดมยิงออกมาจากภายในตัวเมืองจันทบุรีมากมายเหลือเกิน

 

แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงตัดสินพระทัยเด็ดเดี่ยว แน่วแน่ กล้าหาญ ทรงชักพระแสงแทงเข้าที่คอพระคชาธารบังคับให้วิ่งตรงเข้าหาประตูเมืองต่อไป

 

ครั้งนั้น “พระเจ้าตากสินมหาราช” จึงสามารถตีเมืองจันทบุรีได้สำเร็จ

นอกเหนือจาก “วิธีการ” “ขั้นตอน” “ระบบ”
“กระบวนการ” และ “แผน” การรบที่ Outstanding แบบว่า
“เตรียมพร้อม” พร้อมรบ พร้อมลุย พร้อมสู้ ทุกวินาทีแล้ว

“การพูดจริง”  “ทำจริง” “ความกล้าหาญ” “กล้าเสี่ยง”  “จิตใจเข้มแข็ง “เด็ดเดี่ยว” และความเป็น “นักสู้” ชีวิต

ทั้งหลายทั้งปวงคือปัจจัยแห่งความสำเร็จของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

 

สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงสร้างพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไว้เป็นที่สักการบูชา
ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชก็ได้โปรดให้สร้างไว้อีก
พระบรมรูปของสมเด็จพระนเรศวรยังประดิษฐานไว้เป็นที่สักการบูชา อยู่ในพระที่นั่งภานุมาศจำรูญ
(ปัจจุบันคือ พระที่นั่งบรมพิมาน) จนทุกวันนี้

Comments

comments