138. ธัมม์ ธรรม ธรรมะ

คอลัมน์  How to Win

ธัมม์ ธรรม  ธรรมะ

ดร. พรหมชยารัฐ (ศาสตราจารย์ ดร. อุทิส ศิริวรรณ)

26 มีนาคม 2557

———–

“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจคิด”

               พุทธวจนะในธรรมบท

 

               ยามที่ผืนแผ่นดินลุกเป็นไฟ คล้ายแผ่นดินอยุธยาตอนปลาย ผมพยายามลำดับเรื่องราวที่นำไปสู่ “รัฐล้มเหลว” ว่าเกิดจากสาเหตุประการใดบ้าง?

น่าจะเริ่มต้นที่ภาพรวมใหญ่คือ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ฉบับต่างๆ

ล่าสุดคือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555-2559

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญมี 4 ด้าน ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ  การเปลี่ยนแปลงด้านสังคม การเปลี่ยนแปลงสภาวะด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารจัดการและพัฒนาประเทศที่กำลังเปลี่ยนรุนแรง!

ยามนี้ไทยกำลังจะเป็นสังคมคนสูงวัยมากขึ้น เด็กและคนทำงานลดลง วิกฤตเสื่อมถอยด้านคุณธรรมและจริยธรรม ขยายตัวรุนแรงระบาดทั่วทุกองค์การภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงวัดวาราอารามกว่าสามหมื่นแห่งทั่วประเทศ!

อีกวิกฤตที่รุนแรงและน่ากลัวมากที่สุดนั่นก็คือการบริหารจัดการและพัฒนา ประเทศ ประชาชนตื่นตัวทางการเมืองสูง แต่ความขัดแย้งทางการเมืองยังคงอยู่และส่งผลต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจ

ขีดความสามารถในการป้องกันการทุจริตต้องปรับปรุง

คำถามคือ  เราจะเอาชนะทุจริตในแวดวงต่างๆ ได้อย่างไร?

คำตอบคือ  “ธัมม์ ธรรม  ธรรมะ”

หลังจากที่ได้ศึกษาเปรียบเทียบธรรมะกับนวัตกรรมการจัดการสมัยใหม่ต่างๆ ผมได้ข้อสรุปว่า “ธรรมะ” เป็น “นวัตกรรม” ลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตได้แบบว่า “เร็วกว่า ดีกว่า ถูกกว่า” นวัตกรรมอื่นๆ

นวัตกรรมธรรมะ ใช้ได้กับคนทุกชาติ ทุกศาสนา เพราะทุกศาสนาสอนคนด้วย “ธรรมะ” ให้ช่วยกันทำดี

แต่เรียกแปลกแยกแตกต่างกันออกไป โดยให้เกียรติ “ศาสดา” ผู้ก่อตั้ง

ธรรมะจากกูฏทันตสูตร เป็นหลักธรรมที่น่าสนใจสำหรับผู้ต้องการชัยชนะ ยาวมากขอคัดมาเพียงบางส่วน

เดิมกูฏทันตพราหมณ์เคยเชื่อฝังใจว่า การทำ “มหายัญ” บูชาเทพเจ้าด้วย “วัว 700 ตัว ลูกวัวตัวผู้ 700 ตัว ลูกวัวตัวเมีย 700 ตัว แพะ 700 ตัว แกะอีก 700 ตัว” การสังหารหมู่สัตว์ 3,500 ตัวคราวเดียวจะทำให้ได้บุญมาก

พราหมณ์ถือตัวว่าเป็นอาจารย์ ศึกษาจนจบไตรเพท มีความรู้มาก มีลูกศิษย์ลูกหามาก ทิฐิมาก อัตตาสูง

พระพุทธเจ้าได้ใช้ “ธรรมะ” เปลี่ยนความคิดให้พราหมณ์เลิกเชื่อว่า “ฆ่าสัตว์ครั้งละมากๆ” ได้บุญมาก โดยได้ยกตัวอย่างกษัตริย์นาม “มหาวิชิต” เป็นกรณีศึกษาชี้ให้เห็นว่าในอดีตพระราชาองค์นี้ก็เคยคิด “มหายัญ” คล้ายที่พราหมณ์คิด แต่รัฐบุรุษและองคมนตรีรอบตัวถวายคำแนะนำว่าการเป็นกษัตริย์ผู้มากด้วยวาสนา บารมีจะต้องใช้ธรรมะ 3 ข้อ

ประการแรก กรณีราษฎรมีอาชีพทำนาทำไร่ทำสวนเลี้ยงสัตว์ก็ขอให้พระองค์บูชามหายัญด้วย โครงการสนับสนุนพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์แบบครบวงจรให้ชาวนาลืมตาอ้าปากยืนหยัด ได้ด้วยลำแข้งตนเอง ไม่เป็นภาระแก่รัฐบาลระยะยาว

ประการที่สอง กรณีพ่อค้านักธุรกิจขาดสินเชื่อแหล่งเงินทุนหมุนเวียนขยายธุรกิจรับคำสั่ง ซื้อเพิ่มและขาดเงินทุนหมุนเวียนจัดซื้อวัตถุดิบมาผลิตเพื่อขายต่อ รัฐบาลก็ต้องช่วยเหลือประชาชนด้วยนโยบายสินเชื่อและแรงจูงใจภาษีด้านต่างๆ

ประการสุดท้าย กรณีข้าราชการทำงานด้วยความขยันขันแข็งยินดีเต็มใจบริการรับใช้ประชาชนก็ขอ ให้พระราชทานเบี้ยเลี้ยงและเงินเดือนหรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นต่างๆ เพิ่มเติม จะได้เกิดแรงจูงใจรับราชการต่อไป

ได้ข้อยุติในเบื้องต้นว่าการแก้ปัญหาประเทศชาติ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ต้องใช้ “ธรรมะ” จัดสรรดูแลคน 3 กลุ่มหลักของประเทศ นั่นคือ ชาวนา ธุรกิจ SMEs และข้าราชการให้ “กินอิ่ม นอนอุ่น” อย่างทั่วถึง เสมอภาค และเป็นธรรม

“เนกาสี ลภเต สุขํ” แปลเป็นไทยว่า “ผู้กินคนเดียว ย่อมไม่ได้รับความสุข” ดังนั้นเมื่อมีเงินถึงระดับหนึ่งแล้วจงเฉลี่ยและแบ่งปันธรรมะคือ “ความสุข” แก่สังคมคือคนรอบตัวเพื่อสร้าง “มหาทาน” จึงจะได้ชื่อว่าทำบุญใหญ่

               จะชนะได้ยั่งยืน ต้องเร่งมือและรีบลงมือสร้างสิ่งดีๆ คืนแก่สังคมคนละเล็กคนละน้อยตามที่ถนัดครับ

 

Comments

comments