108. ความเชื่อ โชคชะตา ลางสังหรณ์

ความเชื่อ โชคชะตา ลางสังหรณ์

อุทิส ศิริวรรณ, DIBA & Ph.D.

 ศาสตราจารย์ประจำ และผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศวิจัยอาเซียน

MBA & DBA Program

Deming Business School, W.H. Taft University, Colorado, USA

www.demingbusinessschool.com

วันที่ 10 เมษายน 2556

ตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์เชียงใหม่ธุรกิจ

ฉบับเดือนเมษายน ๒๕๕๖

———–

              ชัยชนะยั่งยืน คือการเอาชนะ “ความเชื่อ” “โชคชะตา” และ “ลางสังหรณ์”

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเผด็จการแห่งเยอรมัน มีความเชื่อในพลังอำนาจอันวิเศษและเร้นลับของหมายเลข 7 ว่าคือเลขที่นำโชคดี โอกาสดี และสิ่งดีๆ สู่ชีวิต

วูดโรว์ วิลสัน ประธานาธิบดีคนที่ 28 แห่งสหรัฐอเมริกาเองก็มีความเชื่อในหมายเลข 13 ว่าเป็นตัวเลขวิเศษ มหัศจรรย์ ทั้งนี้เพราะชื่อของเขาคือ Woodrow Wilson นับได้ 13 อักขระ

นีลส์ บอร์ นักฟิสิกส์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาทฤษฎีอะตอมแนวใหม่ สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกและดำรงตำแหน่งวิชาการระดับศาสตราจารย์สาขาฟิสิกส์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก เป็นคนที่อับเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยกย่องว่า “โดดเด่น” ด้าน “อะตอม”

บอร์ มีนิสัยแปลก ชอบเอา “เกือกม้า” แขวนไว้หน้าประตูบ้าน ครั้นเพื่อนๆ สงสัยว่าแขวนไว้เพื่อ “ความเฮง” คำตอบคือ “ไม่…แต่หลายคนบอกผมว่าแขวนไว้แล้วจะโชคดีนะ ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ก็ตามที”

งานวิจัยในปี 2000 ยืนยันว่าคนอเมริกัน 72% มีเครื่องรางอย่างน้อย 1 ชิ้นพกติดตัว

นักศึกษาระดับปริญญาตรีแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชอบแตะที่เท้าของรูปปั้นจอห์น ฮาร์วาร์ด ก่อนเข้าสอบเสมอ

เช่นเดียวกับนักศึกษา MIT ชอบถูบริเวณจมูกที่ประดิษฐานแผ่นทองเหลืองจารึกภาพนักประดิษฐ์ชื่อจอร์จ อีสต์แมน

จีนและญี่ปุ่นไม่นิยมเลข 4 เพราะภาษาจีนกวางตุ้ง จีนกลาง และญี่ปุ่น ออกเสียงคำนี้ว่าหมายถึง “ตาย” ส่งผลให้โรงพยาบาลหลายแห่งในเมืองจีนไม่มีชั้น 4 ชาวญี่ปุ่นบางคนที่เชื่อเรื่องนี้มักจะรู้สึกกังวลเมื่อต้องออกเดินทาง หรือนัดหมายธุรกิจในวันที่ 4

แตกต่างจาก “ลาว” และภาคอีสานไม่คิดอะไรมาก เพราะ  “4” แปลว่า “การร่วมเพศ”

ระหว่างปี 1920-1932 เยอรมันเผชิญภัยคุกคามเศรษฐกิจรุนแรง คนตกงานกันทั้งประเทศ ค่าเงินลดฮวบฮาบกลายเป็นแบงก์กงเต๊ก

ผลวิจัยระบุว่า ในห้วงเวลาดังกล่าว คนเยอรมันเชื่อในโชค และลางกันค่อนประเทศ ต่อเมื่อเศรษฐกิจค่อยๆ กระเตื้องขึ้น ความเชื่อดังกล่าวก็ค่อยๆ คลี่คลายลง

สรุปเป็นหลักการได้ว่า คนเราเชื่อถือศรัทธา โชคชะตา และลางสังหรณ์ เพราะ “กลัว” ความเสี่ยง  กลัวอันตรายที่มองไม่เห็น  และเหนือสิ่งอื่นใดกลัวความไม่แน่นอน

 

ศาสตราจารย์พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ครูบาอาจารย์ของชาวมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผมเองก็เป็นศิษย์ของท่านครั้งเรียนปริญญาตรีที่มหาจุฬาฯ และได้เป็นศิษย์ติดตามข้อคิดข้อเขียนของท่านอีกหลายเรื่อง ทั้งจากปาฐกถา และการอภิปรายวิชาการตามสถาบันต่างๆ

ท่านพร่ำสอนลูกศิษย์เสมอว่า ถ้าอยากมีโชค มีลาภ ดวงดี สุขภาพแข็งแรง จงใช้ชีวิตอยู่ด้วยการฝ่าฝืนความเชื่อ โชคชะตา ลางสังหรณ์ดีร้ายทุกอย่าง โดยใช้ “ตรรกศาสตร์” คือความคิดที่เป็นเหตุ เป็นผล

 

อยากชนะยั่งยืน อย่าลืม “คิด” เป็นเหตุ เป็นผล จะได้ไม่ตกเป็น “เหยื่อ” ความงมงาย คนหลอก คนลวง คนฉ้อ คนฉล คนคด คนโกง คนพูดความจริงครึ่งเดียว คนพูดความจริงไม่หมด คนพูดเอาดีใส่ตัว แต่ใส่ร้ายคนอื่น

 

               ทุกวันนี้ เมื่อต้อง คิด พูด และทำโครงการใดๆ ทางเศรษฐกิจและสังคม ผมก็ใช้หลัก “ตรรกศาสตร์” ของท่านในชีวิตประจำวันเป็นประจำ และสม่ำเสมอ และขอรับรองว่าใช้ได้ผล…จริงครับ

 

Comments

comments