43. Credit Bureau

Credit Bureau

บทความบริการวิชาการสังคมด้าน “การบริหารธุรกิจ”

ศ. ดร. อุทิส ศิริวรรณ
๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๕

ปัญหาหนักอก SMEs และบุคคลทั่วไปวันนี้คือ  ประวัติเสีย เกี่ยวกับ “เครดิตบูโร”

Credit Bureau คือหน่วยงานกลาง ที่เก็บข้อมูลของผู้ขอสินเชื่อ ในเมืองไทย การจะขอสินเชื่อ ถ้าเกิดเช็คประวัติแล้ว ขึ้นบัญชีดำ ติดแบล็กลิสต์แล้ว

ก็ไม่ต่างจากคน “ติดคุก” ประวัติเสีย จะล้างประวัติออก ก็ “ไม่หมด” พลอยให้หมดหนทาง “หากิน”

ที่น่ากลัวคือ  ธนาคาร และกิจการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการขอ การปล่อย และการอนุมัติ “สินเชื่อ” ต่างใช้ข้อมูลกลางเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งในการตัดสินใจว่า จะปล่อย “กู้” หรือไม่?

คำแนะนำสำหรับผู้ที่ติดเครดิตบูโร

1) เปิดเผยรายรับ (คงเหลือ) ที่แท้จริงของเรากับธนาคารที่เราติดหนี้ ต้องเอา “ความจริง” ไปพูดกับทางธนาคาร

 

2) วิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของเราโดยลองเอาอัตราดอกเบี้ยของแต่ละ ธนาคาร(ดูได้จาก web ของแต่ละธนาคาร) กับระยะเวลาในการชำระหนี้มาหารเฉลี่ยและให้มีเงินเหลือประมาณ 15% เป็นอย่างน้อย

 

3) เข้าปรึกษากับฝ่ายสินเชื่อโดยตรงและแจ้งความจำนงว่าจะเอามาชำระหนี้ดังกล่าว โดยเปิดเผยรายรับจริงทั้งหมดและเปรียบเทียบให้สินเชื่อดู

พอดีได้ไปอ่านบทความของคุณประเวศ ประภานุกูล เห็นถึง “เจตนาอันบริสุทธิ์” และเห็นว่าเขียน และนำเสนอเรื่องนี้ได้
“ละเอียด”  น่าจะนำมาเสนอต่อในวงกว้าง

ใครที่มีข้อคิด ข้อเขียนดี ๆ  อยากเผยแพร่ ขอให้ติดต่อที่ e-mail  druthit@druthit.com  ยินดีเป็นสื่อกลางเผยแพร่

สาระสำคัญของการบริหารจัดการคือ “การแก้ปัญหา”  ปัญหามีไว้แก้ ไม่ใช่มีไว้กลุ้ม
กิจการ SMEs และบุคคลต่างๆ ประสบปัญหากับ “เครดิตบูโร” กันมากมาย
อ่านบทความนี้แล้ว อย่างน้อยก็ได้ตระหนัก และรับรู้ความจริงว่า “เครดิตบูโร” ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอย่างที่คนทั่วไปคาดคิด
เช่นเดียวกับคนไม่เคยมีเรื่อง ถูกหาเรื่อง กลั่นแกล้ง ใส่ความ ใส่ร้าย ไปร้องทุกข์ แจ้งความ ดำเนินคดีกับ “ตำรวจ”
ส่งสำนวนให้ “อัยการ” สั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องศาล หรือถูกโจทก์กลั่นแกล้ง ใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริต แต่งทนายฟ้อง “ศาล”
ด้วยตนเอง ก็อย่าแปลกใจ หรือประหลาดใจ

ชีวิตไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอื่นใด ถ้าครั้งหนึ่งในชีวิต จะต้องถูกจับ “พิมพ์ลายนิ้วมือ” ตรวจ “ประวัติอาชญากร”
จะต้องประกันตัวในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ หรือชั้นศาล
และไม่แปลกที่จะต้องตกเป็น “จำเลย” ในคดีความแพ่ง อาญา แรงงาน ลิขสิทธิ์ หรืออื่นๆ ฯลฯ

เพราะถึงที่สุด  ถ้าคุณเป็นคนจริง คิดจริง พูดจริง ทำจริง ในที่สุด ก็จะ “แคล้วคลาด” ปลอดภัย จากเจ้ากรรมนายเวร และสรรพสิ่ง

ผมสังเกตดู ปัญหากิจการ SMEs ที่ผมสัมผัสคือ เรื่องการกู้เงิน โดยเฉพาะการเสียเครดิตเนื่องจาก “เครดิตบูโร”

ก็เลยอยากเผยแพร่ความรู้เรื่องนี้ สู่สาธารณชนในวงกว้าง

เว็บไซต์นี้ เขียนเกี่ยวกับ “บูโร” ไว้รวบรัด เข้าใจง่าย โดยผู้เขียนนามแฝงชื่อ “ลุงแจ่ม”

http://www.oknation.net/blog/loongjame/2012/07/19/entry-1

ติดเครดิตบูโรกู้ได้

ทุกวันนี้ใครได้ยินคำว่า ติด “เครดิตบูโร” ถึงกับหนาว แทบจะหมดสิ้นเครดิต กู้สินเชื่อใครไม่ได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะจากฝ่ายสินเชื่อของธนาคารรวมถึงธุรกิจ ธุรกรรมอื่นๆ ก็ไม่อาจทำได้

จริงๆ แล้ว เครดิตบูโรทำหน้าที่เป็นเพียงตัวกลางในการรับและจัดเก็บข้อมูลเครดิตให้กับ สถาบันการเงินสมาชิกที่เป็นสถาบันการเงินที่ต้องการใช้ข้อมูลเครดิตจะต้อง สมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของเครดิตบูโร และต้องนำส่งข้อมูลสินเชื่อของลูกค้าที่มีอยู่ของตนเองให้กับเครดิตบูโรทุก เดือน

“ประชาชนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดว่าถ้าค้างชำระหนี้เกิน 3 ปี แล้วข้อมูลเครดิตจะถูกลบ หรือถ้าแบงก์ไม่ติดตามทวงถามหนี้เกินอายุความแล้ว ข้อมูลเครดิตจะถูกลบ หรือออกจากระบวนการล้มละลายแล้วข้อมูลเครดิตจะถูกลบความเข้าใจทั้งหมด ที่กล่าวมานั้นไม่เป็นความจริง ข้อมูลเครดิตจะยังคงอยู่หากยังมีหนี้ค้างชำระอยู่ ซึ่งจะปรากฏตามข้อเท็จจริง มีความถูกต้อง แต่บางครั้งจะไม่ถูกใจ” เช่น นาย ก มีการค้างชำระบัตรเครดิต 20,000 บาทในเดือนสิงหาคม 2554 ต่อมาชำระในเดือนธันวาคม 2554 รายงานก็จะระบุว่า เดือนสิงหาคมมียอดค้างชำระ 20,000 บาท

ข้อมูลในเดือนธันวาคมก็จะมียอดค้างเท่ากับ 0 และปรากฏข้อมูลว่าไม่มีการค้างชำระ สถานะบัญชีปกติ “ข้อมูลเครดิตจะมีการส่งเข้ามาทุกเดือน เช่น เริ่มมีบัญชีสินเชื่อบัตรเครดิตเดือนที่ 1 พอครบสิบเดือนก็จะมีการส่งข้อมูลเข้ามาตามข้อเท็จจริง พอเดือนที่ 2 ก็ส่งเข้ามาเรื่อยๆ จนครบ 36 เดือน หรือข้อมูลมี 36 บรรทัด ข้อมูลเดือนที่ 1 จะไม่ไปทับข้อมูลเดือนที่ 2 นะครับ แต่เมื่อมีข้อมูลเดือนที่ 37 เข้ามาใหม่ ข้อมูลเดือนที่ 1 ซึ่งอยู่กับเครดิตบูโรมาแล้ว 36 เดือนหรือ 3 ปี ก็จะถูกลบออกไป

ตามตัวอย่างหากเดือนที่ 1 ไม่จ่ายแล้วลากยาวมาถึงเดือนที่ 36 และเดือนที่ 37 ก็ยังไม่จ่ายหนี้ ข้อมูลตังแต่เดือนที่ 2 จนถึงเดือนที่ 37 ก็จะแสดงว่าค้างชำระคิดเป็น 36 บรรทัด ขณะที่เดือนที่ 1 ก็จะถูกลบออกไป นี่คือสิ่งที่เข้าใจกันผิดมากที่สุด”

“การไม่ต้องการให้ใคร สถาบันการเงินไหนเห็นประวัติที่เราอาจไม่ชอบ แล้วขอให้เครดิตบูโรย้อนไปลบข้อมูลในเดือนนั้นๆ ไม่สามารถทำได้ เพราะประวัติของคนเรา ของบริษัทจะขาดหายไปไม่ได้ เช่นเดียวกันกับสมุดพกการเรียน การศึกษา สอบได้อย่างไร คะแนนอย่างไร ในเทอมไหนก็จะรายงานออกมาอย่างนั้น”

นายสุรพล โอภาสเถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตรแห่งชาติ จำกัด ยืนยันว่า เครดิตบูโรไม่มีและไม่เคยมี Blacklist “ที่พูดๆ กันนั้น ผมเคยถามว่า คำนิยามของ Blacklist คืออะไร บางทีคนพูดยังบอกไม่ได้ ซํ้าร้ายยังไม่เคยเห็นรายงานข้อมูลเครดิตหรือรายงานเครดิตบูโรด้วย เป็นการพูดตามๆ กันมา ซึ่งปัญหานี้เครดิตบูโรทั่วโลกล้วนถูกท้าทาย ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เป็นภารกิจของทุกคนในองค์กรและทุกภาคส่วนของระบบสถาบันการเงินที่ต้องช่วย กันสื่อสาร”

คนไทยยุคใหม่ต้องมีวินัยทางการเงิน ใช้ครบ ใช้ตรง ตามเงื่อนไข “เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา”

ข้อมูลที่สถาบันการเงินส่งมาให้กับเครดิตบูโรนั้น จะเป็นข้อมูลสินเชื่อลูกค้าของสถาบันการเงินนั้นๆ ที่ได้รับการเข้ารหัสข้อมูลขั้นสูง ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็ต้องแจ้งให้ลูกค้าทราบว่า ได้นำส่งข้อมูลเครดิตให้กับเครดิตบูโรภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้นำส่งข้อมูลครั้งแรก ภาษาชาวบ้านคือ หลังเปิดบัญชีสินเชื่อ หลังการเปิดบัตรเครดิตวันใด หลังจากนั้นไม่เกิน 30 วันต้องมีหนังสือถึงคนคนนั้น ว่าเนื่องจากสถาบันการเงินดังกล่าวเป็นสมาชิกเครดิตบูโรจึงต้องส่งข้อมูลของ คนที่ได้รับอนุมัติและเปิดบัญชีสินเชื่อนั้นๆ ให้กับเครดิตบูโรตามที่กฎหมายกำหนด ข้อมูลเครดิตที่ถูกส่งมาก็จะถูกเก็บรักษาเป็นความลับไว้เป็นอย่างดี กระทั่งมีหนังสือให้ความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล และสถาบันการเงินสมาชิกขอเรียกดูข้อมูลเครดิตของคนที่ยืนยันขอสินเชื่อราย นั้น เครดิตบูโรจึงจะเปิดเผยข้อมูลเครดิตของผู้ขอสินเชื่อรายนั้นให้สถาบันการ เงินดูได้ หากใครดำเนินการต่างไปจากนี้มีโทษในทางอาญา อาจถึงขั้นติดคุกติดตะราง ไม่รวมถึงการที่จะถูกปรับเป็นเงินจำนวนมาก เป็นต้น

ข้อมูลที่จัดเก็บได้แก่ บัญชีสินเชื่อ บัญชีบัตรเครดิต บัญชีสินเชื่อบ้าน บัญชีสินเชื่อรถยนต์ และบัญชีสินเชื่อบุคคล โดยในรายละเอียดของแต่ละบัญชีนั้นจะมีข้อมูล ประเภทบัญชี ประวัติการชำระเงิน ยอดเงินคงค้าง และประวัติการผิดนัดชำระ (ถ้ามี) โดยกำหนดระยะเวลาการจัดเก็บข้อมูลเครดิต

ย้อนหลังไม่เกิน 3 ปี หรือ 5 ปี แล้วแต่ประเภทของสินเชื่อ กล่าวคือถ้าเป็นสินเชื่อบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิตจะเก็บไม่เกิน 3 ปี หรือ 36 เดือนย้อนหลัง ซึ่งระยะเวลาการจัดเก็บดังกล่าวเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและในระบบสากลระยะ เวลามาตรฐานขั้นต่ำก็กำหนดให้เก็บไม่เกิน 3 ปี

 

แรกเริ่ม อยากเขียนเอง แต่เห็นคุณประเวศ เขียนได้ดีแล้ว ก็เลยขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ

จะอ่านจากลิงก์นี้

http://thaienews.blogspot.com/2011/03/blog-post_3048.html

หรือจะอ่านจากตรงนี้ก็ได้

กฎหมายเครดิตบูโร มีเนื้อหาโดยรวมเกี่ยวข้องกับบุคคล 2 ฝ่าย คือ เจ้าหนี้ และลูกหนี้ โดยสร้างภาพว่า เครดิตบูโรเป็นคนกลางที่เก็บข้อมูลเท่านั้น แต่กฎหมายฉบับนี้ถูกกำหนดโดยรัฐบาลตัวแทนระบบทุนนิยมเท่านั้น จึงไม่ต่างจากการกำหนดโดยฝ่ายเจ้าหนี้ฝ่ายเดียว เกิดการมัดมือชก มีการฮั้วกันไม่ปล่อยสินเชื่อคนที่ติด“BLACK LIST” กฎหมายฉบับนี้จึงไม่ใช่อะไรเลย นอกจาก รอยสักทาสยุคดิจิตอล เท่านั้น แต่บทความนี้มีแนวทางดัดหลังแก้เกม หากท่านติดแบล็กลิสต์ กู้ไม่ผ่าน หรือโดนตามทวงหนี้

โดย ประเวศ ประภานุกูล
เดิมทีบทความนี้ผมเริ่มเขียนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 และเขียนเสร็จเดือนสิงหาคม 2550 โดยต้องการวิเคราะห์และชำแหละให้เห็นธาตุแท้ของเครดิตบูโร

ซึ่งทุกวันนี้ดูเหมือนจะได้รับการยอมรับกันทั่วไปให้อยู่คู่กับสังคมไทย โดยถูกสร้างภาพว่า เครดิตบูโรคือสิ่งจำเป็นเพื่อใช้ในการตรวจสอบเครดิตของลูกค้าของสถาบันการ เงิน

แต่สิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับเครดิตบูโรคือเครื่องมือข่มขู่ลูกหนี้ของพวกรับ จ้างทวงหนี้ โดยคำขู่คลาสสิค คือ หากไม่จ่ายก็จะติด BLACK LIST ไม่สามารถกู้เงินหรือทำบัตรเครดิตได้อีก

บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวกับกองบรรณาธิการ ผู้เขียนขอรับผิดชอบเองแต่เพียงผู้เดียว เมื่อปี 2549 เคยได้ยินคนเล่าว่า ตอนไปสมัครงาน บริษัทให้ไปตรวจข้อมูลเครดิตมาประกอบการพิจาณาใบสมัคร(ก็แล้วข้อมูลเครดิต มันเกี่ยวอะไรกับการเข้าทำงานวะ)

และผมก็ยังเคยได้รับโทร.ทวงค่าโทร.มือถือแทนเพื่อน คนโทร.แจ้งว่าจะส่งข้อมูลเครดิต(BLACK LIST) (แต่ทางเครดิตบูโรเคยแจ้งว่า กิจการโทร.มือถือไม่ใช่สมาชิกของเครดิตบูโร จึงส่งข้อมูลไม่ได้)

ต่อมาบริษัทรับจ้างทวงหนี้ของโทร.มือถือเหิมเกริมถึงขนาดส่งจดหมายทวงหนี้แจ้งว่าจะส่งเข้าระบบหนี้เสีย(BLACK LIST)

ทุกวันนี้พวกนายทุนสามานย์โดยรัฐพยายามรุกคืบเข้าควบคุมประชาชนอยู่แล้ว แม้แต่ข้อมูลสถานที่ทำงาน สำนักงานประกันสังคมยังเอามาขายเลยในราคา 20-50 บาทต่อราย

และยังได้รับคำยืนยันจากคนที่เคยยื่นแบบเสียภาษีทางอินเตอร์เน็ตว่า ถ้ายื่นแบบทางอินเตอร์เน็ตแล้ว คนอื่นที่มีข้อมูลเลขประจำตัวประชาชนกับวันเกิด สามารถเข้าไปดูข้อมูลได้

ก็เลยอยากจะเตือนไว้ในที่นี้เลยว่า อย่ายื่นแบบเสียภาษีทางอินเตอร์เน็ตเลยจะดีกว่า

แม้แต่พวกรับจ้างติดตามยึดรถของไฟแนนซ์(ได้ค่าจ้างตามการยึดรถได้ หากยึดไม่ได้ก็จะไม่ได้เงิน) ก็ยังจ้างด่านเก็บเงินทางด่วนให้เฝ้าดูรถยนต์คันที่ตามยึด โดยหากรถยนต์คันที่กำหนดผ่านด่านเก็บเงิน เมื่อกล้องของด่านเก็บเงินเห็นทะเบียน คอมพิวเตอร์ของด่านเก็บเงินก็จะส่งสัญญาณเตือน พนักงานเก็บเงินประจำด่านก็จะโทร.แจ้งผู้ว่าจ้าง ผู้ว่าจ้างก็จะไปดักรอตามทางลงทางด่วน

แต่เรื่องนี้แก้ไม่ยาก แค่ติดทองเปลวที่เลขทะเบียนรถ คอมพิวเตอร์ของด่านเก็บเงินค่าผ่านทางด่วนก็จะไม่รู้ว่าเป็นรถคันที่ถูกจ้าง ให้เฝ้าดู

เหตุผลในการออก พรบ.การประกอบข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 (ดูหมายเหตุ พรบ.ดังกล่าว) สรุปได้ว่า เพื่อให้สถาบันการเงินมีข้อมูลการเป็นหนี้และการชำระหนี้ของลูกค้าเพียงพอ แก่การพิจารณาให้สินเชื่อ รวมทั้งให้เป็นกฎหมายคุ้มครองประชาชนผู้เป็นเจ้าของข้อมูล

มาดูกันว่าผลจากกฎหมายฉบับนี้จะเป็นตามที่หมายเหตุไว้อย่างสวยหรูหรือเปล่า

เครดิตบูโร คือบุคคล หรือหน่วยงาน หรือองค์กร ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลมาเก็บไว้ โดยมุ่งหมาย(ตามที่เขาพยายามบอก)ให้เป็นองค์กรกลาง และให้บริการข้อมูลที่เก็บไว้แก่สมาชิกหรือบุคคลทั่วไป ข้อมูลที่เก็บไว้(ตามที่เขาเรียกว่าข้อมูลเครดิต)

มี 2 ส่วน คือ ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน เขาเรียกว่าข้อมูลระบุตัว และข้อมูลการเป็นหนี้ ข้อมูลการเป็นหนี้นี้มี 2 แบบ คือ ข้อมูลที่เป็นกลางๆ และข้อมูลหนี้เสียที่เรียกกันว่า “BLACK LIST”

พรบ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 มีการแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)ในปี 2549 เบื้องต้นขอดูฉบับแรกก่อน แล้วเปรียบเทียบกับฉบับแก้ไขเพิ่มเติม(ผมได้ พรบ.การประกอบข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 จากแผ่นดิสก์รวมกฎหมายเอื้อเฟื้อโดยคุณเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความคนปัจจุบัน(หมายถึงปี 2551) ที่ส่งให้หลายปีแล้ว

ส่วนฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดยความอนุเคราะห์ของวารสารกฎหมายใหม่(-ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย)โดยในส่วนของฉบับแก้ไขเพิ่มเติมจะนำมาเปรียบเทียบไปพร้อมกับการ วิเคราะห์ในตอนท้าย

โครงสร้างของเครดิตบูโร จะต้องเป็นบริษัท ห้ามผูกขาดการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต(เครดิตบูโรมีมากกว่า 1 บริษัทได้) ให้บริการกับสมาชิกและสมาชิกเท่านั้นที่ส่งข้อมูลเข้าไปเก็บได้

ผู้ที่จะเป็นสมาชิกของเครดิตบูโรได้ จะต้องเป็นสถาบันการเงินเท่านั้น การส่งข้อมูล การใช้บริการ(ตรวจสอบข้อมูล) จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมโดยคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต การฝ่าฝืนมีโทษอาญา

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ให้บริษัทข้อมูลเครดิตเท่านั้นประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตได้ (ห้ามผูกขาด ?) ห้ามมิให้ผู้ใดประกาศหรือโฆษณาว่าแก้ไขข้อมูลได้ ห้ามมิให้ใครกีดกันหรือขัดขวางการให้ข้อมูลแก่บริษัทข้อมูลเครดิต (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “เครดิตบูโร”) หรือทำให้เกิดการผูกขาดการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต

การฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 5-10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในส่วนของการให้ความคุ้มครองเจ้าของข้อมูล(ตามเหตุผลในการตรา พรบ.ฉบับนี้ เดี๋ยวค่อยมาดูกันว่าคุ้มครองเจ้าของข้อมูลได้จริงหรือไม่) เมื่อสมาชิกส่งข้อมูลแล้วต้องแจ้งเจ้าของข้อมูลทราบภายใน 30 วัน ฝ่าฝืน(ไม่แจ้ง)มีโทษจำคุณ 5-10 ปีหรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

การส่งข้อมูลต้องส่งข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยอยู่เสมอ ถ้ารู้ว่ามีความไม่ถูกต้องต้องแก้ไขและจัดส่งข้อมูลที่ถูกต้องให้เครดิตบูโร ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาทจนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้อง(แต่เปรียบเทียบปรับได้)

ในกรณีที่มีการโต้แย้งข้อมูลเครดิต มาตรา 19 ได้กำหนดวิธีการแก้ปัญหาไว้ เดี๋ยวค่อยมาดูกันตอนท้าย

การเปิดเผยข้อมูลต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากเจ้าของข้อมูล เว้นแต่เป็นกรณีที่จำเป็นตามกฎหมาย เช่น คำสั่งศาล ฯลฯ เป็นต้น ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 5-10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใช้บริการ(ที่ได้รับข้อมูลไป)ต้องใช้ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ตามมาตรา 20 เท่านั้น และห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลแก่ผู้อื่นที่ไม่มีสิทธิรับรู้ข้อมูล ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 5-10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ส่วนผู้ที่ได้รับข้อมูลด้วยวิธีอื่น เช่น คำสั่งศาล ฯลฯ ต้องเก็บข้อมูลไว้เป็นความลับ (แต่มีข้อยกเว้น) ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 5-10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เจ้าของข้อมูลมีสิทธิทราบข้อมูลของตนจากเครดิตบูโรได้ แต่เครดิตบูโรมีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตรวจสอบข้อมูลได้ตามที่คณะ กรรมการกำหนดแต่ต้องไม่เกิน 200 บาท(ทุกวันนี้เก็บเต็มเพดานเลย คณะกรรมการช่างเห็นใจประชาชนเจ้าของข้อมูลเสียจริง)

เครดิตบูโรที่มีอยู่ทุกวันนี้ชื่อ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2542 เดิมชื่อบริษัท ระบบข้อมูลกลาง จำกัด ต่อมาวันที่ 6 ธันวาคม 2543 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ข้อมูลเครดิตกลาง จำกัด วันที่ 19 พฤษภาคม 2548 จึงเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด จนทุกวันนี้

ตอนที่เปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ได้ควบรวมบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งประเทศไทย จำกัด เข้ามาด้วย พอเริ่มต้นก็เห็นความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย ที่ห้ามผูกขาดการประกอบกิจการข้อมูลเครดิต อ้อ..กฎหมายให้ข้อยกเว้นไว้ว่า การควบรวมกิจการจะต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการก่อน การรวมบริษัทข้อมูลเครดิตอื่นเข้ามาก็เลยไม่ใช่การผูกขาด

และการประกอบกิจการธุรกิจข้อมูลเครดิตก็ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการก่อน ดังนั้น การที่คณะกรรมการไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นประกอบกิจการธุรกิจข้อมูลเครดิต ก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการ ทำให้ทุกวันนี้มีบริษัทข้อมูลเครดิตบริษัทเดียวเอง ไม่ใช่การผูกขาดการประกอบกิจการธุรกิจข้อมูลเครดิตซะหน่อย ทำไมถึงร่างกฎหมายห้ามผูกขาดการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต

แล้วทำไมถึงต้องควบรวมบริษัทข้อมูลเครดิตให้เหลือเพียงบริษัทเดียว  ถ้ามีบริษัทข้อมูลเครดิตมากกว่า 1 บริษัท เช่นมี 2 บริษัท ก็จะมีปัญหาตามมาว่า บรรดาสถาบันการเงินจะต้องเป็นสมาชิกทั้ง 2 แห่งหรือไม่ หากเป็นสมาชิกเพียงแห่งเดียวได้ ข้อมูลของลูกหนี้ของบรรดาสถาบันการเงินก็จะกระจายไปตามบริษัทข้อมูลเครดิต ตามที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งเป็นสมาชิก

เมื่อมีคนมาขอกู้เงิน ก็ต้องตรวจข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตทั้ง 2 แห่ง สร้างความยุ่งยาก แต่หากบังคับให้เป็นสมาชิกทั้ง 2 แห่ง บรรดาสถาบันการเงินก็ต้องเสียค่าสมาชิกเพิ่มเป็น 2 เท่า(เคยได้ยินมาว่าค่าสมาชิกสูงถึงเลข 6 หลัก) และก็ต้องส่งข้อมูลไปทั้ง 2 แห่ง แต่ได้ใช้ประโยชน์ด้วยการตรวจข้อมูลเพียงแห่งเดียวเ พราะตรวจข้อมูลที่ไหนก็ได้เหมือนกัน เท่ากับเสียค่าสมาชิกเพิ่มเปล่าๆ

ก็เลยได้ข้อสรุป 3 ฝ่าย คือ เครดิตบูโร นายทุนปล่อยกู้(สถาบันการเงิน) คณะกรรมการว่า ควรจะรวมบริษัทข้อมูลเครดิตทั้ง 2 แห่งเข้าเป็นบริษัทเดียวกัน พร้อมกับไม่มีการอนุญาตให้ตั้งบริษัทข้อมูลเครดิตอีกต่อไป การห้ามผูกขาดการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตในกฎหมาย จึงเป็นเพียงการตบตาหลอกลวงประชาชนเท่านั้น

ชื่อของเครดิตบูโรก็บอกอยู่แล้วว่า จะต้องให้บริการเกี่ยวข้องกับเครดิตหรือข้อมูลเครดิต และจะต้องมีบุคคลอื่นมาเกี่ยวข้องเครดิตบูโรจึงจะดำเนินกิจการได้ คือ สมาชิก เพราะมีแต่สมาชิกเท่านั้นที่ส่งข้อมูลเข้าไปเก็บได้ ส่วนการใช้บริการ(ขอตรวจข้อมูล)ดูเหมือนจะไม่จำกัดแต่ต้องได้รับความยินยอม เป็นหนังสือจากเจ้าของข้อมูล

เพียงแต่กฎหมายจำกัดการใช้ข้อมูลว่าจะต้องใช้เพื่อประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อเท่านั้น

อีกคนที่ขาดไม่ได้คือ เจ้าของข้อมูล ซึ่งก็คือลูกค้าหรือลูกหนี้ของสมาชิกนั่นเอง คนที่จะเป็นสมาชิกได้จะต้องเป็นสถาบันการเงินเท่านั้น ซึ่งก็คือธนาคารพาณิชย์นั่นเอง(รวมทั้งพวกไฟแนนซ์กับลิสซิ่งด้วย)

แล้วบรรดาพวกน็อนแบงก์-non bank(สถาบันการเงืนที่ไม่ใช่ธนาคาร)ปล่อยกู้ง่ายดอกโหด เข้ามาเป็นสมาชิกได้อย่างไร คำตอบอยู่ในมาตรา 3 พรบ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ.2545 ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “สถาบันการเงิน” ว่า นิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหรือดำเนินกิจการในราชอาณาจักร ดังนี้……….(9) “นิติบุคคลอื่นที่ประกอบกิจการให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติตามที่คณะ กรรมการประกาศกำหนด”

พวกน็อนแบงก์ที่ปล่อยกู้ดอกโหด ก็เลยเป็นสมาชิกเครดิตบูโรได้(ตรงนี้ยังมีปัญหาข้อมูลยอดหนี้ที่น็อนแบงก์ ส่งเข้าไป เป็นข้อมูลที่เป็นจริงหรือไม่(ถ้าไม่จริงมีโทษ)เพราะรวมดอกเบี้ยเกินอัตรา ที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่ใช่ประเด็นในที่นี้)

แต่ยังก่อนครับ ยังไม่จบแค่นั้น ในมาตรา 3 ยังให้คำจำกัดความคำว่าสินเชื่อว่า การให้กู้ยืมเงิน……………..เป็นเจ้าหนี้เนื่องจากได้จ่ายหรือสั่งให้ จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ของผู้เคยค้า……..และธุรกรรมอื่นใดตามที่คณะ กรรมการประกาศกำหนด

ทีนี้ก็ไม่น่าแปลกใจแล้วว่าทำไม AIS บริษัทมือถือทั้งหลาย ถึงได้กล้าส่งจดหมายข่มขู่ว่าจะส่งข้อมูลเข้า“BLACK LIST” เขาคงอยากผลักดันให้กิจการให้บริการโทรศัพท์รายเดือนเป็นสินเชื่อในความหมาย ของ ธุรกรรมอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

จากนั้นก็เป็นสถาบันการเงินในความหมายว่า นิติบุคคลอื่นที่ประกอบกิจการให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติตามที่คณะกรรมการ กำหนด ทีนี้กิจการโทรศัพท์มือถือก็เป็นสมาชิกเครดิตบูโรได้ แล้วพอใครค้างจ่ายค่าโทรศัพท์มือถือก็จะติด“BLACK LIST”

และถ้ารุกคืบเข้าไปในกิจการโทรศัพท์มือถือได้ อีกหน่อยกิจการที่ให้เครดิตลูกค้า เช่น ส่งสินค้าให้ก่อน จ่ายเงินทีหลัง(อาจจะกำหนดให้วางบิลเรียกเก็บเงินด้วยหรือไม่ก็ได้ เช่นกำหนดให้จ่ายภายใน 1 เดือนหลังส่งสินค้า หรือจ่ายภายใน 1 เดือนนับแต่วางบิล)ก็ถือว่าเป็น นิติบุคคลอื่นที่ประกอบกิจการให้สินเชื่อเป็นทางการค้าปกติตามที่คณะกรรมการ ประกาศกำหนดได้

ผมไม่ใช่คนมองโลกในแง่ร้าย ผมเพียงแต่มองโลกตามความเป็นจริง จะเป็นไปได้อย่างไรที่สมาชิกเครดิตบูโรจะถูกขยายวงออกไป

ลองดูที่คณะกรรมการก็รู้ คณะกรรมการมีทั้งหมด 17 คน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 12 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ตัดตำแหน่งเลขานุการ(เลือกจาก ธปท.ดังกล่าวข้างต้น)ออก

เริ่มที่หัวก่อน ประธานกรรมการคือ ผู้ว่า ธปท. เป็นคนออกประกาศเอื้อประโยชน์ให้น็อนแบงก์คิดดอกเบี้ยได้ถึง 28 % ผู้ว่า ธปท.คนปัจจุบัน(ขณะเขียนบทความนี้คือ นางธาริสา)

พอเข้ามาถึงก็ออกประกาศขึ้นดอกเบี้ยบัตรเครดิตเป็น 20 % กรรมการคนอื่นๆดูแล้วมาจากฝ่ายการเมืองหรืออิงกับฝ่ายการเมืองถึง 8 จาก 12 คน แค่นี้ก็เกินครึ่งแล้ว แต่คนร่างกฎหมายคงยังไม่ชัวร์ว่าจะคุมเสียงคณะกรรมการอยู่ ก็เลยกำหนดให้ฝ่ายการเมือง(คณะรัฐมนตรี)แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 5 คน

และในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นอกจากคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ยังกำหนดคุณสมบัติเฉพาะตัวอีก มีข้อหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ต้องไม่มีตำแหน่งหรือมีหน้าที่หรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในเครดิตบูโรหรือ ผู้ควบคุมข้อมูลหรือผู้ประมวลผลข้อมูล  แต่เป็นตัวแทนจากสถาบันการเงิน(สมาชิกของเครดิตบูโร)ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กำหนดไว้ว่าต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการ ธนาคาร 1 คน

เท่ากับให้เอานายแบงค์มาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชัดๆ และสามารถตั้งตัวแทนจากธนาคารได้ถึง 2 คนด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่มีฝ่ายลูกหนี้หรือเจ้าของข้อมูลเลย เอาเป็นว่าคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิตแบ่งโควต้ากัน 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายการเมืองกับฝ่ายสถาบันการเงินหรือก็คือสมาชิกเครดิตบูโรหรือฝ่ายเจ้า หนี้ที่ส่งข้อมูลเข้าไปเก็บ โดยมีบุคคลที่น่าเชื่อถือได้เป็นไม้ประดับ

เพื่อช่วยสร้างภาพให้กับคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต จึงเป็นอันว่าฝ่ายการเมืองและนายทุนจากสถาบันการเงินคุมคณะกรรมการได้หมด

และก็อย่าลืมว่าพวกนายทุนเป็นผู้สนับสนุนเงินค่าใช้จ่ายเลือกตั้งให้กับพรรค การเมือง(ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม ขอบอกไว้ตรงนี้เลยว่า ถ้าจะพูดว่าผมมีอคติกับนักการเมือง ผมก็ยอมรับ เพราะตั้งแต่จำความได้ ผมยังไม่เคยเห็นนักการเมืองคนไหนทำอะไรเพื่อประชาชนเลย)

หลักการอีกอย่างของเครดิตบูโรคือให้บริการข้อมูลเพื่อให้สถาบันการเงิน ใช้ประกอบการพิจารณาให้สินเชื่อ(ปล่อยกู้)

ข้อมูลที่ได้จากเครดิตบูโรจึงไม่ใช่ตัวตัดสินว่าจะกู้เงินจากธนาคารได้หรือ ไม่ แต่ในทางปฏิบัติทุกวันนี้ ถ้าติด“BLACK LIST” ในเครดิตบูโรแล้ว ก็เลิกคิดกู้เงินหรือทำบัตรเครดิตจากธนาคารหรือนอนแบงก์ได้เลย เพราะทุกแห่งจะให้คำตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ผ่าน(นี่คงเป็นคำตอบได้ดีว่าทำไม AIS ถึงอยากเข้าเป็นสมาชิกเครดิตบูโร)

คนที่มาปรึกษาผม ในฐานะที่ผมเป็นทนายความหลายรายเจอปัญหานี้แล้ว(อันที่จริงก็มีวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เอาไว้ว่ากันตอนท้าย)

ซ้ำข้อมูลการเป็นหนี้ที่เครดิตบูโรเก็บไว้ ก็เป็นข้อมูลที่เจ้าหนี้เป็นฝ่ายส่งเข้าไป แน่นอนละว่าเจ้าหนี้จะต้องส่งข้อมูลเข้าไปตามที่เขาคิดว่ายังเป็นหนี้อยู่ โดยไม่สนใจว่าเป็นหนี้ที่ชอบธรรมตามกฎหมายหรือไม่อยู่แล้ว ซึ่งก็รวมทั้งดอกเบี้ยที่ผิดกฎหมาย หนี้ที่ฟ้องไม่ได้หรือถึงฟ้องศาลก็ยกฟ้องหรือตัดลดยอดหนี้ลง หนี้ที่ขาดอายุความแล้ว และข้อมูลก็จะถูกเก็บไว้จนกว่าครบ 3 ปีหลังลูกหนี้จ่ายหนี้หมด(ตามที่เจ้าหนี้คิด)

ตัวอย่างเช่น หากหนี้ขาดอายุความแล้ว เจ้าหนี้ก็ไม่สามารถฟ้องคดีได้ หรือถึงฟ้องแต่หากลูกหนี้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความ ศาลก็จะต้องยกฟ้อง แต่ข้อมูลว่าคุณยังเป็นหนี้ก็ยังอยู่ และตราบใดที่คุณไม่จ่าย(หนี้ที่สิ้นผลบังคับตามกฎหมายหรือไม่สามารถฟ้องร้อง ได้ดังกล่าว)ข้อมูลว่าคุณยังเป็นหนี้ก็จะอยู่ไปจนครบ 3 ปีหลังจากคุณตาย

สรุปแล้ว เครดิตบูโรเป็นเพียงเครื่องมือทวงหนี้ของนายทุนเท่านั้น

สิบกว่าปีก่อนซิตี้แบงก์ได้เริ่มว่าจ้างสำนักงานทนายความให้ทวงหนี้แทน โดยกำหนดค่าตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดเงินที่ตามเก็บได้ โดยไม่คำนึงว่าจะตามทวงได้ด้วยวิธีไหน นั่นคือจุดเริ่มต้นของวิธีการทวงหนี้นอกระบบ โดยพัฒนามาเป็นสำนักงานรับจ้างทวงหนี้(ในชื่อสำนักงานกฎหมาย)

สำนักงานพวกนี้จะมีลักษณะเหมือนกันเป็นส่วนใหญ่อยู่อย่างหนึ่งคือ  เจ้าของหรือหัวหน้าสำนักงานไม่ใช่ทนายความ ไม่ได้จบนิติศาสตร์ด้วยซ้ำ ก็เลยจ้างพนักงานมาอบรมวิธีการทวงหนี้ออกอาละวาดได้โดยไม่อยู่ในกำกับของสภา ทนายความ  และทุกวันนี้ดูเหมือนสำนักงานพวกนี้จะระบาดเข้าไปรับงานในธนาคารพาณิชย์ทุก ธนาคาร ไม่เว้นแม้แต่ธนาคารที่ได้ชื่อว่าเก่าแก่ที่สุดก็ตาม(วันหลังถ้ามีโอกาสผมจะ ลองรวบรวมวิธีการทวงหนี้ของสำนักงานพวกนี้ดู)

แต่วิธีการทวงหนี้ของสำนักงานพวกนี้ก็ยังมีจุดอ่อน หากลูกหนี้ไม่กลัวตามที่ถูกขู่ ก็คงทำอะไรไม่ได้ และสิ่งที่สำนักงานพวกนี้พยายามเลี่ยง คือ การฟ้องคดีต่อศาล(บางสำนักงานก็ดูเหมือนจะไม่มีทนายความประจำเลยด้วยซ้ำ บางสำนักงานก็พยายามกดทนายความลงเป็นมนุษย์เงินเดือนให้ทำตามคำสั่งอย่าง เดียว ไม่ต้องคำนึงถึงจรรยาบรรณของวิชาชีพกันแล้ว) จึงต้องมีเครดิตบูโรขึ้นมาช่วยเสริมอีกแรง

ถ้าพูดโต้ตอบกัน เครดิตบูโรก็คงปฏิเสธว่าไม่ใช่เครื่องมือทวงหนี้ โดยอ้างเหตุผลสวยหรูต่างๆทางด้านเศรษฐกิจ และก็อ้างว่ามีมาตรการให้ความคุ้มครองเจ้าของข้อมูลอยู่แล้ว แต่ถ้าดูบทกำหนดโทษในกฎหมายแล้ว การส่งข้อมูลไม่ตรงตามจริงมีโทษเพียงปรับ แม้ว่าจะปรับค่อนข้างสูง(300,000 บาท และอีกวันละ 10,000 บาทจนกว่าจะแก้ไขให้ถูกต้อง)

แต่กฎหมายก็ให้อำนาจคณะกรรมการเปรียบเทียบที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง(มาจากฝ่ายการ เมืองอีกแล้ว) มีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ ซึ่งก็หมายความว่า จะปรับน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเท่าไรก็ได้ ซึ่งผิดหลักกฎหมายอาญา เพราะโทษขนาดนี้เกินกว่าลหุโทษ และความผิดที่เปรียบเทียบปรับได้ก็ต้องเป็นความผิดลหุโทษเท่านั้น

การกำหนดโทษไว้สูงจึงเป็นเพียงการตบตาประชาชนว่ากฎหมายให้ความคุ้มครองเจ้า ของข้อมูลเท่านั้น โดยผู้ออกกฎหมายไม่คาดว่าจะมีการลงโทษตามที่กำหนดไว้ ส่วนเรื่องที่กำหนดโทษไว้สูง อย่างเช่น การไม่แจ้งเจ้าของข้อมูลทราบถึงการส่งข้อมูล และข้อมูลที่ถูกส่งไป

การเปิดเผยข้อมูลแก่ผู้ไม่มีสิทธิรับรู้ข้อมูล มีโทษจำคุก 5-10 ปี หรือปรับ 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าพลาดอยู่แล้ว จึงเป็นการเขียนไว้หลอกชาวบ้านเท่านั้น

ส่วนเรื่องที่เครดิตบูโรมีโอกาสพลาด คือ การเปิดเผยข้อมูลโดยเจ้าของข้อมูลไม่ยินยอมซึ่งอันที่จริงก็ไม่น่าจะพลาดได้ อยู่แล้ว เพราะเวลาไปขอกู้บรรดาสถาบันการเงินก็จะบังคับให้เซ็นหนังสือยินยอมให้ตรวจ ข้อมูลและส่งข้อมูล และลูกหนี้ก็ต้องเซ็น เพราะไม่มีทางเลือก ซึ่งเดิมกำหนดโทษไว้สูงเช่นกัน แต่เครดิตบูโรก็ไม่อยากเสี่ยง ก็เลยออกกฎหมายแก้ไขโทษให้เหลือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งดูน่าจะยังสูงอยู่

แต่ทีเด็ดอยู่ตรงที่พอลดโทษแล้วก็ให้เปรียบเทียบปรับได้ทั้งที่มีโทษจำคุก สูงถึง 3 ปี เอาเป็นว่าช่วยเหลือพวกเดียวกันโดยไม่คำนึงถึงหลักกฎหมายเลย แต่ก็ต้องกำหนดโทษให้สูงเข้าไว้ก่อนเพื่อเป็นข้ออ้างว่า ให้ความคุ้มครองกับเจ้าของข้อมูลแล้วนะ
นอกจากนี้การผูกขาดการประกอบกิจการมีโทษสูงเช่นกัน แต่การควบรวมบริษัทโดยความยินยอมของคณะกรรมการไม่ใช่การผูกขาดนี่ อีกบริษัทเขาอยากเข้ามารวมเองและคณะกรรมการก็เห็นชอบด้วย แล้วหากมีคนยื่นขอตั้งบริษัทข้อมูลเครดิตเพิ่ม คณะกรรมการก็ไม่อนุญาตเอง ไม่เห็นจะเกี่ยวกับเครดิตบูโรซะหน่อย จะมาว่าผูกขาดได้อย่างไร

ส่วนการคุ้มครองเครดิตบูโร คือ การห้ามมิให้ผู้ใดประกาศหรือโฆษณาว่าแก้ไขข้อมูลได้ ห้ามมิให้ใครกีดกันหรือขัดขวางการให้ข้อมูลแก่เครดิตบูโร ยังคงกำหนดโทษไว้สูงและเปรียบเทียบปรับไม่ได้

สรุปได้ว่าในส่วนการคุ้มครองเจ้าของข้อมูลซึ่งผู้กระทำความผิดคือสถาบันการ เงิน เปรียบเทียบปรับได้ ส่วนการคุ้มครองเครดิตบูโรและสถาบันการเงิน เปรียบเทียบปรับไม่ได้ คงไม่ต้องบอกแล้วว่ากฎหมายฉบับนี้มุ่งคุ้มครองใครกันแน่ ทำไมรัฐถึงได้เอาใจเครดิตบูโรมากนัก รายชื่อกรรมการเครดิตบูโรคงจะให้คำตอบได้

ในส่วนความรับผิดทางแพ่ง กฎหมายกำหนดไว้เพียงว่าให้รับผิดทางแพ่งด้วย ไม่ได้กำหนดให้ความรับผิดเป็นพิเศษหรือไม่ได้กำหนดอัตราค่าเสียหายไว้ให้ ซึ่งแม้จะไม่กำหนดให้ ก็ต้องรับผิดทางแพ่งฐานละเมิดอยู่แล้ว การกำหนดไว้เช่นนี้ จึงไม่ต่างจากการไม่เขียนไว้เลย การบัญญัติให้มีความรับผิดทางแพ่งจึงเป็นแค่การเขียนหลอกประชาชนเท่านั้น

ถ้าพลาดไป ติด“BLACK LIST”เข้า ก็พอมีทางแก้ไขตามกฎหมายอยู่ อย่างเช่น ถ้าข้อมูลการเป็นหนี้ในเครดิตบูโรมีดอกเบี้ยที่เกินกว่าอัตราตามกฎหมายรวม อยู่ด้วย(เช่นพวกน็อนแบงก์) ก็สามารถโต้แย้งข้อมูลตามมาตรา 19 ได้ แต่ตามความเห็นผม น่าจะฟ้องเป็นคดีอาญาโดยฟ้องเองมากกว่า เพราะหากโต้แย้งไปที่เครดิตบูโรตามมาตรา 19 เครดิตบูโรก็จะต้องสอบสวน ก็สอบถามไปที่เจ้าหนี้คนแจ้งข้อมูลนั่นแหละ แล้วผลสอบจะเป็นอย่างไรก็คงเดาได้ไม่ยาก(อย่าลืมว่าพวกสถาบันการเงินเป็นคน จ่ายเงินค่าสมาชิกให้กับเครดิตบูโร)

หรือหากจะไปแจ้งความ ก็อย่าลืมว่าคณะกรรมการมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ แล้วหากเครดิตบูโรหรือพนักงานสอบสวนเห็นว่าการแจ้งข้อมูลหนี้ชอบแล้ว เรื่องก็จบ การฟ้องคดีเองจึงเป็นการดีที่สุดเพราะคดีขึ้นศาลเลย เป็นการดักทางไม่ให้คณะกรรมการกล้าเปรียบเทียบปรับด้วย
ในกรณีที่ ต้องการกู้เงินจากธนาคารแต่ติด“BLACK LIST” ก็เล่นไม่ยาก ก่อนอื่นตรวจข้อมูลของตนก่อน แล้วดูว่ามีทางโต้แย้งข้อมูลอย่างไรได้บ้าง เช่น ชำระหนี้หมดแล้ว ฯลฯ เสร็จแล้วก็ไปยื่นเรื่องกู้พร้อมกับไปโต้แย้งข้อมูลที่เครดิตบูโร ตรงนี้ต้องกะเวลาให้ดี ให้โต้แย้งข้อมูลก่อนธนาคารตรวจสอบข้อมูลเล็กน้อย หรือจะโต้แย้งข้อมูลก่อน แล้ววันรุ่งขึ้นค่อยไปขอกู้ก็ได้ เมื่อโต้แย้งข้อมูลแล้ว เครดิตบูโรจะต้องสอบสวนด้วยการแจ้งให้เจ้าหนี้ชี้แจง

ในระหว่างนี้มาตรา 19 กำหนดให้บันทึกข้อมูลไว้ตามที่มีการโต้แย้ง เช่น ถ้าโต้แย้งว่าชำระหนี้ครบแล้ว ก็ต้องบันทึกข้อมูลว่า บัญชีปิดแล้ว และเมื่อธนาคารที่ท่านขอกู้เข้าไปตรวจสอบข้อมูล(หลังจากท่านโต้แย้งข้อมูล 1 วัน) ก็จะพบข้อมูลว่าบัญชีหนี้ของท่านปิดแล้วหรือชำระครบถ้วนแล้ว

 นี่เป็นวิธีการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายหา ประโยชน์เข้าตัว ซึ่งว่าที่จริงแล้ววิธีการแบบนี้ก็ไม่ค่อยจะถูกต้องตามจรรยาบรรณเท่าไหร่ แต่ในเมื่อกฎหมายมุ่งหมายกดหัวประชาชนการหาช่องโหว่ก็น่าจะเป็นการแสวงหา ความยุติธรรมมากกว่าการผิดจรรยาบรรณ

พรบ.การประกอบข้อมูลเครดิต มีเนื้อหาโดยรวมเกี่ยวข้องกับบุคคล 2 ฝ่าย คือ เจ้าหนี้ และลูกหนี้ โดยสร้างภาพว่า เครดิตบูโรเป็นคนกลางที่เก็บข้อมูลเท่านั้น แต่กฎหมายฉบับนี้ถูกกำหนดโดยรัฐบาลตัวแทนระบบทุนนิยมเท่านั้น จึงไม่ต่างจากการกำหนดโดยฝ่ายเจ้าหนี้ฝ่ายเดียว

และในบทนำของ พรบ.ฉบับนี้ก็ระบุเองว่า มีบทบัญญัติบางส่วนเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิ แต่ในกระบวนการออกกฎหมาย ประชาชนไม่ได้รับรู้เลยจนกระทั่งออกมาเป็น พรบ.แล้ว ไม่มีแม้แต่การทำประชาพิจารณ์ และที่น่าตลกจนผมหัวเราะไม่ออกก็คือ กฎหมายฉบับนี้ บังคับให้นำข้อมูลส่วนตัวของประชาชนที่ไม่มีส่วนในการออกกฎหมายฉบับนี้ ไปให้บุคคลอื่นเก็บ เช่น ชื่อ นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน แล้วก็บอกว่าเป็นการเก็บข้อมูลเครดิต ไม่ใช่เก็บข้อมูลส่วนตัว โดยไม่ได้พูดถึงเจ้าของข้อมูลเลย ทำเหมือนเจ้าของข้อมูลไม่ใช่คนหรือเป็นทาสที่นายทุนสั่งการได้ตามใจชอบ

แต่ที่สำคัญที่สุดคือการฮั้วกันไม่ ปล่อยกู้ให้กับคนที่ติด“BLACK LIST” โดยไม่คำนึงว่าหนี้ที่มีอยู่นั้นมีความชอบธรรมหรือไม่ และก็ไม่ได้ใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาเครดิต แต่เป็นเงื่อนไขข้อแรก หากติด“BLACK LIST” ก็ไม่รับพิจารณา เป็นการสร้างระบบใหม่ขึ้นมา

ระบบที่มีอำนาจในการบังคับมากกว่าศาลเสียอีก เพราะศาลจะบังคับให้เฉพาะหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ในระบบนี้หากคุณเป็นหนี้แล้วไม่จ่ายก็ไม่ต้องผุดต้องเกิดกันอีกแล้ว

อย่างเช่น หากคุณยังมีหนี้ค้างชำระอยู่ แต่หนี้นั้นขาดอายุความแล้ว หรือคุณชำระหนี้เช่าซื้อพร้อมค่าปรับจนครบแล้ว แต่เจ้าหนี้ของคุณบอกว่า คุณยังค้างค่าปรับอยู่ เพราะมีบางงวดที่คุณชำระไม่ตรงตามกำหนดและค่าปรับที่คุณจ่ายยังน้อยกว่าที่ เขาคิด กรณีเช่นนี้หากฟ้องศาลหากหนี้ขาดอายุความและคุณยื่นคำให้การสู้คดีว่าหนี้ขาดอายุความแล้ว ศาลก็จะยกฟ้อง หรือในกรณีค้างค่าเช่าซื้อ หากศาลพิจารณาว่าค่างวดและค่าปรับที่คุณชำระพอสมควรแล้ว ศาลก็จะยกฟ้องเช่นกัน แต่ในระบบการฮั้วกันเช่นนี้ ไม่มีทางต่อรองกับเจ้าหนี้ได้เลย ถ้าต้องการปลด“BLACK LIST” ก็ต้องจ่ายตามความพอใจของเจ้าหนี้อย่างเดียวเท่านั้น

ล่าสุดธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง เหิมเกริมถึงขนาดส่งข้อมูลหนี้ที่ขาดอายุความไปกว่า 10 ปีแล้วซึ่งเกิดขึ้นและลูกหนี้ผิดนัดก่อนมีการตั้งบริษัทข้อมูลเครดิตเสียอีก เข้าไปเก็บในเครดิตบูโร และบรรดาสมาชิกเครดิตบูโรก็รวมหัวกันไม่ปล่อยกู้ แม้แต่จะซื้อรถยนต์เงินผ่อนยังไม่ผ่าน ทั้งๆที่มียอดหนี้เพียงสองหมื่นกว่า และเกิดขึ้นมา 10 กว่าปีแล้ว ระบบนี้จึงมีอำนาจบังคับในทางปฏิบัติเหนือกว่าอำนาจศาลเสียอีก

จากลักษณะการมัดมือชก บังคับให้ส่งข้อมูลส่วนตัวของคนที่ไม่มีส่วนรู้เห็นการออก พรบ.ประกอบข้อมูลเครดิต ให้เครดิตบูโรเก็บ การฮั้วกันไม่ปล่อยสินเชื่อคนที่ติด“BLACK LIST”

ผมจึงรู้สึกว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่อะไรเลย นอกจาก รอยสักทาสยุคดิจิตอล เท่านั้น

อ่านจบแล้ว รู้สึกอย่างไรครับ??? อย่างน้อยก็เห็นช่องทางสว่างรำไรแล้วว่า การติดเครดิตบูโร ไม่ใช่เรื่อง “แก้ไขไม่ได้” ดังที่ธนาคารพยายามพูดกรอกหูว่า “เหมือนอาชญากรติดคุก”
อะไรจะปานนั้น อะไรจะขู่กันได้น่ากลัวขนาดนั้น ติดคุกออกมาแล้ว ยังทำมาหากินได้ นี่แค่เสียเครดิต ไม่มีใครเจ็บ ไม่มีใครตาย หากินกันไม่ได้เชียวหรือ???  เมืองไทยเรา ทำไมถึงโหดร้ายอย่างนี้???

เก็บไปอ่่าน วิเคราะห์ และให้คำแนะนำแก่พวกพ้อง น้องพี่ เครือญาติ กิจการ SMEs และคนรอบตัว ที่ตกเป็นเหยื่อ “เครดิตบูโร” จะได้ต่อสู้ ปกป้อง และป้องกัน “สิทธิ” ของเรา ในการอยู่ใน “สยามประเทศ”

เป็นคนดีสมัยนี้ เป็นยาก  แต่เมื่อเลือกจะเป็นคนดีแล้ว ก็ต้องยอม “เจ็บปวด” ครับ
ไม่เหมือน “คนชั่ว” พวกนี้ฉ้อฉล ทำหน้าตา “แยบยล” ดูสีหน้าท่าทางตอน “ตีหน้าเศร้า เล่าความเท็จ”
ดูแล้ว “น่าเห็นใจ” และ “น่าสงสาร”  แต่เบื้องหลัง “สุดเลว”

คนที่โกงจนเข้าสายเลือด จาก “แม่” สู่ “ลูก” คนแบบนี้ ต้อง “เปิดเผย” ให้สังคมรับรู้กัน “ถ้วนทั่ว”
และต้องส่งไปนอนใน “เรือนจำ” ให้พัสดีดัดสันดาน จะได้ “เข็ดหลาบ” หลาบจำ ไม่โกงบ้านกินเมือง
ไม่ทำให้ประชาชนทั่วไป เดือดร้อน กับการกระทำฉ้อฉล คดในข้อ งอในกระดูก โกงแบบ “”แนบเนียน”

Comments

comments