๒๓๐. เรื่องเล่าจากญี่ปุ่น ตอน ๒๐
จิตใจญี่ปุ่น เรียนรู้แบบตะวันตก
อุทิส ศิริวรรณ
เขียน
๘.๕.๒๕๖๒
—–
วัฒนธรรมญี่ปุ่น วิเคราะห์ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์
พบว่าเกิดจากการหลอมรวม ๒ คำสอนเข้าด้วยกัน
กล่าวคือ “คำสอนพุทธศาสนา” กับ “คำสอนขงจื๊อ”
เมื่อ “บูรณาการ” ๒ สิ่งเข้าด้วยกัน
จึงมีอิทธิพล ส่งผลให้คนญี่ปุ่น
มีจิตสำนึกเฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์แบบญี่ปุ่น
มีวัฒนธรรมประเพณีแบบญี่ปุ่น
มีแบบแผนแบบญี่ปุ่น
มีนิสัยแบบญี่ปุ่น
และมีมรรยาทแบบญี่ปุ่น
รวมถึงมี “ความคิดอ่าน” แบบญี่ปุ่น
ที่น่าสนใจศึกษาเรียนรู้ในประเด็น
“สร้างคนให้มีคุณภาพ” แบบมาตรฐานของญี่ปุ่น
หลังญี่ปุ่นเปิดประเทศเมื่อสิ้นยุคโชกุน ในสมัยเมจิ
ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๔๑๑-๒๔๕๕
การปฏิรูปในสมัยเมจิ รัฐบาลญี่ปุ่น มีแนวคิด
มีเป้าหมายนำ “วัฒนธรรมตะวันตก” มาประยุกต์ใช้
ปรับการบริหารจัดการแบบญี่ปุ่นให้มีความทันสมัย
และมีการทบทวน “วัฒนธรรมญี่ปุ่น” โดยเฉพาะ
ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม
โดยปรับให้เป็นแบบตะวันตกที่ทันสมัยแบบเร่งด่วน
มีผลทำให้สังคมญี่ปุ่นเกิดสภาวะ
“การตื่นตระหนกทางวัฒนธรรม”
ทำให้คนญี่ปุ่นรวมตัวกันมีปฏิกิริยาต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตกในวงกว้าง
ทว่าหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒
ญี่ปุ่นจำต้องรับความช่วยเหลือจากทางสหรัฐอเมริกา
เนื่องจากได้รับความบอบช้ำจากสงครามมาก
โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจทำให้ญี่ปุ่นฟื้นฟูประเทศได้รวดเร็ว
ส่งผลให้ “อุตสาหกรรม” ฟื้นตัวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทันสมัย
ความทันสมัยแบบอเมริกันทำให้ญี่ปุ่นหลงใหลใฝ่ฝัน
ส่งผลให้วิถีชีวิตแบบญี่ปุ่นปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่
เกิดการสูญเสียขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่มากมาย
ฮิเดโตชิ อูเมกิ (๒๕๕๘) หน้า ๓๐-๓๕ ได้ระบุถึง “อิทธิพลต่างชาติในแดนอาทิตย์อุทัย”
หนังสือเรื่อง “Sakura” เรื่องเล่าของญี่ปุ่น โดยคนญี่ปุ่น เพื่อคนไทย สรุปว่า
สิ่งที่ญี่ปุ่นรับเข้ามาจากต่างประเทศและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
มี ๖ ด้านหลัก อันประกอบด้วย
๑. การปฏิรูปด้านศิลปะ จากเดิมเน้นงานหัตถรรม ฝีมือ เช่น
จัดสวนแบบญี่ปุ่น ชงชาแบบญี่ปุ่น เครื่องปั้นดินเผาแบบญี่ปุ่น
ก็มีการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา มีการสร้างการ์ตูนมังงะ
อุตสาหกรรมการ์ตูนแอนนิเมชัน เกมคอนโซล ฯลฯ
๒. การปฏิรูปด้านอาหาร เช่น “ราเม็ง” รับเอาอิทธิพลจากจีน
“แกงกะหรี่ญี่ปุ่น” รับเอาอิทธิพลจาก “สตูว์” ของอังกฤษ
๓. การปฏิรูปด้านดนตรี มีการรับเอา “ดนตรีตะวันตก” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง
ของวงการดนตรีญี่ปุ่น เช่น วัฒนธรรมดนตรี เจ-ป๊อป การเล่นคอนเสิร์ต
ซิมโฟนี่หมายเลข ๙ ของบีโธเฟน
๔. การปฏิรูปด้านวรรณกรรม มีนักเขียนหัวก้าวหน้าทันสมัย เกิดขึ้นในแวดวงวรรณกรรม
หลายคน เช่น ริวโนซูเกะ อากูตากาวะ ฮารูกิ มูราคามิ
๕. การปฏิรูปด้านกฎหมาย เดิมญี่ปุ่นรับเอาต้นแบบกฎหมายจากจีน ก็มีการปรับใช้
กฎหมายจากเยอรมันมาเป็นต้นแบบประมวลกฎหมายแพ่ง
๖. การปฏิรูปด้านเทคโนโลยี แม้ญี่ปุ่นจะมีสถิติจดสิทธิบัตรเป็นอันดับ ๓ ของโลก
และเป็นผู้นำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทันสมัย ทว่าญี่ปุ่นก็ยังเปิดรับเอา
เทคโนโลยีทันสมัยจากเยอรมัน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ด้วย