คอลัมน์ How to Win
เคล็ดลับความสำเร็จ เคล็ดลับความล้มเหลว
ศาสตราจารย์ ดร. อุทิส ศิริวรรณ
6 มีนาคม 2557
———–
“โศกนาฏกรรมของชายคนหนึ่ง เกิดขึ้นตอนที่สถานการณ์เปลี่ยน แต่เขาไม่ยอมเปลี่ยน”
มาคิอาเวลลี
ประสบการณ์การสอนกว่าทศวรรษที่ผ่านมาระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ
วิชาที่ผมได้รับมอบหมายและรับเชิญให้สอน ส่วนใหญ่เป็นวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ “กลยุทธ์” “ยุทธศาสตร์” “ยุทธวิธี”
เคล็ดลับเดียวที่ผมอยากนำเสนอในวันนี้คือ “ความเสี่ยง”
ผมพบว่า “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว” ของกิจการสำคัญในระดับนานาชาติ ปูมหลังหรือที่มาอยู่ที่ “กล้า” หรือ “กลัว” การเปลี่ยนแปลง
กล้าเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง พัฒนาตนเองไม่หยุดนิ่ง ก้าวต่อไปตลอดเวลา ก็สำเร็จ
ไม่กล้าเปลี่ยน หยุด นิ่ง ชะงักงัน เพิกเฉย ไม่สนใจ ไม่รับรู้กระแสโลกาภิวัตน์ กระแสเปลี่ยนแปลงกทางการเมือง ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ ค่านิยมของคนในสังคม รวมถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็ว
เมื่อปรับแนวคิด ปรับตัว ปรับองค์กรตามไม่ทัน ก็จะเผชิญสภาวะ “เจ๊ง-เจ็บ-จน” แบบว่า “ทันที-ทันใด-ทันใจ”
ประเทศใหญ่อย่างอเมริกา มีข้อมูลน่าสนใจว่ามีหลายบริษัทที่ไม่กล้าเสี่ยงเมื่อถึงคราวจำเป็นสุดท้าย ก็ล้มละลายปิดกิจการเลิกกิจการไปเพราะไม่กล้าเผชิญหน้ากับความเสี่ยง
ยกตัวอย่างในช่วง 1980 กว่า 230 บริษัทที่หลุดจากการติดอันดับฟอร์จูน 500 บริษัท
อีกตัวอย่างคือในช่วงปี 1990 ตัวเลขกิจการระดับโลกที่เหลือเพียง 16 กิจการจาก 100 กิจการระดับโลก เป็นอีกกรณีศึกษาที่บ่งชี้ว่าบริษัทจำนวนมากเลือกที่จะไม่เผชิญกับความ เสี่ยงเมื่อไม่จำเป็น และก็ต้องชดใช้กรรมอย่างสาสม บ้างก็ล้มลุกคลุกคลานหนักหนาสาหัสกว่าจะเอาตัวรอดฝ่าวิกฤต
ที่ล้มละลายล้มหายตายจากไป มีจำนวนมากมายมหาศาลและมากกว่าหลายเท่านัก!
Xerox เป็นกิจการที่ใครก็ตามเรียน MBA ในสหรัฐอเมริกา จะต้องวิเคราะห์เป็นกรณีศึกษา
กิจการแห่งนี้ก่อตั้งในปี 1906 ที่นิวยอร์ก โด่งดังด้วยนวัตกรรม “ถ่ายเอกสารโดยใช้ประจุไฟฟ้า” ยุคแรกๆ เป็นกิจการเล็กๆ พื้นสำนักงานเป็นกระเบื้องยางธรรมดา โต๊ะทำงานก็เป็นโต๊ะเหล็กราคาถูก แต่วิศวกรและคนงานต่างขึงขังตั้งอกตั้งใจกระตือรือร้นทุ่มเทมุ่งมั่นพาก เพียรพยายาม
บรรยากาศที่ทำงาน อบอวลด้วยกลิ่นไอแห่งการต่อสู้ กระหายชัยชนะ ต้องการความสำเร็จ
พวกเขาช่วยกันสร้างสินค้านวัตกรรมคือ Xerox914 ที่มีชื่อเสียงจนพจนานุกรรมต่างๆ ทั่วโลกนำไปบัญญัติศัพท์ “ซีรอกซ์” คือการถ่ายเอกสารบ้าง เครื่องซีรอกซ์บ้าง ถ่ายซีรอกซ์บ้าง
แค่บริษัทกล้าที่จะเสี่ยงกับสินค้าตัวเดียวก็ทำเงินได้ถึง 30,000 ล้านบาทภายในเวลาไม่ถึงสิบปี ทว่าหลังจากนั้นบริษัทก็ไม่กล้าเสี่ยง ไม่กล้าที่จะทำอะไรแปลกใหม่ และแตกต่าง
ทั้งที่ในปี 1970 บริษัทได้รับบันทึกไว้ว่าเป็นกิจการแรกที่นำเสนอ “คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล” และเมาส์ แต่ก็ไม่ได้นำเสนอสินค้าวิจัยนี้ในเชิงพาณิชย์ ปล่อยให้กิจการอื่นๆ นำแนวคิดไปทำจนร่ำรวยแทน
เมื่อมีเงินบริษัทก็ย้ายกิจการไปรัฐคอนเนตทิคัต จากพื้นกระเบื้องยางก็กลายเป็นพรม จากโต๊ะเหล็กก็เป็นโต๊ะไม้โอ้กหรูหราราคาแพงลิบลิ่ว ยุคนั้นซีรอกซ์ก้าวล้ำหน้าคู่แข่งอื่นๆ อย่างน้อย 5 ปี ต่อมาวิศวกรต่างยกทีมลาออกเพราะไม่ได้รับความสนใจจากผู้บริหารระดับสูงที่ทำ งานบนพรมหนาโต๊ะไม้ราคาสูง
ย่างเข้าปี 2002 กิจการถูกร้องเรียนว่าแต่งตัวเลข ปั่นหุ้น และล่าสุดได้ควบรวมกับฟูจิยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น จนกลายเป็นฟูจิซีรอกซ์ในปัจจุบัน
บริษัทที่สร้างตัวได้ด้วยสินค้านวัตกรรมทันสมัย แต่กลับติดกับดักความสำเร็จเกิดจากสินค้าเพียงชิ้นเดียว พวกเขาเลิกคิดที่จะเสี่ยงอย่างสิ้นเชิงทั้งที่มีสินค้านวัตกรรมหลายตัว
พวกเขาทิ้งโอกาสทองในมือให้หลุดลอยไป เป็นแง่คิดว่ากิจการที่ต้องการชัยชนะ อย่าลืมว่า…
ถ้าต้องการได้ผลกำไรระยะยาว ต้องทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ สินค้าใหม่ๆ ในระยะสั้นอยู่เสมอ