๔.๑๐.๒๕๖๒
บทความวิชาการ
พระไตรปิฎกศึกษา ตอน ๑
“คัมภีร์พุทธวงศ์และคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี”
อุทิส ศิริวรรณ
เขียน
สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
ให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง
——
เมื่อ “อายุ” ล่วงเลยมาถึงวันเวลาอันเหมาะสม
ผมก็มีเวลา “เรียนรู้” ปริยัติคือพระไตรปิฎก
ที่สนใจและอยากศึกษา
ทว่า “ชีวิต” และ “โชคชะตา”
ที่ขับเคลื่อนด้วย “ความไม่มั่นคง” และ “ความไม่แน่นอน”
ทำให้ผมต้องหันไปทำการอื่นๆ เพื่อสร้างตัว สร้างฐานะ สร้างรายได้
จนมั่นคงระดับหนึ่ง จึงมีเวลาศึกษา “ปริยัติ” คือ “พระไตรปิฎก”
——
ผมอาจมีอุปนิสัย
เหมือนนักอักษรศาสตร์ทั่วไป
คือเวลาอ่าน “ตำราหลัก”
หนังสือหนัก หนา และเนื้อหาลุ่มลึก เข้าใจยาก
อย่าง “พระไตรปิฎก”
ผมจะชอบอ่านที่เป็น “ตัวเล่ม”
ไม่ชอบอ่าน “อีบุ๊ก” หรือ “หนังสืออิเล็กทรอนิกส์” ฉบับต่างๆ
เล่มที่ผมกำลังสนใจอ่านคือ
สฺยามรฏฺฐสฺส เตปิฏกํ
สุตฺตนฺตปิฏเก ขุทฺทกนิกาโย
(ทุติโย ภาโค)
(พุทฺธวํโส จริยาปิฏกํ)
พิมพ์ครั้งที่ ๗ ปี ๒๕๕๖
พระศาสนโสภณ (แจ่ม จตฺตสลฺโล ป.ธ. ๗)
วัดมกุฏกษัตริยาราม
สมัยเป็น “พระธรรมปาโมกข์”
ได้เมตตาเป็นประธานตรวจชำระ
แล้วเสร็จในแผ่นดินของรัชกาลที่ ๗
ซึ่งได้ทรงอาราธนาให้พระเถรานุเถระผู้ทรงไว้ซึ่งพระไตรปิฎก
มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน เป็นประธาน
——
เวลาอ่านพระไตรปิฎก
ผมจะไม่อ่านรวดเดียวจบ
แต่จะเลือกอ่านเนื้อหาตอนที่ผมสนใจ
อย่างห้วงเวลานี้ ผมสนใจ “พุทธวงศ์”
คือความเป็นมาของพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์
ผมก็อ่านเฉพาะ “พุทธวจนะ” หน้าที่ ๔๐๐ เป็นต้นไปจนจบหน้า ๕๒๖
เป็นคำและความที่เป็น “ภาษาบาลี” ล้วนๆ
——
แนะนำสั้นๆ ง่ายๆ ว่า
ท่านที่พอมีความรู้ภาษาบาลีระดับหนึ่ง
ควรจัดเวลา “ค้นคว้า” ให้ตนเอง
เป็นการ “ทรงจำ” “กล่าว” “บอก”
วิทยาการวิจัยพระพุทธศาสนาชั้นสูง
คือนอกจากจะอ่านพระไตรปิฎกให้แตกฉานแล้ว
สิ่งที่ควรอ่านเพิ่มเติมคือ “อรรถกถา”
ส่วน “อธิบาย” ความหมาย คำและความที่ยากในชั้น
“พระไตรปิฎก” และควรจัดเวลาค้นคว้า
“คัมภีร์สัททาวิเสส” ซึ่งก็คือ “ไวยากรณ์บาลีชั้นสูง”
ซึ่งประกอบด้วยคัมภีร์บาลีไวยากรณ์สาย
“กัจจายนะ” “โมคคัลลานะ” “สัททนีติ”
ถ้ามีเวลาค้นคว้าเพิ่มเติม
แนะนำให้อ่าน “งานวิจัย” และ “ตำรา”
ไวยากรณ์สันสกฤต ปรากฤต อรรธมาคธี และภาษาถิ่นอินเดีย
รวมถึงสิงหลต่างๆ เพราะพบว่าปะปนอยู่ในพระไตรปิฎก พอสมควร
ความรู้ไวยากรณ์บาลี และภาษาศาสตร์อื่นๆ จะทำให้ไม่หลงในป่าอักษรคือ
“พระไตรปิฎก” ซึ่ง “อัตถะ” และ “พยัญชนะ”
แต่ละอักขระ ละเอียด สุขุม ลึกซึ้ง ยิ่งนัก
โบราณาจารย์ได้แต่งคาถาภาษาบาลีเป็นคติเตือนใจ
ผู้ที่สนใจจะศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกไว้ว่า
“โย นิรุตฺตึ น สิกฺเขยฺย สิกฺขนฺโต ปิฏกตฺตยํ
ปเท ปเท วิกงฺเขยฺย วเน อนฺธคโช ยถา”
“ผู้ใดเมื่อจะศึกษาพระไตรปิฎก ไม่ศึกษานิรุกติศาสตร์
คือคัมภีร์ไวยากรณ์ พึงสงสัยไปเสียทุกบท คล้ายคชสารตาบอด
เดินหลงทางในป่าลึกฉะนั้น”
——-
ภาพรวม “พระไตรปิฎกศึกษา” มีคัมภีร์บาลีที่บูรพาจารย์ได้ช่วยกันแต่งขึ้น
เพื่ออธิบายคำศัพท์และความหมายของคำในพระไตรปิฎก เรียงลำดับเป็นขั้นๆ ได้ดังนี้
-คัมภีร์อรรถกถา
-คัมภีร์ฎีกา
-คัมภีร์อนุฎีกา
-คัมภีร์คัณฐี
-คัมภีร์โยชนา
-คัมภีร์สัททาวิเสส
——
คัมภีร์สัททาวิเสส คือ กลุ่มคัมภีร์ไวยากรณ์บาลีที่ว่าด้วยหลักภาษาในพระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์พื้นฐาน แห่งความเข้าใจภาษาบาลีตลอดจนการเรียนรู้ และวินิจฉัยข้ออรรถข้อธรรมในพระไตรปิฎก ปัจจุบัน ในหอสมุดแห่งชาติปรากฏบัญชีรายชื่อกลุ่มคัมภีร์สัททาวิเสส ๑๕๓ คัมภีร์ ซึ่งรวมทั้งคัมภีร์ภาษาบาลี และสันสกฤตที่แต่งในประเทศศรีลังกา พม่า และไทย โดยเฉพาะในประเทศพม่ามีรายชื่อคัมภีร์สัททาวิเสสที่แต่งเฉพาะในประเทศ ที่เป็นภาษาบาลีจำนวน ๑๓๔ คัมภีร์
ตามความเป็นจริง สัททาวิเสสหมายความถึงกลุ่มคัมภีร์ไวยากรณ์เป็นหลัก แต่ยังมีคัมภีร์อื่น ๆ ที่ว่า ด้วยหลักภาษาซึ่งไม่ได้จัดเป็นไวยากรณ์อีก เมื่อรวมกลุ่มคัมภีร์ทั้งหมดที่เป็นอุปการะในการศึกษา พระไตรปิฎก สามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภท คือ
๑. กลุ่มคัมภีร์ไวยากรณ์หรือสัททาวิเสส คือ คัมภีร์แสดงหลักของภาษาบาลี เช่น กัจจายน ไวยากรณ์ โมคคัลลานไวยากรณ์ และสัททนีติปกรณ์ เป็นต้น
๒. กลุ่มคัมภีร์นิฆัณฑุ คือ คัมภีร์ประเภทพจนานุกรมศัพท์ เช่น คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา และ คัมภีร์เอกักขรโกศ เป็นต้น
๓. กลุ่มคัมภีร์ฉันทลักษณ์ คือ คัมภีร์ว่าด้วยระเบียบในการวางคำครุ ลหุ เป็นแบบต่าง ๆ เช่น คัมภีร์วุตโตทัย คัมภีร์ฉันโทมัญชรี เป็นต้น
๔. กลุ่มคัมภีร์เกฏุกะ คือ คัมภีร์ว่าด้วยการแต่งเสียงและความหมายให้ภาษามีความไพเราะ เช่น คัมภีร์สุโพธาลังการ เป็นต้น
——–
คัมภีร์พุทธวงศ์ มีคัมภีร์ขยายความชื่อ
“มธุรัตถวิลาสินี” แปลว่า “อรรถกถาพุทธวงศ์”
ฉบับที่ผมเลือกอ่านแบ่งเป็น ๒ ภาค คือภาค ๑ และภาค ๒
ผมใช้ฉบับของมูลนิธิภูมิพโลภิกขุ ตีพิมพ์ในปี ๒๕๒๕
——
ตามประวัติ “คัมภีร์พุทธวงศ์” เป็น “บทสนทนา” ที่เป็น
“ประวัติ” และ “คำสอนพุทธ” ระหว่าง
พระพุทธเจ้ากับพระสารีบุตร พระอรหันต์ผู้เป็น “พระอัครสาวก”
เบื้องขวาของพระโคตมพุทธเจ้า ในคราวสังคายนาครั้งแรก
พระที่มาประชุมทำสังคายนาได้รวบรวมไว้ในพระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ในฐานะที่เป็น “พุทธวจนะ” ได้ประพันธ์เป็น “คาถา”
เอาไว้ทั้งคัมภีร์
เรื่องราวโดยย่อ คัมภีร์พุทธวงศ์เกิดขึ้นในคราวที่พระพุทธองค์เสด็จไปยังเมืองกบิลพัสดุ์
เพื่อแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดา ครั้งนั้นได้ทรงแสดงปาฏิหาริย์ เวสสันดรชาดกโปรด
เหล่าพระประยูรญาติ ทรงเนรมิต “รัตนจงกรม” ในอากาศ
ระหว่างนั้น พระสารีบุตรได้ปุจฉาถึง “การอธิษฐานจิตตั้งความปรารถนาพุทธภูมิ”
และ “บารมี” ที่ทรงบำเพ็ญมาในแต่ละชาติ พระพุทธองค์ได้ทรง “วิสัชนา” โดยละเอียด
ถึง “ตำนานชีวิต” กว่าจะสำเร็จกลายเป็นพระพุทธเจ้าศาสดาเอกของโลกได้ ก็ได้ใช้เวลา
อันยาวนานใน “สังสารวัฏ” เป็นเวลา ๔ อสงไขยกับอีก ๑ แสนกัป ในแต่ละชาติที่เกิด
ได้พบ “พระพุทธเจ้าในอดีต” เรียกว่า “อตีตพุทธเจ้า” หรือ “อดีตพุทธเจ้า” ถึง ๒๔ พระองค์
และทุกพระองค์ได้ “ทรงพยากรณ์” ว่าพระโคตมะพุทธเจ้าในฐานะที่เป็น “พระโพธิสัตว์”
ภายภาคหน้าจะได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณกลายเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต
จากนั้นได้ตรัสเล่า “ประวัติ” ของพระองค์เองด้วย รวมเป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้า ๒๔ พระองค์ และผนวกรวมกับเรื่องราวของพระองค์ จึงเป็น ๒๕ พระพุทธเจ้า เรียกรวมกันว่า
“พุทธวงศ์” แปลว่า “วงศ์ของพระพุทธเจ้า” ซึ่งพระโคตมะพุทธเจ้าระบุถึงเฉพาะ ๒๔ พระองค์ที่ทรงพยากรณ์ว่าพระองค์จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า แต่ในพุทธกัปของพระทีปังกรพุทธเจ้า ยังมีพระพุทธเจ้าอีก ๓ พระองค์ที่มิได้ทรงพยากรณ์เอาไว้ นั่นคือ พระตัณหังกรพุทธเจ้า พระเมธังกรพุทธเจ้า และพระสรณังกรพุทธเจ้า ซึ่งเมื่อรวมกันก็จะกลายเป็น “พระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์” และยังได้ทรงพยากรณ์ว่าในภัทรกัปนี้จะมีพระพุทธเจ้าคือ “พระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้า” มาตรัสรู้เป็นองค์ที่ ๒๙ และพระสังคีติกาจารย์ได้รวบรวมเรื่องราวการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุเอาไว้ในคัมภีร์พุทธวงศ์ ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก นี้ด้วย รายละเอียดจะได้นำเสนอในลำดับถัดไป
——
ส่วนคัมภีร์มธุรัตถวิภาสินี เป็นชื่อคัมภีร์อรรถกถาขยายคำและความในคัมภีร์พุทธวงศ์
คำว่า “มธุรัตถวิภาสินี” จำแนกออกเป็นได้ ๓ คำคือคำว่า “มธุร” “อัตถ” “วิภาสินี”
มธุร แปลว่าไพเราะ อัตถ แปลว่าอัตถะหรือเนื้อความ ส่วนคำว่าวิภาสินี แปลว่างดงาม รวมกันเป็น “มธุรัตถวิภาสินี” แปลว่าคัมภีร์อรรถกถานี้ “งดงามด้วยเนื้อความอันไพเราะ” และยังมีอีกชื่อเรียกว่า “มธุรัตถัปปกาสินี” แปลว่า “อรรถกถาประกาศเนื้อความอันไพเราะ”
——–
ผมมีข้อสังเกต เล่าไว้ให้เรียนรู้ว่า
“พระไตรปิฎก” มีคำและความที่ต้องทำความเข้าใจ
คำบางคำ อาจต้องใช้เวลาเพ่ง พินิจ ขบคิด เป็นวันๆ
คำบางคำอย่าง “ปโรสหสฺสํ” ผมเก็บความสงสัยเอาไว้นานถึง ๒๐ ปีเศษ
กว่าจะพบคำตอบจาก “สัททาวิเสส” คือกลุ่มคัมภีร์บาลีไวยากรณ์ชั้นสูง
ผมถึงอนุโมทนาและชื่นชมกับทุกท่าน
ที่มีส่วนร่วมเผยแผ่สนับสนุนและส่งเสริม
การจัดพิมพ์คัมภีร์บาลีสัททาวิเสส
วัดท่ามะโอ ลำปาง
วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์
วัดจากแดง พระประแดง สมุทรปราการ
วัดหาดใหญ่สิตาราม หาดใหญ่ สงขลา
วัดพิชยญาติการาม คลองสาน ฝั่งธนบุรี
วัดหงส์รัตนาราม บางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรี
สถาบันบาลีพุทธโฆส มจร สามพราน นครปฐม นำโดย
รองศาสตราจารย์ ดร. พระเทพสุวรรณเมธี
รองศาสตราจารย์ ดร. เวทย์ บรรณกรกุล
มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ วัดสระเกศ
สมาคมบาลีปกรณ์ อังกฤษ
มหาวิทยาลัยโตรอนโต แคนาดา
มหาวิทยาลัยบริสโตล อังกฤษ
กลุ่มญาติโยมผู้ใจบุญชักชวนกันทำบุญสร้างคัมภีร์สัททาวิเสส
นำโดยผู้นำบุญและคณะผู้มีจิตสัทธาวงการต่างๆ
รวมถึงพระ สามเณร และญาติโยม
ที่อุทิสเวลา ทุนทรัพย์ ร่างกายและจิตวิญญาณ
ท่อง บ่น ภาวนา ทบทวน ทรงจำ เรียน กล่าว และบอก
พระบาลี
——-
ข้อค้นพบสั้นๆ จากการศึกษา “พุทธภาษิต”
ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในคัมภีร์ “มหาวงศ์”
ต้องน้อมกราบถวายมุทิตาจิตต่อ
“พระพุทธทัตตะ มหาเถระ”
พระสงฆ์รูปนี้ เป็นผู้แต่งคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี
อรรถกถาขยายความคัมภีร์พุทธวงศ์โดยตรง
พระอาจารย์ท่านเป็น “พระอรรถกถาจารย์”
รุ่นเดียวกับ “พระพุทธโฆสะ” พระอรรถกถาจารย์ชื่อก้องของวงการบาลีศึกษา
ท่านพุทธทัตตะ เป็นนักปราชญ์สายพระไตรปิฎกศึกษา
มีผลงานวิชาการสำคัญคือ
๑. คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี
๒. คัมภีร์อภิธรรมาวตาร
๓. คัมภีร์รูปารูปวิภาค
๔. คัมภีร์วินยวินิจฉัย
๕. คัมภีร์อุตตรวินิจฉัย
ท่านพุทธทัตตะ เป็นชาวเมืองอุรคปุระ อินเดียใต้ แห่งชมพูทวีป
มีชีวิตอยู่ประมาณ พ.ศ. ๙๔๐-๑๐๐๐ ถ้านับจากปี ๒๕๖๒
ก็ประมาณ ๑,๖๐๐ ปีในอดีต
ท่านจำพรรษาและแต่งคัมภีร์บาลีไว้ที่สำนักเรียนวัดภูตมังคลคาม รัฐโจละ
อินเดียใต้ และท่านได้เดินทางไปศึกษาวิทยาการวิจัยบาลีชั้นสูงเพิ่มเติม
ที่เมืองอนุราธปุระ เกาะสิงหล ก่อนพระอรรถกถาจารย์ชื่อดัง “พระพุทธโฆสะ”
ท่านพุทธทัตตะได้ศึกษาคัมภีร์บาลีที่สำนัก “มหาวิหาร” เมืองอนุราธปุระ เกาะสิงหล
แต่ไม่ได้ “ปริวรรต” คัมภีร์อรรถกถาซึ่งแต่เดิมจดจารด้วยความหวงแหนไว้ในใบลานที่ “มหาวิหาร” เมืองอนุราธปุระ และเข้าใจว่ายังมีกระจัดกระจายตามวัดสำคัญต่างๆ บนเกาะสิงหล
มีหลักฐานค้นพบเพิ่มเติมว่า ท่านพุทธทัตตะ ขณะเดินทางมาเล่าเรียนคัมภีร์พุทธศาสนาบาลีอักษรสิงหล ได้แต่ง “วิทยานิพนธ์” ทำวิจัยเอาไว้ ๓ หัวข้อ คือ
๑. คัมภีร์ชินาลังการ
๒. คัมภีร์ทันตธาตุนิทาน และ
๓. คัมภีร์โพธิวงศ์
——
พอแต่งคัมภีร์ ๓ เล่มแล้วเสร็จ และศึกษาบาลีสิงหลระยะหนึ่ง ท่านก็เดินทางกลับอินเดียใต้ทางเรือ ระหว่างทางที่พักในหมู่เกาะกลางทะเล ได้พบกับ “พระพุทธโฆสะ” ซึ่งเดินทางจาก “พุทธคยา”
และสวนทางกัน ท่านได้เล่าให้ท่านพุทธโฆสะมหาเถระฟังว่า ท่านได้แต่งคัมภีร์สำคัญๆ คือชินาลังการ ทันตธาตุนิทาน และโพธิวงศ์ สำเร็จแล้ว ยังเหลือแต่อรรถกถา และฎีกา ขอฝากเป็นภาระธุระของท่านพุทธโฆสะมหาเถระและคณะด้วย ขอให้ “ปริวรรต” คัมภีร์ต่างๆ เช่น “ธัมมปทัฏฐกถา” จากอักษรสิงหลเป็นอักษรบาลีสากลที่ชาวพุทธเถรวาทสามารถเรียนรู้ได้ง่ายกว่าเดิม สะดวกกว่าเดิม และคล่องตัวกว่าเดิม แล้วขอให้รว่มกับคณะทำงานตั้งทีมงานรวบรวมคัมภีร์อรรถกถาและฎีกาอักษรสิงหลแล้วปริวรรตและแต่งแปลกลับสู่ภาษาบาลีด้วย
หลังจากแยกทางกัน ต่อมาพระมหาเถระพุทธโฆสะได้เดินทางต่อไปยังเกาะสิงหล แล้วได้ตั้งคณะทำงานช่วยกัน “ปริวรรต” และ “เรียบเรียง” คัมภีร์อรรถกถาที่เป็นอักษรสิงหลกลับสู่ภาษาบาลีที่เป็นสากลจำนวนมาก และท่านพุทธโฆสะได้ยกย่อง “คัมภีร์ชินาลังการ” ที่แต่งโดยท่านพุทธทัตตะว่าเป็นคัมภีร์ที่มีความไพเราะลึกซึ้งมาก
——-
ปฐมเหตุการณ์เกิดมีคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินีขึ้นในชมพูทวีป
ท่านพุทธทัตตะได้กล่าวไว้ในตอนต้นคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินีว่า “ท่านพุทธสีหะ” ได้อาราธนานิมนต์ให้ท่านพุทธทัตตะแต่งคัมภีร์นี้ขึ้นมา ตามประวัติท่านพุทธสีหะเป็นชาวสิงหลและเดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์เอกเรียนพระปริยัติกับท่านพุทธทัตตะ และได้รับยกย่องจากท่านพุทธทัตตะว่าท่านพุทธสีหะเป็นผู้ยินดีในพระสัทธรรมโดยเคารพ และรุ่งเรืองด้วยคุณมีศีลเป็นต้น
ตอนท้ายของคัมภีร์ ท่านพุทธทัตตะมหาเถระ คัมภีร์นี้แต่งจนแล้วเสร็จที่ “วัดกาเวริปัฏฏนวิหาร” ตั้งอยู่ริมท่าน้ำของแม่น้ำกาเวริ มีน้ำเต็มเปี่ยมตลอดเวลา เป็นสถานที่รื่นรมย์ สบายตา สบายใจ สงบ เงียบสงัด น่าพำนักพักอาศัย เป็นสัปปายะ อยู่ทางอินเดียใต้ และให้ข้อมูลไว้ว่า “ท่านกฤษณะหาสะ” หรือ “กัณหหาสะ” พราหมณ์ที่นับถือพุทธศาสนาได้สร้างเอาไว้ ท่านพราหมณ์ใจบุญสุนทาน พูดจาไพเราะ อ่อนหวาน เป็นสาธุชนคนดี
วัตถุประสงค์การแต่งคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี มี ๓ ข้อ
๑. เพื่อให้คำสอนของพระชินพุทธเจ้ายังโทษที่ร้ายแรงของปวงชนให้สูญสลายหายไปโดยพระบาลีตั้งอยู่ได้ตลอดกาลนาน
๒. เพื่อให้ผู้แต่งคือท่านพุทธทัตตะได้รับบุญกุสลและเจริญด้วยบุญกุศล
๓. เพื่อให้มหาชนมีสัทธาเลื่อมใสในพระบาลีสืบไป
——-
ประเด็นวิจัยที่เป็น “ข้อค้นพบ” จากคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินีที่สำคัญๆ มี ๘ ประเด็นหลัก
๑. พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์มี “อายุ” แตกต่างกัน
๒. พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์มี “ความสูงต่ำของร่างกาย” แตกต่างกัน
๓. พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์มี “ตระกูล” แตกต่างกัน
๔. พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์มี “ความเพียรพยายาม” แตกต่างกัน
๕. พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์มี “รัศมีพระวรกาย” แตกต่างกัน
๖. พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์มี “ยานพาหนะที่ใช้ขณะออกผนวช” แตกต่างกัน
๗. พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์มี “ต้นโพธิ์ที่ตรัสรู้” แตกต่างกัน
๘. พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์มี “บัลลังก์แท่นประทับที่ตรัสรู้” แตกต่างกัน
——
การสร้างคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินีเป็นอักษรไทย
หลังคัมภีร์ถือกำเนิดขึ้นเป็นภาษาบาลีเมื่อ ๑,๖๐๐ ปีก่อนแล้ว ก็ได้เผยแพร่ไปตามประเทศต่างๆ ที่มีการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกบาลี เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติท่านพุทธทัตตะมหาเถระผู้แต่งว่าเป็น “นักปราชญ์สำคัญ” ในวงการบาลี พระไตรปิฎกศึกษา เป็นวรรณกรรมภาษาบาลีที่มีคุณค่าและคุณภาพที่สำคัญอย่างยิ่ง เมืองสยามเองได้รับเอาคัมภีร์บาลีชุดนี้ไว้นานมากแล้ว แต่ไม่ได้เปิดเผย และเผยแพร่ เพราะจดจารจารึกเอาไว้ในใบลานโดยใช้ “อักษรขอม” จดจาร มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ ได้ยืมคัมภีร์จาก “วัดบวรนิเวศ” โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชเจ้า มีพระเมตตากรุณาให้ยืมมาเป็นต้นฉบับปริวรรตเป็นอักษรไทย ปรากฏว่าเป็นอักษรขอมทั้งหมด ๑๔ ผูก จำนวน ๓๓๐ ลานครึ่ง ชำระเป็นอักษรไทยโดย อาจารย์ สุรัส กาญจนพบู ป.ธ. ๙ สอบทานแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ใช้เวลา ๑ ปี จึงปริวรรตได้สำเร็จ พิมพ์เป็น “หนังสืออักษรบาลีไทย” ได้จำนวน ๕๔๗ หน้า และตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นการสืบสานต่องานของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ได้ทรงริเริ่มไว้ นับเป็น “อรรถกถาภาษาบาลี” ที่ชาวไทยได้มีโอกาสศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้เพิ่มเติมอีก ๑ คัมภีร์
——-