91. อธิษฐานแบบสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

 

สรุปความจาก รายการ “เส้นทางนักขาย” ช่วง ฮาวทูเฮง

Nation Channel  21.05-21.25 น.

 

วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2556

ศาสตราจารย์ ดร. อุทิส ศิริวรรณ

—————————————-

ทฤษฎีเฮงที่อยากเล่าในวันนี้คือ “ความเฮงแบบสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

 

โดยเฉพาะ พลังอำนาจของการ “อธิษฐาน”

ช่วงระหว่างกลางเดือนมกราคมจนถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์  2556

ที่อนุสรณ์ดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี มีการเฉลิมฉลองเนื่องในวาระ

เทศกาลสำคัญ “วันยุทธหัตถี” ประกาศชัยชนะที่ไทยมีเหนือพม่า

ประกาศความยิ่งใหญ่ของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ซึ่งนำไปสู่การ

ประกาศ “อิสรภาพ” ในอีกไม่กี่ปีต่อมา

พวกเราชาวไทยทุกคน ล้วนเป็นหนี้บุญคุณและสมควรจักซาบซึ้งและสำนึก

ในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

 

เรื่องราวที่ผมอยากเล่าเพื่อสะท้อน “ความเฮง” ก็คือว่า วันนี้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์

ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ ตามหลักฐานใหม่และข้อสันนิษฐาน รวมถึงข้อสมมติฐาน

ใหม่ที่เพิ่มเติมหรือพบใหม่ภายหลัง  อันเป็นที่ยุติในวันนี้คือมีความเชื่อกันว่า

๑. อนุสรณ์สถานยุทธหัตถี แห่งแรกคือ ดอนเจดีย์ ที่อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

๒. อนุสรณ์ดอนเจดีย์ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

๓. อนุสรณ์ดอนเจดีย์ วัดภูเขาทอง ทุ่งมะขามหย่อง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

และยังมีความเชื่อในกลุ่มนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ว่า

“ไม่มีเจดีย์ยุทธหัตถีใดๆ ในประเทศไทยทั้งสิ้น เป็นเพียงความเชื่อสืบเนื่องแต่ตำนานยุทธหัตถีที่กรุงลังกา” ก็เลยเกิดตำนานยุทธหัตถีขึ้น

จะอย่างไรก็ดี ถึงวันนี้ เราต้องยอมรับความจริงว่า “ยุทธหัตถี” มีจริง และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีตัวตนจริง ไทยรบพม่าก็มีจริง แต่จะมีการสร้างอนุสรณ์ไว้หรือไม่ เป็นเรื่องต้องถกเถียงกันพอสมควร

สำหรับ ๓ สถานที่สำคัญ ตามทฤษฎีเฮง ท่านจะต้องหาโอกาสไปไหว้ ไปสักการะ ไปอธิษฐานจิต เพื่อความเฮงแบบสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ถ้าว่าตามสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ สถานที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชชอบเสด็จไป “อธิษฐาน” เสี่ยงทายความสำเร็จ มี ๒ แห่ง

แห่งแรกคือ “วัดใหญ่ชัยมงคล” ที่จ. พระนครศรีอยุธยา อีกแห่งคือ “พระพุทธชินราช” ที่วัดพระศรีมหาธาตุ จ. พิษณุโลก

การเจริญรอยตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อค้นหา “ความเฮง” เป็นเรื่องลึกลับมหัศจรรย์ทางจิต

ผมบอกเล่าในรายการทีวีสดว่า โลกนี้ มีหลายเรื่องที่ “นักวิทยาศาสตร์” ยังค้นไม่พบ ยกตัวอย่าง “แสนโกฏิจักรวาล” หรือระบบสุริยจักรวาล มีถึง 100,000 ล้านระบบ

แสดงว่า ระบบ “ดวงอาทิตย์” ที่มีดาวบริวารรวมทั้งโลกใบนี้ด้วย เป็นเพียงแค่ 1 ในแสนล้านระบบ

คนจะค้นพบวิถีโคจรแห่งดวงดาวได้ ไม่ใช่เรื่องงมงาย หรือไร้สาระ ต้องใช้ขั้นตอน วิธีการ และกระบวนการโดยการทำ “สมาธิ” เท่านั้น

การค้นพบมหัศจรรย์ เรื่อง “แสง” หรือ “เสียง” อะไรจะเร็วกว่ากัน ยังไม่มีข้อยุติจนบัดนี้

กลับมาว่าด้วยเรื่อง “อธิษฐาน” วิถีแห่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นประเด็นที่น่าสนใจ

ถ้าเรามา “ถอดต้นแบบ” ความสำเร็จแห่งสมเด็จพระนเรศวรดู เราจะพบว่า พระองค์ท่านให้ความสำคัญกับ “นิมิต”

ดังจะเห็นได้จาก ทรงสุบินนิมิตฝันไปว่าได้ต่อสู้กับจระเข้ใหญ่ในลำน้ำ และมีการทำนายทายทักว่าพระองค์จะทรงมีชัยเหนืออริราชศัตรูคือพม่า ก็เป็นความจริง

แต่พระองค์มิได้ทรง “งมงาย” ดังที่พวกเราคาดคิด ทรง “ฉลาด” และ “ล้ำลึก” เหนือมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป  เมื่อทรงคิดและจักทรงทำ “การใหญ่” ก็ทรงเลือก “การอธิษฐาน” ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรงเชื่อมั่นและศรัทธาในคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และทรง “เปิดใจ” รับพรอันประเสริฐ

นี่คือ “ความลับ” แห่ง “ความเฮง” ที่เกิดจาก “การอธิษฐาน” ขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่พระองค์ทรงทำเมื่อต้องทรงตัดสินใจเรื่องราวที่ “สำคัญ” ยากที่จะได้รับคำตอบจาก “เหล่า
ที่ปรึกษา” ทั้งมุขอำมาตย์ รวมถึงปราชญ์ราชบัณฑิต และสมณชีพราหมณ์

เราได้ยินชื่อ “สมเด็จพระพนรัตน” วัดป่าแก้ว เราได้ยินชื่อ “พระมหาเถระคันฉ่อง”

ที่เป็น “กุนซือ” ให้คำแนะนำประกอบด้วยประโยชน์โดยชอบและเป็นธรรม

เบื้องหลังแรง “อธิษฐาน” ที่นำไปสู่กลยุทธ์ความสำเร็จแบบสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สรุปได้ดังนี้

ประการแรก หลักการจู่โจม เลือกกระทำการรุกและรบรวดเร็วกว่า โดยข้าศึกมิทันตั้งตัว ดังเช่น เหตุการณ์ทรงนำทัพเข้าตีค่ายพระยานครที่ปากน้ำพุทธเลา

ประการที่ ๒ หลักการเป็น “โจทก์” หรือ “เบี้ยบน” ทรงตั้งปัญหาให้ข้าศึกแก้ ด้วยการชิงลงมือรบก่อน มิให้ข้าศึกคิดทันและจู่โจมก่อน เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ

ประการที่ ๓ หลักการ “Do less Get More” ทรง รวบรวมไพร่พลโจมตี “ข้าศึก” ณ จุดอ่อนแอที่ข้าศึกมี “ช่องโหว่” หรือ “รูรั่ว” ใช้คนน้อยกว่า ชนะคนมากกว่า ดังเช่นการศึกที่เมือง “คัง” ใช้คนน้อย ชนะคนหมู่มาก หรือการยุทธหัตถี รบคนเดียว ชนะคนแสนคน

ประการที่ ๔ หลักการ “สำรวจ” ก่อนจะ ลงมือรบ ภายหลัง “อธิษฐาน” จิตเสร็จแล้ว ก็ทรงออกสำรวจตรวจตราภูมิประเทศ เพื่อตอกย้ำ “ชัยชนะ” ภาษาวิจัย เรียกว่า หลังทรงค้นพบ Finding แล้วก็นำผลวิจัยมา “สำรวจ” ซ้ำ ด้วยการ “วิเคราะห์” อ่านข้อมูลจาก “พื้นที่จริง”

ประการที่ ๕ หลักการ “นำ” ทรงคิด ทรงทำ และทรงนำทางด้วยการ “ลุย” ไปข้างหน้าก่อนบริวาร ด้วยหลัก “กล้าหาญ” “เด็ดเดี่ยว” “เข้มแข็ง” “อดทน” “เด็ดขาด” “มีวินัย” ไม่ให้ทหารแตกแยกและแตกแถว ดังเช่นทรงประหารพระยากำแพงเพชร เพื่อ “ตัดไม้ข่มนาม” ให้เห็นถึงตัวอย่างของความ “อ่อนแอ”

ประการที่ ๖ หลักการ “รบบนดิน” และ “รบใต้ดิน” บนดินใช้ทหารหรือ “เทพ” ที่เป็น “ทางการ” ทำงานเป็นเรื่องเป็นราว ใต้ดินทรงใช้ “โจร” ทั้งกองโจร ที่เป็น “สหาย” การที่ทรงคบทั้ง “เทพ” และใช้ “มาร” หรือเหล่า “มาเฟีย” ทำงานให้ ทำให้ “กำลังหลัก” ได้ “ออมพลัง” ใช้เฉพาะคราว “จำเป็น” เมื่อเป็นเช่นนี้ “พลังในการรบ” จึงมีเหลือเฟือ และนำไปสู่ “ชัยชนะ” ได้ในท้ายที่สุด

 

ทั้ง ๖ ประการ ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากแรง “อธิษฐาน” การที่พระนเรศฯ ทรงตั้งจิตแน่วแน่ รวมพลังกายและใจเป็นหนึ่งได้ทำให้เกิดหลักการทำงานที่นำไปสู่ความสำเร็จ ๖ ประการดังที่ขยายความข้างต้น

เป็นแง่คิดว่า คนที่อยากจะเฮง แต่ไม่เฮง หรือคนที่ทำอะไรแล้วพลาด ล้มเหลว เจ๊ง เจ็บ จน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สมควรที่จะค่อยๆ อ่านบทความกรณีศึกษานี้ แล้วพินิจพิจารณานำหลัก ๖ ประการที่สรุปเป็น “กรณีศึกษา” เอาไปปรับใช้การทำงานจากที่ไม่สำเร็จ ให้สำเร็จ จากที่ไม่เคยเกิดมรรคเกิดผล ให้เห็นมรรค ให้ได้ผล โดยทุกครั้งที่จะทำการ “สำคัญ” จากที่ไม่เคยตั้งจิต ตั้งสัจจะอธิษฐาน ก็เปลี่ยนแปลงตนเอง โดยเริ่มต้นตั้งจิต “อธิษฐาน” ขอรับโชค รับพรรับความเฮงจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือความเชื่อในศาสนาที่ท่าน นับถือ  ด้วยความศรัทธาแน่นแฟ้น ไม่เอ๊ะ ไม่อ๊ะ ไม่ลังเล ไม่สงสัย เพื่อให้ “พร” ที่คาดว่าจะได้รับนำตัวท่านไปสู่ “เป้าหมาย” และ “ผล” สำเร็จที่ตนเองคาดหวัง และมุ่งหวังโดยเร็ว โดยพลันต่อไป

ใครที่ทำอะไรแล้ว เจ๊ง เจ็บ จน มาโดยตลอด ปีใหม่จีนนี้ ลองฝึก “อธิษฐาน” จิต แบบสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กันดู

อยากเฮง อยากสำเร็จ ไม่อยากเจ๊ง ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากจน การอธิษฐานเน้น “เป้าหมาย” สำคัญที่ชัดเจน โดยมุ่งผลสำเร็จด้วยหลักการ Do less Get More ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยังใช้ได้ทันสมัย จนถึงปัจจุบัน…

อย่า “เชื่อ” ตนเองมาก  อย่ายึดติดกับ “ทฤษฎี” มากจนเกินไป ความสำเร็จแท้จริง มิได้เกิดจากเพียงแค่ “คิด” หรือ “อธิษฐาน”  ทำใดๆ ก็ไร้ค่า ถ้าไม่ “ลงมือ” ทำ ฉะนั้น เมื่ออธิษฐานโดยมีเป้าหมายหรือผลสำเร็จที่ต้องการ และมุ่งหวัง เมื่อ “โฟกัส” จนชัดเจนแล้ว จนแผนการต่างๆ นิ่งแล้ว  ให้รีบชิงลงมือ “ทำทันที” “ทำทันใด” และ “ทำทันใจ” เพื่อให้เกิดความ สำเร็จ สำเร็จ สำเร็จ ตลอดไป…

Comments

comments