89. ต้นแบบชัยชนะจากภาคเกษตรกรรม

คอลัมน์  How to Win

ต้นแบบชัยชนะจากภาคเกษตรกรรม

ศาสตราจารย์  ดร. ฮุทิส  ศิริวรรณ

24 มกราคม 2556

———–

              ประเทศไทย เปลี่ยนชื่อจากสยาม เมื่อ 3 ตุลาคม 2482  แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นเกษตรกร

ถึงทุกวันนี้ คนไทยส่วนใหญ่ยังคงทำไร่ ทำนา ทำสวน วิกฤต IMF ไทยรอดเพราะสินค้า “เกษตร”

ช่วงสัปดาห์นี้ ผมเดินทางไปแถบบางลี่ บางปลาม้า บางจิก สุพรรณบุรีบ่อย เนื่องจากเพื่อนสนิทที่คบกันมากว่า 30 ปี ได้โทรศัพท์ให้ไปเยี่ยมบ้านเพื่อน เยี่ยมแม่เพื่อนที่วัด

ปีนี้ เพื่อนผมรู้สึก “เคว้งคว้าง” เพราะแม่เพิ่งลาจากไป ก็คงคล้ายความรู้สึกของผม และอีกหลายคนที่เสีย “บุพการี” แบบปัจจุบันทันด่วน ไม่มีโอกาสดูใจ หรือกล่าวคำอำลา ลาจาก

ไม่ได้เตรียมใจ เตรียมการ เตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้า

ภาพท้องถนนที่พบเห็นแถวบางลี่ สุพรรณบุรี ยังเป็นภาพ “เกษตรกรรม” จนผมแทบไม่เชื่อสายตาตนเองเหมือนกันว่าจากบางใหญ่บางบัวทองไม่ถึง 1 ชั่วโมง บ้านเมืองเราส่วนใหญ่ยังคงเป็น “เกษตรกรรม”

ปีนี้ ชาวนาส่วนใหญ่ “ร่ำรวย” กันถ้วนหน้า เพราะเป็นประวัติศาสตร์และปรากฏการณ์ที่ “นายกฯหญิง” ทำให้ชาวนาทั่วประเทศลืมตาอ้าปากได้เป็นครั้งแรก

ผมพูดเสมอทุกเวทีอภิปรายว่า ผมสนับสนุนแนวคิดทุกรัฐบาลที่จริงจังจริงใจเต็มใจ “ช่วยเหลือ” ชาวนาผ่านเครื่องมือต่างๆ ที่มี ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเช่นญี่ปุ่น ชาวนา ก็เป็น VIP เป็นบุคคลพิเศษ

คนที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ จะต้องให้รัฐโอบอุ้มดูแลช่วยเหลือเลี้ยงดูบ้าง ก็สมควรได้รับการโอบอุ้มดูแลเหลียวแลบ้าง เพราะชาวนาส่วนใหญ่คือ “กระดูกสันหลัง” ของชาติที่ถูกละเลยทอดทิ้งยาวนาน

กลุ่มทุน นายทุน สถาบันการเงิน การธนาคาร อุตสาหกรรม และคนที่เข้าถึง “อำนาจ” รัฐยังได้รับการดูแลประคบประหงมล้มบนฟูกอย่างดี เพียงไม่กี่ตระกูล รัฐบาลยังช่วยได้

ชาวนาซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ ก็สมควรที่จะได้รับการสนับสนุนดูแลเช่นกัน

เมื่อชาวนาเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้แพ้” กลายเป็น “ผู้ชนะ” ก็จะบังเกิดผลดีหลายประการ

ประการแรก กำลังซื้อ ปีนี้ เป็นปีแรกที่หลายกิจการโดยเฉพาะ SMEs รู้สึกทำมา ค้าขึ้น ค้าขายสะดวก มีกำไร สะท้อนได้จากสถิติคนซื้อตั๋วเครื่องบิน และรายการทัวร์ในและต่างประเทศ เต็มจนล้น

ประการที่ 2 กระแส สินค้าหลายตัวที่อั้นมานาน ขายไม่ออกหลายปี  รอบปีที่ผ่านมานี้สินค้าต่างๆ เพิ่งพบกับคำว่า “ขายดี” ในปีนี้ ยกตัวอย่าง คิวจองซื้อรถยาวข้ามปี บริษัทรถ โบนัสกันเป็นปี ยอดขาย ขายดิบขายดีถล่มทลายเป็นประวัติศาสตร์ ปุ๋ยต่างๆ ขายกันทะลุแสนล้านบาท ข้าวต่างๆ ก็ทยอยเข้าโรงสีรับจำนำข้าว เต็มจนล้นโรง แถบภาคกลาง ที่ผมผ่านตา เป็นดัชนีชี้วัด “กระแส”

ประการที่ 3 ความสุข คนเราเมื่อของซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ กระแสตอบรับก็มีความสุข ร้านทอง ร้านสินค้าเกษตร ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าสะดวกซื้อ ตามอำเภอและห้างร้านต่างๆ ในตัวเมือง มีผู้คนเข้าแถวเข้าคิวจับจ่ายซื้อขายสินค้ากันมากมาย เพราะเงินคืองาน งานคือเงิน บันดาลสุข

สรุปเป็น “ต้นแบบ” แห่งชัยชนะได้ว่า SMEs ที่ต้องการประสบความสำเร็จ ต้องมองภาค “เกษตรกรรม” โดยอย่าละเลย “กำลังซื้อ” ของคนที่มีอาชีพเกษตรกรรมที่มีอยู่จำนวนมากในประเทศ และต้องหาสินค้าที่เป็น “กระแส” มาเสนอแก่กลุ่มลูกค้าที่ตรงและโดนใจ และประการสุดท้ายคือ “ความสุข” ต้องบริหารจัดการความสุขให้เป็นระบบ เป็นขั้นตอน และเป็นกระบวนการ จึงจะสุขอย่างยั่งยืนและแท้จริง

Comments

comments