75. สามเหลี่ยมอัจฉริยะ

สามเหลี่ยมอัจฉริยะ

   ศ. ดร. อุทิส ศิริวรรณ

หนังสือพิมพ์เชียงใหม่ธุรกิจ

วันพุธที่ 21 พฤศจิกายน 2555

              เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาส Summit CEO พบกับสุดยอดผู้บริหารระดับสูง ชั้นแนวหน้า ชั้นนำ ระดับ “ประเทศ”

              บุคคลสำคัญท่านนี้มีนามว่า “เฉลียว วิทูรปกรณ์”  เป็นผู้บริหารระดับสูง กลุ่มบริษัทตะวันออกโปลีเมอร์ประกอบธุรกิจสินค้ายาง พลาสติกและอุปกรณ์ประกอบรถยนต์

ปัจจุบันยอดขายรวมของกิจการนี้ ทะลุหมื่นล้านบาทนานแล้ว มีโรงงานในหลายประเทศทั้งเอเชีย ยุโรป สหรัฐอเมริกา และเครือข่ายพันธมิตรทั่วโลก

ประเด็นน่าสนใจคือ “เฉลียว วิทูรปกรณ์” ยังมีบทบาทสำคัญอีกด้านคือ “อาจารย์พิเศษ” ชอบสอน ชอบบรรยาย ในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท สถาบันต่างๆ ทั่วประเทศ

สิ่งที่อยากนำเสนอวันนี้คือ แนวคิด อ. เฉลียว วิทูรปกรณ์ เรื่อง “สามเหลี่ยมอัจฉริยะ”  ที่ท่านคิดค้นขึ้นมาและกำลังปรับปรุง เพื่อนำไปสู่ “ตัวแบบธุรกิจ” ที่เน้นความสำเร็จในชีวิตที่ยั่งยืน

โดยย่อ สามเหลี่ยม มี 4 แบบ โดยแบบที่ 1 เรียกว่า “สามเหลี่ยมอันตราย” แบบที่ 2  เรียกว่า “สามเหลี่ยมน่าเสียดาย” แบบที่ 3 คือ “สามเหลี่ยมน่าใจหาย” และแบบที่ 4 แบบสุดท้าย เรียกว่า “สามเหลี่ยมถึงที่หมาย”

แบบที่ 1 “สามเหลี่ยมอันตราย” เปรียบเทียบได้กับคนที่เร่งรีบสร้าง “ฐาน” ที่ตนเองมั่นใจ เชื่อมั่น คิดเอาเองว่ามั่นคง แข็งแกร่ง แต่แล้วฐานดังกล่าวกลับง่อนแง่น ไม่เป็นปึกแผ่น ทว่ายังใจร้อน รีบก้าวกระโดด รีบขยายกิจการเติบโตรวดเร็วเกินไป บริหารความโลภไม่เป็น สุดท้าย จบลงด้วย “เจ๊ง เจ็บ จน”

แบบที่ 2 “สามเหลี่ยมน่าเสียดาย” เปรียบเทียบได้กับคนมีฐานที่ดี หรือที่มีความพร้อมอยู่ในมือ แต่ไม่มีการต่อยอดให้สูงขึ้น เทียบได้กับคนที่มีความรู้มากๆ หรือมีเงินมากๆ แต่ไม่รู้จักนำไปใช้เพื่อพัฒนาความรู้ ความสามารถ และพัฒนาศักยภาพของตนเองที่ “เป็นเลิศ”

                แบบที่ 3 “สามเหลี่ยมน่าใจหาย” เปรียบ ได้เหมือนคนที่ทำงานแบบขาด “ความสมดุล” สุดโต่งด้านหนึ่งด้านใดจนเกินไป ไม่เดินสายกลาง ไม่มีความพอเหมาะ พอดี พอควร พอประมาณ มีแนวโน้มเสียโอกาสเพิ่มเติมความรู้และความสามารถของตนเอง เพราะเน้นหนักทางด้านหนึ่งด้านใดมากจนเกินไป

                แบบที่ 4 “สามเหลี่ยมถึงที่หมาย” เปรียบ ได้เหมือนกับคนที่มีการตั้งเป้าหมายชีวิตเอาไว้ และสามารถจัดวางระบบ ขั้นตอน วิธีทำงาน แผนการ กระบวนการทำงาน จนก้าวสู่ความสำเร็จในชีวิตได้อย่างลงตัว ทุกๆ มุม ทุกๆ ด้าน มีสมดุลชีวิตทั้งโลก และธรรม  ครบทั้ง ทฤษฎี ปฏิบัติ ประสบการณ์ ครบถ้วนทั้ง วิชาชีพ วิชาการ และ วิชาชีวิต

โดย “เป้าหมาย” ที่ว่า มิใช่เฉพาะ “ความมั่งคั่งร่ำรวย” ที่เรียกว่า “เงินตรา” แต่ยังครอบคลุมถึง “ความสุข” สุขกาย สบายใจ อาหารดี อากาศดี อารมณ์ดี มีเหตุ มีผล สนุกสนาน ร่าเริง รื่นเริงในการทำงาน

จะก้าวสู่ “ความสำเร็จในชีวิต” ได้ ต้องแบ่งเวลาให้เป็น แต่จะแบ่งอย่างไร ? แบ่งได้ยากง่ายแค่ไหน? หรือแบ่งได้กี่ส่วน? ต้องหาหนังสือ “สามเหลี่ยมอัจฉริยะ สู่…ความสำเร็จในชีวิต” ของ อ. เฉลียว วิทูรปกรณ์ มาอ่านเพิ่มเติมครับ

Comments

comments