230. เรื่องเล่าจากญี่ปุ่น ตอน ๒๐

๒๓๐. เรื่องเล่าจากญี่ปุ่น ตอน ๒๐
จิตใจญี่ปุ่น เรียนรู้แบบตะวันตก


อุทิส ศิริวรรณ
เขียน

๘.๕.๒๕๖๒

—–

วัฒนธรรมญี่ปุ่น วิเคราะห์ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์
พบว่าเกิดจากการหลอมรวม ๒ คำสอนเข้าด้วยกัน
กล่าวคือ “คำสอนพุทธศาสนา” กับ “คำสอนขงจื๊อ”

เมื่อ “บูรณาการ” ๒ สิ่งเข้าด้วยกัน
จึงมีอิทธิพล ส่งผลให้คนญี่ปุ่น
มีจิตสำนึกเฉพาะตัว เป็นเอกลักษณ์แบบญี่ปุ่น
มีวัฒนธรรมประเพณีแบบญี่ปุ่น
มีแบบแผนแบบญี่ปุ่น
มีนิสัยแบบญี่ปุ่น
และมีมรรยาทแบบญี่ปุ่น
รวมถึงมี “ความคิดอ่าน” แบบญี่ปุ่น
ที่น่าสนใจศึกษาเรียนรู้ในประเด็น
“สร้างคนให้มีคุณภาพ” แบบมาตรฐานของญี่ปุ่น

หลังญี่ปุ่นเปิดประเทศเมื่อสิ้นยุคโชกุน ในสมัยเมจิ
ตรงกับปีพุทธศักราช ๒๔๑๑-๒๔๕๕
การปฏิรูปในสมัยเมจิ รัฐบาลญี่ปุ่น มีแนวคิด
มีเป้าหมายนำ “วัฒนธรรมตะวันตก” มาประยุกต์ใช้
ปรับการบริหารจัดการแบบญี่ปุ่นให้มีความทันสมัย
และมีการทบทวน “วัฒนธรรมญี่ปุ่น” โดยเฉพาะ
ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม
โดยปรับให้เป็นแบบตะวันตกที่ทันสมัยแบบเร่งด่วน
มีผลทำให้สังคมญี่ปุ่นเกิดสภาวะ
“การตื่นตระหนกทางวัฒนธรรม”
ทำให้คนญี่ปุ่นรวมตัวกันมีปฏิกิริยาต่อต้านวัฒนธรรมตะวันตกในวงกว้าง

ทว่าหลังพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ ๒
ญี่ปุ่นจำต้องรับความช่วยเหลือจากทางสหรัฐอเมริกา
เนื่องจากได้รับความบอบช้ำจากสงครามมาก
โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจทำให้ญี่ปุ่นฟื้นฟูประเทศได้รวดเร็ว
ส่งผลให้ “อุตสาหกรรม” ฟื้นตัวด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทันสมัย

ความทันสมัยแบบอเมริกันทำให้ญี่ปุ่นหลงใหลใฝ่ฝัน
ส่งผลให้วิถีชีวิตแบบญี่ปุ่นปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่
เกิดการสูญเสียขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าแก่มากมาย

ฮิเดโตชิ อูเมกิ (๒๕๕๘) หน้า ๓๐-๓๕ ได้ระบุถึง “อิทธิพลต่างชาติในแดนอาทิตย์อุทัย”
หนังสือเรื่อง “Sakura” เรื่องเล่าของญี่ปุ่น โดยคนญี่ปุ่น เพื่อคนไทย สรุปว่า

สิ่งที่ญี่ปุ่นรับเข้ามาจากต่างประเทศและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
มี ๖ ด้านหลัก อันประกอบด้วย

๑. การปฏิรูปด้านศิลปะ จากเดิมเน้นงานหัตถรรม ฝีมือ เช่น
จัดสวนแบบญี่ปุ่น ชงชาแบบญี่ปุ่น เครื่องปั้นดินเผาแบบญี่ปุ่น
ก็มีการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา มีการสร้างการ์ตูนมังงะ
อุตสาหกรรมการ์ตูนแอนนิเมชัน เกมคอนโซล ฯลฯ

๒. การปฏิรูปด้านอาหาร เช่น “ราเม็ง” รับเอาอิทธิพลจากจีน
“แกงกะหรี่ญี่ปุ่น” รับเอาอิทธิพลจาก “สตูว์” ของอังกฤษ

๓. การปฏิรูปด้านดนตรี มีการรับเอา “ดนตรีตะวันตก” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง
ของวงการดนตรีญี่ปุ่น เช่น วัฒนธรรมดนตรี เจ-ป๊อป การเล่นคอนเสิร์ต
ซิมโฟนี่หมายเลข ๙ ของบีโธเฟน

๔. การปฏิรูปด้านวรรณกรรม มีนักเขียนหัวก้าวหน้าทันสมัย เกิดขึ้นในแวดวงวรรณกรรม
หลายคน เช่น ริวโนซูเกะ อากูตากาวะ ฮารูกิ มูราคามิ

๕. การปฏิรูปด้านกฎหมาย เดิมญี่ปุ่นรับเอาต้นแบบกฎหมายจากจีน ก็มีการปรับใช้
กฎหมายจากเยอรมันมาเป็นต้นแบบประมวลกฎหมายแพ่ง

๖. การปฏิรูปด้านเทคโนโลยี แม้ญี่ปุ่นจะมีสถิติจดสิทธิบัตรเป็นอันดับ ๓ ของโลก
และเป็นผู้นำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทันสมัย ทว่าญี่ปุ่นก็ยังเปิดรับเอา
เทคโนโลยีทันสมัยจากเยอรมัน อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา  ด้วย

 

ที่จริงยังมีอีกหลายประเด็น ผมขอเสริมอีกประเด็นเดียวคือ

๗. การปฏิรูปด้านการบริหารจัดการ ญี่ปุ่นเองได้ปรับใช้ “ทฤษฎีการจัดการแบบตะวันตก”
โดยนำมาปฏิรูปแวดวงบริหารจัดการภาคเอกชน ยกตัวอย่าง “ทฤษฎีภาวะผู้นำแบบญี่ปุ่น”
ซึ่ง “ผู้นำแบบญี่ปุ่น” มี ๒ แบบ กล่าวคือ ผู้นำมีพฤติกรรมมุ่งงาน และผู้นำมีพฤติกรรมมุ่งความสัมพันธ์
อันมีต้นแบบมาจาก “ทฤษฎีภาวะผู้นำของไอโอวา” ซึ่งสรุปว่า “ผู้นำ” มี ๓ แบบ กล่าวคือ
ผู้นำแบบประชาธิปไตย ผู้นำแบบเผด็จการ และผู้นำแบบเสรีนิยม
ฯลฯ

จากหลักฐานในอดีต มีข้อค้นพบว่า “วัฒนธรรมญี่ปุ่น” เกิดจากการรับเอาอิทธิพล
ของจีน และเกาหลีในระยะแรก จากนั้นระยะหลังจึงเริ่มรับเอาวัฒนธรรมตะวันตก
โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมัน เข้ามามีส่วนปฏิรูปและพัฒนา
ญี่ปุ่นในด้านต่างๆ ทั้ง ๖ ด้านหลัก ตามที่สรุปไว้ในเบื้องต้น

คนญี่ปุ่นได้ฝึกฝนตนเองอย่างเข้มงวดและจริงจัง ในการรับมือกับภัยธรรมชาติ
และภัยพิบัตินานัปประการ ทั้งโรคระบาด อุทกภัย วาตภัย ที่หลากหลาย
จึงทำให้มีความสามารถพิเศษในการเตรียมตัว วางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
ด้านต่างๆ ได้ทันท่วงที ดังนั้น ในแง่ของวัฒนธรรม คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่
รักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นเอาไว้ได้ดี
ขณะเดียวกันก็รับเอาวัฒนธรรมจากนานาชาติเข้ามาเปลี่ยนแปลงปฏิรูป
จนสามารถพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายได้

นอกจากนี้ คนญี่ปุ่นยังได้รับการปลูกฝังให้มีลักษณะพิเศษคือ “ความยืดหยุ่น”
มาตั้งแต่กำเนิด การรับเอาวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามาอย่างรวดเร็ว ปรับใช้ และเลิกใช้
ตลอดทั้งสร้างขึ้นใหม่ในรูปแบบต่างๆ จึงยังคงอยู่ กระทั่งมีส่วนผสมเฉพาะทางวัฒนธรรม
ทำให้มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์เฉพาะทาง สามารถนำเสนอสินค้าและบริการ
ที่มีนวัตกรรม อันเป็นการต่อยอด และเพิ่มมูลค่า ตลอดทั้งคุณค่าให้ต่างชาติยอมรับ
ในสินค้าที่เรียกว่า Made in Japan ได้อย่างมีคุณภาพ

หลังสมัยญี่ปุ่น มีคำกล่าวในกลุ่มคนญี่ปุ่นว่า “จิตใจญี่ปุ่น เรียนรู้แบบตะวันตก”
หมายถึง การรักษาจิตใจแบบญี่ปุ่นสมัยเก่าไปพร้อมๆ กับการรับเอาวัฒนธรรมแบบตะวันตก
ปรัชญาตะวันตกนำเอามาปรับใช้ โดยพยายามนำทั้งสองอย่างมาผสมผสานหล่อหลอม
และหลอมรวมให้กลมกลืนและพัฒนาในลักษณะต่อยอด

หลายคนมองญี่ปุ่นในยุคดิจิทัลแล้วอาจคิดว่าคนญี่ปุ่นสมัยนี้ยกย่องศรัทธาในวัฒนธรรมตะวันตก
และอาจคิดว่าคนญี่ปุ่นที่เข้าใจความหมายจิตวิญญาณแบบญี่ปุ่นมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ
แต่อันที่จริงแล้ว คนญี่ปุ่นเองมิได้เป็นเช่นนั้น ทุกวันนี้คนญี่ปุ่นส่วนมากยังคงรักษา
“หัวใจแบบญี่ปุ่น” เอาไว้ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพราะคำสำคัญของการหล่อหลอมคนแบบญี่ปุ่น
ซึ่งวรินทร วูวงศ์ (๒๕๕๐) ได้วิจัยประเด็น “การยกระดับคุณภาพของคนไทยผ่านกระบวนการ
หล่อหลอมในระบบโรงเรียน” อ้างอิงในงานวิจัยของวรินทร วูวงศ์ และคณะ (๒๕๖๒) หน้า ๑๕
ซึ่งวรินทรได้ค้นพบว่า คำสำคัญของการหล่อหลอมคนให้มีคุณภาพแบบญี่ปุ่นคือ
.”ความเข้มงวดต่อตนเองในทุกเรื่อง”

ซึ่งประเด็นดังกล่าว นับว่าแตกต่างจากคนไทย วรินทร (๒๕๕๐) สรุปว่าการที่คนญี่ปุ่นมีคุณภาพ
เป็นเพราะ “อบรมบ่มเพาะ” ใน ๒ ประเด็นหลัก อันประกอบด้วย

๑. ระเบียบปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เช่น ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร จัดระเบียบสิ่งของตนเอง

๒. กิริยามารยาท การวางตัว วางท่าทีที่เหมาะสมต่อผู้อื่นที่อยู่ร่วมในสังคม เช่น การสละที่นั่งให้ผู้สูงอายุ
หรือการทักทายผู้มาเยือนแม้ตนเองจะไม่คุ้นเคยมาก่อน

วรินทร ยืนยันว่า ญี่ปุ่น “อบรมบ่มเพาะ” สร้างคนให้มีคุณภาพใน ๒ ประเด็นหลักข้างต้นได้
ผ่านเครื่องมือสำคัญ เรียกว่า “การศึกษา” ซึ่งคนไทยเอง วรินทรได้วิจัยและค้นพบว่า
การที่คนไทยยังต้อง “อบรมบ่มเพาะ” เพื่อพัฒนาตนให้มีคุณภาพ เนื่องจากคนไทยมีปัญหา
ในการทำงานรวม ๓ ด้านหลัก

๑. ความรู้ในงานที่รับผิดชอบ

๒. ความสามารถในการบริหารจัดการ

๓. การปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม

กล่าวโดยสรุป “วินัยในตนเอง”  คือข้อค้นพบสำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาคนให้มีคุณภาพ
และ “การศึกษาในโรงเรียน” สามารถช่วยพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพได้

ส่วนตัวผมมองเห็น และขอเสริมอีกแง่มุมว่า “วัดวาอาราม” และ “ครอบครัว” ก็เป็นอีก ๒ สถาบันสำคัญ
ที่สามารถช่วยพัฒนาคนในสังคมไทยให้มีคุณภาพทัดเทียมกับนานาชาติ ซึ่งมีรายละเอียดที่
ต้องทำการวิจัยต่อไป โดยหลักคำสอนสำคัญที่ง่ายๆ เช่น “สวดมนต์”  “สมาธิขั้นพื้นฐาน” “ความมีน้ำใจ”
เป็นสิ่งที่เราสามารถ “อบรมบ่มเพาะ” ให้คนไทยเป็นคนมีคุณภาพได้ทัดเทียมนานาชาติ

Comments

comments