227. สามเณร สมณะที่ถูกลืม

๒๒๗. กรณีศึกษาสามเณรในประวัติศาสตร์

๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒

ศาสตราจารย์ ดร. อุทิส ศิริวรรณ
ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก ทวิปริญญา
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ
Charisma University, Providenciales, TC
and
Apollos University, Great Falls, Montana, USA

เรียบเรียง

สามเณร แปลตรงตัวว่า “เหล่ากอแห่งสมณะ”
ถือเป็น “บรรพชิต” กล่าวคือ “นักบวช” 
ในพุทธศาสนา นิกายเถรวาท 
ซึ่งพบเห็นตามวัดวาอารามทั่วประเทศ

ตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงสมัยปัจจุบัน
ได้มีการสืบต่อสถานภาพ “สามเณร” ไม่ขาดสาย

สามเณรรูปแรกในสมัยพุทธกาลคือ “สามเณรราหุล”
ซึ่งเป็น “โอรสองค์เดียว” ของเจ้าชายสิทธัตถะ
ซึ่งกาลต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในประเทศศรีลังกา คราวที่พุทธศาสนาประสบวิกฤต 
ถูกทำลายจนไม่มีพระภิกษุหลงเหลืออยู่บนเกาะดังกล่าว
แม้แต่รูปเดียว

สามเณรได้มีบทบาทสำคัญในการธำรงรักษาไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา
ให้คงอยู่เอาไว้ได้ และแม้จะเป็นเด็ก เยาว์วัย สถานภาพในฐานะ
ชาวพุทธ มองว่าเป็นเพียงผู้เตรียมตัวอุปสมบทเป็นภิกษุ
ทว่าในความเป็นจริง ได้เล่าเรียน ทรงจำ กล่าว บอก สอน 
พระบาลีคือพระไตรปิฎก พระธรรมวินัย คำสอนของพระพุทธเจ้า
และเป็นผู้สามารถจะเรียนรู้และเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า
จนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์หลายรูป 

เหตุผลในการบรรพชาเป็นสามเณร
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สุภัทร บริบูรณ์ (๒๕๒๒, ๙-๑๓) 
ได้วิจัยหัวข้อ “การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องสามเณรในพระพุทธศาสนา”
สรุปว่า “เหตุผลในการบรรพชาเป็นสามเณร” เท่าที่พบหลักฐานใน
ประวัติศาสตร์ มี ๖ ด้านประกอบด้วย

๑. ความรักและความปรารถนาดีของพ่อแม่

กรณีศึกษาคือ “พระพุทธเจ้า” ได้ทรงมอบ “ทรัพย์มรดกอันมีค่าสูงสุด”
ซึ่งมิใช่ “ราชบัลลังก์” หากแต่เป็น “สถานะสามเณร” 
อันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาปรารถนาให้ “ราหุลสามเณร” 
ประสบกับ “อริยทรัพย์” กล่าวคือ “โลกุตตรทรัพย์” 
ซึ่งมีคุณค่าเหนือกว่า “มูลค่า” คือ “ทรัพย์สินทั่วไป” ของมวลมนุษย์

๒. อัธยาศัย และอุปนิสัยส่วนตัว

มีเด็กจำนวนมากที่พ่อแม่คิดว่า “เราจะตามใจลูก ไม่ทำลายอัธยาศัยของลูก
ในอรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ หน้า ๓๔ อธิบายเป็นภาษาบาลี
“เราจักไม่ทำลายอัธยาศัยของลูกเรา” ดังนี้”
ซึ่งเด็กที่จะบรรพชาเป็นสามเณร ส่วนมากเป็นเด็กมีอุปนิสัยรักความสงบ
เข้าใจชีวิต และมีความรู้สึกไวต่อเหตุการณ์ที่จะบันดาลให้เกิดความสลดใจ
สังเวชใจ 

กรณีศึกษาคือ “สังกิจจสามเณร” ซึ่งเติบโตมาด้วย “ปมด้อยในใจ”
กล่าวคือ “แม่” ถึงแก่กรรมขณะที่ตนเองยังอยู่ในครรภ์ และถูกนำไปเผา
พร้อมกับศพแม่ แต่ชะตาไม่ถึงฆาต ญาติไปพบเข้า เลยถูกเด็กๆ ด้วยกัน
ล้อเลียนว่าลูกไม่มีผู้ปกครอง จนกลายเป็นปมด้อย ภายหลังรู้ความจริง
สลดใจในวงจร “สังสารวัฏ: กิเลส-กรรม-วิบาก” เลยตัดสินใจออกบวช
เป็นสามเณร และได้บรรลุธรรมชั้นสูง ยกระดับจิตเป็นอริยะ กลายเป็น
พระอรหันต์ ขณะกำลังปลงผม

๓. สภาพเศรษฐกิจความยากจนบีบบังคับ

ตั้งแต่อดีต เด็กหลายคนออกบวช ด้วยความเข้าใจผิดๆ คิดว่า
บวชเป็นเณรแล้วสบาย ไม่ต้องทำงาน มีข้าวปลาอาหารกินอุดมสมบูรณ์
การบรรพชาเป็นความสุขสบาย อาศัยผู้อื่นยังชีพ ไม่ต้องประกอบอาชีพอะไร
ก็สามารถดำรงชีพต่อไปได้ หนำซ้ำยังมีคนเห็นแก่ผ้าเหลือง กราบไหว้ 
มีลาภสักการะเกิดขึ้นจากอานิสงส์บุญบวช โดยไม่ต้องแสวงหา

ในพระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ ส่วนวินัยปิฎก มหาวรรค ภาคที่ ๑
หน้า ๑๖๐ ระบุ “กรณีศึกษา”เรื่อง “พ่อกับลูก” ที่ครอบครัวพากันตายจากยกครัว
ด้วย “โรคระบาด” คือ “อหิวาตกโรค” พอออกบวชแล้ว “สามเณร” ลูกชาย
อายุน้อยเกินไป คุมอารมณ์ไม่อยู่ เพราะเหนื่อยและหิว เวลาเดินบิณฑบาต
ก็วิ่งตาม “หลวงพ่อ” ตะโกนร้องขอข้าวปลาอาหาร ไม่สำรวม 
ร้องขอขนมกินไปตลอดทาง ทำให้ประชาชนเห็นแล้วตำหนิว่าไม่สำรวม
และยังพูดเหน็บแนมหลวงพ่อว่า ไหนๆ ก็มีพ่อเป็นพระแล้ว น่าจะมีแม่
ออกบวชเป็นภิกษุณีไปด้วย 

เมื่อเรื่องถึงพระพุทธเจ้า ได้ทรงเรียกมาตำหนิ และได้ทรงบัญญัติพระวินัยไว้ว่า
ห้ามบรรพชา “สามเณร” ที่อายุน้อยกว่า ๑๕ ปี 

๔. บุญสัมพันธ์ กรรมสัมพันธ์ตั้งแต่อดีตชาติ 

กรณีศึกษาคือ “สามเณรสุมนะ” ศิษย์เอกของพระอรหันต์นามว่า “อนุรุทธ์”
พระญาติของพระพุทธเจ้า ซึ่งต่อมาพระอนุรุทธ์ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะ
คือตำแหน่ง “ยอดเยี่ยมกว่า” พระภิกษุทั้งหลาย ในด้าน “ทิพยจักษุ” คือตาทิพย์

เป็นเรื่องราวสะท้อนให้เห็นถึงสัจธรรมว่า คนเราเคยเวียนว่ายตายเกิดหลายภพหลายชาติ
และเคยเป็นเพื่อนกัน เป็นพี่ เป็นน้อง เป็นญาติ เป็นพ่อ เป็นแม่ ฯลฯ ดังนั้น จะทำกรรมเวรต่อใครๆ ให้ระมัดระวังว่า เขาหรือเธออาจเป็นญาติ หรือคนสนิทของเราในอดีตชาติ 

พระอรหันต์อนุรุทธ์ นั่งสมาธิเข้าฌาน ตรวจสอบ “อดีตชาติ” ได้ข้อค้นพบทางจิตว่า
“พระ” ที่เคยเป็น “เพื่อนเก่า” ในอดีตชาติของท่าน กลับชาติมาเกิดในวัดใกล้หมู่บ้าน
ที่ท่านจำพรรษา และครอบครัวของ “สุมนะ” นับถือเลื่อมใสสัทธาในตัวท่านเป็นอย่างมาก
และแม้จะถวายสิ่งของใดๆ ท่านก็ปฏิเสธทั้งหมด โดยอ้างเหตุผลว่าไม่มี “สามเณร”
ทำหน้าที่อุปัฏฐาก เมื่อโยมออกปากมอบลูกชายคนโตในตระกูลให้ ท่านก็ไม่รับ
กระทั่งถึง “สุมนะ” ท่านก็รับไว้บวชเป็นสามเณรโดยดุษฎีคือนิ่งเฉย 

และเมื่อบรรพชาให้แล้ว ท่านก็พา “สุมนะสามเณร” ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย 
กาลต่อมา “สุมนะสามเณร”  ก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์

นี่คือกรณีศึกษา “เพื่อนเก่าเพื่อนแก่เพื่อนยามยากในอดีตชาติ” 

๕. ปณิธานในการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา

มีกรณีศึกษา ๒ เรื่อง

เรื่องแรกคือ “สามเณรติสสะ” ซึ่งเป็นลูกชายของนางโมคคัลลานีพราหมณี
เกิดในตระกูลพราหมณ์เก่าแก่ เมื่อจะเกิดมี “ภัยพิบัติ” “อาเพท” เป็นเหตุ
ให้พระพุทธศาสนามีภัยคุกคามมากระทบ เทวดาที่เป็นสัมมาทิฐิ
ตลอดถึงพระสงฆ์ที่เป็นสุปฏิปันโน ก็จะช่วยกันคิดอ่านหาทางปกป้อง
ปกปักรักษา คุ้มครอง ดูแลพระพุทธศาสนา เมื่อไม่สามารถด้วยตนเอง
ก็หาคนดีมีความคิดอ่าน มีความรู้ความสามารถ เข้ามาช่วย 

รายของ “สามเณรติสสะ” พระสงฆ์ต้องใช้เวลาเสาะแสวงหานานหลายปี
กว่าจะพบตัว และเมื่อชักจูงให้เข้ามาบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว 
ก็ช่วยกันอบรมสั่งสอน กระทั่งต่อมาได้สำเร็จวิชชาชั้นสูง กลายเป็นพระอรหันต์
อุปสมบทเป็นพระภิกษุ นามว่า “พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ” ในรัชสมัย
ของจอมจักรพรรดิอโสก ท่านดำรงตำแหน่ง “พระสังฆปาโมกข์” 
นำพระสงฆ์คือพระอรหันต์จำนวน ๑,๐๐๐ รูป มาชุมนุมกันสังคายนาพระธรรมวินัย
เรียกว่า “ตติยสังคายนา” มุ่งกำจัดเหล่าเดียรถีย์ นักบวชนอกศาสนา ซึ่งแฝงตัว
ปลอมตัวเข้ามาบวชเรียน เพราะเห็นแก่อามิสสินจ้างลาภสักการะนานัปประการ
ซึ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอโสก โดยพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ 
ได้สังคายนาวงการพระพุทธศาสนาจนบริสุทธิ์บริบูรณ์ จับพระอลัชชี พระทุสีล
ลาสิกขาจำนวน ๖๐,๐๐๐ รูป และช่วยพระเจ้าอโสกวางแผนจัดส่งพระธรรมทูต
ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั่วโลก รวม ๙ สาย  เมืองไทยเอง
ก็ได้คุณูปการจากพระอรหันต์ ๒ องค์ คือพระโสณะ และพระอุตตระ 
ซึ่ง “อดีตสามเณรติสสะ” จัดส่งมาประจำการในสุวรรณภูมิ ซึ่งสยามประเทศ
ก็เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนแห่งนี้ และพระพุทธศาสนาก็สถิตถาวรมั่นคง
นานนับพันๆ ปี ก็เกิดจาก “สามเณรติสสะ” นี้เอง

สามเณรอีกรูปคือ “สามเณรนาคเสน” ซึ่งอภิปรายถกเถียงโต้เถียงวิวาทะ
ตอบโต้กับ “พระเจ้ามิลินท์” ซึ่งเป็นนักรบและนักปราชญ์ มักจะกำหนด
ประเด็นอภิปรายถกเถียงข้ออรรถ ข้อธรรมกับพระสงฆ์และนักบวชนิกายต่างๆ
เป็นผู้ที่วงการศาสนาครั่นคร้าม เกรงกลัว และยำเกรง ในภูมิรู้ภูมิธรรม
จะหาพระสงฆ์รูปใด “วิวาทะ” แล้วชนะ “พระเจ้ามิลินท์” ซึ่งทั้งเก่งและกร่าง

สุดท้ายคณะสงฆ์จัดการให้ “พระโรหณะ” ไปประสานงาน ดำเนินการ
จนได้ตัว “เด็กน้อย” จากพราหมณ์ตระกูลที่เป็นมิจฉาทิฐิ เอามาบวช
เป็นสามเณร ใช้เวลานานถึง ๗ ปี ๑๐ เดือน ภายหลังได้บรรลุธรรมชั้นสูง
กลายเป็น “พระอรหันต์” นามว่า “พระนาคเสนเถระ” และได้วิสัชนา
ตอบคำถามพระเจ้ามิลินท์ ปรากฏมีการรวบรวมไว้เป็นคัมภีร์วิจัย
ที่ในพม่า จัดเข้าเป็น “พระไตรปิฎก” เพราะเป็นธัมมะที่ลึกซึ้ง ละเอียด
และมีสาระครบถ้วน ทั้งปริยัติ-ปฏิบัติ-ปฏิเวธ กล่าวคือสรุปหลักปฏิบัติ
สีล-สมาธิ-ปัญญา ไว้ในที่แห่งเดียวกัน จัดเข้าในกลุ่มที่เรียกว่า 
“ปกรณ์วิเสส” คล้ายคัมภีร์วิสุทธิมรรคซึ่งแต่งโดยพระพุทธโฆสะ

๖. ด้วยเหตุผลและความจำเป็นอย่างอื่น

มีกรณีศึกษา ๒ ราย 

รายแรกคือ “สามเณรนิรนาม” ไม่ปรากฏชื่อ 

ออกบวชเพราะญาติต้องการให้ “พระตาบอด” นามว่า “จักขุบาล”
เดินทางกลับบ้านเกิด ต้องการให้คอยจูง ทว่าสามเณรรูปนี้
หลงเสียงนาง ได้ยินสตรีนางหนึ่งร้องเพลง เกิดติดใจในเสียง
ก็เลย “ทุสีล” ได้เสียกับนาง พระอรหันต์จักขุบาลเลยไล่กลางทาง
ไม่ให้นำไปส่ง ทว่าด้วยสีลานุภาพของพระอรหันต์ พระอินทร์ก็แปลงร่าง
ลงมานำทางไปส่งยังเมืองสาวัตถีในท้ายที่สุด

อีกเรื่องคือ “สามเณรเรวตะ” น้องชายคนเล็กของพระสารีบุตร
วันแต่งงาน ญาติๆ ซึ่งเป็นคนเฒ่าคนแก่มาอวยพรว่า
ขอให้มีอายุยืนนับร้อยๆ ปี เห็น “สังขาร” ของหญิงชราที่อวยพรแล้ว
เกิดความสลดใจ เบื่อหน่ายที่จะเป็นฆราวาส ได้คิดกลอุบาย
หนีงานแต่ง หลบหลีก หลีกเลี่ยง ออกบวช เป็นสามเณร

กาลต่อมาได้รับยกย่องเป็น “เอตทัคคะ” คือสุดยอดพระอรหันต์
ในสายของพระที่ “การยินดีอยู่ในป่า”  

เท่าที่สังเกต สามเณรทั้งหลาย ออกบวช ขณะยังไม่บรรลุนิติภาวะ
ครั้นเจริญวัยถึงช่วงเวลาที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ออกบวชต่อเนื่อง
เป็นพระภิกษุทันที

เรื่องราว “ชีวิตสามเณร” ยังมีต่ออีกหลายตอน
ช่วงเทศกาลวันวิสาขบูชา จึงขอเล่าไว้เพียงแค่นี้พอสังเขป 

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ

——

 

 

Comments

comments