๒๓๕. คิดแบบฮาร์วาร์ด : การเพิ่มผลผลิตอย่างยิ่งยวด

คิดแบบฮาร์วาร์ด : การเพิ่มผลผลิตอย่างยิ่งยวด

คอลัมน์   Get Idia 5.0

8.8.2562

ตลอดเดือนพฤษภาคมปีนี้ ผมใช้เวลาส่วนมากที่ Harvard Business School มีเวลา ผมจะเล่ารายละเอียดให้ฟัง วันนี้ ขอเล่าเพียงแค่บางส่วน

ประเด็นที่เรียนรู้จากฮาร์วาร์ด และน่าสนใจคือ “แนวคิดการเพิ่มผลผลิตอย่างยิ่งยวด”
หรืออังกฤษเรียกว่า extreme productivity ผมแปลสั้นๆ ง่ายๆ ว่า “แนวคิดการเพิ่มประสิทธิภาพในระดับที่เข้มงวด”  ซึ่งเป็นแนวคิดใหม่ในวงการบริหาร เป็นคำศัพท์ใหม่

Robert Pozen ผู้นำเสนอแนวคิดนี้ เป็นเด็กมัธยมที่ไม่เอาไหน พ่อแม่ไม่เอาถ่าน
แต่วาสนาชะตาคน มีปัญหาเรื่องเงินทอง รายได้เอาแน่เอานอนไม่ได้ ทว่าตนเอง ต่อสู้ พากเพียรพยายาม สุดท้ายได้ดิบได้ดี นอกจากเป็นอาจารย์สอนพิเศษ ที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแล้ว ท่านผู้นี้ยังสอนกฎหมาย ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นประธานบริหาร
MFS Investment Fund Management กิจการลงทุนระดับโลก กรรมการบริหาร บริษัทมหาชน ๒ แห่ง เมดโทรนิกส์ และนีลเส็น มูลนิธิเพื่อสุขภาพ ศูนย์วิจัยการการแพทย์ Harvard Neuro Discovery
เขียนหนังสือ 3 เล่ม ขายดีระดับโลกเล่มหนึ่งชื่อ Extreme Productivity เขียนบทความในนิตยสารและวารสาร อีกราว 100 เรื่อง

อาจารย์ฮาร์วาร์ดท่านนี้ สรุปสาระสำคัญสั้นๆ ว่า ที่ทำงานต่างๆ มากมายได้อย่างไร
เพราะคำสั้นๆ เพียงคำเดียว Extreme Productivity พื้นฐานครอบครัวท่าน น่าสนใจ
เพราะเป็น “ดัชนีชี้วัด” ความสำเร็จของลูกหลานได้ พ่อท่านเป็นทหารสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
เจ้าระเบียบสุดโต่ง ครอบครัวเจ้าหลักการ ส่วนแม่ดูแลงานบ้านไม่ขาดตกบกพร่องโดยทำงานเป็นพนักงานบัญชี บริษัทเช่าซื้อเครื่องจักรไปพร้อมๆ กัน แม่ทำงานหนักส่งเสียอาจารย์ฮาร์วาร์ดท่านนี้
จนจบพร้อมๆ กับน้องชายอีก 2 คน

อาจารย์บ็อบ Robert Pozen เลยต้องช่วยพ่อทำงานตั้งแต่อายุน้อยๆ เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลและเทนนิส ทำงานชั่วคราว 2 แห่ง ทั้งยังมีงานสอนหนังสือที่โรงเรียนฮิบรู
โบสถ์ชาวยิวทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และอาทิตย์ ส่วนจันทร์ พุทธ ศุกร์ ทำงานร้านขายหนังสือ
ในท้องถิ่น  วัยเด็กท่านเรียนหนังสือที่โรงเรียนมัธยมในท้องถิ่น ผลการเรียนอยู่ในระดับต่ำ ครูคนเดียวต้องสอนวิทยาศาสตร์ ทุกสาขา ฟิสิกส์ ชีววิทยา เคมี  วิธีสอนคือให้ทำแบบฝึกหัด
วันละ 10-20 ข้อ ส่งในเย็นวันนั้น จากนั้นครูจะย้ายไปสอนห้องอื่นต่อ เมื่อครูทิ้งให้ค้นคว้าหาคำตอบเอาเอง ตัวอาจารย์บ๊อบ ก็ต้องเปิดตำราอ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง พูดคุยกันกับกลุ่มเพื่อนเรียน และหาคำตอบของแบบฝึกหัดที่ครูทิ้งไว้ให้ทำ จนนำมาซึ่งแนวความคิดใหม่ “วิธีการเรียนรู้มีประสิทธิภาพโดยบังเอิญ” รูปแบบคือนักเรียนกลุ่มเล็กๆ แบ่งกลุ่มกันย่อยออกไปอีก ช่วยกันค้นคว้าเรียนรู้ด้วยตนเอง พยายามค้นคว้านำแนวคิดใหม่ๆ ในตำรา มาปรับใช้กับสถานการณ์ที่แบบฝึกหัดกำหนดให้ ครูสอนภาษาอังกฤษ สร้างแรงบันดาลใจ แนะนำอาจารย์บ๊อบให้เห็นความสำคัญ
ของที่ปรึกษาเกี่ยวกับอาชีพ แนะนำหนังสือที่ควรอ่าน และตรวจแก้รายงานละเอียดลอออีกด้วย

ครูทำให้อาจารย์บ๊อบมั่นใจ จนกล้าที่จะสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งท่านก็โชคดีได้รับคัดเลือกพร้อมเงินทุนการศึกษาและเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาแลกกับการเป็นหนี้ก้อนโต อาจารย์บ๊อบเล่าว่าได้ตระหนักและเห็น “ชนชั้นทางสังคม”  ครั้งแรกตอนไปเรียนที่ฮาร์วาร์ด นักศึกษาครึ่งหนึ่งมาจากครอบครัวคนรวย ที่เหลือมาจากโรงเรียนมัธยมปลาย ย่านชานเมืองแหล่งคนรวยมีความพร้อมทางการศึกษาและทรัพย์มรดกของครอบครัวที่อาจารย์บ๊อบไม่มีสักอย่างทำให้รู้สึกหวั่นใจ
และเป็นแรงบันดาลใจให้ฮึดสู้เอาจริงเอาจังกับการเรียนมากยิ่งขึ้น

ขณะที่เพื่อนๆ ฮาร์วาร์ด มีเวลาว่างเหลือเฟือหาความรู้เพิ่มเติมทำกิจกรรมเพื่อสังคม

อาจารย์บ๊อบเองกลับต้องทำงานพิเศษส่งเสียตัวเองจนกระทั่งเรียนจบ เป็นบรรณารักษ์กะกลางคืน
ที่ห้องสมุดฮาร์วาร์ด ทำตลาดเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ วิจัยเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยให้บริษัทในบอสตัน

extreme productivity เกิดจากทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เรียนหนังสือควบคู่กันไปด้วย จึงค้นพบ “ทักษะการเรียนรู้สมัยใหม่” กล่าวคือการอ่านและการเขียนอย่างรวดเร็ว โดยให้ความสำคัญกับ
“เป้าหมายสุดท้าย ”

บทสรุปแนวคิด “การเพิ่มผลผลิตอย่างยิ่งยวด” ที่คนยุคดิจิทัลควรคิดอ่านคือการเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ตนเอง  รวม 3 แนวคิดหลัก แนวคิดแรก เขียนเป้าหมายออกมาให้ละเอียด และจัดเรียงลำดับความสำคัญ แนวคิดที่ 2 ให้ความสำคัญกับ “ผลลัพธ์สุดท้าย” กล่าวคือ “ปลายทาง”  ร่างข้อสรุปที่เป็นไปได้ออกมา เพื่อเป็นแนวทางการทำงาน แนวคิดที่ 3 อย่าเสียเวลากับเรื่องไม่สำคัญ ต้องหาวิธีจัดการกับเรื่องที่ไม่ค่อยสำคัญนัก โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด

ยุคนี้ไม่แน่นักว่าจบจากมหาวิทยาลัยดีๆ แล้ว จะมีงานทำ คนที่มีคุณภาพและสร้างคุณค่าระดับสูงสุดในยุคดิจิทัล หรือยุคไหนๆ คือคนที่มีความคิดอ่านที่โดดเด่นและแตกต่าง พอคิดและทำไม่เหมือนใคร ช่องทางและโอกาสตลอดทั้ง “ความสำเร็จ” ก็จะไม่เหมือนใคร จริงหรือไม่? ขบคิดกันเอาเอง

Comments

comments