212. จริต ๖ กับคน Gen Y

จริต ๖ กับคนเจนวาย

พิมพ์ครั้งแรก 
วารสารทางเดิน
กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๕๙

——————

อุทิส ศิริวรรณ*

—————
*ป.ธ.๙, พ.ม., พธ.บ., ศษ.บ., อ.ม., MBA (USA), DIBA (USA)
ศาสตราจารย์ประจำ คณะบริหารธุรกิจ
ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอกปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาบริหารธุรกิจ
และโครงการปริญญาเอกทวิปริญญาสาขาบริหารธุรกิจ
ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแคริสมา เมืองโพรวิเดนเชียลส์ เกาะทีซี สหราชอาณาจักร
กับมหาวิทยาลัยอพอลโล เมืองฮันติงตันบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

 

——————————

 

15145229_335279453506896_1138421082_o

วลีว่า “คนคอหยักๆ ก็สักว่าคน” เป็นคำคมคาย ท้าทายการจัดการในศตวรรรษที่ ๒๑ โดยเฉพาะในยุคที่ “โลกปรับ” ชาววัดต้องลุกชึ้นมา “เปลี่ยนแปลง” ตนเองและคำสอนในพระพุทธศาสนาให้ทันสมัย
ฉบับนี้ ผมขอวิเคราะห์เปรียบเทียบคน ๑๔ อารมณ์กับคน ๓ ยุคให้อ่านกันเพลินๆ


จริต ๖ กับคนเจน Y เป็นประเด็นน่าสนใจสำหรับคนในแวดวงพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลานี้
คำว่าจริต ใช้เรียกบุคคลที่มีอารมณ์ และแสดงออกเป็นนิสัยพื้นฐานให้เห็นเมื่อคบหาสมาคมกัน
จริตนั้นแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๖ ประเภท หรือ ๖ จริต กล่าวคือ
๑.คนราคจริต คือคนที่มีอารมณ์ออกไปในแนวหลงในรูป รักสวยรักงาม ละมุนละไม ชอบสิ่งที่สวยๆ เสียงเพราะๆ กลิ่นหอมๆ รสอร่อยๆ สัมผัสที่นุ่มละมุน ทำให้จิตใจยึดเกาะกับสัมผัสเหล่านี้ได้เป็นเวลานานๆ
๒.คนโทสจริต คือคนที่อารมณ์ร้อน ใจร้อน ฉุนเฉียว วู่วาม โกรธง่าย โมโหไว หงุดหงิดง่าย เอาแต่ใจตัวเอง โผงผาง ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ เรียกสั้นๆ ว่าคนเจ้าโทสะ
๓. คนโมหจริต คือคนที่ไม่ค่อยเชื่อมั่นตนเอง ดูแวบก็ดูออกว่าเป็นคนไม่ฉลาด หลอกง่าย ใจอ่อน ตกใจกลัว หวาดวิตก ใจสั่น ขวัญผวา
๔. คนวิตกจริต คือคนชอบคิด ชอบเพ้อ ชอบฝันเฟื่อง คิดฟุ้งซ่าน คิดเรื่องนี้ทีเรื่องนั้นที เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา คิดวิตกจนทำอะไรไม่สำเร็จสักเรื่อง หวั่นไหว เอ๊ะ อ๊ะ ลังเล สงสัย ตลอดเวลา
๕. คนสัทธาจริต คือคนที่ไม่คิดถึงเหตุและผล เชื่อสนิทใจ ไม่ระแวง ไม่ลังเล ไม่สงสัยใดๆ เลื่อมใสอะไรได้ง่ายๆ ซึ่งถ้าเลื่อมใสในสิ่งที่ถูกก็ย่อมเป็นคุณ แต่ถ้าไปเลื่อมใสในสิ่งที่ผิดก็ย่อมเป็นโทษต่างจากโมหจริตตรงที่โมหจริตนั้นเชื่อแบบเซื่องซึม ส่วนศรัทธาจริตนั้นเชื่อด้วยความเลื่อมใส เบิกบานใจ
๖. คนพุทธิจริต เป็นคนชอบเก็บคำพูดเอาสิ่งที่พบเห็นเอามาคิด พิจารณาด้วยเหตุผลอย่างลึกซึ้ง ชอบใช้ปัญญาพิจารณาตามความเป็นจริง ไม่เชื่ออะไรโดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนหรือมีพยานหลักฐานอ้างอิงรองรับ
เท่าที่ผมเดินสายไปสอนไปทำวิจัยมหาวิทยาลัยต่างๆ มาทั่วทุกมุมโลก ผมสังเกตพบว่าในโลกสมัยใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ยุคโลกไร้พรมแดนกับเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนไร้สาย มีคนเพิ่มอีก ๘ รุ่น
๗. คนราคโทสจริต บางครั้งบางคนก็มีอารมณ์สุนทรีย์อารมณ์โรแมนติกผสมผสานกับฉุนเฉียวโมโหง่าย เรียกว่า “เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย” แต่ถ้ายกระดับถึงขั้นควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ก็เรียกว่า “คุ้มดีคุ้มร้าย” หนักเข้าอาจถึงขั้น “คุ้มคลั่ง” อาละวาด ใครก็ควบคุมอารมณ์บ้าคลั่งไม่อยู่  คนในสังคมรุ่นใหม่แบบนี้ในสหรัฐอเมริกามีมาก
๘. คนราคโมหจริต มองโลกสวยและเศร้าหงอยเหงา ชอบเก็บตัวเงียบๆ อยู่คนเดียว เป็น “สังคมก้มหน้า” แช็ต แชะ แชร์ อยู่ในโลกจินตนาการ คนแบบนี้ในกรุงโตเกียว กรุงโซล และเมืองเจริญมีจำนวนมาก
๙. คนโทสโมหจริต เป็นคนมีอารมณ์แบบว่าโกรธง่ายผสมผสานกับหดหู่เซื่องซึม เป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งคนในสังคมสมัยใหม่ พวกที่มีอำนาจวาสนา มียศ มีตำแหน่งใหญ่โต แล้ววางไม่ได้ ปลงไม่เป็น ยึดติดกับหัวโขน ขี่หลังเสือแล้วเพลิน ทำใจไม่ได้ เมื่อถึงคราวจำต้องพลัดพรากตกหล่นจากตำแหน่ง ในไทยมีคนแบบนี้มาก
๑๐. คนราคโทสโมหจริต เป็นคนแบบว่า “ฝนแปดแดดสี่” ๓ ฤดูกาลในตัวเอง อารมณ์ประมาณว่าอยากได้อะไรก็ได้ดังใจครั้นไม่ได้ดังใจก็ฉุนเฉียวแล้วพอได้สติคิดถึงความจริงขึ้นมาได้ ก็ไม่เชื่อมั่นตนเอง คนอารมณ์ประมาณว่าแบบนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนที่มาจากตระกูลที่เลี้ยงดูแบบ “พ่อแม่รังแกฉัน” ตามใจ เอาอก เอาใจตลอด ไม่ชัดใจ วันหนึ่งเมื่ออยากได้แล้วไม่ได้สมใจโกรธจนเสียความมั่นใจในตอนท้าย มีให้เห็นมากทุกวงการ
๑๑. คนสัทธาพุทธิจริต คือคนที่ “เชื่อสุดๆ” แต่ใช้ “เหตุผลสุดๆ” คนเหล่านี้ จะไม่ยอมรับอะไร ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ แต่ถ้ายอมรับใคร และเชื่อฟังใครแล้ว จะเชื่อฟังไปจนวันตาย สังคมเมืองมีคนแบบนี้มากทั่วโลก
๑๒. คนสัทธาวิตกจริต  เป็นคนที่เลื่อมใสไปด้วย จับผิดและสงสัยไปด้วย ถ้ามองแบบคนวัด ก็คือคนเข้าวัดแล้วคอยจับผิดพระ ดูว่าพระจะทำผิดในข้อใด คิดร้าย คิดลบ โดยที่พระก็ไม่รู้ตัวว่าถูกโยมจ้องจับผิดอยู่
๑๓. คนพุทธิวิตกจริต คือคนที่ใช้เหตุผล แต่ก็ยังหาคำตอบที่แท้จริงไม่ได้ คือยิ่งคิด ก็ยิ่งมึน ยิ่งงง ยิ่งสงสัย คิดสลับซับซ้อนจนเกินไป ส่วนมากเป็นคนที่ “รู้มากยากนาน” คือรู้ทุกเรื่อง แต่สงสัยทุกเรื่อง สุดท้ายเอาดีไม่ได้สักเรื่อง เกจิ ที่ปรึกษา และผู้สันทัดกรณีเศรษฐกิจ การการเมือง และสื่อมวลชน มีคนแบบนี้มาก
๑๔. คนสัทธาพุทธิวิตกจริต คือคนที่มี ๓ อารมณ์ในตัวครบ ทั้งเลื่อมใสจริงจัง+ใช้ปัญญา+ฟุ้งซ่าน คือเหมือนจะเป็นคนท่าดี เพราะมาด้วยท่าทีขึงขัง เอาจริงเอาจริง ความคิดความอ่านก็ฉลาดหลักแหลม อธิบายที่มาที่ไปได้เป็นคุ้งเป็นแคว เล่าเรื่องประกอบได้เป็นฉากๆ  แต่พอปล่อยให้ลงมือทำเอง กลับเงอะๆ งะๆ ทำอะไรไม่สุด เอ๊ะ อ๊ะ ลังเล สงสัย ไปไม่เป็น พายเรือวนอยู่ในอ่าง  สอนกัมมัฏฐานแล้วก็ไม่คืบหน้าไปถึงไหน

ความรู้เรื่อง “จริต ๖” และ  “คน ๑๔ จริต”  จากพระพุทธศาสนา  ผู้ที่ทำงานในองค์การสาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์ การฝึกอบรม การขาย การตลาด  การประชาสัมพันธ์  การบริการลูกค้า ควรเรียนรู้ไว้ ควบคู่กับคน ๘ เจนเนอเรชัน ตามทฤษฎีการจัดการที่ทางสหรัฐอเมริกาได้แบ่งกลุ่มเอาไว้

การศึกษาสายบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะในโลกตะวันตก นักทฤษฎีด้านการจัดการในสหรัฐอเมริกาได้จัดแบ่งกลุ่มคนออกเป็นรุ่นต่างๆ ถึง ๘ เจนเนอเรชั่น หรือ ๘ รุ่น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเกณฑ์การจัดแบ่งรุ่นนี้ก็เป็นที่นิยมใช้กันไปทั่วโลก ในที่นี้จะขอสรุปไว้เป็น ๓ รุ่น

๑. คนรุ่นเบบี้บูมหรือคน GenB  เป็นคนที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๕๐๗ หรือในยุคสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ ๒ สาเหตุที่เรียกว่าเบบี้บูมเมอร์ ก็เพราะว่าหลังจากผ่านสงครามโลกครั้งที่ ๒ ประชากรที่เหลืออยู่ในแต่ละประเทศมีน้อยคน ในยุคนั้นจึงมีค่านิยมที่ต้องมีลูกหลาย ๆ คน เพื่อสร้างแรงงานขึ้นมาพัฒนาประเทศชาติ จึงเป็นที่มาของคำว่า “เบบี้บูมเมอร์” ซึ่งเรียกกันสั้นๆ ว่า “เบบี้บูม” คนยุคเบบี้บูม คือคนที่มีอายุตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป และเริ่มเข้าสู่วัยชราแล้ว คนกลุ่มนี้จึงเป็นคนที่มีชีวิตเพื่อการทำงาน เคารพกฎเกณฑ์ กติกา มีความอดทนสูง ทุ่มเทให้กับการทำงานและองค์กรมาก สู้งาน พยายามคิดและทำอะไรด้วยตัวเอง เป็นเจ้าคนนายคนถูกครอบครัวสั่งสอนมาให้เป็นคนประหยัด อดออม จึงใช้จ่ายเงินอย่างรอบคอบ และระมัดระวัง
๒. คนเจนเอ็กซ์หรือคน Gen X คือคนที่เกิดระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๘ – ๒๕๒๒ อายุระหว่าง ๓๐-๔๙ ปี เป็นรุ่นลูกๆของ Gen-B ที่เกิดมาพร้อมกับโลกที่เริ่มมีการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจสูง จึงเริ่มไม่นิยมมีลูกมาก คน Gen X จะมีความคิดกว้าง ช่วยเหลือตัวเองได้เก่ง มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง ชอบพูดคุยสนทนาแบบผู้ใหญ่ ไขว่คว้าหาความมั่นคงทางอารมณ์และความรู้สึก รอบรู้ ใฝ่ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ สั่งสมบทเรียนประสบการณ์พัฒนาตนเองต่อเนื่อง ให้ความสำคัญในเรื่องงาน และครอบครัวอย่างทัดเทียมกัน
๓. คนรุ่นวายหรือคน Gen Y เป็นผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ.  ๒๕๒๓-๒๕๓๗  เป็นเด็กรุ่นใหม่จนถึงอายุ ๒๙ ปี ต้องการเหตุผลในทุกเรื่อง คำว่า Why ทำไม และทำไม จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของพวกเขา  คนกลุ่มนี้จะกล้าแสดงออก มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่แคร์ต่อคำวิจารณ์ มีความมั่นใจในตัวเอง ชอบทางลัด สะดวก รวดเร็ว และไฮเทคโนโลยีเป็นที่สุด ทุกคำถามมีคำตอบในโลกอินเทอร์เน็ต สมัครงานผ่านอินเทอร์เน็ต คุยกันทางอินเทอร์เน็ต เป็นสาวก ไอโฟน ซัมซุง สมาร์ทโฟนรุ่นต่างๆ  มีเสียงเพลงเป็นเพื่อน หางานที่ถูกใจทำโดยต้องใช้ชีวิตสบายไปพร้อมๆ กับค่าตอบแทนสูง ไม่ต้องเข้าออฟฟิศให้ปวดหัว ชุดทำงานขอใส่ตามใจฉัน ขอให้วัดกันที่ผลงานเป็นพอ ไม่ต้องการเวลาทำงานที่แน่นอน งานหนักต้องมาพร้อมกับผลตอบแทนที่ตนพอใจ

คนGen Y มีวิถีชีวิตที่แวดวงวิชาการพระพุทธศาสนาน่าสนใจเรียนรู้ในหลายเรื่อง
ประการแรก ชีวิตเคลื่อนที่ คือทำงานข้างนอกตลอด การทำงานในออฟฟิศตั้งแต่แปดโมงเช้ายันห้าโมงเย็น ก็เปลี่ยนเป็นการไปท่องเที่ยวและใช้โทรศัพท์มือถือประสานงานหรือสั่งงานแทนได้ ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยี 3G และ Wifi ก็สามารถทำให้ผู้คนในยุคนี้มีชีวิตเดินทางไปด้วย ทำงานไปด้วย พร้อมๆ กันได้
ประการที่ ๒ วัฒนธรรมจอภาพ ผู้คนจะใช้ชีวิตในการทำงานและชีวิตส่วนตัวบนหลายๆ อุปกรณ์ที่มีจอภาพ ได้แก่ หน้าจอทีวี หน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอแท็บเล็ต และหน้าจอมือถือ เป็นต้น จึงไม่ต้องห่วงว่า บรรดาผู้ประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะรุ่งเรืองมากขนาดไหน?
ประการที่ ๓ ชอบสินค้าติดตั้งได้เอง  ค่าแรงที่แพงขึ้นเรื่อยๆ และหาแรงงานทำยากได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของคน Gen Y ในประเทศไทยกล่าวคือ ในอดีตเมื่อจะต้องต่อเติมหรือซ่อมแซมบ้านและอุปกรณ์ต่างๆ ภายในบ้าน คนส่วนใหญ่ก็มักเลือกที่จะจ้างวานคนอื่นให้มาทำแทน แต่การขึ้นค่าแรงดังกล่าวก็ทำให้บรรดาช่างที่เกี่ยวข้องหาได้ยากขึ้นเป็นอย่างมาก หรือหากว่าหาได้ก็มักจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงทีเดียว จึงทำให้ต้องหาสินค้าประเภทนี้มาทำด้วยตนเอง
ประการที่ ๔ ชอบร้านค้าปลีกที่มีลักษณะจุดเดียวจบ คน Gen Y มีนิสัยชอบทำอะไรเร็วๆ และเร่งรีบแทบจะทุกเรื่อง ด้วยนิสัยดังกล่าวทำให้คน Gen Y เวลาจะออกไปซื้อของ ก็ชอบไปร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่แบบเซเว่นที่จัดวางสินค้าง่ายๆ และค้นหาง่าย
ประการที่ ๕ ชอบของดีราคาถูก คน Gen Y ชอบสินค้าที่ทั้งถูกและดี ยกตัวอย่างเช่นสายการบิน ก็ชอบสายการบินแบบโลว์คอสต์แอร์ไลน์ โรงแรมก็ระดับแค่ ๓ ดาว อาหารก็ชอบแบบจานด่วน สะดวก รวดเร็ว ราคาไม่แพง จานเดียว อิ่มเดียวจบ
ประการที่ ๖ ชอบเรียนรู้วิธีการ “สอนให้…รวย” คน Gen Y ส่วนใหญ่เป็นคนชอบรวยเร็ว ดังนั้นจึงชอบการสัมมนา การลงทุน และชอบอ่านหนังสือแนวลงทุน เล่นหุ้น สอนให้รวยอื่นๆ ซึ่งขายดิบขายดี นอกจากนี้ธุรกิจขายตรงต่างๆ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าประเภทสอนให้รวยอีกด้วย
ประการที่ ๗ ชอบสินค้าแนว “Fast”  คน Gen Y ชอบสินค้าและบริการที่ “เร็ว.. เร็ว.. เร็ว..” ดังนั้นธุรกิจเกี่ยวกับการจัดส่งสินค้าหรืออาหารแบบจัดส่งด่วน หรือฟาสต์ฟู้ดยี่ห้อต่างๆ จึงมีลูกค้าเป็นคนในยุค Gen Y จำนวนมาก และทวีจำนวนมากขึ้นไปเรื่อยๆ ตามกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของคนในยุคนี้
ประการที่ ๘ ชอบคนที่ดูดีมีระดับ คน Gen Y เป็นคนที่มีสังคมมากกว่าคนในยุคก่อนๆ เป็นอย่างมาก และเพื่อนๆ ที่คนในยุค Gen Y ก็จะมาทั้งจากเพื่อนที่พบปะกันในชีวิตประจำวัน และเพื่อนที่พบกันในโซเชียลมีเดียหรือการที่ได้พูดคุยกันผ่านทางอินเทอร์เน็ตนั่นเอง จึงชอบคนที่มีการศึกษาดีๆ มีความคิดความอ่านดีๆ ทันสมัย เป็นคนรุ่นใหม่ ทันโลก ทันยุค ทันเหตุการณ์
ประการที่ ๙ ชอบสินค้าแนวสุขภาพ คนยุค Gen Y เป็นคนรักสุขภาพ ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ทั้งว่ายน้ำ เข้าฟิตเนส ซื้อวิตามิน อาหารเสริม ฯลฯ รวมถึงบรรดาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ตรวจวัดต่างๆ ที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง เช่น เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดอุณหภูมิ เป็นต้น
ประการที่ ๑๐ ชอบสินค้าที่แนะนำบอกต่อจาก “อินเทอร์เน็ต” หรือ “โซเชียลมีเดีย” คนในยุค Gen Y เมื่อจะซื้อสินค้าประเภทไอที หรือสินค้าราคาแพง เช่น รถยนต์ ทีวี บ้าน เป็นต้น จะค้นหาข้อมูลจำนวนมากจากอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดียก่อนที่จะตัดสินใจซื้อจริง

ความรู้เรื่องคนรุ่นต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น สอดรับกับพระบาลีในพระธรรมบทว่า “พึงทำประโยชน์ตนให้ถึงพร้อมด้วยประโยชน์เพื่อคนอื่นๆ”

ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในแวดวงพระพุทธศาสนา จึงต้องปรับคำสอนพระพุทธศาสนาที่ทันสมัย สอดรับกับจริตและความต้องการของคนรุ่นใหม่จำนวนมากในโลกโซเซียลมีเดียที่เรียกว่าคนเจนวาย

โดยจะสอนหลักธรรมข้อใดๆ ก็ต้องปรับหลักธรรมให้สอดคล้องกับคนรุ่นใหม่ที่ทำอะไรต้องทำด้วยความรวดเร็ว และมีคุณภาพ

สอนให้ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย สอนให้ผู้คนยอมรับหลัก “อุบัติ-ฐิติ-ภังคะ เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-แตกดับ”

โดยทุกชีวิตต้องเผชิญสภาวะการเปลี่ยนแปลง เพราะโลกมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม

ปรับหลักธรรมที่เหมาะสมกับสภาพเป็นจริงว่าทุกคนต้องเตรียมความพร้อม และยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้

สอนพระพุทธศาสนาโดยให้อยู่กับโลกที่เป็นจริงมุ่งสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ซึ่งเราเรียกว่านวัตกรรม ให้ทุกคนในองค์กรมีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ

และสำคัญที่สุด สอนให้คนรุ่นใหม่มีคุณธรรม ยกตัวอย่างเช่น สัจจะ ความซื่อสัตย์ และกตัญญู การมีนิสัยรู้จักตอบแทนทดแทนบุญคุณพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และแผ่นดินไทย เป็นต้น

 

Comments

comments