206. บทความวิชาการพระพุทธศาสนา “ยุทธศาสตร์ในการบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”

บทวิเคราะห์เชิงลึก

“ยุทธศาสตร์ในการบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ”

ฉบับ PDF click Download  ที่นี่ –> บทความวิชาการพระพุทธศาสนาFinal

OLYMPUS DIGITAL CAMERA
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

สถานที่   ระหว่างจาริกแสวงบุญ ณ บริเวณต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธคยา อินเดีย เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีเศษ

วิเคราะห์และนำเสนอโดย

Prof.Dr. Uthit Siriwan*
ศาสตราจารย์ ดร. อุทิส ศิริวรรณ*


ป.ธ. ๙, พ.ม., พธ.บ. (มหาจุฬาฯ), ศษ.บ. (มสธ.), อ.ม. (ภาษาบาลี-สันสกฤต) จุฬาฯ,
MBA (USA), DIBA (USA), PhD (UK)


ตำแหน่งวิชาการและตำแหน่งบริหารด้านต่างๆ (ปรับปรุงล่าสุด ๑๒/๑๒/๒๕๕๘)

ศาสตราจารย์ประจำ คณะบริหารธุรกิจ*
Full Professor, Faculty of Business
Charisma University, Providenciales, Turks & Caicos, UK
http://www.charismauniversity.org/fmembers.php

ศาสตราจารย์วิจัย โครงการปริญญาเอก บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต DBA Program
Research Professor, DBA Program,
Apollos University, Huntington Beach, California, USA
http://www.apollos.edu/Default.aspx

ประธานบริหารโครงการและประธานสอบดุษฎีนิพนธ์นักศึกษาปริญญาเอกทวิปริญญา สาขาบริหารธุรกิจ
DBA & PhD in Business Administration
Apollos University, USA & Charisma University, UK

ศาสตราจารย์ประจำสาขาบริหารธุรกิจผู้ทรงคุณวุฒิ และอาจารย์สอนโครงการ MBA Program
Mihaylo College of Business and Economics
California State University, Fullerton, California, USA


ศาสตราจารย์ประจำสาขาบริหารธุรกิจผู้ทรงคุณวุฒิ และอาจารย์สอนโครงการ MSc in Financial Mathematics Program
Department of Mathematical Sciences
Xi’an Jiaotong Liverpool University, Suzhou, China
ศาสตราจารย์ประจำสาขาบริหารธุรกิจผู้ทรงคุณวุฒิ และอาจารย์สอนโครงการ Executive MBA
International  School  of  Business – University  of  Economics  Ho  Chi  Minh  City (ISB) and
University  of  Western  Sydney (UWS), Sydney, Australia  at  ISB.
ศาสตราจารย์ประจำสาขาบริหารธุรกิจผู้ทรงคุณวุฒิและอาจารย์สอนโครงการ MBA
Foreign Trade University, Hanoi, Vietnam
ศาสตราจารย์ประจำผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวิจัย, อาจารย์สอน, กรรมการสอบและประธานสอบวิทยานิพนธ์โครงการปริญญาโท SMEs
คณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน ชลบุรี
ศาสตราจารย์ประจำผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวิจัยคณะกรรมการวารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
วารสารวิจัยระดับกลุ่มที่ ๑ ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน ชลบุรี
ภาคีสมาชิก ระดับศาสตราจารย์วิจัย สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ
Harvard Business School, Harvard University, Boston, Massachusetts, USA
ภาคีสมาชิกนักวิจัยนานาชาติ ระดับศาสตราจารย์วิจัย สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ
International Journal of Arts and Sciences : IJAS, Rhode Island, USA
ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สาขาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ
ประธานมอบรางวัลนักวิจัยดีเด่นทั่วโลก ประจำปี 2015 เวทีวิจัยระดับนานาชาติ 3 เวทีวิจัย
จัดที่มหานครปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 12-14 สิงหาคม 2558
International Conference on Information Technology and Engineering (ICTAE)
International Symposium on Engineering and Natural Sciences (ISEANS)
International Conference on Social Science (CONFSS)
ประธานที่ปรึกษา มูลนิธิเพื่อพระพุทธศาสนา

นายกสมาคม บริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต
ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทฐานรีเสิร์ชแอนด์มาร์เก็ต จำกัด
นักวิจัยแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิ สาขาเศรษฐศาสตร์ สภาวิจัยแห่งชาติ
สมาชิกสมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (พธ.บ. รุ่น ๓๕)

ปฐมบท : สนับสนุนหรือคัดค้านการบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ?

สังคมไทยขณะนี้ แบ่งความเห็นเกี่ยวกับการสนับสนุนและคัดค้าน ด้วยเหตุผลนานัปประการ

ข้อสนับสนุนที่ว่าทำไมควรบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

(๑) ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ๙๔.๖๐% (สำนักงานสถิติแห่งชาติ ๒๕๕๔) เมื่อคนส่วนใหญ่ต้องการให้บรรจุ จึงเป็นไปตามกติกาของระบอบประชาธิปไตยโดยแท้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นการปกป้องคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนา

(๒) ในประวัติศาสตร์ชนชาติไทย เรามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาช้านาน เริ่มอาณาจักรตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน มีพระพุทธศาสนาอยู่คู่กับสังคมไทยมาโดยตลอด และมีพระมหากษัตริย์เป็นศาสนูปถัมภก

(๓) พระพุทธศาสนาเป็นเอกลักษณ์ของชาติ โดยมีพระธรรมเป็นเบ้าหลอมวิญญาณ จนกลาย เป็นวัฒนธรรมไทย เป็นวิถีแห่งชาวพุทธ

(๔) ปี ๒๕๔๗ และปี ๒๕๔๘ เป็นปีที่ผู้นำชาวพุทธทั่วโลก ซึ่งมาประชุมพร้อมกันที่ประเทศไทย มีมติยกย่องยอมรับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก

(๕) ธงชาติไทยเรามี ๓ สี น้ำเงิน ขาว แดง สถาบันชาติก็มีกำหนดในรัฐธรรมนูญ สถาบันพระมหากษัตริย์มีรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ สีขาวในธงชาติ องค์รัชกาลที่ ๖ ผู้ทรงกำเนิดธงไตรรงค์กำหนดไว้ว่าสีขาวหมายถึงพระไตรรัตน์ หมายถึงพระพุทธศาสนา กลับไม่ได้มีการรับรองสถานะใดๆ ในรัฐธรรมนูญ มีเพียง กรมศาสนา และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่ดูแลเท่านั้น”

ส่วนแนวคิดที่ “ไม่เห็นด้วย” ที่มาแรงขณะนี้ ก็คือ  “นายวิจักขณ์ พานิช” วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาบัณฑิตด้าน “ประวัติศาสตร์ศาสนา” จากสถาบันนาโรปะ พุทธสายมหายาน รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา นักวิชาการอิสระรายนี้ไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านการบัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

๑. การให้เหตุผลว่า ประเทศไทยมีคนนับถือพุทธเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่แล้ว การบัญญัติดังกล่าวจึงไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน (พม่าเขายังทำได้ มาเลเซียยังทำได้) เสียหายแน่นอน อย่างที่เห็นความรุนแรงของพุทธศาสนาในพม่า และนโยบาย “ภูมิบุตรา” ในมาเลเซีย ที่เอาชาติพันธุ์กับศาสนามาเป็นเครื่องมือกีดกันทางการเมือง (ไทยพุทธ มาเลย์มุสลิม สิงหลพุทธ เป็นต้น)

๒. ประเทศที่มีคนนับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ ไม่จำเป็นต้องยกศาสนานั้นๆ เหนือศาสนาอื่น และไม่จำเป็นต้องกำหนดรูปแบบรัฐ โดยเอาศาสนามากำกับการเมืองอีกทีหนึ่ง

 

ยกตัวอย่างอินเดีย ที่มีประชากรเป็นฮินดูกว่า ๘๐% ของประเทศ แต่ไม่เคยยกศาสนาพราหมณ์ฮินดูเป็นศาสนาประจำชาติ แต่อินเดียคงไว้ซึ่งความเป็น secular state ตลอดมาตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกหลังประกาศเอกราชจากอังกฤษ อินเดียเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีความชัดเจนในรูปแบบรัฐ และเห็นว่า พัฒนาการประชาธิปไตยและการส่งเสริมศีลธรรมแบบสมัยใหม่ แทนที่ธรรมะแห่งชาติของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง จะช่วยให้สังคมอินเดียสามารถอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายได้ดีที่สุด

๓. การอ้างว่า “ธรรมาธิปไตย” จะมากำกับประชาธิปไตย คือ แนวคิดของกลุ่มพระสงฆ์และชาวพุทธที่ฝักใฝ่ระบอบเผด็จการเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การเอาศาสนามากำกับประชาธิปไตย ก็คือการไม่เอาประชาธิปไตยนั่นแหละ

๔. เวลาบอกว่าอยากได้ “พุทธศาสนาประจำชาติ” มีการอธิบายอย่างชัดเจนหรือไม่ว่า พุทธศาสนาแบบไหน? เอาสันติอโศกเป็นศาสนาประจำชาติ? เอาพุทธอิสระเป็นศาสนาประจำชาติ? เอาพระสุเทพเป็นศาสนาประจำชาติ? เอาสมณศักดิ์พัดยศเป็นศาสนาประจำชาติ หรือเอาธรรมกายเป็นศาสนาประจำชาติ?

ความคลุมเครือของคำว่า “พุทธศาสนาประจำชาติ” คือ หีบห่อที่ภายนอกดูเหมือนจะดีแต่ข้างในแอบซุกซ่อนอะไรอยู่บ้างไม่มีใครรู้

๕. ศาสนธรรมที่มีบทบาทอยู่ในจิตใจผู้คนในปัจจุบัน ไม่ใช่ศาสนาพุทธแบบที่กำลังถูกผลักดันให้เป็นศาสนาประจำชาติ ตรงกันข้าม ศาสนธรรมที่สัมพันธ์อยู่กับจิตใจผู้คนงอกงามได้อย่างเป็นอิสระจากรัฐ เป็นศาสนธรรมที่มีความหลากหลาย มีจินตนาการ และสัมพันธ์กับความทุกข์ของคนเล็กคนน้อย ซึ่งการมีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ไม่ได้มีส่วนส่งเสริมการงอกงามของศาสนธรรมในทิศทางนี้

๖. พุทธศาสนาประจำชาติ คือ พุทธศาสนาแบบทางการ ที่มีเป้าหมายสำคัญในการตีความศาสนาไปรับใช้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นศาสนาแบบทางการที่ไม่เคยเปิดรับการตีความคำสอนที่หลากหลาย และจะไม่แปลกเลยหากการเกิดขึ้นของพุทธศาสนาประจำชาติจะยิ่งนำไปสู่การปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดของประชาชน จัดการคนที่เห็นต่างทางความคิด โดยอ้างว่าเป็นการ “ลบหลู่ดูหมิ่นพุทธศาสนา”

๗. ไม่เห็นด้วยกับการ “รับๆ ไปก่อน” แล้ว “แก้ทีหลัง”
ส่วนตัวผมขอนำเสนอว่า วันนี้ พุทธศาสนากำลังเผชิญกับภัยคุกคามอันรุนแรงที่มาพร้อมกับ “กระแสโลกาภิวัตน์” ซึ่ง “เงิน” คือ “พระเจ้า” และ “การก่อการร้ายจากกลุ่มคนหัวรุนแรง” ซึ่งปฏิบัติการเหี้ยมโหดและรุนแรงต่อพระสงฆ์และศาสนิกต่างศาสนา อย่าปล่อยให้เหตุการณ์เข่นฆ่าพระสงฆ์และชาวพุทธเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ต้องสะท้อนให้ภาครัฐรู้เห็นทราบและมีมาตรการป้องกันที่ชัดเจน และพระพุทธศาสนายังต้องเผชิญกับ “ภัยคุกคามร้ายแรง” คือ “ภัยใน” ที่เกิดจากพวกเราชาวพุทธซึ่งร้ายแรงและน่าสะพรึงกลัวกว่า ซึ่งมีทั้งปัญหาเกิดจาก “ศีล” และ “ทิฐิ” ไม่เสมอกันและแตกต่างจนแตกแยกทางความคิดและแนวปฏิบัติในเวลานี้ จนสังคมสับสนแยกแยะไม่ออกและไม่รู้จะเชื่อใคร และจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวบ้านจะต้องเลิกเชื่อคำพูดว่า “ชั่วช่างชี ดีช่างสงฆ์” อย่าปล่อยปละละเลยว่าธุระไม่ใช่ ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่องเอาใจใส่ “การพระศาสนา” ถือเป็นภาระธุระที่สำคัญ

พวกเราชาวพุทธในฐานะอุบาสกและอุบาสิกาต้องลุกขึ้นมาช่วยคณะสงฆ์ดูแลระมัดระวังมิให้เกิด “สัทธรรมปฏิรูป” ปลอมแปลงดัดแปลงคำสอนพระพุทธเจ้า ดังที่ปรากฏในเวลานี้ และ “การเล่นพรรคเล่นพวก” ระบบอุปถัมภ์ในวงการสงฆ์ ข่าวคราววงการสงฆ์ในแง่ลบที่สื่อนำเสนอและขุดคุ้ยเรื่องไม่ดีต่างๆ ทำให้เสื่อมศรัทธา ล้วนเป็นประเด็นน่าเป็นห่วง และหลายเรื่อง “เป็นความจริง” มีสาระสำคัญที่ควรนำมาเสนอให้พระที่ปกครองสงฆ์กำหนดเป็นนโยบายเป็นประเด็นป้องกันมิให้เกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ทั้งนี้เพราะการละเลยและหย่อนหยานในการเข้มงวดกวดขันให้พระสงฆ์และสามเณรยึดมั่นประพฤติปฏิบัติตนเหมาะแก่พระธรรมวินัยเป็นเหตุให้เกิดข่าวคราวอื้อฉาวในวงการสงฆ์ ซึ่งเป็นองค์การขนาดใหญ่ของประเทศ พวกเราชาวพุทธ ต้องช่วยพระคิด ช่วยพระทำ ช่วยพระท่านวางระบบที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ทั้งการบริหารวัด บริหารเงิน บริหารปกครองสงฆ์ อย่าปล่อยให้พระสงฆ์ชั้นปกครองระดับต่างๆ ตั้งแต่  “เจ้าอาวาส”  “เจ้าคณะ” ระดับต่างๆ ประมาท เลินเล่อ ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ต้องช่วยกันสนับสนุนให้ท่านยึดมั่นในพระธรรมวินัย  สำรวมระวังกายวาจาและใจ  ไม่ลืมตัว ลุแก่อำนาจ ไม่ปล่อยให้ “คนสนิท” มีอำนาจเหนือพระธรรมวินัย อย่าปล่อยให้ “ยศศักดิ์” “ปัจจัย” “พวกพ้อง” ครอบงำ “วงการสงฆ์” จนกลายเป็น “วงจรอุบาทว์” อย่าปล่อยให้พระ “ผู้เห็นแก่ตัว” มีอำนาจเหนือพระผู้ที่ “เสียสละ” พระผู้มี “อุดมการณ์” จะต้องช่วยกันผลักดันสนับสนุนและส่งเสริมให้พระหนุ่มเณรน้อยที่มี “อุดมการณ์” ไม่ลำเอียงเพราะอคติ ๔ ผู้ตั้งใจบวชและอุทิศตนเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ได้มี “ยศศักดิ์” สมแก่ความรู้ความสามารถศีลาจารวัตรที่มี  ต้องช่วยกันสนับสนุนพระปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมวินัยศีล ๒๒๗ เคร่งครัดให้ได้เป็นผู้นำวงการสงฆ์ มีอำนาจวาสนาได้ครองวัดต่างๆ  เพราะถ้าเราได้พระผู้ทรงศีลาจารวัตรมีศรัทธาและปัญญามีภาวะผู้นำสงฆ์ชึ้นเป็น “ผู้บริหาร” กิจการคณะสงฆ์ ไสม่ลำเอียงเพราะอคติ ๔ ได้ครองวัดนั้นวัดนี้ กิจการคณะสงฆ์ก็จะรุ่งเรืองรุดหน้าสืบไป ไม่ทรงและทรุดอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้
บัญญัติ” ทำไม ? ทำไม “บัญญัติ”?
ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญ คณะกรรมการรณรงค์ให้มีการบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ อ่านแล้วจะได้แง่คิดบางประการเล็กๆ น้อยๆ เพื่อนำไปใช้ประกอบการประชุมระดมสมองและวางแผนการจัดการการรณรงค์ฯ ซึ่งแต่ละฝ่ายกำลังต่างคนคิด ต่างคนทำ หรือรวมกันคิด รวมกันทำ ซึ่งหลักๆ จะประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี กลยุทธ์ กลศึก กลอุบาย แผน และโครงการต่างๆ  ที่เขียนและนำเสนอผ่านสื่อสังคมออนไลน์คือ Social Media ได้แก่เว็บไซต์และเฟซบุ้ก จะได้เห็นได้อ่านกันทันที ทันใด ทันใจ สามารถนำไปคิด นำไปใช้ได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาเชิญประชุม เรียกประชุม โทรศัพท์มาคุย ผมเน้น Faster Model เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ ผลผลิต ผลกระทบ ผลสัมฤทธิ์ และผลสำเร็จ ที่ทุกฝ่ายต้องการบรรลุ

ทุกบรรทัด ทุกข้อเขียน เอ่ยถึง พาดพิงถึงนามท่านหนึ่งท่านใด ขอกราบเรียนว่า ผมตั้งใจเขียนขึ้นติหรือชมโดยสุจริต ติเพื่อก่อ มิใช่ยอเพื่อทำลาย มิได้เขียนขึ้นด้วยเจตนาอาฆาตพยาบาทมาดร้ายขุ่นเคือง แค้นเคือง หรือมีอคติต่อท่านหนึ่งท่านใด ซึ่งที่ผมเอ่ยนาม ต่างล้วนรู้จักกันดี แต่ทว่าบางที การเลือกวิธีสื่อสารโดยนำเสนอแง่ที่คิดแล้วเขียนมีเวลาเรียบเรียงลำดับความคิดผมมองว่าน่าจะดีกว่าไปนั่งประชุมแล้วจบลงโดยแยกจากกันแล้วไม่ได้สาระสำคัญใดๆ ด้วยเหตุที่ผมเบื่อระบบ “ประชุม” NATO: No Action Talk Only ไม่เคยนำไปปฏิบัติ มีแต่พูดเท่านั้น แล้วทุกอย่างก็จบ  ดังนั้น การเลือกนำเสนอ “มุมมอง” และ “ทัศนะ” ในเรื่องนี้ ผมมองว่าเป็น “การใหญ่” เป็นเรื่อง “สำคัญ” ดังนั้น จงอย่าคิดระแวงไปในทางอื่น ผมขอเป็นเพียงแค่ “จิ้งจกทัก” ส่วนท่านจะฉุกคิดหรือผ่านเลย ก็สุดแท้แต่

ผมตั้งใจเขียนและตั้งใจนำเสนอโดยยึดหลัก

“สองคนยลตามช่อง       คนหนึ่งเห็นโคลนตม

คนหนึ่งตาแหลมคม       เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย”

ยุทธศาสตร์บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ :

การใหญ่ครั้งนี้ จะบรรจุในรัฐธรรมนูญได้หรือไม่?

จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่ “ทีม” คือ “คน” จะสำเร็จได้เพราะผู้นำ ล้มเหลวก็เพราะผู้นำ

ซึ่งแวดวงชาวพุทธเราก็ต้องมี “ผู้นำ” “ผู้ประสาน” “ผู้ติดตาม” “ผู้ล็อบบี้” “ผู้สนับสนุน” “ผู้ชี้นำ”
ผมให้น้ำหนักไปที่ “ผู้ประสาน” กับ “ผู้ชี้นำ” ซึ่งต้อง “ล็อบบี้” “สนับสนุน” ให้เกิดการ “พบ” กันเงียบๆ
และเป็น “ความลับ” ที่สุด ในสถานที่ “ลับ” ที่สุด เพราะการใหญ่คราวนี้ ผมเน้นและย้ำว่าต้อง “ลับ”
ระดับ “สุดยอด” เท่านั้น

การใหญ่บางเรื่อง เน้น “ประชาธิปไตย” เสียงข้างมาก แต่การใหญ่อีกหลายเรื่อง ผมเห็นว่า ผ่านบังคับใช้ได้ ก็ในคราวและยุคสมัยที่บ้านเมืองปกครองโดยสภาวะ “อะปกติ”

เก็บความข้อนี้ไปคิดสำหรับผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน

ผมพิจารณาภาพใหญ่ดูแล้ว มองเห็นว่า ขอเพียงให้ “ผู้นำ” เพียงตัวเลข “หลักเดียว” พบกัน “การใหญ่” จะสำเร็จหรือล้มเหลว ก็จะมีคำตอบ “ชัดเจน”

ผมมองว่า “ผู้นำรัฐบาล” ไม่ค่อยสบายใจนัก หากจะมีการเคลื่อนพล ระดมพล ระดมมวลชน เหมือนยุคประชาธิปไตยเต็มร้อย เพราะเกรง “ปัจจัยแทรกซ้อน” ซึ่งฝ่ายความมั่นคง ยังคงวิตกและกังวล ท่าที จุดยืน และการแสดงออก ท่ามกลางบรรยากาศ “ปรองดอง” ที่เบื้องลึกเบื้องหลังเหมือน “แก้วร้าว”

 

ใครเป็นผู้นำประเทศชาติบ้านเมืองยามนี้ ก็คงกินไม่ได้นอนไม่หลับกับสภาพที่หลับที่นอนในบ้านช่องที่มีแต่รอยร้าวรอยแยก จะนอนจะหลับให้สนิททีไรก็สะดุ้งผวา เพราะ “แผ่นดินไหว” คอยสั่นสะเทือนเขย่าขวัญตลอดเวลา!

ผมเชื่อมั่นกลศึกซุนวูที่แนะนำไว้ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”
ผมเชื่อพระพุทธเจ้าสอนว่า “อธิษฐานบารมี” คนเราขอให้ตั้งใจ ตั้งมั่น เตรียมการ เตรียมพร้อม เตรียมตัว เตรียมใจไว้ มั่นคง แน่วแน่ ไม่ผันแปร ก็จะ “สำเร็จ” ได้ดั่งใจจง ขอเพียง “กุสลเจตนา” นั้นต้อง ใส ซื่อ บริสุทธิ์ ปราศจาก “ช่องว่าง” ระหว่างบรรทัด ที่คนทั่วไปมองออกว่า “การเคลื่อนไหว” คนนี้ได้อะไร คนนั้นได้อะไร
จะทำ “การใหญ่” ต้องสงบและสยบ “ระแวง” ต้อง “ระมัดระวัง” ทำการโดย “ละเอียด” และ “รอบคอบ”

คนส่วนใหญ่มองว่าการเคลื่อนไหวใดๆ ล้วนเป็นไปเพียงเพื่อตัวตนและพวกพ้องคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เสียงสวรรค์ จึงอ่อนยวบ ลดฮวบทันตาเห็น แต่ถ้าสื่อ “สาร” ไปยังคนกลุ่มใหญ่ และต่าง “ศาสนิก” ไม่ให้ “ระแวง” และ “ระวัง” แรงต้านก็จะค่อยๆ สลายและคลี่คลายลงไปได้เอง

เหมือนพม่าที่สามารถบรรจุ “พุทธศาสนา” เป็นศาสนาประจำชาติได้สำเร็จ เพราะมีการเจรจาทั้งกับชาวพุทธด้วยกัน และเพื่อน “ต่างศาสนา” ทำแบบคู่ขนาน สำคัญที่สุด เจรจากับ “ผู้นำ” ระดับ “ประมุข”
ซึ่งพอเห็นดีเห็นงามและคล้อยตามด้วย ทุกสิ่งทุกอย่างก็ราบรื่น

จะบรรจุได้หรือไม่  ก็ต้องระดมสมอง ระดมทีม ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
ปัญหาวงการสงฆ์ก็เหมือนหน่วยงานรัฐที่ใหญ่โตอื่นๆ ซึ่งมีปัญหาหมักหมมสะสมและเรื้อรังมานาน
และมหาเถรสมาคมผู้นำสงฆ์สายการปกครองสงฆ์สูงสุดท่านเองก็อยู่ใน “ปัจฉิมวัย” กอปรกับ “เคยชิน”
บรรยากาศเข้าประชุมและฟัง “หัวโต๊ะ” คอยสั่งการ และทุบโต๊ะ ม้วนเดียวจบ  การอยู่เฉยๆ ดูจะดีที่สุดในห้วงเวลานี้และก็เป็นอย่างนี้ทุกๆ วงการในบ้านนี้เมืองนี้

 

ใหม่ๆ ผมได้ยินได้ฟังระบบประชุมของกรรมการมหาเถรสมาคม ผมก็ถึงกับ “อึ้ง” และ “ทึ่ง” เหมือนกัน ครั้นตนเองได้เป็นใหญ่เป็นโต มีอำนาจวาสนาได้นั่งบริหารกิจการระดับหมื่นล้านในตลาดหลักทรัพย์ ก็ “อึ้ง” และ “ทึ่ง” กับบรรยากาศ “ล็อบบี้” และระบบหัวโต๊ะขอความร่วมมือ “จุดเดียวจบ” แม้ไม่เห็นด้วยก็ต้องโหวตตาม ก็เลยเข้าใจบรรยากาศ “องค์กร” แบบไทยๆ ว่า ตถตา มันเป็นเช่นนั้นเอง

นึกถึงบรรยากาศในรัฐสภาและวุฒิสภาที่เคยไปนั่งประชุมในกรรมาธิการต่างๆ หลายครั้ง และหลายคณะ ก็พบเห็นว่าคล้ายกัน ก็เลยเข้าใจว่า ที่เมืองไทยเรา ไปไม่สุดซอย ไม่ว่าจะวิธีไหน ก็เพราะ “เกรงใจ” และ “รอมชอม” นี่เองที่ฉุดทุกระบบให้ “ล้าหลัง” ถ้าช่วยกันล็อบบี้จน “ประมุข” แต่ละองค์กรเข้าใจก็จะเข้าถึงและพัฒนาได้ในท้ายที่สุด จริงหรือไม่ก็คิดกันเอาเอง

ประมุขสงฆ์กับนายกรัฐมนตรี : คีย์แมนสำคัญที่จะบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติได้หรือไม่?คิดและทบทวนดูว่า “จริง” หรือ “ไม่” ?
วันนี้ ความหวัง ความฝัน และจินตนาการใดๆ วัดต่างๆ ต้องฝากไว้กับ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” ประมุขสูงสุดเพียงรูปเดียวถ้าสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ท่านตั้งใจ และจริงจังที่จะให้คณะสงฆ์ทั้งประเทศสนับสนุนให้ “บัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ก็ต้องเจริญพร “นายกรัฐมนตรี” เท่านั้น แต่นายกรัฐมนตรีจะรับฟังหรือไม่?  ขึ้นอยู่กับใครพาไปคุย และคนที่คุยด้วย “ระดับไหน”

ไม่ต้องสอนท่านเลย ด้วยประสบการณ์ ในฐานะ “รัตตัญญู” ท่านเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมมายาวนาน ท่านในฐานะผู้นำสูงสุด ย่อมมีหลักคิด หลักทำ หลักการเป็นตัวของตัวเอง

ผมเชื่อว่าท่านเองด้วยประสบการณ์อันยาวนาน อายุและพรรษาเฉียด ๑๐๐ ปี ท่านย่อมสุขุม ลุ่มลึก ย่อมมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธี แผน โครงการ เป้าหมาย วิธีการ มีคน งบประมาณ เครื่องมือ และวิธีการจัดการที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม

ผมขอแนะนำ “คณะกรรมการรณรงค์ฯ” นัดเลขาฯ ท่านคือเจ้าคุณแป๊ะฯ ขอเข้าพบขอคำแนะนำต่างๆ ก็เชื่อว่าน่าจะ “ได้” ในระดับมีนัยสำคัญ “ส่งผล” ต่อสำเร็จหรือล้มเหลว มีผลต่อการตัดสินใจว่าจะ “เดินหน้า” หรือ “ถอยหลัง”

 

การพระพุทธศาสนา : การเมือง ต้องแยกกันให้ออก
จะเดินหน้าก็ต้องได้รับไฟเขียวตลอดเส้นทางทั่วสังฆมณฑล

ผมมองว่า “การบรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ” ต้องให้ทุกฝ่าย หมดระแวง ระวังว่าเป็น “การเมือง” ที่กลุ่มนั้น กลุ่มนี้ จะได้ “คะแนน” เต็มๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นวิบากกรรมที่ “พุทธ” กับ “พุทธ” ทะเลาะ วิวาท ขัดแย้ง ขัดแข้ง ขัดขากันเอง เท่าที่สดับตรับฟังความล้มเหลวในอดีต พระเถระชั้นผู้ใหญ่และผู้ใหญ่ระดับพลเอกท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า มิได้ถูกต่างศาสนาคัดค้าน มีแต่ “พุทธ” กับ “พุทธ” นี่แหละที่ “วีน” ออกอาวุธใส่กันเอง ดังนั้นต้อง “ระมัดระวัง” ความละเอียดอ่อนในจุดนี้  เพราะ “ขาประจำ” ชาวพุทธด้วยกันที่คอยคัดค้าน มีอยู่มากมาย เป็นกลุ่ม เป็นพวกในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ถ้าทำทุกวิถีทางให้มีโอกาสนำเสนอจน “ประมุขรัฐ” เคลิบเคลิ้มเห็นชอบคล้อยตามดำริและจะบรรจุให้ได้ ทุกอย่างก็จบ ยิ่งในยุคสมัยแห่งมาตรา ๔๔ ด้วยแล้ว ไม่ลองไม่รู้!

 

แต่แนะนำด้วยความเป็นห่วงว่าอย่าลองของลองเชิงลองดีกับประมุขรัฐด้วยวิถีและวิธีที่ “ประมุขรัฐ” ไม่ชอบ นั่นคือ “ระดมมวลชน” ต้องเลือกเปิดเพลงแบบ “เมโลดี้” ห้ามดีเจเปิดเพลง “ร็อกแอนด์โรล” ยกพลขย่มเขย่าขวัญเวทีคอนเสิร์ตดิ้นกันแดดิ้นแบบ “คอนเสิร์ตคาราบาว” อย่าให้เอามันเข้าว่าถึงขนาดยกพลช้างพลม้าปลุกใจกันมาแบบ “ต้มยำลำซิ่ง” ก็รู้อยู่ว่าผู้มีอำนาจในรัฐไม่ชอบวิธีการ “คนหมู่มาก”  ดังนั้น ต้องออกแบบและวางแผนโดยใช้หลัก Do less for More ใช้คนน้อยแต่ได้ผลมาก ใช้คนดีคนเก่งคนมีฝีมือซึ่งกรรมการมหาเถรสมาคมและหลวงพ่อสมเด็จฯท่านมีรอบตัวอยู่แล้ว ดำเนินการ “ล็อบบี้” ให้ดีๆ เน้นเพลงบรรเลงแบบ “สปา” ดื่มด่ำในจินตนาการ เงียบๆ เนิบนาบ ช้าๆ การใหญ่ก็อาจสำเร็จได้ดังประสงค์

เรื่องการวางแผนทำการใหญ่ๆ เท่าที่ผมเห็นผลงาน ผมชื่นชมวิธีการของ “พระราชภาวนาจารย์ (เผด็จ ทตฺตชีโว)” วัดพระธรรมกาย แนวคิด “พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต)” วัดราชโอรสาราม ผสมผสานกับ “พระพรหมวชิรญาณ” วัดยานนาวา “พระพรหมเมธี” วัดสัมพันธวงศ์ “พระพรหมสิทธิ” วัดสระเกศ และ “พระเทพโพธิวิเทศ” วัดไทยพุทธคยา ซึ่งท่านก็บินมาเมืองไทยประจำ ถ้าท่านอาจารย์ ดร. บรรจบ อาจารย์เอกภพ และอาจารย์รักสยาม รวมถึงท่านเจ้าคุณต่างๆ ที่ผนึกกำลังจากทีมบุรีรัมย์ยูไนเต็ดจนก้าวกระโดดเป็นทีมชาติที่จะไปดับทีมอิรักในเดือนมีนาคม ซุ่มเงียบซ้อมๆๆ คิดและทำกันตลอดเวลา ถ้าได้มีโอกาสเข้าพบเข้าถึงเข้าหาก็น่าจะ “คิด” และ “ทำการใหญ่” ได้สำเร็จ

 

ยามนี้ ทุกฝ่ายต้อง “เลิกพวก” “ถือข้าง” กันชั่วคราว ต้องยึดหลัก “ขวานไทยใจหนึ่งเดียว” เพราะขวานที่ไม่มีด้ามยามจะฟันย่อมไร้พลัง ถ้าคณะสงฆ์ไทยเลิกแบ่งพวกเลิกข้าง โอกาสชนะก็พอมี แต่ชัยชนะที่ดูริบหรี่ ก็มีมากเช่นกัน


การแสดงออกทั่วสังฆมณฑลในไทยและต่างประเทศต้องเป็นเอกภาพ เงียบแต่มีพลัง

ผมมองว่า “สื่อ” คือ “ภาพ” และ “เสียง” จากสังฆมณฑลทั่วแผ่นดินผ่านโซเซียลมีเดียมีพลัง  เฟซบุ้กและเว็บไซต์วัดต่างมีพลังมากมายมหาศาล ยกตัวอย่างเว็บไซต์ www.alittlebuddha.com ที่admin คือท่านพระมหานรินทร์ นรินฺโท ป.ธ. ๙ วัดไทยลาสเวกัส ก็มีแนวคิดและกลศึกที่คณะรณรงค์ฯ สมควรอีเมล์ไปคุยไปหารือขอพลังอำนาจความคิด ท่านพระมหานรินทร์ เท่าที่ผมสัมผัส ท่านเป็น “ตัวตาย” “ตัวแทน” พระพุทธศาสนาได้อย่างดี พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ถ้าตัดความโกรธและโทสะจากข้อเขียนอันคมกริบของท่านและค่อยๆ พิจารณาด้วยสายตาเป็นธรรม จะพบว่าท่าน “ติเพื่อก่อ” มิใช่ “ยอเพื่อทำลาย”  ผมทราบว่าท่านเจ้าคุณ “พระพรหมสิทธิ” วัดสระเกศ นิยมชมชอบและชื่นชอบท่านพระมหานรินทร์เป็นการส่วนตัวมาก ถ้ามีอำนาจคงดำเนินการถวายสมณศักดิ์ให้เป็น “พระราชาคณะ” ไปแล้ว จะติดก็ตรงที่ในส่วนเจ้าคณะกทม. และเจ้าคณะใหญ่หนกลาง รวมถึงเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่อาจยังกังขากับบทบาทของท่านมหานรินทร์ แต่ถ้าได้ใครสักคนชี้แนะให้เห็นถึงความจำเป็นและการมีอยู่ของ “ปี้ส่าง” คือท่านพระมหานรินทร์ ก็น่าจะยกย่องเชิดชูให้ท่านเป็น “ผู้นำสงฆ์” รุ่นใหม่ต่อไป เช่นเดียวกับท่าน ว. วชิรเมธี และท่านมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ถึงเวลาที่คณะสงฆ์สมควรยกย่องเชิดชูถวายสมณศักดิ์ให้ท่านเลื่องชื่อระบือนามให้เกียรติคุณปรากฏเกียรติยศลือชาในวงกว้าง

ดังนั้นถ้าจะเดินหน้าโดยคณะทำงานรณรงค์และขับเคลื่อนฯ จะต้องทำให้สังคมทั่วไปเห็นภาพชัดเจนว่าได้รับการสนับสนุนชัดเจนเป็นทางการจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สมเด็จพระราชาคณะทั้ง ๒ นิกาย อาทิ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลาง พระพรหมดิลก เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ฝ่ายมหานิกาย อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง

 

ผมมองว่าบทบาทของ “ท่านเจ้าคุณพิมพ์” ยามนี้ โดดเด่นมาก ในฐานะรู้มือ รู้ทางกันอยู่  “พระพรหมเสนาบดี” วัดปทุมคงคา เป็น “มือประสานสิบทิศ” ที่ไม่ธรรมดา เข้าได้ทุกสาย เน้น “พุทธศาสนา” อยู่ในลมหายใจทุกเวลาทุกวินาที ซึ่งว่ากันว่า “หนเหนือ” ทั้งหน จะแท็กทีมยกทัพสนับสนุนได้ไม่ยากขอเพียงท่านเจ้าคุณพิมพ์ “รับหลักการ” และลงมือขับเคลื่อนจริงจัง แต่ผมเชื่อว่าท่านจะกล้าเดินหน้าต่อไปได้ ก็ต้องได้รับไฟเขียวชัดเจนโดยต้องมี  “หลวงพ่อช่วง” กดปุ่ม

 

อย่ามองข้ามหนและภาคที่มีพระสงฆ์จำนวนมากนั่นคือหนอีสานและหนตะวันออกซึ่งมี “สมเด็จพระพุฒาจารย์” วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นผู้นำ ถ้าฝ่ายรณรงค์เข้าหาหลวงพ่อสมเด็จฯ หารือขอกำลังสนับสนุน และได้เลขานุการท่านคือ “ดร.พระมหากวิพัฒน์ สุขเมธี ป.ธ. ๙, PhD” ยุวสงฆ์ผู้นำรุ่นใหม่ที่มีเครือข่ายคอนเน็คชันกว้างขวางทั้งภาคอีสานและภาคตะวันออกรวมถึงเพื่อนๆ ฆราวาสระดับผู้นำองค์กรใน “สถาบันพระปกเกล้า” หนุนนำ ขอเพียงให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ รับหลักการ ขอเพียงท่านไฟเขียว “เอ่ยปาก” เป็นทางการให้เจ้าคณะต่างๆ ทั่วอีสาน และภาคตะวันออก เห็นความสำคัญและสนับสนุน  และต้องมีภาพลักษณ์ผู้นำสงฆ์รุ่นใหม่ที่คมความคิด คมทั้งวิธีปฏิบัติอย่าง พระเทพเสนาบดี (ดร. พระมหาประเทือง) เจ้าคณะจังหวัดลพบุรี หนกลาง ในฐานะเพื่อนเรียนบาลี ป.ธ. ๓ ด้วยกันมา ผมนับถือศรัทธาและเชื่อมั่นใน “มันสมอง” รวมถึง “สติปัญญา” อันลึกล้ำของท่าน ซึ่งท่านเจ้าคุณประเทืองรูปนี้ท่านเชี่ยวกรากและจัดเจนในกลศึกกลวิธีกลลวงกลอุบายทางการเมือง ขอเพียงให้ท่านร่วมคิดร่วมทำร่วมวางแผน ผมว่าก็มีหวังมีหนทางที่จะเอาชนะ “การใหญ่” ครั้งนี้ได้
อย่าลืม พระราชญาณกวี (สุวิทย์ ปิยวิชฺโช ป.ธ. ๙, MA นักเรียนทุนสมเด็จพระบรมราชินีนาถ) วัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย ธรรมยุติกนิกาย ท่านรูปนี้  “ไม่ธรรมดา”

ยิ่งถ้าได้ พระเทพศาสนภิบาล (แย้ม) วัดไร่ขิง สามพราน จ. นครปฐม เป็น “ทุน” และ”ทีม” สนับสนุนการผลิตเอกสารสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นงานที่ท่านถนัด ซึ่งผมเชื่อว่าท่านพร้อมที่จะ “หนุน” ทุกนโยบาย ถ้าเป็นไปเพื่อบวรพระพุทธศาสนาแท้จริง มิใช่เป็นไปเพื่อพวกพ้องตัวตนและเราเขา และขาดไม่ได้ต้องมี  “พระเทพรัตนากร” เจ้าคณะจังหวัดอยุธยา วัดพนัญเชิง อยุธยาไม่สิ้นคนดีเป็นแนวร่วม
ต้องยอมรับความจริงว่ายุคนี้เป็นยุค “อย” หรือ “สหภูมิอยุธยา” พระสงฆ์จังหวัดนี้ในกรุงเทพมหานครนั้น ท่านกำลังเรืองอำนาจในเพลานี้ สหภูมิอยุธยานี่รู้กันในวงการว่าท่านรักกันจริงส่งเสริมและสนับสนุนกันทุกนิกาย ขนาดสหภูมิสุพรรณบุรีที่นำด้วยสโลแกนว่า “มาด้วยกันไปด้วยกันเลือดสุพรรณ” ก็ยังไม่ชะงัดเหมือนยาขนาน “อย” ถ้าได้ “อย” หนุนเต็มตัว ก็จะติดลมบนได้ทันที ผมเองเคารพนับถือและศรัทธาทั้ง พระเถระในกลุ่ม “อย” ทั้งกลุ่ม “สพ” ผมมองว่าการคณะสงฆ์เวลานี้ ขับเคลื่อนและนำโดย “อย” และ “สพ” สหภูมิชาวเหนือ สหภูมิอีสาน สหภูมิชาวใต้ แม้จะเป็นสงฆ์หมู่ใหญ่ มวลชนกลุ่มมาก ยังไม่ได้มีบทบาทในแวดวงสงฆ์ขณะนี้ ภาพการทำงานของ “อย” และ “สพ” มีทั้งด้านบวกและลบ ด้านดีคือร่วมกันคิดร่วมกันทำ แต่ด้านเสียวงการสงฆ์กลุ่มอื่นๆ ก็มองว่าท่านเล่นพรรคเล่นพวกกัน ก็เป็นปกติธรรมดาทุกวงการย่อมมีทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ ปกติท่านเจ้าคุณสุชาติ หรือ “พระราชปริยัติเวที” รองเจ้าคณะ กรุงเทพมหานคร วัดสุวรรณาราม ในฐานะแกนนำ อย. (นี่ก็เพื่อนผมเหมือนกัน อิอิ) เป็นพระเถระชั้นผู้นำ ที่ผมไม่ได้เชียร์เพราะเป็นเพื่อนนะ แต่เป็นพระหนุ่ม ไฟแรง มีผลงาน ผลสำเร็จ น่าจับตามอง ท่านทำโครงการสนับสนุนและส่งเสริมสร้างพระและสามเณรเป็น “นักเทศน์มหาชาติ” เป็นผลงานน่าชื่นชมมาก เพราะร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมทุนทำกันเอง ท่านพระมหามนตรี ฯ วัดประสิทธิเวช คลอง ๑๕ นครนายกยังมาออกปากชื่นชมผลงานท่านให้ผมฟังเลย ทราบว่าท่านเจ้าคุณสุชาติฯ ก็หนุนเรื่องนี้เต็มตัวอยู่แล้ว อาจได้ไฟเขียวจาก “พระพรหมดิลก” เจ้าคณะกทม. หรือ “สมเด็จพระพุทธชินวงศ์” วัดพิชยญาติการาม แล้วก็เป็นได้  แต่ถ้า “อย” ระดับ “หลวงพ่อแวววัดเชิง”  “ทุนหนา” หนุน การใหญ่ก็จะเบาแรง เพราะส่วนมากพวกเราชาววัด มีแต่ตัว แต่บ่จี๊กัน ก็เลยไม่ค่อยได้เป็นใหญ่เป็นโตกัน ผมสังเกตจากเวลาที่พรรคการเมืองจะคัดเลือกนักการเมืองไปเป็นรัฐมนตรี ก็คัดเอาคนที่ “ทุนหนา” “หนุนพรรค” ใครมีเงินทุนสนับสนุนมากก็มีโอกาสเป็นเสนาบดีมาก ที่จะได้ดิบได้ดีเป็นเลขาฯ เป็นทีมงานรัฐมนตรี ถ้าไม่เจ๋งจริงแบบ ท่าน ผศ. ดร. เสถียร วิพรมหา ที่แม้จะเงินน้อย แต่มากด้วยอุดมการณ์ทางการเมือง นานๆ จะเห็นคนแบบนี้ได้ดิบได้ดีสักคน ในแวดวงการเมือง “เงิน” เป็นพลังอำนาจ เป็นเรื่องปกติธรรมดามาก
ซึ่งผมมั่นใจว่าการใหญ่คราวนี้ “อย” ต้อง “หนุน” และเปิดทางให้ “นำ” พระพุทธศาสนาบัญญัติเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญให้ได้ หรือเผื่อเหลือเผื่อขาด หากไม่ได้จริงๆ ก็ต้องมี “ก๊อก ๒” คือได้มาซึ่ง “งบประมาณ” ไว้สนับสนุนให้ทำ “โครงการ” “หลักการ” “วิธีการ”  “องค์การ” ที่ทำงานภายใต้พระราชบัญญัติเอื้อต่อการปฏิบัติศาสนกิจของชาวพุทธ ในฐานะผู้เสียภาษีอันดับแรกของประเทศ จะได้ไม่ต้องพึ่งพาเพียงแค่ “กฐิน” “ผ้าป่า” ทำงานกันแบบ “มื้อต่อมื้อ” เหมือนที่เห็นและเป็นอยู่ทุกครั้งที่ประชุมกับกลุ่ม อพท. ๕๖ ซึ่งมีท่านพลเอกธงชัย เกื้อสกุล เป็นประธาน และมีพระเทพวิสุทธิกวี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ซึ่งเคยเป็นแกนนำและโต้โผใหญ่จัดงานวิสาขบูชาที่ท้องสนามหลวง และทำงานกันระดมทุนจัดงานแบบ “กฐินผ้าป่า”  “มื้อชนมื้อ” ทุกปี แต่ก็เสียสละและอุทิศตัวเพื่อพระพุทธศาสนากันยาวนาน ได้สิทธิจัดงานวิสาขบูชากันได้ที่ท้องสนามหลวงเป็นประจำหลายสิบปี เพิ่งจะมา “เสียแชมป์” ด้วยเหตุผลกลใดไม่ปรากฏให้แก่ “กรมการศาสนา” ถูก “กระทรวงวัฒนธรรม” แย่งเอาผลงานไปทำเมื่อปีสองปีที่ผ่านมา นี่แหละผมถึงย้ำนักย้ำหนาว่า ถ้าจะคิดและทำเพื่อ “พระพุทธศาสนา” ก็ต้องเพื่อพระพุทธศาสนาจริงๆ !
คน : ปัจจัยแห่งความสำเร็จ “มันสมอง” “สองมือ” ร่วมมือร่วมแรงร่วมใจ
งานใหญ่ก็เป็นงานเล็ก งานยากก็เป็นงานง่าย

ฝากไว้ว่า คณะรณรงค์ฯ ต้องไม่ลืม “พระเทพสุวรรณโมลี” ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี หรือหลวงพ่อสอิ้ง วัดป่าเลไลยก์ “พระเทพปริยัติเมธี” วัดนครสวรรค์ เจ้าคณะจังหวัดนครสวรรค์ “พระราชวชิรเมธี” มันสมองระดับ “ดร.” รองเจ้าคณะจังหวัด วัดพระบรมธาตุ กำแพงเพชร ซึ่งการรณรงค์บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ  “การใหญ่” เช่นนี้ “สมอง” ของแต่ละท่าน “เฉียบคม” ยิ่งนัก
“พระสุธีธรรมานุวัตร” วัดพระเชตุพน ผมว่าท่านก็คิดอ่านไม่ธรรมดา กล้าชนกับ “พระไพศาล”  เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ ผู้ซึ่ง ส. สิวรักษ์หนุนหลังสุดตัว และไม่มีใครกล้าแตะได้นี่  “หลวงพี่เทียบ” เราย่อมไม่ธรรมดา ระดับ “อาจารย์เรือง” ชิดซ้ายต้องเตะลูกออกให้ฝ่ายตรงข้ามทุ่มทันที  555

 

อย่าลืมชื่อนี้ในแถบอีสานตอนใต้ ผมว่า “พระราชธีราจารย์” เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี นี่ก็เป็นพระสุปฏิปันโน พระเก่ง ท่านมีความคิดระดับ ป.ธ.๙บวก PhD และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แกนนำรณรงค์ฯต้องโทรศัพท์พูดคุย หารือ ก็จะได้มุมมองที่ลึกซึ้งและแตกต่าง  รวมถึง “พระเทพปัญญาโมลี” นี่ก็ ป.ธ. ๙ และปริญญาโทระดับเจ้าอาวาสวัดประชุมโยธี เจ้าคณะจังหวัดพังงา รูปนี้ก็สุขุมและลุ่มลึก คมความคิด ฝีไม้ลายมือก็ไม่เป็นสองรองใครแถบท้องทะเลอ่าวอันดามัน อย่าลืม “พระเทพสาครมุนี” เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร รูปนี้เป็นสงฆ์มีศีลาจารวัตรน่ากราบน่าไหว้ เป็นพระสุปฏิปันโน ลมหายใจเข้าออกเพื่อบวรพระพุทธศาสนาแท้จริง   สำคัญคือ ทางภาคอีสานมี “พระราชปริยัติโสภณ” เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น “ท่านเจ้าคุณถนอม” เป็นผู้นำออกหน้าและเดินทัพเต็มอัตราศึกอยู่แล้ว คลื่นมหาชนทั้งพระทั้งโยมก็จะไหลหลากมาเป็นกองทัพมหึมา  ซึ่ง “พลังอำนาจ” มหาศาล เกิดจาก “พลังศรัทธา” ที่ศรัทธาสาธุชนมีต่อพระสงฆ์วัดต่างๆ จะประมาทมิได้!

 

ที่น่าเข้าไปกราบขอพลังสนับสนุนเป็นแนวร่วมคือ “หลวงพ่อพระธรรมมงคลญาณ” หรือ “หลวงพ่อวิริยังค์” ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย  และอีกวัดที่สำคัญคือวัดบวรนิเวศวิหาร การใหญ่คราวนี้คณะรณรงค์ฯจำต้องหาทางเข้าพบกราบอาราธนาให้ “สมเด็จพระวันรัต” วัดบวรนิเวศวิหาร ช่วยสนับสนุน  เอ่ยถึง “วัดบวรนิเวศวิหาร” แล้ว วัดนี้ “ขรึม” และ “ขลัง” มีพลังอำนาจและแผ่อิทธิพลต่อ “สายวัง” เพราะเป็น “สายตรง”  ยิ่งถ้าได้ “บัณฑูร ล่ำซำ” ไวยาวัจกรวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นแนวร่วม เห็นความจำเป็น ร่วมสนับสนุนและผลักดัน การใหญ่ครานี้ ก็น่าจะสำเร็จได้ราบรื่น เพราะทราบจากคนสนิทว่าท่านเป็นถึง “ซูเปอร์บอร์ด” ของรัฐบาลชุดนี้

มีหลายคนชื่นชมและศรัทธาในตัว “สมเด็จพระธีรญาณมุนี” วัดเทพศิรินทราวาส เล่าให้ผมฟังมาก ต่างเรื่อง ต่างวาระ แต่ทุกเรื่องลงท้ายว่าท่านเป็นพระสุปฏิปันโน มีวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง รายล่าสุดก็ “พระราชวิริยาลังการ” วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านชื่นชมและยกย่อง “เจ้าประคุณสมเด็จ” รูปนี้มาก แสดงว่าเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่ธรรมดา ผมเองกลับนึกถึงผลงานท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่เหล่าศิษย์ของท่านได้ร่วมกันสร้าง “หลวงพ่อทวด” ใหญ่ที่สุดในภาคลางไว้ที่ “หลักกิโลเมตรที่ ๔๔”  เส้นทางบางปะอิน-นครสวรรค์ ตรงแถวอำเภอมหาราช ผ่านเส้นนั้นทีไรผมมีโอกาสและเวลาจะต้องหยุดรถลงกราบไหว้เป็นสิริมงคลทุกคราวไป ก็ “สาธุ” และตั้งจิต “อนุโมทนา” ได้ทำบุญกับท่านเสมอ

 

พระอีกรูปที่เพื่อนต่างศาสนาชมให้ผมฟังคือ “พระพรหมเมธี” วัดสัมพันธวงศ์ ซึ่งกรรมการมหาเถรสมาคมรูปนี้มีเพื่อนต่างศาสนามากและเป็นที่นับถือของท่านเจ้าสัวตระกูลต่างๆ ในแถบเยาวราช แต่ละท่านที่เอ่ยมา เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นใหญ่เป็นโตเต็มบ้านเต็มเมืองในวงกว้าง ขอเพียงให้คณะกรรมการรณรงค์กล้าที่จะ “เดินสาย”  เดินชน เข้าถึงตัว ขอกำลัง “สนับสนุน” ด้านความคิด วิธีการ วิธีทำงาน กำลังคน กำลังงบประมาณ กำลังผลิตเอกสาร และให้แต่ละท่าน “ไฟเขียว” เต็มร้อย การใหญ่ก็จักสำเร็จลุล่วงได้ดั่งที่ใจประสงค์

 

สำคัญว่าคณะกรรมการรณรงค์ฯ จะมีเวลามากน้อยแค่ไหน เพราะเรื่องแบบนี้ “กองทัพเดินด้วยท้อง” ต้องมีค่าใช้จ่ายในเบื้องต้นทั้งนั้น ทั้งค่าน้ำมันรถ ค่าอาหาร ค่าน้ำดื่ม ค่าเอกสาร ที่คนท้อและเบื่อ “การกุศล” ก็แบบนี้ คือ “ควักและจ่ายทางเดียว” แต่ผมเชื่อว่า “ท่านพระครูธรรมธรสัมพันธ์ ถิรธมฺโม” เจ้าอาวาสวัดจันทรสุข รังสิตคลอง ๒ ปทุมธานี ฐานานุกรมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ท่านรูปนี้ เป็นพระที่ใจใหญ่ ใจถึง พึ่งได้ ท่านให้การสนับสนุนเกินร้อยและเกินคาด! ผมเชื่อแน่วแน่ว่าท่านพระครูไม่ทอดทิ้งแน่ๆ

ขอเพียงคณะกรรมการรณรงค์ฯใช้พลังอำนาจ “เครือข่าย” “สายสัมพันธ์” รวมพลัง รวมใจเป็นหนึ่งเดียวได้หรือไม่?

 

กราบเรียนด้วยความเคารพ ถึงบรรทัดนี้ เป็นจุดสำคัญ ผมขอชี้จุดเป็นจุดตาย จุดแตกหัก การใหญ่จะสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ที่ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” และเหล่านายพลเอก “๔ป” คนใดคนหนึ่งเท่านั้น มิใช่ผมมองว่า “การก่อม็อบ” “การนอนข้างถนน” “การอดอาหาร” จะไม่สำคัญ แต่ที่จะลุล่วงถึงขั้น “ประมุขรัฐ” ทั้ง ๔ คนใดคนหนึ่งจะเล็งเห็นและให้ความสำคัญ…ดังพระราชปณิธานรัชกาลที่ ๑ มีรับสั่งไว้ว่า

“ตั้งใจจะอุปถัมภก                  ยอยกพระพุทธศาสนา

จะป้องกันขอบขัณฑสีมา รักษาประชาชนแลมนตรี”


การใหญ่จะสำเร็จลุล่วงได้ ก็ด้วย “วัด-เวียง-วัง” บูรณาการและเห็นพ้องเห็นขอบต้องตามกัน

ผมนึกถึงข้อความในหนังสือ “ผจญมาร” นิพนธ์ของ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ อาจ อาสภมหาเถร” อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ หน้าที่ ๑๙๐-๒๐๑ สาระสำคัญมีว่าได้มีพระภิกษุสามเณรกว่า ๕๐๐ รูปจากต่างจังหวัดโดยเฉพาะภาคอีสาน เดินทางมาร่วมชุมนุมกันที่ลานอโศก วัดมหาธาตุ เพื่อร้องเรียนให้มหาเถรสมาคมดำเนินการให้ความเป็นธรรมแก่อดีตพระพิมลธรรม (อาจ อาสภมหาเถร) ซึ่งผลจากการ “ก่อม็อบ” ก็ได้เกิดมีการทบทวนคำสั่งและได้มีคำสั่งใหม่แต่งตั้งให้พระเถระระดับต่างๆ มีหน้าที่วินิจฉ้ยเรื่องร้องเรียนขอความเป็นธรรม มหาเถรสมาคมได้ออกคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมาย โดยใช้บุคลากรจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกคำสั่งระงับอธิกรณ์ และเสนอให้ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการเพื่อขอพระราชทานพระมหากรุณาให้พระเถระกลับคืนมีสมณศักดิ์ดังเดิม

“ยุทธศาสตร์” ซึ่งรวมถึงยุทธวิธี กลยุทธ์ กลศึก กลอุบาย แผน และโครงการรณรงค์เพื่อบรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ ก็ดำเนินการไปคล้ายๆ กันคืออาจต้องอาศัยพลังของ “พระสงฆ์สามเณร” วัดต่างๆ ทั่วไปผนึกประสานเข้ากับพลังของ “มหาเถรสมาคม”ถ่ายทอดพลังไปทาง  “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ” เชื่อมโยงเข้ากับพลังของ “สำนักนายกรัฐมนตรี” และพลังของ “สำนักพระราชวัง” ซึ่งย่อมรวมถึงพลังของ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ”  สิริรวมนับได้ ๖ พลัง การบรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติจึงจะสำเร็จ

คณะกรรมการรณรงค์ให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติครั้งนี้ แต่ละท่านล้วนเป็นระดับมหาปราชญ์ผู้มีสติปัญญาฉลาดและปราดเปรื่อง นี่คือ “ความคิดรวบยอด” ที่ฝากไว้ให้เดินแบบ “ย่น” และ “ย่อ”

ฤาจะรบโดยไม่ต้องรบ?
ยกเว้นเสียแต่ว่าจะ “รบโดยไม่ต้องรบ” เปลี่ยนพื้นที่การรบใหม่ ล็อบบี้ โน้มน้าว ชี้ให้เห็นความสำคัญ ยามนี้พระเถระชั้นผู้ใหญ่ วาทะคมคาย พูดเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย พูดแล้วพระมหาเถระรับฟัง มองไปทั่วสังฆมณฑล “การใหญ่” เช่นนี้ผมมองไม่เห็นใคร ก็เห็นเพียงแต่ “พระพรหมสิทธิ” นี่แหละไม่ใช่ใครอื่นไกล ทีมงานรณรงค์ฯ ต้องเข้าพบ ต้องหารือ ต้องอ้อนวอน ต้องเรียกร้อง ต้องขอร้องให้ท่านเดินทางเข้าเฝ้า ได้เข้าเฝ้า กราบอาราธนา โน้มน้าวอธิบายชี้หลักการชักแม่น้ำทั้งห้าสายให้ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์” เข้าพบ “ผู้นำ ๔ป” เอาคนที่เป็น “เบอร์๑” “เบอร์๒” นั่นแหละ  ไม่ว่าจะผ่านทางสายวังคือ “พลเอกณพล บุญทับ” หรือ “พลเอก” ท่านใดท่านหนึ่งที่ท่านสนิทสนมคุ้นเคยคอยช่วยเหลือและคอยเจรจาล็อบบี้ประสานงานให้ ถ้าพลเอก “๔ ป” ท่านใดท่านหนึ่งรับหลักการ ผมว่าฝ่าย “บรรจุ” คืออาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ก็จะตอบรับได้ไม่น่าจะยากเย็นนัก ผมว่า “การใหญ่” ก็จะรบเร็วจบเร็วไม่ยืดเยื้อเหมือนครั้งที่ “สมเด็จพระพนรัตน” วัดป่าแก้ว เร่งรีบเข้าพบ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ขอบิณฑบาตชีวิตแม่ทัพนายกองนับหมื่นชีวิตคราวสงครามยุทธหัตถีที่ตามเสด็จไม่ทันทั้งกองทัพ วิกฤตครานั้นนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญทางประวัติศาสตร์สะท้อนให้เห็นถึงการพระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อการปกครองของพระมหากษัตริย์ มีผลทำให้ชีวิตแม่ทัพนายกองและครอบครัวเรือนพันเรือนหมื่นรอดพ้นจากความตายได้หวุดหวิด เป็นภาพสะท้อนบวรพุทธศาสนาที่เรืองแสงถึงบัดนี้
เหมือนจะรบแพ้แต่ชนะ

ทุกการศึก ต้องมีเป้าหมายการรบ แต่ “อย่าเล็งผลเลิศ” ไม่ได้ที่ยืน “เต็มร้อย” แต่ได้ “อานิสงส์” ผลพลอยได้อื่นๆ ที่คุ้มค่ากับบวรพระพุทธศาสนามีผลให้ชาวพุทธได้อะไรที่ทัดเทียมเท่ากับ “ต่างศาสนา” ได้ ผมว่าก็ “บรรลุ” เป้าหมายที่เล็งและวางไว้ ระหว่าง “การมีชื่อ” เป็นทางการ กับ “การได้สิทธิ” เต็มร้อย เท่ากับศาสนาอื่นๆ ได้รับส่วนตัวผมมองว่า “อย่างหลัง” คุ้มค่า ดีกว่าที่จะดื้อดึงดันที่จะเอาเพียงแค่ “มีชื่อเป็นทางการ” เท่านั้น และท้ายที่สุด เรียกร้องแล้วกลับ “คว้าน้ำเหลว” เหมือนครั้งที่แล้ว ก็อย่าเสียเวลา เสียหน้า ซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกเลย !

 

แม่น้ำใหญ่ไหลลงรวมกันได้ การใหญ่ก็จักสำเร็จดังประสงค์

ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เลือกที่จะ “รบโดยไม่รบ” ที่ต้องเร่งรีบทำคู่ขนานคือเล็งเห็นและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะวางแผนประชุมแบ่งสายแบ่งงานรีบเดินสายพบปะเจรจาขอสัญญาณ “ไฟเขียว” กับคณะกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย และทุกนิกายในประเทศไทย เจ้าคณะหน เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาสอย่าง “เป็นทางการ”   แผนฉุกเฉินต้องมีไว้สำรอง กรณีแผนหลัก “ผิดพลาด”

 

การใหญ่ครั้งนี้ยากจะสำเร็จถ้าไม่ปรึกษา “เหล่าอุบาสก” ขอคำชี้นำชี้แนะชี้ช่องจากผู้นำองค์กรรัฐและเอกชนที่เป็น “แม่เหล็ก” ดึงดูดคนได้มากมายมหาศาลอย่าง พลเอก ณพล บุญทับ พลเอกธงชัย เกื้อสกุล นายศิริธัช โรจนพฤกษ์ นายวิชัย ศรีวัฒนประเภา นายอนันต์ อัศวโภคิน นายบุญชัย เบญจรงคกุล นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ศ.ดร. วิษณุ เครืองาม ศ.ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ศ.เกียรติคุณ รอ. ดร.ทินพันธ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ห้วงเวลานี้ “อุบาสก” ช่วย “พระ” ทำงาน ถูกต้องแล้ว เพราะกรอบการกำหนดนโยบายและรูปแบบมหาเถรสมาคมโดยโครงสร้าง  เท่าที่พระเถระผู้ใหญ่ระดับ “มหาเถรสมาคม” เล่าให้ฟัง ท่านมิได้วางนโยบายวางแผนและส่งตัวแทนพุทธศาสนาเข้าไปมีส่วนร่วมนำเสนอกฎหมายเพื่อวงการสงฆ์ที่แท้จริง คาถา “พระสงฆ์ห้ามยุ่งการเมือง” มีผลชะงัดต่อบทบาทของมหาเถรสมาคม แตกต่างจาก “สำนักจุฬาราชมนตรี” ที่นั่นการเมืองนำการศาสนาเต็มร้อย! นี่ก็ได้ยินจากปากผู้นำ “สำนักจุฬาราชมนตรี” คีย์แมนคนสำคัญคนหนึ่งเล่าให้ฟัง ก็นำมาเล่าเท่าที่รู้ หนที่แล้วรณรงค์ฯพังเพราะพุทธด้วยกันเอง ปัดแข้ง ปัดขา กีดกัน เหยียบขากันเอง จนสะดุดล้มลง หวังว่าหนนี้ คงไม่พลาดซ้ำอีก!
รัฐสภาวนาราม : ความพ่ายแพ้ในอดีต

การรณรงค์เพื่อบรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ปี ๒๕๕๐ ครั้งที่ผ่านมาผู้นำองค์กรชาวพุทธได้ร่วมกันทำงานเข้มแข็งมาก รายชื่อเท่าที่ผมพอจะจำได้คือท่านดร. พระมหาโชว์ ทสฺสนีโย ดูจากผลงาน ท่านทำงานเข้มแข็งมาก ไม่เคยปริปากบ่น ไม่เหนื่อย ไม่ท้อ ไม่ล้า ไม่มีปัญหา พอที่จะเป็นเจ้าฟ้าเจ้าคุณได้ อย่าลืมปีหน้าต้องลุ้นให้หลวงพ่อเณร วัดศรีสุดาราม ล็อบบี้ อย.!  ท่านพลเอกธงชัย เกื้อสกุล ในนามของศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย วัดบวรนิเวศวิหาร เฉพาะ “พี่เกื้อ” เกณฑ์ชาวพุทธมาได้มากถึงเกือบพันองค์กร มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสสนับสนุนเต็มกำลัง ได้พลังจากมวลชนมากมายมหาศาล ทราบว่าท่าน ดร. สัญชัย พรหมฤาษี ก็เกณฑ์ชาวพุทธมาหลายพันคนเช่นกัน รวมถึงท่านพระมหาบุญถึงชุตินฺธโร เจ้าอาวาสวัดตะล่อม ย่านฝั่งธนบุรี ท่านเจ้าคุณพระเทพวิสุทธิกวี วัดราชาธิวาส รณรงค์ในนามของผู้นำศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย

วีรกรรมอันห้าวหาญฮึกเหิมสมควรบันทึกไว้ เป็นของพระสงฆ์ผู้หาญกล้าประกาศจุดยืน “แพ้เป็นโจร ชนะเป็นเจ้า” พระราชาคณะรูปนี้คือท่านเจ้าคุณพระราชปัญญาเมธี (สมชัย กุสลจิตฺโต, ป.ธ. ๙, PhD) ขณะรณรงค์นั้นท่านดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดจันทาราม พระอารามหลวง เขตธนบุรี และมีอีกตำแหน่งคือรองอธิการบดีมหาจุฬาฯฝ่ายต่างประเทศ

 

ศัพท์บัญญัติยุคนั้นคือ “รัฐสภาวนาราม” แปลตรงตัวว่าวัดป่าตั้งอยู่ในรัฐสภา รณรงค์กันถึงขนาดมีพระยอมอดข้าวอดน้ำอดอาหาร นอนและจำวัดกันข้างถนน แต่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญสมัยนั้นก็ไม่สนใจ และสุดท้ายก็พ่ายแพ้ชาวพุทธกันเอง อย่าโทษต่างศาสนิก ต้องโทษว่าเราไม่สามารถชี้แจงชาวพุทธด้วยกันให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ เมื่อเราชี้แจงไม่ชัดก็แพ้อย่างย่อยยับ!

ผมเคยถาม “พี่เกื้อ” หรือพลเอกธงชัย เกื้อสกุล ที่เคารพนับถือศรัทธากันยาวนาน  ท่านอารมณ์ดีเล่าให้ฟังว่าการศึกคราวนั้น ท่านเองก็รับบทเป็น “ผู้นำ” ชาวพุทธ ท่านได้รณรงค์ออกตัวออกสื่อเป็นตัวจริงเสียงจริง ชัดเจน ด้วยสมองระดับ “พลเอก” ท่านได้นำชาวพุทธชั้นผู้นำบุกเข้าไปในรัฐสภา และเดินออกมาบอกชาวพุทธข้างนอก แต่เสียงสนับสนุนไม่มากพอ เราจึงแพ้

ยุคนั้น ท่านเจ้าคุณสมชัยฯ ได้ทุ่มสุดฤทธิ์ หมายมั่นจะบรรจุพระพุทธศาสนาในรัฐธรรมนูญให้สำเร็จให้จงได้ ลงทุนระดมพลจากพุทธมณฑลเดินเท้าเปล่ายกพลช้างจากสุรินทร์ข้ามสะพานพระปิ่นเกล้ามาเป็นขบวนใหญ่โตเอิกเกริก สื่อมวลชนไทยและเทศรุมกันถ่ายทอดสดทำข่าวไปทั่วโลก ท่านได้ประชุมและวางแผนตั้ง “รัฐสภาวนาราม” ทำงานเป็นทีม มีผู้นำ ผู้ตาม ที่ปรึกษา และผู้สนับสนุนครบเหมือนสมัยนี้ ท่านยืนยันว่าจะปักหลักอยู่รัฐสภาไม่ไล่ไม่เลิก อดอาหารถึงตายก็มีพระสงฆ์อาสากล้าตายกล้าแลกจริงจัง เดือดร้อนถึงรัฐบาลทหารคือ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ และประธานคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งก็คือ คือพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เจ้าของคำพูดปริศนา “ถึงตายก็พูดไม่ได้”  ต่างกังวลว่าม็อบพระกับม็อบเพื่อทักษิณจะกลายเป็นม็อบเดียวกัน จากข่าวในอดีต ท่านเจ้าคุณสมชาย ได้ถือย่ามบุกเดี่ยวเดินเข้ากองบัญชาการกองทัพบกไปขอสัจจะลูกผู้ชายคือคำยืนยันจากปากของพลเอกสนธิบุณยรัตกลิน  ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งมีสถานะเป็นไทยมุสลิมท่านสนธิก็รับปากท่านเจ้าคุณว่าไม่ขัดข้องที่จะบัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และมีเสียงขานรับสนับสนุนจากรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่สุดท้ายถูก “เบี้ยว” ในท้ายที่สุด

 

สมรภูมิรบคราวนั้น “ค่ายบางระจัน” คือ “กลุ่มชาวพุทธ” สายต่างๆ เล่าเท่าที่รู้ นัดแล้วไม่มาตามนัดก็มี แตกสามัคคีกันก็มาก ที่แน่ๆ ขนาดเจ้าคณะภาคบางภาคก็ยังถอนตัวไม่มาประชุมที่วัดสระเกศตามที่นัดไว้ คงมีแต่กลุ่มชาวพุทธที่มีตัวและหัวใจศรัทธาพุทธเต็มร้อยยอมเสียชื่อเสียเครดิตยอมถูกวิพากษณ์วิจารณ์ยอมถูกด่าออกมาเรียกร้องเดินขบวนเคลื่อนไหวนอนข้างถนนอู่ทองเพื่อให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แต่สุดท้ายเมื่อเสียงสนับสนุนมีน้อย และปรากฏว่า “พ่ายแพ้” ชัดเจน แกนนำก็ประกาศตัวยอมแพ้ตกเป็นเชลยศึกทีละรายสองราย และสุดท้ายก็ยอมแพ้ยอมสลายตัวกันแต่โดยดี รายละเอียดปรากฏตามเอกสารฉบับที่ ๒

มีข้อสังเกตว่าท่าที “กรุงศรีอยุธยา” คือ “มหาเถรสมาคม”  ยุคที่วัดสระเกศครองเมืองนั้น พระผู้ใหญ่ท่านก็พากันสนับสนุนเต็มที่เต็มสูบ เดินทางกันสะดวก รัฐบาลยุคนั้นก็ใจดีกับพระสงฆ์ เปิดทางโล่งตลอดเส้นทางตั้งแต่อีสานยันถึงพุทธมณฑล แต่ทว่าก็ยังพ่ายแพ้เพราะ “ฟ้าปิด” เครื่องบินขึ้นต่อไม่ได้ ทัศนวิสัยย่ำแย่  ตอนนั้นชาวพุทธทุกคนพากันจำชื่อ น.ต. ประสงค์สุ่นศิริ ประธานร่างรัฐธรรมนูญ และ ดร. เจิมศักดิ์ ปิ่นทองกันแม่นยำ  ผลการลงมติสรุปว่าเสียงคัดค้านชาวพุทธที่คัดค้านมีมากถึง ๖๖ เสียงชนะเสียงชาวพุทธฝ่ายสนับสนุนที่เหลือเพียงแค่ ๑๙ เสียงเท่านั้น มีที่งดออกเสียงเดาว่าเป็นศาสนิกศาสนาอื่น ๔ เสียง และงดลงคะแนน ๑ เสียง

 

ทราบว่ากาลต่อมา “พระอาจารย์ธรรมโชติ” หรือท่านเจ้าคุณสมชัยฯ ยอมหักไม่ยอมงอ พ่ายแต่ไม่ประกาศว่าแพ้ แม้จะยับเยินและบอบช้ำที่สุดในชีวิต เมื่อ “ชนะเป็นเจ้า” ไม่ได้ ท่านก็ทำตามสัจวาจา ไม่มีคำว่า “แพ้” หลุดออกจากปากท่าน มีเพียงคำบอกลาคณะสงฆ์แบบถาวร ท่านได้วางมือละขาดจากภาระธุระพระศาสนาทุกอย่างเลือกเดินธุดงค์ไปห่างไกลผู้คนเลือกไปเยียวยาสภาพจิตใจอันบอบช้ำที่วังน้ำเขียวเพียงลำพัง และได้ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งไม่หวนกลับมาเตรียมตัวเป็น “เจ้าอาวาส” วัดจันทารามพระอารามหลวงย่านฝั่งธนบุรีกระทั่งบัดนี้  สมณศักดิ์ที่ “พระราชปัญญาเมธี” กว่า ๘ ปีแล้วที่หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ทำเนียบสมณศักดิ์ หยุดอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหว น่าเสียดายที่เราเสีย “ขุนศึก” ระดับ “แม่ทัพธรรม” ไป ๑ รูป!

 

ผมฉายภาพในอดีตเพื่อสะท้อนว่า”พุทธ”ต้องรวมพลังเป็นหนึ่งเดียวจึงจะชนะการศึกในคราวนี้ซึ่งผมประเมินว่าโอกาสดีกว่าคราวก่อนมาก ท้องฟ้าแจ่ม อาทิตย์จ้า แต่ต้อง”รบ”บนเอกสารหาทางเสนอให้ผู้มีอำนาจดำเนินการ “บรรจุ” อักขระเพียงหนึ่งย่อหน้าในรัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรไทยให้จงได้

 

 

นี่คือประเด็นท้าทาย คณะกรรมการรณรงค์ให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งผมก็ยังไม่แน่ใจว่าครั้งนี้ ระหว่างสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนากับสมาคมเปรียญธรรม ๙ ประโยค ตกลงใครเป็นแกนนำกันแน่ ที่แน่ๆ แกนนำฝ่ายหนึ่งถูกเรียกไปปรับทัศนคติแล้ว ส่วนแกนนำอีกฝ่ายเป็นทหารด้วยกันยังแคล้วคลาด “ภาพลักษณ์ในอดีต” นี่สำคัญ…ถ้ากุสลเจตนาชัดเจน ไม่มีอะไรแอบแฝงก็น่าจะทำการใหญ่ได้ลุล่วง!

ผมตั้งจิตอธิษฐานขออวยพรให้กุศลเจตนาและยุทธศาสตร์ของทุกๆท่านทุกๆ รูป สำเร็จ สำเร็จ สำเร็จ สาธุ
ศาสตราจารย์ ดร.อุทิส ศิริวรรณ

๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๘

 

เอกสารอ้างอิง
ฉบับที่ ๑
คำถามคำตอบการบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
ในรัฐธรรมนูญ เมื่อปี ๒๕๕๐ ในเว็บไซต์ต่างๆ
 
๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐
ที่มา: http://larndham.org/index.php?/topic/26708-ข้อเท็จจริงเรื่องพระพุทธศาส/

ถาม ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเคยบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติจริงหรือไม่

ตอบ ไม่จริง รัฐธรรมนูญที่ผ่านไม่เคยมีการบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ผู้ร่างที่ผ่านมาให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองการปกครอง และ ป้องกันการแตกแยกของคนในชาติในมิติของศาสนา

ถาม หากบรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว จะทำให้ประเทศชาติแตกแยกมากยิ่งขึ้น และ อาจจะทำให้ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้รุนแรงมากยิ่งขึ้น

ตอบ เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายคาดเดากันไปเองล่วงหน้า ที่ผ่านมาประเทศไทยก็ไม่เคยมีความแตกแยกกันทางด้านศาสนาอย่างรุนแรง และถึงแม้ที่ผ่านมาจะไม่มีการบรรจุศาสนาประจำชาติ ปัญหาในสามจังหวัดก็ยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสาเหตุของปัญหาไม่ใช่ความแตกแยกทางศาสนา แต่เป็นเรื่องความอยุติธรรมในพื้นที่ ความต้องการแยกดินแดน และ ความแตกต่างทางด้านชาติพันธ์ วัฒนธรรม ระหว่างไทยกับมลายู ศาสนาเพียงถูกดึงไปใช้เป็นเครื่องมือในภายหลังเท่านั้น ดังนั้นหากมีการบัญญัติศาสนาประจำชาติ เหตุการณ์จะรุนแรงขึ้นหรือทุเลาลง มันขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย เช่น หากบรรจุแล้วเกิดแนวคิดศาสนานิยมแล้วไปออกกฎหมายรังแกศาสนาอื่น อันนี้ก็จะทำให้เกิดปัญหารุนแรง หรือ หากบรรจุแล้วมีการออกกฎหมายลูก หรือ มีการให้ความสำคัญในการนำพระธรรมคำสอนไปประยุกต์ใช้การบริหารราชการแผ่นดินหรือแก้ปัญหาของชาติ ก็จะสามารถทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุขได้ ขึ้นอยู่กับ ใครจะเอาข้อความดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างไร เหมือนดาบสองคม

ถาม ศาสนาเป็นของสูง รัฐธรรมนูญเป็นของต่ำดังนั้น เราไม่ควรเอาศาสนาไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะ รัฐธรรมนูญเปลี่ยนได้ โดนฉีกบ่อย

ตอบ สถาบันชาติเป็นของสูง สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นของสูง รัฐธรรมนูญก็ตั้งอยู่บนพานทองสองชั้น นั่นก็แสดงว่าเป็นของสูง ดังนั้นแนวคิดดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผลและไม่สมควรเอามาเป็นข้อกล่าวแย้งในเรื่องการไม่บรรจุศาสนาประจำชาติ

ถาม หากบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว จะทำให้ประชาชนชาวไทยสามารถธำรงค์รักษาพระพุทธศาสนาไว้ตราบนานเท่านาน และ จะทำให้พระศาสนาเจริญรุ่งเรื่องสถาพร

ตอบ ไม่จริง การบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงการประกาศข้อเท็จจริง ในเอกลักษณ์ของชาติเท่านั้น เช่น ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การเขียนในรัฐธรรมนูญเป็นเพียงการเขียนเพื่อเทิดทูนและให้ความเคารพในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่มีผล หรือ ส่งผลให้เกิดการทำนุบำรุงพระศาสนาในทางปฏิบัติแต่อย่างใด การทำนุบำรุงหรือส่งเสริมกิจการพระศาสนานั้นอยู่ในมือของพุทธบริษัทสี่เท่านั้น การออกกฎหมายลูก หรือ การตราพระราชบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวข้องจะมีผลส่งเสริมพระพุทธศาสนามากกว่าการเขียนบัญญัติศาสนาประจำชาติ

ถาม เหตุใดเราจึงไม่แยก รัฐ และ ศาสนา ออกจากกันอย่างสิ้นเชิงเหมือนประเทศอเมริกา

ตอบ อเมริกา เป็นประเทศที่ไม่มีรากทางวัฒนธรรมประกอบขึ้นมาจากชนหลายชาติ หลายภาษา และ หลายศาสนา แตกต่างจากประเทศไทย ที่คนส่วนใหญ่ผูกพันนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์ทุกๆพระองค์ก็ผูกพันอยู่กับพุทธศาสนามากว่าเจ็ดร้อยปี รัฐธรรมนูญของไทยนั้นใช้รูปแบบคล้ายคลึงกับของประเทศอังกฤษนั้นคือใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นตัวเชื่อมสถาบันศาสนา โดยการบังคับกำหนดการเลือกนับถือศาสนาให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้นรัฐธรรมนูญของไทยจึงได้กำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะมาตลอด เหมือนกับที่ประเทศอังกฤษกำหนดให้สมเด็จพระราชินีต้องนับถือคริสต์นิกายแองกิกลัน

ถาม หากกำหนดให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว จะทำให้ศาสนาอื่นไม่ได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกัน

ตอบ ไม่จริง รัฐธรรมนูญมาตรา 78 ได้เขียนไว้ ว่ารัฐจะต้องให้ความคุ้มครองศาสนาอื่นๆ และ พระพุทธศาสนา อย่างเท่าเทียมกัน

ถาม หากบรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติแล้ว จะทำให้ภัยที่คุกคามพระพุทธศาสนาหมดไปจริงหรือไม่

ตอบ ไม่จริง ภัยที่จะทำให้พระศาสนาเสื่อมนั้น มีทั้งจากภายนอกและภายใน พระพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับภัยภายในมากกว่าภัยภายนอก ภัยภายในคือการที่พระภิกษุไม่ประพฤติตนอยู่ในพระธรรมวินัย บิดเบือนพระธรรมวินัย พุทธบริษัทไม่ให้ความสำคัญกับพระธรรมคำสั่งสอน ไม่นำพระธรรมคำสั่งสอนไปปฏิบัติ ไม่ทำนุบำรุงพระศาสนา การบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องของการเทิดทูนพระพุทธศาสนาเป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ได้มีผลทำให้ภัยที่คุกคามพระพุทธศาสนาลดน้อยถอยลง แต่ เป็นหน้าที่ของพุทธบริษัทต่างหากที่จะต้องช่วยกันป้องภัยของพระพุทธศาสนาไม่ใช่การหวังพึ่งข้อความในรัฐธรรมนูญโดยไม่ทำอะไร

ถาม ที่เขาบอกว่า พระพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองหรือประจำชาติอยู่ที่การปฏิบัติตนพุทธบริษัทสี่ ไม่ใช่อยู่ที่การบัญญัติศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ

ตอบ ถูกต้อง พระพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองหรือเสื่อมลง อยู่ที่การปฏิบัติตนของพุทธบริษัท เช่น พระสงฆ์ประพฤติตนอยู่ในพระธรรมวินัย อุบาสก อุบาสิกา น้อมเอาพระธรรมคำสั่งสอนไปใช้ และ ฆราวาสชนชั้นปกครองให้ความเอาใจใส่ เทิดทูน คุ้มครองพระอริยสงฆ์และพระพุทธศาสนา การตราพระราชบัญญัติ หรือ การเขียนบัญญัติข้อความที่เทิดทูนพระพุทธศาสนาลงในรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงวิธีการหนึ่งของการเทิดทูนพระพุทธศาสนาในมิติของกฎหมายเท่านั้น

ประเทศเวียดนามใต้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการที่ชนชั้นปกครองไม่ใช่พุทธศาสนิกชน แต่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธ เมื่อชนชั้นปกครองไม่ศรัทธาในศาสนาพุทธก็มีการออกกฎหมายทำลายพระพุทธศาสนา ประเทศเกาหลีใต้ก็เช่นกัน เมื่อมีประธานาธิบดีนับถือศาสนาอื่น ก็ละเลยไม่ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จนทำให้ประชากรจากเดิมที่เคยนับถือพุทธอยู่ถึง 80 % ลดลงเหลือ 40 % ในปัจจุบัน เหตุการณ์การณ์แบบนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งที่พระพุทธศาสนาเริ่มเสื่อมไปจากอินเดียเช่นกัน

ถาม ประเทศไทยในเวลานี้เหมาะสมหรือไม่สำหรับการ บัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ

ตอบ หากดูแง่มุมต่างๆ ในรัฐธรรมนูญ เรามีข้อบังคับให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะ เรามีข้อความที่ระบุให้มีการคุ้มครองพระพุทธศาสนาในมาตรา 78 บางท่านอาจจะคิดว่าไม่เพียงพอ และ ต้องการเทิดทูนพระพุทธศาสนามากกว่าที่เป็นอยู่ การบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติก็สามารถทำได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาของคนส่วนใหญ่ ในขณะที่บางคนอาจจะมองว่า บัญญัติต่างๆที่มี่อยู่เดิมนั้นเพียงพออยู่แล้วที่จะทำนุบำรุงพระศาสนา ไม่จำเป็นต้องไปเขียนข้อความเพิ่มเติมให้ซ้ำซ้อนและไม่จำเป็น

อันนี้ก็แล้วแต่คนจะมอง เพราะ มุมมองและความรู้สึกของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่ต้องมาดูข้อเท็จจริงกันว่า บัญญัติแล้วแย่จริงแบบที่เขาว่าหรือเปล่า หรือ ไม่บัญญัติแล้วจะแย่เหมือนที่เขาว่าหรือเปล่า ต้องพิจารณากันเอง

 

เอกสารอ้างอิงฉบับที่ ๒
ปิดฉาก รัฐสภาวนาราม หนึ่งในการต่อสู้ของสงฆ์ทางการเมือง

โดย MGR Online

30 กันยายน 2550 23:58 น.

ที่มา:
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9500000109717

 

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2549 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

ดังนั้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2550 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 100 คน เพื่อมาทำหน้าที่ดังกล่าว

  • คณะสงฆ์และองค์กรชาวพุทธเริ่มต้นเรียกร้อง กำหนด ‘พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ’

ในช่วงเวลานี้เองที่คณะสงฆ์และองค์กรชาวพุทธต่างเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสดีที่จะให้มีการบัญญัติคำว่า ‘พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ’ ลงในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของไทยนั้น ยังไม่เคยมีการบรรจุเนื้อหาหรือถ้อยคำดังกล่าวแต่อย่าง ใด ด้วยเหตุผลที่ว่าประชาชนชาวไทยกว่าร้อยละ 90 นับถือพระพุทธศาสนา และขณะนี้พระพุทธศาสนากำลังถูกคุกคาม จากภัยภายในและภัยภายนอก การกำหนดให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ จะเป็นวิธีคุ้มครองปกป้องพระพุทธศาสนาทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างได้ผลดียิ่ง

การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้บัญญัติคำว่า ‘พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ’ จึงได้เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง โดยวันที่ 8 เมษายน ศูนย์พิทักษ์พุทธศาสนาแห่งประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายองค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทย ได้จัดแถลงจุดยืนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 หากไม่มีการ บัญญัติไว้ว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

  • ตั้งวัดชั่วคราว ‘รัฐสภาวนาราม’ อดข้าว อดน้ำ ประท้วง

จากนั้นจึงได้มีการรวมตัวเรียกร้องในหลายรูปแบบ เช่น การจัดขบวนธรรมยาตราธรรมาธิปไตย จากพุทธมณฑล จ.นครปฐม เดินเท้าไปยังบริเวณหน้ารัฐสภา ขบวนดังกล่าว ประกอบด้วย พระภิกษุสงฆ์ นับร้อยรูป/คน โดยมีการนำช้าง 9 เชือกเข้าร่วมขบวนในครั้งนี้ด้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ ขณะเดียวกันก็ได้มีการกำหนดเขตหน้ารัฐสภา ซึ่งอยู่ติดกับสวนสัตว์เขาดินวนา พร้อมกับตั้งชื่อว่า ‘รัฐสภาวนาราม’ เพื่อให้เป็นเขตสงฆ์ในการปักหลักชุมนุม ซึ่งพระมหาบุญถึง ชุตินธโร หนึ่งในกรรมการเรียกร้องให้บัญญัติศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้บอกว่า ‘รัฐสภาวนาราม’ ก็เหมือนวัดชั่วคราว โดยนำคำว่า ‘รัฐสภา’ กับ ‘เขาดินวนา’ และ ‘อาราม’ มาสนธิกัน

แต่การต่อสู้เรียกร้องด้วยวิธีต่างๆก็ยังไม่ประสบผล จึงเป็นที่มาของการที่พระภิกษุจำนวน 15 รูป ประท้วงด้วยการ ‘อดอาหาร’ ซึ่งพระราชปัญญาเมธี แกนนำพระสงฆ์ในการชุมนุมกล่าวว่า การกระทำดังกล่าว เรียกว่า ‘พุทธอหิงสา’ เพื่อเป็นการเตือนตัวเองให้ยึดมั่นในธรรมและสติสัมปชัญญะและยังเป็นการแสดงออกเพื่อเตือน สสร. ให้มีการบรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ โดยมีฆราวาสส่วนหนึ่งร่วมอดอาหารในครั้งนี้ด้วย

การอดอาหารดำเนินไปถึง 14 วัน แต่ก็ไร้ผลเช่นเคย กระทั่งพระสงฆ์จำนวน 5 รูป ใน 15 รูป ที่ได้ประกาศอดอาหาร คือ พระธาดา อธิจิตโต พระประจักษ์ ทีปธัมโม พระสุวัฒน์ สุวัฒฑโน พระเนาว์ อธิสัทโธ และพระฉัตรชัย ปัชโชโต ตั้งจิตที่จะปฏิบัติอหิงสธรรมขั้นอุกฤษฏ์ ด้วยการเพิ่ม การอดน้ำและลงไปนอนปฏิบัติธรรมในโลงศพ โดยกล่าวว่า หากการณ์ครั้งนี้ไม่สำเร็จ ก็จะขอถวายชีวิตเป็นพุทธบูชา

  • สสร. ไม่บัญญัติตามเสียงเรียกร้อง

ในขณะที่ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าต้องการให้พระสงฆ์ใช้สติพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และชี้แจงว่า การที่ไม่ได้บรรจุ คำว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมีเหตุผล 2 ประการคือ 1.ข้อพิจารณาด้านรัฐศาสตร์ 2.ข้อพิจารณาด้านพระพุทธศาสนา โดยเหตุผลด้านรัฐศาสตร์คือ รัฐจะไม่ใช้ความเชื่อของใครเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบ แต่จะใช้กฎหมายบังคับให้คนในรัฐปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งประเทศไทยไม่ได้ใช้พระพุทธศาสนาเป็นกฎหมายรัฐ หรือกฎหมายของประเทศ ฉะนั้นการนำศาสนาไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญจึงเป็นวิธีการที่ไม่สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

แม้การปฏิบัติอหิงสธรรมดังกล่าวของพระสงฆ์ จะถึงขั้นเป็นลมหมดสติ และต้องหามส่งโรงพยาบาล แต่ก็ไม่มีท่าทีตอบสนองใดๆจากฝ่ายการเมือง ดังนั้น เมื่อถึงวันที่ 29 มิ.ย. สภาร่างรัฐธรรมนูญได้มีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา 2 และมาตรา 78 เกี่ยวกับการบัญญัติพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติ กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งพระสงฆ์ สามเณร และฆารวาส ได้ประกาศเลิกการปฏิบัติธรรมขั้นอุกฤษฏ์ด้วยการอดอาหารและน้ำ ซึ่งพระมหาบุญถึง ให้เหตุผลว่า เนื่องจากได้อธิษฐานไว้ว่าจะปฏิบัติเช่นนี้จนถึงวันที่ 28 มิ.ย. เท่านั้น ไม่ว่า สสร. จะบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติหรือไม่ก็ตาม

ในที่สุด สสร. ก็เห็นตามร่างของกรรมาธิการยกร่างฯ คือ ไม่บัญญัติเรื่องพุทธศาสนา ด้วยคะแนนเสียง 66 ต่อ 19 งดออกเสียง 4 และไม่ลงคะแนน 1 เสียง

 

  • คณะสงฆ์ร่วมคว่ำบาตรหน้ารัฐสภา ก่อนยุติชั่วคราว เกรงการเมืองเข้าแทรก

ทันทีที่ สสร. มีมติไม่บัญญัติให้พุทธศาสนาเป็นศาสนา ประจำชาติ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กลุ่มพระสงฆ์ และฆราวาสที่ปักหลักที่รัฐสภาวนาราม จึงนำบาตรจำลองขนาดใหญ่ที่มีป้ายข้อความว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการขอบิณฑบาตถ้อยคำดังกล่าวจาก สสร. มาพลิกคว่ำ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าทางกลุ่มจะคว่ำบาตรรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และจะปักหลักชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเพื่อเรียกร้องเรื่องนี้ต่อไป นอกจากนี้จะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ ชาวพุทธทั่วประเทศให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับด้วย พร้อมกับยืนยันว่าการต่อสู้ในครั้งนี้มิใช่การแพ้หรือชนะของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ต่อมาคณะสงฆ์ที่ชุมนุมหน้ารัฐสภาก็ได้เดินขบวนธรรมยาตราไปยังกองบัญชาการทหารบก เพื่อหารือเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นการบรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และมอบดอกบัวให้กับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธานคณะมนตรี ความมั่นคงแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มพระสงฆ์รัฐสภาวนารามและองค์กร ชาวพุทธก็ได้มีการหารือประเมินสถานการณ์ และลงความเห็นกันว่าน่าจะยุติการชุมนุมชั่วคราว เพราะเกรงว่าจะถูกนำไปเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมือง เนื่องจากมีกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่งได้มาร่วมใช้สถานที่หน้ารัฐสภาเพื่อต่อต้านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการรัฐประหาร

  • พระราชดำรัส ‘พระราชินี’ ไม่ควรนำพุทธศาสนา ไปไว้กับรัฐธรรมนูญ

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2550 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯลง ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชทานพระราชวโรกาสให้คณะบุคคล ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ นิสิต นักศึกษา พ่อค้า ประชาชน และผู้แทนมูลนิธิ สมาคม สโมสร องค์การต่างๆ รวม 474 คณะ จำนวน 15,455 คน เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2550

ในโอกาสนี้ได้ทรงมีพระราชดำรัสเล่าถึงการเสด็จเยือนประเทศรัสเซียอย่างเป็นทางการ และเสด็จเยือนประเทศอื่นๆ อาทิ ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ และเยอรมนี เป็นการส่วนพระองค์

พระราชดำรัสตอนหนึ่งได้ทรงกล่าวถึงเรื่องการบรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ความว่า

“…ข้าพเจ้าขอไปที่มิวนิกอีกแห่งหนึ่ง… ข้าพเจ้าก็ได้พบปะคนไทย และนักเรียนไทยในเยอรมันนับพันคน ซึ่งหลายคนอุตส่าห์ใช้เวลาเดินทางมาพบหลายชั่วโมง และมีความยินดีที่ได้พบกันอย่างแท้จริง คำแรกที่เขาถามว่า ในหลวงสบายดีหรือเปล่า ก็บอกว่าสบายดี แข็งแรงขึ้นทุกวันแล้ว หลังจากผ่าตัด ส่วนมากจะห่วงใยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และก็ห่วงใยบ้านเมือง

แล้วก็ข้าพเจ้าได้พบปะกับนักเรียนไทยประมาณ 4,000 คนได้ เขาขอพบ ได้ถามข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็ไม่คิดว่าจะได้ถูกถามเรื่องพระพุทธศาสนา กับรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้าพเจ้าไม่คิดเลยว่า ที่จะโดนถามอย่างนั้น ข้าพเจ้าก็อธิบาย ไม่ได้มีกระดาษอะไรเลย ก็ต้องอธิบายว่า ข้าพเจ้าคิดเองว่า พระพุทธศาสนานี้เป็นสิ่งที่ประเสริฐสุดสูงส่งแล้ว และได้รับการสนับสนุนมาโดยตลอดตั้งแต่สมัยสุโขทัยจากคนไทยทั้งชาติ พระบวรพุทธศาสนาเป็นของที่สะอาดสูงสุด ทุกคนก็คิดว่าไม่อยากให้เข้าไปพัวพันกับคำว่าการเมือง ข้าพเจ้าพูดเช่นนั้นต่อหน้านักเรียนไทย 4,000 คน ควรเทิดทูนเอาไว้เหนือเกล้า ว่าเป็นแสงสว่างในหัวใจของคนไทยทั้งหลาย การเมืองบางครั้งก็มีความผิดพลาด บางครั้งก็มัวหมองได้หลายเรื่อง เพราะฉะนั้นไม่ควรเอาพระบวรพุทธศาสนาไปไว้กับกฎหมายสูงสุดแห่งประเทศไทย คือรัฐธรรมนูญ ควรจะทิ้งพระบวรพุทธศาสนาไว้เช่นนี้ ที่ถูกเทิดทูนโดยประชาชนทั้งชาติ พอข้าพเจ้าพูดจบเล่าเหตุผลจบ นักเรียนไทยก็ปรบมือดังสนั่นลั่นไปทั่วงาน ในเมืองไทย ข้าพเจ้าได้ทราบว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่คนนับถือมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ คงจะไม่ให้ใครมาแตะได้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าการเมืองบางครั้งก็มีอะไรหลายอย่างไม่ค่อยตรงไปตรงมานัก เพราะฉะนั้นดีแล้วที่พระบวรศาสนาแยกไปเสียให้พ้นจากการเมืองจะดีกว่า ไม่ทราบว่าทุกท่านในที่นี้เห็นด้วยอย่างเดียวกับข้าพเจ้าหรือเปล่าอันนี้ข้าพเจ้าถามนักเรียนไทย

ผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์บอกว่า พระบวรพุทธศาสนาเป็นศาสนาของชาวไทยมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกๆของสุโขทัย เวลาจะขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็จะต้องกล่าวคำปฏิญาณว่าจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไว้ด้วยชีวิต ซึ่งเดี๋ยวนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์นี้ก็เช่นกัน ก็ยังถือธรรมเนียมเหมือนอย่างคนไทยทั้งหลาย ถือว่าพระบวรพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ล้ำค่าของชีวิตคนไทยที่จะพึ่งพาเวลามีปัญหาเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต พระบวรพระพุทธศาสนาเป็นแสงสว่าง เพราะฉะนั้นไม่มีวันให้สลายหรือล่มลงไปเป็นอันขาด และดินแดนของชาวพุทธนี้ ชาวพุทธได้ทำชื่อเสียงมากมาย เช่น ตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าพเจ้าได้ข่าวว่าเชลยศึกสมัยที่ตอนนั้นทางญี่ปุ่นได้ยึดครองประเทศไทย เชลยศึกต่างชาติได้รับการช่วยชีวิตได้รับการป้อนน้ำเสี่ยงกับชีวิตตนเอง และป้อนอาหารซ่อนตัวเขาด้วย ที่พูดอย่างนี้ ไม่อยากจะทำให้ใครต้องเสียใจ แต่พูดให้ทราบความจริงว่าบรรพบุรุษของไทยเรา แม้แต่ในที่ผ่านมาไม่เท่าไหร่ไม่กี่ปี ก็ยังปฏิบัติตนทำให้ต่างประเทศชื่นชมและนับถือประเทศไทย และน้ำใจของคนไทย ที่มีความเมตตากรุณา และมีความกล้าหาญ ที่จะเเสดงความเมตตากรุณาด้วย อันนี้ขอให้ท่านคิดดูดีๆ

และชาวต่างประเทศมาพูดกับข้าพเจ้า ที่เขาชอบ กรุงเทพมหานครเหลือเกิน เพราะว่าเมืองหลวงของประเทศไทยน่ามหัศจรรย์ โบสถ์พุทธ์ โบสถ์พราหมณ์ โบสถ์คริสต์ สุเหร่าอิสลาม ทุกศาสนาอยู่ใกล้เคียงกัน ไม่เคยมีใครคิดไปวางระเบิดหรือไปรบกวนศาสนาอื่นเลย ให้อิสระ สิทธิเสรีภาพ ในการจะนับถือศาสนา ใดก็ได้ ซ้ำสนับสนุน นี่แหละฝรั่งเขาบอก คือการปฏิบัติต่อกันของคนที่มีความเจริญอย่างแท้จริง เจริญสุดทางด้านจิตใจ อันนี้น่าชื่นใจมาก ถึงเวลาสวด ของใคร ใครก็ไป ถึงเวลาใครทำพิธีของใครก็ไป โดยไม่ไปรังแกซึ่งกันและกัน อันนี้ต่างประเทศเขาบอก ยอดสุดๆคนไทย ข้าพเจ้าก็คิด พูดเฉพาะกับท่านว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือจะเป็นกรณีพิเศษ นักเรียนไทยที่เยอรมันก็ฮากันตูมลั่น เพราะว่าเขาก็จะไป เขาก็จะฆ่าพระ รังแกพระไม่ให้ออกบิณฑบาต ไม่เหมือนกับคนไทยทั้งชาติ ที่เคยทำมา พวกเราต้องมีอารมณ์เย็น เราไม่เคยไปเบียดเบียนรังแกอะไรใครที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อของแต่ละบุคคล เราถือว่าทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเต็มที่ในการจะเชื่อในศาสนาใดก็ได้ทั้งนั้น แต่ว่าถ้ามากเกินไปก็ต้องคอยเตือน แต่ก็น่าเศร้าใจ…”

  • ผู้นำชาวพุทธฯ สนองพระราชดำรัส ประกาศยุติการเคลื่อนไหว

หลังจากสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงมีกระแสพระราชดำรัสในเรื่องนี้แล้ว ผู้นำชาวพุทธทั้งพระสงฆ์และฆราวาส ที่เคลื่อนไหวเรียกร้องในช่วงที่ผ่านมานั้น ต่างออกมาน้อมรับไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล ประธานองค์กรชาวพุทธแห่งประเทศไทย ผู้นำฝ่ายฆราวาสในการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ได้เปิดเผยว่า องค์กรชาวพุทธฯ ซึ่งมีเครือข่าย 800-900 องค์กร ซึ่งทำงานเทิดทูน 3 สถาบันสูงสุดของประเทศ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเช่นนั้น องค์กรชาวพุทธฯ ก็จะยึดเป็นแนวทางปฎิบัติ และยุติการเคลื่อนไหวให้มีการบัญญัติพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยจะรอดูการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 สิงหาคม 2550 จากนั้นจะทำตามสิทธิคือการเข้าชื่อประชาชน 5 หมื่นชื่อเพื่อขอให้เพิ่มเติมแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

ส่วนพระเทพวิสุทธิกวี เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทางศูนย์พิทักษ์ฯ คงต้องหยุดบทบาทให้มีการบัญญัติพระพุทธศาสนาฯ เช่นกัน เพราะไม่ต้องการทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แต่สิ่งที่พระสงฆ์ต้องทำต่อไป คือหาวิธีการที่จะทำให้พุทธศาสนามีความมั่นคงและอยู่รอดได้ เนื่องจากขณะนี้กำลังทรุดโทรมอย่างหนัก

ขณะที่ พระมหาบุญถึง ชุตินฺธโร ประธานรัฐสภาวนาราม ก็ได้ออกมาแถลงยุติการชุมนุม เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม เช่นกัน

  • คนทั่วประเทศลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550

สำหรับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่ผ่านมานั้น ผลปรากฏว่า มีผู้มาใช้สิทธิลงประชามติ 25,978,954 คน คิดเป็นร้อยละ 57.61 จากจำนวนผู้มีสิทธิลงประชามติ 45,600,000 คน โดยมีผู้เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญร้อยละ 57.81 หรือคิดเป็น 14,727,407 คน และไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 42.19 หรือ 10,747,310 คน

(จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 82 ก.ย. 50 โดย กองบรรณาธิการ)

 

 

Comments

comments