151. เหว่ยจี เหว่ยเสี่ยน จีฮุ่ย

คอลัมน์  How to Win

เหว่ยจี เหว่ยเสี่ยน จีฮุ่ย
วิกฤต อันตราย โอกาส

ศาสตราจารย์  ดร. อุทิส  ศิริวรรณ

3 มิถุนายน 2557

———–

“เราต้องช่วยคนนับล้านให้พ้นจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ”

               พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ

 

               ระหว่างอยู่บนความสูงของอากาศเหนือแผ่นดินสามหมื่นฟุต เครื่องบินโคลงเคลงหนักเพราะตกหลุมอากาศตั้งแต่เครื่องบินออกจากสนามบินกรุง อาบูดาบีตะวันออกกลาง

จนหน้าจอภาพปรากฏเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เครื่องบินจึงค่อยๆ สงบ

ชีวิตอยู่ระหว่างเส้นด้ายแห่งความเป็นและความตาย ถ้าเครื่องบินตกก็ตายได้ทันทีตายได้ทุกเมื่อ!

ทุกครั้งที่เดินทางบนท้องฟ้า ผมมักนึกถึงคำ 3 คำ คำแรกอ่านว่า “เหว่ยจี” แปลตรงตัวว่า “วิกฤต”

คำที่ 2 “เหว่ยเสี่ยน” แปลว่า “อันตราย” คำสุดท้าย “จีฮุ่ย” แปลว่า “โอกาส”

เช่นเดียวกับปรัชญาการทำงาน ผมคิดถึงคำที่ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงเคยคิดคล้ายกัน

ชีวิตเกิดมาทำไม?

ชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร?

ชีวิตที่เหลือต้องการทำอะไรก่อนตาย?

จาก 3 คำคม และคำถามข้างต้น ผมคิดทบทวนและสรุปเป็นกลยุทธ์ได้ 3 ประการ

กลยุทธ์แรก จงเรียนรู้จากความล้มเหลว กับคำถาม “ชีวิตเกิดมาทำไม?” โซอิจิโร ฮอนด้า เป็นกรณีศึกษาน่าสนใจจะเขียนเพิ่มเติมภายหลัง ท่านผู้นี้มีชื่อเสียงในการแปลงวิกฤตให้กลายเป็นโอกาส ในชีวิตเขาพานพบความล้มเหลวมากมายถึง 95% ทว่าเพียง 5% ของความสำเร็จกับรถยนต์ฮอนด้าก็สร้างชื่อเสียงให้เขาโด่งดังเป็นตำนานเล่า ขานไปทั้งโลก

95% ที่นายฮอนด้าทำแล้วล้มเหลว ไม่มีใครตามไปดู ไปดู ไปเห็น ไปสัมผัส ไปลอง ถ้าถามมุมมองนักวิทยาศาสตร์ และนักเทคโนโลยีสมัยใหม่เรียก “ความล้มเหลว” ด้วยศัพท์บัญญัติทันสมัยว่า “การเรียนรู้”

กลยุทธ์ที่ 2 จงเชื่อและมั่นใจว่าอนาคตดีกว่าอดีตและปัจจุบัน กับ คำถาม “ชีวิตเกิดมาเพื่ออะไร?” ต้องมีเป้าหมายที่จะคิด-สื่อสาร-ทำชัดเจนในอนาคตว่าต้องทำให้ดีกว่าเดิมทั้ง “ตัวเลข” และ “ตัวอักษร”
จงรีบทำ “ตัวเลข” คือรายได้ให้มั่นคงและมั่งคั่ง ขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นคงและความสุขให้คนรอบตัวด้วยหลักการง่ายๆ  “กินอิ่ม นอนอุ่น” ด้วยบ้านที่ดินและทรัพย์สินที่เพิ่มพูน อย่ารอช้า รีบทำทันที!
กลยุทธ์ที่ 3 จงรีบสร้างผลงาน กับ คำถาม “ชีวิตที่เหลือต้องการทำอะไรก่อนตาย?” จงสร้างผลงานที่มีคุณค่า ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน จงคิดและสร้างผลงานที่เป็นอมตะแตกต่าง อยู่เขาก็รักจากคนก็คิดถึง
ถ้าเราดูกลยุทธ์ “เร็วกว่า” ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือกลยุทธ์ “ตีแตก” ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เราจะพบว่าบุรพกษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ตรากตรำทรงงานหนักแต่ผลงานเป็นอมตะตลอดกาล
พึงตระหนักและยอมรับความจริงว่า “ผลงาน” จะเกิดขึ้นได้ ก็เฉพาะ “ทำดี” เพื่อผู้อื่น คนที่บ้าอำนาจ เห็นแก่เงิน เห็นแก่ตัว เห็นแก่พวกพ้อง ไม่มีใครสร้างอนุสาวรีย์หรือรำลึกถึงผลงาน

               ทั้ง 3 กลยุทธ์นำไปแปะข้างฝาตัวโตๆ ไว้สอนตนเองได้เสมอว่าถ้าอยากประสบความสำเร็จ อย่ากลัวความล้มเหลว คิดเสมอว่าอนาคตย่อมดีกว่าปัจจุบันและรีบลงมือสร้างผลงาน ก็จะชนะยั่งยืนตลอดไปครับ

 

Comments

comments