145. วิถีแห่งโตโยต้า

คอลัมน์  How to Win

วิถีแห่งโตโยต้า

ศาสตราจารย์  ดร. อุทิส  ศิริวรรณ

21 เมษายน 2557

———–

“มีเหตุผลอยู่ว่า ‘คิดอย่างไรให้รวย’ ไม่ใช่ ‘ทำงานหนักให้รวย’ หรือ ‘หาเงินให้รวย’…”

               Kiyosaki, Rich Dad’s Cashflow Quadrant

 

               วงการวิจัยธุรกิจระหว่างประเทศ เมื่อศึกษาเจาะลึกหัวข้อ “คุณภาพ” ชื่อเสียงของกลุ่มโตโยต้า จะติดอันดับที่นักศึกษาทั่วโลกสนใจนำมาพูดถึงและวิเคราะห์เสมอ

เคล็ดลับการค้าในยามวิกฤตคือการค้นหาสินค้าและบริการที่ทำแล้วเกิดความมั่งคั่งร่ำรวยและประสบความสำเร็จ

ว่ากันว่ากิจการ SMEs เล็กๆ ที่ต้องการเติบใหญ่ขยายกิจการใหญ่โต จำเป็นต้อง

“คิดอย่างยิว” “ขยันอย่างจีน” “มีระเบียบวินัยอย่างญี่ปุ่น” และ “รวดเร็วอย่างเกาหลีใต้”

ผู้บริหารระดับสูงของรถโตโยต้า 30 คนจากทั่วโลก เคยประชุมระดมมันสมองวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้โตโยต้าทั่วโลกประสบความสำเร็จ จนผงาดมาติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก และเป็น 1 ใน 500 ตราสินค้าระดับโลก

การประชุมจัดกันที่วาร์ลตันบิซซิเนสสคูล มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ได้ข้อสรุป 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

ผู้บริหารโตโยต้าจากทั่วโลกมองว่าคนทำงานจะต้องมีและปลูกฝังความคิดที่ว่า อย่ายินดีและพอใจกับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันและต้องแสวงหางานที่ดีกว่าเดิม ตลอดเวลา

ด้วยการทุ่มเทพยายามและใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้เต็มที่

ประเด็นที่ 2 คือการนับถือพลังอำนาจของคนในองค์กร

ซึ่งเกิดจากความเชื่อที่ว่าความสำเร็จในองค์กรเกิดจากคนทำงานแต่ละคนที่ทำ งานด้วยพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ และคนแต่ละคนที่มารวมตัวกันทำงานเป็นทีม จะยิ่งทำให้องค์การมั่นคงและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นข้างต้น ขับเคลื่อนด้วยพลังอำนาจ 5 ประการ

ประการแรก ความท้าทาย พนักงานโตโยต้าทุกคนต้องช่วยกันคิด ช่วยกันค้น ช่วยกันมองหาวิธีการที่แตกต่างจากเดิม โดยเพียงแค่ตั้งคำถามสั้นๆ ง่ายๆ ว่า

“เวทีต่อสู้ที่แข่งขันกันรุงแรงในขณะนี้ เราจะยังคงใช้วิธีเดิมอยู่หรือไม่? มีวิธีการใหม่ๆ ที่แตกต่างและดีกว่าหรือไม่?”

ประการที่ 2 ไคเซ็น ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ปรับปรุงต่อเนื่องตลอดไป”  การทำไคเซ็นคือการสนับสนุนให้เกิด “การใช้ความคิด” ไม่ใช่ให้ “ตรากตรำทำงานหนัก”  ซึ่งใช้หลัก 5 ส นั่นคือ สะสาง สะอาด สะดวก สุขลักษณะ สร้างนิสัย

หลัก 5 Why คือการฝึกตั้งคำถาม 5 ครั้ง จนกว่าจะเข้าใจและทำงานได้ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อให้ทราบชัดว่าปัญหา ที่แท้จริงคืออะไร

หลักจินตภาพ คิดเห็นเป็นภาพชัดเจนเพื่อเตือนสติและควบคุมการทำงานในแต่ละวันให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด

ประการที่ 3 เก็นจิ เก็นบุตสึ ไปดู ไปรู้ ไปเห็น ความจริง ข้อเท็จจริง ของจริง เพื่อแก้ปัญหาจริงๆ ได้ตรงจุด

ยกตัวอย่างเช่นผู้บริหารโตโยต้าต้องเดินทางลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียนดีลเลอร์ ในต่างจังหวัดทุกเดือนเพื่อเห็นปัญหาที่แท้จริง จะได้มีเวลาพูดคุยกับต้นตอของปัญหา เหมือนหมอวินิจฉัยโรคที่ไปตรวจและประเมินผู้ป่วยด้วยตนเอง ย่อมทำงานได้ผลดีกว่าหมอที่ตรวจจากผลในห้องแล็บ

ประการที่ 4 เคารพความคิดเห็นของผู้อื่น เน้นประชุม ทำงานเป็นทีม เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการทำงาน ทุกๆ เช้าจะมีการพูดคุยกันประมาณ 10 นาที ประกวดความคิดใหม่ๆ มีการเสนอความคิดเข้าสู่ธนาคารความคิดเดือนละพันความคิด มีการประกวดความคิดที่ดีเด่นและโดดเด่น และนำความคิดที่เป็นเลิศมาปรับใช้เพื่อให้ทำงานได้ผลดีที่สุด

ล่าสุดโตโยต้ามีความคิดดีๆ อยู่ในระบบกว่า 20 ล้านความคิดแล้ว

ประการสุดท้าย เน้นการทำงานเป็นทีม ที่เรียกกันว่า “ทีมเวิร์ก”  สิ่งสำคัญที่โตโยต้าเน้นมากๆ คือ “คุณภาพองค์รวมโดยคนที่มีคุณภาพ (Total Quality by Quality People)”

โตโยต้าไม่ได้สร้างวีรบุรุษหรือฮีโร่ แต่เน้นสร้างผลงานที่ทำกันจนสำเร็จเป็นทีม

วันนี้องค์การต่างๆ ทั่วโลก ต่างหันมาสนใจและศึกษาวิถีแห่งโตโยต้าเพื่อสร้างทีมที่มีพันธุกรรมและแบบ อย่างความสำเร็จเช่นนี้  วิถีของโตโยต้า ได้รับการพิสูจน์รับรอง และยืนยันผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

วันนี้หมดยุค  “ทำงานหนัก” ไม่ใช่เวลาที่จะเอาแต่ “หาเงินให้รวย” แบบฮีโร่หรือวีรบุรุษเพียงแค่คนเดียว!

 

Comments

comments