131. มีดีต้องอวด แต่อย่าอวดดี

คอลัมน์  How to Win

มีดีต้องอวด แต่อย่าอวดดี

ศาสตราจารย์  ดร. อุทิส  ศิริวรรณ

7 มกราคม 2557

———–

“เงินอาจซื้อความสะดวกสบายให้แก่ชีวิตได้ แต่เงินซื้อความสุขไม่ได้  เหมือนคนเราซื้อหนังสืออ่านได้ แต่ซื้อความรู้ไม่ได้  เพราะความสุขเป็นเรื่องของจิตใจ ไม่ใช่เรื่องของการมีหรือไม่มีวัตถุ”

พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ) วัดอัมพวัน สิงห์บุรี

               ปีใหม่ พุทธศักราช 2557 ขออวยพรให้ทุกท่านที่อ่านบทความนี้ติดต่อกันมาย่างเข้าปีที่ 5
จงเปี่ยมล้นด้วย “พลธรรม 5” พลังอำนาจแห่ง “ศรัทธา” มีความเชื่อในสิ่งที่ชอบและใช่
ดำเนินชีวิตปกติสุข ด้วยความสงบ สันติ เรียบง่ายด้วยพลังอำนาจแห่ง “ศีล”
ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความสุขุม ระมัดระวัง ละเอียด รอบคอบ ไม่นำตนเข้าสู่สภาวะเจ๊งเจ็บจนด้วย “สติ”
มีความตั้งใจแน่วแน่ ทุ่มเทเอาใจใส่ พร้อมที่จะเผชิญและแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วย “สมาธิ”
สำคัญที่สุดคือการใช้ความรู้ภาคทฤษฎี-ปฏิบัติ-จิตวิญญาณ-ประสบการณ์นำพาตน และองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ในอนาคตด้วย “ปัญญา” รู้เท่าเอาไว้ทัน รู้กันเอาไว้แก้

ในสภาวะที่ชะตาบ้านเมืองอาจต้องเผชิญความขัดแย้งที่ส่อเค้ารุนแรง และอาจนำพาเศรษฐกิจขอประเทศดิ่งเหว กู่ไม่กลับทั้งแวดวงตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดการท่องเที่ยว การค้าระดับต่างๆ
กลยุทธ์หนึ่งที่นิยมทำและใช้กันจนได้ผลในระดับนานาชาติ นั่นคือกลยุทธ์ “อวดดี”
สมัยนี้ คนที่ประสบความสำเร็จรวดเร็ว คือคนที่ “คิดเก่ง” “มีหัว” กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ กล้าแสดงออก เข้าใจ “รสนิยม” ของลูกค้าแบบโป๊ะเช้ะ ! ก็จะเข้า “เส้นชัย” ได้ไม่ยาก

ยกตัวอย่างเช่น ในแวดวงฟุตบอลระดับโลก  “หลุยส์ ซัวเรซ” ศูนย์หน้าทีมลิเวอร์พูลก็ใช้กลยุทธ์ “มีดีต้องอวด”  ตอนนี้ขึ้นนำตำแหน่งดาวซัลโวในพรีเมียร์ลีก ทีมดังต่างๆ ทั่วยุโรปต่างเพิ่มค่าตัวให้อุตลุด

จาก 50 ล้านปอนด์ เพียงแค่ไม่กี่เดือน กลายเป็น 70 ล้านปอนด์!!!

ผมว่าสมัยนี้ หมดยุคที่ว่า “อันที่จริงคนเขาอยากให้เราดี แต่ถ้าเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้ จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครอยากเห็นเราเด่นเกิน”

อีก 2-3 คนในสังคมไทยที่มีดีต้องอวด และรวยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ “สรยุทธ์ สุทัศนจินดา” กับ “ตัน อิชิตัน”  ทั้งคู่นี้รวยเอาๆ เพราะมีดีต้องอวด

รวมถึง “วิกรม กรมดิษฐ์”  แค่รวมประสบการณ์เดินทางเอามาเขียนหนังสือขายผ่าน 7-11 ก็ขายดิบขายดีได้เงินได้ทองหักปากกาเซียนที่บอกว่า “นักเขียนไส้แห้ง” เพราะวิกรมเขียนแล้ว “รวย”

แตกต่างจาก “อวดดี” เย่อหยิ่ง จองหอง ไม่รู้แต่อวดรู้ อวดฉลาด อวดเก่ง คนแบบนี้  “ผลงาน” จะประจานขายหน้า ทำให้ตกต่ำลงเรื่อยๆ เพราะไม่ใช่คนที่ “ดีจริง” “เก่งจริง” “รู้จริง”
สังคมไทย คนที่ “อวดดี” มีจำนวนมากเสียด้วย

ผมชอบเรื่องราว “ดร. ผู้เชี่ยวชาญทฤษฎีกับนักธุรกิจที่มีหัวเซ็งลี้”  เป็นเรื่องคนใกล้ตัวขอไม่เอ่ยชื่อ

คนที่เป็นดร. เป็นอาจารย์จบจากมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของไทยและเมืองนอกวิเคราะห์เรื่อง นั้นไปโยงเรื่องนี้เก่งไปหมด แต่พอให้ไปจัดสรรที่ดินขายแถวชะอำ เจ๊งไม่เป็นท่า ต้องหนีหนี้สินกลายเป็นเอ็นพีแอลจนกระทั่งถึงบัดนี้

ครอบครัวแตกแยก เสียเงิน เสียเวลา เสียโอกาส เสียลูก เสียเมีย เพราะ “อวดดี”

ส่วนนักธุรกิจคนที่ไปแบกรับหนี้ต่อ มีหัวเซ็งลี้ นิสัยดี อะไรไม่เข้าใจไม่รู้เรื่องก็ถาม จนตกผลึกว่า แท้ที่จริงคนมีรสนิยมชอบ “คอนโด” มากกว่า “บ้านเดี่ยว” พอตีโจทย์แตก คิดแล้วคลิกก็รีบทำแบบควิกๆ

สุดท้ายก็ขายเกลี้ยง เหลือเงินกำไรหลายร้อยล้านบาท คนรอบข้างอิ่มหมีพีมันกันถ้วนทั่ว

เป็นอุทาหรณ์ว่า เกิดเป็นคนต้องฝึกหัดตัวเองให้เป็นคนที่ “นิสัยดี” มีดีต้องอวด แต่อย่าอวดดี จึงจะค้นพบ “ชัยชนะ” ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง  

 

Comments

comments