101. ทฤษฎีเฮง

สารคดี

งานบริการวิชาการสังคม

ศาสตราจารย์ ดร. อุทิส ศิริวรรณ

ทฤษฎีเฮง  “จิตเหนือสำนึก-จิตใต้สำนึก-จิตสำนึก”

คิด-คลิก-ควิก

ค้นพบระหว่าง “จาริกแสวงบุญ”  

ณ เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี

เมื่อ ๑ มีนาคม ๒๕๕๖

 

เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๖ ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เส้นทาง บูรพาวิถี ถนนลอยฟ้า บางนา-บางปะกง

ออกเดินทาง ๑๐.๐๐ น. โดยประมาณ ลงทางด่วนที่ “นิคมฯอมตะ” ออกทางสายเลี่ยงเมืองชลบุรี

ถึงแยก “บ้านบึง-แกลง-จันทบุรี” แวะทานกลางวัน “ก๋วยเตี๋ยวหมูโอเค” เจ้าเก่าตรงสี่แยกธนาคารออมสิน

จากถนนเข้าเมืองตรงไปเรื่อยๆ เจอธนาคารกรุงไทย ให้ขับรถช้าๆ เลี้ยวซ้ายตรงหัวมุมร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ด

ตรงไปสัก ๓๐ เมตร จะเจอสี่แยกที่ ๒ ร้านซ้ายมือ (เวิ้งนี้ มี ๓ ร้าน เป็นเครือญาติ ก๋วยเตี๋ยว โอเค ทั้งหมด)

ร้านที่แวะชิมคือ “ร้านซ้ายมือ”  แต่ไม่ว่าจะเข้าร้านไหนก็ “อร่อย” ทุกร้าน

ที่สั่งมาทานกลางวันคือ “เส้นใหญ่” หมูรวม (ทั้งหมูต้มและหมูหมัก” เกี๋ยวหมู ฮื่อก๊วย (ฮือก้วย) หรือปลาเส้นทอด เอกลักษณ์ก๋วยเตี๋ยวบ้านบึงคือ “ปลาหมึกแห้ง” และ “สาหร่ายทะเลสีดำ” ใส่ปนในน้ำซุป ทำให้รสชาติ “แตกต่าง” จากก๋วยเตี๋ยวที่อื่นๆ

ประมาณ ๑๑.๓๐ น. ออกจากบ้านบึง ขับรถไปเรื่อยๆ ไม่เร่งรีบ เพราะทำความเร็วไม่ได้ บนเส้นทาง บ้านบึง-แกลง อีกประมาณ ๑๐๐ กิโลเมตร ประมาณ ๑๓.๐๐ น. ถึงแกลง ถนนเส้นนี้ชำรุดทั้งเส้นทาง ถ้าใครจะไปจันทบุรี-ตราดยามนี้ แนะนำว่าใช้รถปิคอัพจะดีกว่า

จากแกลงถึงจันทบุรี ระยะทางจะสั้นลง เหลือเพียงแค่ ๖๐ กิโลเมตร ใช้เวลาไม่นานนัก ประมาณ ๑๓.๓๕ น. ก็ถึงตัวเมืองจันทบุรี พอผ่านเลย “ท่าใหม่” แวบเดียวก็ถึงสี่แยก “ซ้ายเขาคิชฌกูฏ” ๑๘ ก.ม. ขวาเข้าเมืองจันทบุรีอีก ๖ ก.ม. ตรงไปจังหวัดตราด เลี้ยวขวาเข้าเมือง เจอแยกไฟแดง “ศาลหลักเมือง” ซ้ายมือให้เลี้ยวซ้าย ขับมาตามทางอีก ๒๐๐ เมตร อย่าขับเร็วมาก ขวามือจากสี่แยกดังกล่าวจะเห็นร้าน “เจ้เพ็ญเย็นตาโฟ” มี ๒ ร้าน ร้านต้นตำรับอยู่ติด “วัดไผ่ล้อม” ในตัวเมือง ส่วนร้านนี้เป็นร้านที่ ๒ ใกล้กับสถานี บ.ข.ส. คิวรถทัวร์ “พรนิภาทัวร์” สังเกตง่าย ถ้าเลยไปถึง “ธนาคารออมสิน” แสดงว่า “เลย” แล้ว และถ้า “เลย” ไปขนาดนั้นก็ “ขึ้นเนิน” อีกนิดเดียว ซ้ายมือจะเป็น “ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และ “ศาลหลักเมือง” แวะ “สักการะ” สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เทวรูปประจำพระองค์ และหลักเมือง แล้วเสร็จจึงค่อยวกรถกลับมาทาน “เจ้เพ็ญเย็นตาโฟ” ก็ได้

ร้านนี้ “ดัง” ตรงที่มีแบบ “ถึงเครื่อง” ปูเยอะ กั้งแยะ ชามละ ๒๐๐ บาทเป็น “เย็นตาโฟ” ที่แพงที่สุดในโลก แต่ “อร่อย” ที่สุดในโลก ด้วย “น้ำซอส” ที่เป็นเอกลักษณ์ จะชิมแบบถูกๆ ก็ได้มีตั้งแต่ ๓๐ บาทเศษ ๕๐ บาท ๘๐ บาท ๑๐๐ บาท หลายราคาให้เลือก

การเดินทางครั้งนี้เลือกชิมแบบ “๒๐๐ บาท” รสชาติอร่อยสมกับราคา สีสันจัดจ้าน สะดุดตา คงเอกลักษณ์ความอร่อยแบบเจ้เพ็ญ

จากนั้นประมาณ ๑๕.๐๐ น. เศษ หลังแลกเงินไว้ทำบุญบนยอดเขาคิชฌกูฏที่ธนาคารออมสิน (ต้องเข้าคิวคนแยะ) ก็ออกเดินทางต่อ ผ่านร้านเจ้เพ็ญ ผ่านสี่แยกศาลหลักเมือง เลี้ยวขวา มุ่งตรงถนนสุขุมวิทอีกประมาณ ๔ กิโลเมตรเศษ ถึงถนนสุขุมวิทให้ตรงไปเลย เขาคิชฌกูฏอยู่อีกไม่ไกล ประมาณ ๑๖ กิโลเมตรเศษ

ถนนเส้นจันทบุรี-เขาคิชฌกูฏ เป็นถนน ๒ เลน เลี้ยวลด คดเคี้ยว วกไปเวียนมา ความเร็วรถวิ่งได้แค่ ๖๐-๘๐ ก.ม. ต่อชั่วโมง ไม่ใช่ถนน ๔ เลนเหมือนเส้นทาง บางนา-ชลบุรี-บ้านบึง-แกลง-ท่าใหม่-จันทบุรี แต่ก็สะดวก ไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องเร่งรีบ

สองข้างทางเชียวชอุ่ม สบายหูสบายตา ขับมาประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ก็จะเจอ “วัดกะทิง” เป็นวัดแรก วัดแห่งนี้ควรแวะเข้าไปสักการะร่าง “ท่านพ่อเขียน” ผู้บุกเบิก “เขาคิชฌกูฏ” จนเป็นที่รู้จักของผู้แสวงบุญทุกสารทิศทั่วไทย

จากตัวเมืองมาจนถึงทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ ใช้เวลาประมาณ ๓๐-๔๐ นาทีโดยประมาณ วิ่งตามทางมาเรื่อยๆ พอผ่านวัดกะทิงสัก ๑๐๐เมตร ก็จะเจอสามแยกขวามือ จะมีป้ายเล็กๆ เขียนว่าทางไป “วัดพลอง” “รอยพระบาทเขาคิชฌกูฏ”  วิ่งอีกประมาณ ๑ กิโลเมตรจะเจอ “สามแยก” อีกครั้ง “ป้าย” ชัดเจนเช่นเดิมยึด “รอยพระบาทเขาคิชฌกูฏ” เป็นหลัก ตรงนี้ให้เลี้ยวซ้ายวิ่งตามทางคดเคี้ยวเลี้ยวลดจนถึง “สามแยก” อีกครั้ง เขียนว่าขวามือไป “อำเภอมะขาม” ไม่ต้องเลี้ยวให้ตรงไปข้างหน้า จะพบ “ร้านรวง” ริมถนนสองข้างทางค่อยๆ ชะลอรถ หา “ที่จอด” ด้านซ้ายมือ ตรงไหนว่างก็เสียบเข้าช่องจอด ถ้าต้องการ “ดูแล” เป็นพิเศษ ก็มี “เต้นท์” และ “ซอง” ให้เข้าจอด อัตราดูแลทั้งวัน ๕๐ บาท

จอดรถเรียบร้อย ก็ออกเดินตามทางอีกเล็กน้อย ด้านขวามือ จะมี “ที่ขายตั๋ว” เห็นชัดเจน ไม่เห็นถามชาวบ้านร้านค้าแถวนั้นก็ได้ ใช้ “ปาก” ให้เป็นประโยชน์ ค่าขึ้นชม “คิวล่าง” ๕๐ บาท เพราะจะต้องไปต่อ “คิวบน” อีก ๕๐ บาท สิริรวม ๑๐๐ บาท

รถที่ขึ้นเป็น “ปิคอัพ” ถือเป็น “การตลาด” ที่น่าศึกษาเพราะส่วนใหญ่เป็นรถ “ป้ายแดง” รถใหม่ ใช้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ (งานจะมีประมาณ ๒ เดือนระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม หรือ กุมภาพันธ์ถึงเมษายน แต่ปีนี้คาบเกี่ยว ๓ เดือน กุมภา-มีนา-เมษา นับแบบ “จันทรคติ” ข้างขึ้นข้างแรม ปีนี้งานมีไปจนถึงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๖ ยังมีเวลาให้ “ทดสอบ” บารมีและพลังในตัวของท่าน

รถปิคอัพ เป็นรถ ๒ ตอนเป็นส่วนใหญ่ เต็มหรือไม่เต็มก็ออก ช่วงที่ไปเป็นเวลาเย็นวันศุกร์ที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๖ คนยังไม่หนาแน่น ไม่เหมือนวันมาฆบูชาที่ผ่านมาทราบว่าเฉพาะคืนวันศุกร์ และวันเสาร์ คนมากันวันละประมาณ ๖๐,๐๐๐ คนเลยทีเดียว

ก่อนขึ้นชม ก็แวะ “ช้อป” ร้านรวงแถวนี้มีหลากหลาย มีทั้ง “น้ำผึ้ง” “เสื้อผ้า” “ยาหม่อง” “ยาทา” “ยานวด” ไฟฉาย รองเท้า อาหารต่างๆ ส่วนใหญ่เน้น “ด่วน” ก็จะเป็นจำพวก กาแฟกระป๋อง ไมโล โอวัลติน มาม่าถ้วย โจ้กถ้วย อาหารตามสั่งก็แบบง่ายๆ ประมาณว่า ข้าวมันไก่ ข้าวราดแกง ต้มเลือดหมู ก๋วยเตี๋ยว แบบ “ง่าย” และ “เร็ว”

แนวคิด “สะดวก” “ง่าย” และ “เร็ว”  เป็นแนวคิดที่ผมได้แง่คิดจากการจาริกแสวงบุญครั้งนี้ ก็เลยต้องแนะนำตั้งแต่การแต่งกายว่าอย่าใส่ “เครื่องประดับ” เด็ดขาด เพราะจะทำให้ “หนัก” เมื่อตอนเดิน

ตัดตอนมาที่การเดินทาง “คิวล่าง” ระยะทางจาก “วัดพลวง” ขึ้นเขาคิชฌกูฏกำลังเริ่มต้น เทือกเขาสูงมหึมาแบบ “แหงนคอตั้งบ่า” รออยู่ข้างหน้า การผจญภัยที่ท้าทายกำลังจะเริ่มต้น!!!

รถปิคอัพเริ่มออกวิ่ง บางคันเปิดแอร์ บางคันก็ไม่เปิด เบาะหน้าคนขับนั่งได้แค่ ๓ ส่วนใหญ่คนเลือกนั่ง “ข้างหลัง” เป็นรถไม่มีหลังคา ต้อง “เกาะ” เหล็กข้างรถบ้าง เบียดคนข้างๆ บ้าง แต่คนขับทุกคน ได้รับ “การฝึก” และ “อบรม” เป็นอย่างดี ความปลอดภัยคือ ๑๐๐%  ความเสี่ยงความกลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุเป็น 0%

ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีการ “เตรียมการ”  แง่คิดที่ได้คือ “การเตรียมการ” “การเตรียมพร้อม” และ “การซักซ้อม” เท่าที่สอบถามดูกว่าจะฝ่าด่านมาขับรถบริการได้ ต้อง “ซ้อม ซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม” ดังนั้นไม่ต้องห่วงเรื่องขับรถหวาดเสียว สะวี้ด สะว้าด แบบ “หลุดโค้ง” “ตกเหว” “ตกหน้าผา” ไม่มี

ลักษณะถนนเหมือนเส้น “เชียงใหม่-แม่สะเรียง” เส้น “ตาก-แม่สอด” เส้น “หล่มสัก-พิษณุโลก” เส้น “พัทลุง-ตรัง” ใครเคยขับผ่านถนนแบบนั้น  ก็จะประมาณว่า “คล้ายกัน” และค่อนข้างคล้ายกับ “ดอยสุเทพ” แต่ที่เชียงใหม่ถนน “ลาดยาง” เรียบร้อย

ที่นี่ถ้า “ลาดยาง” ชาวบ้านก็หมดทางทำมาหากิน ปล่อยให้เป็นแบบนี้ กลับดีเสียกว่า นับเป็น “กุศโลบาย” ท่านพ่อเขียนที่คงรักษา “อนุรักษ์” ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอาไว้

ระยะทาง “คิวล่าง” นั่งรถประมาณ “๕-๗ นาที” ใครไม่เคยมา แรกๆ ก็จะ “ตื่นเต้น” “ฮือฮา” และ “หวาดเสียว” แต่ถ้าคนมาติดต่อกัน ๔ ปีแบบผม และนับเป็นสิบๆ เที่ยว จะรู้สึก “ชาชิน” และ “เฉยๆ” ไม่ตื่นเต้น ไม่หวาดเสียวอะไร

คนขับรถยิ่งกว่า นั่นน่ะ “นิ่ง” และ “สงบ” ที่นี่ไม่ชอบชวนคุย ปล่อยเขาขับของเขาไป เราก็นั่งของเราไป ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ

ถนนช่วง “คิวล่าง” จะชันในระดับ “ปกติ” ไม่เป็น ๑๘๐ องศา ประมาณ ๔๕ ถึง ๙๐ องศา

แน่นอน!!! ถนนเป็น “ลูกรัง” ดูแลอย่างดีตลอดวัน โดยทุกฝ่ายที่ประสานงานกัน สบายใจได้ ทุกอย่างที่นี่มีวิทยุ “วอ” ถึงกันหมด

ผ่าน “โค้งหวาดเสียว” ระยะแรกมาได้ ให้ “เบรก” หยุดคิด ตั้งสติ ตั้งหลักกันที่ “คิวบน”

ช่วงระหว่างรอ “คิวบน” ก็จะมี “หินฟ้าผ่า” และ “พระฤาษี” รวมถึง “บาตร” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ทำบุญ แล้วแต่จิตศรัทธา มีน้อยทำน้อย มีมากทำมาก ไม่มีก็นั่งดูคนอื่นทำ เรื่องบุญเรื่องกุศล ไม่มีใครบังคับใคร ไม่มีใครว่าใคร แล้วแต่จิต “ศรัทธา”

เสียเงินอีก ๕๐ บาทที่ “คิวบน” ซึ่ง “แยกกัน” ชัดเจน ไม่หลงอย่างแน่นอน แต่ก็อย่าประมาท เพราะบางคน “อีเบ๊อะอีบ๊ะ” งกๆ เงิ่นๆ ไม่น่าหลง ก็หลงได้เช่นกัน ต้อง “ถาม” ปากเป็นประโยชน์สำหรับคน “ไม่เคย”

คิวบน ระยะทางประมาณ ๗-๙ นาที ช่วงนี้ “สูงชัน” คนขับรถ “ทักษะ” สูง ก็เช่นเคย ความปลอดภัย ๑๐๐% ความเสี่ยงเป็น 0% นั่งหลังต้องเกาะราวเหล็กให้มั่น แต่รถจะค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นไป คนขับไม่ขับ “ยียวนกวนประสาท” หรือ “แซงซ้ายแซงขวา” ให้หวาดเสียว

“หินฟ้าผ่า” และ “พระฤาษี” เป็นสถานที่คนชอบ “ความเฮง” และ “ความร่ำรวย” แวะเข้าไปกราบไหว้ขอพรได้ ที่นี่บางครั้งก็มี “พระ” และ “เครื่องรางของขลัง” จากทั่วประเทศให้เช่าบูชา ในราคาที่ “แพง”

ของแปลกเช่น “เขี้ยวเสือ” ก็มีให้เช่าบูชา “งาช้าง” แกะสลักเป็นพระและเครื่องรางก็มี แต่ก็ “แพง” ตามสนนราคา ตามระยะทางที่ขึ้นเขามา

“คิวบน” ถนนจะสูงชันประมาณ ๑๘๐ องศาหรือเฉียดๆ แต่ไม่ต้องตกใจกลัว ครั้งแรกอาจจะรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึง พอมาสักสองสามครั้ง จะหาย “ตื่นเต้น”

ถึง “คิวบน” จะเป็น “ลานพระสิวลี” ที่นี่ก็มีพระสิวลีให้ขอโชคขอลาภ แวะขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไหว้ “พระธรณี” เอาฤกษ์เอาชัย การเดินทางด้วย “เท้าเปล่า” กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ณ จุดนี้

เห็นแล้วอย่าเพิ่ง “ท้อ” เพราะ “ท้อได้แต่ห้ามถอย” นอกจาก “ลุยต่อไป” ก่อนอื่นต้องรู้ “ระยะทาง” และ “เส้นทาง”

ระยะทางจะแบ่งให้พัก “ถี่” มาก จากจุดนี้จนถึง “รอยพระบาท” ยอดเขาคิชฌกูฏ ประมาณ ๑ กิโลเมตร ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ ๑ ชั่วโมงสำหรับ “ขาขึ้น” ส่วน “ขาลง” ประมาณ ๑๕-๒๐ นาที เท่านั้น เพราะ “ลง” ย่อม “เร็ว” กว่าขึ้น

เวลาจะขึ้นเขา ให้พยายาม “อ่อนน้อม” และ “อ่อนโยน” โดยเดินในลักษณะ “โค้งคำนับ” ไปข้างหน้า ยิ่ง “โค้งคำนับ” มาก ก็ยิ่ง “ผ่อนแรง” ได้มาก

แตกต่างจาก “ลงเขา” ต้องเดิน “เชิดหน้า” แบบว่า “อกผาย ไหล่ผึ่ง” อย่าเดิน “ห่อไหล่” เป็นอันขาด

ระยะทาง ๑ กิโลเมตร ก็ต้อง “สวดมนต์” การเดินภาวนา ด้วยการสวด “อิติปิโส” เฉพาะบท “สรรเสริญพระพุทธคุณ” จะทำให้คุณมี “สติ” และ “สมาธิ” ในการเดินทาง

อย่า “เร่ง” ท่องไว้เลยว่า เดินขึ้นเขาห้าม “เร่งเครื่อง” ต้องให้ร่างกาย “ปรับสภาพ” และ “ปรับอุณหภูมิ”

แง่คิดนี้ ใช้ได้กับ “การเริ่มต้น” ทำธุรกิจ หรือทำโครงการต่างๆ ในระยะเริ่มต้น อย่า “เร่ง” ต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ ทำจนเกิดความชำนาญ

การขึ้นเขาคิชฌกูฏ ช่วงแรกที่ “ยากที่สุด” คือช่วงเดินประมาณ ๒๐๐ เมตรแรก ต้องบอกเลยว่า “เหนื่อยโคตรๆ” หรือ “เหนื่อยสุดๆ” คนไม่ได้ออกกำลังวังชา จะทดสอบ “เบาหวาน ไขมัน ความดัน คอเลสเตอรอล” และโรคเก๊าท์ โรคข้อเข่าเสื่อม รวมถึง “ระบบหายใจ” ได้

เหงื่อจะค่อยๆ ไหลออกมา กว่าจะถึงยอดเขา ก็ “เปียกโชก” แต่ไม่ต้องท้อ ไม่ต้องเหนื่อย ไม่ต้องเร่ง ไม่ต้องรีบ ทำใจสบายๆ ชีลล์ๆ สวดอิติปิโส อุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรม นายเวร เจ้าป่า เจ้าเขา โรคภัยไข้เจ็บ ในร่างกาย จะค่อยๆ ถูกขับออก

ในช่วง ๑๐๐ เมตรแรกจะมี “พระนอนหิน” ที่ “สมมติ” ให้ไหว้ ก็แวะไปไหว้ ผมแนะนำว่า ค่อยๆ ขึ้นทีละ ๕๐ เมตร พักให้ถี่ๆ ในช่วง ๕๐๐ เมตรแรก จะทำให้ไม่เหนื่อย

ได้เห็น “ตัวอย่าง” เปรียบเทียบว่า บางคนอายุ ๘๐-๙๐ ปีเศษ ท่านสูงวัยปานนั้น เดินเหินไม่ค่อยคล่องแคล่ว ท่านยังสามารถ “พิชิต” ยอดเขาสูงชันได้ เราเองก็ต้อง “สู้” ต่อไป

เปรียบเสมือนการใช้ “ชีวิต” ในโลกธุรกิจ คนเราต้องเผชิญสภาวะ “เจ๊ง เจ็บ จน” ในวงการเมือง ก็ต้องเผชิญสภาวะ “ใส่ร้าย สาดโคลน ป้ายสี อิจฉา ริษยา” ก็เหมือน “แง่งหิน” ทิ่มตำเท้า ตลอดระยะทาง บางช่วงเดินผิดจังหวะ ข้อเท้าอาจ “กร็อบ” พลิกหรือแพลงได้ ต้องระมัดระวังให้ดี

การเดินขึ้นเขาคือการฝึก “สติ” อย่างหนึ่งทำให้เราอยู่กับตัว “เรา” มากที่สุด

ศัตรูที่น่ากลัวที่สุด ถ้าถามผม ไม่ใช่ใครอะไร คนอื่น คนไกลที่ไหน  คือ “ตัวเรา” และ “ใจเรา” นี่แหละ

คนเราส่วนใหญ่ล้มเหลว เพราะ “ตัวเอง” แต่ไม่เคยพิจารณาตนเอง ตักเตือนตนเอง ลงโทษตัวเอง

เกิดอะไรขึ้นกับชีวิต ก็ก่น บ่น ดุ ด่า ว่า นินทา ใส่ร้าย คนอื่น แต่ลืม ก่น บ่น ดุ ด่า ว่า นินทา ใส่ร้าย ตนเอง

การขึ้นเขา ทำให้ได้ “หยุดคิด” และ “ฉุกคิด” ประเด็นนี้

อย่า “เดิน” ขึ้นเขาคิชฌกูฏ โดยไม่ได้สวดอะไรเลย มิฉะนั้น จะรู้สึก “ร้อนรุ่ม” และ “เร่าร้อน”

ถ้า “สวดอิติปิโส” ไป ค่อยๆ เดินขึ้นเรื่อยไป จะรู้สึกใจ “เบา” และ “สบาย”

เป็น “ปีติ” ความอิ่มอกอิ่มใจอีกแบบหนึ่ง นี่กระมังที่โบราณเรียกว่า “อิ่มทิพย์” ไม่รู้สึกหิว ไม่รู้สึกอยาก ไม่รู้สึกอยากได้ ใคร่ดี อยากมี อยากเป็น มีความสุขกับ “ธรรมชาติ”

ได้เห็นสีเขียวขจี ได้เห็นต้นไม้ยืนต้นตระหง่านสูงชัน ได้สัมผัส “โอโซน” ธรรมชาติที่แผ่กระจายรอบตัว ได้สูดดม “อากาศ” ที่สดชื่นไว้เต็มปอด

ความสุข “หาได้” ไม่ยาก อยู่ที่เราคิด อยู่ที่เราพูด อยู่ที่เราทำ

ทางเดินแบ่งเป็นหลายลักษณะ เช่นช่วง ๕๐ เมตรแรก เป็นบันไดอิฐ จากนั้นเป็น “ทางดิน” ข้ามรากต้นไม้ ไขว้ไปไขว้มาในช่วง ๕๐-๑๐๐ เมตร และจาก ๑๐๐-๒๐๐ เมตร จะเป็น “ลานดินแน่นมี “ระฆัง” ให้ตี

จากนั้นในช่วง ๒๐๐-๕๐๐ เมตร จะเป็นขั้นบันได สูงๆ ต่ำๆ เดินสบาย ไม่เหนื่อยมาก แต่หลังจาก ๕๐๐-๑,๐๐๐ เมตร จะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตาม “ขั้นบันได” ที่ค่อยๆ สูงเรียบเขาขึ้นไปและ จะ “สูงชัน” แบบ ๑๘๐ องศา ระยะ ๘๐ เมตรก่อนถึงจะมี “ลานรอยเสือและรอยกวาง” จากนั้นเดินต่ออีกนิดนึงประมาณ ๕๐ เมตรสุดท้ายก่อนขึ้น “เขาคิชฌกูฏ” ถึงตรงนั้นจะมีพระบรมราชานุสาวรีย์ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ให้คนถวายบังคมและแสดงความเคารพ

ตลอด ๒ ข้างทาง ถ้าไปกลางวัน จะเห็น “ความเขียวขจี” ของลำเนาพงไพร เหมาะสำหรับคนชอบ “เดินดง”

ช่วง ๕๐ เมตรสุดท้าย ต้องสวด “อิติปิโส” แบบ “เต็มสปีด เพราะ “ชันมาก” แต่ก็ไม่เกิน “กำลังมนุษย์” จะเดินขึ้นไปได้ ถ้าผ่านจุดทดสอบจุดนี้ไปได้ ชีวิต จะทำอะไรก็ทำได้หมดทุกอย่าง

ก่อนขึ้นลานพระบาท ซ้ายมือมีพระคเณศสีแดงให้สักการะ เดินอีกนิดหนึ่งตรงซอกเขาสุดท้าย ขวามือมี “หมอชีวกโกมารภัจ” ให้พรให้หายเจ็บป่วยจากโรคภัยไข้เจ็บ

ถ้าถามผมว่า ที่นี่เหมาะ “ทดสอด” อะไร? ผมว่าเหมาะกับ “สุขภาพ” คนที่ “สุขภาพ” ไม่ค่อยแข็งแรง เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ อาทิ “เบาหวาน ไขมัน ความดัน คลอเรสเตอรอล” แบบผม สมควรมาทดสอบ “โรค” ที่นี่

ผมเองเป็น “เบาหวาน” ประมาณ ๒๔๙ เกินจากเกณฑ์ปกติ ไม่เกิน ๑๑๐ ถึง ๑๐๐% เศษ มาเดินขึ้นเขาที่นี่ แค่ ๒ ครั้ง เบาหวานก็ลดเหลือแค่ ๑๑๒!!!

การหายจาก “โรคภัย” อยู่ที่ “ระดับ” จิตใจ ใจคนเรา ยิ่งใหญ่ จะสำเร็จหรือล้มเหลว อยู่ที่ใจ

ถ้าไม่ชอบเดินก็ใช้ “คานหาม” บางช่วง “เทวดาหนุนนำ” “บุญกุศล” หนุนส่ง ก็จะเจอ “คานหาม” ว่าง เช่นวันนี้ ขาขึ้น “คานหาม” ว่าง ก็เลยได้นั่ง “เสลี่ยง” สบายๆ

ถ้าเดินเอง ใช้เวลา ๑ ชั่วโมง ถ้าคานหาม ก็ประมาณครึ่งชั่วโมง สี่คนแบก ที่นี่ใช้คำว่า “เฮลิคอปเตอร์”

ก็แล้วแต่ “บุญ” วาสนา เวลา และโอกาส จะอำนวยในรอบการเดินทางนั้นๆ และขึ้นอยู่กับการ “กำหนดจิต” เช่นบางครั้ง กำหนดจิตว่าจะ “เดิน” ทั้งขึ้นและลง ฮอฯ ก็ไม่ว่าง แต่ถ้ากำหนดจิต จะเดินทางแค่ครึ่งรอบ ก็จะได้ขึ้นฮอไม่ขาลงก็ขาขึ้น

ช่วง ๑๗.๐๐ น. ที่นี่มีการ “ทำวัตรเย็น” นำโดยพระสงฆ์ท้องถิ่น จะมีญาติโยมชุดขาวและญาติโยมนักแสวงบุญเต็มลานรอยพระบาท ล้นออกมาถึงศาลาอำนวยการ

ผมเลือกนั่ง “รอบนอก” เบื่อที่จะนั่ง “แถวหน้า” ก็เลยอยู่แถวท้ายๆ ครั้งนี้ได้เห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติแปลกคือ “สุริยัน” กับ “จันทรา” ทรงกลดในเพลาเดียวกัน!!!

สิ่งที่อัศจรรย์อีกอย่างคือ “โอโซน” พลังงานสีขาวคล้าย “หมอก” เหมือน “ลมแอร์” ไหลผ่านแบบ วูบๆๆๆๆๆ คล้ายมีคน “พ่น” ไอน้ำ กระจายเต็มไปหมดช่วงพระกำลังสวด “อิติปิโส”

ถ้าโบราณ ก็บอกว่า “ทวยเทพ” มาร่วม “ฟัง” สวดมนตร์ ในคัมภีร์ธรรมบท ที่พระเณรระดับประโยค ๑-๒ ถึง ป.ธ. ๓ ค้นคว้าเล่าเรียนมีเอ่ยถึงประเด็น “ทวยเทพ” มาฟังธรรม

ในคัมภีร์ “มังคลัตถทีปนี” ก็เอ่ยเรื่องนี้ไว้เช่นกัน

มองในมุม “วิทยาศาสตร์” พลังงานที่เห็นเป็นพลังงาน “จลน์” เคลื่อนที่ ผมนึกถึงที่ไอน์สไตน์เอ่ยถึง “ทฤษฎีสัมพัทธภาพ” จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ และนึกถึงเรื่องราวการค้นพบ “นวัตกรรม” และ “สิ่งประดิษฐ์” ใหม่ๆ ที่ผมขอเรียกว่า “เทวามาร์เก็ตติ้ง” Deva Marketing

ปรากฏการณ์ “ทวยเทพ” สำแดง “ฤทธิ์” ให้มนุษย์เดินดินคนธรรมดาเห็น ทำให้เกิดปีติ “ขนลุกซู่” และตระหนักว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์น่าจะ “มีจริง” โดยเฉพาะบนยอดเขาคิชฌกูฏ

คนเดินทางมาแสวงบุญที่นี่ ด้วย ๒ เป้าหมายหลัก เป้าหมายแรกคือ “ขอโชค ขอลาภ ขอมั่ง ขอมี ขอให้ร่ำ ขอให้รวย” เป้าหมายหลังคือ “ขอให้สุขภาพแข็งแรง ปลอดภัย ไร้โรคา”

ผมเองก็ไม่ต่างจากมนุษย์ปุถุชนคนเดินดินธรรมดาทั่วไป ขอให้เงินไหลกอง ทองไหลมา รวยไม่ยั้ง รวยไม่หยุด เอาช้างมาฉุด ก็ไม่หยุดรวย โอม รวย รวย มหาละลวย เงินไหลกอง ทองไหลมา เงินมี เงินมา นะชาลีติ

เมื่อ “มั่งคั่ง” สุขภาพก็ต้อง “มั่นคง” และ “แข็งแรง”

คนเรา ยังต้องกิน ต้องใช้ ต้องเดินทาง ต้องเที่ยว ต้องการอยู่อย่างสบาย อยู่อย่างมีความสุข ไม่แปลกที่ใครต่อใครก็อยาก “รวย” อยากมี “เงิน”

เพราะการมี “เงิน” สามารถทำให้ทำการใดๆ “สะดวก คล่องแคล่ว ลุล่วง ราบรื่น”

หรือใครจะเถียงผมว่า “ไม่จริง”

ระหว่าง “สวดมนต์” และ “สังเกต” ผมได้แง่คิดว่า มนุษย์ทุกผู้ เมื่อคิดและทำการใดๆ ก็แล้วแต่ คนที่จะคิดและทำจนสำเร็จต้องไม่คิดแบบ “มนุษย์” ปุถุชุนคนธรรมดาทั่วไป

หมายความว่าอย่างไร?

คนทั่วไป ถ้าเรียน “กลยุทธ์” หรือ “ยุทธศาสตร์” “ยุทธวิธี” แม้จะคิด วิเคราะห์ ใช้ SWOT วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค และประเมินสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงติดตามผลงานด้วยหลักวิชาการที่ทันสมัยอย่าง “Balanced Scorecard” แม้จะใช้ Five Forces Model ของ Porter ใช้ BCG Matrix ของ Boston Consultant Group แต่สุดท้ายก็ “เจ๊ง เจ็บ จน”

ที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะคิดและทำแบบ “มนุษย์คิด มนุษย์พูด มนุษย์ทำ” ก็เลยเป็นได้แค่ “สามัญ” หรือ “พื้นๆ” ทำแล้วก็จบลงแบบ “เจ๊ง เจ็บ จน” ที่สำเร็จก็มี แต่ได้แบบเพียงแค่ So So หรืองั้นๆ แหละ

แต่ถ้ามนุษย์เราทำแบบ “เทวดา” ใช้ “หลัก” ที่พระพุทธเจ้าทรงชี้แนะนั่นคือใช้ “สมอง” คิดแบบมนุษย์ และใช้ “ใจ” สั่ง โดย “ใจ” ต้องเป็นใจที่ “นิ่ง” ครบ ๓ ระดับ

คนผู้นั้นก็จะประสบ “ความสำเร็จ” นั่นคือใช้  Super Conscious Mind “จิตเหนือสำนึก” บวกกับ Conscious Mind “จิตสำนึก” และ Sub Conscious Mind “จิตใต้สำนึก”

ซึ่งพลังจาก “จิตเหนือสำนึก” จะต้อง “ป่าวประกาศ” ขัดสัคเคฯ ให้ทวยเทพช่วย “เสริมพลัง” ส่วน “จิตใต้สำนึก” ต้อง “หลับ” แล้วปล่อยให้ “จิตใต้สำนึก” ไปเชื่อมโยงกับ “จิตเหนือสำนึก”

ถ้าพูดง่ายๆ มนุษย์คือ “ช่องสถานี” หน่วยย่อยหนึ่งที่เชื่อมโยงกับ “จิตเหนือสำนึก” คือ “พลังจักรวาล” ในระบบสุริยจักรวาล ที่มีครบทั้ง ดาวจันทร์ ดาวอังคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ และดาวเสาร์ โดย “จิตเหนือสำนึก” ที่มีพลังคือ “พลังบริสุทธิ์” ได้แก่จิตเหนือสำนึกของพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ครูบาอาจารย์ที่จิตบริสุทธิ์ และเหล่าทวยเทพ

การที่ “ช่องสถานี” มนุษย์ จะเชื่อมโยงกับ “คลื่นความถี่” รอบตัวที่ปรากฏในรูปแบบ “พลังงานแสง” และ “พลังงานเสียง” ได้ มนุษย์ต้องใช้ “สมาธิ” สร้าง “จิตใต้สำนึก” ให้มีพลังในการ “ประสาน” เป็นหนึ่งเดียวกับ “คลื่นความถี่” ที่เรียกว่า “จิตเหนือสำนึก”

มนุษย์จะเกิด “คลื่นความถี่” ดังกล่าวได้ ต้องเป็นคนดี มีศีล มีธรรม ไม่ฉ้อ ไม่ฉล ไม่คด ไม่โกง ไม่มีเล่ห์ ไม่มีเหลี่ยม จิตต้องใส จิตต้องซื่อ

ยิ่งจิตบริสุทธิ์มากเท่าใด  ก็ใกล้สู่ “ความสำเร็จ” มากเท่านั้น

อยากสำเร็จ ต้องบริหาร “ความโลภ” ให้ได้ ต้องเอาชนะอารมณ์ เอาชนะ “นิวรณ์ ๕” ที่ขวางกั้นการเชื่อมโยง “จิตเหนือสำนึก” “จิตใต้สำนึก” และ “สามัญสำนึก(จิตสำนึก)” ให้ได้

นิวรณ์ ๕ คือปัจจัย ๕ ประกอบด้วย “ยึดติดในรสรูปกลิ่นเสียงสัมผัสแบบเก่าแบบที่เคยชิน” “อาฆาตพยาบาทคิดล้างแค้นจองเวรไม่เลิกราไม่อภัยไม่อโหสิกรรม”  “ท้อแท้ง่วงเหงาหาวนอนเบื่อหน่าย” “ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่าย” และ “เอ๊ะ! อ๊ะ ! ลังเล สงสัย ไม่แน่ใจ”

อยากเฮง อยากชนะ อยากสำเร็จ ต้องชนะ “นีวรณ์ ๕” และต้องใช้จิตให้ครบทั้ง “จิตเหนือสำนึก-จิตใต้สำนึก-จิตสามัญสำนึก”

นี่คือ “ทฤษฎีเฮง” ที่ผมค้นพบ ณ ยอดเขาคิชฌกูฏ ผ่านปรากฏการณ์ “สุริยัน-จันทรา” และพลังงานจลน์ ที่เป็นเหมย หมอก พัดผ่านรอยพระบาทบนยอดเขาคิชฌกูฏ

ผมไม่มีเวลาขยายความ “ทฤษฎีเฮง” จิตเหนือ-ใต้-สามัญสำนึก แต่ทิ้งไว้ให้คิดก่อนในเบื้องต้น

เพราะผมต้องนำเอา “ทฤษฎี” ที่ค้นพบดังกล่าวไปทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่งให้มีความน่าเชื่อถือ โดยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิด “ความน่าเชื่อถือ” และ “ความน่าจะเป็น” ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในแวดวงวิชาการด้าน “การจัดการ” ในระดับประเทศ และระดับ “นานาชาติ” ต่อไป

วกกลับเข้าสู่ “การสวดมนต์” บนยอดเขาคิชฌกูฏ สถานที่ก็เป็นแค่ “เสื่อยาว” ปูบนลานหินทรายล้างเรียบง่ายธรรมดา จุดที่ผมนั่งเป็นจุดที่ “หมอหยอง” ได้เคยพากลุ่มนักบุญมาแสวงบุญเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

วันนั้น “หมอหยอง” กลายเป็นร่างทรงของ “พระพิฆเนศวร์” ดูแก่หง่อมกว่าคนปกติ สุ้มเสียงใจดีแบบ “เทพ” ผู้โปรดปรานนิยมความเมตตา ให้ความเป็นกันเองและให้พรแก่ลูกศิษย์ลูกหาต่างๆ ด้วยเมตตาจิต

ผมได้พบ “หมอหยอง” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็ยังนึกชื่นชมว่า ดีเหมือนกัน ที่มีคนแบบนี้ เพราะสามารถดึงเอา “คนเมือง” ให้มา “สัมผัส” กับเทือกเขาและขุนเขาได้ น่าทึ่ง ไม่ธรรมดา

วันนี้ ผมสวดมนตร์ทำวัตรเย็นกับพระด้วยจิตปล่อยวาง แรกๆ กะจะแค่ “นมัสการรอยพระบาท” แล้วรีบลงไปข้างล่าง จะได้ถึงกรุงเทพฯ รวดเร็ว แต่แล้วก็ “เลยตามเลย” ปล่อยชีวิตไปเรื่อยๆ สบายๆ  ไม่ต้องเร่ง ไม่ต้องรีบ ไม่ต้อง rush รัดตัวเองด้วยบ่วงแห่ง “กาลจักร” และ “เวลา”

เมื่อจิต “วาง” ก็นั่งสวดมนตร์ได้อย่างมีความสุข ตั้งแต่บทนมัสการคุณพระรัตนตรัย พระปริตร ยังกิญจิ ยันทุน กรณียเมตตสูตร ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ชยมงคลคาถา ฟังพระขัดสัคเคฯ ชุมนุมเทวดา ได้ฟังสวดสรรเสริญคุณ “พระพุทธสิหิงค์” และบทกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลเจ้ากรรมนายเวร เบ็ดเสร็จกินเวลากว่า ๑ ชั่วโมง

จากนั้น ก็ได้ฤกษ์เข้าสู่ “รอยพระบาท” ได้สัมผัส ได้เห็นสิ่งที่สมมติว่า “จริง” ซึ่งเดินทางมาแสนยาก เดินทางจากแดนไกล แต่ละครั้ง แต่ละคราว ไม่เคยต่ำกว่า ๑๒-๑๔ ชั่วโมง

ได้เดินดูรอบๆ ได้เห็น “หิน” ที่สันนิษฐานว่า “องค์อินทร์” สร้าง ซึ่งบางคนก็บอกผมว่าจริงหรือไม่ ผมเองก็ตอบตรงๆ ว่าผมเองก็ไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ทราบ แต่ผมก็ต้อง “เชื่อ” และ “ศรัทธา” กันไว้ก่อนว่าจริง เพราะกรณีเหล่าคนถ้า “ไม่เชื่อ” ก็จะ “ขัด” ความรู้สึก ความเชื่อ ความนับถือคนอีกหลายล้านคน

คนเรา “เชื่อ” อะไรที่ผิดมาเยอะแยะมากมายแล้ว เชื่อแล้ว “เจ๊ง เจ็บ จน” ก็มาก ถ้าเราเชื่อหินสักก้อนว่าทำให้เรา “รวย” และ “ไร้โรคา” ก็น่าจะปลงใจเชื่อกันดู

มาถึงบนนี้ ก็ต้อง “อธิษฐาน” ขอพรจากเทพรักษารอยพระบาท ส่วนใหญ่ให้ขอ “อย่างเดียว” เพราะเทพจะ “จดจำ” สิ่งที่ “เราขอ” ไม่ได้ ซึ่งอย่างที่บอก เป้าหมายของการมาเขาคิชฌกูฏ จะเป็นที่รู้กันว่ามี ๒ ด้าน คือ มั่งคั่ง ร่ำรวย และ ร่างกายแข็งแรง

ส่วนจะขอนอกเหนือจากนี้ ไม่ทราบ

จากนั้นก็ไปทำบุญ ซึ่งวัดแถบนี้ มีเรื่อง “บอกบุญ” มากมาย หลายเรื่อง ก็แล้วแต่จิตศรัทธา มีมากก็ทำมาก มีน้อยก็ทำน้อย ออกไปในแนว “พุทธพาณิชย์” อีกแบบหนึ่งเหมือนกัน บางจุดก็มี “ใบประกาศนียบัตร” ของเดิมปีที่แล้วร้อยบาทเศษ ปีนี้คงมีนักการตลาดมาช่วยคิด ราคาเพิ่มเป็น ๓๐๐ บาท ขายรูปแบบ “แพ็คเกจ” มีทั้ง “กรอบรูป” และ “ถ่ายรูป” แปะติดรอแค่ ๕ นาที ถือเป็น “นวัตกรรมการตลาดแบบเทพยดาฟ้าดิน” จริง ผมเองก็ซื้อใบประกาศฯ มาประดับบ้านไว้ด้วยความรู้สึก “เป็นเกียรติ” และ “ภูมิใจ”

เสียเงินเรื่องไม่เป็นเรื่อง ก็เสียมาเยอะแล้ว จะเสียค่ากรอบรูปและใบประกาศฯอีก ๓๐๐ บาท ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก

ขาลง ตรงใกล้พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก็อย่าลืมไหว้ขอพรจากพระองค์ท่าน ขอให้เข้มแข็ง กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เด็ดขาด หรืออื่นใด ก็อธิษฐานขอ

จากนั้นก็เดินลง ขาลงสบาย รวดเร็วแบบ Faster Model  ล่าสุดผมทำเวลาได้ประมาณ ๑๘ นาที สำหรับระยะทาง ๑ กิโลเมตร ลงต่อรถ ๒ ช่วง ที่คิวบนก่อน  ๗-๘ นาที และต่อด้วยคิวล่างอีก ๗-๘ นาทีตามลำดับ

ลงถึงข้างล่าง ประมาณ ๑๙.๐๐ น. ขับรถไปเรื่อยๆ แวะ “ปากน้ำประแสร์” ไม่ได้กินอะไร มาจบอาหารมื้อค่ำที่ร้าน “เจียวโภชนา” อยู่ตรงบริเวณคิวรถ “เขาดิน” ก่อนถึง “แกลง”

ไม่กี่กิโลเมตร ถ้าจะมาไหว้พระที่เขาคิชกูฏ แนะนำร้านเจียวโภชนา อยู่แยกเขาดินห่างจากตัวอำเภอแกลงไปประมาณ ๕ กิโลเมตร จากจันทบุรีอยู่ซ้ายมือ ถ้ามาจากแกลงร้านจะอยู่ทางขวามือ ร้านอาหารร้านนี้หาง่าย อยู่ริมถนน และติดกับเชิดชัยทัวร์(ตลาดภิบาลญาติ)

เมนูเด็ดร้านนี้ที่ชิมคือ “แกงจืดสาหร่ายวุ้นเส้นหมูสับและหมูหมัก” (นอกเมนู บอกน้องคนบริการได้) “ต้มยำปลาอินทรีย์น้ำใส” (อร่อยมาก) “แกงป่าปลาอินทรีย์” (๕ ดาวเหมือนอุทัยธานีและนครสวรรค์) “ยำปลาอินทรีย์สด” (อร่อยกว่ายำปลาดุกฟู ขอบอก) “กะเพรากุ้งทะเล” กุ้งตัวเล็ก แต่อร่อยมาก ที่เด็ดขาดคือ “หอยจ้อ” อร่อยกว่าแถวบางแสนแยะ สรุปว่าร้านนี้ อะไรก็ “อร่อย” แต่สนนราคา “แพง” แต่ถ้าร้านอร่อย ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก

ออกจากร้านนี้ประมาณ ๔ ทุ่ม จากนั้นขับบนความมืดบนถนนเส้นทางแกลง-บ้านบึง วิ่งด้วยความเร็วสูงตั้งแต่ ๑๒๐-๑๖๐ ก.ม. ต่อชั่วโมง ถนน “แย่” เช่นเคย แต่ก็ “สปีด” เพราะรถบรรทุกเยอะมาก

ถึง “ทางหลวงหมายเลข ๗” อีก ๖๐ ก.ม. ถึงสุวรรณภูมิ ก็ค่อยๆ ชะลอความเร็วเป็น ๑๓๐-๑๔๐ ก.ม. ต่อชั่วโมง รถเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับ “ยี่ห้อ” และ “คุณภาพ” ของเครื่อง

กลับถึงบ้าน “เที่ยงคืน” รวม ๑๔ ชั่วโมง ทั้งไปและกลับ

ตื่นเช้ามา “น่อง” ระบม แต่พักสักวันสองวันก็หาย

ขอนำบุญมาฝากพวกเราทุกคน และขอให้พวกเราค้นพบสมดุลและสมการพลังอำนาจการใช้ “จิตเหนือสำนึก-จิตใต้สำนึก-จิตสำนึก” สู่ความสำเร็จในการงานและหน้าที่ที่ทุกท่านรับผิดชอบและกระทำโดยถ้วนทั่ว

 

บันทึกเมื่อ ๒ มีนาคม ๒๕๕๖

บทความนี้ ยังไม่จบ รอการ อัพเดต

 

 

Comments

comments