๒๔๘. ปราชญ์บาลีฝรั่งกับผลงานทำพจนานุกรมบาลี

“ปราชญ์ฝรั่งกับผลงานทำพจนานุกรมบาลี”

ศาสตราจารย์ ดร. อุทิส ศิริวรรณ
แต่งแปลเรียบเรียงเป็นภาษาไทย
๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

******

จิตสัทธา เขียนไว้เพื่อบูชาพระคุณบุรพาจารย์ครูบาลียุโรป
ที่โลกลืม เนื่องในวาระสำคัญที่อีก ๓ ปีข้างหน้า
ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗

จะเป็นวันครบรอบ ๒๐๐ ปี 
ปราชญ์บาลีชาวเดนมาร์ก
นามว่า วี. เทรงก์เนอร์

ภาพที่ ๑
วี. เทรงก์เนอร์ : ปราชญ์บาลีชาวเดนมาร์ก
ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่าง
๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๓๖๗ ถึง ๙ มกราคม ๒๔๓๔

ตอน ๑
——–
ไดนส์ แอนเดอร์สัน
กรุงโคเปนเฮเกน
ได้เขียน “อัตชีวประวัติ” ของ วี. เทรงก์เนอร์เอาไว้
ในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๗
เพื่อเป็นอนุสรณ์ชาตกาล ๑๐๐ ปี
“บิดาแห่งพจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์”
ชาวกรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก

“ผม” พยายามแสวงหา ค้นหา
“บาลีศึกษายุโรป”
บุกไปเยือนจนถึง “สมาคมบาลีปกรณ์”
ก็ไม่พบ

สรุปคือ “อยากอ่าน” ก็ต้องลงมือ “เขียน” ด้วยตนเอง

สั้นๆ ง่ายๆ ไม่ต้องคิดอะไรมาก

——-

เวลานี้ ผมและทีมงาน
กำลังง่วนจัดทำต้นฉบับ
“พจนานุกรมบาลี”
ชุด “มหึมา” อลังการงานสร้าง

มี “โอกาส” ได้ทำตาม “ฝัน” ที่ภูมิใจ
ได้ช่วยกันสร้าง “ธัมมเจดีย์”
เพื่อประโยชน์แก่วงการบาลีคือพระไตรปิฎกศึกษา
ก็นับว่าเป็นบุญ เป็นวาสนา เป็นโชค เป็นลาภ
เป็นยิ่งนัก

——-

เท่าที่ตรวจสอบหลักฐาน “บาลีศึกษา”
พบว่า
นอกจาก “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”
“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส”
“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ”

ผมว่า “น้อยราย” ในสังคมไทย
จะสนใจและรู้ “ปูมหลัง” บาลีศึกษาในยุโรป
ซึ่งเริ่มต้นกันมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ผมเลย “สละ” เวลาอันมีค่า แปล และเรียบเรียง
ให้อ่านกันเป็น “วิทยาทาน”
ประวัติบางท่าน หาอ่านเป็นอังกฤษยากมาก
อย่าง “ศาสตราจารย์เวสเตอร์การ์ด”
ผมก็ใช้ Google Translator
แปลจาก “แดนิช” เป็น “อังกฤษ”
และแปลเป็น “ไทย” ต่อ
ถือว่าได้แบ่งปันความรู้กัน

วงการใดๆ ก็อ่านได้ เป็นเกร็ดความรู้ “บาลีศึกษา”
ตรงตัวคือ “พระไตรปิฎกศึกษา”
เพราะ “บาลี” คือ “พระไตรปิฎก” อันไม่เหมือน
อรรถกถา ฎีกา หรือสัททาวิเสสอื่นใด
“บาลี” คือ “พระไตรปิฎก”
สัมพันธ์และสำคัญต่อ “พุทธศาสนา” สายเถรวาท

ผมได้ “ข้อค้นพบ” จุดประการสำคัญๆ หลายเรื่อง
เรื่องแรก คือ คนที่มีลักษณะ “อัจฉริยภาพ” อย่างเทรงก์เนอร์
จะต้อง “ผสมผสาน” คือ “พรแสวง” บวกกับ “พรสวรรค์”

ผมจะค่อยๆ เขียนถึง
ปราชญ์บาลีศึกษาชาวเดนมาร์กทั้ง ๓ คนก่อน
และเมื่อรวมกับ “ปราชญ์บาลีศึกษา” ชาติต่างๆ อีกหลายคน
ก็คงจะได้ “หนังสือหนา ๑ เล่ม”
น่าอ่านสะสม สำหรับ แวดวง “วิทยาการวิจัยพุทธศาสนาชั้นสูง”

จะได้เกิดแรงบันดาลใจว่า
ที่เราเรียนบาลียุคนี้ง่ายแสนง่าย แต่ไม่ค้นคว้ากัน

ฝรั่งตาน้ำข้าว ใช้ภาษาเดนมาร์ก
ต้องขวนขวาย เรียนภาษาฮินดี เบงกาลี สิงหล พม่า
เพื่อค้นคว้าและแปลบาลี สู่แวดวงบาลีศึกษา
ในโลกตะวันตกด้วยกัน

เป็นเรื่องที่ยากมาก ไม่น่าเป็นไปได้
แต่โลกนี้ ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้
ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ ทุกวงการ

 

 

ตอน ๒
*****

เทรงก์เนอร์ เป็นบุคคลสำคัญ
ในแวดวง “บาลีศึกษา”
มหาวิทยาลัยชั้นนำในทวีปยุโรป

แต่แทบไม่เป็นที่รู้จัก
ในแวดวงนักบาลีศึกษาในไทย สิงหล ลาว พม่า เขมร เวียดนาม
ห้วงเวลาที่ผมกำลังทำ “วิทยาการวิจัยพุทธศาสนาชั้นสูง”
ผมจำเป็นต้องค้นคว้า วิจัย รวบรวม ประวัติ
วงการ “นักบาลี” ประเทศต่างๆ พบเจอชื่อ “วี. เทรงก์เนอร์” บ่อยครั้ง
เห็นว่า “อัตชีวประวัติ” ของท่านผู้นี้ น่าสนใจ ก็เลยนำมาเล่าไว้
ประดับความรู้ แวดวง “พุทธศาสนา” ในแง่ “วิทยาการวิจัยชั้นสูง”
ซึ่งน้อยคนจะมีโอกาสเข้าถึง และศึกษา ชีวิตและผลงานของนักปราชญ์ท่านนี้

*****

วี เทรงก์เนอร์ V. Trenckner เกิดในวันเดือนปีคริสตศักราชคือ
26 Feb 1824 ตรงกับต้นแผ่นดินพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
และสิ้นชีพตรงกับวันที่ 9 Jan 1891 กลางแผ่นดินพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปี ๒๓๙๘ เป็นปีสำคัญที่ควรแก่ความทรงจำมากที่สุดสำหรับแวดวง “บาลีศึกษา”
ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียคือ “เดนมาร์ก”

ปีนั้นตรงกับแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ ของสยาม
เป็นปีแรกที่ “ศาสตราจารย์วิกโก ฟอสบอลล์”
Professor Viggo Fausböll
ปราชญ์ “ภาษาบาลี” ชาวเดนมาร์ก
ผู้ได้ชื่อว่า “ผู้บุกเบิก” ริเริ่มปริวรรต-อ่าน-ค้นคว้า-แปล-วิเคราะห์-
วิจัย-วิจารณ์-แต่งบาลีเป็นรายแรกจนเกิดมี “การเรียนการสอนพระปริยัติธรรมคือบาลี”
เป็นครั้งแรก ณ มหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงโคเปเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

ฟอสบอลล์มีชีวิตอยู่ระหว่าง ๒๒ กันยายน ๒๓๖๔ ถึง ๓ มิถุนายน ๒๔๕๑
ระหว่างแผ่นดินของรัชกาลที่ ๔ กับรัชกาลที่ ๕ ของสยามประเทศ
แวดวงบาลีศึกษาในยุโรป ให้ความสำคัญแก่ปี ๒๓๙๘
เพราะเป็นปีที่ “ธัมมปท”เกิดมีขึ้นในยุโรป
ให้แวดวงบาลีศึกษาประเทศในแถบทวีปยุโรป
ได้ศึกษา “พุทธศาสนาเถรวาท” ในอักษรละติน
เป็นปีที่ “ฟอสบอลล์” ปริวรรต “คัมภีร์ธัมมปท” แล้วเสร็จ
ขณะที่มีอายุเพียงแค่ ๓๔ ปี เท่านั้น

 

*****
วกกลับมาหา “บิดาแห่งการทำพจนานุกรมบาลี” คือ วี. เทรงก์เนอร์ ต่อ
ประวัติ “บาลีศึกษา” ในกลุ่มนักปราชญ์ชาวเดนมาร์ก
เริ่มต้นในปี ๒๓๖๔ ตรงกับรัชสมัยแผ่นดินพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
อาร์. เค. รัสก์ ได้เดินทางไปเยือนกรุงโคลอมโบ ศรีลังกา โดยความช่วยเหลือของ
บาทหลวงนามว่า บี. คลัฟ ปรากฏว่า “นายรัสก์” เกิดความประทับใจ และสนใจเรียนรู้
คำสอนพุทธศาสนาเถรวาท

แม้ท่านจะเป็นคริสต์ศาสนิกชนผู้เคร่งครัด แต่ก็ได้เปิดใจเรียนรู้
“พระบาลี” ท่อง “สิ-โย-อัง-โย-นา-หิ-ส-นํ” จนมีความรู้บาลีในระดับหนึ่ง
และได้เรียนรู้“ภาษาสิงหล” ควบคู่กันไปด้วย
ระหว่างนี้ก็ได้สละทุนทรัพย์เงินสดที่มีจำนวนไม่มากนัก
จากรายได้ที่มีประสาสัมมาชีพ
เก็บรวบรวมซื้อ “คัมภีร์บาลี” ในรูปแบบ “ใบลาน”
สั่งสมเอาไว้ได้จำนวนมาก

ภายหลังนายรัสก์ เดินทางกลับไปใช้ชีวิตที่กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก ก็ยังสละเวลาส่วนตัว
แต่ง “ไวยากรณ์บาลีฉบับย่อ” เป็นภาษาชาวเดนมาร์ก สำหรับชาวเดนมาร์ก
โดยบางส่วนสรุปความจาก “คัมภีร์พาลาวตาร” สันนิษฐานกันว่าน่าจะตั้งใจตีพิมพ์
เผยแพร่ “ไวยากรณ์บาลีฉบับย่อ” เพื่อใช้กับ “แบบอ่านบาลี” ที่คัดเอาพระสูตรบางตอน
สำหรับ “อ่าน” พระบาลี ตามสไตล์ชาวตะวันตก
เพื่อ “ผู้เริ่มเรียน” บาลีในระยะเริ่มต้น

น่าเสียดายว่าต้นฉบับ “ไวยากรณ์บาลีฉบับย่อ” ได้สูญหายไปหมดแล้วจากประเทศเดนมาร์ก
(หรือถ้าใครอยู่ที่เดนมาร์ก มีโอกาสพบเจอต้นฉบับดังกล่าวภาษาเดนมาร์ก
ก็แบ่งปันความรู้กันด้วย จะเป็นพระคุณยิ่ง)

ถึงแม้ว่าในอีก ๒๐ ปีต่อมา ผลงานเกี่ยวกับ “บาลีศึกษา”
ของ ศาสตราจารย์ เอ็น. แอล. เวสเตอร์การ์ด
ซึ่งทำงานค้นคว้าวิจัยร่วมกันกับ ศาสตราจารย์ สปีเกิล ซึ่งมีผลทำให้เกิด
ผลงานชื่อ Catalogus of Westergaard และ Anecdota Palica
แต่ทว่าการเล่าเรียนบาลีที่กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก
ยังคงมีลักษณะเรียนกันในวงจำกัด
และการแปลบาลียังคงใช้อักษรเทวนาครี

*****

 

ตอน ๓
*****

สำหรับตัวศาสตราจารย์เวสเตอร์การ์ด
ส่วนตัวท่านสนใจเชิงลึกเฉพาะประเด็นพงศาวดารและประวัติศาสตร์อินเดีย
จึงทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ค้นคว้าและอ่าน “คัมภีร์มหาวงศ์”
และ “ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา” เล่มอื่นๆ
มากกว่า “พระไตรปิฎกศึกษา”

ภาพที่ ๒
นีลส์  ลุดวิกส์ เวสเตอร์การ์ด
ศาสตราจารย์ประจำสาขา “อินเดีย-บุรพทิศศึกษา”
แห่งมหาวิทยาลัยกรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก
ปราชญ์อินเดียศึกษาชาวเดนมาร์ก

http://www.iranicaonline.org/articles/westergaard-niels-ludvig

https://en.wikipedia.org/wiki/Niels_Ludvig_Westergaard

คุณูปการของศาสตราจารย์ ดร. เวสเตอร์การ์ดคือ
เป็นผู้ผลักดันสนับสนุนและส่งเสริมให้ “ฟอสบอลล์”
ศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาสันสกฤต แห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก
ให้ค้นคว้า ปริวรรต และแต่งแปลคัมภีร์สำคัญ ๒ คัมภีร์คือ “ธัมมปท” และ “ชาดก”
ออกสู่แวดวงวิชาการ “บาลี-ศึกษา” ในทวีปยุโรป
ซึ่งศาสตราจารย์ฟอสบอลล์ ได้เขียนคำนำ
ให้เกียรติแก่ศาสตราจารย์เวสเตอร์การ์ด โดยระบุไว้ในหน้าแรกว่า
“ธัมมปท แล้วเสร็จ
สำเร็จเป็นอักษรละตินขึ้นมาได้
เพราะการกระตุ้นสนับสนุนส่งเสริมให้กำลังใจ
ได้รับแรงบันดาลใจจากศาสตราจารย์เวสเตอร์การ์ด”
และหน้าสุดท้ายของคำนำ
“ศาสตราจารย์ฟอสบอลล์” ได้เขียนคำขอบคุณเอาไว้ว่า
“ขอบคุณ “เทรงก์เนอร์” เป็นอันมากที่ช่วยเหลือข้าพเจ้าตีพิมพ์ “ธัมมปท” ครั้งแรก
ในปี ๒๓๙๘ (ตรงกับสมัย ร. ๕) และช่วยตรวจสอบตรวจทานคำผิดที่พบหลายแห่ง
ทั้งยังช่วยปรับแก้ไขจนดีขึ้นกว่าเดิมเป็นอันมาก”

*****
และเมื่อค้นคว้าตำราที่แต่งเรียกกันในยุโรป
ที่ใช้คำว่าเป็น “ตำราที่แต่งด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์”
(Scientific Literature)
โดยเฉพาะ “พจนานุกรมบาลี” ของ อาร์. ซี. ชิลเดอร์ส
ผู้แต่งได้ยกย่อง “เทรงก์เนอร์” ว่าเป็น
“นักวิชาการบาลีที่สมบูรณ์แบบและทรงคุณค่า”
และได้อ้างถึงงานของเทรงก์เนอร์อีกว่า
“การปรับแก้ไขบทแรกของคัมภีร์มิลินทปัญหา
จนเป็นงานที่มาตรฐานเป็นผลงานชิ้นสำคัญของเทรงก์เนอร์”

ต่อมาในปี ๒๔๒๒ ตรงกับแผ่นดินของรัชกาลที่ ๕
ขณะอายุ ๕๕ ปี “เทรงก์เนอร์”
ได้ตั้งใจแต่งหนังสือบาลีเล่มเล็กๆ
และเผยแพร่ ชื่อว่า “Pali Miscellany”
แปลว่า “ปกิณณกะบาลี”
เป็น “ข้อค้นพบ” หรือ “ผลงาน”
ที่รวบรวมจากการอ่าน “ตัวเขียนบาลี”
ตลอดระยะเวลา ๒๕ ปี

*****
เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ปี ๒๔๖๗ ตรงกับรัชกาลที่ ๗ ของสยามประเทศ
ในวาระฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี นับแต่ปีที่เทรงก์เนอร์ถึงแก่กรรม
ได้มีการ “จดบันทึก” ชีวิตและผลงานของ “เทรงก์เนอร์” เอาไว้ ในหน้าแรก
“พจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์” เล่ม ๑
ซึ่งได้แก้ไข อัพเดต และตรวจชำระโดย “ไดเนส แอนเดอร์สัน”
“เฮลเมอร์ สมิธ” และ “ฮานส์ เฮนดริกเสน”
เล่ม ๑ ซึ่งจัดพิมพ์เผยแพร่โดย
“ราชบัณฑิตยสภาด้านวิทยาศาสตร์และวรรณกรรมแห่งเดนมาร์ก”
กรุงโคเปนเฮเกน ระหว่างปี ๒๔๖๗ ถึงปี ๒๔๙๑
เป็นการประกาศเกียรติคุณ กิตติกรรมประกาศยกย่อง “ชีวิตและงาน” ของ “นักบาลีศึกษา” “วี. เทรงก์เนอร์” ชาวเดนมาร์ก

*****
ตามประวัติ “เทรงก์เนอร์” มี “ชีวิต” และ “ความสำเร็จ” เป็นผลงานเชิงประจักษ์ เกิดที่
“กรุงโคเปนเฮเกน” ประเทศเดนมาร์ก และเติบโตในละแวกเดียวกับนักปราชญ์บาลีศึกษา
อีก ๒ คนคือ “เวสเตอร์การ์ด” และ “ฟอสบอลล์”

ทว่า “บิดา” เป็น “ชาวเยอรมัน”
อพยพมาอาศัยอยู่ที่กรุงโคเปนเฮเกนมีอาชีพขายแฮมเบเกอร์
ชื่อเต็มคือ “คาร์ล วิลเลียม
เทรงก์เนอร์” แต่เวลาเขียนหนังสือ นิยมใช้ว่า “V. Trenckner”

หลังเรียนจบโรงเรียนมัธยมของชาวเยอรมันในกรุงโคเปนเฮเกนแล้ว
จากนั้นได้เรียนต่อในระบบ “สอนกันตัวต่อตัว”
และสอบเทียบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
ในปี ๒๓๘๔ ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ ๔
สาขาวิชาที่เรียนคือ “ปรัชญาคลาสสิค”
(เน้นฟังการบรรยายสอนโดยศาสตราจารย์มาดวิก)

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ลงทะเบียนเรียนวิชา “เปอร์เซียศึกษา” “อาหรับศึกษา”
“ซีเรียศึกษา” “เอธิโอเปียศึกษา” และภาษาต่างๆ ในเอเชียตะวันออกไกล
ไม่เน้นเจาะลึกเกี่ยวกับทักษะการสื่อสาร ภาษายุโรปสมัยใหม่
ยกตัวอย่าง เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี และรัสเซีย
เหมือนนักศึกษาทั่วไปชาวเดนมาร์ก

ซึ่งการที่ศึกษา “ภาษาที่หลากหลาย”
มีผลต่อชีวิตในภายหน้าของเขา

 

เป็นอุทาหรณ์ว่า “นักบาลี” และ “นักพุทธศาสน์”
ไม่ควร “ศึกษา” เพียง “สาขาเดียว”
รวมถึง “วงการอื่นๆ”
.

โลกยุคดิจิทัล
ผู้ที่ใฝ่รู้ รักที่จะเรียนรู้
สมควรฝึก “อ่าน”
องค์ความรู้ ศาสตร์ต่างๆ แบบ “พหุสาขาวิทยาการ”
ยกตัวอย่าง เรียน “บาลี” แล้ว
เมื่อน้อมนำ “ปริยัติ” สู่ “ปฏิบัติ” มุ่ง “ปฏิเวธ”
ซึ่งอาจไปไม่ถึง “นิพพาน” ในชาตินี้
ก็ควรเรียน “ศาสตร์อื่นๆ” ที่ทันสมัยด้วย
จะเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และอนาคต ในวันข้างหน้า
เพื่อที่ว่าจะได้ประกอบอาชีพ มีงานทำ มีเงินใช้
อย่า “ทิ้งดิ่ง” สุดตัว เพียงด้านใดด้านหนึ่ง เพียงด้านเดียว
เพราะ “ตลาดแรงงาน” ต้องการคนที่มีทักษะและการเรียนรู้แบบ “หลากหลาย”
คนที่รอบรู้และมีทักษะหลากหลายจึงได้เปรียบเหนือกว่าคนอื่นๆ ทั่วไป

 

ตอน ๔

*****
แรงบันดาลใจของเทรงก์เนอร์
ปราชญ์บาลีผู้ไม่มีวุฒิปริญญาติดตัว มีแต่ความรอบรู้
เป็นแง่คิดว่าคนเราจะสร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ได้
วุฒิการศึกษา ลางครั้งลางที ก็ไม่จำเป็นเสมอไป
อยู่ที่ใครจะเติมพลังแห่งฝันและจินตนาการได้มากกว่าใคร
แต่ถ้ามีวุฒิการศึกษาและมีตำแหน่งทางวิชาการ
ก็ผลิตผลงานอันยิ่งใหญ่ได้สะดวกกว่า รวดเร็วกว่า และแน่นอน ง่ายกว่า…

ผลงานอันยิ่งใหญ่จากการเดินทางไกลไปในดินแดนอันไกลโพ้นอย่างเปอร์เชียและอินเดีย
ของ “ราสก์” และ “เวสเตอร์การ์ด” เป็นแรงบันดาลใจให้ “เทรงก์เนอร์” ใฝ่ฝันที่จะเดินทาง
มาเยือนเอเชียตะวันออกไกล และด้วยเหตุผลดังกล่าว เทรงก์เนอร์ จึงได้แค่เรียนแต่ไม่จบ
การศึกษาทางด้าน “ปรัขญาคลาสสิค” ตามเป้าหมายและความฝันที่วางเอาไว้

โชคชะตาที่ไม่ผกผัน ไม่หวือหวา ไม่ขึ้นๆ ลงๆ ค่อนข้างราบเรียบ ปานกลาง
ได้ดลบันดาลชีวิตของเทรงก์เนอร์ให้ลุ่มหลงในการศึกษาทางด้านภาษาศาสตร์

แทนที่จะเป็น “นักปรัชญา”
ทว่าการลุ่มหลงในมนต์ขลังของ “ภาษาอินเดียและนานาชาติตะวันออกไกล”
ที่มีจังหวะและโอกาสเรียนรู้ได้เป็นแรงผลักดันให้เปลี่ยนทิศทางชีวิตตลอดกาล

*****
เทรงก์เนอร์ได้แสดง “ความรู้ความสามารถความชำนาญการ” ด้านภาษาอาหรับ และเปอร์เซีย
โดยหวังว่าจะรับราชการเป็น “เจ้าหน้าที่ประจำ” หอสมุดราชสำนักเดนมาร์ก
ทว่า “โชคชะตา” ไม่ไปทางนั้น แม้ว่าจะมี “หนังสือฝากทำงาน” จากเครือข่าย
“ศาสตราจารย์” ทางด้าน “เอเชียตะวันออกศึกษา” หลายท่านช่วยกันรับรองผลงาน
แต่ผู้บริหารห้องสมุด “ราชสำนัก” ได้ปฏิเสธงานในตำแหน่งงานดังกล่าว

กระทั่งถึงปี ๒๔๐๔ ตรงกับปลายรัชสมัยของพระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช (รัชกาลที่ ๔)
นักบาลีพุทธศาสตร์ผู้ริเริ่มบุกเบิก “พจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์” ขณะอายุ ๓๗ ปี
จึงได้ทำงานพอยังชีพในตำแหน่ง “ครูสอนเด็กระดับมัธยม”
ใน “ศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยเด็กกำพร้า” กลางกรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก

ซึ่งเทรงก์เนอร์ได้ทำงานที่นี่ประจำ ไม่ได้เปลี่ยนงานไปทำงานประจำอื่นๆ จนถึงวันสิ้นอายุขัย
ขณะอายุได้ ๖๗ ปี โดยได้ประจำการต่อเนื่องยาวนานถึง ๓๐ ปีเต็ม

งานที่สอนเด็กกำพร้ายากจนคือ “ภาษาเดนมาร์ก” “ประวัติศาสตร์พื้นฐาน”
“ภูมิศาสตร์พื้นฐาน” และ “ภาษาสมัยใหม่” สำหรับเด็กที่สนใจเรียนรู้เชิงลึก

ประเด็นที่น่าสนใจคือ การทำผลงานยิ่งใหญ่คือ “พจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์”
จำเป็นต้องเป็นคนที่จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค จบ ดร. ทางด้านพุทธศาสนา
หรือ ดร. ทางด้านภาษาบาลี หรือไม่?
คำตอบคือ “วุฒิการศึกษา” ไม่จำเป็น
ขอเพียงมี “ฉันทะ” และมี “วิริยะ” มี “จิตตะ” และมี “วิมังสา”
แปลตรงตัวว่ามี “อิทธิบาท ๔ ประการ” รักที่จะทำ “ผลงาน”

ข้อค้นพบที่น่าทึ่งสำหรับ “บิดาผู้ริเริ่มการจัดทำพจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์” คือ
เทรงก์เนอร์ มิได้มี “ปริญญาบัตร” อันแสดงถึง “ศักดิ์และสิทธิ์” ในการทำผลงานอันยิ่งใหญ่
เหมือน “ศาสตราจารย์เวสเตอร์การ์ด” หรือ “ศาสตราจารย์ฟอสบอลล์” ซึ่งสอนประจำ
มหาวิทยาลัยใหญ่ในกรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก

ทว่าเทรงก์เนอร์ มีสิ่งที่เรียกกันว่า
”อัจฉริยภาพ” คือ “พรสวรรค์” ที่เกิดจาก “พรแสวง”
สิ่งที่ควรพิเคราะห์คือ “ความสัมพันธ์” ซึ่งเชื่อมโยง “เทรงก์เนอร์” กับ “อินเดียศึกษา”

ย้อนอดีตกลับไปในปี ๒๓๙๓ ขณะอายุ ๒๖ ปี เทรงก์เนอร์เรียนมหาวิทยาลัย
แบบ “ไม่เอาปริญญา” สอนกันแบบ “ตัวต่อตัว” โดยอาจารย์สอนคือ “ศาสตราจารย์
เวสเตอร์การ์ด” ซึ่งมีชื่อเสียงด้าน สันสกฤต อเวสตะ และปาห์เลวี

ภายหลัง “นักวิจัย” แห่ง “สมาคมบาลีปกรณ์” ได้ค้นคว้าพบหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่ง
เป็น “รายงานผลการศึกษา” ของเทรงก์เนอร์ขณะอายุ ๓๐ ปี
หลักฐานดังกล่าวระบุว่า “เทรงก์เนอร์”
กำลังง่วนอยู่กับการศึกษา “ภาษาเบงกอล”
“ภาษาฮินดี” “ภาษาสิงหล” และ “ภาษาพม่า”

 

ตอน ๕
——–

ในห้วงเวลาดังกล่าว เทรงก์เนอร์ได้ศึกษา “คัมภีร์มหาภารตะ” และคุ้นเคยกับ “ผลงาน”
สำคัญของ “ศาสตราจารย์ฟอสบอลล์” เกี่ยวกับ “บาลีศึกษา” โดยเทรงก์เนอร์ได้ทำ
“สำเนา” คัดลอก “ผลงานบาลีศึกษา” ของศาสตราจารย์ฟอสบอลล์ ตรวจสอบ “ความถูกต้อง”
ของ “เนื้อหา” กับ “ต้นฉบับดั้งเดิม” ซึ่งเป็นตัวเขียนบาลีสิงหล กับตัวเขียนบาลีพม่า

ต่อจากนั้น “เทรงก์เนอร์” ได้ทำการ “วิเคราะห์คำบาลี” โดยอาศัยการค้นคว้าข้อมูล
จากแหล่งข้อมูล “บาลีศึกษา” ที่สำคัญ ๒ แหล่งคือ “หอสมุดแห่งชาติกรุงโคเปนเฮเกน”
และ “ยืม” ระบบ “การยืมระหว่างห้องสมุด” จาก “หอสมุดแห่งชาติกรุงลอนดอน”

จากการตรวจสอบในภายหลังของคณะนักวิจัยสมาคมบาลีปกรณ์ ได้ข้อค้นพบเชิงประจักษ์ว่า
“งานจัดทำพจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์” ผลงานชิ้นสำคัญของเทรงก์เนอร์ เป็นงานที่
มีความละเอียดที่สุด ทำงานรอบคอบ ผลงานประณีต และใช้ระบบ “จดชวเลข” ทันสมัย
ซึ่งคนที่ประดิษฐ์คิดค้น “ระบบจดชวเลข” อักขระคือ “คำบาลี” คือ “ศาสตราจารย์ฟอสบอลล์”
ยกตัวอย่างเช่น
สหสฺสยุตฺตํ ไหชวาหึ ทิพฺพํ ยานํ อธิฏฺฐิโต
ยายมาโน มหาราชา อทฺทา เทวสภํ อิทนฺติ
เทรงก์เนอร์ จด “ชวเลข” คาถาภาษาบาลีข้างต้น ดังนี้
“ศฺษยุตฺ. หยฺวาหิ. ทิพฺ. ยานฺมธิฐิโต
ยายมาโน มหาราชา อทา เทวสภ. อิทฺติ.

*****
จากการค้นคว้าวิจัย “ตัวเขียน” ที่เทรงก์เนอร์ได้ “เกษียณหนังสือ”
คือ “เขียน” ยกร่าง “พจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์” แทบจะทุกคำ
ท่านใช้ “ขนาดตัวอักษร” และ “ตัวอย่าง” ที่เป็นปัจจุบัน และเป็นผล
ของระบบจดชวเลข ทำให้เกิด “ชาดกและอรรถกถา” ครบชุด
เป็น “บาลีโรมัน” ที่แวดวงบาลีศึกษายุโรปใช้กันกระทั่งถึงบัดนี้
“คัมภีร์ชาดกพร้อมอรรถกถา” เป็นฉบับของ “ฟอสบอลล์” ความหนา
๒,๐๗๐ หน้า ยกตัวอย่างในหน้า ๕๕๙ หลังตรวจสอบตรวจทานกันแล้ว
ประเด็นที่นักวิจัยนักวิชาการรุ่นหลังพากัน “ทึ่ง” แล “อึ้ง” ไปตามๆ กันก็คือ
“ความถูกต้อง” และ “สมบูรณ์แบบ” ตรงตามต้นฉบับ
แทบจะไม่พบ “คำผิด” ในตัวอักขระแต่ละตัว
เครื่องหมายเว้นวรรค คือ “จุลภาค” หรือ “มหภาค” ยกตัวอย่างคำ “มาร”
สตฺต วสฺสานิ ภควนฺตํ อนุพนฺธํ ปทาปทํ, โอตารํ นาธิคจฺฉิสฺสํ สมฺพุทธสฺส สตีมโต

ตอน ๖
*****

แผนการแต่ง “พจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์” ของเทรงก์เนอร์
ระยะแรกจะจัดทำอิงตาม “อภิธานปฺปทีปิกา” พร้อมกับดัชนี
เรียงคำตามอักขระ

พบว่ามีการจัดทำไว้ในปี ๒๓๙๗-๒๓๙๘
ตรงกับรัชกาลที่ ๔

ส่วนคัมภีร์ “ธาตุมญฺชุสา” ของเขา
พบระบุปีที่ตีพิมพ์ตรงกับปี ๒๔๐๑

และพบผลงานปริวรรต “คัมภีร์ทีฆนิกาย”
ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก บทที่ ๑-๑๘
ในปี ๒๔๐๐-๒๔๐๒

กว่าจะปริวรรตและตีพิมพ์ได้ครบ
ก็ลุถึงปี ๒๔๑๐-๒๔๑๑ จึงทำได้สำเร็จ

ส่วนสำเนาต้นฉบับ “คัมภีร์มิลินทปัญหา”
พบจัดเตรียมไว้ในปี ๒๔๐๐-๒๔๐๒
และสามารถตีพิมพ์เผยแพร่ได้ในปี ๒๔๐๓

นอกจากนี้เทรงก์เนอร์ยังมีผลงานปริวรรต
ตีพิมพ์คัมภีร์ “มัชฌิมนิกาย”
และ “ปปัญจสูทนี”
ซึ่งแล้วเสร็จในปี ๒๔๑๖
พร้อมกับคัมภีร์สำคัญคือ “อัฏฐสาลินี”
“สารสังคหะ” และ “สุตตนิบาต”

*****

ควรทราบว่า “ศาสตราจารย์ฟอสบอลล์”
ยังได้จัดหา “คัมภีร์สังยุตตนิกาย”
“คัมภีร์ อังคุตตรนิกาย”
“คัมภีร์มโนรถปูรณี” และ “อรรถกถา”
ขยายความคัมภีร์สำคัญต่างๆ
ให้ใช้เป็นต้นฉบับจัดทำการปริวรรต
ในรอบเวลา ๑๐ ปี
โดยนำมาจากต้นฉบับที่เป็น
“หนังสือ” สมัยใหม่
ไม่ใช่คัมภีร์ใบลานแบบเก่า

ซึ่งเทรงก์เนอร์ก็สามารถปริวรรต
ได้แล้วเสร็จ ในปี ๒๔๒๘

แต่น่าเสียดายว่า “คัมภีร์อัฏฐสาลินี”
และ “คัมภีร์มโนรถปูรณี” ได้สูญหายไป

เนื่องจากเทรงก์เนอร์ให้ ดร. มอร์ริส
ยืมต้นฉบับไปอ่านที่ประเทศอังกฤษ
ทว่า ดร. มอร์ริส ตายก่อนกาลอันควร

เลยไม่มีใครรู้ว่า ดร. มอร์ริส
เก็บต้นฉบับหนังสือ ๒ เล่มเอาไว้กับใคร
เพราะมิได้สั่งเสียใครเอาไว้
ว่าเก็บหนังสือ ๒ เล่มไว้ ณ ที่ใดในบ้าน

*****

ต่อมาระหว่างปี ๒๔๑๓ ถึงปี ๒๔๒๒
ได้มีการพบต้นฉบับคัมภีร์สำคัญของเขาคือ
ปโยคสิทธิ, ชาตก, ปรมัตถโชติกา,
ธัมมปทัฏฐกถา. ปริวาร, ปรมัตถทีปนี บางส่วน

และส่วนสุดท้ายคือ
คัมภีร์อุทาน, อิติวุตตกะ, สุตตนิปาต,
พุทธวงศ์, จริยาปิฏก,
เถรคาถา, เถรีคาถา
จากสำเนาตัวต้นฉบับที่เก็บไว้ ณ กรุงลอนดอน

ในปี ๒๔๒๓
เทรงก์เนอร์ได้เผยแพร่ “คัมภีร์มิลินทปัญหา” ฉบับสมบูรณ์

และระหว่างปี ๒๔๒๓ ถึงปี ๒๔๓๓
ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ “คัมภีร์มัชฌิมนิกาย”

ซึ่งน่าเสียดายว่าเทรงก์เนอร์มีโอกาสได้ “ยลโฉม”
ผลงานชุดดังกล่าวจึงสำเร็จเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น
ก็ตายเสียก่อนงานแล้วเสร็จ

ต้นฉบับลายมือเขียนของเทรงก์เนอร์
มิใช่เพียงแค่ “แปล” แบบ “บรรทัดต่อบรรทัด” เท่านั้น

ทว่ายังมีการแทรก “ข้อสังเกตเชิงวิเคราะห์”
และ “การอ้างอิงเชื่อมโยงกัน”
ระหว่าง “ข้อความ” ที่ยกมาเปรียบเทียบกัน

*****

ซึ่งในความเป็นจริง
เทรงก์เนอร์มิได้เขียนขึ้นเพื่อตีพิมพ์
แต่ใช้เพื่อเป็น “เอกสารสำคัญ”
สำหรับ “การรวบรวมข้อมูล”
เพื่อการจัดทำพจนานุกรมและไวยากรณ์บาลีฉบับยิ่งใหญ่
โดยทางเทรงก์เนอร์ได้ริเริ่มเตรียมการเอาไว้
จากช่วงแรกที่คาดว่าจะจัดทำ
“พจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์”

ควรทราบว่า
พจนานุกรมบาลีของเทรงก์เนอร์
ในช่วงเริ่มต้น
เขาเขียนเป็นลายมือดังตัวอย่างที่แสดงเอาไว้
บนกระดาษหน้ากว้าง ๕ เซนติเมตร ยาว ๘.๕ เซนติเมตร

หน้า-หลัง ของกระดาษ ๕ ซม. x ๘.๕ ซม.
จดบันทึกคำบาลีทีละคำ

จากการสังเกต
พบความอัศจรรย์ตรงที่
เมื่อเทรงก์เนอร์จดคำศัพท์บาลี
เขา “ใช้” กระดาษ
ที่เหลือจากการจัดทำ
“พจนานุกรมอาหรับ” ของเขา

และผลงานในฝันชิ้นแรกคือ “พจนานุกรมอาหรับ” 
ก็ค้างเติ่ง และเทรงก์เนอร์ก็ทำไม่แล้วเสร็จตลอดกาล 

การอ้างอิง เริ่มต้นโดยอ้างจาก
“อภิธานัปปทีปิกา”
(หน้าและคาถาแรก ใช้คำศัพท์ของคลัฟ)

หลังจากนั้นจึงอ้างอิงคำจากต้นฉบับตัวเขียนของเขาเอง

บางครั้งก็อ้างอิงตัวเขียนฉบับใบลาน

หรืออ้างอิงฉบับพิมพ์

ยกตัวอย่าง มหาวงศ์ ของทัวร์เนาร์
วินัยปิฎก เล่ม ๑-๒
ธมฺมปท (๑๘๕๕)
ชาตก ๒ เล่มแรก เป็นต้น

 

ตอน ๗ 
*****

คำที่ “เทรงก์เนอร์” รวบรวมเอาไว้
แยกเป็น คำนามศัพท์ และคำในบาลี
ที่ไม่เปลี่ยนรูปในภาษาบาลี
รวมถึงคำกิริยาศัพท์ในภาษาบาลี
ก็รวบรวมโดยจัดหมวดหมู่ไว้แยกกัน
ตามระบบการจัดทำพจนานุกรมสันสกฤต
ของศาสตราจารย์เวสเตอร์การ์ด

แต่ถึงกระนั้น คำบาลี
ก็ยังอ้างอิงถึง “ธาตุ” สันสกฤต
ที่แตกต่างกัน
โดยจัดเรียงไว้ตามลำดับอักษรตามปกติ
ยกตัวอย่าง ภาพที่ ๓

 

ภาพที่ ๓
ตัวอย่างการอธิบายธาตุสันสกฤตที่ใกล้เคียงธาตุบาลีคือ “นนฺท”

เทรงก์เนอร์ อธิบายธาตุคือ นนฺท
ซึ่งแยกเป็น อภิ-, อา-, และ ปรติ-, นํ เป็นต้น

ส่วนคำอธิบายรายละเอียดปลีกย่อย ใน “กระดาษโน้ต”
บันทึก “ข้อสังเกตที่หลากหลาย” ถึงไวยากรณ์บาลี
โดยเฉพาะ “ปัจจัย” “วากยสัมพันธ์” เป็นต้น
(ดู ภาพที่ ๔ ประกอบ)

ภาพที่ ๔ ปัจจัยในภาษาบาลี “-ล”

ภาพที่ ๕ การผสมคำ อักขระคือ “ป”

การอ้างอิงอื่นๆ จากพระบาลี
แสดงให้เห็นถึง
ชีวิตของบรรพชิต และชีวิตปกติของคฤหัสถ์
พงศาวดาร นิติศาสตร์ ชื่อของพันธุ์ไม้ เป็นต้น
(อสาธารณนาม และรายชื่อหนังสือ
หรือการจัดหมวดหมู่แบ่งแยกประเภท
ได้รวบรวมคำนามเหล่านี้เอาไว้แล้ว)

*****
เทรงก์เนอร์ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษ
รายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยเหล่านี้
โดยได้อุทิสตนเองให้แก่การเรียงลำดับ
ทะเบียนตัวเขียนและงานเขียนของผู้แต่งต่างๆ
ลายมือ ที่จดบันทึก ภาษาสิงหล หรือภาษาพม่า
(ยกตัวอย่างภาพที่ ๕ ซึ่งแสดงให้เห็นถึง
การจดบันทึก “อักขระ”
ที่ความหมายยังคลุมเครือไม่กระจ่างชัด)

งานทั้งหมดในการทำพจนานุกรมของเทรงก์เนอร์
สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานที่เน้น “ความถูกต้องแม่นยำ”
ชนิด “นาที-ต่อ-นาที”

กลายเป็นผลงานอันเปี่ยมล้นด้วยคุณค่าและคุณภาพ
และที่ค้นพบบ่อยครั้งภายใต้คำที่สะกดหลากหลาย
ตัวเขียนและหนังสือที่แต่งหลายจุด
พบว่ามีการจดบันทึกสถิติไว้ครบถ้วนถึง
การสะกดคำที่แตกต่างกัน
โดยเทรงก์เนอร์ลงมือจดรายละเอียดด้วยตนเอง

นอกจากนี้ เทรงก์เนอร์ยังได้ “เหลือ”
ผลงาน “พจนานุกรมบาลี” จำนวน ๒ เล่ม
ซึ่งรวบรวมงานในระยะเริ่มแรกที่เก็บรวบรวมคำบาลีเอาไว้
สำหรับไวยากรณ์บาลีฉบับสมบุรณ์
(อักขระวิธี วจีวิภาค วากยสัมพันธ์ ฉันทลักษณะ)

แต่น่าเสียดายว่า เช่นเดียวกับ
“พจนานุกรมบาลี” และ “มัชฌิมนิกาย” ของเขา
รวมถึง “อรรถกถา” ได้หยุดชะงักลง
หลังจากเทรงก์เนอร์ ถึงแก่กรรมลงในปี ๒๓๗๔

ตอน ๘ 
*****

น่าเสียดาย “ตำรับตำรา” เอกสารตัวเขียน
ใบลาน และหนังสืออ้างอิงต่างๆ
ซึ่งเทรงก์เนอร์ใช้เวลารวบรวมทั้งชีวิต
ค่อยๆ สั่งสมเอาไว้เป็นระยะเวลานานถึง ๓๕ ปี
ที่เขาได้ตั้งใจ ทุ่มเท และทำงานวิชาการ
วิทยาการวิจัยค้นคว้าพุทธศาสนา
เน้น “บาลีศึกษา”
จนตัวเขาเองมีฐานความรู้พระบาลี
แตกฉาน ลึกซึ้ง และลุ่มลึก อย่างหาตัวจับยากในยุโรป

ทว่าเบื้องหลังตำนานชีวิต
พอเขาถึงแก่กรรมลง
“ห้องสมุดส่วนตัว” ของเขา
หนังสืออันมีค่าทุกเล่ม
ได้ถูก “ขายต่อ”
ให้ทางประเทศเยอรมัน

ยกเว้นตัวเขียนลายมือของเขาทั้งหมด
ได้เก็บรักษาไว้อย่างดีเยี่ยม
ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก

ส่วน “กระดาษบันทึก” จัดทำ
พจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์ ทุกชิ้น
โดยคำแนะนำของศาสตราจารย์ฟอสบอลล์
ปรากฏว่าเทรงก์เนอร์ได้ทำพินัยกรรมก่อนเสียชีวิต
มอบให้ “ไดนส์ แอนเดอร์สัน”
แห่งมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน
รับช่วงจัดทำ “พจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์” ต่อไป

ซึ่งทางแอนเดอร์สันได้ร่วมกับ “เฮลเมอร์ สมิธ”
ดำเนินการจัดทำ “พจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์”
เล่มใหญ่ ชุดใหญ่ ที่มี “ตำนานอันยิ่งใหญ่” ต่อเนื่องต่อไป

โดย “ตัวเขียน” ต้นฉบับ “พจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์”
ได้ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี
ร่วมกับต้นฉบับบาลีอื่นๆ ของเทรงก์เนอร์
ที่หอสมุดมหาวิทยาลัยแห่งกรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก

ทุกวันนี้ “เทรงก์เนอร์” เป็นเพียงแค่ “นาม”
บาลีใช้คำว่า “นามมตฺตํ”

แต่ นาม “เทรงก์เนอร์” ได้สงวนไว้โดย “จดจาร” เอาไว้
ด้วยความซาบซึ้งอย่างลึกซึ้ง
ในประวัติวงการ “ภาษาศาสตร์บาลี”

และผลงาน “พจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์”
ของ “เทรงก์เนอร์”
แน่นอนว่าจะไม่ถูกลืม หรือสูญหายตลอดไป

ชีวิตทั้งชีวิตของเขาเป็นตำนานความประทับใจ
สำหรับการเสียสละอย่างใหญ่หลวง

การทุ่มเททำงานหนัก และการมีจิตอาสาทำดี
โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
ในแวดวง “บาลีศึกษา”
ซึ่งมีแต่ “ใจรัก” และ “ใจสัทธา” เท่านั้น
ยากที่จะมั่งคั่งร่ำรวยใดๆ ขึ้นมาได้
จากการยึดอาชีพ “นักปริวรรต” “นักแต่งแปล” บาลี
ในแวดวง “พระไตรปิฎกศึกษา” แห่งทวีปยุโรป

ตลอดชีวิต เทรงก์เนอร์
ใช้ชีวิตเงียบงัน และเรียบง่าย ไม่หวือหวา
เขาไม่เคยเดินทางออกไปต่างประเทศ
และที่จะเดินทางออกไปนอกเมือง
จากกรุงโคเปนเฮเกน ก็นับครั้งได้

การใช้ชีวิตอย่างประหยัด
มัธยัสถ์ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่สุรุ่ยสุร่าย
ใช้จ่ายแต่พอดี เกินกว่าที่คนธรรมดาจะทำได้
ของเทรงก์เนอร์

ทำให้เขามีเงินเพียงพอที่จะเลี้ยงชีพอยู่ได้
โดยสามารถทำงานเป็นครูอาสา
สอนเด็กยากจนที่ศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยในกรุงโคเปนเฮเกน
ได้อีกด้วย

ซึ่งเขาก็อดทนทำงานที่นี่ต่อเนื่องติดต่อกัน
เป็นเวลายาวนานถึง ๓๐ ปี
งานสอนเด็กกำพร้า

เป็นงานที่ซึ่งหลายคนไม่มีวันลืมเลือน
ความใจดีมีเมตตาของเทรงก์เนอร์

แม้ว่าเขาจะมีฝันเล็กๆ
สนใจที่จะทำงานเป็น “บรรณารักษ์” ห้องสมุด
ในหอสมุดราชสำนักแห่งกรุงโคเปนเฮเกน

ทว่าฝันเล็กๆ ของเขาก็ล้มเหลว
เป็นฝันที่ไม่กลายเป็นจริง

และเทรงก์เนอร์ก็ไม่สามารถทำงานได้
ตามที่ใจฝันและคาดหวัง

ณ หลุมฝังศพของเขา
กรุงโคเปนเฮเกน เดนมาร์ก

ไม่มี “ถ้อยคำ” ใดๆ จดจารอะไร ใดๆ เอาไว้
เป็นอนุสรณ์ถึงคุณงามความดีของเทรงก์เนอร์
ที่มีต่อแวดวง “บาลีศึกษายุโรป”

แต่คาดกันว่าบน “เสาหลัก” กลางสุสาน
ถ้าจะมีการ “จารึก” ถึง
คุณงามความดีของ “เทรงก์เนอร์”
ที่มีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อ
แวดวงบาลีศึกษาในยุโรป
ผลงานชิ้นสำคัญที่ปรากฏในวงการคือ
“พจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์”
ซึ่งภายหลังอีก ๖๓ ปีต่อมา
ได้จัดทำกันต่อเนื่องจนถึงอักขระ
“กาเรติ” และทำกันต่อได้อีกเพียงแค่คำศัพท์เดียวคือ
“กาเรตุกาม” ก็ยุติลงในปี ๒๕๕๔
ซึ่งนับเป็นเพียงแค่เล่ม ๓
ที่บรรณาธิการคือ
“ศาสตราจารย์ ดร. ออสการ์ แวน ฮินิวเบอร์”
ตีพิม์เผยแพร่โดยสมาคมบาลีปกรณ์ เมืองบริสโตล ในปี ๒๕๕๔

ถ้อยคำที่น่าจะจารึกไว้
เป็นอนุสรณ์บน “เสาหลัก”
ในสุสานของเทรงก์เนอร์
ควรใช้พระบาลีว่า
“อปฺปมตฺโต อาตาปี ปหิตตฺโต”
(มัชฌิมนิกาย เล่ม ๑, ๒๒,๒๕)
แปลว่า “ผู้ไม่ประมาทแล้ว
ผู้มีความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน
ผู้มีใจส่งไปแล้วในโลกหน้า”

—–

ข้อเขียนที่แปลและเรียบเรียงนี้
ส่วนใหญ่สรุปความจาก
ข้อเขียนที่ขียนไว้
ในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี
แห่ง “ผู้ริเริ่มนวัตกรรม บุกเบิก จัดทำ”
“พจนานุกรมบาลีเชิงวิเคราะห์” นามว่า
V. Trenkner
โคเปนเฮเกน
๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๗

โดย Dines Andersen

******

 

 

 

 

 

 

Comments

comments