๒๓๗. “สมการชีวิต : ความรู้+ความสามารถ+เกียรติยศ+อำนาจ+เงินตรา”

๑๘.๘.๒๕๖๒
ข้ออรรถ ข้อธรรม

“สมการชีวิต : ความรู้+ความสามารถ+เกียรติยศ+อำนาจ+เงินตรา”

 

อุทิส ศิริวรรณ
เขียน

—–
คำสำคัญ

“จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์”
“จอมพล ป. พิบูลสงคราม”
“ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์”
“เจริญ กนกรัตน์”
“สังข์ พัธโนทัย”
“สังเวียร มีเผ่าพงษ์”
“สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร) วัดชนะสงคราม”
“เหตุผลที่ต้องเล่าเรียนสูงๆ”
“สารลับโตเกียวถึงกวางเจา”
“พระไทยไปเรียนอินเดีย
รับนิมนต์ไปเยือนปักกิ่ง
กลับไทยติดคุก ๔ ปี ๑๐ เดือน ๑๔ วัน
เท่ากับเรียนปริญญาตรี ๑ ใบ”

ปิดท้ายด้วย
“คำให้การ” ของพลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต แกนนำก่อการรัฐประหาร

“ต้องการปรับปรุงกองทัพบกเพราะเสื่อมโทรม ผู้บังคับบัญชาไม่เอาใจใส่
เพราะมัวแต่ไปยุ่งการค้าการเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของทหาร”

——

นายสังเวียร มีเผ่าพงษ์
เปรียญธรรม ๙ ประโยค
ท่านที่ ๗๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
นับแต่การเริ่มต้นมีการสอบพระปริยัติธรรม
ด้วยระบบการสอบข้อเขียน
เคยเขียนชีวิตไว้ว่า ได้เคยบวชเรียนเป็นสามเณร ๘ พรรษา
บวชเป็นพระ ๑๒ พรรษา
สิริรวม ๒๐ พรรษา
และตั้งใจอยู่ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์ตลอดไป จนกว่าชีวิตจะหาไม่
ทว่าสุดท้าย ความแน่นอน คือความไม่แน่นอน
ชีวิตจริง หลังทำคะแนนได้สูงสุดที่สถาบันบาลีนาลันทา
เหนือพระภิกษุจากนานาชาติ
จบปริญญาโท กำลังจะกลับไปต่อปริญญาเอก
ทว่ากลับต้องมา “ติดคุกติดตาราง” เนิ่นนานถึง ๔ ปีเศษ
โดยไม่คาดคิด ไม่คาดฝัน ไม่เคยนึก ว่าชีวิต จะเลวร้าย เยี่ยงนี้

ท่านสรุปทำนองว่า
“สังสารวัฏ: กิเลส-กรรม-วิบาก”
เป็น “ตัวกำหนด” และ “บงการ”
ให้ท่านพบพานกับ “โลกธรรมฝ่ายเสื่อม”

——–
เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้
สะท้อนว่า
“ความรู้-ความสามารถ-เกียรติยศ-อำนาจ-เงินตรา”
มีผลทำให้คนเราพบเจอ “โชคดี” และ “โชคร้าย” นานัปประการ
——-

สตีฟ จอบส์ บอกว่า ลางครั้งลางคราวลางที
วิถีชีวิตของเรา เหมือนมี “พรหมลิขิต”
ลาก “เส้นชีวิต” ของเรา
ให้ไปเชื่อมต่อเชื่อมโยงเชื่อมจุดต่างๆ
ต้องพบพานกับ “คนนั้นคนนี้” ในประเทศนั้นประเทศนี้

แต่กรณี “ลากจุด” เชื่อมโยง “ชีวิต”
จาก “นาลันทา” แคว้นพิหาร ราชอาณาจักรมคธ ในอดีตให้ “เส้น” ต่อ “เส้น” ถึง “มหานครปักกิ่ง” แล้ว “ชีวิต” ก็ดับวูบลง ต้องมาติดคุกติดตารางที่
“เมืองบางกอก”

เป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ไม่อยากพบพาน
เหตุการณ์อันเลวร้ายเยี่ยงนี้

——–

เรื่องราวของ “นายสังเวียร มีเผ่าพงษ์” ผู้สอบบาลีได้ประโยค ๙
ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ลำดับที่ ๗๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ซึ่งไปเรียน “บาลี” ที่สถาบันบาลีนาลันทา แคว้นมคธ รัฐพิหารอินเดีย
ในชนบทอันไกลโพ้น ไม่เกี่ยวโยงใดๆ กับ “คอมมิวนิสต์”

แต่ทว่าไปผูกโยงกับ “ปรีดี พนมยงค์”  ซึ่งพำนักที่นครกวางเจา เมืองจีน ในห้วงเวลานั้น
และ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ซึ่งพำนักที่นครโตเกียว ญี่ปุ่น ได้อย่างไร?

น่าอ่าน เป็น “กรณีศึกษา” โชคชะตาชีวิต

 

—————

ท่านสังเวียร เป็นต้นแบบ “คนสู้ชีวิต” ในทัศนะผม
ท่านมีความรู้ความสามารถ
เป็นที่นิยมชมชอบพระเถรานุเถระ

ครูบาอาจารย์ของผม
หลวงเตี่ย “พระธรรมราชานุวัตร” เล่าว่าท่าน
เป็นผู้ที่ “สมเด็จพระสังฆราช ป๋า” วัดพระเชตุพน โปรดปรานมาก
ถ้าชีวิตไม่ประสบเคราะห์กรรมเสียก่อน
ก็คงได้เป็น “พระราชาคณะ” แน่ๆ

ท่านเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการบาลี
ในนาม “พระมหาสังเวียร เตชธโร มีเผ่าพงษ์” อายุ ๒๖ พรรษา ๖ วัดพระเชตุพน กรุงเทพฯ
โดยมีรายชื่อติดทำเนียบเปรียญธรรม ๙ ประโยค ลำดับที่ ๗๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ลำดับถึงก่อนผู้สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ลำดับที่ ๗๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นามว่า  “พระมหานิยม ฐานิสฺสโร จันทร์นินท์” อายุ ๓๒ พรรษา ๑๑ วัดราชบุรณะ กรุงเทพฯ แล้วกาลต่อมา “พระมหานิยม” ได้กลายเป็น “สมเด็จพระมหาธีราจารย์” สถิต ณ วัดชนะสงคราม  สมเด็จพระกรรมวาจาจารย์ ของผม

อ่านให้จบ จะได้รู้ว่า “ท่านไม่เล่นการเมือง การเมืองก็เล่นท่าน” ดังที่หลวงวิจิตรวาทการ เคยว่าไว้

——–

ผมเคยตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่า
ทำไมเราต้องเรียนหนังสือสูงๆ?
ได้พบคำตอบว่าสาเหตุเกิดจาก
ประการที่ ๑ ความรู้
ประการที่ ๒  ความสามารถ
ประการที่ ๓  เกียรติยศ
ประการที่ ๔ อำนาจ
ประการที่ ๕ เงินตรา

แต่ “พลังอำนาจ” ทั้ง ๕ ประการนี้
ลางทีก็ “ฆ่าคน” ผู้ดิ้นรนแสวงหา

พลังอำนาจทั้ง ๕ เอาได้ง่ายๆ เหมือนกัน
——

คนที่ “นามสกุล” และ “ครอบครัว” ไม่ดี ไม่เด่น ไม่ดัง
เส้นทางเดียวที่จะมี “เกียรติยศ-เงินตรา-อำนาจ”
ต้องใช้ “ความรู้” และ “ความสามารถ”

ผมสังเกตว่า คนที่ส่งลูกไปเรียน ประเทศที่เจริญก้าวหน้ากว่าไทย
อย่าง “เศรษฐกิจ” และ “การค้า” จะนิยมส่งไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา
เพราะที่นั่นเป็น “ต้นแบบ” ความคิดอ่าน การจัดการ การเงิน การลงทุน การตลาด

ครั้นพอไปฝังตัวไปเรียน และทำงานที่นั่น
ก็จะค้นพบ “ช่องทาง” และ “โอกาส”
ที่แตกต่าง และไม่เหมือนกับคนที่หากินในเมืองไทย

รวมถึงมีโอกาสพบพานกับ “ช่องทาง” และ “โอกาส”
ที่ดีกว่าไปเรียนต่อ “ฟิลิปปินส์” หรือ “อินเดีย”

ทว่ายุคนี้ คนหนุ่มสาวเลือกเรียน “เมืองไทย”
เพราะเมืองไทย ก็เป็นศูนย์กลางแห่งช่องทางและโอกาสของอาเซียน

เวลานี้กลับกัน จีน พม่า เวียดนาม บังคลาเทศ ลาว เขมร เนปาล ศรีลังกา อินเดีย เริ่มนิยมมาเรียนต่อกันที่เมืองไทย

ไม่ค่อยบินไปไกลถึงสหรัฐอเมริกา

——-
อีกวงการ “นายพล” ส่วนมากไม่ได้ไปเรียนเมืองนอก
ดังนั้นจึงนิยมแสวงหา “อำนาจ” เป็นหลัก
ส่วน “เงินตรา” เป็นเพียง “ผลพลอยได้”
เมื่อร่วมมือกับ “กลุ่มทุน” และ “กลุ่มนักกฎหมาย”
ข้อหา “ยักยอก” “ทุจริต” “คอรัปชัน” จึงเหมาะสมกับยุคดิจิทัล

แตกต่างจากยุคก่อนข้อหา “การกระทำอันเป็นภัยต่อความมั่นคง” กล่าวคือ “ลัทธิคอมมิวนิสต์”
ถูกยกถูกใช้เป็น “ข้ออ้าง” ในการล้มล้าง “อำนาจ” ในอดีตก่อนยุคดิจิทัล

เคยมีการชั่ง “น้ำหนัก” ระหว่าง “ประชาธิปไตย” อย่าง “สหรัฐอเมริกา”
กับ “คอมมิวนิสต์” อย่าง “จีน” และ “รัสเซีย”
เรื่องลับเบื้องหลัง “การแย่งชิงอำนาจ”
ระหว่างกลุ่มจอมพล ป. พิบูลสงครามกับกลุ่มจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
โดยเฉพาะ “การเดินสารลับ” ระหว่าง “มหานครโตเกียว” กับ “มหานครกวางเจา”
ยังคงเป็นเรื่องที่ “น้อยราย” นักที่จัก “ล่วงรู้” ความลับสวรรค์ ในข้อนี้

น่าสนใจศึกษาเอาไว้

ให้บังเอิญว่า นอกจากเรื่องราว “พระบาลี” ในมหานครโตเกียว
ที่ผมไปค้นคว้าเมื่อไม่นานมานี้

“เอกสารลับ” ที่มีไปมาระหว่าง “มหานครโตเกียว” กับ “มหานครกวางเจา”
เป็นเรื่องน่าสนใจ และผมอยากเล่าต่อไว้ประดับความรู้

กันลืมกัน

—–

หลังจากที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกจอมพลสฤษดิ์ ยึดอำนาจ
ได้ลี้ภัยไปอยู่ที่มหานครโตเกียว

ส่วนศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ หลังถูกคนกลุ่มหนึ่ง
ไปยืนในมุมมืด ร้องตะโกนดังๆ ในโรงหนังว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” ภาพลักษณ์ก็เสียหาย

ท่านปรีดีได้ตกเป็น “ผู้แพ้” เป็นไปดังวลีฮิตของผมว่า “แพ้เป็นโจร ชนะเป็นเจ้า”

พอพ่ายแพ้ ชะตากรรม ชีวิต และโชคชะตา ก็พลิกผัน

พอท่านปรีดีพลัดตกจากอำนาจ และกลายเป็นคนมีชนักปักหลังติดตัว

ชะตาชีวิตผกผัน ผันแปรจากหน้ามือเป็นหลังมือ คนเดียวยังไม่พอ
และยังพลอยมีผลทำให้

“พระพิมลธรรม (อาจ อาสโภ)”

และคนอื่นๆจำนวนมาก

ติดร่างแหติดคุกตามไปด้วย

ถึงขั้นถูกประหารชีวิตก็มี อย่างรายเฉลียว ชิตและบุศย์

ไม่ต่างจากยุคดิจิทัล
ใครสนิทกับคนเหนือชื่อใต้ ก็พลอยติดร่างแห ติดคุกตามไปด้วย
——-

จังหวะเวลาที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมามีอำนาจ มีเงินตรา และมีเกียรติยศ ชั้นสูงสุด
แบบเบ็ดเสร็จ และเด็ดขาดนั้น

มีความเคลื่อนไหวลับของ ๒ อดีตผู้นำการเมืองไทยที่ควรเล่าไว้กันลืม

ปรีดีกับจอมพล ป. เป็นเพื่อนเก่าแก่สมัยเรียนที่ฝรั่งเศส และได้ร่วมกันก่อการอภิวัฒน์
ภายหลังต้องมาต่อสู้กันในทางการเมืองและแย่งชิงอำนาจ

ฝ่ายจอมพล ป. ได้ครองอำนาจ มีผลทำให้ปรีดีต้องอพยพลี้ภัยไปอยู่ที่กวางเจา เมืองจีน

ส่วนจอมพล ป. ภายหลังถูกจอมพลสฤษดิ์ ปฏิวัติรัฐประหารแย่งชิงอำนาจรัฐ
ได้อพยพลี้ภัยไปกัมพูชาก่อนไปพำนักที่ญี่ปุ่นจนถึงแก่อสัญกรรมที่มหานครโตเกียว

สังข์ พัธโนทัย คนสนิทของจอมพล ป. ได้ส่งจดหมายลับ ลงวันที่ ๑๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ ถึงปรีดี
ระบุว่าจอมพล ป. พยายามจะรื้อฟื้นคดีสวรรคต ร. ๘

จอมพล ป. ต้องการดึงตัวปรีดีกลับไทยมารับใช้ชาติบ้านเมือง
และพยายามที่จะปรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ในสารลับดังกล่าวระบุว่า “จอมพล ป. และปรีดี
มีโอกาสปรับความเข้าใจกัน”

บันทึกลับของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ระบุไว้ชัดเจนว่า “พลตำรวจเอกเผ่าได้สอบปากคำผู้ต้องหาคดีสวรรคต ๓ คนคือ นายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศริน
ทั้ง ๓ ปากให้การตรงกันว่าตนเองทั้ง ๓ คนและปรีดีเป็นผู้บริสุทธิ์ มิได้พัวพันกับกรณีสวรรคตของ ร. ๘”
ซึ่งปรีดีได้ตอบจดหมายของสังข์ พร้อมแจ้งว่าขอพบกับสังข์เพื่อหารือกับกรณีดังกล่าว

ต่อมากลางเดือนสิงหาคม ๒๕๐๐ จอมพล ป. ได้ส่งทนาย ๒ คนคือนายชิต เวชประสิทธิ์ กับนายลิ่วละล่อง บุนนาค
ผ่านสังข์ พัธโนทัย คนสนิทของจอมพล ป. ไปพบกับปรีดีที่เมืองจีน

ทว่าต่อมาในเดือนกันยายน ๒๕๐๐
เมื่อชิตและลิ่วละล่องเดินทางกลับมาถึงเมืองไทย จอมพลสฤษดิ์ ได้ปฏิวัติและยึดอำนาจจอมพล ป.

ซึ่งจอมพล ป. ได้ลี้ภัยไปยังกัมพูชา ก่อนจะอพยพต่อไปยังญี่ปุ่น ส่วนสังข์ พัธโนทัย ถูกจับติดคุกในเวลาต่อมา

แต่เรื่องยังไม่จบเพียงแค่นั้น สังข์ มองว่า “จอมพล ป. เก่งทางบู๊ ส่วนปรีดีเก่งทางบุ๋น หากประสานกันได้ก็จะมีพลัง”

และจอมพลป. กับปรีดี ก็มีคนในกองทัพและนอกกองทัพนิยมชมชอบเป็นอันมาก

มีนายทหารให้การสนับสนุนไม่น้อย รวมถึงข้าราชการกระทรวงทบวงกรมต่างๆ และอาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ “เจริญ กนกรัตน์” คนสนิทของสังข์ จึงได้ทำการสานต่อโดยทำหน้าที่ “เดินสาร” ระหว่างโตเกียวกับกวางเจา

เหตุผลที่ “รัฐบาลจีน” สนับสนุน “การเดินสารลับระหว่างโตเกียวกับกวางเจา” เพราะจอมพล ป. กับปรีดี
ต่างมีความสัมพันธ์ที่ดีกับจีน

เหตุผลสำคัญที่จอมพลสฤษดิ์โค่นล้มยึดอำนาจจอมพลป. เพราะการหันกลับมาคืนดีกันระหว่าง ๒ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่และความต้องการมีสัมพันธ์ที่ดีกับจีนของจอมพล ป.

จอมพล ป. ใช้รหัสลับในการติดต่อกับปรีดีว่า “วาตานาเบ้”
ส่วนปรีดีใช้รหัสลับว่า “โปรเฟสเซอร์หลิน”   ผู้ประสานงานคนสำคัญคือ “เจริญ กนกรัตน์” ใช้รหัสลับว่า “มิสเตอร์เหลียง”

หลักฐานสำคัญคือครั้งหนึ่งจอมพล ป. เคยส่งข้อความถึงปรีดี ในนาม “วาตานาเบ้” โดยข้อความในโทรเลขเขียนว่า “ไม่ขัดข้องตามราคาที่เสนอมานั้น”

และระหว่างทำหน้าที่ประสานงาน “มิสเตอร์เหลียง” ไม่ได้เดินทางกลับไทยอีกเลย ได้แต่เทียวไปเทียวมาเส้นทาง ปักกิ่ง-กวางเจา-โตเกียว อยู่หลายเที่ยว แม้เมื่อมารดาของเขาถึงแก่กรรมลงในเดือนพฤศจิกายน ปี ๒๕๐๖ เขาก็ทำได้เพียงแค่ส่งธูปเทียนมาเผาศพแม่ที่เมืองไทย

ถึงวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๐๖ จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม แต่แล้ว “คนลิขิตมิสู้ฟ้าลิขิต” ต่อมาในวันที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน ๒๕๐๗  จอมพล ป. ถึงแก่อสัญกรรมที่ซากามิ-โอโนะ กรุงโตเกียว โดย “เจริญ กนกรัตน์” หรือ “มิสเตอร์เหลียง” เป็นแขกคนแรกที่ได้คารวะศพมหาบุรุษทางการเมืองคนสำคัญของไทยในอดีต

เป็นอันสิ้นสุดความพยายามที่จะกลับคืนสู่มาตุภูมิของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ หลังจากนั้นปรีดีได้อพยพจากกวางเจาไปอยู่ปารีส ฝรั่งเศส และถึงแก่อสัญกรรมที่ปารีสในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖

นี่คือเรื่องราวส่วนหนึ่งของ “เหตุการณ์สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย” ที่ขาดหายไป

ผมบันทึกต่อไว้ให้ “กันลืม”

เนื้อหาส่วนนี้จากงานวิจัยของ “รุ่งมณี เมฆโสภณ” เรื่อง “อำนาจ ลอกคราบการเมืองไทย อุดมการณ์ เพื่อชาติ และญาติมิตร” กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์, ๒๕๕๔, ๓๙๒ หน้า, หน้า ๒๕๔-๒๕๗

—–
ผม “ลากเส้น” จากอีกจุดหนึ่งของอีกเมือง อีกประเทศ มาเชื่อมโยงกันให้เห็นภาพอีกภาพ

ความหวาดระแวงปรีดีของจอมพลสฤษดิ์ ที่กรุงเทพฯ ส่งผลกระทบต่อพระไทยอีกประเทศกลุ่มหนึ่ง
ซึ่งไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับปรีดี พนมยงค์ แต่ถูกลากเส้นจากอีกจุดมาเชื่อมต่อกับอีกจุดโดยบังเอิญ

ห้วงเวลาที่ปรีดีถูกยัดเยียดปรักปรำข้อหา “ปรีดีฆ่าในหลวง ร. ๘” นั้น
มีพระไทยกลุ่มหนึ่ง ที่เรียนจบเปรียญจากไทยแล้ว ขวนขวายไปเรียน “บาลี” ชั้นสูงต่อ ที่สถาบันบาลีนาลันทา ประเทศอินเดีย ในระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโท
บังเอิญพระสงฆ์คณะนี้ได้รับนิมนต์ให้ไปกรุงปักกิ่ง ช่วง ๒๕ พุทธศตวรรษ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๐

อันเป็นห้วงเวลาที่ “ปรีดี” เดินทางมาเยือนมหานครปักกิ่ง พอดิบพอดี

ความบังเอิญที่ไม่บังเอิญ มีผลทำให้ “พระสงฆ์ไทย” พลอยถูกร่างแห ถูกเพ่งเล็ง ตามไปด้วย

สิ่งที่ควรห่าง “ผู้มีอำนาจ” ทุกวงการคือ “อาการหวาดระแวง” “หวาดผวา” “หวาดกลัว”

พระสงฆ์ไทยที่ไปเรียนอินเดีย
บินกลับจากจีนมาเรียนต่ออินเดีย พอบินกลับไทย ถูก “สันติบาล” จับที่สนามบินทันที
ด้วยข้อหา “บ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์”

ทั้งที่พระท่านต่างเดินทางไปในนามชื่อคณะ International Buddhist Monks Delegation to China ซึ่งโดยรวมแล้วไม่น่าจะมีปัญหาทางการเมืองมาถึงประเทศต้นทางของนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายของรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์สมัยนั้นที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างหนัก การเดินทางไปประเทศคอมมิวนิสต์ของไทยทุกคณะกลายเป็นเรื่องการเมืองไป หลายคณะถูกจับสอบสวนถึงขั้นควบคุมตัว ถูกยิงเป้าก็มี ถูกยิงทิ้งแบบป่าเถื่อนก็มี

พระไทยที่พบพานเรื่องเลวร้ายเหล่านี้ได้เล่าเรื่องเหล่านี้ให้พระอินเดียฟังกัน

พระอินเดียต่างหัวเราะขบขัน เห็นว่าเป็นเรื่องเชื่อถือไม่ได้ และเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้   

แต่สุดท้ายไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้

โชคร้ายก็พลันบังเกิดกับกลุ่มพระไทยในกาลต่อมา

การเดินทางของคณะออกเดินทางจากนครกัลกัตตา ผ่านสหภาพพม่า อาศัยและเยี่ยมชมพม่า ๓-๔ วันจึงเข้าประเทศจีนทางเมืองคุนหมิง แล้วเข้าปักกิ่ง

ผู้เขียนคือ “สังเวียร มีเผ่าพงษ์” ป.ธ. ๙  สำนักเรียนวัดพระเชตุพน เล่าว่า ช่วงเวลานั้นมีคนไทยที่ลี้ภัยในจีนหลายคน อาทิ นายปรีดี พนมยงค์, นายประเสริฐ ทรัพย์สุนทร, ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ชาวไทยที่ลี้ภัยหลายรายเข้าพบคณะพระไทย เตรียมอาหารไทยมาถวาย แต่นายปรีดี ไม่เคยแวะมาหาพระไทยเลย มีผู้ไม่หวังดีปรุงแต่งเรื่องราวยัดเยียดปรักปรำใส่ร้ายใส่ความกล่าวหาว่าพระไทยพบนายปรีดี และร่วมกันวางแผนล้มรัฐบาลกันที่ปักกิ่ง

ถูกจับหลังกลับไทย

คณะอาศัยในจีนเดือนเศษก็เดินทางกลับอินเดีย ผ่านพม่า และเข้าอินเดียทางเมืองกัลกัตตา ระหว่างเดินทางผ่านพม่ามีผู้นำหนังสือพิมพ์ไทยมาให้อ่าน สื่อไทยตีพิมพ์เรื่องการเดินทางครั้งนี้ใหญ่โต มีทั้งคัดค้าน และเห็นด้วย

ฝ่ายที่เห็นด้วยก็มองว่าจะได้รู้ความจริงว่าศาสนาในจีนแดงยังมีหรือไม่

ฝ่ายที่คัดค้านเห็นว่า จีนแดงเป็นอโคจร พระไม่ควรไปเพราะเป็นคอมมิวนิสต์ สมควรให้คณะสงฆ์จับสึก พระจะต้องถูกล้างสมอง และอาจเลื่อมใสคอมมิวนิสต์ไปแล้วก็ได้

สังเวียร มีเผ่าพงษ์ บันทึกว่า

ผมต้องขอบันทึกให้ปรากฏไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ผมมีความมั่นใจในการกระทำของผมตลอดมาว่า มิได้เกี่ยวข้องกับการบ้านการเมืองหรือสิ่งที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์แต่ประการใดทั้งสิ้น เพราะผมไม่เคยศึกษา ไม่เคยสนใจที่จะรู้หรือติดตามตำรับตำราว่าด้วยลัทธิดังกล่าวแต่อย่างใดเลย…” 

ยุคนั้น ไปเมืองจีนและรัสเซียกลับมาแล้ว “ติดเชื้อสฤษดิ์” คือ “ติดคุก”
ทันทีที่เหยียบแผ่นดิน  ต้องไปหาหนังสืออีกเล่มมาอ่าน

“ชีวิตเหมือนฝัน” ของสังเวียร มีเผ่าพงษ์ ซึ่งเป็นเพื่อน “อดีต” อธิการบดีมจร
ดร. พระมหานคร เขมปาลี

และชีวิตของสังเวียร มีเผ่าพงษ์ ถือได้ว่าเป็นลูกผู้ชายชาวนาที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ความอยู่รอดของตัวเองและเพื่อนร่วมชะตากรรมซึ่งถูกกล่าวหาด้วยการกล่าวหาที่ไร้ข้อเท็จจริง จากที่คิดว่าจะเข้าเป็นศิษย์ตถาคต มาสู่ชีวิตฆราวาสที่ถูกมรสุมการเมืองเล่นงาน

พื้นเพก่อนบวชของนายสังเวียร เป็นเด็กหนุ่มในครอบครัวชาวนายากจน บางเลน นครปฐม บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๔ ตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี และอุปสมบทเป็นภิกษุเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ ศึกษาถึงชั้นเปรียญธรรม ๙ ประโยคในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ในนามสำนักเรียนวัดพระเชตุพน ขณะเมื่ออายุ ๒๖ ปี ๖ พรรษา ระหว่างนั้นมีโอกาสเดินทางไปศึกษาที่สถาบันบาลีนาลันทา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย โดยที่สมัยนั้นถือเป็นพระไทยรูปแรกที่จบชั้นสูงสุดและเดินทางไปศึกษาบาลีเพิ่มเติมในต่างประเทศ และยังสอบปาลีอาจาริยะ หลักสูตรบาลีสูงสุดของสถาบันได้เป็นที่ ๑ ของบรรดาพระนักศึกษาต่างประเทศทั้งหมด กลับไทยเพื่อเตรียมตัวเรียนต่อระดับปริญญาเอก

ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายสังเวียร มีเผ่าพงษ์ มีเนื้อส่วนหนึ่งเล่าถึงเส้นทางชีวิตช่วงที่ยังศึกษาในอินเดีย และได้รับนิมนต์ไปฉลองครบรอบ ๒,๕๐๐ ปีพุทธศาสนาที่กรุงปักกิ่ง แต่เมื่อเดินทางกลับมาที่วัดกลับถูกควบคุมตัว กระบวนการสอบสวนนานถึง ๔ ปี

คณะสงฆ์ไทยที่ศึกษาในอินเดียเดินทางไปจีน

เนื้อหาในหนังสือเล่าว่า ระหว่างที่อดีตพระมหาสังเวียร ศึกษาที่อินเดียก็เริ่มได้ยินข่าวคราวเรื่องความพยายามติดต่อรื้อสัมพันธ์ไทย-จีน แม้ว่าบรรยากาศการเมืองในยุคนั้นมีประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ออกมาแล้ว แต่ช่วงหลังรัฐบาลเริ่มมีท่าทีเปลี่ยนนโยบายให้เป็นสากลและเป็นกลางมากขึ้น ไม่หวังพึ่งสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว แต่การปรับไปคบกับประเทศคอมมิวนิสต์แบบกระทันหัน อาจทำให้รัฐบาลไม่รู้กระแสว่าประชาชนจะมองอย่างไร รัฐบาลจึงสนับสนุนคณะต่างๆ ที่เดินทางไปจีนในระยะสั้นเพื่อหยั่งปฏิกิริยาประชาชนต่อท่าทีใหม่

เดือนกันยายน ๒๔๙๙ ผู้อำนวยการสถาบันบาลีนาลันทาได้รับโทรเลขจากพุทธสมาคมกรุงปักกิ่ง แจ้งการนิมนต์และแจ้งรายชื่อพระนักศึกษานานาชาติที่กำลังศึกษาให้เดินทางไปร่วมฉลองครบรอบ ๒,๕๐๐ ปีแห่งพระพุทธศาสนาที่กรุงปักกิ่ง โดยมีชื่อพระจากทั้งศรีลังกา, เนปาล, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว และมีชื่อพระไทย ๔ รูป คือ พระมหามนัส พวงลำเจียก, พระมหานคร พยุงญาติ, พระมหาโอภาส เวียงเหล็ก และพระมหาสังเวียร มีเผ่าพงษ์

ในช่วงที่พระมหาสังเวียร เดินทางกลับไทย เป็นสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมตำรวจ และผู้บัญชาการทหารบก เมื่อกลับถึงวัดโพธิ์ที่กรุงเทพฯ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์เรียกพระมหาสังเวียร เข้าพบ แจ้งให้ทราบว่าตำรวจสันติบาลมาตามตัว จะนิมนต์ไปสอบปากคำ

รุ่งขึ้นพระเทพโสภณ หรือหลวงเตี่ย นำพระมหาสังเวียรเข้ามอบตัวกับตำรวจ หลังจากนั้นถูกแจ้งข้อกล่าวหา “บ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐและมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์”

ในสมัยนั้นไม่มีห้องขังพระโดยเฉพาะ สุดท้ายไปพักที่ชั้นล่างของตึกกอง ๑ ที่คนเรียกกันว่า “ตึกคอมมิวนิสต์” ห้องที่จัดให้พักมีลักษณะห้องโถง นำโต๊ะทำงานของตำรวจมาเรียงกันเป็นที่นอน พักจำวัดที่ตึกนี้ประมาณเดือนเศษ แม้ตำรวจสันติบาลปฏิบัติต่อพระแบบดีที่สุด แต่ยังห้ามเยี่ยม ห้ามพูดคุยกับใคร เบิกตัวไปสอบสวนเวลาใดก็ได้

สังเวียรเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีนายตำรวจนอกเครื่องแบบรายหนึ่งเข้ามาในห้องมีอาการมึนเมาเล็กน้อย ทำทีว่าจะมาแวะคุยกับพ.ต.อ.จรูญ เคหะเจริญ ผู้รับผิดชอบการสอบสวน เมื่อเห็นพ.ต.อ.จรูญ สอบสวนอยู่จึงพูดขึ้นว่า อ๋อ กำลังทำคดีนี้อยู่หรือ? อย่าสอบสวนให้เสียเวลาทำไม อ้ายพวกนี้ไม่ควรเอาไว้หรอก”จากนั้นก็วางปืนพกไว้บนโต๊ะข้างๆ

พ.ต.อ.จรูญ เอ่ยขึ้นมาว่ารายนี้เกือบเรียบร้อยแล้ว นายตำรวจท่านนั้นถึงออกจากห้องไป

เวลาผ่านไปก็ได้จำพรรษา ณ สันติปาลาราม หรือกองบังคับการตำรวจสันติบาล ๑ พรรษา โดยที่ยังไม่ทราบว่าฟ้องหรือไม่ฟ้อง และเจ้าของคดีก็ให้คำตอบได้ไม่ชัดเจน

คำที่ตำรวจสันติบาลใช้มากที่สุดคือ จะฟ้องหรือไม่ฟ้อง ก็แล้วแต่ผู้ใหญ่”
ไม่ต่างจากยุคดิจิทัลเลย

ถูกส่งฟ้องศาลทหารและการพิพากษา

วันหนึ่ง พ.ต.อ.จรูญ แจ้งว่า อัยการทหารมีคำสั่งฟ้องต่อศาลทหารกรุงเทพฯ หมายความว่า “ท่านมหาสังเวียร” ต้องลาสิกขา เพราะพระขึ้นศาลหรือเป็นจำเลยในศาลไม่ได้ ท่านมหาสังเวียรร้องขอให้ลาสิกขาที่วัดตามธรรมเนียมประเพณีการสึกเหมือนพระสงฆ์ทั่วไป ทำให้ได้พาตัวไปทำการสึกที่วัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ ไม่ได้สึกที่วัดพระเชตุพน เขตพระนคร ถิ่นเก่าที่เคยพำนัก เป็นอันยุติเส้นทางในวัด ๒๐ ปีลง (บวชเรียนเป็นสามเณร ๘ ปี บวชพระ ๑๒ ปี) เมื่อสึกแล้วก็คราวนี้แย่กว่าเดิม กลับมาเข้าห้องขัง ในฐานะจำเลย

หลังจากศาลรับฟ้องแล้วก็เท่ากับกลายเป็นจำเลย ย้ายไปคุมขังที่สโมสรตำรวจ ได้พบกับผู้ต้องหาที่ยกสถานะ ยกระดับกลายเป็นจำเลยในคดีเดียวกันหลายคน ประสบการณ์ในการขึ้นศาลทหาร “สังเวียร” ได้บอกเล่าไว้ว่า

ฝ่ายจำเลยเสียเปรียบทุกประตู นอกจากจะอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้แล้ว จำเลยยังไม่มีสิทธิ์แต่งทนายสู้คดีด้วย”

กระบวนการพิสูจน์ใช้เวลา ๔ ปี ๑๐ เดือน ๑๔ วัน เทียบเท่ากับการเรียนปริญญาได้ ๑ ใบ สำหรับวันอ่านคำพิพากษา ผู้เขียนคือสังเวียร มีเผ่าพงษ์ระบุว่าจำไม่ได้

แต่ประเด็นสำคัญคือนาทีสุดท้ายที่ศาลพร้อมใจพิพากษายกฟ้องของโจทก์ ปล่อยตัวจำเลยคือสังเวียร มีเผ่าพงษ์พ้นผิดไป

สังเวียรเล่าว่า ยอมรับตรงๆ ว่า “มืดแปดด้าน” คิดไม่ออกว่าจะไปทำมาหากินอะไร หมดสิ้น สูญเสียแล้วทุกสิ่ง นอกจากไม่เหมาะที่จะกลับไปบวชแล้ว วุฒิประโยค ๙ ก็ใช้ไม่ได้ วุฒิปริญญาโทจากอินเดีย ก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป เพราะถูกจับ “พิมพ์ลายนิ้วมือ” ข้อกล่าวหา “อาชญากรก่ออาชญากรรม” กลายเป็นคนมี “ประวัติไม่ดี” เพราะมีรายชื่อ “ขึ้นทะเบียนประวัติอาชญากรผู้ก่ออาชญากรรม”  แม้จะพ้นผิดแต่ก็ยังมีชนักติดหลัง ด้วยยุคนั้น ข้อหาคอมมิวนิสต์ เป็นข้อหาร้ายแรง เป็นที่หวาดระแวงและหวาดผวาเมื่อไปพบใครต่อใคร

เมื่อรับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือเป็นนายทหาร กองอนุศาสนาจารย์ไม่ได้ ก็เลือกเส้นทาง “องค์การภาคเอกชน” ทว่าสิ่งที่ “สังเวียร” มีติดตัวคือ “ภาษาอังกฤษ”

ด้วย “ความรู้” “ความสามารถ” และโดยเฉพาะ “ความจริง” เป็นคนไม่ฉ้อ ไม่ฉล ไม่คด ไม่โกง ไม่เอาหน้า ไม่เอาเงิน ก็เลยมีบางหน่วยงานอย่าง “ธนาคารกรุงเทพ” ต้องการรับผู้ที่ชำนาญการการใช้ภาษาอังกฤษ ระดับดีมาก

กาลต่อมาเมื่อเวลาเปลี่ยน โชคชะตาเปลี่ยน สังเวียร มีเผ่าพงษ์ก็กลายเป็นคนสนิทของ “บุญชู โรจนเสถียร” ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมืองและฝ่ายเศรษฐกิจ โดยอดีตรองนายกรัฐมนตรี คุณบุญชู โรจนเสถียร ขอยืมตัวจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด ไปช่วยงานที่ทำเนียบรัฐบาลเกือบ ๑ ปีระหว่างพ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๔

พ.ศ. ๒๕๒๖ สังเวียร มีเผ่าพงษ์ มีตำแหน่งเลขานุการประธานกรรมการ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด และในขณะที่เสียชีวิต เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๖ หลังจากปรีดี พนมยงค์ ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๒๖ ห้วงเวลาไล่เลี่ยกันโดยบังเอิญ

สังเวียร มีเผ่าพงษ์ ยังคงมีความรู้-ความสามารถ-เกียรติยศ-อำนาจ-เงินตราโดยยังคงมีตำแหน่งผู้จัดการฝ่าย ประจำสำนักประธานกรรมการ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด  ซึ่ง “บุญชู โรจนเสถียร” ประธานบริหารธนาคารดังกล่าว ไม่เคยทอดทิ้ง  เลี้ยงดู ดูแล “สังเวียร” จนอยู่ดีมีสุขตามประสาซื่อจนวันตาย

ส่วน “ปรีดี พนมยงค์” มีมากกว่า เหนือกว่า ทั้งความรู้ความสามารถเกียรติยศเงินตราและชื่อเสียงทว่าไร้เสียซึ่งตำแหน่งและอำนาจที่เคยมี

บั้นปลายชีวิตปรีดีอ้างว้าง เงียบเหงา ว้าเหว่ เดียวดาย อาดูร สูญสิ้นแล้วทุกๆ สิ่ง

ชะตากรรมของคนที่ละสังขารจากโลกไปในเดือนเดียวกัน ปีเดียวกัน
แตกต่างกันอย่างลิบลับ

ผมเล่า “จุดจบ” ของสังเวียร มีเผ่าพงษ์ และปรีดี พนมยงค์ ให้ขบคิดว่า
อำนาจ ทำให้คนดี กลายเป็นคนเลวได้ ในสังคมเดียวกัน
ด้วยพฤติกรรม “อีแอบ” แอบนินทาว่าร้าย ใส่ร้าย ใส่ความ
ยัดเยียดปรักปรำของเหล่าคนที่ชอบเอาดีใส่ตัวเอาชั่วโยนให้คนอื่น

เฉกเช่นเดียวกับ “นักการเมือง” ที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับ
“ผู้ยึดกุมอำนาจ” รัฐ ในยุคดิจิทัล

ส. ศิวรักษ์ เดิมเคยเกลียด “ปรีดี พนมยงค์” เข้ากระดูกดำ
ภายหลังได้ขอขมา และสื่อสาร “แก้ตัวแก้ต่าง” แทนปรีดี

ทว่าถ้อยคำ “ปรีดีฆ่าในหลวง” ก็ยังคงฝังรากลึกอยู่ในใจของอีกหลายคนในสังคมไทย มิลบเลือน !

วันหน้า จะวิเคราะห์ “อำนาจการเมือง” วงการคณะสงฆ์ว่า
ส่งผลกระเทือนต่อ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ)
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
อดีตพระพรหมดิลก
ด้านใดบ้าง และอย่างไรบ้าง

อย่าคิดว่าในวัดวาอารามจะเงียบสงบ

การเมืองพัวพันวงการคณะสงฆ์ เช่นกัน

“ถ้าท่านไม่เล่นการเมือง การเมืองก็เล่นท่าน”

หลวงวิจิตรวาทการ ยืนยันประโยคข้างต้น จากประสบการณ์ชีวิตที่พบพานมาทั้งชีวิต

อ้างอิง:

สังเวียร มีเผ่าพงษ์. หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพนายสังเวียร มีเผ่าพงษ์, 2528


อีกประเด็นที่น่าขบคิดคือแต่เดิมมา “อำนาจ” ในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา
แฝงตัวและฝังตัวอยู่กับ “ชนชั้นศักดินา” “ชนชั้นนายทุน”
ตลอดถึง “คนมีสี” และ “ข้าราชการชั้นสูง”
แต่ทว่ากาลภายหลัง เวลาเปลี่ยน ขั้วอำนาจเปลี่ยน
เราสังเกต “แนวโน้ม” และ “ปรากฏการณ์”  เช่นที่ว่านี้ได้
ตั้งแต่สมัย “ขงจื๊อ” คือคณาจารย์นักปราชญ์ที่เกิดร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า

“ขงจื๊อ” เล็งเห็นว่า “ฮ่องเต้” และ “ขุนนาง” มัวแต่แก่งแย่งอำนาจ เกียรติยศ เงินตรา
โดยละเลยคนที่มี “ความรู้” และ “ความสามารถ”
กอปรกับ “ขงจื๊อ” คิดและเชื่อว่า “คนลิขิต” มิสู้ “ฟ้าลิขิต”

เออิจิ มูราชิมา ศาสตราจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยเอเชียแปซิฟิค
มหาวิทยาลัยวาเซดะ เขตชินจูกุ มหานครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
ได้พยายามค้นคว้าวิจัย “ข้อมูล” และ “ภาพ”
เกี่ยวกับ “การแย่งชิงอำนาจ” ในเมืองไทยและประเทศใกล้เคียง
ต่อเนื่องยาวนาน ใช้เวลา ๒๐ ปีเศษ
สำหรับเมืองไทยเรานั้น ศาสตราจารย์เออิจิ ได้มองเห็นว่า

“ในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ คณะราษฎร์เป็นตัวแทนของกลุ่มทุน ติดต่อกับกลุ่ม “นายทหาร” มีตำแหน่งสูง และมีอำนาจในมือ ส่วนหนึ่ง และกลุ่ม “ข้าราชการ” อำมาตย์ที่หมดหวัง ท้อแท้ และสิ้นหวังในระบบราชการไทย ได้รวมตัวกัน ลุกฮือขึ้น โค่นอำนาจราชบัลลังก์ของรัชกาลที่ ๗ แต่ทว่าลัทธิจักรวรรดินิยม ยังคงมั่นคงกับแบบแผนเก่า”

การได้มาซึ่งอำนาจ แต่ทว่าขาดเสียซึ่งความปรองดองคือความสมัครสมานสามัคคี ในท้ายที่สุด ก็นำมาซึ่งความหวาดระแวงและแล้วก็นำมาซึ่ง “ความแปลกแยก”

๑ ตุลาคม ๒๔๙๑ การเมืองไทยฟากรัฐบาลเผชิญการต่อต้านทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง สภาพการทำงานในรัฐสภาไม่แตกต่างจากในปี ๒๕๖๒  เกิด “กบฏเสนาธิการ” หรือ “กบฏนายพล” หรือ “กบฏ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๑” ขึ้น นำโดยพลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต และพลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นต้น ซึ่งเป็นนายทหารระดับเสนาธิการของกองทัพบก รวมทั้งพันโทพโยม จุลานนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็น ส.ส. จังหวัดเพชรบุรี ร่วมกัน “ก่อการรัฐประหาร”

 

ทว่าผลการรบ “แพ้เป็นโจร” เลยตกเป็น “ผู้ต้องหา” ด้วยข้อหาร้ายแรงว่าเป็น “กบฏ” ดังถ้อยคำที่ผมชอบพูดถึงเสมอว่า “แพ้เป็นโจร ชนะเป็นเจ้า” เมื่อลงมือแล้วล้มเหลว ผู้ร่วมก่อการรัฐประหารส่วนหนึ่งก็หลบหนีเอาตัวรอดกันไปได้ ไม่แตกต่างจากในยุคดิจิทัลนี้

แทบไม่ต้องคาดเดาให้สิ้นสงสัยใดๆ ว่า อีกส่วนหนึ่งก็ถูกจับกุมตัวไปคุมขัง อีกส่วนหนึ่งก็ถูกนำตัวส่งฟ้อง และผลการไต่สวนก็พบว่าคดีมีมูล ทำผิดจริงตามฟ้อง ได้รับโทษจำคุกหนักเบาลดหลั่นกันไปตามโทษานุโทษที่เกิดจากการแก่งแย่งแย่งชิงอำนาจ ใครถูกหมั่นไส้มากที่สุด ก็ถูกฟ้องข้อหาที่หนักที่สุด ขณะที่บางส่วนไต่สวนแล้วให้การได้ดี เมื่อการไต่สวนแล้วพบว่าคดีไม่มีมูล ก็ได้รับการปล่อยตัวพ้นโทษ

ประเด็นที่น่าสนใจคือ “คำให้การ” ของพลตรีสมบูรณ์ ศรานุชิต แกนนำก่อการรัฐประหาร
“ต้องการปรับปรุงกองทัพบกเพราะเสื่อมโทรม ผู้บังคับบัญชาไม่เอาใจใส่
เพราะมัวแต่ไปยุ่งการค้าการเศรษฐกิจ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของทหาร”

ซึ่ง “คำให้การของพลตรีสมบูรณ์”
เป็น “คำให้การที่เป็นอมตะ” เรื่อยมา
จนถึงการเมืองไทยในยุคดิจิทัล

ผมลง “ประวัติศาสตร์”

ลากจุดนั้นมาเชื่อมโยงจุดนี้ให้ “ขบคิด” กันว่าโลกเรานี้หลายเรื่องราวมีอะไรที่ไม่น่าเป็นไปได้ แต่แล้วก็เป็นไปได้จริงๆ

——

Comments

comments