223. สังสารวัฏฏ์

 

๒๔ เมษายน ๒๕๖๒
ข้ออรรถ ข้อธรรม
“สังสารวัฏฏ์”
อุทิส ศิริวรรณ

หลายครั้ง เชื่อว่าหลายๆ คน สงสัยว่า
คนทำชั่วได้ดีมีที่ไหน
คนทำดีได้ชั่วมีถมไป

ผมเองได้ศึกษา
“กฎแห่งกรรม”
จนได้ “ข้อค้นพบ” อย่างหนึ่งว่า
โลกเราที่หมุนเวียนเปลี่ยนไป
การเวียนว่ายตายเกิดของ
คนและสัตว์ทั้งหลาย
พระบาลีเรียกว่า
“สังสารวัฏฏะ”
มาจากคำ ๒ คำสมาสกัน
คือคำว่า สังสาร+วัฏฏะ

 

คำว่า “สังสาร” แปลว่าการท่องเที่ยวไปในภพภูมิต่างๆ
โดยไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีจุดจบ ไม่รู้ว่าเบื้องต้นเบื้องปลาย
จะเป็นอย่างไร

ส่วนคำว่า “วัฏฏะ” แปลว่า การหมุนเวียนไปมาใน “สังสาร”
คือภพภูมิต่างๆ อันประกอบด้วย สุคติภูมิ และทุคติภูมิ

 

สังสารวัฏฏ์ การเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ
แบ่งออกได้เป็น ๒ ประการ กล่าวคือโดยสภาวธรรม
และโดยการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ
เรียกว่า “วัฏฏะ” ซึ่งมี ๓ ประการอันได้แก่
กิเลส-กรรม-วิบาก และหมุนวนอยู่เช่นนั้น
ตราบเท่าที่ยังตัดกิเลส กรรม วิบากไม่ได้

คัมภีร์ชินลังการฎีกา อธิบายว่า
“ลำดับแห่งขันธ์ทั้งหลาย ธาตุและอายตนะทั้งหลาย
ที่เป็นไปไม่ขาดสาย เรียกว่า “สังสาร”…”

ขันธ์ทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ

ธาตุทั้งหลายคือ “ธาตุ ๑๘” ในคัมภีร์อภิธัมมปิฎก
แสดง “สภาวะ” เกี่ยวเนื่องด้วย “สันตานะ”
คือ “การสืบเนื่อง” ของสรรรพสัตว์ ซึ่งอาศัย
“ทวาร” “อารมณ์” และ “วิญญาณ”
อย่างละ ๖ หมวดคือ

ทวาร ประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อารมณ์ ประกอบด้วย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
และสิ่งที่ใจเก็บมานึกคิด
วิญญาณ ได้แก่ การรับรู้อารมณ์ที่ดีและไม่ดี ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
และใจ

รวมถึง “อายตนะ ๑๒” ซึ่งแบ่งออกเป็น
อายตนะภายใน ๖ และอายตนะภายนอก ๖

อายตนะ แปลว่า “ที่เชื่อมต่อ” “จุดเชื่อมต่อ”
อายตนะภายใน ได้แก่ จุดเชื่อมต่อที่อยู่ภายในร่างกายตน
ประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
อายตนะภายนอก ได้แก่ จุดเชื่อมต่อที่อยู่ภายนอกร่างกาย
ประกอบด้วย รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และสิ่งที่นึกคิด

“อวิชชา” เป็น “ศัตรู” เป็น “อุปสรรค” ขัดขวางมิให้
รู้ เห็น ทราบ รู้แจ้งแทงตลอดซึ่ง “สัจจะ”
คือ “ความเป็นจริง” แห่งขันธ์ ธาตุ และอายตนะในกาลทั้ง ๓
คือ อดีตกาล ปัจจุบันกาล และอนาคตกาล

เพราะ “อวิชชา” คือความไม่รู้
สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
จึงเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ
ด้วยอำนาจของ “กุสล” และ “อกุสล”
อกุสลเจตนา เรียกว่า “อปุญญาภิสังขาร”
เป็นปัจจัยให้ตายแล้วเกิดใน “อบายภูมิ ๔”
กุสลเจตนา เรียกว่า “ปุญญาภิสังขาร”
เป็นปัจจัยให้ตายแล้วเกิดใน “กามสุคติภูมิ ๗” และ “รูปภูมิ ๑๖”
กุสลเจตนา ที่เรียกว่า “อเนญชาภิสังขาร”
เป็นปัจจัยให้ตายแล้วเกิดใน “อรูปภูมิ ๔”

ผู้ที่ถูก “อวิชชา” ครอบงำ ย่อมไม่รู้ “ทุกข์”
ไม่รู้ “สาเหตุ” ที่ทำให้เกิดความทุกข์
ไม่รู้ “วิธีดับทุกข์” จึงเป็นเหตุให้ “สังขารทั้งหลาย” เป็นต้น
อ่าศัย “อวิชชา” เกิดขึ้นใน “อายตนะ ๖” คือ
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

อวิชชา จึงพาสิ่งมีชีวิตแล่นไปในสังสารวัฏ
อวิชชา เป็นเหตุให้สิ่งมีชีวิตกระทำ
กุสลบ้าง อกุสลบ้าง

และอวิชชาคือความไม่รู้ เป็นผู้นำพาสิ่งมีชีวิตต่างๆ
บังเกิดในภพภูมิต่างๆ ด้วยอำนาจของ “ปฏิจจสมุปบาท”
กล่าวคือสภาวธัมมะ ที่อาศัยกันและกันเป็นปัจจัยเกิดขึ้น

สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ก็ล้วนวนเวียนอยู่ในวงโคจรของ

“กิเลส-กรรม-วิบาก” ซึ่งทำให้สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย
ติดกับดัก “บ่วงมาร” คือ “ตัณหา” อันเป็นเหตุหลักให้
มนุษย์ทำ “กายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรม”

เมื่อมนุษย์ทำกรรม ๓ ลงไปแล้ว
กรรม ๓ นั้น แต่ละกรรมก็ให้ “วิบาก”
คือผลของกรรมที่ได้กระทำลงไป

ถ้าได้รับผลที่ดี ก็ยินดี พอใจ ติดใจ ประทับใจ
หมกมุ่น มัวเมา เป็นเหตุให้เกิดกิเลสคือ  “ราคะ”

ถ้าได้รับผลไม่เป็นที่น่าพอใจ ทำให้เกิดความรู้สึก
โกรธ เกลียด เคียดแค้น ชิงชัง เสียใจ ผิดหวัง
อาฆาต พยาบาท เจ็บใจ เป็นเหตุให้เกิดกิเลสคือ “โทสะ”

และด้วย “อวิชชา” ไม่รู้ “ธัมมะ ๘ ประการ” อันประกอบด้วย
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่รู้จัก “ชาติที่แล้ว”  “ชาติหน้า”
“อดีตและอนาคต” รวมถึง “ปฏิจจสมุปบาท”
คือไม่รู้ ไม่ทราบกระบวนการเกิดขึ้นของทุกข์
และกระบวนการดับไปของทุกข์
จึงไม่รู้จักอาสวะกิเลส
ตลอดจนตัณหาและอุปาทาน
ที่แอบซ่อนนอนนิ่งอยู่ในจิต
หรือตัวอวิชชาที่นอนนิ่งอยู่ในสันดาน 


เมื่อไม่รู้ไม่เข้าใจ
จึงไม่สามารถดับทุกข์
ที่ต้นเหตุปัจจัยได้ถูกต้อง
และเหมาะสมนั่นเอง

พระสุตตันตปิฎก “มาตุสูตร” หน้า ๕๒๙ มีหลักฐานปรากฏว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร
อารามสร้างโดยท่านอนาถบิณฑิกะมหาเศรษฐี เมืองสาวัตถี
ได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังสารวัฏฏ์นี้ กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายมิได้
สัตว์ทั้งหลายท่องเที่ยวจากจักรวาลนี้ไปยังจักรวาลอื่น จากจักรวาลอื่น
มายังจักรวาลนี้ ในเวลาที่ชายเกิดเป็นหญิง และเวลาที่หญิงเกิดเป็นชาย
ผู้ที่ไม่เคยเกิดเป็นแม่…ไม่เคยเกิดเป็นพ่อ…ไม่เคยเกิดเป็นพี่ชายน้องชาย…
ไม่เคยเกิดเป็นพี่สาวน้องสาว…ไม่เคยเกิดเป็นสามีภรรยา…ไม่เคยเกิดเป็น
ลูกสาวลูกชาย โดยระยะเวลาอันยาวนานของ “สังสารวัฏฏ์” นี้
มิใช่สิ่งที่จะหาได้ง่ายเลย เพราะ “สังสาระ” นี้ กำหนดที่สุด เบื้องต้น
เบื้องปลาย มิได้”

 

ใน “บุคคลสูตร” พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า
“เราผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ได้กล่าวไว้ดังนี้ว่า
…เมื่อบุคคลเห็นอริยสัจ ๔ คือ
ทุกข์ เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์
ความล่วงพ้นจากทุกข์ และอริยมรรคมีองค์ ๘
อันเป็นเครื่องยังสัตว์ให้ถึงความสงบทุกข์ ด้วยปัญญาอันชอบ
เมื่อนั้น เขาจักท่องเที่ยวไปอีกเพียง ๗ ครั้งเป็นอย่างมาก
ก็จะเป็นผู้กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เพราะสิ้นสังโยชน์ทั้งปวง ดังนี้”

อรรถกถาพรหมชาลสูตร หน้า ๒๗๘-๒๘๑
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดง “สังสารวัฏฏ์” อันยาวไกล
ด้วยการเปรียบเทียบว่า

“อุปมาสังสารวัฏฏ์เหมือนภูเขาศิลาที่ใหญ่โต ยาว ๑๖ กิโลเมตร
กว้าง ๑๖ กิโลเมตร สูง ๑๖ กิโลเมตร ไม่มีโพรง ไม่มีช่อง
เป็นแท่งทึบ

บุรุษพึงเอา “ผ้าไหมแคว้นกาสี” มาแล้วปัดภูเขานั้น
๑๐๐ ปีต่อครั้ง

ภูเขาศิลาที่ใหญ่โตนั้น กว่าจะแบนราบเรียบได้
ก็ยังเร็วกว่า “สังสารวัฏฏ์ ขนาด ๑ กัปป์”

บรรดากัปป์อันนานแสนนานอย่างนี้
พวกเธอท่องเที่ยวไปแล้วมิใช่ ๑ กัปป์
มิใช่ ๑๐๐ กัปป์
มิใช่ ๑,๐๐๐ กัปป์
มิใช่ ๑๐๐,๐๐๐ กัปป์
เพราะว่า “สังสารวัฏฏ์” นี้
ยาวนานหนักหนา
กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายมิได้
ด้วยประการฉะนี้”

ผมนึกถึง “คำกล่าว” ของครูบาอาจารย์แต่เก่าก่อน
ท่านสอนไว้สั้นๆ ว่า

“เพราะจิตเป็นบุญกุสล กรรมจึงส่งผลในทางบวก
เพราะจิตเป็นบาปอกุสล กรรมจึงส่งผลในทางลบ”

ยามใดที่ “กุสลกรรม” ให้ผล
ยามนั้น “ชีวิต” ก็จะพบพานแต่
“เคราะห์ดี” “โชคดี” “ดวงดี”
ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ
และพอหลงลืมตัวมัวเมา
ใช้ชีวิตอย่างคนประมาท
ก็จะพลัดตกไปใน “ปากเหว” แห่งอบายภูมิ
โดยไม่รู้ตัว

ยามใดที่ “อกุสลกรรม” ให้ผล
ยามนั้นชีวิตก็จะพบพานแต่
“เคราะห์ร้าย” “โชคร้าย”
“โรคร้ายรุมเร้า” “พระศุกร์เข้า พระเสาร์แทรก”
“หนีเสือ ปะจระเข้” “ชักศึกเข้าบ้าน”
“ร้อนรุ่ม ร้อนรน ทุรนทุราย กระวนกระวาย”
ความทุกข์ ความเจ็บปวด
ประเดประดัง ซ้ำเติมตัวเรา
ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
เสื่อมลาภ เสื่อมยศ
ความทุกข์ คำนินทาด่าว่า ใส่ร้ายใส่ความ
คนดูหมิ่น คนเกลียดชัง เจ้านายชิงชัง
จิตใจก็จะเป็นทุกข์ เศร้าโศกเสียใจ
หวั่นไหวไปตาม “วิบาก” แห่งอกุสลกรรม
ที่ส่งผล

ภพภูมิที่น่ากลัวคือ
ตายจากชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ไปเกิดในดิรัจฉานภูมิ
ตายจากชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ไปเกิดในเปรตภูมิ
ตายจากชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ไปเกิดในนรกภูมิ

ภพภูมิที่พึงคาดหวังคือ
ตายจากชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ไปเกิดในมนุษย์ภูมิ
ตายจากชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ไปเกิดในเทวภูมิ
ตายจากชาติที่เกิดเป็นมนุษย์ไปเกิดในพรหมภูมิ

ผมคิดอะไร?
คิดว่า “กิเลส-กรรม-วิบาก” วงโคจรแห่ง “วัฏฏะ”
เมื่อ “ขบคิด” โดยเพ่งพินิจ “ธัมมะ”
ที่พระพุทธเจ้าทรงเล่าไว้ใน “พระไตรปิฎก”
ได้ “ข้อควรพิจารณา” ว่า
“การท่องไปในสังสารวัฏฏ์อันยาวนานนับกัปป์”
ถ้าแม้เราได้ใช้ “อริยมรรค ๘”
เป็นเครื่องมือทำความเข้าใจ “อริยสัจ ๔ ประการ”
ก็จะย่นและย่อ “การเวียนว่ายตายเกิด”
อันไม่มีที่สิ้นสุด อันไม่มีจุดจบ

ถ้าเข้าใจ “อริยสัจ ๔ ประการ”
ตายแล้วเกิดอีก
ก็คงไม่เกิน ๗ ครั้ง
ขันธ์ ธาตุ ทวาร อายตนะ
ซึ่งมีความสืบเนื่องสืบต่อ
เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์
เพราะ “อวิชชา” คือความไม่รู้
เป็นสาเหตุให้ตัวเราลุ่มหลงใน “กองกิเลส”
คือ “โลภะ-โทสะ-โมหะ”
ก็จะดับวูบลงได้
ด้วยการปฏิบัติธรรมคือ “วิปัสสนา”
ขับเคลื่อนโดย “อริยมรรคมีองค์ ๘ ประการ”

ในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
พระพุทธเจ้าตรัสว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นทางสายกลาง
คือเป็นข้อปฏิบัติระดับ “ดีเยี่ยม” ที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น
จาก “วัฏฏะ ๓ คือ กิเลส-กรรม-วิบาก”

ตามหลักฐานที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
ตอนว่าด้วย “วิภังคสูตร” พระพุทธเจ้าทรงอธิบายรายละเอียดไว้ดังนี้

๑. สัมมาทิฐิ (ความเห็นที่ถูกต้อง) หมายถึง ความรู้ในอริยสัจ ๔

๒. สัมมาสังกัปปะ (ความคิดที่ถูกต้อง) หมายถึง ความคิดในการออกจากกามความไม่พยาบาท และการไม่เบียดเบียนผู้อื่น

๓. สัมมาวาจา (วาจาที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากการพูดเท็จ หยาบคาย ส่อเสียด และเพ้อเจ้อ

๔. สัมมากัมมันตะ (การปฏิบัติที่ถูกต้อง) หมายถึง เจตนาละเว้นจากการฆ่าโจรกรรม และการประพฤติผิดในกาม

๕. สัมมาอาชีวะ (การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง) หมายถึง การเว้นจากมิจฉาชีพ

๖. สัมมาวายามะ (ความเพียรที่ถูกต้อง) หมายถึง สัมมัปปธาน ๔ คือ ความพยายามป้องกันอกุสลที่ยังไม่เกิด ละอกุสลที่เกิดขึ้นแล้ว ทำกุสลที่ยังไม่เกิด และรักษากุสลที่เกิดขึ้นแล้ว

๗. สัมมาสติ (การมีสติที่ถูกต้อง) หมายถึง สติปัฏฐาน ๔

๘. สัมมาสมาธิ (การมีสมาธิที่ถูกต้อง) หมายถึง ฌาน ๔

เมื่อเทียบกับหลักไตรสิกขา องค์มรรคข้อ ๑-๒ เป็นปัญญา
ข้อ ๓-๔-๕ เป็นศีล และข้อ ๖-๗-๘ เป็นสมาธิ

ดังนั้น “เส้นทางลัด” ที่จะนำไปสู่ “วิมุตติ” คือ “หลุดพ้น” จาก
“กิเลสทั้ง ๓ คือ ราคะ-โทสะ-โมหะ” หรือ “โลภ-โกรธ-หลง”
คือ “หลักไตรสิกขา” กล่าวคือ “สีล-สมาธิ-ปัญญา”
ซึ่งโดยเนื้อหาก็คือ “มรรค ๘” อันประกอบด้วย
“ความเห็นที่ถูกต้อง-ความคิดที่ถูกต้อง-วาจาที่ถูกต้อง-การปฏิบัติที่ถูกต้อง
-การหาเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง-ความเพียรที่ถูกต้อง-การมีสติที่ถูกต้อง-การมีสมาธิที่ถูกต้อง”

ใดๆ อยู่ที่ บุญ-วาสนา-บารมี-เวลา-โอกาส บรรจบพบพานกัน
และสำคัญที่สุด อยู่ที่ “พลัง” และ “แรง” แห่ง “การอธิษฐานจิต”
เป็นสำคัญ

ดังพระบาลีว่า
“จิตฺตํ รกฺเขถ เมธาวี”
“ผู้มีปัญญา พึงรักษาจิต”

———-

สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ
ธัมมทาน ย่อมชนะ สัพพทาน

Comments

comments